บรรทัดฐานของสถาบันพระมหากษัตริย์

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อเสนอ 10 ข้อของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และสิ่งที่ตามมาขณะนี้ ทำให้นึกถึงบทความสำคัญชิ้นหนึ่งที่ไม่น่าจะมีคนอ่านมากนัก คือ “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในหนังสือ วิถีสังคมไทย : สรรนิพนธ์ทางวิชาการ เนื่องในวาระหนึ่งศตวรรษ ปรีดี พนมยงค์ ปี 2543 หรือเขียนขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในขณะที่เป็นยุครุ่งเรืองของสถาบันกษัตริย์ไทย บทความนี้เขียนโดย มารค ตามไท ในฐานะผู้จงรักภักดีที่ต้องการปกปักรักษาระบอบนี้ให้คงอยู่ต่อไปอย่างมีเหตุผล/ตรรกะ โดยพยายามเสนอ “คุณค่าที่แท้จริง” ของระบอบนี้ นอกจากนั้นยังมีคุณค่าในการนำเสนอเหตุผลเชิงเปรียบเทียบ ข้อดี/ข้ออ่อน อันเป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงขอเชิญชวนผู้อ่านมาทบทวนอีกครั้งผ่านการปริทัศน์นี้ (เนื่องจากบทความค่อนข้างยาว เพื่อกระชับเวลา สามารถข้ามไปอ่านหัวข้อที่ 3 ได้เลย)

เมื่อ 100 ปีก่อน ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ แต่ถึงปัจจุบัน เพียง 20 กว่าประเทศเท่านั้นที่ยังมีกษัตริย์อยู่ โดยส่วนใหญ่เป็น constitutional monarchy หรือกษัตริย์ “ใต้” หรือ “ตาม” รัฐธรรมนูญ (ดูงานศึกษาเปรียบเทียบภาษาไทยได้จาก เบเนดิกท์ อาร์ โอ จี. แอนเดอร์สัน, “ราชาธิปไตยสมัยใหม่ในมุมมองเปรียบเทียบระดับโลก” วารสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มิถุนายน 2547) หน้า 59-78 ) ความเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะเป็นที่มาบทความชิ้นนี้ ที่เริ่มต้นด้วยคำถามว่า “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (ต่อไปจะเรียกว่า “ระบอบ ป-ก”) เป็น 1) เพียงทางผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ หรือ 2) ระบอบการปกครองที่มีคุณค่าเฉพาะในตัวเองที่ต่างจากแบบอื่น โดยบทความจะแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก เหตุผลรองรับระบอบประชาธิปไตย ส่วนที่สอง วิเคราะห์ข้อวิพากษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย และส่วนที่สาม วิเคราะห์การปกครอง “ระบอบ ป-ก” ว่ามีจุดด้อย/เด่นอย่างไร 

1. เหตุผลรองรับระบอบประชาธิปไตย 

ผู้เขียนแบ่งเหตุผลในการรองรับ/สนับสนุนประชาธิปไตยออกเป็น 3 ประเภท คือ เหตุผลประเภทสมบูรณ์ ที่เป็นเหตุผลในตัวมันเอง เหตุผลประเภทประโยชน์นิยม ที่อยู่บนฐานของผลที่ตามมาในสังคม และ เหตุผลเชิงญาณวิทยา ที่วางอยู่บนขอบเขตข้อจำกัดในการรู้เรื่องราวต่างๆ ของมนุษย์

เหตุผลประเภทสมบูรณ์ อธิบายว่า คุณค่าของระบอบประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่ประโยชน์ต่อสังคมที่เกิดขึ้นตามมาจากการปกครองนี้ แต่เป็นคุณค่าในตัวเอง โดยมี 2 ประเด็นสำคัญ หนึ่ง ธรรมชาติของมนุษย์กับความอิสระทางจริยธรรม คือ “การปกครองนี้เคารพในความเป็นอิสระทางศีลธรรมของประชาชน” โดยส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการกำหนดและตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวการปกครองสังคมของตน และสอง ความเสมอภาคของมนุษย์ คือ แม้มนุษย์จะไม่ความเสมอภาคกันในทุกเรื่องแต่ทุกคนมีความเสมอภาคในการตัดสินใจในสิ่งที่จะมีผลกระทบต่อตนเอง การจะมีบุคคลหรือกลุ่มปกครองมากำหนดกติกาให้คนอื่นในสังคมทำตามนั้น ต้องเป็นไปตามความยินยอม ทั้งนี้ความเสมอภาคของมนุษย์จะเป็น “พื้นฐานของการวางระบบการตัดสินใจต่างๆ ในสังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” 

