รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าให้มีการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ ชื่อว่าอะไร

ประวัติการแพทย์แผนไทย

การแพทย์แผนไทย หรือ การแพทย์แผนโบราณ เป็นความรู้ที่สืบทอดต่อ ๆ กันมาจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ จากในอดีตที่ไม่มีเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาให้การช่วยเหลือ ชาวบ้านที่เจ็บป่วยจึงต้องหันไปพึ่งพาหมอที่อยู่ตามชุมชนหมู่บ้านในละแวกใกล้เคียง ซึ่งหมอเหล่านี้ก็มีการนำเอาความรู้มาจากตำราบันทึกประสบการณ์ และการบอกเล่าจากหมอรุ่นเก่า กลายเป็นที่พึ่งพิงสำหรับชาวบ้านมาช้านาน

การแพทย์แผนไทยก่อนสมัยรัตนโกสินทร์

ย้อนกลับไปในอดีตการแพทย์แผนไทยเริ่มค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ.1725-1729 หลักฐานที่พบเป็นศิลาจารึกของอาณาจักรขอมสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พบการสร้างสถานพยาบาลเรียกว่า “อโธคยาศาลา” ทั้งหมด 102 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและพื้นที่ใกล้เคียง ภายในมีเจ้าหน้าที่ ซึ่งประกอบไปด้วย หมอ พยาบาล และเภสัชกรที่ทำหน้าที่จ่ายยารวมทั้งหมด 92 คน อีกทั้งยังมีการทำพิธี “ไภสัชยคุรุไวฑูรย์” ด้วยอาหารและยา ก่อนจะนำเอายาไปแจกให้กับชาวบ้าน

ในยุคนั้นยังมีการขุดค้นพบแท่งบดยาซึ่งเป็นแท่งหินมีปลายกลมมน พบว่าอยู่ในยุคสมัยทวารวดี หลักฐานของการใช้ยาแผนโบราณยังถูกบันทึกลงในศิลาจารึกอันเลื่องชื่อของพ่อขุนรามคำแหงเกี่ยวกับการปลูกพืชสมุนไพรบริเวณเขาสรรพยาหรือเขาหลวง เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านให้สามารถเข้ามาเก็บเกี่ยวเพื่อนำไปใช้ในการรักษาและบำรุงร่างกายในยามจำเป็น

ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา เริ่มมีการจัดยาให้กับชาวบ้านที่เข้ามาทำการรักษาได้ถูกต้องมากขึ้น จากเดิมที่ชาวบ้านต้องหาเก็บเกี่ยวเอาเองตามสภาพความรู้ที่มี เริ่มปรากฏให้เห็นแหล่งจ่ายยาที่ชัดเจนมากขึ้น ร้านขายยาสมุนไพรเริ่มกระจายตัวเข้าใกล้แหล่งชุมชน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ด้านในหรือด้านนอกกำแพงเมือง ทำให้การซื้อหายาสมุนไพรได้ตรงกับโรคที่เป็น

โดยเฉพาะชาวบ้านที่ไม่ค่อยมีความรู้ การมีร้านขายยาเหล่านี้ย่อมช่วยให้การรักษาโรคตรงจุดกว่าเดิม มีการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตำรับยาโบราณเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การแพทย์ บันทึกเป็น “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” ที่ยังคงมีการใช้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้บางส่วนคลาดเคลื่อนไม่สมบูรณ์แบบไปบ้าง ซึ่งในยุคนั้นผู้คนเริ่มให้ความสนใจกับการรักษา อย่างการนวดกดจุดเพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวดที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อและกระดูกที่ได้รับความนิยม ซึ่งถือว่าเป็นยุคแรกเริ่มที่การรักษาภูมิปัญญาโบราณรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ส่วนการแพทย์แผนตะวันตกที่เริ่มเข้ามามีบทบาท ยังไม่ค่อยได้รับความนิยม ในที่สุดก็ต้องถูกยกเลิกไป

ตำราพระโอสถพระนารายณ์ เป็นตำราที่ว่าด้วยโอสถพระนารายณ์ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังต่อไปนี้

