ขอประวัติการรักษาแทนกันได้ไหม

หลายต่อหลายครั้งที่ปรากฏเป็นข่าวคราว ... ว่าผู้ป่วยหรือญาติของผู้ป่วยไม่พอใจในการรักษาพยาบาลและการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ โดยเห็นว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ เพราะผู้ป่วยเสียชีวิตจากการรักษาหรือมีอาการแย่ลง จนเป็นเหตุให้ต้องมีการขอข้อมูลประวัติการรักษาหรือเวชระเบียน
ของผู้ป่วย เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการรักษาพยาบาลต่อยังโรงพยาบาลอื่น หรือนำไปใช้ในการตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งหรือการฟ้องคดีอาญาก็ตาม

วันนี้ ... ลุงถูกต้องจึงขอพูดคุยกันถึงสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประวัติสุขภาพหรือประวัติการรักษาพยาบาล (เวชระเบียนผู้ป่วย) ซึ่งถือเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 รวมถึงขั้นตอนหรือวิธีการใช้สิทธิดังกล่าว ไปจนถึงหากต้องมีการฟ้องร้อง
เป็นคดีความต่อศาลปกครองในกรณีที่โรงพยาบาลปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลตามคำขอ จะต้องทำอย่างไร ?

ก่อนอื่นมาดูข้อกฎหมายที่รับรองสิทธิดังกล่าว คือ มาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ ซึ่งกำหนดให้สิทธิบุคคลที่จะได้รู้ถึงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน และเมื่อมีคำขอเป็นหนังสือ หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารจะต้องให้บุคคลนั้นหรือผู้แทนของบุคคลนั้นได้ตรวจดูหรือได้รับสำเนาข้อมูลข่าวสารดังกล่าว หากหน่วยงานของรัฐฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ผู้ยื่นคำขอมีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการตามมาตรา 13 วรรคหนึ่ง เพื่อให้คณะกรรมการฯ พิจารณาและให้ความเห็นเรื่องร้องเรียนตามมาตรา 28 (4)แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

จากข้อกฎหมายข้างต้น จึงมีประเด็นน่าสนใจว่า ... หากมารดาของบุตรชายที่เสียชีวิตจากการรักษาของแพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐได้ยื่นขอประวัติการรักษาของบุตรชาย แต่ทางโรงพยาบาลปฏิเสธการให้ข้อมูลการรักษาพยาบาลและการให้ยา ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่จะใช้ในการตรวจสอบการรักษาของแพทย์
ว่าเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่

เช่นนี้ ... มารดาของผู้ตายจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองว่าโรงพยาบาลละเลยต่อหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล โดยที่ยังไม่ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการตามมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ ได้หรือไม่ ?

ติดตามหาคำตอบได้ในอุทาหรณ์จากคดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังวันนี้ครับ ...

เหตุของคดี ... เกิดจากนางนิวได้ยื่นคำร้องขอให้เปิดเผยประวัติการรักษาบุตรชายของตนต่อผู้อำนวยการโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง โดยขอเวชระเบียนการรักษาพยาบาลของบุตรชายเพื่อนำมาตรวจสอบถึงสาเหตุการเสียชีวิต และเรียกร้องความเป็นธรรมจากการที่บุตรชายได้เข้ารับการรักษาอาการท้องร่วงที่โรงพยาบาลดังกล่าวและเสียชีวิตในวันต่อมา

แต่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งมอบเวชระเบียนให้เพียงบางส่วน โดยไม่ส่งมอบรายงานการรักษาพยาบาลและรายงานการให้ยา ซึ่งเป็นสาระสำคัญในการพิสูจน์ความผิดของผู้ทำการรักษาพยาบาล

นางนิวเห็นว่าการส่งเวชระเบียนไม่ครบถ้วนตามที่ร้องขอเป็นการจงใจกระทำละเมิดสิทธิผู้ป่วยของตนซึ่งเป็น
มารดาของผู้ตาย และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการโรงพยาบาล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ต้องร่วมรับผิดด้วย

นางนิวจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนการขาดประโยชน์จากการใช้เวชระเบียนและค่าเสียหายทางจิตใจ และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ส่งเวชระเบียนการรักษาพยาบาลของบุตรชายทั้งหมดให้แก่ตนตามที่ร้องขอ

ประเด็นพิจารณา คือ นางนิวมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองโดยที่ยังไม่ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อให้พิจารณาตามมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ ได้หรือไม่ ?

