สถิติเหตุการณ์ความไม่สงบ 2547-2564

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

รายงานจากฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch Database) ล่าสุด เหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงเดือนมิถุนายน 2562 มีจำนวนเหตุการณ์ 20,323 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 6,997 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 13,143 ราย  หากดูเฉพาะสถิติในปี 2562 (มกราคม– มิถุนายน) มีจำนวนเหตุการณ์ 222 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 92 รายและผู้ได้รับบาดเจ็บ 153 ราย

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนลักษณะพิเศษของความขัดแย้งในพื้นที่แห่งนี้ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือ แม้ว่าทิศทางของการก่อเหตุความรุนแรงจะมีแนวโน้มลดต่ำลงในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา แต่ลักษณะทั่วไปของเหตุการณ์เป็นความรุนแรงที่มีความยืดเยื้อเรื้อรัง และลักษณะเหตุการณ์ยังมีระดับความรุนแรง ความแปรปรวน-ขึ้นสูงๆ ต่ำๆ สลับกันตลอดเวลา ตามจังหวะของแต่ละห้วงเหตุการณ์ คลื่นที่ขึ้นสูงต่ำแบบนี้ดูเหมือนจะมียอดสูงสุดในสองช่วง คือในปี 2550 (2,396 เหตุการณ์) และในปี 2555 (1,850 เหตุการณ์)

ถ้าเหตุการณ์เป็นแบบแผนซ้ำๆ แบบนี้ ทิศทางที่เป็นไปได้อาจมีสองแนวทาง หากจะพิจารณาจากอิทธิพลของปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ก็คือ แนวทางแรก ความรุนแรงอาจจะลดต่ำลงไปเรื่อยๆ ในรอบ 5 ปี ข้างหน้า ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นความสำเร็จในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ของรัฐบาล ส่วนแนวทางที่สองนั้น ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงและยึดเยื้อเรื้อรังเช่นนี้ เรื่องมันก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ที่วงรอบใหม่ของความรุนแรงอาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ถ้าสังเกตดูให้ดีเราจะเห็นว่า 15 ปีที่ผ่านมา วงจรคลื่นของความรุนแรงมีลักษณะแบบแผนที่ขึ้นลงแบบเป็นช่วงของฤดูกาล (Seasonality) ในทุกๆ ห้วง 4 หรือ 5 ปี ซึ่งความรุนแรงจะขึ้นสูงสุดในรอบ ปี จากนั้นก็ต่ำลงและสูงขึ้นอีกเป็นช่วงๆ เหมือนกับวงจรอุบาทว์ ปรากฏการณ์ซ้ำๆ ดังกล่าวดูเหมือนเป็นอัลกอริทึม (Algorithm) อันเป็นแบบแผนอะไรบางอย่างซึ่งสังเกตเห็นได้ชัด อะไรจะเกิดขึ้นถ้าความแปรปรวนเช่นนี้มีความถี่ซ้ำมากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้จากตัวแปรหลายอย่างในเรื่องนโยบายการแก้ปัญหาอย่างสันติที่ยังมีความไม่แน่นอน

 

แม้ว่าในรอบ 15 ปีที่ผ่านมาจะมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้เกือบ 7,000 คน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตรายปีนับตั้งแต่ปี 2556 มีแนวโน้มลดลงจาก 521 คนในปี 2556 มาเป็นจำนวน 309 คนในปี 2559 และ 218 คนในปี 2561 จำนวนที่สูงขึ้นของผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบแม้จะแปรผันไปตามจำนวนครั้งของเหตุการณ์ที่สูงต่ำเป็นบางช่วง แต่จำนวนผู้เสียชีวิตกลับลดลงเป็นลำดับ การลดลงของจำนวนผู้เสียชีวิตรายปีสอดรับกับระดับความถี่ของเหตุการณ์รายปีที่ลดลงตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน

เมื่อดูคลื่นสูงของเหตุการณ์ที่ผ่านมาทั้ง 15 ปี น่าสังเกตว่ามีเหตุการณ์สองช่วงที่สูงและต่ำลงอย่างเด่นชัด แต่ภูมิหลังของการลดลงของเหตุการณ์นั้นต่างกัน ในครั้งแรก การลดลงของเหตุการณ์ในปี 2551 นั้นอาจเป็นผลจากปฏิบัติการทางทหารที่เข้มข้นขึ้นตามนโยบายรัฐในช่วงนั้นในเรื่องการเพิ่มกำลังทหารมาในพื้นที่ การบังคับใช้กฎหมายพิเศษและเพิ่มการใช้จ่ายด้านความมั่นคง แต่ก็ควรเข้าใจด้วยว่าการลดลงของเหตุการณ์ในห้วงที่สอง ในปี 2556 นั้น จุดเปลี่ยนที่สำคัญน่าจะเกิดจากปฏิบัติการที่เรียกว่ากระบวนการสันติภาพที่เริ่มในปีดังกล่าว อันเป็นผลจากการปรับตัวของทุกฝ่ายในสนามความขัดแย้ง ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างเป็นระบบ นี่คือความแตกต่างของ “การลดลง” ของเหตุการณ์ในสองช่วงดังกล่าว

แต่ปัจจัยในเรื่องความต่อเนื่องของแนวทางสันติภาพในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในระยะหลัง โดยเฉพาะนับแต่ปี 2560 หลังจากการพูดคุยกันระหว่างมาราปาตานีกับตัวแทนรัฐบาลประยุทธ์ นับแต่ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ซึ่งนับได้ประมาณ 20 กว่าครั้ง การพูดคุยสันติสุขระยะหลังก็ยังมีความไม่แน่นอนแฝงอยู่มาก การพูดคุยไม่มีความก้าวหน้าในปีที่ผ่านมาและหยุดชะงักลงตั้งแต่เดือนกุมพาพันธ์ 2562 นี่คือที่มาของคำถามที่ว่าวงจรความรุนแรงอาจจะกลับมาได้อีกหรือไม่ในอนาคต ?

เมื่อดูในรายละเอียด จากการแยกประเภทของเหตุการณ์ทั้งหมดในรอบ 15 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2547-2561 เหตุการณ์ความรุนแรงส่วนใหญ่คือการยิง (ร้อยละ 40.85) การโจมตีด้วยระเบิด (ร้อยละ 20.33) นอกจากนี้ยังมีการบังคับใช้กฎหมายด้วยการปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น (ร้อยละ 9.04) และการวางเพลิง (ร้อยละ 8.39)

เหตุการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงมีผลต่อชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมากมาย ข้อสังเกตก็คือการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่เกิดจากการก่อเหตุโดยการยิง (ร้อยละ 81) มีผู้เสียชีวิตจากการก่อเหตุระเบิดด้วย แต่เมื่อเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตจากการระเบิดกับผู้เสียชีวิตทั้งหมดในรอบ 15 ปีระหว่างปี 2547-2562 มีจำนวนประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น รองลงมาคือผู้เสียชีวิตจากการโจมตีด้วยอาวุธ (ร้อยละ 2) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าส่วนใหญ่ความรุนแรงมักจะเป็นการก่อเหตุโดยการกระทำฝ่ายเดียว (One-sided Attacks) ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของการก่อความไม่สงบ (Insurgency) อันเป็นความขัดแย้งที่มีลักษณะอสมมาตร (Asymmetric Conflict) ส่วนผู้บาดเจ็บนั้นส่วนใหญ่เป็นผลจากเหตุการณ์ระเบิด (ร้อยละ 56) รองลงมาคือบาดเจ็บจากการยิง (ร้อยละ 36) และการโจมตี (ร้อยละ 4)

ทั้งหมดนี้เห็นได้ชัดว่าการเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบส่วนมาก เกิดจากการยิงสังหารโดยมีเป้าหมายปฏิบัติการที่ชัดเจนในทางอุดมการณ์การเมือง/เป้าหมาย ไม่ใช่การก่อเหตุโดยสุ่มๆ อย่างไร้เป้าหมายหรือเป็นแบบอาชญากรรมทั่วไป

ที่น่าเสียใจสำหรับความรุนแรงดังกล่าวก็คือ ส่วนใหญ่ของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมา คือพลเรือนหรือประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ถืออาวุธซึ่งรวมทั้งผู้หญิงและเด็ก ดังจะเห็นได้จากสถิติที่ร้อยละ 61 ของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นเป้าหมายที่อ่อนแอหรือพลเรือน (Soft Targets) ส่วนทหาร ตำรวจ และกองกำลังติดอาวุธซึ่งเป็นเป้าหมายที่เข้มแข็ง (Hard Targets) ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตมีประมาณร้อยละ 38 โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าดูเฉพาะผู้กลุ่มที่เสียชีวิตอย่างเดียว พลเรือนก็มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 71 ส่วนเป้าหมายที่มีความเข้มแข็งหรือทหาร ตำรวจและกองกำลังติดอาวุธเสียชีวิตร้อยละ 28

คำถามที่น่าคิดก็คือว่า ใครเป็นคนก่อความรุนแรง หรือสาเหตุของความรุนแรงมาจากอะไรกันแน่?

ฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้บันทึกสาเหตุของการเกิดเหตุการณ์แต่ละครั้งตามรายงานร่วมกันของทหาร/ตำรวจ/ฝ่ายปกครอง โดยชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี 2547-2562 (ข้อมูลถึงเดือนมิถุนายน) เหตุการณ์โดยรวมเกิดจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบหรือปฏิบัติการของขบวนการฯ ร้อยละ 71 รองลงมาคือเหตุการณ์ที่แหล่งข้อมูลทั้งจากทหาร/ตำรวจและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องระบุว่าไม่ชัดเจน หรือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรนับเป็นร้อยละ 20 เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากอาชญากรรมเป็นร้อยละ 5 และเหตุการณ์ที่ระบุว่าเกิดจากประเด็นยาเสพติดคิดเป็นร้อยละ 3 นอกจากนั้นเป็นเรื่องอื่น

แต่เมื่อดูข้อมูลเฉพาะปี 2561 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบหรือของขบวนการฯ ลดลงเป็นร้อยละ 44  เหตุการณ์ที่แหล่งข้อมูลระบุว่าสาเหตุไม่ชัดเจนหรือไม่สามารถระบุได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 44 เช่นกัน เหตุการณ์ที่เกิดจากอาชญากรรมนับเป็นร้อยละ 11 และเหตุการณ์ที่เกิดจากประเด็นยาเสพติดคิดเป็นร้อยละ 1  ข้อควรสนใจคือ แนวโน้มเหตุการณ์ในระยะหลังถูกบันทึกว่าไม่สามารถระบุสาเหตุได้ มีจำนวนและสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างน่าสังเกต

ปรากฏการณ์เช่นนี้ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือความแปรปรวนที่ต้องให้ความสนใจด้วย ความรุนแรงที่ไม่สามารถระบุได้ว่ามาจากปัจจัยหรือสาเหตุอะไรมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากปี 2557 เป็นต้นมา ลักษณะความเสี่ยงในที่นี้ก็คือความแปรปรวนไม่แน่นอนของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระยะหลัง บางครั้งยังไม่สามารถอธิบายได้ด้วยข้อมูลที่มีอยู่ว่าเกิดจากอะไร ใครเป็นผู้ทำ อันมีผลทำให้ประชาชนเกิดความหวาดระแวงในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้เหตุการณ์มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นจำนวนน้อยครั้งลงก็ตาม

นัยสำคัญที่น่าจะต้องตีความก็คือ ลักษณะความเสี่ยงหรือความแปรปรวนไม่แน่นอนของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระยะหลัง ยังมีผลต่อความรู้สึกของประชาชนหรือจิตวิทยาสังคมด้วย ประชาชนจึงมีความเชื่อมั่นน้อยลงต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต่อกระบวนการสันติภาพ (Peace Survey) จำนวน 4 ครั้ง โดยองค์กรวิชาการ 20 สถาบัน เริ่มต้นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จนถึงครั้งล่าสุดในเดือนกันยายน 2561 รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 6,321 คน เพื่อถามประชาชนเรื่องสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ความพยายามในการแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการสันติภาพ และข้อเสนอแนะต่อแนวทางแก้ปัญหาในอนาคต

ผลจากการสำรวจดังกล่าว มีประชาชนเพียง 1 ใน 4 (ร้อยละ 25.6) ที่รู้สึกว่าสถานการณ์ดีขึ้น แต่ประชาชนที่เหลืออีกราว 1 ใน 5 (ร้อยละ 21.7) มองว่าแย่ลง และมีอีกเกือบครึ่ง (ร้อยละ 42.6) ที่มองว่าเหมือนเดิม ยิ่งถ้านับคนที่บอกว่าสถานการณ์ไม่เปลี่ยนและคนที่มองว่าเหตุการณ์แย่ลงมารวมกันแล้วจะมากถึงร้อยละ 64  

