โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง pdf

การบริหารดำเนินงาน

โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา

เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคมพ.ศ. ๒๕๓๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริกับคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ความว่า แม้ว่าประตูน้ำอันเดียวนี้จะไม่แก้ไขปัญหาทั้งหมดแต่จะต้องสร้างหรือทำโครงการต่อเนื่อง...แต่ถ้าหากว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาทั้งหลายซึ่งแต่ก่อนนี้การแก้ไขปัญหาต่างคนต่างทำต่างฝ่ายต่างทำ จุดเริ่มไม่มีตอนนี้ถ้าสร้างประตูน้ำเสร็จ... จากอันนี้จะทำอะไร ๆ ได้ทุกอย่างและแยกออกมาเป็นโครงการ

    เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริแก่เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เลขาธิการ กปร. และอธิบดีกรมชลประทาน ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปความว่าให้บริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ ให้มีประสิทธิภาพ

    เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้พระราชทานพระราชดำริ ความสรุปว่า ให้พิจารณาก่อสร้างอาคารบังคับน้ำเพื่อควบคุมระดับน้ำในพรุควนเคร็งให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดไฟไหม้พรุ

    การดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการประสานติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถพัฒนาระบบชลประทานครอบคลุมพื้นที่ ๕๒๑,๐๐๐ ไร่ แบ่งเขตน้ำจืด-น้ำเค็ม โดยคันแบ่งเขตระยะทาง ๙๑.๕๐ กิโลเมตร บรรเทาน้ำท่วมป้องกันน้ำเค็ม และเก็บกักน้ำจืดเพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรวมทั้งพัฒนาส่งเสริมอาชีพประชาชนและติดตามสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง

ความเป็นมา

ลุ่มน้ำปากพนังตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีแหล่งต้นน้ำคือ  ทิวเขานครศรีธรรมราช  เกือบขนานกับชายฝั่งทะเล  โดยมีลักษณะภูมิประเทศ  ๓ แบบ คือ ตอนบนของลุ่มน้ำ  เป็นที่ลาดชันมากตอนกลาง เป็น ที่ลุ่มต่ำท้องกระทะ มีสภาพเป็นป่าพรุกว้างใหญ่  ตอนล่าง เป็น ที่ราบลุ่มต่ำสู่ชายฝั่ง  มีแม่น้ำปากพนังเป็นแม่น้ำสายหลัก  ยาวประมาณ ๑๕๖  กิโลเมตรไหลผ่านกลางพื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่ ๑๐ อำเภอ ของ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ อำเภอปากพนัง อำเภอชะอวด อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอเชียรใหญ่  อำเภอหัวไทร  อำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอพระพรหม อำเภอเมืองและอำเภอลานสกา  ๒ อำเภอ ของ จังหวัดพัทลุง ได้แก่ อำเภอควนขนุน และอำเภอป่าพะยอม  ๑ อำเภอ ของ จังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอระโนดรวม ๗๖ ตำบล ๕๙๙ หมู่บ้าน ประชากร ๕๔๔,๙๑๘ คน พื้นที่ประมาณ  ๓,๑๐๐ ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ ๑,๙๓๗,๕๐๐ ไร่ ในจำนวนนี้มีพื้นที่นามากกว่า ๕๐๐,๐๐๐ ไร่

ในอดีตลุ่มน้ำปากพนังมีความอุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงทุกนิเวศ ถูกประสานเกี่ยวโยงต่อกันอย่างสมดุลด้วยนิเวศแหล่งน้ำ  เป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของภาคใต้  จากสภาพดินที่มีปัญหา จากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่หลากหลายแบบรีดเค้นทำลายเป็นผลให้ นิเวศแหล่งน้ำขาดสมดุล เกิดปัญหา น้ำเค็มรุก จากการขาดแคลนน้ำจืดน้ำเปรี้ยวจากป่าพรุแพร่กระจาย น้ำเสียจากพื้นที่ทำนากุ้ง แปลงเกษตรกรรมและแหล่งชุมชน และเกิดน้ำท่วมในระดับสูงและยาวนาน เนื่องจากเป็นพื้นที่รวมน้ำหลากมีสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ และมีช่องทางระบายน้ำไม่เพียงพอ

แนวพระราชดำริ

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ ด้วยพระเนตรพระกรรณทรงมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่อย่างต่อเนื่องยาวนานมาโดยลำดับถึง ๑๓ ครั้ง แนวพระราชดำริโดยสรุปคือ ทรงให้แก้ปัญหาด้านปริมาณ และคุณภาพน้ำ ขจัดความขัดแย้ง โดยก่อสร้างประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ เป็นจุดเริ่มต้น จากนั้นให้ก่อสร้างประตูระบายน้ำและระบบระบายน้ำระบบกักเก็บน้ำ และระบบส่งน้ำ อื่นๆเพิ่มเติมความสมบูรณ์ตามศักยภาพของพื้นที่   ให้รักษาฟื้นฟูพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพัฒนาอาชีพส่งเสริมรายได้ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ควบคู่กันไปอย่างครบวงจร  เพื่อความอยู่ดีกินดีของ ราษฎรในพื้นที่ ได้อย่างยั่งยืนบนฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมดุล

ลำดับการพัฒนา

การดำเนินงานเพื่อสนองพระราชดำริของทุกภาคส่วนเพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่กว่า ๕ แสนคน ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเป็นลำดับแรก ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ก่อสร้างระบบส่งน้ำไม้เสียบและอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส  เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุน เมื่อวันที่ ๙ และ ๑๑ ตุลาคม ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริให้ก่อสร้างโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่พ้นวิกฤติจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ การก่อสร้าง "ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ" ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของโครงการ

อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส

ระบบส่งน้ำฝายไม้เสียบ

ได้มีการจัดตั้งองค์กรในการดำเนินงานโครงการฯโดยเน้นการทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๖ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นประธาน กปร. ในขณะนั้น ได้มีคำสั่งที่ ๑/๒๕๓๖ แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการฯ โดยมี ฯพณฯ นายจุลนภ สนิทวงศ์    ณ อยุธยา องคมนตรี เป็นประธานกรรมการฯ  เลขาธิการ กปร. เป็น กรรมการและเลขานุการและมีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการฯเพิ่มเติมในเวลาต่อมา และเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ได้มีคำสั่งที่ ๑๒/๒๕๔๖ ปรับปรุงองค์ประกอบและแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการฯโดยมี นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานกรรมการฯ อธิบดีกรมชลประทาน เป็นกรรมการและเลขานุการ จนถึงปัจจุบัน

เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อรับผิดชอบงานในแต่ละด้าน  ซึ่งได้มีการปรับปรุงคำสั่งเรื่อยมาโดยลำดับเพื่อให้เหมาะสมสอดรับ ตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานโครงการฯ  ล่าสุด กปร. ได้มีคำสั่งที่ ๓/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๓๐กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ปรับปรุงคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ  จนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย  คณะอนุกรรมการ(ส่วนกลาง)  ๒  คณะ  ทำหน้าที่   จัดทำแผนการพัฒนาด้านอาชีพ และพัฒนาสิ่งแวดล้อม  คณะอนุกรรมการ (ส่วนภูมิภาค)  ๑ คณะ ทำหน้าที่  จัดทำแผนปฏิบัติการและประสานการดำเนินงาน  และให้มีศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นสำนักงานเลขานุการโครงการและฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการ (ส่วนภูมิภาค)  ภายใต้การสนับสนุนและให้คำปรึกษาจากสำนักงาน กปร.

