โรงงาน แปรรูป ไม้ยางพารา ตรัง

แน่นอนว่าการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อาวุโสย่อมมีประโยชน์ แต่การตั้งคำถามและกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ ก็คือสิ่งสำคัญที่ทำให้โลกของเราพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดดเช่นกัน

เพราะฉะนั้น ก่อนเริ่มบทความ เราขอชวนคุณคิดตามสักหน่อย

หากท่านเป็นเจ้าของโรงงานสินค้าโภคภัณฑ์แห่งหนึ่ง แต่ทว่านับวันผ่านไป การแข่งขันในอุตสาหกรรมยิ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ สงครามราคาก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น การขยายฐานการผลิตเป็นสิ่งที่ยาก เนื่องจากแหล่งที่มาของวัตถุดิบมีอยู่อย่างจำกัด คุณจะทำอย่างไรให้โรงงานแห่งนี้เติบโต

พัฒนาคุณภาพของสินค้า นั่นไม่ใช่ทางเลือกของธุรกิจประเภทนี้ (สินค้าโภคภัณฑ์คือประเภทสินค้าที่มีความแตกต่างของสินค้าจากแต่ละผู้ผลิตน้อยมาก ๆ จนเรียกได้ว่า ไม่ว่าซื้อจากที่ไหนก็เหมือนกัน)

สิ่งที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนี้โดยตลอดคือ การให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการผลิต เพื่อให้ผลิตได้เยอะที่สุดและถูกที่สุด ลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ลดค่าตอบแทนบุคลากร ลดจำนวนคน ไม่ลงทุนในด้านระบบหรือการตลาด แต่สิ่งที่ทายาทธุรกิจรายนี้ทำนั้นต่างออกไป

เขาหันมาเพิ่มงบประมาณด้านบุคลากร พัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงานตลอดจนระบบในการทำงาน

แม้ว่าสิ่งที่เขาทำจะเรียกได้ว่าเป็นคนละขั้วกับสิ่งที่คนอื่น ๆ เคยทำมาในอุตสาหกรรมนี้ แต่นั่นทำให้ธุรกิจของเขามีเปอร์เซ็นต์การเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้นเกือบทุกปี และอัตรากำไรที่ก้าวกระโดดเป็นเท่าตัว

วันนี้ The Cloud จึงมีนัดพิเศษกับ นิ้ง-ภรภัทร โรจนมงคล ทายาทรุ่นสอง บริษัท เมกก้าวู้ด จำกัด ธุรกิจแปรรูปไม้ยางพาราในจังหวัดตรัง ที่ตั้งใจจะปฏิรูปวิธีการทำธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ และพิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า การทำธุรกิจที่ ‘ดี’ จริง ๆ แล้วนั้น ไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรูที่เอาไว้โฆษณาบริษัท แต่ทำให้ผลประกอบการของบริษัทเพิ่มขึ้นได้ด้วย

เอาล่ะ เขาทำได้อย่างไร ขอเชิญทุกท่านติดตามได้ ณ บัดนี้

ก่อตั้งโรงไม้

ย้อนกลับไปในสมัยก่อน ชาวสวนในภาคใต้ปลูกต้นยางเพื่อเอาน้ำยางเป็นหลัก เมื่อต้นยางอายุประมาณ 20 – 25 ปี ก็จะหมดอายุการให้น้ำยาง ทำให้ต้นยางเหล่านั้นถูกโค่นทิ้งและนำไปเผา 

เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีในการถนอมเนื้อไม้ก็ได้เข้ามาในประเทศไทย ทำให้เก็บรักษาไม้ยางพาราได้ จนเกิดเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพาราขึ้น โดยโรงงานแปรรูปไม้จะรับไม้ยางพารามาจากเกษตรกรเพื่อนำมาแปรรูป ก่อนส่งต่อไปให้โรงงานอื่น ๆ ที่นำไม้เหล่านั้นไปผลิตเป็นสินค้าต่าง ๆ