ข้อมูลจึงสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบสี่ปีที่ผ่านมา ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในพื้นที่ให้ดีขึ้นในความรู้สึกของประชาชน ทั้งนี้สาเหตุที่สำคัญก็คือความแปรปรวนไม่แน่นอนของสถานการณ์ที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงความไม่ชัดเจนในนโยบายการแก้ปัญหารากเหง้านั่นเอง

ในอีกด้านหนึ่ง ความแปรปรวนและไม่แน่นอนยังสะท้อนให้เห็นจากการวิเคราะห์เส้นแนวโน้มสถานการณ์รายเดือนที่เปลี่ยนไปในทิศทางที่ลดต่ำลง ถ้านับยาวทั้ง 15 ปีตั้งแต่ปี 2547-2562 ซึ่งแนวโน้มลดลงนี้เห็นได้ชัดเจน แต่เมื่อดูในระยะสั้นระหว่างปี 2560-2562 เส้นแนวโน้มทางสถิติกลับแปรปรวน มีแนวโน้มลดลงแต่ปลายกระดกขึ้นเหมือนรูปตัวยูหรือระฆังหงาย แม้จะไม่ชัดเจนนักว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร แนวโน้มอาจจะลดลงก็ได้ แต่ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่ความรุนแรงอาจมีทิศทางเปลี่ยนแปลงไปในทางที่สูงขึ้น ซึ่งถ้าดูที่อัลกอริทึมในวงรอบวัฏจักร 4-5 ปีดังที่อธิบายไปแล้วข้างต้น เราคงไม่อาจปฏิเสธความน่าจะเป็นดังกล่าวได้เช่นกัน

เห็นได้ชัดเจนว่าความไม่แน่นอนเช่นนี้ ทำให้ต้องสนใจการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์เพื่อผลักดันให้การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความหมาย ถูกจุดและตรงเป้ามากขึ้นกว่าเดิม รัฐบาลหลังการเลือกตั้งปี 2562 จะต้องคิดให้หนักเรื่องนี้ อะไรจะเกิดขึ้นถ้าอัลกอริทึมของความรุนแรงซึ่งได้มาจากการดูแบบแผนในอดีตกลับมาทำงานอีก ผู้กำหนดนโยบายต้องรู้ว่ายังมีพลังสังคมที่อยู่เบื้องหลังอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้และแก้ไข เราจะคิดสูตรแก้ไขแบบบูรณาการอะไรง่ายๆ ไม่ได้ เหตุการณ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้เป็นสัญญาณบอกว่านี่คือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในปัจจุบัน

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี Deep South Watch ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สามจังหวัดภาคใต้ เหตุการณ์ความไม่สงบ กระบวนการสันติภาพ สถิติเหตุการณ์ความรุนแรง

ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) และอาจารย์นักวิจัยประจำสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน อาจารย์ ตจต ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf lmyour แปลภาษา ชขภใ ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 ขขขขบบบยข ่ส ศัพท์ทางทหาร military words หนังสือราชการ ตัวอย่าง หยน แปลบาลีเป็นไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง พจนานุกรมศัพท์ทหาร เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษามลายู ยาวี Bahasa Thailand กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ การ์ดจอมือสอง ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย คะแนน o-net โรงเรียน ค้นหา ประวัติ นามสกุล บทที่ 1 ที่มาและความสําคัญของปัญหา ร. ต จ แบบฝึกหัดเคมี ม.5 พร้อมเฉลย แปลภาษาอาหรับ-ไทย ใบรับรอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน PEA Life login Terjemahan บบบย มือปราบผีพันธุ์ซาตาน ภาค2 สรุปการบริหารทรัพยากรมนุษย์ pdf สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม เช็คยอดค่าไฟฟ้า แจ้งไฟฟ้าดับ แปลภาษา มาเลเซีย ไทย แผนที่ทวีปอเมริกาเหนือ ่้แปลภาษา Google Translate กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ข้อสอบโอเน็ตม.3 มีกี่ข้อ คะแนนโอเน็ต 65 ตม กรุงเทพ มีที่ไหนบ้าง