 การบริหารโครงการ มีการปรับปรุงคำสั่งมาโดยลำดับล่าสุด ตามคำสั่ง กปร.ที่๓/๒๕๕๓  ลว. ๓๐ ก.ค. ๒๕๕๓

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘  เริ่มก่อสร้าง ปตร.อุทกวิภาชประสิทธิ์  เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาด้านอื่นๆ ต่อไป  ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ก่อสร้างคลองระบายน้ำ และ ปตร. ๔ แห่ง เพื่อช่วยระบายน้ำบรรเทาอุทกภัย  ปีพ.ศ. ๒๕๔๓ ก่อสร้างคันแบ่งเขตน้ำจืด-น้ำเค็ม เพื่อขจัดปัญหาความขัดแย้งของราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงกันแต่มีความต้องการคุณภาพน้ำไม่สอดคล้องกันได้มีการก่อสร้างระบบชลประทานน้ำเค็มบริเวณพื้นที่ชายฝั่ง มี กรมประมงเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนการพัฒนา และก่อสร้างระบบชลประทานน้ำจืด มี กรมชลประทานเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนการพัฒนา การดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลักแล้วเสร็จในปี๒๕๔๗ สำหรับโครงสร้างพื้นฐานย่อยๆเพื่อเสริมความสมบูรณ์ในพื้นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมดำเนินการเพิ่มเติมในพื้นที่อย่างต่อเนื่องมาโดยลำดับ

 

  
ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ

  

 
พระตำหนักประทับแรมอำเภอปากพนัง

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านแหล่งน้ำได้มีการพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ มีประตูระบายน้ำขนาดใหญ่ป้องกันน้ำเค็มบริเวณชายฝั่ง ๔ แห่งมีระบบส่งน้ำด้วย Gravityรวม ๗๖,๕๐๐ ไร่  ระบบส่งน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ด้วยกระแสไฟฟ้าโดยกรมชลประทานรวม ๔๐,๙๐๐ ไร่ ระบบส่งน้ำที่เกษตรกรต้องสูบน้ำขึ้นสู่แปลงเกษตรกรรมเอง รวม ๔๓๙,๑๐๐ไร่  รวมพื้นที่ชลประทานทั้งสิ้น ๕๕๖,๕๐๐ไร่ มีการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา สำหรับแหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนในปัจจุบันสามารถก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใสความจุ ๘๐ ลูกบาศก์เมตร ได้เพียงแห่งเดียว นอกนั้นจำเป็นต้องชะลอโครงการจากปัญหาเรื่องที่ดิน อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน จะต้องบริหารจัดการน้ำภายใต้ข้อจำกัดของการพัฒนา ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากสภาพภูมิประเทศ สภาพนิเวศวิทยาในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังมีความซับซ้อนสูงมาก   น้ำต้นทุนจำกัด  การใช้ประโยชน์ที่ดินที่หลากหลายมีความซับซ้อนในการบริหารจัดการน้ำสูงการแก้ปัญหาหนึ่งมักก่อให้เกิดผลกระทบด้านอื่นตามมา

แนวทางการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนมีการพัฒนาความเข็มแข็งขององค์กรชุมชนมุ่งเน้นการมีส่วนรวมสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยการผลิตที่เกินศักยภาพของชุมชน  ทั้งนี้ได้ดำเนินการตามแผนแม่บทที่สอดคล้องกับแนวพระราชดำริ โดยมีศูนย์บริการร่วมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการบูรณาดำเนินงานในพื้นที่ร่วมกัน ในรูปแบบ One Stop Service

สภาพปัญหาและการดำเนินการแก้ไข

หลังจากได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชลประทานหลักๆแล้วเสร็จเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังในระยะต่อไป คือปรับปรุงฐานะความเป็นอยู่ด้านเศรษฐกิจและสังคมของราษฎรในพื้นที่ให้ดีที่สุด เพื่อให้บรรลุตามพระราชประสงค์ที่จะให้โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ เฉกเช่นที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของภาคใต้  จากสภาพปัญหา ด้านต่างๆในพื้นที่ กล่าวคือ

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีปัญหาจากความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม  การบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำ ป่าพรุ และป่าชายเลน  การแพร่ระบาดของวัชพืชน้ำ น้ำเสียจากพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งชุมชน  การกัดเซาะชายฝั่ง  ตะกอนทรายปิดปากร่องน้ำ และตะกอนดินเลน ในท้องน้ำแม่น้ำปากพนังและคลองสาขา

ด้านการประกอบอาชีพ มีปัญหาจากคุณภาพดินไม่เหมาะสมกับการผลิตทางการเกษตรมีสภาพดินเปรี้ยวจัดบริเวณพื้นที่ป่าพรุและสภาพดินเค็มบริเวณที่ราบชายฝั่งทะเล  ดินและน้ำเสื่อมโทรมจากการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบรีดเค้นทำลายในพื้นที่บริเวณเดียวกันมีความซับซ้อนในการใช้ประโยชน์ที่ดินสูงมาก   ฐานทรัพยากรพืชและสัตว์น้ำลดลง  การทำการเกษตรกรรมในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม  การเลี้ยงปลาในกระชังบริเวณท้ายน้ำของประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ  และการฟื้นฟูการใช้ประโยชน์จากบ่อกุ้งร้าง

ด้านทรัพยากรน้ำ  มีปัญหาจากไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนอย่างเพียงพอ  ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน  มีความยุ่งยากในการบริหารจัดการน้ำจากความซับซ้อนในการใช้ประโยชน์ที่ดินสูง พื้นที่ส่วนใหญ่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยังไม่มีการจัดทำข้อตกลงการใช้ทรัพยากรน้ำและการกัดเซาะพังทลายของผิวหน้าดินลงสู่แหล่งน้ำเนื่องจากพืชคลุมดินถูกทำลาย

ที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ภายใต้คณะอนุกรรมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอนุกรรมการพัฒนาอาชีพ อนุกรรมการประสานการดำเนินงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้บูรณาการจัดแผนงานและงบประมาณสอดคล้องตามกรอบแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ เข้าแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้สภาพปัญหาต่างๆ ได้รับการแก้ไขให้คลี่คลายอย่างต่อเนื่องโดยลำดับ

