โรงงานน้ำตาลในประเทศไทยมีกี่โรงงาน



อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยกำลังนับถอยหลังที่จะเข้าสู่ฤดูการเปิดหีบในปี 2564/65 ที่คาดว่าจะเป็นช่วงต้นเดือนธันวาคม 2564 นี้ ซึ่งหลายฝ่ายต่างหมายมั่นว่าผลผลิตอ้อยในฤดูหีบปีนี้จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 85-90 ล้านตันด้วยเพราะปริมาณฝนที่ตกมาแบบต่อเนื่องซึ่งเอื้อต่อผลผลิตอ้อยให้เติบโตได้ดียิ่งขึ้น นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้อุตสาหกรรมดังกล่าวกลับมาสู่การฟื้นตัวหลังจากที่ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายถึงจุดต่ำสุดไปแล้วในฤดูหีบที่ผ่านมาเนื่องจากเผชิญภาวะแห้งแล้งหนักสุดในรอบ 40 ปี

ประกอบกับราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่ส่งสัญญาณสดใสที่ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบวิ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 19-20 เซ็นต์ต่อปอนด์ จึงทำให้เห็นแนวโน้มราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูหีบปีหน้า (ปี 2565/66) ยังคงมีแนวโน้มสูงเช่นเดียวกับฤดูหีบปี 2564/65 จึงทำให้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้ออกประกาศประกันราคารับซื้ออ้อยสดขั้นต่ำ 1,000 บาทต่อตัน ณ ระดับค่าความหวานที่ 10 C.C.S. ซึ่งเริ่มประกาศใช้ตั้งแต่ฤดูการผลิตปีนี้ (2564/2565) ต่อไปอีกถึงปี 2565/66 เพื่อจูงใจให้ชาวไร่อ้อยเพิ่มผลผลิตมากขึ้น

ทั้งนี้ “อ้อย” นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ระบบเศรษฐกิจของไทยสูงถึงปีละไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท โดยมีส่วนผลักดันให้เกิดการส่งออกอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายติดอันดับ 2-3 ของโลกมาอย่างยาวนาน เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรนับ 4 แสนครัวเรือนและอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งอาหาร ปุ๋ยเคมี เครื่องจักรกลการเกษตร ฯลฯ ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 อุตสาหกรรมนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี


57 โรงงานบูตผลผลิต 100 ล้านตันสร้างสมดุล

โรงงานน้ำตาลเป็นส่วนสำคัญในการแปรรูปผลผลิตอ้อยสู่น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว กากน้ำตาล รวมไปถึงการต่อเนื่องของอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น เอทานอล โรงไฟฟ้าชีวมวล ปัจจุบันไทยมีโรงงานที่พร้อมหีบอ้อย 57 แห่ง โดยมีอัตรากำลังการผลิตอ้อยถึง 1.10 ล้านตันต่อวัน ซึ่งหากจะให้สมดุลแล้วจะต้องมีปริมาณอ้อยอย่างต่ำ 100 ล้านตันขึ้นไป แต่ในช่วงระยะ 2 ปีอ้อยได้ลดลงต่อเนื่องจากภัยแล้งและราคาอ้อยที่ไม่สูงนักทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงอ้อยข้ามเขตเกิดขึ้น

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL และในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงมุมมองปัญหาดังกล่าวว่า ฤดูหีบปีนี้ที่คาดว่าจะเริ่มได้ช่วงต้น ธ.ค. 64 การแย่งชิงอ้อยน่าจะลดต่ำลงเนื่องจากปริมาณอ้อยคาดการณ์ว่าจะมีไม่น้อยกว่า 85 ล้านตันจากฤดูฝนที่ปริมาณฝนมาสม่ำเสมอ ประกอบกับการที่โรงงานน้ำตาลทรายได้รับประกันซื้ออ้อยสดที่ 1,000 บาทต่อตันที่จะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565/66

