อุปมาเหมือนลูกนกอันขนปีกยังไม่ขึ้นพร้อม

เอกสารประกอบการเรียนเรื่อง สามก๊ก ตอนกวนอูไปรับราชการโจโฉ  

ความเป็นมา

            จีนเรียกสามก๊กว่า สามก๊กจี่ แปลว่า จดหมายเหตุเรื่อง สามก๊ก เป็นหนังสือที่ปราชญ์จีนได้เลือกในพงศาวดารตอนหนึ่งมาแต่งขึ้น เดิมใช้เล่านิทานกันทั่วไป   ต่อมามีผู้นำไปเล่นงิ้ว หนังสือสามก๊กแต่งขึ้นในสมัยรางวงศ์ไต้เหม็ง โดยนักปราชญ์จีนชื่อ ล่อกวนตง มีจุดประสงค์ที่จะให้ใช้เป็นตำราสำหรับศึกษาอุบายการเมืองและการสงคราม

            พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เป็นผู้อำนวยการแปลสามก๊กเป็นภาษาไทย  วรรณคดีสโมสรยกย่องสามก๊กให้เป็น ยอดของความเรียงนิทาน

ประวัติผู้แต่ง

            เจ้าพระยาพระคลัง(หน) มีนามเดิมว่า หน เป็นบุตรเจ้าพระยาบดินทร์สุรินทร์ฤาชัย(บุญมี) กับท่านผู้หญิงเจริญ รับราชการสมัยธนบุรี มีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงสรวิชิต นายด่านเมืองอุทัยธานี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๑ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินไปในสงครามมาโดยตลอด จึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาพิพัฒน์โกษาและเจ้าพระยาพระคลัง นอกจากนี้ ยังมีความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ได้ทุกประเภท         ไม่ว่าจะเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรอง เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ถึงแก่อสัญกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๔๘

ลักษณะคำประพันธ์

            สามก๊กแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทความเรียงร้อยแก้ว โดยแปลจากภาษาจีนมาเป็นภาษาไทยแล้วเรียบเรียงใหม่ ใช้ประโยคกะทัดรัด ไม่มีศัพท์ยาก ภาษาไม่ซับซ้อน การพรรณนาเด่นชัด มีบทอุปมาอุปไทยที่ลึกซึ้งคมคาย

เรื่องย่อ

            เมืองจีน สมัย พ.ศ. ๗๑๑ เป็นต้นมามีพระเจ้าเหี้ยนเต้ กษัตริย์ราชวงศ์ฮั่นอ่อนแอ ตั๋งโต๊ะผู้สำเร็จราชการกังฉินได้บีบพระเจ้าเหี้ยนเต้  อ้องอุ้นจึงออกอุบายให้ลิโป้ฆ่าตั๋งโต๊ะ ทำให้เกิดความแตกแยกระส่ำระสายในบ้านเมือง มีสงครามรบพุ่งชิงอำนาจกันเพื่อเป็นใหญ่  ในที่สุดก็แตกแยกออกเป็นสามก๊ก ซึ่งต่างก็มีอาณาเขตเป็นอิสระ ได้แก่

            ๑. วุยก๊ก  มีโจโฉเป็นหัวหน้า  ๒. จ๊กก๊ก มีเล่าปี่เป็นผู้นำ            ๓. ง่อก๊ก มีซุนกวนเป็นผู้นำ 

ทั้งสามก๊กนี้ทำสงครามขับเคี่ยวกันเป็นเวลานานจนเสื่อมอำนาจลง ต่อมาได้มีผู้ตั้งราชวงศ์ใหม่ คือ ราชวงศ์จิ้น  แผ่นดินจีนจึงได้กลับมารวมกันเป็นอาณาจักรเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง ใน พ.ศ. ๘๒๓

            วุยก๊ก  เป็นก๊กที่ยิ่งใหญ่และมีอำนาจมากที่สุดในบรรดาสามก๊ก ในระหว่าง พ.ศ. ๗๖๓ – ๘๐๘ ครอบคราองพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศจีน ปกครองโดยโจโฉ ต่อมาพระเจ้าโจผีได้สถาปนาโจโฉเป็นจักรพรรดิแห่งราชวงส์วุยอีกพระองค์หนึ่ง วุยก๊กถูกโจมตีและโค่นล้มราชวงศ์วุยโดยสุมาเอี๋ยน ซึ่งต่อมาภายหลังได้สถาปนาราชวงศ์จิ้นขึ้นแทนและรวบรวมแผ่นดินที่แบ่งเป็นก๊กต่างๆเข้าไว้ด้วยกัน

            จ๊กก๊ก  ปกครองโดยเล่าปี่ เชื้อพระวงศ์แห่งราชวงศ์ฮั่น ในระหว่าง พ.ศ. ๗๖๔ –๘๐๖ จ๊กก๊กครอบครองพื้นที่ทางภาคตะวันตกของประเทศจีน บริเวณ มณฑลเสฉวน ปกครองอาณาจักรโดยจักรพรรดิ      สืบต่อกันมาทั้งหมดสองพระองค์คือพระเจ้าเล่าปี่และพระเจ้าเล่าเสี้ยน จ๊กก๊กล่มสลายลงด้วยกองทัพของวุยก๊ก อันเนื่องมาจากการปกครองแผ่นดินที่ล้มเหลวของพระเจ้าเล่าเสี้ยน

            ง่อก๊ก ครอบครองพื้นที่ทางด้านตะวะนออกของประเทศจีนทางบริเวณตอนใต้ของแม่น้ำฉางเจียง ซึ่งก็คือพื้นที่บริเวณรอบๆเมืองนานกิงในปัจจุบัน  ง่อก๊กเป็นอาณาจักรสุดท้ายในบรรดาสามก๊กล่มสลายโดยกองทัพของสุมาเอี๋ยน

