ทางเดินหายใจ อักเสบเรื้อรัง

เนื่องจากฤดูฝนอากาศเปลี่ยนแปลงค่อนข้างบ่อย มีความชื้นมาก ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตและแพร่เชื้อได้ดี หากถูกฝนก็มีโอกาสเจ็บป่วย มีโอกาสเกิดโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจได้ง่าย จึงควรเตรียมพร้อมเพื่อรับมือและป้องกันกลุ่มโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ

กลุ่มโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ


1) โรคหวัด (Acute Rhinopharyngitis: Common Cold)

โรคหวัดหรือไข้หวัด (Acute Rhinopharyngitis : Common Cold) เป็นโรคติดเชื้อที่พบบ่อยมากที่สุดโรคหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว หรือโดยเฉพาะช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง สามารถพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ ในเด็กเล็กสามารถเป็นได้หลายครั้งในแต่ละปี ในผู้ใหญ่จะเป็นน้อยลงตามลำดับเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น โดยเฉลี่ยเด็กจะเป็นโรคหวัด 6 – 12 ครั้งต่อปี ผู้ใหญ่จะเป็น 2 – 4 ครั้งต่อปี ความรุนแรงของโรคไม่มาก และสามารถหายเองได้ภายในไม่กี่วัน เนื่องจากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสจึงเน้นรักษาประคับประคองอาการจนอาการหายดีเอง

การติดต่อ

ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีอยู่มากกว่า 100 ชนิด โดยส่วนใหญ่มักเป็นเชื้อไวรัสประเภทคอรีซา (Coryza Virus) ได้แก่ ไรโนไวรัส (Rhinovirus) และอื่น ๆ ติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่กระจายจากการไอหรือหายใจรดกัน หรือมือที่เปื้อนเชื้อโรคสัมผัสจมูกหรือตา ระยะเวลาแพร่เชื้อสามารถแพร่ได้ก่อนเกิดอาการและ 1 – 2 วันหลังเกิดอาการ


อาการที่พบ

เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่เยื่อบุโพรงจมูก เชื้อจะเกาะและเข้าสู่เซลล์เยื่อบุ แบ่งตัวเพิ่มจำนวน และทำให้เซลล์ถูกทำลาย เกิดการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก เยื่อบุบวม และแดง พบว่ามีการหลั่งของเมือกออกมา ใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1 – 3 วัน (โดยเฉลี่ย 10 – 12 ชั่วโมง) จึงจะแสดงอาการ

อาการของโรคหวัด ได้แก่

  • คัดจมูก
  • น้ำมูกไหลลักษณะใส
  • ไอ
  • จาม
  • เจ็บคอ
  • เสียงแหบ
  • อาจมีอาการไข้ต่ำ ๆ
  • ปวดศีรษะเล็กน้อย

ในผู้ใหญ่อาการจะน้อยมาก อาจมีแค่คัดจมูกและน้ำมูกไหล (ยกเว้นผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ) อาการของโรคมักเป็นไม่เกิน 2 – 5 วัน แต่อาจมีน้ำมูกไหลนาน 10 – 14 วัน


การปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็นโรคหวัด

  1. เนื่องจากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จึงใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น ยาลดน้ำมูก ยาลดไข้ จนอาการหายดีเอง การใช้ยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็นจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยาได้
  2. พักผ่อนให้เพียงพอ
  3. ดื่มน้ำมาก ๆ (ควรเป็นน้ำอุ่น)
  4. รักษาร่างกายให้อบอุ่น
  5. รับประทานอาหารอุ่น
  6. หลีกเลี่ยงการจามหรือสั่งน้ำมูกอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้น้ำมูกที่มีเชื้อโรคเข้าไปในไซนัสเกิดการอักเสบติดเชื้อได้
  7. เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก

ป้องกันการติดเชื้อหวัด

  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่เป็นโรคหวัด ลดการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างมือหลังสัมผัส อย่าเอามือสัมผัสหรือถูจมูก หรือขยี้ตา