“เราคาดหวังว่าในฤดูหีบปี 2565/66 จะมีผลผลิตอ้อยอยู่ระดับ 100 ล้านตันขึ้นไป ซึ่งกลับไปสู่จุดสมดุลอีกครั้งกับจำนวนโรงงานที่มี โดยการรับประกันราคาอ้อยสดไว้ 1,000 บาทต่อตันที่ความหวาน 10 C.C.S. ซึ่งจะได้ถึงกว่า 1,000 บาทต่อตันแน่นอนเมื่อรวมค่าความหวานแล้ว และมุมมองของผมการแย่งซื้ออ้อยก็เป็นเรื่องปกติในธุรกิจเช่นเดียวกับสินค้าอื่นที่มีโปรโมชัน ก็ขึ้นอยู่แต่ละรายว่าจะรับกับต้นทุนได้ไหม แต่ความสมดุลคือสิ่งที่ดีสุดต่อทุกฝ่าย” นายชลัสกล่าว

เขาชี้ว่า “น้ำตาล” เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ซื้อขายในตลาดล่วงหน้าจึงทำให้สามารถเห็นสัญญาณราคาตลาดโลกที่ราคาน้ำตาลทรายดิบยังทรงตัวระดับสูง การส่งสัญญาณให้ชาวไร่รู้ล่วงหน้าด้วยการประกันราคารับซื้อดังกล่าวเพื่อให้การันตีถึงผลตอบแทนที่ดีให้แก่ชาวไร่อ้อยในการเตรียมพันธุ์อ้อยมาปลูกเพิ่มเติมโดยเฉพาะภาคอีสานในช่วง ต.ค.นี้ ดังนั้นอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในระยะใกล้ 1-2 ปีนี้จะเป็นขาขึ้นแน่นอน

“อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่มีวงจรในการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจอย่างมากนับแสนๆ ล้านบาทต่อปี เฉพาะส่งออกก็ 8-9 หมื่นล้านบาทนำเงินตรากลับมาประเทศ เรายังเกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรจำนวนมากที่เป็นคนไทยในการเพาะปลูก อุตสาหกรรมปุ๋ย เครื่องจักรกล ฯลฯ เมื่อโควิด-19 ระบาดเราจึงมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะระดับฐานราก” นายชลัสกล่าวย้ำ

ราคาอ้อย 1,200-1,300 บาท/ตัน ความหวังของชาวไร่

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 กล่าวว่า ราคาที่โรงงานประกันการรับซื้ออ้อยสด 1,000 บาทต่อตัน (10 C.C.S.) ที่จะต่อเนื่องไปถึงปี 2565/66 ซึ่งจะต้องมีการเริ่มเพาะปลูกใหม่ช่วง ต.ค.นี้จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยรายเดิมที่มีพื้นที่เหลืออาจตัดสินใจเพิ่มการปลูกอ้อยใหม่ได้ หรือ รื้อตออ้อยเก่าเพื่อปลูกใหม่เพราะผลผลิตจะดีกว่า แต่รายใหม่เลยที่จะเปลี่ยนใจจากพืชเกษตรตัวอื่นๆเข้ามาปลูกอ้อยนั้นอาจจะมีน้อยเนื่องจากราคามันสำปะหลัง ข้าว ภาพรวมยังมีราคาที่ดี ดังนั้นในแง่ของพื้นที่เพาะปลูกอ้อยคงไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนัก

“ราคาอ้อยสด 1,000 บาทต่อตันก็ไม่ได้ถือว่าโดดเด่น โดยหากราคาประกาศที่ 1,200-1,300 บาทต่อตันจะทำให้เอื้อต่อการปลูกอ้อยเพิ่มมากกว่าซึ่งอดีตก็เคยวิ่งไปสูงระดับนี้ แต่ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายให้ตัดอ้อยสดที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก ประกอบกับต้นทุนการเพาะปลูกอื่นๆ ตั้งแต่ค่าปุ๋ย ยา ฯลฯ ล้วนแต่ก็ปรับขึ้นมาต่อเนื่องระดับ 1,000 บาทต่อตันแค่จุดพอเลี้ยงตัวเองได้ไม่ได้มีกำไรอะไรมาก” นายนราธิปกล่าวย้ำ

