ความก้าวหน้าของศาสตร์ต่างๆ เช่น

การแพทย์ปัจจุบันมีแนวโน้มชัดเจนมากคือ จะเปลี่ยนผ่านจากการรักษาไปสู่การป้องกัน เข้ากับสโลแกนโฆษณาเก่าแก่ของเครื่องตัดไฟยี่ห้อหนึ่งว่า ‘ตัดก่อนตาย เตือนก่อนวายวอด’ อย่างเหมาะเหม็ง

อธิบายอย่างเข้าใจง่ายอีกคือ การแพทย์มีแนวโน้มที่จะมีความจำเพาะเจาะจงเฉพาะตัวกับแต่ละคนมากขึ้น จำเพาะกับตำแหน่งในการรักษามากขึ้น และใช้วิธีการที่เหมาะสมที่สุด โดยพิจารณาจากข้อมูลพันธุกรรมของแต่ละคนด้วย  

คำถามคือ วิทยาการทางด้านการแพทย์เปิดโอกาสให้เราทำได้แค่ไหนในวันนี้?

การตรวจหาโรคด้วยตัวเองไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ ผู้หญิงในหลายประเทศเรียนรู้เรื่องการตรวจเต้านมตัวเองเพื่อหาเนื้องอกและมะเร็งได้แต่เนิ่นๆ เช่นเดียวกันกับการตรวจมะเร็งปากมดลูกก็กลายเป็นเรื่องปกติในการตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับผู้หญิงใกล้เลยวัยเจริญพันธุ์ในประเทศที่รายได้ดี 

ขณะนี้ยังมีโครงการชื่อว่า NHS Galleri Trial หรือการทดลองเอ็นเอชเอส แกลเลอไรของสหราชอาณาจักร ซึ่งจะตรวจเลือดผู้สูงอายุหาชิ้นส่วนดีเอ็นเอผิดปกติ เพื่อใช้ระบุว่าเริ่มเกิดเซลล์มะเร็งแล้วหรือยัง โดยสามารถตรวจได้ครอบคลุมมะเร็งมากถึง 50 ประเภท และตรวจพบแม้กระทั่งในช่วงที่เพิ่งเริ่มจะเกิดเป็นมะเร็ง โดยมีคนอายุระหว่าง 50–77 ปี มากถึง 140,000 คน จากหลากหลายประเทศและชาติพันธุ์เข้าร่วมการทดลองนี้ [1] 

ชุดตรวจหรือวิธีการตรวจต่างๆ ก็มีความแม่นยำมากขึ้นทุกที ผลตรวจลวงไม่ว่าจะแบบผลบวกลวง (ไม่ป่วย แต่ตรวจผิดว่าป่วย) หรือผลลบลวง (ป่วยจริง แต่ตรวจผิดว่าไม่ป่วย) น้อยลงเรื่อยๆ แม้ว่าจะอาจจะไม่มีวันหมดไปก็ตาม 

แต่ที่เด็ดดวงกว่านั้นคือ วิธีการตรวจก็สะดวกสบายมากขึ้น ไม่เจ็บตัวมากเหมือนแต่ก่อน 

ยกตัวอย่าง เครก เวนเทอร์ (Craig Venter) ผู้เป็นหัวหอกสำคัญคนหนึ่งในโครงการจีโนมมนุษย์ เขาได้ริเริ่มโครงการชื่อ Human Longevity แปลไทยแบบง่ายๆ ว่า ‘ช่วงชีวิตมนุษย์’ โครงการนี้มีการเก็บข้อมูลมาระยะหนึ่ง [2] จนทำให้รู้ว่าการใช้เครื่อง MRI สแกนหาเนื้อเยื่อที่ผิดปกติทั่วทั้งตัว ทำให้มีโอกาสพบเนื้องอกในคนที่อายุเกิน 50 ปีราว 3% ซึ่งเนื้องอกที่ว่านี้ไม่ได้หมายความว่า คนเหล่านี้ต้องเป็นมะเร็ง แต่พวกเขาก็จะสามารถจัดการกับเนื้องอกเหล่านี้แต่เนิ่นๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาที่จะเกิดตามมาในอนาคตได้

ที่น่าสนใจคือ ปี 2022 นี้จะมีความก้าวหน้าครั้งใหญ่คือ การใช้อัลกอริทึมคอมพิวเตอร์แบบใหม่ที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลดิบจาก MRI ได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ตรวจพบเนื้องอกที่ขนาดเล็กลงไปอีก ซึ่งเมื่อนำไปประกอบกับวิธีการตรวจดีเอ็นเอในเลือดที่หลุดออกมาจากเนื้องอก ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ทำให้สามารถตรวจเจอได้ตั้งแต่ยังไม่สังเกตเห็นด้วยตาเปล่าด้วยซ้ำไป!   