  • ส่วนที่ 1 กล่าวถึงความผิดปกติของธาตุทั้ง 4 ในร่างกายและวิธีการใช้ยาแก้
  • ส่วนที่ 2 กล่าวถึงตำรับยาต่าง ๆ
  • ส่วนที่ 3 กล่าวถึงตำรับยาจากน้ำมันและยาขี้ผึ้ง

ซึ่งในตำรามีการบันทึกตำรับยาเอาไว้มากถึง 81 ตำรับ ซึ่งบางตำรับยังมีการจดบันทึกวันเดือนปีที่ใช้ในการปรุงยาถ้วยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีชื่อแพทย์ผู้ทำหน้าที่ประกอบยาทั้งหมดด้วยกัน 9 คน ประกอบด้วยหมอต่างชาติ 4 คน หมอแขก 1 คน หมอจีน 1 คน และหมอฝรั่งอีก 2 คน แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาของแพทย์แผนตะวันตกมากขึ้น แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งภูมิปัญญาไทยโบราณ เป็นเพียงการนำเอายาตะวันตกมาประยุกต์ใช้บางส่วน ซึ่งถือว่ายังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ยาเกือบทุกตำรับที่ปรากฏจะมีการใช้เครื่องเทศเป็นส่วนผสม เช่น โกฐสอเทศ ยิงสม น้ำดอกไม้เทศ เป็นต้น

การแพทย์แผนไทยสมัยรัตนโกสินทร์

สมัยรัชกาลที่ 1 (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)

เริ่มปฏิสังขรณ์ “วัดโพธิ์ (วัดโพธาราม)” ใหม่ให้กลายเป็นอารามหลวง เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” ทรงให้มีการเก็บรวบรวมความรู้เกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยเอาไว้ ตั้งแต่ตำรายาสมุนไพร ฤาษีดัดตน และตำราที่เกี่ยวกับการนวด จารึกไว้เป็นความรู้ตามศาลาราย ส่วนที่มีรายละเอียดปลีกย่อยเจาะลึกลงไป ทรงจัดตั้งกรมหมอและโรงพระโอสถเช่นเดียวกับในสมัยอยุธยา มี “หมอหลวง” เป็นแพทย์ที่รับราชการ และ “หมอราษฎร (หมอเชลยศักดิ์)” ทำหน้าที่รักษาประชาชนทั่วไป

สมัยรัชกาลที่ 2 (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)

ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการรวบรวมตำราแพทย์แผนไทยโบราณที่สูญหายไปเป็นจำนวนมากขึ้นมาใหม่ อันเนื่องมาจากสงครามระหว่างไทยรบกับพม่าติดต่อกันถึง 2 ครั้ง บ้านเมืองจึงถูกทลาย พร้อมกับเหล่าแพทย์ที่มีความรู้ถูกกวาดต้อนให้ไปรวมกับชาวบ้านเป็นเชลยสงคราม ข้อมูลการแพทย์แผนไทยจึงถูกทำลาย

การรวบรวมตำราขึ้นมาใหม่ในยุคนั้น พระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการให้ผู้ที่มีความรู้ ผู้ชำนาญการรักษาโรค ผู้ที่มีความรู้ด้านการปรุงยา หมอหลวง หมอเชลยศักดิ์ และคนที่มีตำรายาให้นำมาช่วยกันรวบรวมข้อมูลเป็นตำราหลวงสำหรับโรงพระโอสถ โดยมีพระพงษ์อำมรินทรราชนิกูล พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นนายกองทำหน้าที่ในการคัดกรองและรวบรวม ต่อมาในปี พ.ศ. 2359 ได้มีการตั้งกฎหมายที่ชื่อว่า “กฎหมายพนักงานพระโอสถถวาย” ขึ้น โดยมีใจความว่า “ให้อำนาจพนักงานมีอำนาจออกไปค้นหาพระโอสถ คือ สมุนไพร ที่ปรากฏมีอยู่ในแผ่นดิน ผู้ใดจะคัดค้านมิได้ พนักงานพระโอสถจึงมีอำนาจในการค้นหายา และมักจะเป็นผู้ที่อยู่ในตระกูลสืบทอดกันมาเท่านั้น”