อย่างไรก็ตาม ในอดีตเกษตรกรปลูกอ้อยรายย่อยจะบูมมากเพราะพืชอื่นๆ ตกต่ำ และพอเขาเข้ามาทำจริงๆ แล้วเจออุปสรรคหลายอย่าง ทั้งการตัดอ้อยสด การขายที่ต้องอาศัยคนกลาง เพราะต้องขนส่งอ้อยไปยังโรงงาน ต่างจากพืชอื่นที่เก็บเกี่ยวแล้วขายได้เลยทันที ทำให้รัฐพยายามจะส่งเสริมการรวมกลุ่มให้เป็นแปลงใหญ่แต่ก็ไม่ง่ายนัก ขณะที่หากมองในแง่ของโรงงาน 57 แห่งกับกำลังการผลิตที่มี 1.10 ล้านตันต่อวันจุดคุ้มทุนควรต้องมีปริมาณอ้อย 120 ล้านตันขึ้นไปซึ่งอดีตไทยเคยขึ้นไปแตะกว่า 130 ล้านตันมาแล้ว แต่ช่วง 2 ปีนี้ลดลงมากจึงเกิดการแย่งรับซื้ออ้อยข้ามเขตสูง และปีนี้ก็ยังคิดว่ามีอยู่โดยขึ้นอยู่กับราคาน้ำตาลตลาดโลกในช่วงหีบว่าสูงพอจะจูงใจให้โรงงานบางแห่งดำเนินการแย่งซื้ออ้อยมากน้อยเพียงใดโดยเฉพาะภาคอีสาน

“การที่ผลผลิตอ้อยเราถดถอยมาเพราะภัยแล้ง ราคาตกต่ำเมื่อเทียบกับพืชอื่นๆ ต่อเนื่องทำให้ไม่มีกำไรที่จะไปต่อ และ 2 ปีมานี้นโยบายรัฐก็ส่งเสริมการตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 จึงช่วยเหลือเฉพาะต้นทุนการตัดอ้อยสดแต่ยังคงไม่ได้พิจารณาช่วยเหลือต้นทุนการปลูกอ้อยที่แท้จริงภาพรวม ดังนั้นราคาอ้อยจึงเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิต แต่ก็แน่นอนว่าสิ่งที่ดีสุดคือความสมดุลเพราะถ้าปลูกมากเกินราคาก็ต่ำอีกเช่นกัน” นายนราธิปกล่าว

ราคาน้ำตาลตลาดโลกขาขึ้นจากบราซิลเจอแล้ง

นายอภิชาติ ลักษณะสิริศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) กล่าวว่า ภาพรวมราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกขณะนี้มีแนวโน้มที่ดี โดยราคาเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ประมาณ 19-20 เซ็นต์ต่อปอนด์ และหากมองแนวโน้มราคาซื้อขายล่วงหน้าปีหน้าคาดว่าจะไม่ต่ำไปกว่าระดับ 17 เซ็นต์ต่อปอนด์เนื่องจากบราซิลซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่สุดของโลกประสบปัญหาภาวะภัยแล้งทำให้หลายฝ่ายมองว่าผลผลิตจะลดต่ำลงจึงทำให้ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกได้ทยอยปรับขึ้น แนวโน้มการส่งออกของบราซิลในฤดูหีบปี 2564/65 จะลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

“บราซิลประสบกับภาวะภัยแล้งที่จะทำให้อ้อยลดลงราว 30-40 ล้านตันจากปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในเขต CS Brazil แต่ปัจจัยที่ต้องติดตามคือกรณีราคาน้ำมันหากมีการปรับตัวสูงขึ้นบราซิลเองก็จะปันส่วนอ้อยไปผลิตเอทานอลมากขึ้น จะยิ่งทำให้ปริมาณน้ำตาลลดลงที่อันนี้จะส่งผลบวกต่อราคาน้ำตาลอย่างมีนัยสำคัญที่ต้องติดตามใกล้ชิด” นายอภิชาติกล่าว