เหตุผลประเภทประโยชน์นิยม ให้เหตุผลว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะทำให้เกิดคุณลักษณะบางอย่างที่พึงปรารถนาและเป็นประโยชน์ของสังคม ซึ่งมี 2 แบบ แบบแรก ผลที่ตามมาในรูปของการเพิ่มพลังทางสังคม อย่างผลดีของการมีผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งไม่ใช่คุณภาพของผู้นำ แต่คือการที่ประชาชนเลือกผู้นำของตนเองนี้ทำให้พวกเขาเป็นคนที่มีพลังและกระตือรือร้นมากขึ้น ในที่สุด จะมีแรงบันดาลใจและพลังในการจะทดลองทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน แบบที่สอง ระบอบประชาธิปไตยจัดการแก้ปัญหาดีกว่าสังคมที่มีระบอบอื่น นั่นคือ การปกป้องสิทธิพื้นฐานของประชาชน เนื่องจากทุกคนมีความสำคัญและมีโอกาสร่วมกำหนดกติกาของสังคม ดังนั้น ถ้าสิทธิพื้นฐานถูกละเมิด บุคคลสามารถปกป้องตนเองได้ด้วยกระบวนการต่างๆ ที่รับรองโดยสังคมส่วนรวม วิธีการแก้ไขปัญหาการละเมิดแบบนี้จะมีประสิทธิภาพกว่าการคอยให้คนอื่นดูแลแก้ไขให้

เหตุผลเชิงญาณวิทยา มีการนำเสนอใน 2 รูปแบบคือ หนึ่ง ประชาธิปไตยเป็นเงื่อนใขเบื้องต้นของการใช้สติปัญญาอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ของสังคม เนื่องจากความรู้ทั้งหลายเกี่ยวกับโลกและคุณค่าสามารถเข้าถึงได้ดีในที่สุด ไม่ใช่จากการยอมรับคำตอบจากผู้อื่นแต่โดยการค้นคว้าอย่างใช้สติปัญญา การแลกเปลี่ยนทัศนคติและความรู้อย่างเป็นอิสระ ดังนั้น จึงต้องมีเสรีภาพทางความคิดและการแสดงความเห็น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ “ประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะมอบอำนาจให้แก่ประชาชนที่จะใช้การค้นคว้าหาทางออกต่างๆ สำหรับปัญหาที่อาจเผชิญในสังคมอย่างเต็มที่และรอบคอบ” อีกรูปแบบหนึ่งคือ ฝ่ายต่อต้านมักอ้างว่า “คนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เพียงพอที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เพียงประชาชนส่วนหนึ่งเท่านั้นทีมี แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่ากลุ่มไหนมีคุณสมบัติเหล่านี้ ดังนั้น วิธีการเดียวที่เหลืออยู่ในการตอบปัญหานี้คือ “การที่ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมในการตัดสินเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปกครองสังคมนั้น และอาศัยการยอมรับกติการ่วมกันเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกัน แทนความจริงบางอย่างซึ่งไม่แน่ว่าจะหาอย่างไร” และวิธีการนี้เป็นแก่นของระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง

2. ข้อวิพากษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย 

สำหรับข้อวิพากษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยสามารถแยกออกได้เป็น 3 กลุ่มเช่นกัน 

กลุ่มแรกเห็นว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่ดีและไม่ควรส่งเสริม ปรากฏอยู่ในแนวคิดอนาธิปไตยและการปกครองในรูปแบบของการมีผู้ดูแลประชาชน พวกอนาธิปไตยจะเชื่อว่าการปกครองทุกระบอบ รัฐ โดยธรรมชาติจะจำกัดเสรีภาพ เพื่อให้มีเสรีภาพมากที่สุดจึงไม่ควรมี ส่วนแนวคิดการปกครองในรูปแบบของการมีผู้ดูแลประชาชนจะเชื่อว่าคุณสมบัติการเป็นผู้ปกครองที่ดีนั้นไม่ได้อยู่ในทุกคนและไม่สามารถพัฒนาได้ แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าใครมี และจะเกิดปัญหาเมื่อมีบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติแต่เชื่อว่าตัวเองมี มาคุมอำนาจ นำไปสู่การใช้ความรุนแรงโค่นล้มผู้ปกครอง ในสถานการณ์ที่เลวร้ายแบบนี้ ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยได้ชี้ให้เห็นว่า ระบอบนี้จะดีกว่าเพราะมีการเปลี่ยนฝ่ายปกครองโดยไม่ต้องฆ่าฟันกัน