“คุณพ่อเริ่มต้นจากการเป็นพนักงาน ด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส และความสามารถในการดูแลทุกอย่างแทนเจ้าของโรงงานได้ ทำให้เขากลายเป็นผู้จัดการที่มีชื่อเสียงในวงการขึ้นมา เลยมีนายทุนชาวนครศรีธรรมราช 3 – 4 ท่าน เข้ามาชวนคุณพ่อว่า สนใจอยากเป็นเถ้าแก่ไหม จะช่วยลงทุนโรงงานไม้ที่ตรังให้ แล้วก็จะมีหุ้นให้ส่วนหนึ่ง”

นั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Megawood

“จำได้ว่าคุณพ่อกินนอนอยู่ที่โรงงานกว่า 5 ปี คอยเฝ้าโรงงานทั้ง 2 กะ จำภาพได้ว่าโรงไม้ในสมัยนั้นค่อนข้างสกปรก รกรุงรัง ผมก็ไม่ชอบ แต่คุณพ่อผมบอกว่า นี่แหละคือสิ่งที่จะทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี”

ด้วยจิตวิญญาณในการเป็นผู้ประกอบการที่เน้นผลลัพธ์ บวกกับความโปร่งใสของคุณพ่อของนิ้ง ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มนำนักบัญชีเข้ามาตรวจสอบบริษัท หรือความซื่อสัตย์กับหุ้นส่วน ทำให้ผลประกอบการของโรงงานเป็นที่น่าพึงพอใจ นักลงทุนเหล่านั้นตัดสินใจที่จะลงทุนเพิ่ม จากเดิมที่เช่าโรงงานก็เปลี่ยนมาเป็นการสร้างโรงงานขึ้นมาเอง

“สไตล์ของคุณพ่อผมไม่เน้นระบบมาก เน้นใช้จิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ เรียกว่าเข้าโรงงานทุกวัน ใช้คนน้อย ๆ ต้นทุนต่ำ ๆ แล้วผู้บริหารตัดสินใจเองหมด พนักงานมีปัญหาก็ให้มาบอก แล้วฉันจะบอกว่าแก้ยังไง นั่นคือในยุคของคุณพ่อผม คุณพ่อผมสอนว่าการเป็นโรงงาน ปัญหาเป็นอาหารเช้า วิธีการมีแค่อย่างเดียวคือแก้ให้เร็ว นั่นคือคำสอนของท่านตั้งแต่วันแรก 

“ท่านไม่เชื่อในเรื่องระบบ ในเรื่องคน ท่านเชื่อในจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ ว่าไม่มีอะไรทดแทนสิ่งนี้ได้ ซึ่งผมไม่ได้เห็นด้วย แต่ต้องเก็บไว้ในใจ”

The Next Gen

เวลาผ่านไป Megawood ค่อย ๆ เติบโตขึ้น จนเมื่อนิ้งเรียนจบ คุณพ่อจึงเรียกตัวเขาให้กลับมาช่วยบริหารธุรกิจที่บ้าน

“เดิมทีผมตั้งใจว่าอยากจะหน่วงเวลานิดหนึ่งเพื่อไปพิสูจน์ตัวเองก่อน แต่เมื่อคุณพ่อเอ่ยปากชวน ใจหนึ่งผมก็อยากกลับมาทำที่บ้านอยู่แล้ว”

ทว่าเส้นทางก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป

ตำแหน่งแรกของนิ้งคือผู้ช่วยผู้จัดการโรงงาน ในแง่หนึ่งก็เป็นตำแหน่งที่ทำให้เขาได้เข้าไปดูในทุก ๆ ส่วนของโรงงาน แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นตำแหน่งที่ทำให้เขาอึดอัดมาก ๆ เพราะแนวทางบริหารของเขากับผู้จัดการโรงงาน ซึ่งเป็นพนักงานเก่าแก่ของคุณพ่อนั้นไม่ตรงกัน 