  2. พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ

  3. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่กำลังไอหรือจาม หลีกเลี่ยงที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด

  4. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ไม่สามารถป้องกันโรคหวัดได้ เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสคนละชนิด

อาการที่ควรไปพบแพทย์

  • เมื่อน้ำมูกหรือเสมหะเหลืองเขียว
  • ปวดหู หูอื้อ
  • ปวดศีรษะมาก
  • ไข้สูง
  • มีอาการหอบเหนื่อย

ควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อน หากมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกายมาก อาจเป็นไข้หวัดใหญ่ไม่ใช่โรคหวัด

ภาวะแทรกซ้อน

  1. คนที่เป็นโรคหวัดบางส่วนจะมีการติดเชื้อของแบคทีเรียซ้อนร่วมด้วย ทำให้มีอาการน้ำมูกข้น สีเหลืองหรือเขียว มีเสมหะเขียว

  2. ไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซ้อน

  3. เยื่อบุตาอักเสบ

  4. หลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบ

  5. ผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคหอบหืดหรือถุงลมในปอดโป่งพอง เมื่อเป็นโรคหวัดจะทำให้อาการหอบเหนื่อยรุนแรงมากขึ้น

2) ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นโรคติดต่อที่เกิดการระบาดใหญ่เป็นครั้งคราว เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เชื้อไวรัสสามารถแพร่ระบาดได้ทั่วโลก โดยแต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ประมาณร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด พบได้ในทุกช่วงอายุ ในเด็กเล็กจะติดเชื้อได้ง่าย ส่วนผู้สูงอายุเมื่อติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงกว่า ความรุนแรงโรคอาจมีแค่อาการไข้สูง ไอ ปวดตามร่างกาย หรือรุนแรง มีอาการปอดอักเสบ การรักษาใช้การรักษาประคับประคองอาการหรือยาต้านไวรัสในรายที่รุนแรง ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งได้ผลดีมากในการช่วยลดความรุนแรงของโรค

การติดต่อ 

ไวรัสไข้หวัดใหญ่มีหลายสายพันธุ์ ได้แก่

  • สายพันธุ์เอ (Influenza A Virus) พบได้ประมาณร้อยละ 80 เป็นสาเหตุของการระบาดใหญ่บ่อยครั้ง
  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี (Influenza B Virus) พบบ่อยรองลงมา
  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซี (Influenza C Virus) มีความรุนแรงน้อยไม่ค่อยมีความสำคัญ

เชื้อไวรัสติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่กระจายจากการไอหรือหายใจรดกัน หรือมือที่เปื้อนเชื้อโรคสัมผัสจมูก ผู้ที่มีเชื้อไวรัสในร่างกายสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนที่จะมีอาการ และต่อไปได้อีก 3 – 5 วันหลังจากที่มีอาการแล้ว หรือบางรายไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อได้เช่นกัน

อาการที่พบ

หลังจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ทางเดินหายใจ ใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1 – 7 วัน (โดยเฉลี่ย 2 – 3 วัน) จะเริ่มแสดงอาการ

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่

  • ไข้สูงเฉียบพลัน (39 –  40 องศาเซลเซียส)
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดกระบอกตา
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • อ่อนเพลียมาก
  • อาจมีอาการคัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ น้ำมูกไหลลักษณะใส หลอดลมอักเสบ
  • อาจมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น เบื่ออาหาร ถ่ายอุจจาระเหลว คลื่นไส้ อาเจียน

โดยส่วนใหญ่อาการจะหายเป็นปกติได้เองภายใน 1 – 2 สัปดาห์ ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อน
ส่วนมากจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน ภาวะแทรกซ้อนที่พบ ได้แก่