กลุ่มที่สองเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดีแต่เป็นไปไม่ได้ สาเหตุสำคัญเกิดจากการครอบงำทางสังคมโดยคนส่วนน้อย ซึ่งสวนทางกับประชาธิปไตย ผู้เขียนเห็นว่า ปัญหานี้แก้ยากเพราะคนส่วนน้อยนี้ไม่ใช่เผด็จการใช้กำลังบังคับ แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีอิทธิพลอย่างมากในการกำหนดนโนบายของรัฐ ขณะที่ประชาชนไม่สามารถเข้าไปมีส่วนตัดสินแม้จะมีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ก็ตาม  

กลุ่มที่สามเห็นว่า การพัฒนาประชาธิปไตย โดยการออกกฎหมายและสถาบันทางการเมืองเพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ได้มองข้ามความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของสังคมหรือพลเมือง เป็นสังคมที่มีกฎหมายมากแต่ “ไม่มีหัวใจ” ยิ่งในภาวะปัจจุบันที่ระบอบไม่สมบูรณ์นั้น การขาดความห่วงใยกันในสังคมมีผลร้ายแรงให้เห็นตลอดเวลา อย่างเช่น คนชายขอบที่ขาดการดูแล

3. การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

หลังจากได้ปูพื้นฐานข้อถกเถียงไว้ในส่วนที่ 1 และ 2 แล้ว ส่วนสุดท้ายนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของ บทความ ผู้เขียน “เตือน” เราว่า “ระบอบ ป-ก” ไม่ใช่เป็นทางเลือกที่ทุกสังคมจะมีได้ หากยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไปแล้วจะกลับมาตั้งใหม่ได้ยากและต้องใช้เวลานาน จึงต้องคิดให้ดี ระบอบนี้ทั่วโลกไม่เหมือนกันเสียทีเดียว อย่างเช่นความรักที่มีต่อกษัตริย์ บางประเทศมีการถกเถียงในพื้นที่สาธารณะว่า กษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่คุ้มกับงบประมาณที่รัฐต้องจัดให้หรือไม่ ดังนั้น อะไรที่อาจพิจารณาว่าเป็นคุณค่าพิเศษของ“ระบอบ ป-ก” ก็ไม่ใช่คุณค่าพิเศษของ “ระบอบ ป-ก” ทุกแบบ

ผู้เขียนเริ่มต้นแสวงหาคุณค่าของ “ระบอบ ป-ก” ด้วยการเปรียบเทียบว่าเหตุผลรองรับ/สนับสนุนประชาธิปไตย (ในส่วนที่ 1) นั้นสามารถใช้สนับสนุน “ระบอบ ป-ก” ได้หรือไม่ เขาเห็นว่า เหตุผลทางญาณวิทยา-ใครจะเป็นผู้บริหารประเทศที่ดี-ยังสามารถใช้รองรับ “ระบอบ ป-ก” ได้ ขณะที่เหตุผลแบบประโยชน์นิยม-ปกป้องสิทธิพื้นฐานของประชาชนได้ดีกว่าระบอบอื่น-ก็ยังเป็นจริงใน “ระบอบ ป-ก” เช่นกัน แต่ยอมรับว่าการสร้างพลังให้แก่คนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นมีปัญหาอยู่ “ระบอบ ป-ก” ถูกวิจารณ์ว่าไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะมีชนชั้นแฝงอยู่ และการกระจายสิทธิการมีส่วนร่วมไปยังคนทั้งสังคมนั้นเป็นสิ่งที่ชนชั้นสูงจำใจยอมหรือไม่เต็มใจ หากเป็นเช่นนี้จริง พลังของสังคมก็จะน้อยลง ดังนั้น เหตุผลนี้จึงไม่สามารถใช้สนับสนุน “ระบอบ ป-ก” ทุกระบอบได้ อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เอกลักษณ์ที่แก้ไม่ได้ สำหรับเขาแล้ว ปัญหาใหญ่ของ “ระบอบ ป-ก” มาจากเหตุผลประเภทสมบูรณ์ ในประเด็นความอิสระทางศีลธรรม ดังเหตุผลที่ว่า 

“ในระบอบ ป–ก นั้น พระมหากษัตริย์มีอำนาจทางศีลธรรมอยู่ไม่น้อย ถ้าพระมหากษัตริย์มีทัศนะเกี่ยวกับความถูกต้องเชิงบรรทัดฐานของนโนบายหรือข้อเสนอที่สาธารณะกำลังพิจารณากันอยู่ ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะยอมรับความเห็นอันนี้ แทนที่จะคิดเองว่าอะไรถูก อะไรผิด และจึงไม่มีการตัดสินใจทางศีลธรรมอย่างอิสระ”