“สมัยก่อนบริษัทไม่มีวิศวกรแม้แต่คนเดียว ผมจะรับเข้ามาสักคน เขาก็จะบอกว่าไม่จำเป็น เวลาจะขับเคลื่อนคน เขามีความเชื่อแบบดั้งเดิมว่าต้องใช้พลังลบคอยไล่หลัง แต่วิธีการของผมคือ เราไปข้างหน้า แล้วชวนเขาให้ตามเรามา”

เมื่อความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเวลาผ่านไปกว่า 5 ปี นิ้งตัดสินใจลาออกจาก Megawood ย้ายจากตรังไปอยู่โคราช เพื่อเป็นการพักใจให้กับตัวเอง

แต่ชะตาของเขากับ Megawood ก็มาบรรจบกันอีกครั้ง เพราะหลังจากนั้น Megawood ได้ขยายโรงงานไปที่หาดใหญ่ ทำให้หุ้นส่วนคนหนึ่งตัดสินใจโทรมาขอนัดพบกับนิ้ง

“ตอนนั้นผมก็สงสัยว่ามานัดเจอทำไมถึงโคราช เขาบอกว่าโรงงานที่หาดใหญ่เปลี่ยนผู้จัดการมาแล้วหลายคน แต่หาผู้จัดการดี ๆ ที่ลงตัวไม่ได้สักที เลยอยากให้ผมกลับไปช่วย

“ผมตอบเลยว่า ไม่ ถ้าจะให้ผมกลับไปแล้วเจอแบบเดิม ยังไงก็ไม่ ตอนนี้ถึงแม้ผมอาจจะไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่ผมมีความสุขดี ถ้าจะให้ผมกลับไปจริง ๆ ผมยื่นเงื่อนไขว่า ต้องมีพื้นที่ให้ผมทำงาน ให้ผมกำหนดนโยบาย ให้ทรัพยากรผม คุณเฝ้าอยู่ห่าง ๆ ผมจะรีพอร์ตเป็นระยะ ๆ ถ้าหากผลงานไม่ได้ เดี๋ยวผมถอยเอง”

เมื่อเวลาผ่านไป 2 อาทิตย์ หุ้นส่วนคนนั้นก็ได้โทรกลับมาหานิ้งว่าพวกเขาตกลงตามเงื่อนไข โดยจะให้สิทธิ์นิ้งในการบริหารโรงงานสาขาเต็มที่ ตั้งแต่ก่อสร้างโรงงานจนถึงการดำเนินกิจการ และหลังจากนั้นไม่นาน บอร์ดบริหารก็ตัดสินใจย้ายผู้จัดการคนเก่าไปคุมที่หาดใหญ่แทน และย้ายมาคุมโรงงานที่กำลังขยายตัวที่ตรัง ทำให้นิ้งได้ขึ้นเป็นผู้บริหารเต็มตัวในเดือนมกราคม พ.ศ. 2558

ปฏิวัติ

ย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2558 – 2560 ที่นิ้งเข้ามา ตอนนั้นเป็นช่วงที่อุตสาหกกรมนี้กำลังไปได้ดี ทำให้กำไรของ Megawood เพิ่มขึ้น 3 – 4 เท่า แต่เขายอมรับว่าตัวเองก็มีข้อผิดพลาดในช่วงนั้น

“ในช่วงนั้นเรียกได้ว่าลมมันส่ง ผมโชคดีที่เข้ามาในจังหวะที่ถูกต้อง ทำให้เลยดูเหมือนว่าผมเก่ง ในแง่หนึ่งมันก็ดี เพราะทำให้เรามีความมั่นใจ ผู้ถือหุ้นเราก็แฮปปี้ แต่ข้อเสียคือมันทำให้อัตตาเรามากขึ้น ผมบ้าบิ่นไปลงทุนสิ่งที่ไม่ควรเยอะ ไปทำธุรกิจที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับความเชี่ยวชาญของเราเลย อย่างเช่นสวนผักออร์แกนิก”