ตำราทั้งหมดที่รวบรวมมาได้แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2355 มีการตรวจสอบข้อมูลเพื่อความถูกต้องอย่างละเอียด จากนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานบางส่วนให้จารึกลงบนหินอ่อนรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส บริเวณผนังด้านนอกของกำแพงพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดราชโอรสาราม จังหวัดกรุงเทพฯ หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคครั้งรุนแรง

สมัยรัชกาลที่ 3 (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ในช่วงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มีการจัดตั้ง “โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดโพธิ์” ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนแพทย์แผนไทยแห่งแรก เพื่อเป็นการช่วยเก็บรักษาตำรายาแพทย์แผนไทยที่กำลังจะสูญหายไปอันเนื่องมาจากแพทย์บางกลุ่มที่มีความรู้ก็หวงแหนวิชากลายเป็นความลับที่ตายไปกับกลุ่มคนเหล่านี้ บวกกับการแพทย์ตะวันตกแพร่เข้ามามากขึ้น คุ้นหูกันดีกับนายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ หรือ “หมอบรัดเลย์” แพทย์แผนตะวันตกเข้ามาช่วยรักษาโรคไข้จับสั่นด้วยยาควินิน และการปลูกฝีเพื่อป้องกันไข้ทรพิษ รวมไปถึงโรคอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งอาจจะทำให้ตำรายาไทยหายสาบสูญ ทำให้ชนรุ่นหลังไม่มีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าจากบรรพบุรุษที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนานจะเลือนหายไป

พระองค์จึงได้ทรงประกาศให้เหล่าผู้มีความรู้เกี่ยวกับตำรับยาแผนไทยที่มีความเชื่อถือได้และถูกต้องแม่นยำ นำความรู้เหล่านั้นมาจารึกเอาไว้บนหินประดับต่าง ๆ ตามผนังโบสถ์ เสา กำแพงวิหาร เจดีย์ ศาลาราย กำแพงวิหารคดรอบพระเจดีย์สี่องค์ รวมไปถึงศาลาต่าง ๆ ของวัดโพธิ์ที่ได้ทำการปฏิสังขรณ์เกี่ยวกับสมุฏฐานของโรคและวิธีบำบัดรักษาอาการนั้น ๆ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาบำเรอราชแพทย์พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเป็นแพทย์ประจำราชสำนัก ทำหน้าที่เป็นแม่กองจัดประชุมหมอหลวง ผู้ที่คอยบันทึกข้อมูลตำรายาแผนโบราณ สืบหาตำรายาที่ถูกต้องมาบันทึกข้อมูล ลักษณะอาการของโรคที่พบต่าง ๆ ไปจนถึงการแต่งตำรา โดยข้อมูลที่ได้จากผู้มีความรู้มีการเล่าว่าจะต้องให้สาบานว่า “ยาขนานนั้น ตนได้ใช้มาแล้วและไม่ปิดมีการปิดบังข้อมูล” จากนั้นพระยาบำเรอราชก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องอีกรอบหนึ่งเพื่อความถูกต้องแม่นยำเสียก่อนที่จะทำการจารึกข้อมูล

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงให้นำเอาสมุนไพรที่หาได้ยากมาปลูกเอาไว้เพื่อใช้ในยามจำเป็นหรือขาดแคลน มีการปั้นรูปฤๅษีดัดตนในท่าทางที่แตกต่างกันออกไปเพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาศึกษา เป็นตัวช่วยรักษาตัวเองเบื้องต้นสำหรับผู้ที่มีอาการปวดเมื่อยและช่วยเป็นตัวบำบัดโรคได้เป็นอย่างดี โรงเรียนแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนแหล่งเรียนรู้ที่ไม่ว่าใครก็สามารถมาเอาความรู้ไปปรับใช้กับตนเองและใช้ในการรักษาผู้อื่นได้โดยไม่หวงแหน และกลายเป็นมหา’ลัยเปิดแห่งแรกของไทย