  กรอบแผนแม่บทอนุกรรมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

หลักสำคัญการพัฒนาแหล่งน้ำต้องดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุล การบริหารการฟื้นฟูและพัฒนาสิ่งแวดล้อม เป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นการร่วมกันบริหารจัดการน้ำอย่างสมดุลคืนความสมบูรณ์ผืนป่าต้นน้ำ ฟื้นฟูที่ดินเกษตรกรรม ดูแลรักษาพื้นที่ชายฝั่ง ได้มีการกำหนด ๔ กรอบยุทธศาสตร์หลัก ในแผนแม่บทด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ด้านเพื่อให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศได้แก่ การสงวนอนุรักษ์ฟื้นฟูนิเวศลุ่มน้ำการใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินและน้ำอย่างบูรณาการและยั่งยืน การควบคุมป้องกันมลพิษและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

นอกจากนั้นได้มีการบริหารการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมรายได้ โดยกำหนด ๖ กรอบยุทธศาสตร์หลักในแผนแม่บทด้านการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมรายได้ให้สมดุลกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังได้มีความอยู่ดีกินดี สมดังพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน การปรับปรุงดิน และแหล่งน้ำ มีการพัฒนาการผลิตตามศักยภาพของพื้นที่เป็น ๖ เขต เน้นหนักการพัฒนาอาชีพ ได้แก่ เขตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง, เขตปลูกข้าวเพื่อการค้า, เขตปลูกปาล์มน้ำมัน, เขตปลูกข้าวเพื่อบริโภค, เขตทำสวนผลไม้และยางพารา และเขตอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ โดยมีการจัดการพื้นที่เกษตรกรรมในทุกๆ ด้านให้เหมาะสมอย่างครบวงจร 

ผลสัมฤทธิ์

ผลสัมฤทธิ์จากการบริหารจัดการน้ำ บังเกิดผลให้สามารถป้องกันการรุกตัวของน้ำเค็ม มีแหล่งน้ำจืดไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคการเกษตรกรรม รักษาสิ่งแวดล้อมได้เต็มพื้นที่ ปตร.อุทกวิภาชประสิทธิ ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ปี ๒๕๕๓ ระดับน้ำทะเลด้านท้ายน้ำสูงกว่าระดับน้ำจืดด้าน เหนือน้ำ ถึง ๒ เมตร แต่ไม่ทำให้คุณภาพน้ำจืดด้านเหนือน้ำเสียหาย ราษฎรสามารถใช้น้ำจากในระบบโครงข่ายคูคลองในพื้นที่บรรเทาความขาดแคลนน้ำ ยังผลให้ราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังรอดพ้นวิกฤติรุนแรงไปได้

   
    

คุณภาพน้ำ ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สามารถบรรเทาอุทกภัย ลดระดับและระยะเวลาน้ำท่วมในพื้นที่ลงได้เป็นอย่างมาก โดยสามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้วันละประมาณ ๑๐๐ ล้าน ลูกบาศก์เมตร ระบายน้ำท่วมขังออกจากคลองสายหลักได้ภายใน ๒๐ วันลดความเสียหายแก่พื้นที่การเกษตร และแหล่งชุมชนเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลสัมฤทธิ์จากโครงการเห็นได้ชัดเจนจากการทำนาปรัง เพิ่มจาก ๕๒,๐๐๐ ไร่ เป็น ๒๒๐,๐๐๐ ไร่ ในปัจจุบันสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ ในช่วงฤดูแล้ง ไม่น้อยกว่า ๙๕๐ ล้านบาท ต่อฤดูกาล  สำหรับในช่วงฤดูฝนเกษตรกรสามารถทำนาได้เต็มพื้นที่นาข้าว โดยมีน้ำสนับสนุนอย่างเพียงพอ ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗พ.ศ. ๒๕๕๒  ราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ย ๒๗.๗๔สำหรับในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ราษฎรในพื้นที่มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น จากปีพ.ศ. ๒๕๕๒ ประมาณ ๓.๖๗% และเกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจเจ้าหน้าที่ เป็นอย่างมากในความกระตือรือร้นเอาใจใส่ช่วยเหลือราษฎรในทุกๆ ด้าน

ปัจจัยสู่ความสำเร็จ  คือ ทุกคน  ทุกหน่วยงาน  มีความ ตั้งใจ  ทุ่มเท ที่จะทำงานสนองพระราชดำริ  ด้วยความ รู้รักสามัคคี”  โดยความ ร่วมมือ  ร่วมแรง  ร่วมใจ ”  เพื่อผลประโยชน์จะตกสู่ประชาชน  ตามพระราชประสงค์ ต่อไป

 

 องค์กรบริหาร

ได้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานแกนกลาง โดยการกำหนดกรอบโครงสร้างองค์กร ตลอดจนการนำแนวทางและวัตถุประสงค์ตามตัวแบบศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาใช้ในการบริหารราชการ

วัตถุประสงค์ เพื่อให้การบริหารจัดการโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริไปอย่างต่อเนื่องและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่ตามแนวพระราชดำริอย่างแท้จริง

หน้าที่รับผิดชอบ บริหารดำเนินงานให้การพัฒนาและการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมมีความเป็นเอกภาพและเกิดประสิทธิภาพเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักรับผิดชอบดำเนินงานพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังที่ต่อเนื่องให้ครอบคลุมทุกด้านหลังจากที่การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการจัดหาน้ำแล้วเสร็จ

การดำเนินงาน เน้นการอำนวยการและการประสานงาน

-พื้นที่ทั่วไปที่หน่วยงานดำเนินงานตามภารกิจ ดำเนินการประสานงานให้การพัฒนาและแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบตามมา

-พื้นที่เป้าหมาย ดำเนินการบูรณาการเชื่อมโยงภารกิจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อการส่งเสริมพัฒนาแบบผสมผสานที่ครอบคลุมกิจกรรมของชุมชนหลักการที่สำคัญคือการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นต้องพัฒนาอย่างมีระบบพร้อมไปกับการพัฒนาองค์กรเกษตรกรเพื่อสร้างตัวแบบการพัฒนาขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆต่อไปนอกจากนี้ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ  สำหรับกลุ่มเกษตรกรหรือบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการดำรงอาชีพก็จะเติมเต็มการส่งเสริมพัฒนาให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนในพื้นที่