เมื่อวิกฤตวงการยางพารามาถึงใน พ.ศ. 2561 เขาจึงจำเป็นต้องตัดธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักออกไป แต่อีกสิ่งที่เขาเปลี่ยนบริษัทไปอย่างเห็นได้ชัด และทำให้ Megawood ฟื้นตัวจากวิกฤตในวงการไม้ยางพาราตอนนั้นได้อย่างรวดเร็วคือ

“ผมหันมาให้ความสำคัญกับระบบและคน”

“ตอนนั้นที่บริหารร่วมกับคุณพ่อ ผมยังไม่มีโอกาสได้ทำ แต่ตอนนี้ผมมีโอกาสแล้วก็เลยเต็มที่เลย เริ่มมีการจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ เอาที่ปรึกษาเข้ามาช่วงวางระบบบัญชี อะไรต่าง ๆ และข้อพิสูจน์ที่ดีที่สุดเลยว่าสิ่งที่เราวางรากฐานวันนั้นแล้วมันประสบความสำเร็จ ก็คือการที่วันนี้ผมย้ายภูมิลำเนามาอยู่กรุงเทพฯ ได้”

“คนอื่นอีกหลายคน เขาบอกว่าผมกำลังทำผิดพลาดมหันต์ เพราะว่าอุตสาหกรรมไม้ยางพารา โดยปกติถ้าเจ้าของไม่อยู่จะมีแต่ความฉิบหาย เพราะช่องโหว่ค่อนข้างเยอะ แต่ปรากฏว่า 4 เดือนที่ผ่าน ระบบที่เราเซ็ตไว้ คนที่เราฝึกเขาไว้ เขาสานต่อสิ่งที่เราทำไว้ได้ แต่ก็แน่นอนว่ายังต้องพัฒนาอีกเยอะ”

The People

เนื่องจากอุตสาหกรรมไม้ยางพาราโดยปกติแล้ว เป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการแข่งขันกันที่ปริมาณ อัตรากำไรไม่ได้สูง สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดมาเลย ก็คือการจ้างแรงงานในอัตราที่ถูกมาก ๆ

“ผมรู้สึกอึดอัดกับเรื่องนี้มานาน ผมไปเห็นบ้านพักของพนักงานที่อยู่กันแบบแร้นแค้น มีหนี้มีสินแล้วผมรับไม่ได้ ผมเลยตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมนี้”

นิ้งตั้งใจจะทำสิ่งที่บริษัทอื่นไม่กล้าทำ เพื่อให้เป็นแบบอย่างกับบริษัทอื่น ๆ ในวงการ แล้วทำให้วงการนี้เปลี่ยนแปลงไปในทางเดียวกับเขา

ณ ตอนนี้คนงานกว่า 500 คนของ Megawood เป็นแรงงานไทยทั้งหมดเกือบ 100% โดยมีแรงงานต่างด้าวเพียง 3 คน ที่นิ้งเอาไว้ฝึกแผนก HR ในเรื่องของการทำเอกสารเท่านั้น

ถ้าหากถามว่าทำไมถึงต้องเป็นคนไทย เหตุผลของคุณนิ้งมีอยู่สั้น ๆ ข้อเดียว

“เพราะเราสื่อสารกันรู้เรื่อง”

“มันเป็นค่านิยมข้อแรกของเราเลยว่า เพราะเมื่อธุรกิจเกิดปัญหา แล้วเราไปเล่าให้เขาฟังว่าทุกคนต้องช่วยกันนะ เขาก็ปรับให้เราได้เลย เพราะฉะนั้น การพูดภาษาเดียวกับพวกเขามีความหมายมาก” 

มากกว่านั้น ค่าตอบแทนพนักงานที่ Megawood ในหลาย ๆ ตำแหน่ง ก็เรียกได้ว่าอยู่ในระดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันที่มีขนาดใกล้เคียงกัน 