จารึกข้อมูลทางการแพทย์แผนไทยที่พระยาบำเรอราชทำการจารึกไว้ได้มีการจัดแบ่งออกเป็น 4 หมวดด้วยกัน คือ

  1. หมวดเวชศาสตร์ – จารึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโรคต่าง ๆ ตั้งแต่สมุฏฐานของโรคที่เกิดขึ้น มีการจารึกยาแผนไทยที่สามารถนำมาใช้แก้ไขโรคนั้น ๆ เอาไว้ ทั้งหมด 1,128 ขนาน
  2. หมวดหัตถศาสตร์ – เป็นหมวดที่เกี่ยวข้องกับการนวดแผนไทย มีการจารึกภาพโครงสร้างของร่างกายมนุษย์ จุดเส้นต่างๆ บนร่างกายทั้งหมด 14 ภาพ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเกี่ยวข้องกับการนวดเพื่อช่วยแก้อาการปวดเมื่อย แก้เคล็ดขัดยอก ไปจนถึงการนวดเพื่อรักษาหรือบรรเทาโรคอื่น ๆ อีกจำนวนกว่า 60 ภาพ
  3. หมวดเภสัชศาสตร์ – จารึกที่กล่าวถึงความรู้เรื่องสมุนไพรแต่ละชนิด โดยเน้นไปที่สรรพคุณที่ใช้ในการรักษาและบำรุงร่างกาย ไม่เฉพาะแค่ยาสมุนไพรไทยเท่านั้น แต่ยังมีสมุนไพรต่างประเทศรวมอยู่ด้วย ในรายละเอียดมีการแบ่งส่วนของสมุนไพรที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์และวิธีการนำไปใช้ มีทั้งหมดด้วยกัน 113 ชนิด
  4. หมวดอนามัย – หรือการจารึกเรื่องราวเกี่ยวกับ “ฤๅษีดัดตน” ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ในการบริหารส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยและทำให้ผ่อนคลาย ทั้งแพทย์และชาวบ้านทั่วไปสามารถนำเอาความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการรักษาผู้อื่นและบรรเทาอาการของตัวเองได้ ในจารึกมีท่าต่าง ๆ 80 ท่าพร้อมคำอธิบายเกี่ยวกับประโยชน์ของท่านั้น ๆ เอาไว้ด้วย

สมัยรัชกาลที่ 4 (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

เมื่อเข้าสู่ยุคที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ การแพทย์แผนตะวันตกเริ่มแพร่หลายมากขึ้นกว่าเดิม ความรู้ในการรักษาที่ทันสมัยไม่ว่าจะเป็นการทำคลอด (การสูติกรรมสมัยใหม่) หรือการใช้ยารักษาแบบแผนตะวันตกมาให้ประชาชนได้ลองใช้ ทว่าความเชื่อในยุคนั้นคนไทยยังคงเลือกใช้แนวทางการรักษาตามแบบแพทย์แผนไทยเป็นหลัก จึงทำให้การรักษาแบบตะวันตกไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ซึ่งเกิดจากความเชื่อที่ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมและประเพณีของไทยที่สืบทอดมาช้านาน ทำให้ตำรามีการแบ่งออกเป็น “การแพทย์แผนโบราณหรือการแพทย์แผนเดิม” กับ “การแพทย์แผนปัจจุบัน” ทำให้มีการจัดตั้งฝ่ายวังหน้าเพิ่มขึ้นมา มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ ตั้งแต่ กรมหมอยา ข้าราชการในกรมหมอ กรมหมอนวด กรมหมอกุมาร กรมหมอยาตา และหมอฝรั่ง

สมัยรัชกาลที่ 5 (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

พระองค์พยายามที่จะทรงพัฒนาการแพทย์แบบดั้งเดิมของไทยให้สามารถก้าวทันตามยุคสมัยมากขึ้น เพื่อเป็นการช่วยส่งเสริมให้ตำราการรักษาแบบไทยเดิมที่มีค่าไม่สูญหายไป และยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับอาการเจ็บป่วยที่ยาสมัยใหม่ไม่สามารถทำการรักษาได้ ซึ่งการพัฒนานี้จะต้องมีมาตรฐานที่ดีพอ จะได้ช่วยให้ตำรายาเกิดความน่าเชื่อถือ