  1. โรคปอดอักเสบติดเชื้อ หลอดลมอักเสบ หากอาการรุนแรงมากจะเกิดภาวะการหายใจล้มเหลวได้
  2. ภาวะสมดุลน้ำผิดปกติ เนื่องจากมีไข้สูง ดื่มน้ำได้น้อยลง หรือมีอาเจียน
  3. กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (พบน้อย)
  4. สมองอักเสบหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (พบน้อย)
  5. ผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคหอบหืดหรือถุงลมในปอดโป่งพอง เมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่ จะทำให้อาการหอบเหนื่อยรุนแรงมากขึ้น

ผู้ป่วยกลุ่มที่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนสูง ได้แก่

  • ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป หรือเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน

  • ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี (เอดส์) มะเร็ง เอสแอลอี (โรคพุ่มพวง) เป็นต้น

  • เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่รับประทานยาแอสไพรินเป็นเวลานาน

  • หญิงที่ตั้งครรภ์หรือผู้ป่วยโรคอ้วน

การปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่

  1. เนื่องจากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จึงใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ จนอาการหายดีเอง การใช้ยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็นจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยาได้

  2. ในรายที่มีอาการรุนแรงหรือมีความเสี่ยงสูง อาจพิจารณาการใช้ยาต้านไวรัส

  3. พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ (ควรเป็นน้ำอุ่น) รักษาร่างกายให้อบอุ่น อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท

  4. เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก หรือสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ

  5. ในเด็กเล็กควรเช็ดตัวลดไข้บ่อย ๆ เพราะไข้สูงอาจกระตุ้นให้ชักได้ วิธีการเช็ดตัวควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาเช็ด ไม่ควรใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็งเช็ดตัว

  6. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ภูมิต้านทานโรคน้อย เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่กินยากดภูมิคุ้มกันอยู่

การป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่

  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่เป็นโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ลดการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างมือหลังสัมผัส อย่าเอามือสัมผัสหรือถูจมูก หรือขยี้ตา

  2. พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ

  3. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่กำลังไอหรือจาม หลีกเลี่ยงที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด

  4. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ปัจจุบันแนะนำให้ฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลควรฉีดทุก 1 ปีเนื่องจากมีการเปลี่ยนสายพันธุ์บ่อย

อาการที่ควรไปพบแพทย์

  1. ผู้ที่มีอาการรุนแรง หายใจหอบเหนื่อย แน่นหน้าอก อ่อนเพลียมาก รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้ หรือมีอาการนานกว่า 7 วัน

  2. ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน หากมีอาการข้างต้น สงสัยเป็นไข้หวัดใหญ่ควรไปพบแพทย์

หากมีอาการไข้สูงนานประมาณ 3 วัน ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาการที่เป็นอยู่อาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่นที่คล้ายกันได้ เช่น ไข้เลือดออก

 

3) คออักเสบ (Acute Pharyngitis)

โรคคออักเสบ (Acute Pharyngitis) เกิดจากเยื่อบุภายในคออักเสบ เป็นโรคติดเชื้อที่พบบ่อยมากส่วนใหญ่ สามารถพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ ในเด็กจะพบได้บ่อยกว่า ความรุนแรงของโรคไม่มาก มักมีอาการกลืนเจ็บ แสบคอ และสามารถหายได้เองภายในไม่กี่วัน แต่การติดเชื้อแบคทีเรียอาจทำให้มีอาการนาน การรักษาจะเน้นการรักษาประคับประคองอาการจนหายดี

การติดต่อ

ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส (40 – 80%) รองลงมาเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย (20%) เชื้อไวรัสส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Rhinovirus, Adenovirus และ Coronavirus อาการส่วนใหญ่คล้าย ๆ กันและเป็นไม่มากนัก เชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคที่พบมากที่สุดและมีความสำคัญมากคือ กลุ่มสเตรปโตคอกคัส Streptococcus spp. (โดยเฉพาะ S. pyogenes) เชื้อติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลายและเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่กระจายจากการไอหรือหายใจรดกัน หรือมือที่เปื้อนเชื้อโรคสัมผัสจมูก ช่องปาก ระยะเวลาแพร่เชื้อสามารถแพร่ได้ก่อนเกิดอาการและหลังเกิดอาการ (ระยะเวลานานขึ้นกับชนิดของเชื้อ)