 เนื้อเรื่องย่อตอนที่เรียน

            สามก๊ก ตอน กวนอูไปรับราชการโจโฉ กล่าวถึงโจโฉตีเมืองเสียวพ่ายและเมืองซีจิ๋วซึ่งเป็นหัวเมืองของจ๊กก๊กได้แล้ว คิดจะไปตีเมืองแห้ฝือ เมืองที่กวนอูอยู่ดูแลรักษาครอบครัวของเล่าปี่ โจโฉปรึกษากับเทียหยกที่จะกำจัดเล่าปี่กับม้าเท้ง แต่การกำจัดม้าเท้งนั้นยาก เพราะม้าเท้งอยู่เมืองเสเหลียงเป็นเมืองใหญ่มีทหารจำนวนมากกำจัดได้ยาก จึงคิดกำจัดเล่าปี่ก่อน

            ฝ่ายโจโฉเข้ายึดเมืองซีจิ๋วของเล่าปี่ได้ เล่าปี่ต้องลี้ภัยไปหาอ้วนเสี้ยวที่เมืองกิจิ๋ว ต่อมาโจโฉยกไปตีเมืองแห้ฝือของกวนอู  โดยให้ทหารไปล่อให้กวนอูไล่ตามออกมานอกเมืองแล้วล้อมจับกวนอู โจโฉอยากได้กวนอูไว้เป็นทหาร ด้วยความชื่นชมในฝีมือของกวนอู จึงให้เตียวเลี้ยวซึ่งกวนอูเคยช่วยชีวิตไว้เป็นผู้เข้าไปเกลี้ยกล่อม กวนอูยอมจำนนแต่ขอสัญญาสามข้อ ข้อแรกขอให้ได้เป็นข้ารับใช้พระเจ้าเหี้ยนเต้ ข้อสองขออยู่ดูแลพี่สะใภ้ทั้งสองคน และข้อสุดท้ายหากทราบว่าเล่าปี่อยู่ที่ใดตนจะไปหาแม้ว่าจะไม่ได้ร่ำลาโจโฉก่อนก็ตาม ในทีแรกโจโฉไม่ยอมรับในสัญญาข้อสุดท้าย เตียวเลี้ยวจึงยกนิทานเรื่องอิเยียงผู้กตัญญูมาเล่าให้ฟัง เพื่อให้เห็นว่ากวนอูนั้นเป็นคนกตัญญูมาก หากโจโฉเลี้ยงดูอย่างดีก็อาจผูกใจกวนอูได้ โจโฉจึงยอมรับเงื่อนไขของกวนอู

            โจโฉพากวนอูไปถวายตัวเป็นทหารพระเจ้าเหี้ยนเต้  และเลี้ยงดูกวนอูกับพี่สะใภ้ทั้งสองคนอย่างสุขสบาย กวนอูก็มิได้มีน้ำใจตอบโจโฉ แต่แมื่อโจโฉมอบม้าเซ็กเธาว์ให้แก่กวนอู กวนอูกลับมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง โจโฉแปลกใจเพราะก่อนหน้านี้แม้โจโฉจะให้ทรัพย์สินเงินทองหรือสิ่งของมีค่าอันใดแก่กวนอู กวนอูก็ไม่เคยแสดงความยินดีให้เห็น จนเมื่อกวนอูบอกความในใจว่าม้าเซ็กเธาว์เป็นม้าที่มีกำลังแรงสามารถเดินทางได้ไกล หากรู้ว่าเล่าปี่อยู่ที่ใดจะสามารถไปหาได้โดยเร็ว โจโฉได้ฟังดังนั้นก็คิดน้อยใจ เตียวเลี้ยวจึงรับอาสาลองความคิดกวนอู และได้รู้ว่ากวนอูยังคงซื่อสัตย์ต่อเล่าปี่ แต่กวนอูเป็นคนกตัญญูคงจะไม่ไปจากโจโฉจนกว่า          จะได้ตอบแทนบุญคุณ ดังนั้นโจโฉจึงไม่ให้กวนอูอาสารบ ด้วยเกรงว่าเมื่อกวนอูทำความชอบแทนคุณตนแล้วก็จะหนีไปหาเล่าปี่

 บทวิเคราะห์

 ๑. คุณค่าด้านเนื้อหา

       ๑) รูปแบบ สามก๊กเป็นยอดวรรณคดีความเรียวนิทาน เป็นวรรณคดีร้อยแก้วแปลจากภาษาจีนมาเป็นภาษาไทย แล้วเรียบเรียงใหม่ด้วยถ้อยคำที่สละสลวย กะทัดรัด เข้าใจง่าย มีสำนวนโวหารเปรียบเทียบลึกซึ้งคมคายและมีคติธรรม

       ๒) องค์ประกอบของเรื่อง จำแนกหัวข้อต่างๆได้ดังนี้

              ๒.๑ สาระ เรื่องสามก๊กตอนกวนอูไปรับราชการโจโฉ กล่าวถึงโจโฉตั้งตัวเป็นมหาอุปราชในสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้ ต้องการกำจัดเล่าปี่ซึ่งครองเมืองซีจิ๋ว และเข้ายึดเมืองได้สำเร็จ เล่าปี่หนีไปเมืองกิจิ๋ว จากนั้นโจโฉก็ยกกองทัพไปตีเมืองแห้ฝือของกวนอู เมื่อโจโฉจับกวนอูได้และให้เตียวเลี้ยวเกลี้ยกล่อมกวนอูให้มาอยู่ด้วย กวนอูยอมจำนวนขอสัญญาสามข้อ โจโฉยอมรับเงื่อนไขของกวนอู โจโฉทำตามสัญญาของกวนอูทั้ง ๓ ข้อ เอาใจกวนอูและพี่สะใภ้ของกวนอูอย่างดี แต่กวนอูก็ไม่ได้มีน้ำใจตอบโจโฉ ยังคงซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อเล่าปี่อย่างแนบแน่น  โจโฉคิดน้อยใจแต่ก็เชื่อในความกตัญญูของกวนอู ว่าคงจะไม่หนีไปจนกว่าจะได้ตอบแทนบุญคุณ ความซื่อสัตย์กตัญญูและการใช้กลอุบายเจรจาโน้มน้าวใจเป็นสิ่งสำคัญของเรื่องในตอนนี้