เกิดการจัดตั้งโรงศิริราชพยาบาล (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลศิริราช) ขึ้นในช่วงประมาณ พ.ศ.2431 และโรงเรียนแพทยากร มีการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับทั้งการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนตะวันตกทั้งหมด 3 หลักสูตร ในช่วงนั้นการเรียนการสอนและการรักษาดูขัดแย้งกันเป็นอย่างมากระหว่างแผนไทยและแผนตะวันตก จึงทำให้เกิดความยากลำบาก เนื่องจากระบบความเข้าใจและการนำไปใช้ที่แตกต่างกัน การที่จะนำเอามาใช้ร่วมกันจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก

เมื่อภายหลังจากที่พระองค์ทรงครองราชย์ ได้เริ่มชำระตำราดั้งเดิมที่จดบันทึกไว้ใหม่ให้ถูกต้องมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในส่วนที่กระจัดกระจาย หรือการคัดลอกผิดเพี้ยนซึ่งเกิดจากการคัดลอกกันไปมาของแต่ละตำราจนทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนไปจากฉบับเดิม เมื่อข้อมูลทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้องแล้วก็ได้ทำการจดให้เป็นหลักฐานชัดเจนเก็บไว้ใน “หอพระสมุดหลวง” ในปี พ.ศ. 2438 โดยพระยาพิษณุ เรียกตำราที่ชำระใหม่นี้ว่า “ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง” หรือ “ตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์” ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นตำราแห่งชาติฉบับแรกที่ได้นำมาชำระใหม่ ทว่ายังไม่เสร็จสมบูรณ์ดีทั้งหมด บางส่วนยังคงผิดเพี้ยนไปจากเดิมอยู่ อีกทั้งยังมีความยุ่งยากในการนำไปใช้ จึงมีการจัดพิมพ์ตำราขึ้นมาใหม่เป็นตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวงจำนวน 2 เล่ม และตำราแพทยศาสตร์พอสังเขป (ตำราเวชศึกษา) อีก 3 เล่มจนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนแพทยากรขึ้นใหม่เป็น โรงเรียนราชแพทยาลัย การเรียนการสอนก็ยังคงใช้ความรู้จากทั้งไทยและต่างประเทศเช่นเดิม ส่วนของตำราที่ได้ทำการจัดพิมพ์ใหม่ยังมีการผลิตยาตามตำราหลวงขึ้นอีก 8 ขนานเป็นครั้งแรก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยังคงนำมาใช้เป็นตำราในการเรียนรู้และรักษาผู้ป่วยมาจนถึงปัจจุบัน ข้อมูลภายในมีทั้งการแพทย์แผนไทยและแพทย์ตะวันตกรวมอยู่ด้วย

โดยในส่วนการเรียนการสอนของแผนไทย มีการนำเอาข้อมูลจากตำราหลวงที่อยู่ในหอสมุดวชิรญาณนำมาศึกษาเล่าเรียน ยังมีการนำเอาตำรานวดแบบหลวง (ภาควิชาหัตถศาสตร์) มาให้แพทย์หลวงทำการชำระใหม่อีกครั้ง บวกรวมกับการนำเอาข้อมูลจากตำราแพทย์บาลี-สันสกฤตมาแปลเป็นภาษาไทยเพื่อใช้ในการศึกษา ซึ่งนอกจากในส่วนนี้ หม่อมเจ้าปราณีทำการเรียบเรียงตำราเรียนเพิ่ม ซึ่งมีความเข้าใจง่ายกว่า ไม่ว่าจะเป็น สมุฏฐานวินิจฉัย ธาตุอภิญญาณ ปฐมจินดา อสุรินทญาณธาตุ ตำราธาตุวินิจฉัย ข้อมูลเกี่ยวกับโรคและการเลือกใช้ยา