อาการที่พบ

บริเวณที่เป็นคออักเสบจะอยู่พื้นที่ระหว่างหลังโพรงจมูกกับกล่องเสียง เมื่อเชื้อเข้ามาจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและทำลายเซลล์ เกิดการอักเสบ เชื้อไวรัสมักใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1 – 3 วัน ส่วนเชื้อแบคทีเรีย (กล่าวถึงกลุ่มสเตรปโตคอกคัส) ใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2 – 5 วัน

อาการคออักเสบ ได้แก่

  • เจ็บคอ
  • กลืนเจ็บ
  • ไอ
  • ปวดศีรษะ
  • ไข้
  • อาจพบต่อมน้ำเหลืองโต
  • ถ้าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียจะมีอาการไข้สูง เจ็บคอมาก คอแดงมาก มีจุดหนองที่คอเพิ่มเติม

อาการมักดีขึ้นเองภายใน 7 – 10 วัน แต่ในกลุ่มติดเชื้อสเตรปโตคอกคัสอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้

การปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็นโรคคออักเสบ

  1. กรณีที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น ยาแก้เจ็บคอ ยาแก้ไอ ยาลดไข้จนอาการหายดีเองกรณีที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พิจารณาการใช้ยาฆ่าเชื้อและต้องรับประทานจนครบตามแพทย์สั่ง
  2. พักผ่อนให้เพียงพอ
  3. ดื่มน้ำมาก ๆ (ควรเป็นน้ำอุ่น แต่ถ้าเจ็บคอมากอาจจิบน้ำเย็นเพื่อลดอาการเจ็บได้)
  4. รักษาร่างกายให้อบอุ่น
  5. อาจจิบน้ำผึ้งผสมน้ำมะนาว
  6. เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก

การป้องกันการติดเชื้อคออักเสบ

  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่เป็นโรคหวัดหรือคออักเสบ ลดการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างมือหลังสัมผัส อย่าเอามือสัมผัสหรือถูจมูก

  2. พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ

  3. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่กำลังไอหรือจาม หลีกเลี่ยงที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด

อาการที่ควรไปพบแพทย์

  • น้ำมูกหรือเสมหะเหลืองเขียว
  • ปวดหู หูอื้อ
  • ไข้สูง
  • หายใจหอบเหนื่อย
  • มีอาการแทรกซ้อนอื่น หรืออาการคออักเสบเป็นอยู่นานเกิน 7 วัน หรือเมื่อรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 – 2 วัน

ภาวะแทรกซ้อน

ในคออักเสบชนิดติดเชื้อไวรัส ภาวะแทรกซ้อนมีโอกาสเกิดได้น้อยมาก มักเกิดจากการที่มีการติดเชื้อของแบคทีเรียซ้อนร่วมด้วย (ยกเว้นเชื้อไวรัสบางชนิดที่พบไม่บ่อย เช่น Ebstein-Barr Virus (EBV) จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก) ในคออักเสบชนิดติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะกลุ่มสเตรปโตคอกคัส แบ่งภาวะแทรกซ้อนได้เป็น

  • ภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับหนอง มักเกิดจากเชื้อโรครุกล้ำบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ ฝีรอบต่อมทอนซิล ฝีข้างคอหอย ฝีที่ผนังคอหอย ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ

  • ภาวะแทรกซ้อนที่ไม่เกี่ยวกับหนอง เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ไว้ต่อสู้กับเชื้อมาทำลายอวัยวะของผู้ป่วยเอง ได้แก่ ไข้รูห์มาติก, โรคหัวใจรูห์มาติก, ไตอักเสบ เป็นต้น