เมื่อเป็นเช่นนี้ “ระบอบ ป-ก” จะต้องปรับบทบาทของกษัตริย์ไม่ให้รวมถึงการเป็นแหล่งในการตัดสินเชิงศีลธรรมให้แก่พลเมือง และปล่อยให้ประชาชนไตร่ตรอง ตัดสินใจกันเองอย่างเต็มที่ 

สำหรับจุดแข็งหรือคุณค่าพิเศษของ“ระบอบ ป-ก” นั้น ต้องเน้นว่าไม่ใช่สิ่งที่กษัตริย์ ใน “ระบอบ ป-ก” มีเหมือนกับสถาบันอื่นในระบอบประชาธิปไตย อย่างเช่น การเป็นจุดรวมพลังและความสามัคคีเมื่อมีการรุกรานจากภายนอก เพราะการปกป้องสถาบันกษัตริย์มีบทบาทนี้ได้แต่การปกป้องวิถีชีวิตพลเมืองของประเทศก็สามารถเรียกร้องความสามัคคีและการเสียสละได้เท่าๆ กัน หรือ ความจงรักภักดีต่อรัฐธรรมนูญทำหน้าที่เหมือนความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น คุณค่าพิเศษจึงมาจากการมีศักยภาพตอบข้อวิจารณ์ที่ระบอบประชาธิปไตยแบบอื่นยังหาวิธีตอบไม่ได้ (ส่วนที่ 2)

ผู้เขียนเห็นว่า ข้อวิพากษ์ของอนาธิปไตยและระบอบที่มอบอำนาจการดูแลทุกข์สุขของประชาชนไว้กับบุคคลนั้น ระบอบประชาธิปไตยแบบอื่นมีคำตอบแล้ว ส่วนปัญหาการครอบงำโดยคนส่วนน้อย “ระบอบ ป-ก” ไม่มีคำตอบให้เหมือนกับระบอบประชาธิปไตยแบบอื่น ดังนั้น 2 เรื่องนี้จึงเสมอกันและต้องหาทางวิธีทางแก้ให้ได้ ดังนั้น จึงมีเพียงข้อวิพากษ์สุดท้าย สังคมประชาธิปไตยพัฒนามาเนิ่นนานแต่ยังขาดคุณลักษณะสำคัญ คือ คนในสังคมห่วงใยซึ่งกันและกัน ซึ่ง“ระบอบ ป-ก” มีศักยภาพจะตอบได้ ขณะที่ระบอบอื่นทำได้ยากกว่า

คุณค่าพิเศษอันนี้คือ “การที่องค์พระมหากษัตริย์สามารถเป็นจุดส่งต่อความห่วงใยจากพลเมืองคนหนึ่งไปสู่พลเมืองอีกคนหนึ่ง ถึงแม้ว่าไม่รู้จักกัน” หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ การเป็นตัวกลาง กษัตริย์จะทำหน้าที่นี้ได้ถ้ามีคุณสมบัติ 2 ประการ คือ กษัตริย์ต้องห่วงใยทุกข์สุขของพลเมืองทุกคนและพลเมืองทุกคนต้องรักองค์กษัตริย์อย่างถ่องแท้

อย่างไรก็ตามคุณสมบัติที่ว่านี้มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเช่นกัน หนึ่ง องค์กษัตริย์เท่านั้นที่สามารถมีบทบาทเป็นจุดส่งต่อความห่วงใยได้ เพราะสถาบันกษัตริย์รักคนไม่ได้ คุณสมบัติพิเศษของ “ระบอบ ป-ก” จึงมาจากองค์กษัตริย์เอง สอง คุณสมบัตินี้ไม่ได้มีอยู่อย่างอัตโนมัติใน “ระบอบ ป-ก” ทุกแห่ง แต่ใช้เวลาในการทำให้เกิดขึ้น ดังนั้นต้องศึกษาดูว่าหลักธรรมหรือหลักปฏิบัติของกษัตริย์ในวัฒนธรรมต่างๆ จะนำมาซึ่งคุณสมบัติ 2 ประการ (กษัตริย์รักพลเมือง-พลเมืองรักกษัตริย์) ของคุณค่าพิเศษใน “ระบอบ ป-ก” หรือไม่