         ๒.๒ โครงเรื่อง การลำดับเหตุการณ์ต่างๆ แต่ละขั้นตอนในเรื่องสอดคล้องสัมพันธ์กันจนแสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่กวีต้องการสื่อออกมาอย่างชัดเจน ในเรื่องความซื่อสัตย์ของกวนอู สามก๊กตอนที่เรียนเป็นการทำสงครามของโจโฉกับเล่าปี่และกวนอู โจโฉมีทหารเอกคอยให้คำปรึกษาและวางกลอุบายในการศึก จนสามารถเอาชนะเล่าปี่และเกลี้ยกล่อมให้กวนอูเข้ามาอยู่ฝ่ายตน แต่ในที่สุดโจโฉก็ไม่สามารถชนะใจกวนอูผู้มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อเล่าปี่ได้

          ๒.๓ ฉากและบรรยากาศ เรื่องสามก๊ก สมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้เกิดความแตกแยกแย่งชิงอำนาจกัน ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ เป็นช่วงที่โจโฉมีอำนาจตั้งตัวเป็นมหาอุปราชและเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระเจ้าแผ่นดิน       โจโฉขยายอิทธิพลยกทัพไปปราบหัวเมืองต่างๆ

             ๒.๔ ตัวละคร ในเรื่องสามก๊ก ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉมีตัวละครที่มีบทบาทสำคัญ ดังนี้

                          ๑) กวนอู เป็นชาวเมืองฮอตั้งไก่เหลียง เป็นพี่น้องร่วมสาบานกับเล่าปี่และเตียวหุย มีง้าวยาวสิบเอ็ดศอก หนักแปดสิบสองชั่งเป็นอาวุธประจำกาย เป็นบุรุษผู้มีหนวดงามและรูปงาม ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมที่เด่นชัดของกวนอูที่ปรากฏในเนื้อเรื่องตอนนี้ ดังนี้

                         ๑. เป็นผู้มีความซื่อสัตย์และกตัญญูต่อผู้มีบุญคุณทุกคนดังปรากฏตอนที่เตียวเลี้ยวลองถามความคิดของกวนอูที่มีต่อโจโฉ กวนอูตอบว่า

                                “...ซึ่งมหาอุปราชมีคุณแก่เราก็จริงอยู่  แต่เปรียบเล่าปี่นั้นยังมิได้  ด้วยเล่าปี่นั้นมีคุณแก่เราก่อน  ประการหนึ่งก็ได้สาบานไว้ต่อกันว่าเป็นพี่น้อง  เราจึงได้ตั้งใจรักษาสัตย์อยู่  ทุกวันนี้เราก็คิดถึงมหาอุปราชอยู่มิได้ขาด  ถึงมาตรว่าเราจะไปจากก็จะขอแทนคุณเสียก่อนให้มีชื่อปรากฏไว้เราจึงจะไป  ...”

                                ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่เล่าปี่ไม่อยู่ กวนอูก็ปฏิบัติตนต่อภรรยาทั้งสองของเล่าปี่อย่างสุจริตใจและให้เกียรติอย่างสม่ำเสมอมิให้เป็นที่ครหา จนโจโฉสรรเสริญในความซื่อสัตย์ของกวนอู ดังความว่า

                                “..ครั้นถึงสามวันกวนอูจึงไปเยือนพี่สะใภ้ครั้งหนึ่ง  นั่งอยู่แต่นอกประตูแล้วถามว่า พี่อยู่ปกติอยู่หรือ  หรือป่วยไข้ประการใดบ้าง  พี่สะใภ้จึงตอบว่า  ปกติอยู่มิได้ป่วยไข้ประการใด  เจ้ารู้ข่างเล่าปี่ข้างหรือไม่  กวนอูว่าไม่แจ้ง  แล้วคำนับพี่สะใภ้ลากลับมา  โจโฉรู้กิตติศัพท์ว่ากวนอูปฏิบัติพี่สะใภ้สุจริตดังนั้น  ก็สรรเสริญกวนอูว่ามีความสัตย์หาผู้เสมอมิได้....”

                                ๒. เป็นผู้มีความชำนาญในการรบ กวนอูเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว มีความชำนาญในการสู้รบ และมีความเชื่อมั่นในฝีมือการรบของตนเอง ดังจะเห็นได้จาดตอนที่โจโฉกล่าวชื่นชมฝีมือการรบของกวนอูให้เหล่าทหารฟัง และต้องการกวนอูมาร่วมกองทัพด้วย

                                “.. ซุนฮกจึงว่า  ข้าพเจ้ารู้กิตติศัพท์ว่า  เล่าปี่ให้กวนอูรักษาครอบครัวอยู่เมืองแห้ฝือ  ซึ่งท่านจะยกทัพไปตีนั้นควรนัก  ถ้าละไว้อ้วนเสี้ยวก็จะยกมาพาเอาครอบครัวเล่าปี่ไป  โจโฉจึงตอบว่า  อันกวนอูนั้นมีฝีมือกล้าหาญชำนาญในการสงคราม   เราจะใคร่ได้ตัวมาเลี้ยงเป็นทหาร  เราจะแต่งคนให้ไปเกลี้ยกล่อมจึงจะได้......”

             เตียวเลี้ยวเกลี้ยกล่อมกวนอูให้มารับราชการกับโจโฉ โดยกล่าวถึงความสามารถของกวนอูในการสู้รบว่า

                                “...อีกประการหนึ่งนั้น  ท่านก็มีฝีมือกล้าหาญ  แล้วแจ้วใจในขนบธรรมเนียมโบราณมาเป็นอันมาก  เหตุใดท่านจึงไม่รักษาชีวิตไว้คอยท่าเล่าปี่  จะได้ช่วยกันคิด  การทำนุบำรุงแผ่นดินให้อยู่เย็นเป็นสุข.....”