ความสามารถใหม่ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์คือ เดิมต่อให้ตรวจพบดีเอ็นเอจากเนื้องอก เราก็ไม่มีทางระบุได้ว่ามาจากเนื้อเยื่อหรืออวัยวะใดแน่ แต่วิธีการแบบใหม่ที่เล่าไปแล้วนี้สามารถระบุเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต้นตอได้ด้วย 

คาดหมายว่าวิธีการตรวจแบบนี้จะมาแทนการตรวจด้วยการถ่ายภาพจากการฉายรังสีเพื่อหาร่องรอยมะเร็ง ซึ่งเป็นวิธีการเก่าที่ตัวมันเองก็เพิ่มความเสี่ยงจากรังสีด้วย 

ไม่ใช่แค่โรคมะเร็งเท่านั้น มีการคาดการณ์กันว่า ในปีนี้ ถ้าเราอาศัยข้อมูลจากการใช้เครื่อง MRI สแกนสมองร่วมกับข้อมูลพันธุกรรมก็น่าจะเพียงพอที่จะใช้ ‘ทำนาย’ แนวโน้มของแต่ละคนที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ นอกจากผลจาก MRI จะระบุความเสียหายเบื้องต้นของสมองได้แล้ว หากใช้ร่วมกับการสแกนด้วยเครื่อง PET ก็จะทำให้เห็น ‘อะมัยลอยด์ (amyloid)’ ที่เป็นตัวบ่งชี้ภาวะอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย 

คุณเวนเทอร์บอกว่า โครงการ Human Longevity ของแกสามารถตรวจเจออัลไซเมอร์ ก่อนจะเกิดอาการในผู้ป่วยเสียอีก! 

เมื่อพบอย่างรวดเร็วเช่นนี้แล้ว การเปลี่ยนแปลงกิจกรรมการใช้สมอง การกินอาหาร และการใช้ยาบางอย่างก็ช่วยทำให้การป่วยจากอัลไซเมอร์ล่าช้าออกไปได้ 

เท่านั้นยังไม่พอ ประสิทธิภาพของ MRI ที่เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถตรวจพบอาการหลอดเลือดโป่งพอง (aneurysm) ในคนที่ดูแข็งแรงดีราว 1% ซึ่งปกติแล้วกว่าจะพบหลอดเลือดโป่งพอง ก็มีการตกเลือดในสมองเป็นหย่อมขนาดใหญ่ไปแล้ว 

จากที่เล่ามาจะเห็นได้ว่า นอกจากประสิทธิภาพของเทคโนลียีที่ใช้สแกนร่างกายจะดีขึ้นมากแล้ว เมื่อมาประกอบเข้ากับประสิทธิภาพในการตรวจดีเอ็นเอ รวมทั้งการอ่านข้อมูลพันธุกรรมแบบรายบุคคล ก็ทำให้การแพทย์ขยับเข้าสู่ ‘การแพทย์ส่วนบุคคล’ และการป้องกันโรคมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด 

เพื่อให้เห็นภาพว่านี่ไม่ใช่เรื่องในอนาคตที่ ‘จะทำ’ แต่มีการทดลองและลงมือใช้เทคนิควิธีการต่างๆ เหล่านี้ไปบ้างแล้ว เช่น ที่อินเตอร์เมาต์เทนเฮลธ์แคร์ (Intermountain Healthcare) ในรัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ใช้ข้อมูลพันธุกรรมของผู้ป่วยเป็นตัวหลักในการวางแผนการรักษาแล้ว 

นอกจากจะช่วยให้ตรวจเจอร่องรอยของโรคเร็วขึ้นดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว ประโยชน์อีกด้านหนึ่งก็คือ ทำให้นักวิจัยเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางสังคมกับความชุกของโรค (prevalence) อีกด้วย อธิบายง่ายๆ ว่ามีการพบผู้ป่วยในคนกลุ่มไหน มีพันธุกรรมอย่างไร หรือมีพฤติกรรมอย่างไรนั่นเอง

เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องใหญ่และส่งผลกระทบมากในอนาคตอันใกล้ เมื่อคนต้องการตรวจดูว่า ‘ในอนาคต’ ตัวเองจะป่วยเป็นอะไรได้บ้าง แทนที่จะจะไปหาหมอเพื่อตรวจเมื่อป่วยเป็นโรคแล้ว เพราะน่าจะมีคนต้องการตรวจแบบนี้จำนวนมาก 