4) โรคปอดอักเสบ (Pneumonia)

โรคปอดอักเสบ หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า “ปอดบวม” เป็นโรคทางระบบทางเดินหายใจที่เกิดการติดเชื้อบริเวณปอด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย และทำให้เกิดการอักเสบ บวม มีน้ำหรือหนองอยู่ภายในถุงลมปอด ทำให้การแลกเปลี่ยนอากาศทำได้ไม่ดี พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว โรคปอดอักเสบสามารถพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ แต่ในเด็กอายุน้อยกว่า 4 ปีและผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี มีโอกาสเกิดความรุนแรงของโรคได้มากกว่า โรคปอดอักเสบทำให้เกิดอาการไอ หายใจลำบาก และหายใจหอบเหนื่อย ในรายที่มีอาการมากอาจเสียชีวิตได้ การรักษาอาจพิจารณาใช้ยาฆ่าเชื้อตามชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุ ร่วมกับการให้ออกซิเจนเสริม และการรักษาตามอาการจนอาการหายดี

เชื้อที่ก่อโรค
เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ เชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย

  • เชื้อไวรัสที่พบบ่อย ได้แก่ อดิโนไวรัส (Adenovirus), อินฟลูเอนซา (ไข้หวัดใหญ่ : Influenza), พาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza) และอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus : RSV)
  • เชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย ได้แก่ สเตรปโตคอกคัส (Streptococcus Pneumoniae), ฮีโมฟิลุส (Haemophilus Influenzae), มอแรกเซลลา (Moraxella Catarrhalis) และ ไมโคพลาสมา (Mycoplasma Pneumoniae)

การติดต่อ

ติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในละอองฝอยกระจาย จากการไอหรือหายใจรดกัน หรืออาจเกิดจากการสำลักเชื้อลงสู่ปอด เช่น สำลักน้ำลาย อาหาร (โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ) ระยะเวลาแพร่เชื้อขึ้นกับชนิดของเชื้อและสามารถแพร่เชื้อได้จนกว่าเชื้อในเสมหะจะน้อยลงมาก การระบาดสามารถเกิดได้ในบริเวณที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ค่ายทหาร เรือนจำ

อาการที่พบ

เมื่อเชื้อลงมาที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ ปอดและถุงลมปอด เชื้อจะแบ่งตัวและทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อปอด ต่อมาภูมิคุ้มกันของร่างกายจะเข้ามาทำลายเชื้อ เกิดการอักเสบบวมมากขึ้น และมีน้ำหรือหนองอยู่ภายในถุงลมปอดแทนที่อากาศ ส่งผลให้การแลกเปลี่ยนอากาศระหว่างถุงลมและเลือดทำได้ไม่ดี ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะขาดออกซิเจนในร่างกาย มีอาการไอ หายใจเร็ว หายใจลำบาก หายใจหอบเหนื่อยมากขึ้น

อาการของโรคปอดอักเสบ ได้แก่

  • ไข้
  • ไอ
  • มีเสมหะ
  • หายใจเร็ว
  • หายใจลำบาก
  • หอบเหนื่อย
  • หายใจเจ็บหน้าอก

ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีหายใจแรงจนจมูกบาน บางรายเกิดหลอดลมภายในปอดตีบจนหายใจดังวี๊ด (คล้ายหอบหืด) ในรายที่มีอาการรุนแรงมากจะมีภาวะการหายใจล้มเหลว ร่างกายขาดออกซิเจนมาก ทำให้ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยน หงุดหงิด สับสน ซึมลง หมดสติ และเสียชีวิตได้ ระยะเวลาการเป็นโรคขึ้นกับชนิดของเชื้อโรคและความรุนแรงของโรค

การป้องกันการติดเชื้อ

  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีคนแออัด โดยเฉพาะเด็กเล็ก ลดการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างมือหลังสัมผัส อย่าเอามือสัมผัสหรือถูจมูก หรือขยี้ตา