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่การที่ศาลจะรับคำฟ้องใดไว้พิจารณาได้ คดีนั้นจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการฟ้องคดีอย่างครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งมาตรา ๔๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ การฟ้องคดีปกครองจะทำได้ต่อเมื่อได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวแล้ว และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้น หรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควรหรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกำหนด

เมื่อผู้ฟ้องคดี คือ นางนิวได้ยื่นคำร้องต่อโรงพยาบาลขอเวชระเบียนการรักษาพยาบาลของบุตรชายเพื่อตรวจสอบถึงสาเหตุการเสียชีวิตและเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย ถือเป็นการใช้สิทธิขอข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของบุตรที่ถึงแก่กรรม (มาตรา 25 วรรคหนึ่งและวรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ประกอบข้อ 4 วรรคหนึ่ง (๓) และวรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งกำหนดให้บิดาหรือมารดามีสิทธิดำเนินการขอข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลแทนผู้เยาว์หรือเจ้าของข้อมูลที่ถึงแก่กรรมแล้วได้)

การที่โรงพยาบาลส่งมอบเวชระเบียนให้ไม่ครบถ้วน โดยขาดสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญอันจะพิสูจน์ความผิดของแพทย์และพยาบาลที่รักษาผู้ตาย จึงเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 25 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ และจงใจกระทำละเมิดทำให้ได้รับความเสียหาย ซึ่งนางนิวต้องใช้สิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการตามมาตรา 13 วรรคหนึ่ง เสียก่อน เนื่องจากเป็นกรณีที่กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการได้กำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายไว้โดยเฉพาะ และเมื่อมีการพิจารณาคำร้องเรียนแล้วหรือไม่มีการพิจารณาภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 13 วรรคสอง (พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน ขยายได้กรณีที่มีเหตุจำเป็น แต่รวมแล้ว
ต้องไม่เกิน 60 วัน) นางนิวจึงจะใช้สิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้

การที่นางนิวฟ้องคดีโดยยังไม่ได้ใช้สิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการจึงเป็นกรณีที่ยังมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งกำหนดเป็นเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการก่อนที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาล ศาลปกครองจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของนางนิวไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คร. 217/2562)

อุทาหรณ์ข้างต้น ... ถือเป็นบรรทัดฐานสำหรับผู้ที่ยื่นคำขอให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลหรือข้อมูลข่าวสารอื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนดให้เปิดเผยได้ ซึ่งหากหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่ครอบครองข้อมูลข่าวสารนั้นไม่จัดหาให้ตามคำขอ ผู้ยื่นคำขอจะต้องยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการตามที่กฎหมายกำหนดไว้เสียก่อน หากไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณา หรือหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการตามที่คณะกรรมการฯ มีความเห็น หรือคณะกรรมการฯ ไม่พิจารณาเรื่องร้องเรียนตามกำหนดเวลา จึงจะสามารถใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อให้ตรวจสอบว่าการไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่ขอนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ... ครับ !
....
“ฟ้องคดีอย่างถูกต้อง ... เพื่อป้องกันการเสียสิทธิ” และสามารถปรึกษาการฟ้องคดีปกครองได้ที่ ... สายด่วนศาลปกครอง ๑๓๕๕


  • รพ.
  • ข้อมูลการรักษา
  • บุตรชาย
  • ที่เสียชีวิต

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน อาจารย์ ตจต ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf lmyour แปลภาษา ชขภใ ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 ขขขขบบบยข ่ส ศัพท์ทางทหาร military words หนังสือราชการ ตัวอย่าง หยน แปลบาลีเป็นไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง พจนานุกรมศัพท์ทหาร เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษามลายู ยาวี Bahasa Thailand กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ การ์ดจอมือสอง ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย คะแนน o-net โรงเรียน ค้นหา ประวัติ นามสกุล บทที่ 1 ที่มาและความสําคัญของปัญหา ร. ต จ แบบฝึกหัดเคมี ม.5 พร้อมเฉลย แปลภาษาอาหรับ-ไทย ใบรับรอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน PEA Life login Terjemahan บบบย มือปราบผีพันธุ์ซาตาน ภาค2 สรุปการบริหารทรัพยากรมนุษย์ pdf สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม เช็คยอดค่าไฟฟ้า แจ้งไฟฟ้าดับ แปลภาษา มาเลเซีย ไทย แผนที่ทวีปอเมริกาเหนือ ่้แปลภาษา Google Translate กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ข้อสอบโอเน็ตม.3 มีกี่ข้อ คะแนนโอเน็ต 65 ตม กรุงเทพ มีที่ไหนบ้าง