                                ๒)โจโฉ เป็นชาวเมืองตันสิว และอยู่ในตระกูลขุนนางมาก่อน โจโฉเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและมีความเป็นผู้นำ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ที่มีเล่ห์เหลี่ยมกลอุบายโดย ตอนกวนอูไปรับราชการกับโจโฉ ได้แสดงลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของโจโฉที่เด่นชัดดังนี้

                                ๑. เป็นผู้ที่ชำนาญในการวางกลอุบายศึก โจโฉสามารถวิเคราะห์การศึกและวางกลอุบายการศึกที่ซับซ้อนจนฝ่ายข้าศึกคิดไม่ถึง กว่าข้าศึกจะรู้ตัวก็ตกหลุมพราง เสียเปรียบโจโฉเสียแล้ว ดังจะเห็นได้จากตอนที่          โจโฉจะยกทัพไปโจมตีเมืองซีจิ๋วของเล่าปี่ ความว่า

“...โจโฉจึงให้แบ่งทหารเป็นสิบเอ็ดกอง  กองหนึ่งให้อยู่รักษาค่าย แปดกองนั้นให้นายทหารเอก

คุมทหารเลวยกแยกออกไปซุ่มอยู่นอกค่ายทั้งแปดทิศ  ถ้าเห็นกองทัพผู้ใดยกมาปล้นค่าย  ก็ให้ทหารทั้งแปดกองตีกระหนาบล้อมเข้ามา  สองกองนั้นให้แยกกันไปตั้งสกัดอยู่ปากทางเมืองชีจิ๋วกองหนึ่ง  เมืองแห้ฝือกองหนึ่ง.....”

                                ๒. เป็นผู้ที่มีวาจาสัตย์ เมื่อโจโฉรับปากเรื่องใดแล้วก็มิได้คืนคำดังที่โจโฉรับสัญญา ๓ ข้อ เพื่อให้กวนอูยินยอมรับราชการอยู่กับโจโฉ โจโฉก้ได้กระทำตามสัญญาที่รับปากไว้ เมื่อกวนอูขอคำมั่นในสัญญาจากโจโฉ  โจโฉจึงกล่าวย้ำว่า

                                “... โจโฉจึงว่าซึ่งปฏิญาณของท่านนั้น เราได้สัญญาเขาไว้แล้ว ครั้นจะให้ไปติดตามเอาตัวมาบัดนี้ก็จะเสียวาจาไป....”

                                ๓. เป็นผู้ที่ชื่นชอบผู้ที่มีความซื่อสัตย์ นับเป็นลักษณะนิสัยที่เด่นมากในตอนนี้ โจโฉมีความปรารถนาที่จะได้กวนอูมารับราชการเพื่อเป็นกำลังแก่ตนเองสืบไป จึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อผูกใจกวนอู และแม้ว่าโจโฉจะไม่สามารถเหนี่ยวรั้งกวนอูไว้ได้ โจโฉก็ยังสรรเสริญในความซื่อสัตย์และกตัญญูที่กวนอูมีต่อเล่าปี่เสมอ เช่น ตอนที่โจโฉชวนกวนอูมากินโต๊ะ โจโฉเห็นเสื้อกวนอูขาด จึงให้เสื้อตัวใหม่แก่กวนอู แต่กวนอูกลับสวมเสื้อตัวเก่าทับเสื้อตัวใหม่ไว้ โดยให้เหตุผลที่สะเทือนใจโจโฉ แต่โจโฉก็ยังไม่วายสรรเสริญในความซื่อสัตย์และกตัญญูที่กวนอูมีต่อเล่าปี่ ดังความว่า

                                “...กวนอูจึงว่าเสื้อเก่านี้ของเล่าปี่ให้  บัดนี้จะไปอยู่ที่ใดมิได้แจ้ง  ข้าพเจ้าจึงเอาเสื้อผืนนี้ใส่ชั้นนอก  หวังจะดูต่างหน้าเล่าปี่  ครั้นจะเอาเสื้อใหม่ใส่ชั้นนอก  คนทั้งปวงจะครหานินทาว่าได้ใหม่แล้วลืมเก่า  โจโฉได้ยินดังนั้นก็สรรเสริญกวนอูว่ามีกตัญญูนัก  แต่คิดเสียใจอยู่  กวนอูก็ลาโจโฉกลับมาที่อยู่...”

                                ๒.๕ กลวิธีการแต่ง  กวีใช้กลวิธีบรรยายเล่าเรื่องอย่างละเอียด บางตอนให้ตัวละครเป็นผู้เล่าด้วยการใช้บทสนทนานำ ซึ่งจากบทสนทนานี้ทำให้ผู้อ่านได้ทราบเรื่องราวความเป็นมาของเรื่อง ตลอดจนทราบลักษณะนิสัยใจคอและอารมณ์ของตัวละครได้

      ๒. คุณค่าด้านวรรณศิลป์

             ๑) การสรรคำ สามก๊กเป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดของความเรียงประเภทนิทาน เพราะแต่งดีทั้งเนื้อเรื่องและสำนวนที่แปลเป็นไทยด้วยการเลือกใช้ถ้อยคำได้อย่างไพเราะดังนี้

                   ๑.๑ การเลือกใช้คำได้ถูกต้องตรงตามความหมายที่ต้องการ กวีใช้คำได้ตรงความหมายและถ้อยคำที่ใช้ก็ไม่ใช่ศัพท์ยาก  อ่านแล้วจะเข้าใจสถานการณ์ได้ทันที มีความไพเราะ สละสลวยเรียบง่าย เช่น

               “..กวนอูได้ฟังดังนั้นก็โกรธ  จึงว่าแก่เตียวเลี้ยวว่า  เดิมเราถามตัวว่าจะเกลี้ยกล่อมหรือ  ตัวว่าหามิได้  แลตัวมากล่าวดังนี้   จะว่าไม่เกลี้ยกล่อมนั้นตัวจะประสงค์สิ่งใดเล่า  แล้วว่าเราอยู่ในที่นี้ก็เป็นที่คับขันอยู่  ซึ่งเราจะเข้าด้วยผู้ใดนอกจากเล่าปี่นั้นอย่าสงสัยเลย...”