  2. พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ

  3. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่กำลังไอหรือจาม หลีกเลี่ยงที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด

  4. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ปัจจุบันแนะนำให้ฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลควรฉีดทุก 1 ปีเนื่องจากมีการเปลี่ยนสายพันธุ์บ่อย

  5. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี (Invasive Pneumococcal Disease : IPD) ป้องกันและลดความรุนแรงจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส (Streptococcus Pneumoniae) โดยเฉพาะเด็กและผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่ควรฉีดได้แก่

    • ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง พิษสุราเรื้อรัง ตับแข็ง ไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคไต
    • ผู้ที่ถูกตัดม้าม ไม่มีม้ามตั้งแต่กำเนิดหรือม้ามทำหน้าที่ไม่ดี
    • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้แก่ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (เอดส์) ผู้ที่เป็นมะเร็งได้ยาเคมีบำบัด หรือผู้ที่ได้ยากดภูมิคุ้มกัน

อาการที่ควรไปพบแพทย์

  • ไข้
  • ไอ
  • ไอปนเลือด
  • หายใจหอบเหนื่อย หายใจเหนื่อยมากขึ้น
  • หายใจเจ็บหน้าอกมาก
  • แน่นหน้าอก
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด

ภาวะแทรกซ้อน

โดยปกติโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนเกิดได้ไม่มาก ยกเว้นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะมีโอกาสเกิดได้มากกว่า ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ได้แก่

  • มีน้ำหรือมีหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด หรืออาจเกิดปอดแตก และเกิดปอดแฟบได้

  • มีฝีหรือโพรงหนองที่ปอด หรือมีหนองที่หลอดลม

  • ภาวะหายใจล้มเหลวต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ และอาจเสียชีวิตได้

  • ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจอักเสบ (พบได้น้อย)

5) หลอดลมอักเสบ (Acute Bronchitis)

โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) สามารถแบ่งได้เป็นชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ในชนิดที่จะกล่าวถึงนี้คือ โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (Acute Bronchitis) เป็นโรคทางระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อที่หลอดลม หลอดลมในร่างกายมีขนาดใหญ่และจะแตกแขนงเป็นขนาดเล็กย่อย ๆ จนกว่าจะถึงถุงลม ปอด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เยื่อบุหลอดลมเกิดการอักเสบบวม ทำให้การไหลผ่านอากาศทำได้ไม่ดี พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว พบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ โรคหลอดลมอักเสบทำให้เกิดอาการไอมาก มีเสมหะ หายใจลำบาก การรักษามักใช้การรักษาประคับประคองตามอาการจนอาการหายดี

การติดต่อ
ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยส่วนใหญ่ได้แก่เชื้อ อดิโนไวรัส (Adenovirus), ไรโนไวรัส (Rhinovirus), อินฟลูเอนซา (ไข้หวัดใหญ่ : Influenza), พาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza) และ อาร์เอสวี (Respiratory syncytial virus : RSV) ส่วนน้อยเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คือ ไมโคพลาสมา (Mycoplasma) และ คลาไมเดีย (Chlamydia) การติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลายและเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในละอองฝอยกระจายอยู่ในอากาศ จากการไอหรือหายใจรดกัน ระยะเวลาแพร่เชื้อสามารถแพร่ได้ก่อนเกิดอาการและหลังเกิดอาการ