ผลการดำเนินงาน

แนวทางการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำปากพนังแบบผสมผสาน

การบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำปากพนังในจุดเริ่มต้นมีปัญหาข้อขัดแย้งทางแนวคิดแนวปฏิบัติ และท่าทีการทำงานระหว่างหน่วยงานรับผิดชอบกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบตลอดจนนักวิชาการและนักพัฒนาเอกชนที่เคลื่อนไหวเพื่อหาทางบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบโดยที่ต่างฝ่ายมีความเชื่อและใช้ความรู้ด้านเดียวในการตัดสินใจจึงได้มีการประสานงานให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสานหลักวิชาการกับภูมิปัญญาสร้างความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตลอดจนหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันจนเกิดความเห็นที่ลงตัวยอมรับกันได้ทำให้ความร่วมมือทางการปฏิบัติเกิดขึ้นลดทิฐิต่อกันก่อให้เกิดแนวทางการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำปากพนังแบบผสมผสาน ที่หน่วยงานชลประทานรับผิดชอบได้ถือปฏิบัติคือการจัดการเพื่อเก็บกักน้ำจืด การจัดการเพื่อฟื้นฟูนิเวศแหล่งน้ำการจัดการเพื่อระบายน้ำ

แนวทางการจัดการน้ำโดยชุมชนขนาบนากอำเภอปากพนัง

พื้นที่บริเวณตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนังถูกแนวคันแบ่งเขตตัดผ่านเข้าไปในพื้นที่ประมาณครึ่งต่อครึ่งป่าจากซึ่งต้องการใช้น้ำกร่อยทำให้ผลผลิตจากต้นจากในพื้นที่ที่อยู่ในเขตน้ำจืดและน้ำเค็มน้อยลงราษฎรที่ประกอบอาชีพจากป่าจากมีรายได้ลดลงกรมชลประทานจึงได้จัดทำโครงการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเค็มเข้าท่วมพื้นที่ป่าจากในช่วงที่น้ำเค็มจัดและระบายน้ำในพื้นที่ป่าจากช่วงฤดูน้ำหลากและเนื่องจากการประกอบอาชีพในชุมชนมีความหลากหลาย ได้แก่ การทำนาปลูกผักการทำตาลจาก การเพาะเลี้ยงกุ้งในบ่อ การทำประมงในลำน้ำ ซึ่งความต้องการใช้น้ำจืดน้ำกร่อย น้ำเค็มที่สอดคล้องตามสถานการณ์ในพื้นที่ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต้องเกิดความลงตัวและเกื้อกูลกัน

ฉะนั้นเพื่อให้โครงการดังกล่าวเป็นไปตามความต้องการของชุมชน และการจัดการไม่ก่อให้เกิดข้อขัดแย้งในชุมชนจึงได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ร่วมกับศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯทำกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์สามารถกำหนดแนวทางบริหารจัดการน้ำร่วมกันมีคณะกรรมการมาจากตัวแทนหมู่บ้านเข้าร่วมดำเนินการ ทำให้เกิดข้อตกลงร่วมกันเพื่อป้องกันความขัดแย้ง ข้อตกลงดังกล่าว เรียกว่า ปฏิญญาขนาบนาก      

เครือข่ายความร่วมมือในการจัดการปัญหาวัชพืชน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

การพัฒนาแหล่งน้ำทั้งระบบของลุ่มน้ำปากพนังเกิดการเปลี่ยนแปลงจากสภาพน้ำไหลเป็นแหล่งน้ำนิ่งไม่มีการไหลเวียนของน้ำทำให้เกิดการตกตะกอนของแร่ธาตุและสารอาหารในน้ำวัชพืชน้ำเจริญเติบโตและแพร่กระจายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกิดการสะสมของตะกอนอินทรีย์และตะกอนดินทราย ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขินเป็นปัญหาต่อการใช้น้ำ การระบายน้ำ และการสัญจรทางน้ำนอกจากนี้ยังเป็นการสูญเสียน้ำจากการใช้น้ำของวัชพืชด้วย การดำเนินการโดยกรมชลประทานเพียงหน่วยงานเดียวด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณไม่สอดคล้องกับอัตราการเจริญเติบโตแพร่กระจายของวัชพืชทำให้ปริมาณสะสมในลำน้ำเกิดความหนาแน่นเป็นปัญหาและผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเมื่อเกิดปัญหาไปทั่วพื้นที่ก็ได้มีการทุ่มงบประมาณเพื่อดำเนินการแก้ไขให้ครอบคลุมซึ่งการดำเนินการดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้จบสิ้นได้

          การประสานการดำเนินการจัดการปัญหาโดยการวางกรอบยุทธศาสตร์4 ยุทธศาสตร์ คือ การจัดการความรู้ การกำจัดและควบคุมการใช้ประโยชน์ และการสร้างจิตสำนึก โดยความร่วมมือของ จังหวัดนครศรีธรรมราชกรมชลประทาน องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชและองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมในการดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ซึ่งปัจจุบันได้ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง

ดำเนินงานพัฒนาโดยกำหนดพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 6 แห่ง คือ

          1.โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปรับปรุงดินเปรี้ยวตามทฤษฎีแกล้งดินบ้านควนโถ๊ะ ตำบลแหลม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช

-สภาพพื้นที่เดิมเป็นพรุดินเปรี้ยว เกษตรกรปล่อยที่ดินทิ้งร้างดำเนินการปรับปรุงดินเปรี้ยวตามทฤษฎีแกล้งดินให้สามารถทำประโยชน์ทางการเกษตรได้พร้อมทั้งส่งเสริมพัฒนาในด้านอื่นๆที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่โดยมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักในการประสานการดำเนินงานในพื้นที่

          2.โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวครบวงจรตามแนวพระราชดำริตำบลป่าระกำ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

-สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นที่นามีแหล่งน้ำในพื้นที่แต่เกษตรกรต้องสูบน้ำใช้เอง สามารถปลูกข้าวนาปรังได้การส่งเสริมพัฒนาการปลูกข้าวทั้งในระบบการผลิต แปรรูปและจำหน่ายครบวงจรให้กลุ่มเกษตรกรสามารถบริหารจัดการเองได้โดยมีกรมการข้าวเป็นหน่วยงานหลักในการประสานการดำเนินงานในพื้นที่

          3.โครงการพัฒนาพื้นที่บ้านเนินธัมมังอันเนื่องมาจากพระราชดำริตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

-สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นดินกรด ทรงพระราชทานพระราชดำริเมื่อปี 2536ให้พิจารณาวางโครงการและก่อสร้างระบบแยกน้ำสามรสออกจากกันได้แก่การก่อสร้างระบบป้องกันน้ำเปรี้ยวจากพรุทำให้พื้นที่เพาะปลูกเป็นดินกรดระบบป้องกันน้ำเค็มบุกรุก และระบบส่งน้ำจืดช่วยเหลือการเพาะปลูกและการอุปโภคบริโภคของราษฎรซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จแต่เนื่องขาดเอกภาพการส่งเสริมพัฒนาที่ต่อเนื่องเพื่อให้การประกอบอาชีพของราษฎรในพื้นที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริรับหน้าที่ในการประสานการดำเนินงานในพื้นที่

          4.โครงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตส้มโอ บ้านแสงวิมานตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