                   ๑.๒ การเลือกใช้คำที่เหมาะแก่เนื้อเรื่องและฐานะของบุคคลในเรื่อง เช่น ตอนที่กวนอูไปเข้าเฝ้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ซึ่งเป็นกษัตริย์ กวีเลือกใช้คำราชาศัพท์ได้ถูกต้องเหมาะสมแก่เนื้อเรื่องและฐานะของบุคคลในเรื่องเช่น

                     “...ครั้นเวลาเช้ากวนอูเข้าไปเฝ้า  พระเจ้าเหี้ยนเต้ทอดพระเนตรเห็นกวนอูใสถุงหนวดดังนั้นจึงตรัสถามว่า  ถุงใส่สิ่งใดแขวนอยู่ที่คอนั้น  กวนอูจึงทูลว่า  ถุงนี้มหาอุปราชให้ข้าพเจ้าสำหรับใส่หนวดไว้  แล้วกวนอูก็ถอดถวายให้ทอดพระเนตร  พระเจ้าเหี้ยนเต้เห็นหนวดกวนอูยาวถึงอกเส้นละเอียดงามเสมอกัน  แล้วตรัสสรรเสริญว่ากวนอูนี้หนวดงาม  จึงพระราชทานชื่อว่าบีเยียงก๋ง  แปลภาษาไทยว่าเจ้าหนวดงาม  แล้วก็เสด็จขึ้น...”

                   ๑.๓ การเลือกใช้คำได้เหมาะแก่ลักษระคำประพันธ์ เรื่องสามก๊ก ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ กวีใช้ภาษาความเรียงนิทานประเภทร้อยแก้ว การใช้ถ้อยคำและเรียงความเรียบร้อยสม่ำเสมอ อ่านเข้าใจง่าย ไม่มีศัพท์ยากภาษาไม่ซับซ้อน ดังความว่า

                      “...ฝ่ายทหารเล่าปี่ซึ่งเข้าไปหากวนอูนั้น  ครั้นเวลาพลบค่ำมิได้เห็นกวนอูกลับเข้าเมืองก็ชวนกันเปิดประตูออกมาหวังจะรับโจโฉ  ม้าใช้เห็นดังนั้นก็เอาเนื้อความมาบอกโจโฉ  โจโฉมีความยินดีก็คุมทหารเข้าเมืองแห้ฝือ  แล้วให้เอาเพลิงเผาเมืองขึ้น  หวังจะให้กวนอูเสียน้ำใจ ...”

             ๒) การใช้โวหาร กวีเลือกใช้ถ้อยคำในการบรรยายได้อย่างเหมาะสมกับเนื้อเรื่อง ทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพชัดเจน ดังนี้

                   ๒.๑ อุปมาโวหาร เป็นโวหารที่ปรากฏในเรื่องสามก๊กตอนกวนอูไปรับราชการโจโฉ เป็นความเปรียบที่เข้าใจง่ายทำให้เกิดภาพที่ชัดเจนขึ้น เช่น ตอนโจโฉคิดหาหนทางกำจัดเล่าปี่และกล่าวเปรียบเล่าปี่ว่าเหมือนลูกนก ดังความว่า

                   “...เล่าปี่นั้นเป็นคนมีสติปัญญา  ถ้าละไว้ช้าก็จะมีกำลังมากขึ้น  อุปมาเหมือนลูกนกอันขนปีก  ยังไม่ขึ้นพร้อม  แม้เราจะนิ่งไว้ให้อยู่ในรังฉะนี้  ถ้าขนขึ้นพร้อมแล้วก็จะบินไปทางไกลได้  ซึ่งจะจับตัวนั้นจะได้ความขัดสน ...”

                   เมื่อกวนอูปฏิเสธที่จะไปรับราชการกับโจโฉ เตียวเลี้ยวพยายามหาเหตุผลโน้มน้าวใจกวนอู โดยกล่าวเปรียบความลำบากที่กวนอูต้องเผชิญว่าเหมือนการลุยไฟและการข้ามมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ หากทำได้ก็จะเป็นที่รู้จักสรรเสริญในภายภาคหน้า ดังความว่า

                   “...เหตุใดท่านจึงไม่รักษาชีวิตไว้คอยท่าเล่าปี่  จะได้ช่วยกันคิด  การทำนุบำรุงแผ่นดินให้อยู่เย็นเป็นสุข  ถึงมาตรว่าท่านจะได้รับความลำบากก็อุปมาเหมือนหนึ่งลุยเพลิงอันลุกแลข้ามพระมหาสมุทรอันกว้างใหญ่  ก็จะลือชาปรากฏชื่อเสียงท่านไปภายหน้า ...”

                   เมื่อทหารโจโฉล้อมจับกวนอูไว้ แล้วเตียวเลี้ยวขี่ม้าเข้ามาหาเพื่อเกลี้ยกล่อมให้กวนอูเข้ากับฝ่ายโจโฉ กวนอูได้ฟังเตียวเลี้ยวก็โกรธกล่าวตอบโต้ไปว่าหากตายก็ไม่เสียดายชีวิต โดยเปรียบว่าความตายเหมือนการนอนหลับไม่น่ากลัว ดังความว่า

                “...ซึ่งเราจะเข้าด้วยผู้ใดนอกจากเล่าปี่นั้นอย่าสงสัยตัวเราก็มิได้รักชีวิต  อันความตายอุปมาเหมือนนอนหลับ  ท่านเร่งกลับไปบอกแก่โจโฉให้ตระเตรียมทหารไว้ให้พร้อม  เราจะยกลงไปรบ....”