“สำหรับคนทำงาน โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงาน เราต้องมองให้ออกถึงเบื้องหลังของเขา ว่าครอบครัวเขามีหนี้สิน มีปัญหาชีวิตอะไรที่อยู่เบื้องหลัง แม้เงินจะซื้อความสุขไม่ได้ แต่มันซื้อความสะดวกได้ แล้วถ้าเราจ้างเขาดีพอ มีงานให้เขาทำต่อเนื่องมากพอ ทำให้เขาเอาเงินตรงนั้นไปแก้ปัญหาบางอย่างในชีวิตเขาได้ มันจะทำให้เขาโฟกัสกับเรื่องงานได้มากขึ้น”

มากไปกว่านั้น Megawood ไม่ได้เพียงดูแลพนักงานในเรื่องค่าตอบแทน แต่ยังดูแลไปถึงคุณภาพชีวิตและพื้นเพของพนักงานเหล่านั้นด้วย บริษัทแห่งนี้เปิดคลินิกด้านการเงินสำหรับพนักงาน เพื่อช่วยเหลือในด้านวางแผนการเงินให้กับพนักงาน เรียกได้ว่าหลายครั้งถึงกับจูงมือไปปิดบัตร ลดหนี้ เลิกยากันเลยทีเดียว

“การที่เราให้ความสำคัญเรื่องพวกนี้ มันทำให้เราแตกต่างในหมู่ตลาดผู้ใช้แรงงาน

“เวลาเข้ามาทำงานแล้วถ้าเขามีความสุข ไม่ใช่แค่เราเห็นเขายิ้มในโรงงาน แต่ครอบครัวที่บ้านเขาก็จะได้ความรู้สึกที่ดีไปด้วย แต่ถ้าเขากลับไปแล้วเครียด ทะเลาะกับที่บ้าน แล้วเช้าวันรุ่งขึ้นมาทำงานในสภาพที่ไม่พร้อม มันคือสิ่งที่ส่งต่อถึงกัน เราต้องมองเบื้องหลังของเบื้องหลังให้เห็น”

เมื่อคุณภาพชีวิตของพนักงานดีขึ้น จึงทำให้องค์กรน่ารักขึ้น พนักงานของ Megawood เกือบทุกคนแทบจะไม่มีใครลาออกเพราะไม่ชอบองค์กรเลย และจุดนี้จึงทำให้ Megawood มีพนักงานดี ๆ ที่คอยอยู่เคียงข้างองค์กร และฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่อวิกฤตผ่านไป

“เวลาเราจะหาคน ผมจะสัมภาษณ์โดยที่แทบไม่คุยเรื่องงานเลย เราจะคุยเรื่องการใช้ชีวิตเป็นหลัก เพื่อดู Mindset และ Character ของเขาว่าน่าทำงานด้วยไหม เราเชื่อว่าคาแรกเตอร์พวกนี้มันฝึกกันไม่ได้ แต่ทักษะต่าง ๆ มันฝึกกันได้”

The System

จุดที่ทำให้นิ้งมาลงทุนในด้านคนได้ คือ ภรรยาของเขา ดิว-ภรรัก บวรธนสารกุล เข้ามาเป็นหนึ่งในทาเลนต์ของบริษัท

ในขณะที่นิ้งมีความรู้ในด้านวิศวกรรม ดิวก็มีความรู้ในด้านการวางระบบและการขาย ทำให้ Megawood สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารคลังสินค้า สร้างความเชื่อใจกับลูกค้าเพื่อปรับเปลี่ยนราคาซื้อ-ขาย วัตถุดิบและสินค้าให้เหมาะสมที่สุด ตั้งแต่การยอมให้ลูกค้านำสินค้าไปลองใช้ดูก่อน แล้วค่อยพิจารณาเพิ่มราคาในล็อตถัดไป

นี่จึงเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตรากำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น จนลงทุนกับบุคลากรในองค์กรเพิ่มได้

ในทางกลับกัน ขณะที่หลาย ๆ องค์กรมุ่งเน้นเพิ่มกำไรโดยการนำเครื่องจักรเข้ามาทดแทนพนักงาน แต่สำหรับ Megawood นิ้งกลับมองว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ควรจะมาช่วย Empower พนักงานต่างหาก