-สภาพพื้นที่เดิมเป็นที่ราบลุ่มชาวฝั่งทะเลปลูกส้มโอที่มีรสชาติดีประสบความสำเร็จในการทำสวนส้มโอ ผลผลิตที่ออกจากพื้นที่ถูกเรียกติดปากว่า“ส้มโอแสงวิมาน” ปัจจุบันขยายพื้นที่ปลูกออกไปในหมู่บ้านใกล้เคียงการส่งเสริมพัฒนาระบบการผลิตที่ได้คุณภาพ และระบบการจัดการขายผลผลิตโดยการรวมกลุ่มพร้อมทั้งส่งเสริมพัฒนาในด้านอื่นๆที่จะให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มโดยมีศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นหน่วยงานหลักในการประสานการดำเนินงานในพื้นที่

          5.โครงการนิคมการเกษตรข้าว   ตำบลดอนตรอและตำบลเชียรเขาอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช

-สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นที่นา มีการจัดรูปที่ดินน้ำชลประทานเข้าถึงแปลงนาเกษตรกรยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก การส่งเสริมพัฒนาการปลูกข้าวทั้งในระบบการผลิตและระบบธุรกิจให้กลุ่มเกษตรกรสามารถบริหารจัดการเองได้เป็นต้นแบบพื้นที่การผลิตข้าวที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมพัฒนาในด้านอื่นๆที่จะให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มโดยมีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักในการประสานการดำเนินงานในพื้นที่  

          6.โครงการนิคมการเกษตรปาล์มน้ำมันตำบลสวนหลวง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช

-สภาพพื้นที่โครงการอยู่ในเขตการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมสภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นดินกรดปรับพื้นที่ยกร่องและปรับปรุงดินเปรี้ยวสามารถทำการเกษตรได้ส่งเสริมและพัฒนาการปลูกปาล์มน้ำมันตามความต้องการของเกษตรกรให้ความรู้การจัดการระบบการผลิตและการธุรกิจตลอดจนการส่งเสริมการรวมกลุ่มที่สามารถบริหารจัดการได้เองเป็นต้นแบบพื้นที่การผลิตปาล์มน้ำมันที่เหมาะสมสอดคล้องตามสภาพพื้นและได้คุณภาพพร้อมทั้งส่งเสริมพัฒนาในด้านอื่นๆที่จะให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มโดยมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักในการประสานการดำเนินงานในพื้นที่

          การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ

          สำหรับกลุ่มเกษตรกรหรือบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการดำรงอาชีพก็จะเติมเต็มการส่งเสริมพัฒนาให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนในพื้นที่ปัจจุบันได้ดำเนินการจัดตั้งไว้แล้ว จำนวน 10 แห่ง  

การบริหารจัดการน้ำ

          กรมชลประทานได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมเพื่อให้คุณภาพน้ำที่เรียกว่า น้ำ รส  น้ำคือ น้ำจืด น้ำเค็มน้ำกร่อย น้ำเปรี้ยว 3รส คือ รสจืด รสเปรี้ยว รสเค็มเกิดความสมดุลเหมาะสม ในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละช่วงเวลา กล่าวคือ ในช่วงฤดูแล้ง (ก.พ.-ส.ค.) จะเน้นการบริหารจัดการน้ำที่กักเก็บไว้ในช่วงปลายฤดูฝนเพื่อให้สามารถใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคการเกษตรกรรม และเพื่อแก้ไขรักษาสิ่งแวดล้อม ให้เพียงพอตามเป้าหมายที่กำหนด  ในช่วงต้นฤดูฝน(ก.ย.-กลางพ.ย.) เริ่มมีปริมาณน้ำจากฝนจะทำการเปิดประตูระบายน้ำต่างๆบริเวณชายฝั่งทะเลเพื่อฟื้นนิเวศน้ำกร่อยให้อยู่ในบริเวณที่เหมาะสมอีกทั้งเป็นการชะล้างความสกปรกที่สะสมในพื้นที่มาตลอดช่วงฤดูแล้ง ในช่วงฤดูฝน(ปลาย พ.ย.-ต้นม.ค.)จะเน้นการบริหารจัดการน้ำเพื่อประสิทธิภาพในการระบายน้ำสูงสุดเนื่องจากเป็นช่วงฝนตกหนักหลังจากที่ปริมาณฝนเริ่มลดลงก็จะเริ่มปิดบานประตูระบายน้ำบริเวณชายฝั่งทะเลทุกแห่งเพื่อเก็บน้ำไว้ในพื้นที่เพื่อใช้ในฤดูแล้งต่อไป สำหรับในพื้นที่ย่อยๆจะใช้การบริหารจัดการประตูระบายน้ำในพื้นที่ในการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำเพื่อจัดสรรน้ำไปใช้ประโยชน์ยังพื้นที่ต่างๆ โดยจะมีการส่งเสริมกระบวนการให้ราษฎรในพื้นที่ได้มีการปรึกษาหารือเอื้ออาทรเกลี่ยประโยชน์แบ่งปันการใช้ทรัพยากรในพื้นที่และทำการตกลงในการใช้น้ำในแต่ละช่วงเวลาไม่ให้เกิดความขัดแย้งในทุกพื้นที่

          ประตูระบายน้ำตามแนวพระราชดำริบริเวณชายฝั่งโดยเฉพาะ ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิเป็นประตูระบายน้ำหลักที่ป้องกันไม่ให้น้ำเค็มทางด้านอ่าวปากพนังรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำปากพนังได้อย่างสิ้นเชิงโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง จะเห็นได้จากในช่วงฤดูแล้งปี 2553 ระดับน้ำในแม่น้ำปากพนังต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง2 เมตร แต่การใช้น้ำจืดในพื้นที่ไม่เกิดปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังสามารถใช้น้ำจืดเพื่อประโยชน์ด้านต่างๆได้เป็นอย่างมากโดยเฉพาะเป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อการประปาของทุกตำบลที่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเลและพื้นที่ใกล้เคียงกับแม่น้ำปากพนังอีกทั้งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อใช้ในการเพาะปลูกได้หลายแสนไร่

          สำหรับคลองลัดที่ได้ดำเนินการก่อสร้างตามแนวพระราชดำริสามารถทำให้เกิดการหมุนเวียนน้ำด้านท้าย ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิลดการเน่าเสียและลดระดับการเอ่อท่วมของน้ำด้านท้ายประตูระบายน้ำบริเวณอำเภอปากพนังได้เป็นอย่างดี ก่อให้เกิดการขยายพันธุ์ของสัตว์สองน้ำและเกษตรกรสามารถเลี้ยงปลาในกระชังได้เป็นจำนวนมากในช่วงเวลาที่เหมาะสม

          การจัดสรรน้ำ

แหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง มีดังนี้

1.  อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส  ความจุที่ระดับเก็บกัก 80 ล้านลูกบาศก์เมตร 

2. แม่น้ำปากพนังความจุที่ระดับเก็บกัก  67 ล้านลูกบาศก์เมตร (สามารถสูบไปใช้เพื่อการเกษตรกรรมโดยไม่เกิดผลกระทบด้านอื่นๆ ประมาณ 16 ล้าน ลูกบาศก์เมตร