ในรัชสมัยนี้การแพทย์แผนตะวันตกแพร่หลายเข้ามาจากเหล่ามิชชันนารี และกลุ่มหมอที่เป็นชาวฝรั่งมากกว่า พระองค์จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาแสดงความห่วงใยเอาไว้ในปี พ.ศ.2433 เนื่องจากทรงโปรดการแพทย์แผนไทยมากกว่า ซึ่งคัดมาตอนหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญว่า “…ขอเตือนว่าหมอฝรั่งนั้นดีจริง แต่ควรให้ยาไทยสูญหรือหาไม่ หมอไทยควรจะไม่ให้มีต่อไปภายหน้า หรือควรมีไว้บ้าง ถ้าว่าส่วนตัวฉันเองสมัคกินยาไทย แลยังวางใจหรืออุ่นใจในหมอไทยมาก ถ้าหมอไทยจะรักษาแบบฝรั่งหมด ดูจะเยือกเย็นเหมือนเหนอื่น ไม่เหนพระเหนสงฆ์เลยเหมือนกัน แต่ตัวฉันอายุมากแล้ว เหนจะไม่ได้อยู่จน เหนหมอไทหมดดอก คนภายหน้าจะพอใจอย่างฝรั่งกันทั่วไป จะไม่เดือดร้อนเช่นฉันดอกกระมัง เป็นแต่ลองเตือนดูตามหัวเก่า ๆ ทีหนึ่งเท่านั้น…“

สมัยรัชกาลที่ 6 (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ได้มีรับสั่งให้ยกเลิกวิชาเกี่ยวกับการแพทย์แผนโบราณทั้งหมด ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงตกต่ำของการแพทย์แผนไทยเป็นอย่างมาก ในช่วงเวลานี้มีการปรับปรุงและแก้ไขหลักสูตรการเรียนการสอนของแพทย์ ยกเลิกการเรียนวิชาการแพทย์แผนไทย โดยพระองค์เห็นว่า การแพทย์แบบดั้งเดิมของไทยนั้นไม่เข้ากันกับรูปแบบของการแพทย์แบบฝรั่ง พร้อมออกพระราชบัญญัติการแพทย์เพื่อควบคุมการประกอบโรคศิลปะในปี พ.ศ.2466 เพื่อไม่ให้ผู้ที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์ ไม่พร้อมในด้านการเรียนการสอนเข้ามารักษาประชาชนจนทำให้เกิดอันตรายตามมา หมอพื้นบ้านจำนวนมากจึงเกิดความหวาดกลัวว่าตนจะถูกจับ ทำให้หันไปประกอบอาชีพใหม่แทน อีกทั้งยังทำการเผาตำราที่คัดลอกเอาไว้ทิ้งไปด้วย

ดังนั้นในช่วงหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งหมดของรัชสมัยที่ 5 จึงถูกใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2436 – พ.ศ.2458 เท่านั้น ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตล่วงไปแล้ว 5 ปี ได้ทำการยกเลิกการสอนภายในโรงเรียน และยาที่แจกจ่ายก็ถูกยกเลิก ซึ่งทั้งหมดเป็นยาและการเรียนที่เกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยทั้งสิ้น ทำให้การแพทย์แผนไทยถูกเข้ามาแทนที่ด้วยการแพทย์แผนตะวันตกอย่างสมบูรณ์แบบ

สมัยรัชกาลที่ 7 (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว)

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตรากฎหมายเสนาบดีขึ้น เพื่อแบ่งการประกอบโรคศิลปะออกเป็นแบบ “แผนโบราณ” และ “แผนปัจจุบัน” ซึ่งข้อกำหนดมีใจความว่า