4. สรุป

โดยสรุป มาร์ค ตามไท พยายามเปรียบเทียบการปกครอง “ระบอบ ป-ก” กับระบอบประชาธิปไตยแบบอื่น แล้วพบว่า ประการแรก สิ่งที่อาจจะเป็นจุดอ่อนของ “ระบอบ ป-ก” คือ “การที่พลเมืองที่อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองนี้ไม่มีความเป็นอิสระทางศีลธรรมเพียงพอ” แต่สามารถแก้ไขได้ โดยที่ “พระมหาษัตริย์ทรงให้โอกาสพลเมืองไตร่ตรอง ตัดสินใจเรื่องต่างๆ เชิงบรรทัดฐานเกี่ยวกับวิธีอยู่ร่วมกันในสังคมโดยไม่ครอบงำ... แต่ให้แต่ละคนคิดในกรอบใหญ่ของศาสนาหรือระบบจริยธรรมของตนเอง” ประการที่สอง คุณค่าพิเศษที่ “ระบอบ ป-ก” มีและสามารถแก้จุดอ่อนของแบบอื่นได้ คือ การสร้างความห่วงใยซึ่งกันละกันในหมู่พลเมืองที่ไม่รู้จักกัน โดยที่ “พระมหากษัตริย์เป็นจุดส่งต่อความห่วงใยที่ทั่วถึง” “แสดงความรักและความห่วงใยต่อทุกส่วนของพลเมืองจนเป็นที่ประจักษ์ และ“คุณลักษณะพิเศษนี้จะเป็นพลังที่รักษาระบอบการปกครองนี้ไว้ได้มากกว่าและยั่งยืนกว่าประเพณีนิยมและการเน้นเพียงพิธีกรรม” ทั้งนี้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก ผู้เขียนทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า “ระบอบ ป-ก” จะดำเนินต่อไปได้ สามารถเป็นจุดหมายปลายทางที่พึงปรารถนาในตัวเองได้ ถ้าปรับปรุงดูแลให้ถูกจุด

ในสถานการณ์ที่การถกเถียงว่าด้วยสถานะและอำนาจของกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย หรือ “ระบอบ ป-ก” กลับมาอีกครั้ง บทความนี้จึงได้เสนอมุมมองที่มีประโยชน์อย่างมากในการใคร่ครวญอย่างมีอิสระทางศีลธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความจริงใจที่จะรักษาระบอบนี้ไว้ มีหลายเรื่องในบทความที่สามารถและเปิดโอกาสให้ถกเถียงอภิปรายกันได้ เช่น มีคุณค่าที่แท้จริงอย่างที่พยายามโน้มน้าวหรือไม่ หากจะมีหรือสร้างให้เกิดขึ้นได้ จะต้องทำอย่างไร แต่ก็มีบางเรื่องที่แน่ชัด เช่น การคุกคาม ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น บางกรณีร้ายแรงจนถึงขั้นขู่ว่าจะทำร้าย ทั้งทางตรง และทางอ้อมโดยยกโมเดล 6 ตุลามาขู่ ต่อเยาวชน นักเรียน นักศึกษาที่จะอยู่กับสังคมนี้ไปอีกราว 50 ปี ไม่ใช่แนวทาง หรือพูดให้ชัดลงไปอีกได้ว่า ตรงกันข้ามเลยทีเดียวกับการทำให้ “ระบอบ ป-ก” เป็น “จุดหมายปลายทางที่พึงปรารถนา” ของสังคมไทยอย่างแน่นอน

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน อาจารย์ ตจต ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf lmyour แปลภาษา ชขภใ ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 ขขขขบบบยข ่ส ศัพท์ทางทหาร military words หนังสือราชการ ตัวอย่าง หยน แปลบาลีเป็นไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง พจนานุกรมศัพท์ทหาร เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษามลายู ยาวี Bahasa Thailand กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ การ์ดจอมือสอง ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย คะแนน o-net โรงเรียน ค้นหา ประวัติ นามสกุล บทที่ 1 ที่มาและความสําคัญของปัญหา ร. ต จ แบบฝึกหัดเคมี ม.5 พร้อมเฉลย แปลภาษาอาหรับ-ไทย ใบรับรอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน PEA Life login Terjemahan บบบย มือปราบผีพันธุ์ซาตาน ภาค2 สรุปการบริหารทรัพยากรมนุษย์ pdf สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม เช็คยอดค่าไฟฟ้า แจ้งไฟฟ้าดับ แปลภาษา มาเลเซีย ไทย แผนที่ทวีปอเมริกาเหนือ ่้แปลภาษา Google Translate กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ข้อสอบโอเน็ตม.3 มีกี่ข้อ คะแนนโอเน็ต 65 ตม กรุงเทพ มีที่ไหนบ้าง