3. คลองชะอวดแพรกเมือง ความจุที่ระดับเก็บกัก 20 ล้านลูกบาศก์เมตร (สามารถสูบไปใช้เพื่อการเกษตรกรรมโดยไม่เกิดผลกระทบด้านอื่นๆประมาณ 5 ล้าน ลูกบาศก์เมตร)

4.  เครือข่ายคลองระบายน้ำสายต่างๆในพื้นที่ MD1-MD8 จำนวน 589 สาย ยาวรวม 1,698 กิโลเมตรรวมความจุประมาณ 22 ล้านลูกบาศก์เมตร

5. น้ำฝนใช้การในช่วงฤดูแล้ง (ก.พ.-ส.ค.) ปีฝนตกชุกประมาณ 846.2 มิลลิเมตร  ปีฝนปกติ ประมาณ 616.9 มิลลิเมตร ปีฝนแล้งประมาณ 412.7 มิลลิเมตร

โดยสรุป ปริมาณน้ำที่สามารถใช้สนับสนุนการทำนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังสำหรับปีฝนแล้ง สนับสนุนได้ประมาณ 115,000 ไร่ ปีฝนปกติสนับสนุนได้ประมาณ 175,000 ไร่ และปีฝนตกชุกสนับสนุนได้ประมาณ 220,000 ไร่ โดยไม่เกิดการขาดแคลนและไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม(จะต้องไม่ดึงน้ำจากพื้นที่ป่าพรุทั้ง 4 ป่า ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ354,339 ไร่ มาใช้เพื่อการเกษตรกรรม)

พื้นที่ชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังสามารถสนับสนุนน้ำสำหรับการปลูกพืชฤดูแล้ง ดังนี้

- พื้นที่ชลประทาน นิคมควนขนุน 17,600 ไร่ ปลูกพืชฤดูแล้ง  5,000  ไร่

- พื้นที่ชลประทานฝายไม้เสียบเดิม 35,000 ไร่ปลูกพืชฤดูแล้ง  15,000  ไร่

- พื้นที่ชลประทานฝายไม้เสียบส่วนขยาย 24,000 ไร่ ปลูกพืชฤดูแล้ง  10,000  ไร่

- พื้นที่ชลประทานสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ MC1 28,580 ไร่ ปลูกพืชฤดูแล้ง 28,580 ไร่

- พื้นที่ชลประทานสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ MC2 12,320 ไร่ ปลูกพืชฤดูแล้ง 12,320ไร่

- พื้นที่ชลประทานสูบน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำขนาดเล็กของราษฎรMD1-MD8  439,100 ไร่ปลูกพืชฤดูแล้ง  208,000  ไร่

          ปัจจุบันระบบโทรมาตร ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง  กรมชลประทานโดยสำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ  ได้ปรับเปลี่ยนย้ายเครื่องตัวแม่ข่าย ไปอยู่ที่กรมฯ ทั้งหมดแล้ว โดนสำนักอุทกฯ จะรายงานข้อมูลน้ำจากระบบ   โทรมาตรผ่านทางเว็บไซด์  การบริหารจัดการน้ำ ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ ในปัจจุบันจึงเน้นไปที่การเก็บข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่โครงการฯ ประกอบกับข้อมูลการพยากรณ์อากาศและการคาดหมายลักษณะอากาศจากกรอุตุนิยมวิทยา  รวมทั้งข้อมูลจากเครือข่ายภาคประชาชนที่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ช่วงเวลานั้น ๆ อย่างไรก็ตามในช่วงที่เข้าสู่ภาวะวิกฤติโครงการฯ ร่วมกับนายอำเภอปากพนังและตัวแทนจากพื้นที่ต่าง ๆ จะประชุมกันเกือบทุกวันเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางการป้องกัน แก้ไข ซึ่งสามารถลดระดับความขัดแย้งได้ในระดับหนึ่ง

          ส่วนการเตือนภัย LJl ส่วนการเตือนภัยให้แก่ราษฎรนั้นโครงการฯ ได้แจ้งเตือนภัยไปยังอำเภอ  เทศบาลเมืองปากพนัง  องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆและสถานีวิทยุชุมชน เพื่อให้ช่วยประชาสัมพันธ์แนวโน้มสถานการณ์น้ำให้ราษฎรได้เตรียมพร้อมรับมือ ส่วนโครงการฯ ได้เปิดศูนย์ประสานและติดตามสถานการณ์น้ำ ในช่วยฤดูฝนโดยมีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำศูนย์ฯ ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ  พร้อมกับจัดเจ้าหน้าที่ออกแก้ไขปัญหาอาคารชลประทานที่กีดขวางทางน้ำด้วย

การจัดการน้ำท่วม

ในช่วงฤดูฝนในอดีตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังโดยเฉพาะทางตอนล่างมักจะเกิดอุทกภัยเป็นประจำเกือบทุกปี มีน้ำเอ่อท่วมสูงประมาณ1.50 เมตร นานประมาณ 1-2 เดือน

ปัจจุบันสภาพน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังจะเกิดเฉพาะปีฝนตกชุก หรือปีที่มีสถิติฝนเกินเกณฑ์ปกติ ท่วมลึกประมาณ 0.5-1.00 เมตรคลองระบายน้ำสายหลักสามารถระบายน้ำเข้าสู่ระดับปกติในระยะเวลาประมาณ 21 วัน (เหลือค้างเฉพาะในพื้นที่ที่มีสิ่งกีดขวางการระบายน้ำลงสู่คลองระบายสายหลักบางส่วน)

สำหรับตัวเมืองนครศรีธรรมราช มีสภาพเป็นแนวสันทรายขวางทางน้ำเดิมตั้งอยู่บริเวณตอนกลางด้านทิศเหนือของพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังรับน้ำจากลุ่มน้ำสาขาท่าดีและระบายออกสู่ทะเลอ่าวปากพนังโดยคลองหัวตรุด ประมาณ 60%คลองท่าซักประมาณ 30% และคลองอื่นๆประมาณ 10%โดยตรง  ทั้งนี้ การบริหารจัดการประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิไม่มีผลกระทบกับการระบายน้ำจากตัวเมืองนครศรีธรรมราช

การระบายน้ำที่ไหลหลากท่วมตัวเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเดือนมีนาคม 2554 กรมชลประทานได้ช่วยดำเนินการติดตั้งสูบน้ำจำนวน เครื่อง ช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 10เครื่อง เพื่อเพิ่มความเร็วในการระบายน้ำออกจากตัวเมืองในคลองระบายน้ำสายหลักต่างๆ สามารถลดระดับน้ำที่หลากท่วมตัวเมืองได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถระบายน้ำออกจากตัวเมืองนครศรีธรรมราช เข้าสู่สภาพปกติ ภายในเวลาประมาณ 10 วัน