  1. แผนโบราณ คือ ผู้ที่ประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยความสามารถความชำนาญของตนเอง รวมไปถึงการสังเกตที่สืบทอดกันต่อมาตั้งแต่ในสมัยโบราณตามตำราและการบอกเล่าจากแพทย์บรรพบุรุษ ซึ่งในกลุ่มนี้จะไม่ใช้เหตุผลทางด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง การดำเนินรักษาจึงไม่เป็นไปตามแบบแผนทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด
  2. แผนปัจจุบัน คือ ผู้ที่ประกอบโรคศิลปะด้วยการใช้ความรู้จากตำราที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากล มีมาตรฐานในการบันทึกข้อมูลเป็นไปตามการดำเนินทางวิทยาศาสตร์ ในกระบวนการจะต้องเริ่มที่ศึกษา ค้นคว้าข้อมูลที่ถูกต้อง ทำการทดลองเพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่เห็นได้จริง ซึ่งเกิดขึ้นจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก เมื่อได้ผลแบบไหนก็จะทำการจดบันทึกแยกแยะสิ่งที่เกิดขึ้นเอาไว้ ไม่มีการใช้ความเชื่อหรือการบอกเล่าสืบต่อกันมาว่าถูกต้อง ทุกครั้งจะต้องทำการพิสูจน์ให้เห็นความแน่ชัดก่อนเสมอ

ในยุคสมัยนี้จึงทำให้การแพทย์แผนโบราณและการแพทย์แผนปัจจุบันถูกแยกออกจากกันโดยสมบูรณ์ มีการขึ้นทะเบียนสำหรับผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณเป็นครั้งแรกอีกด้วย

สมัยรัชกาลที่ 8 (พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล)

เป็นช่วงที่กำลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ทำให้ยาขาดแคลน ในปี พ.ศ.2485 – พ.ศ.2486 ศาสตราจารย์ นพ. อวย เกตุสิงห์ จึงได้ทำการวิจัยสมุนไพรไทยเพื่อทำการรักษาโรคมาลาเรีย ณ โรงพยาบาลสัตหีบ ภายหลังที่สงครามสงบ ภาวะขาดแคลนยายังคงเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งยาทั้งหมดเป็นยาแผนปัจจุบัน

มีการจัดตั้งกระทรวงสาธารณสุขขึ้นมาในปี พ.ศ.2485 ด้วย โดยใช้ประกาศใช้พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 3) ซึ่งในมาตรา 13 โดยมีเนื้อความที่เป็นเหตุให้จำเป็นต้องจัดการสถาปนากระทรวงสาธารณสุขขึ้นตามข้อความในพระราชกฤษฎีกาว่า “โดยเหตุที่การสาธารณสุข และการแพทย์ในเวลานี้ ยังกระจัดกระจายอยู่ในกระทรวงและกรมหลายแห่ง งานบางอย่างทำซ้ำและก้าวก่ายกัน และบางอย่างก็ไม่เชื่อม ประสานกันเป็นเหตุให้ต้องเปลืองเจ้าหน้าที่ และค่าใช้จ่าย ไปในทางไม่ประหยัด จึงสมควรปรับปรุงเสียใหม่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น“

โดยตัวนโยบายของกระทรวงคือจัดให้มีการตรวจค้นหาความรู้เกี่ยวกับยาสมุนไพรไทย สรรพคุณในการรักษาโรค ลักษณะในการใช้ และขั้นตอนในการรักษา รวมไปถึงการตรวจหาข้อมูลของยาอื่น ๆ ที่พบในประเทศ เพื่อช่วยให้เป็นความรู้นำมาประยุกต์ใช้เป็นยาแผนตะวันตก ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ออกนโยบายให้องค์การเภสัชกรรมกระทรวงสาธารณสุขทำการผลิตยาสมุนไพรทดแทนเพื่อใช้รักษาผู้ป่วย จากที่ขาดแคลนในช่วงก่อนหน้านี้ให้มีการทำยาได้เพิ่มมากขึ้น เพียงพอต่อการใช้ของประชาชน

อีกทั้งยังมีการยกเลิก พ.ร.บ.การแพทย์ที่ตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2466 ทำการตรา พ.ร.บ.ควบคุมการประกอบโรคศิลปะขึ้นมาแทนที่ในปี พ.ศ.2479 ทว่าตัวกฎหมายก็ยังคงทำการแบ่งการประกอบโรคศิลปะระหว่างการแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบันออกจากกัน ทำการควบคุมเหล่าบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่มีความรู้ในวิชาชีพทางการแพทย์ต่อมาอีกกว่า 63 ปี