“เมื่อวานเราเพิ่งประชุมกันไปว่า เรากำลังทำวิจัยพัฒนาเครื่องจักรชุดหนึ่งอยู่ โดยวัตถุประสงค์ไม่ใช่เพื่อการเลย์ออฟ แต่เป็นการมอบพลังให้เขา ทำให้เขาทำงานสะดวกขึ้น สร้างผลผลิตได้มากขึ้น”

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีในการจัดการที่ทาง Megawood นำเข้ามาใช้ ในขณะที่บริษัทประเภทเดียวกันที่อื่น ๆ ยังไม่ได้นำเข้ามา เพื่อทำให้ช่างซ่อมบำรุงจนถึงหัวหน้างานติดต่อกันได้สะดวกยิ่งขึ้น

ในเรื่องของการพัฒนาองค์กรเอง นิ้งก็ยังสร้างเซ็ตคำถามขึ้นมา เพื่อให้พนักงานในองค์กรใช้ฟีดแบ็กและชื่นชมกันเองได้ ตลอดจนมี Session ที่นำคำถามเหล่านั้นมาฟีดแบ็กให้ผู้บริหารอย่างนิ้งฟังได้เช่นกัน

นี่จึงเป็นอีกจุดหนึ่งที่การพัฒนาระบบ ช่วยทลายกำแพงของอัตตาในการสื่อสารในองค์กรได้

Mega’s Future

สำหรับก้าวต่อไปของ Megawood นั้น นิ้งมองไว้ว่าคือการนำบริษัทไปสู่จุดที่มีรายได้ 2,000 ล้านให้ได้ โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญนั่นก็คือ การทำงานโดยไม่มีอัตตาและการเลือกคนที่ใช่เข้ามา ทำให้บริษัทก้าวไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าวิกฤตเข้ามามากแค่ไหนก็ตาม

ท้ายที่สุด อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ Megawood มาอยู่ในจุดนี้ได้ และจะขาดไปไม่ได้เลยก็คือ ‘ความกล้าหาญ’

“พ่อเลือกที่จะปล่อยผมเล่นเองตั้งแต่ผมอายุเพียง 30 ในขณะที่รุ่นพ่อแม่ของกิจการอื่น ๆ ยังคงไม่ปล่อยมือกันง่าย ๆ ไม่ใช่เพราะท่านเห็นว่าผมเก่งหรือเชื่อใจผมหรอกนะครับ แต่เพราะท่านอ่านออกว่า ถ้าไม่ให้ผมเล่นท่าถนัดให้เต็มที่ ก็คงวัดผลไม่ได้ ดึงกันไปมา เสียทั้งความรู้สึก เสียทั้งผลประกอบการเปล่า ๆ

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน อาจารย์ ตจต ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf lmyour แปลภาษา ชขภใ ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 ขขขขบบบยข ่ส ศัพท์ทางทหาร military words หนังสือราชการ ตัวอย่าง หยน แปลบาลีเป็นไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง พจนานุกรมศัพท์ทหาร เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษามลายู ยาวี Bahasa Thailand กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ การ์ดจอมือสอง ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย คะแนน o-net โรงเรียน ค้นหา ประวัติ นามสกุล บทที่ 1 ที่มาและความสําคัญของปัญหา ร. ต จ แบบฝึกหัดเคมี ม.5 พร้อมเฉลย แปลภาษาอาหรับ-ไทย ใบรับรอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน PEA Life login Terjemahan บบบย มือปราบผีพันธุ์ซาตาน ภาค2 สรุปการบริหารทรัพยากรมนุษย์ pdf สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม เช็คยอดค่าไฟฟ้า แจ้งไฟฟ้าดับ แปลภาษา มาเลเซีย ไทย แผนที่ทวีปอเมริกาเหนือ ่้แปลภาษา Google Translate กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ข้อสอบโอเน็ตม.3 มีกี่ข้อ คะแนนโอเน็ต 65 ตม กรุงเทพ มีที่ไหนบ้าง