กราฟแสดงระดับและปริมาณน้ำหลากในช่วงอุทกภัย เมื่อ 23 มี.ค.-12 เม.ย. 2554

การพัฒนาอาชีพ

การทำนา

          ในอดีตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของภาคใต้ ก่อนมีโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีการทำนาปี ประมาณ  400,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองผลผลิตประมาณ 350 ก.ก./ไร่ นาปรังประมาณ 50,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 450 ก.ก./ไร่ หลังโครงการแล้วเสร็จ ในปัจจุบันมีการทำนาปี ประมาณ  400,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 650 ก.ก./ไร่  นาปรังประมาณ 200,000 ไร่ผลผลิตประมาณ 750 ก.ก./ไร่ (พื้นที่นาบางส่วนมีการปรับเปลี่ยนไปผลิตผลการเกษตรชนิดอื่นๆ) ในปี 2552รายได้เงินสดรวมต่อครัวเรือน ประมาณ 200,649.62 บาท/ครอบครัว/ปีปัจจุบันรายได้เฉลี่ยของราษฎรเพิ่มขึ้นจากปี 2547 ไม่น้อยกว่า30%  (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8)

การปลูกปาล์ม

เดิมไม่มีการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังจำนวนมากมีที่ดินถือครองมีสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัดทำการเพาะปลูกพืชใดๆไม่ได้  ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานีกรมวิชาการเกษตร ได้ทดลองปลูกปาล์มในพื้นที่ที่มีสภาพเป็นพรุดินเปรี้ยวจัดปรากฏว่าได้ผลดี คณะอนุกรรมการพัฒนาอาชีพจึงได้กำหนดเขตส่งเสริมพื้นที่ที่มีดินเปรี้ยวจัดทำการเพาะปลูกพืชอื่นๆไม่ได้เป็นพื้นที่ส่งเสริมการปลูกปาล์ม  โดยพื้นที่ส่งเสริมจะต้องไม่เป็นพื้นที่ป่าสงวนราษฎรต้องมีเอกสารสิทธิ์ชัดเจน ในเวลาต่อมาเนื่องจากกระแสการปลูกปาล์มน้ำมันสูงปัจจุบันนอกเหนือจากพื้นที่ที่เป็นดินเปรี้ยวจัดแล้วราษฎรในพื้นที่อื่นๆได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่นาและพื้นที่รกร้างบางส่วนมาปลูกปาล์มน้ำมันด้วยอีกด้วยปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกปาล์มในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังรวมประมาณ 168,000 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่พรุ

(ที่มา : ฝ่ายยุทธศาสตร์และสารสนเทศ  สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช)

การเลี้ยงกุ้ง

       เนื่องจากตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน การเลี้ยงกุ้งประสบปัญหาราคากุ้งทะเลตกต่ำกอร์ปกับเกิดการแพร่ระบาดของโรคกุ้งทะเลทำให้ปริมาณการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลโดยทั่วไป ลดลงเป็นอย่างมาก ศูนย์พัฒนาประมงพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังได้มีการจัดระบบชลประทานน้ำเค็มเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเล และส่งเสริมการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำในพื้นที่น้ำเค็มนำร่อง 4 พื้นที่คือ บ้านหน้าสตนพื้นที่โครงการ 1,030 ไร่ เพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ 630 ไร่ บ้านบ่อคณฑี พื้นที่โครงการ 2,015 ไร่เพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ 501 ไร่ อำเภอหัวไทร บ้านหน้าโกฏิพื้นที่โครงการ 1,216 ไร่ เพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ 632 ไร่บ้านท่าพญา พื้นที่โครงการ 1,320 ไร่เพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ 271 ไร่ อำเภอปากพนังรวมพื้นที่โครงการ 5,581 ไร่ เพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ 2,034ไร่การระบายน้ำจากบ่อเลี้ยงกุ้งมายังบ่อพักใช้การบำบัดน้ำโดยธรรมชาติและจะทำการตรวจวัดคุณภาพให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใดๆก่อนระบายลงนอกชายฝั่งทะเล หรือหมุนเวียนไปใช้ในการเพาะเลี้ยงกุ้งต่อไป สำหรับในพื้นที่เพาะเลี้ยงนอกเขตระบบชลประทานน้ำเค็มเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลกรมประมงได้ทำการตรวจวัดคุณภาพให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใดๆก่อนระบายลงสู่ชายฝั่งทะเล เช่นกัน

คันแบ่งเขตน้ำจืด-น้ำเค็ม สามารถขจัดความขัดแย้งเรื่องการใช้น้ำที่คุณภาพแตกต่างกัน ระหว่างเกษตรกรนากุ้งและนาข้าวได้อย่างสิ้นเชิงเนื่องจากการกำหนดแนวคันแบ่งเขตการใช้ประโยชน์คุณภาพน้ำทำการเกษตรกรรมที่แตกต่างกันโดยใช้แนวถนนชนบทในพื้นที่ที่ตกลงกำหนดโดยราษฎรในพื้นที่เองสำหรับนากุ้งกุลาดำเดิมซึ่งอยู่ในเขตน้ำจืดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ช่วยเหลือตามโครงการปรับเปลี่ยนอาชีพให้ทำการเกษตรด้านอื่นโดยใช้น้ำจืดหรือเปลี่ยนไปเลี้ยงกุ้งขาวน้ำจืดหากเกษตรกรรายใดยังคงต้องการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในเขตน้ำจืดจะต้องเลี้ยงในระบบปิดควบคุมการออกใบรับรองผลผลิตโดยกรมประมงปัจจุบันเกษตรกรที่ใช้คุณภาพน้ำที่แตกต่างกันในพื้นที่ใกล้เคียงกันสามารถเกลี่ยแบ่งปันประโยชน์ตามความเหมาะสมในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี



สำหรับการขยายพันธุ์ปลาและพันธุ์กุ้งในพื้นที่น้ำจืด กรมประมงโดยสำนักงานพัฒนาการประมงพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากสำนักงาน กปร. และงบประมาณปกติ ในการปล่อยพันธุ์กุ้งและพันธุ์ปลาในแม่น้ำลำคลองในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอย่างต่อเนื่อง สำหรับในปี 2554 ได้ปล่อยพันธุ์กุ้งและพันธุ์ปลารวม 2.5 ล้านตัว อีกทั้งได้มีการสนับสนุนส่งเสริมการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำในรูปแบบสหกรณ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในพื้นที่ชลประทานน้ำเค็มส่งเสริมการเลี้ยงปลาและปูในบ่อกุ้งร้างของราษฎร