                จากตัวอย่างความเปรียบที่ยกมานั้นจะเห็นได้ว่า เป็นความเปรียบแบบอุปมา คือสิ่งหรือข้อความที่ยกมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เรากล่าวถึง เพื่อทำให้ผู้อ่านเข้าใจสิ่งที่กำลังกล่าวถึงได้อย่างชัดเจนและลึกซึ้งยิ่งขึ้น

            ๒.๒ การใช้สำนวนโวหาร การที่คนไทย เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนชอบพูดจาให้เป็นสำนวนต่างๆ จึงปรากฏในเรื่องสามก๊กตอนนี้ ได้แก่ ได้ใหม่แล้วลืมเก่า  ดังตอนที่กวนอูกล่าวกับโจโฉว่าเหตุที่เอาเสื้อใหม่ที่โจโฉให้ใส่ไว้ชั้นใน แล้วเอาเสื้อเก่าใส่ชั้นนอกว่า

                   “กวนอูจึงว่าเสื้อเก่านี้ของเล่าปี่ให้  บัดนี้จะไปอยู่ที่ใดมิได้แจ้ง  ข้าพเจ้าจึงเอาเสื้อผืนนี้ใส่ชั้นนอก  หวังจะดูต่างหน้าเล่าปี่  ครั้นจะเอาเสื้อใหม่ใส่ชั้นนอก  คนทั้งปวงจะครหานินทาว่าได้ใหม่แล้วลืมเก่า ”

                   สำนวนที่ปรากฏอีก ๑ สำนวน ได้แก่ ตัวตัวตายก่อนไข้ ซึ่งปัจจุบันไม่ใช้แต่ใช้สำนวนว่า ตีตนไปก่อนไข้ ดังปรากฏตอนที่อ้วนเสี้ยวแกล้งทำเป็นทุกข์ เตียนห้องจึงกล่าวกับอ้วนเสี้ยวว่า

                   “คนทั้งปวงก็ลือชาปรากฏว่า  ท่านเป็นใหญ่อยู่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือ  เหตุใดท่านมาคิดย่อท้อจะมาตีตัวตายก่อนไข้นั้นไม่ควร

             ๓. คุณค่าด้านสังคม

                   ๑) สะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับการทำสงครามของคนจีน ดังนี้

                       ๑.๑ การทำสงครามนั้นมิใช่ใช้กำลังทหารเพียงอย่างเดียว การทำสงคราม นอกจากการใช้กำลังทหารยังต้องอาศัยสติปัญญาและเล่ห์เหลี่ยมกลอุบายเป็นสำคัญ จึงจะสามารถเอาชนะข้าศึกศัตรูได้ ดังเช่น ตอนที่เทียหยกวางกลอุบายล่อลวงให้กวนอูออกจากเมืองแห้ฝือ เพื่อให้ทหารโจโฉเข้ายึดเมืองแห้ฝือ และก็ทำได้สำเร็จ

                   “ม้าเท้งไปอยู่เมืองเสเหลียงนั้นมีทหารเป็นอันมาก  ถ้าท่านจะยกทัพไปตีเอา  บัดนี้เมืองเราก็เป็นกังวลอยู่  ขอให้ท่านเร่งแต่งผู้มีสติปัญญาไปเกลี้ยกล่อมหาตัวม้าเท้งกลับเข้ามา  อย่าให้ทันม้าเท้งรู้ว่าท่านจับตังสินกับพวกเพื่อนฆ่าเสีย  ข้าพเจ้าเห็นว่าเท้งไม่แจ้งเนื้อความทั้งนี้ก็จะเข้ามา  จึงจับฆ่าเสียก็จะได้โดยง่าย 

                       ๑.๒ บุคลิกภาพผู้นำ ผู้นำที่จะยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จ นอกจากจะต้องมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เขียวชาญในการรบแล้ว ควรมีความพยายามและความอดทนในการทำการที่มุ่งหวัง ดังเช่น ตอนที่โจโฉใช้ความเพียรพยายามอดทนและใช้จิตวิทยาเป็นอย่างมากในการผูกมัดใจกวนอูให้เกิดความจงรักภักดีต่อตนเอง ซึ่งโจโฉก็ทำได้สำเร็จขั้นหนึ่ง แม้กวนอูจะยังคงความซื่อสัตย์ต่อเล่าปี่ไม่คลาย แต่ก็รู้สึกสำนึกในบุญคุณของโจโฉและพร้อมที่จะตอบแทนบุญคุณในภายหน้า

                   “ โจโฉจึงถามเทียหยกว่า  ท่านจะคิดล่อลวงประการใด  เทียหยกจึงว่า  ท่านจับทหารเล่าปี่ไว้ได้เป็นอันมาก  จงให้บำเหน็จรางวัลให้ถึงขนาด  แล้วสั่งให้ทำตามคำเราจึงปล่อยเข้าไปในเมืองให้บอกว่าหนีกลับมาได้  ถ้าเราจะทำการก็ให้เป็นไส้ศึกอยู่ในเมือง  แล้วให้แต่ง ทหารไปรบล่อ  ถ้ากวนอูไล่ออกมานอกเมืองแล้ว  จึงให้ทหารซึ่งซุ่มอยู่ทั้งสองข้างล้อมไว้  จึงแต่งให้ผู้มีสติไปเกลี้ยกล่อมกวนอูเห็นจะได้โดยง่าย”

                         ๑.๓ ความสำคัญของนักการทูตนักการทูตมีความสำคัญในการช่วยราชการบ้านเมือง แม้กระทั่งในยามศึกสงคราม ผู้ที่ทำหน้าที่ทางการทูตต้องเป็นผู้ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีโวหารทางการพูดเป็นเลิศ ดังเช่น   เตียวเลี้ยวที่สามารถโน้มน้าวใจให้กวนอูยอมรับราชการกับโจโฉเป็นผลสำเร็จ