ทั้งนี้ อนท.ได้ทำราคาขายน้ำตาลทรายดิบล่วงหน้าในฤดูหีบปี 2564/65 ไปแล้วประมาณ 30% โดยทำราคาเฉลี่ยได้ 18 เซ็นต์ต่อปอนด์ (ไม่รวมพรีเมียม) นับเป็นราคาที่ดีสุดที่เคยทำได้ในรอบ 5-6 ปี แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่จบยังเหลือที่ต้องทำราคาอีกพอสมควร แต่เราก็หวังว่าจะทำราคาที่เหลือได้ในระดับที่สูงและจะทำให้ค่าเฉลี่ยราคาได้ 17.5-18 เซ็นต์ต่อปอนด์ (ไม่รวมพรีเมียม) แน่นอนว่าระดับราคาดังกล่าวนี้จึงทำให้โรงงานสามารถประกันราคารับซื้ออ้อยสดที่ระดับ 1,000 บาทต่อตัน (ความหวาน 10 C.C.S.) ต่อไปได้อีก 1 ปี

อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ผลผลิตอ้อยของไทยในฤดูหีบที่กำลังจะมาถึง (ปี 64/65) มีแนวโน้มว่าอ้อยจะเฉลี่ยระดับ 85 ล้านตันบวกลบนั้นจะทำให้ปริมาณน้ำตาลทรายส่งออกจะเพิ่มอีกราว 2 ล้านตัน จึงเป็นโอกาสของการส่งออกน้ำตาลทรายของไทยที่เพิ่มขึ้นที่เป็นจังหวะของราคาตลาดโลกที่สูง ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจึงเอื้อให้การส่งออกของไทยมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้นตามไปด้วย และฤดูหีบปี 2565/66 ที่คาดหวังว่าอ้อยจะอยู่ในระดับ 100 ล้านตันก็จะทำให้น้ำตาลของไทยสามารถส่งออกได้เพิ่มอีกต่อเนื่องที่สอดคล้องกับราคาน้ำตาลตลาดโลกที่มีแนวโน้มยังทรงตัวระดับสูง

“ผลผลิตน้ำตาลของโลกยังอยู่ในภาวะค่อนข้างตึงตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการบริโภค แต่ก็ยังคงต้องติดตามใกล้ชิดเพราะน้ำตาลเป็นเรื่องของการเก็งกำไร ซื้อขายล่วงหน้าเราก็ต้องมองจังหวะของการซื้อขายให้ดี แต่หากให้ประเมินระยะสั้น 1-2 ปีนี้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายถือเป็นช่วงขาขึ้นชัดเจน” นายอภิชาติกล่าว

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ยังคงมีการแพร่ะระบาดต่อเนื่องและกระทบให้ธุรกิจต่างๆ ประสบปัญหา ทำให้แรงงานต้องตกงาน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยฉุดเศรษฐกิจไทยให้ชะลอตัวลง หลายประเทศเริ่มหันมาใช้นโยบายส่งเสริมให้เกิดการผลิตและใช้สินค้าในประเทศมากขึ้น

แน่นอนว่าภาพสะท้อนมุมมองของกูรูด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายดังกล่าวจึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญต่ออุตสาหกรรมนี้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้า แต่จะไปได้ไกลแค่ไหน รัฐ โรงงาน ชาวไร่ ต้องกำหนดอนาคตร่วมกัน


  • อ้อย
  • โรงงานน้ำตาล

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน อาจารย์ ตจต ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf lmyour แปลภาษา ชขภใ ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 ขขขขบบบยข ่ส ศัพท์ทางทหาร military words หนังสือราชการ ตัวอย่าง หยน แปลบาลีเป็นไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง พจนานุกรมศัพท์ทหาร เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษามลายู ยาวี Bahasa Thailand กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ การ์ดจอมือสอง ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย คะแนน o-net โรงเรียน ค้นหา ประวัติ นามสกุล บทที่ 1 ที่มาและความสําคัญของปัญหา ร. ต จ แบบฝึกหัดเคมี ม.5 พร้อมเฉลย แปลภาษาอาหรับ-ไทย ใบรับรอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน PEA Life login Terjemahan บบบย มือปราบผีพันธุ์ซาตาน ภาค2 สรุปการบริหารทรัพยากรมนุษย์ pdf สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม เช็คยอดค่าไฟฟ้า แจ้งไฟฟ้าดับ แปลภาษา มาเลเซีย ไทย แผนที่ทวีปอเมริกาเหนือ ่้แปลภาษา Google Translate กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ข้อสอบโอเน็ตม.3 มีกี่ข้อ คะแนนโอเน็ต 65 ตม กรุงเทพ มีที่ไหนบ้าง