การฟื้นฟูพัฒนาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์

การจัดการป่าไม้

          ปัจจุบันสภาพป่าต้นน้ำป่าพรุ และป่าชายเลน ได้ประสบปัญหาการบุกรุกทำลายและเกิดการเสื่อมโทรมของป่าไม้เป็นอย่างมากเนื่องจากพื้นที่อยู่อาศัยถนนและสิ่งก่อสร้าง รวมถึงพื้นที่ทำกิน ซ้อนทับอยู่ในพื้นที่ป่าคณะอนุกรรมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมฯได้กำหนดแผนแม่บทและแผนงานแก้ไขฟื้นฟูและพัฒนาสิ่งแวดล้อมครอบคลุมทุกด้านอย่างเป็นรูปธรรม

สร้างฝายต้นน้ำ ฝายชะลอน้ำ และปลูกเสริม ฟื้นฟู พื้นที่ป่าต้นน้ำ ป่าพรุและป่าชายเลน อย่างเต็มกำลัง อีกทั้งยังมีการบริหารจัดการน้ำเพื่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับบริหารน้ำเพื่อการเกษตรให้สมดุลพยายามรักษาระดับน้ำให้ท่วมขังในพื้นที่ป่าพรุเท่าที่จะสามารถดำเนินการได้โดยราษฎรไม่ได้รับผลกระทบ  ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชร่วมกับกรมป่าไม้และกรมชลประทานอยู่ในระหว่างการเสนอร่าง EIA ผ่านสำนักงาน กปร.เพื่อศึกษาแนวทางการรักษาระดับน้ำในพื้นที่ป่าพรุเพื่อป้องกันไฟไหม้และการบุกรุกตามแนวพระราชดำริตั้งแต่ปี2545  นอกจากนั้นยังได้มีการพัฒนาปรับปรุงบำรุงดินแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวและดินเค็มในพื้นที่โดยกรมพัฒนาที่ดินการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แล้วเสร็จจำนวน 16 กิโลเมตรโดยกรมเจ้าท่า การก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนแล้วเสร็จจำนวน 4 แห่ง การเฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพน้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่องโดยองค์การจัดการน้ำเสียและกรมควบคุมมลพิษ

การจัดการวัชพืช

ในอดีตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังมีปัญหาการแพร่ระบาดของผักตบชวาและผักกระเฉด(หรือผักกระฉูด)เป็นอย่างมาก กรมชลประทานร่วมกับจังหวัดนครศรีธรรมราชและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นโดยได้ประสานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจัดทำกระบวนการร่วมกันในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการกำจัด การควบคุมและนำไปใช้ประโยชน์การสร้างจิตสำนึก และการจัดการความรู้ เกี่ยวกับวัชพืชแบบมีส่วนร่วม หลังจากที่กรมชลประทานได้จัดสรรงบประมาณมากำจัดวัชพืชทั้งหมดในพื้นที่แล้วเมื่อปี 2552-2553 ได้มีการร่วมลงนาม MOU ระหว่างกรมชลประทานกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดนครศรีธรรมราชในการดำเนินการดูแลรักษาไม่ให้วัชพืชแพร่ระบาดโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับราษฎรในพื้นที่เป็นผู้ดูแลรักษาควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ ปัจจุบันปัญหาการแพร่ระบาดของวัชพืชในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังลดลงเป็นอย่างมาก

การขุดลอกร่องน้ำบริเวณอ่าวปากพนังและชายฝั่งทะเล

          กรมเจ้าที่ได้มีแผนการดำเนินการบำรุงรักษาร่องน้ำบริเวณอ่างปากพนังแม่น้ำปากพนังและปากคลองระบายน้ำสายหลักๆ บริเวณชายฝั่งทะเล พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอย่างต่อเนื่อง เป็นประจำทุกปี โดยนำมูลดินไปทิ้งยังเขตทะเลน้ำลึกเพื่อไม่ให้ก่อเกิดมลภาวะหรือผลกระทบบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล โดยได้ประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเช่นสมาคมชาวประมงปากพนังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องโดยศูนย์อำนวยการฯรับหน้าที่เป็นองค์กรเชื่อมประสาน ขับเคลื่อนการดำเนินงาน ทั้งนี้เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่างๆให้สามารถดำเนินงานได้บรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์  และตรงตามความต้องการของราษฎรในพื้นที่

การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งการป้อง

          กรมเจ้าท่า ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยศูนย์วิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม บางเขน คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาเพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้เป็นไปอย่างมีระบบคำนึงถึงผลกระทบซึ่งกันและกันและมีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ตลอดจนสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน โดยดำเนินการศึกษาและสำรวจออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง แบ่งเป็น 2 โครงการ โครงการระยะที่ 1บริเวณบ้านหน้าโกฏิอำเภอปากพนัง ถึงบ้านหน้าสตน อำเภอหัวไทร  จังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะทาง 16 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้าง Off Shore BreakWater ยาว 50 เมตร เว้นระยะ 40 เมตร ห่างจากชายฝั่งประมาณ 80 เมตรต่อเนื่องกันไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีราษฎรพึงพอใจ เนื่องจากสามารถแก้ปัญหาการกัดเซาะได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นที่กำบังคลื่นลมของเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและเพาะฟักสัตว์น้ำทะเลชายฝั่ง  ปัจจุบันได้ทำการศึกษาโครงการระยะที่ 2 เพิ่มจากบ้านเนินน้ำหักไปจนถึงปลายแหลมตะลุมพุก อีกประมาณ 14 กิโลเมตรแต่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างเนื่องจากตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ต้องผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก่อน (รวมระยะทางดำเนินการตามเป้าหมายทั้งสิ้น ประมาณ 39 กิโลเมตร)

ที่มา ::  ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ

ปรับปรุงข้อมูล : 19 มีนาม 2556

สามารถดาวน์โหลดเป็น . pdf ได้ที่นี่

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน อาจารย์ ตจต ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf lmyour แปลภาษา ชขภใ ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 ขขขขบบบยข ่ส ศัพท์ทางทหาร military words หนังสือราชการ ตัวอย่าง หยน แปลบาลีเป็นไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง พจนานุกรมศัพท์ทหาร เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษามลายู ยาวี Bahasa Thailand กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ การ์ดจอมือสอง ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย คะแนน o-net โรงเรียน ค้นหา ประวัติ นามสกุล บทที่ 1 ที่มาและความสําคัญของปัญหา ร. ต จ แบบฝึกหัดเคมี ม.5 พร้อมเฉลย แปลภาษาอาหรับ-ไทย ใบรับรอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน PEA Life login Terjemahan บบบย มือปราบผีพันธุ์ซาตาน ภาค2 สรุปการบริหารทรัพยากรมนุษย์ pdf สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม เช็คยอดค่าไฟฟ้า แจ้งไฟฟ้าดับ แปลภาษา มาเลเซีย ไทย แผนที่ทวีปอเมริกาเหนือ ่้แปลภาษา Google Translate กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ข้อสอบโอเน็ตม.3 มีกี่ข้อ คะแนนโอเน็ต 65 ตม กรุงเทพ มีที่ไหนบ้าง