                     “เตียวเลี้ยวจึงตอบว่า  เดิมท่านเล่าปี่  เตียวหุยได้สาบานไว้ต่อกันว่า  เป็นพี่น้องร่วมสุขแลทุกข์เป็นชีวิตอันเดียวกัน....  เมื่อท่านตายแล้ว  เล่าปี่  เตียวหุยก็จะตายด้วย  ซึ่งท่านสาบานไว้ต่อหน้ากันก็จะมิเสียความสัตย์ไปหรือ  คนทั้งปวงก็จะล่วงนินทาว่าความคิดท่านน้อย...เตียวเลี้ยวจึงว่า  มหาอุปราชให้ทหารล้อมไว้เป็นอันมาก  ถ้าท่านมิสมัครเข้าด้วยเห็นชีวิตท่านจะถึงแก่ความตายหาประโยชน์มิได้  ขอให้ท่านอยู่กับมหาอุปราชก่อนเถิด  จะได้มีประโยชน์สามประการ

                          ๑.๔ พลังของความสามัคคีช่วยให้บ้านเมืองอยู่รอดปลอดภัยจากข้าศึกศัตรู ในการทำสงครามถ้ามีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันย่อมเกิดพลังในการต่อสู้ข้าศึก แต่หากขาดซึ่งความสามัคคีแล้วย่อมเสียทีแก่ข้าศึกโดยง่าย เช่น การที่อ้วนเสี้ยวไม่ส่งทหารไปช่วยเล่าปี่ เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เล่าปี่ปราชัย หรือการที่บิต๊ก บิฮอง กันหยง ทิ้งเมืองเพราะคิดว่าจะสู้โจโฉมิได้ และตันเต๋งกลับเปิดประตูรับโจโฉเป็นเหตุให้โจโฉยึดเมืองชีจิ๋วได้ง่าย

                 ๒. สะท้อนค่านิยมในการประพฤติปฏิบัติของคนในสังคม ดังนี้

                         ๒.๑ ค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์ จากเรื่องสามก๊กตอนกวนอูไปรับราชการกับโจโฉ  สะท้อนให้เห็นค่านิยมด้านความซื่อสัตย์ได้เนชัดที่สุด ดังความว่า

                                “โจโฉรู้ดังนั้นก็เกรงใจกวนอูว่ามีความสัตย์แลกตัญญูต่อเล่าปี่  โจโฉจึงให้กวนอูกับภรรยาเล่าปี่ไปอยู่    ตึกสองหลังมีชานกลาง  กวนอูจึงให้พี่สะใภ้ทั้งสองคนนั้นอยู่ตึกหนึ่ง แล้วให้ทหารที่แก่ราชการอยู่รักษาประมาณสิบคน  ตัวนั้นอยู่ตึกหนึ่งระวังรักษาพี่สะใภ้ทั้งสอง”

                         กวนอูถือเป็นตัวละครสำคัญที่สะท้อนค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์ บทบาทและพฤติกรรมขงกวนอู ไม่ว่าจะแสดงออกต่อภรรยาของเล่าปี่หรือโจโฉก็ล้วนสนับสนุนค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์ทั้งสิ้น

                         ๒.๒ ค่านิยมความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ เช่น การที่โจโฉส่งทหารไปล่อให้กวนอูตามออกมานอกเมืองและล้อมจับตัวกวนอูไว้ เตียวเลี้ยวทหารฝ่ายโจโฉซึ่งกวนอูเคยช่วยชีวิตไว้เป็นผู้เข้าไปเกลี้ยกล่อมกวนอูให้ไปอยู่กับโจโฉ กวนอูยอมจำนนแต่ขอเงื่อนไขเป็นสัญญาคือขอให้ได้เป็นข้าของพระเจ้าเหี้ยนเต้

                                “ กวนอูจึงว่า  เดิมเราได้สาบานกันไว้กับเล่าปี่  เตียวหุยว่าจะช่วยทำนุบำรุงพระเจ้าเหี้ยนเต้แลอาณาประชาราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุข  ซึ่งเราจะสมัครเข้าด้วยนั้น  เราจะขอเป็นข้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ประการหนึ่ง”

                         ๒.๓ ค่านิยมความกตัญญูรู้คุณ เช่น ตอนที่เตียวเลี้ยวกล่าวถึงลักษณะนิสัยของกวนอูดังความว่า

                                “อันน้ำใจกวนอูนั้น  ถ้าผู้ใดมีแล้วเห็นจะเป็นเหมือนอิเยียง  อันเล่าปี่กับกวนอูนั้นมิได้เห็นพี่น้องกัน  ซึ่งมีความรักกันนั้น  เพราะได้สาบานต่อกัน  เล่าปี่เป็นแต่ผู้น้อย  เลี้ยงกวนอูไม่ถึงขนาด  กวนอูยังมีน้ำใจกตัญญูต่อเล่าปี่  จึงคิดจะติดตามมิได้ทิ้งเสีย 

              ๓) สะท้อนเรื่องความเชื่อของคนในสังคม ดังนี้

                   ๓.๑ ความเชื่อในโชคลาง เช่น แม้โจโฉจะเป็นแม่ทัพที่มีความสามารถในการรบเมื่อยกทัพมาเกิดลมพายุพัดธงชัยหัก ก็ต้องพึ่งคำทำนายทายทัก จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญของการรบโบราณที่ต้องถือฤกษ์ยามและ   โชคลาง ดังความว่า

                            “ฝ่ายโจโฉยกกองทัพมาใกล้จะถึงเมืองเสียวพ่าย  พอเกิดลมพายุใหญ่พัดหนักธงชัยซึ่งปักมาบนเกวียนนั้นหักทับลง  โจโฉเห็นวิปริตดังนั้นก็ให้ทหารหยุดตั้งค่ายมั่นไว้แล้วถามที่ปรึกษาว่า  ซึ่งลมพายุพัดมาถูกธงชัยเราหักลงทั้งนี้  จะเห็นดีแลร้ายประการใด  ซุนฮกจึงว่าซึ่งเกิดพายุใหญ่พัดธงชัยหักทับลงมานั้นเป็นลมตะวันออก  เวลาค่ำวันนี้ดีร้ายเล่าปี่จะยกทัพออกมาปล้นค่ายเราเป็นมั่นคง  พอมอกายเข้ามาว่าแก่โจโฉว่า  ลมตะวันออกพัดมาถูกธงหักนั้น  ข้าพเจ้าเห็นว่ากลางคืนวันนี้จะมีผู้มาปล้นค่าย”