สมัยรัชกาลที่ 9 (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช)

ในรัชสมัยนี้การแพทย์แผนไทยเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ตำราและยาสมุนไพรต่าง ๆ ได้รับการฟื้นฟู ในปี พ.ศ.2500 มีการจัดตั้งสมาคมให้กับโรงเรียนการแพทย์แผนโบราณ ณ วัดโพธิ์ โรงเรียนที่มี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริ) เป็นผู้ก่อตั้ง ภายในมีการเรียนการสอนด้านแพทย์แผนโบราณ ทั้งวิชาเภสัชกรรม, การผดุงครรภ์ไทย, เวชกรรม, เภสัชกรรม และการนวดแผนไทย ตามกระแสรับสั่งของในหลวง ก่อนที่สมาคมจะค่อย ๆ กระจายแตกสาขาออกไปมากมาย

มีการเปลี่ยนชื่อเรียกการแพทย์แผนโบราณใหม่ว่า “การแพทย์แผนไทย” เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งคำนี้ยังคงได้รับการใช้มาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่คุ้นหู ในปี พ.ศ.2525 ได้มีการก่อตั้งโรงเรียนอายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับแพทย์แผนไทยแบบประยุกต์ที่ยังคงให้ความรู้มาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ.2542 มีการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พร้อมการจัดตั้งหน่วยงาน “สถาบันการแพทย์แผนไทย” พร้อมด้วยการปรับเปลี่ยนระบบภายในกระทรวงสาธารณสุขใหม่ให้เป็นกองหนึ่งใน “กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก” พัฒนาการแพทย์แผนไทยให้ก้าวหน้า ได้รับการดูแลคุ้มครอง และยังคงรากฐานความมั่นคงมาจวบจนทุกวันนี้

ในยุคนี้จะเห็นได้ว่า การแพทย์ทางเลือกกลายเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของสังคมที่กำลังได้รับความนิยมไม่แพ้ไปกว่าการแพทย์ตะวันตก เนื่องจากผลข้างเคียงของยาที่มีผลต่อร่างกายของยาเคมี ทำให้คนไทยเริ่มหันมาสนใจการรักษาตามแบบฉบับพื้นบ้านเดิม แต่ยังคงเอาไว้ซึ่งความทันสมัยที่มีการประยุกต์เอาเทคโนโลยีบางส่วนเข้ามาใช้ร่วมด้วย เป็นการผสมผสานระหว่างแพทย์ทางเลือกและแพทย์ปัจจุบันที่ลงตัวกันมากขึ้น อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในการแพทย์แผนไทยที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่ตกทอดจากบรรพบุรุษอันยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน อาจารย์ ตจต ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf lmyour แปลภาษา ชขภใ ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 ขขขขบบบยข ่ส ศัพท์ทางทหาร military words หนังสือราชการ ตัวอย่าง หยน แปลบาลีเป็นไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง พจนานุกรมศัพท์ทหาร เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษามลายู ยาวี Bahasa Thailand กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ การ์ดจอมือสอง ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย คะแนน o-net โรงเรียน ค้นหา ประวัติ นามสกุล บทที่ 1 ที่มาและความสําคัญของปัญหา ร. ต จ แบบฝึกหัดเคมี ม.5 พร้อมเฉลย แปลภาษาอาหรับ-ไทย ใบรับรอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน PEA Life login Terjemahan บบบย มือปราบผีพันธุ์ซาตาน ภาค2 สรุปการบริหารทรัพยากรมนุษย์ pdf สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม เช็คยอดค่าไฟฟ้า แจ้งไฟฟ้าดับ แปลภาษา มาเลเซีย ไทย แผนที่ทวีปอเมริกาเหนือ ่้แปลภาษา Google Translate กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ข้อสอบโอเน็ตม.3 มีกี่ข้อ คะแนนโอเน็ต 65 ตม กรุงเทพ มีที่ไหนบ้าง