อาการที่พบ

เมื่อเชื้อเข้าสู่ทางเดินหายใจบริเวณหลอดลม เชื้อจะแบ่งตัวและทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุหลอดลมและบวมมากขึ้น ส่งผลให้หลอดลมตีบแคบ อากาศไหลผ่านหลอดลมเข้าปอดได้ไม่ดี หายใจลำบาก ในรายที่หลอดลมตีบมาก ๆ จะหายใจดังวี้ดได้ และจากการอักเสบทำให้การขับเสมหะของเยื่อบุหลอดลมไม่ดี ส่งผลให้เกิดอาการไอมากขึ้น อาจไอแห้ง ๆ หรือไอมีเสมหะ อาจมีอาการอื่น ๆ คล้ายอาการของโรคหวัด เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไข้ต่ำๆ ได้ อาการของโรคหลอดลมอักเสบส่วนใหญ่มักหายได้เองภายใน 7 – 10 วัน แต่อาการไอแห้ง ๆ อาจเป็นได้นานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน อาการไอ จะไอบ่อยครั้ง ไอถี่ ๆ หรือเป็นชุด อาจมีอาการเจ็บกล้ามเนื้อหน้าอกหรือชายโครงได้ ในบางรายอาจมีปัสสาวะเล็ดได้

การปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็นหลอดลมอักเสบ

  1. เนื่องจากส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จึงใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น ยาละลายเสมหะ ยาแก้ไอ ยาขยายหลอดลม จนอาการหายดีเอง ส่วนการติดเชื้อแบคทีเรียอาจพิจารณาการใช้ยาฆ่าเชื้อ

  2. พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ (ควรเป็นน้ำอุ่น) รักษาร่างกายให้อบอุ่น รับประทานอาหารอุ่น

  3. เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก หรือสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งเมื่อสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ

  4. งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ฝุ่น เขม่าควันต่าง ๆ หรือสารที่ระคายเคืองทางเดินหายใจ

การป้องกันการติดเชื้อ

  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่เป็นโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ลดการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างมือหลังสัมผัส อย่าเอามือสัมผัสหรือถูจมูก

  2. พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น

  3. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่กำลังไอหรือจาม หลีกเลี่ยงที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด

อาการที่ควรไปพบแพทย์

  • ไอมาก
  • ไอถี่ ๆ
  • ไอปนเลือด
  • มีเสมหะข้นกลิ่นเหม็น
  • มีไข้สูง
  • หายใจหอบเหนื่อยมากขึ้น
  • แน่นหน้าอก
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด
  • มีโรคประจำตัวเดิมเป็นโรคปอดเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม

ภาวะแทรกซ้อน

  1. หลอดลมอักเสบจากเชื้อไวรัส อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้อนร่วมด้วย ทำให้มีอาการไอมาก มีเสมหะข้นสีเหลืองหรือเขียว ทำให้ระยะเวลาดำเนินโรคนานกว่าปกติ

  2. โรคปอดอักเสบ พบได้ประมาณ 5 ใน 100 จะมีอาการไข้ ไอมีเสมหะ หายใจหอบเหนื่อย อาการหอบเหนื่อยจะแย่กว่าหลอดลมอักเสบ

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน อาจารย์ ตจต ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf lmyour แปลภาษา ชขภใ ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 ขขขขบบบยข ่ส ศัพท์ทางทหาร military words หนังสือราชการ ตัวอย่าง หยน แปลบาลีเป็นไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง พจนานุกรมศัพท์ทหาร เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษามลายู ยาวี Bahasa Thailand กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ การ์ดจอมือสอง ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย คะแนน o-net โรงเรียน ค้นหา ประวัติ นามสกุล บทที่ 1 ที่มาและความสําคัญของปัญหา ร. ต จ แบบฝึกหัดเคมี ม.5 พร้อมเฉลย แปลภาษาอาหรับ-ไทย ใบรับรอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน PEA Life login Terjemahan บบบย มือปราบผีพันธุ์ซาตาน ภาค2 สรุปการบริหารทรัพยากรมนุษย์ pdf สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม เช็คยอดค่าไฟฟ้า แจ้งไฟฟ้าดับ แปลภาษา มาเลเซีย ไทย แผนที่ทวีปอเมริกาเหนือ ่้แปลภาษา Google Translate กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ข้อสอบโอเน็ตม.3 มีกี่ข้อ คะแนนโอเน็ต 65 ตม กรุงเทพ มีที่ไหนบ้าง