                   ๓.๒ ความเชื่อในเรื่องความฝัน เช่น เมื่อนางบิฮูหยินและกำฮูหยินเล่าความฝันของนางที่เกี่ยวกับเล่าปี่ให้กวนอูฟัง กวนอูก็เกิดวิตก ดังความว่า

                            “...นางกำฮูหยินจึงตอบว่า  คืนนี้พี่ฝันเห็นเล่าปี่ตกหลุมลงครั้นตื่นขึ้นมาก็ตกใจจึงแก้ฝันนางบิฮูหยิน  เห็นพร้อมกันว่าเล่าปี่ตายแล้วพี่จึงร้องไห้รัก  กวนอูได้ฟังดังนั้น  พิเคราะห์ดูเห็นฝันผิดประหลาด  สำคัญว่าเล่าปี่เป็นตายก็ร้องไห้ด้วย 

                   ๓.๓ ความเชื่อเรื่องบุญกรรมที่ตนได้กระทำไว้ สามก๊ก  ตอนกวนอูไปรับราชการกับโจโฉ  แสดงให้เห็นความเชื่อเรื่องบุญกรรมที่ได้ทำมาเช่น

                            “แล้วว่าบัดนี้ข้าพเจ้าเข้ามาปรึกษาด้วย  พี่ทั้งสองจะเห็นประการใด  นางกำฮูหยินจึงว่าเวลาคืนนี้โจโฉเข้าในเมืองได้พี่นี้เกรงอยู่ว่าจะเป็นอันตรายต่างๆเป็นเดชะบุญของเรา 

             ๔) สะท้อนเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆของสังคมจีนดังนี้

                   ๔.๑ การจัดเลี้ยง การจัดเลี้ยงเป็นเอกลักษณ์ของคนจีน ในสังคมจีนไม่ว่าจะในโอกาสแสดงความยินดี ต้อนรับ หรือขอบคุณมักจะจัดอาหารเลี้ยงกันเป็นประจำจนกลายเป็นประเพณีไปโดยปริยาย ดังความว่า

                            “...อ้วนถำได้ฟังดังนั้นก็มีความสงสารเป็นอันมาก ก็ให้แต่งโต๊ะเลี้ยงแล้วจัดแจงที่อยู่ให้เล่าปี่อาศัย จึงแต่งหนังสือบอกไปถึงบิดาตามคำเล่าปี่ให้ม้าใช้ถือไปก่อน...”

                   ๔.๒ การให้ของกำนัล การให้ของกำนัลเป็นสิ่งที่ชาวจีนนิยมทำกันในเกือบทุกโอกาส จากเรื่องจะเห็นได้ว่า โจโฉให้เครื่องเงิน เครื่องทองเสื้อผ้าดีๆและให้ผ้าแพรขาวอย่างดีแก่กวนอูเพื่อทำถุงใส่หนวด การให้ของกำนัลเช่นนี้เป็นกลวิธีหนึ่งที่ชาวจีนนิยมกระทำเพื่อเป็นเครื่องผูกใจดังความว่า

                            “ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง  โจโฉให้เชิญกวนอูมากินโต๊ะ  เห็นกวนอูห่มเสื้อขาด  โจโฉจึงเอาเสื้ออย่างดีให้กวนอู  กวนอูรับเอาเสื้อแล้ว  จึงเอาเสื้อใหม่นั้นใส่ชั้นใน  เอาเสื้อเก่านั้นใส่ชั้นนอก 

                         “กวนอูจึงตอบว่าหนวดของข้าพเจ้าประมาณร้อยเส้น  ครั้นถึงเทศกาลหนาวก็หล่นไปบ้าง  ข้าพเจ้าจึงทำถุงใส่ไว้  โจโฉได้ฟังดังนั้นจึงเอาแพรขาวอย่างดี  ทำถุงให้กวนอูสำหรับใส่หนวด

                   สามก๊กตอนที่เรียนเป็นตอนที่เน้นด้านคุณธรรม จริยธรรมของตัวละคร เช่น ความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู การยึดถือสัจจะ ซึ่งถือเป็นค่านิยมที่ทุกสังคมยกย่องเพียงแต่ในแต่ละสังคมให้ความสำคัญมากน้อยต่างกัน               

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน อาจารย์ ตจต ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf lmyour แปลภาษา ชขภใ ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 ขขขขบบบยข ่ส ศัพท์ทางทหาร military words หนังสือราชการ ตัวอย่าง หยน แปลบาลีเป็นไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง พจนานุกรมศัพท์ทหาร เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษามลายู ยาวี Bahasa Thailand กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ การ์ดจอมือสอง ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย คะแนน o-net โรงเรียน ค้นหา ประวัติ นามสกุล บทที่ 1 ที่มาและความสําคัญของปัญหา ร. ต จ แบบฝึกหัดเคมี ม.5 พร้อมเฉลย แปลภาษาอาหรับ-ไทย ใบรับรอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน PEA Life login Terjemahan บบบย มือปราบผีพันธุ์ซาตาน ภาค2 สรุปการบริหารทรัพยากรมนุษย์ pdf สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม เช็คยอดค่าไฟฟ้า แจ้งไฟฟ้าดับ แปลภาษา มาเลเซีย ไทย แผนที่ทวีปอเมริกาเหนือ ่้แปลภาษา Google Translate กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ข้อสอบโอเน็ตม.3 มีกี่ข้อ คะแนนโอเน็ต 65 ตม กรุงเทพ มีที่ไหนบ้าง