คำถามคือ รายจ่ายที่จะเกิดขึ้น ใครจะเป็นคนจ่าย? ผู้ต้องการตรวจเองหรือระบบสุขภาพของประเทศนั้นๆ? เมื่อตรวจหา ‘แนวโน้ม’ การเจ็บป่วยแล้ว การรักษาเพื่อ ‘ป้องกัน’ ก็เช่นกัน รายจ่ายที่เกิดขึ้นจะไปตกอยู่ที่ใคร? ระบบประกันสุขภาพของบริษัทประกันจะตอบสนองกับเรื่องแบบนี้อย่างไรบ้าง? จะมีการบังคับตรวจและปฏิเสธหรือคิดเบี้ยประกันอย่างแพงกว่าปกติมากๆ กับผู้เอาประกันที่มี ‘แนวโน้มจะป่วย’ หรือไม่? 

เรื่องพวกนี้ใครจะเป็นคนตัดสินว่า ทำได้หรือไม่ได้? 

หากดูจากการรับมือโรคระบาดใหญ่อย่างโควิด-19 แล้ว ก็ดูจะเกิด ‘ช่องว่าง’ ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงให้ทันกับสถานการณ์อยู่มากระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา 

พูดถึงโควิด-19 มีแผนการใหญ่ที่คุณหมอแอนโธนี เฟาซี (Anthony Fauci) สนับสนุนคือ การทำโครงการวัคซีน ‘ต้นแบบ’ เพื่อรับมือกับการระบาดใหญ่ในรอบหน้า [3] ซึ่งมีแนวโน้มว่าน่าจะเกิดขึ้นแน่นอน โดยต้นคิดเรื่องนี้คือ ดร.บาร์นีย์ แกรแฮม (Barney Grapham) ที่เสนอไว้ตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 คือ ในปี 2017 

โดยในโครงการดังกล่าว จะใช้ระเบียบวิธีการวิจัยทำนองเดียวกับที่ใช้ทำวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ออกมาอย่างรวดเร็ว 

โดยจะเป็นการเตรียมตัวล่วงหน้าทำวัคซีนกับวงศ์ของกลุ่มไวรัส 20 วงศ์ใหญ่ ที่มีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดปัญหาแบบเดียวกับโคโรนาไวรัสที่เราเจอปัญหากันอยู่ โดยตั้งเป้าหมายว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2027) เราควรจะมีต้นแบบวัคซีนอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของ 20 กลุ่มดังกล่าว ไว้ดักรอการระบาดแล้วล่วงหน้า 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แนวโน้มการป้องกันล่วงหน้า ไม่ได้เกิดเฉพาะกับรายบุคคลเท่านั้น ยังเกิดกับระดับประชากรโลกด้วยเช่นกัน เราอยู่ในยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ก้าวหน้าอย่างน่าตื่นตาตื่นใจมากจริงๆ   

อ้างอิง

[1] //www.nhs-galleri.org/

[2] J. Craig Venter. We Will Get Ahead of Diseases. The Wired World UK 2022. November 2021.

[3] //www.advisory.com/daily-briefing/2021/07/27/next-pandemic

เทคโนโลยีการแพทย์ วิวัฒนาการการแพทย์ การแพทย์

นักเขียน นักแปล นักอ่าน และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ผู้หลงใหลงานของชาร์ลส์ ดาร์วิน, คาร์ล เซแกน และเป็นที่รู้จักจากงานชุดไตรภาค “เซเปียนส์” ของยูวัล แฮรารี

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน อาจารย์ ตจต ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf lmyour แปลภาษา ชขภใ ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 ขขขขบบบยข ่ส ศัพท์ทางทหาร military words หนังสือราชการ ตัวอย่าง หยน แปลบาลีเป็นไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง พจนานุกรมศัพท์ทหาร เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษามลายู ยาวี Bahasa Thailand กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ การ์ดจอมือสอง ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย คะแนน o-net โรงเรียน ค้นหา ประวัติ นามสกุล บทที่ 1 ที่มาและความสําคัญของปัญหา ร. ต จ แบบฝึกหัดเคมี ม.5 พร้อมเฉลย แปลภาษาอาหรับ-ไทย ใบรับรอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน PEA Life login Terjemahan บบบย มือปราบผีพันธุ์ซาตาน ภาค2 สรุปการบริหารทรัพยากรมนุษย์ pdf สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม เช็คยอดค่าไฟฟ้า แจ้งไฟฟ้าดับ แปลภาษา มาเลเซีย ไทย แผนที่ทวีปอเมริกาเหนือ ่้แปลภาษา Google Translate กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ข้อสอบโอเน็ตม.3 มีกี่ข้อ คะแนนโอเน็ต 65 ตม กรุงเทพ มีที่ไหนบ้าง