แนวโน้มผู้สูงอายุในประเทศไทย 2564

ในที่สุดไทยก็เข้าสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 นี้ เนื่องจากมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

รายงานฉบับประชาชน – ฉบับเนื้อหา โครงการการทบทวน สังเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุไทย โดยศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะผู้วิจัย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนโดยโครงการขับเคลื่อนกลยุทธ์เพื่อพัฒนางานด้านผู้สูงอายุและการสื่อสารสาธารณะเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า ในปัจจุบัน มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ตกอยู่ในภาวะยากลำบากหลายมติ

ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ มีประมาณร้อยละ 17 ของผู้สูงอายุมีรายได้รวมทุกแหล่งน้อยกว่า 40,000 บาทต่อปีและไม่มีเงินออมเลย ,มิติสุขภาพ พบว่าร้อยละ 3 เป็นผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง , มิติสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัย ประมาณร้อยละ 5 ที่เคยหกล้มภายในตัวบ้านและบริเวณตัวบ้าน และมิติสังคม ประมาณร้อยละ 1 ที่ครองโสดและอาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว

ดังนั้นหากไม่เกิดการขับเคลื่อนไปในทางแก้ปัญหาที่มีประสิทธิผล ปัญหาต่างๆ ยังคงเดิมเหมือนในปัจจุบัน ในอนาคตจะมีผู้สูงอายุที่เผชิญอุปสรรคความยากลำบากในมิติต่างๆ เหล่านั้นในจำนวนที่มากยิ่งขึ้นตามจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

โดยจำนวนและสัดส่วนประชากรวัยผู้สูงอายุในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จำนวนประชากรวัยทำงานต่อผู้สูงอายุ 1 คน มีแนวโน้มลดลง

            สำหรับผู้สูงอายุในอนาคตนั้นจะมีระดับการศึกษาโดยเฉลี่ยสูงขึ้น  และมีแนวโน้มครองโสดถาวร และไม่มีบุตรเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้สูงอายุไม่มีบุตร และไม่มีหลักประกันรายได้ยามชราภาพแบบทางการจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

แม้จะดูว่าภาระทางการเงินการคลังของรัฐบาลจะมากขึ้นในการที่จะต้องดูแลผู้สูงอายุในอนาคต ทั้งเรื่องสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาล และสวัสดิการในการดำรงชีวิต แต่ในขณะเดียวกันก็มี “โอกาส” จากการที่มีจำนวนผู้งอายุมากขึ้น

นั่นเพราะเราจะมีทุนมนุษย์ในภาพรวมของประเทศเพิ่มขึ้น  และมีโอกาสในการพัฒนาความรอบรู้ทางการเงิน และความรอบรู้ด้านสุขภาพมากขึ้น  อีกทั้งยังสามารถนำความรู้ ทักษะ และภูมิปัญญาของผู้สูงอายุมาใช้ในการพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม  ขณะเดียวกันภาครัฐเองก็ให้ความสำคัญกับประเด็นผู้สูงอายุ และสร้างองค์ความรู้งานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ “ ความท้าทาย” ของเรื่องนี้ อยู่ที่การเตรียมความพร้อมในการสร้างหลักประกันรายได้ยามชราภาพให้กับผู้สูงอายุทุกคนตั้งแต่อยู่ในช่วงวัยทำงาน ,การจัดสวัสดิการสังคมโดยรัฐที่พึ่งพาภาษีอากรและการประกันสังคมจะมีข้อจำกัดมากขึ้น รวมไปถึงประเด็นผลิตภาพแรงงานลด

ส่วนการด้านสุขภาพ พบว่า แบบแผนของโรคที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งโรคเกิดใหม่ โรคอุบัติซ้ำ และโรคที่เกิดจากพฤติกรรม และผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากจำนวนประชากรอายุ 80 ปีขึ้นไปที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้บุตรวัยแรงงานจำเป็นต้องรับภาระดูแล ทั้งพ่อแม่ (รวมปู่ย่า/ตายาย) และบุตรของตัวเอง

นอกจากนี้สังคมมีโอกาสขาดแคลนบุคลากรทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ  แต่การพึ่งพาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการดูแลผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายของประเทศไทย เพราะต้องไม่ลืมว่านับจากปี 2565 ต่อไปอีก 17 ปีหรือในปี 2582 ไทยจะมีจำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 28 ของจำนวนประชากรทั้งหมด จนกลายเป็นสังคมสูงวัยในระดับสุดยอด

รู้กันแล้วหรือยังว่า … วันนี้เรามีชีวิตอยู่ในสังคมผู้สูงอายุ และในปี 2565 นี้ ประเทศไทยกำลังย่างก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เปรียบให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือ ถ้ามีคนเดินมา 5 คน ในจำนวนนั้นจะเป็นผู้สูงอายุอย่างน้อย 1 คน และภายในทศวรรษนี้เราจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด !

สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเท่ากับ หรือมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 7 ถ้าหากสังคมใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเท่ากับ หรือมากกว่าร้อยละ 20 หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเท่ากับ หรือมากกว่าร้อยละ 14 ก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) และสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged Society) คือ สังคม หรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 28

ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้สูงอายุราว 1,000 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 โดยในภูมิภาคอาเซียนนั้นพบว่า มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 11 และ 7 ประเทศได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว โดยสิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีผู้อายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20

ขณะที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาหลายปีแล้ว ข้อมูลประจำปี 2561 พบว่า มีประชากรทั้งหมด 66.4 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุ 10.6 ล้านคน นับเป็นร้อยละ 16.06 (1) ในปี 2562 ประชากรผู้สูงอายุมีมากถึง 11.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.5 ของประชากรทั้งหมดจำนวน 69.3 ล้านคน (2)

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 โดยจำนวนผู้สูงอายุจะอยู่ราวร้อยละ 20-30 และที่สำคัญกว่านั้น ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดเช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 28 ในปี 2574

การเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ของประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และรุนแรงเมื่อเปรียบเทียบกับหลายชาติในโลก สาเหตุเพราะคนไทยมีอัตราการเกิดน้อย คุมกำเนิดได้ดี และอายุคนยืนยาวขึ้น กลุ่มคนที่เกิดในช่วง 2506 – 2526 ซึ่งมีอัตราการเกิดมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี เรียกได้ว่า เป็นคลื่นสึนามิประชากรลูกใหญ่ที่จะส่งผลให้ภายใน 20 กว่าปีข้างหน้าผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็นราว 21 ล้านคน (3)

สูงวัย … แล้วยังไง ?

ภาวะสูงวัยนั้นจะมาพร้อมกับความเปราะบางทั้งทางด้านกายภาพ จิตใจ และสังคม ผู้สูงวัยจึงต้องพึ่งพาคนอื่นมากขึ้นในหลายด้าน การที่ครอบครัว คนรอบข้าง สังคม รวมไปถึงรัฐต้องเข้ามาประคับประคองผู้สูงวัยจำเป็นต้องใช้เวลา เงินทอง และทรัพยากรต่าง ๆ มากตามจำนวนผู้สูงวัย ถ้ายิ่งมากก็อาจจะกระทบต่อทั้งด้านส่วนตัวและองค์รวมทางเศรษฐกิจ สังคม และระบบโครงสร้างต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสร้างผลกระทบในระดับบุคคล โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยแรงงานที่มีภาระดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ประเทศไทยมีสัดส่วนของกำลังแรงงาน : ผู้สูงอายุ : เด็ก อยู่ที่ 4 : 1 : 1 คาดว่าในปี 2579 จะปรับลงไปอยู่ที่ 2 : 1 : 1 ผู้สูงอายุที่มีสภาวะขาดเงินออม มีเงินไม่เพียงพอสำหรับการเกษียณ และใช้จ่ายในช่วงบั้นปลายชีวิต เป็นข้อจำกัดของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี (4)

เมื่อสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น ขณะที่วัยทำงานเท่าเดิม หรือลดลง ส่งผลให้ค่าแรงสูงขึ้น หรือขาดแคลนแรงงานทำให้ต้องพึ่งเครื่องมือเครื่องจักร หรือนำเทคโนโลยี หรืออาจต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวมากขึ้น

มีการประเมินว่า ครอบครัวผู้สูงอายุจำเป็นต้องประหยัดมากขึ้น ทำให้มีการใช้จ่ายต่ำกว่าปกติ กำลังซื้อในอนาคตจึงลดลง เมื่อวัยสูงอายุ หรือวัยเกษียณขาดรายได้ หรือมีรายได้น้อยลงทำให้มีการออมลดลง วัยทำงานที่ต้องรับภาระมากขึ้นทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็ส่งผลให้มีเงินออมน้อยลงเช่นกัน ส่วนรัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการมากขึ้นเพื่อบริการสังคม ทางด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ ทำให้การลงทุน และการออมของประเทศลดลง สัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้นทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) หรือรายได้ประชาชาติน้อยลง รายได้เฉลี่ยต่อบุคคลลดลง รวมถึงคุณภาพการผลิตลดลง

เมื่อภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข การแพทย์ บริการสังคมแก่ผู้สูงอายุมากขึ้น ต้องเพิ่มงบประมาณรายจ่ายเพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ยากไร้ รวมทั้งยังเก็บภาษีรายได้น้อยลง เพราะผู้สูงอายุซึ่งไม่มีรายได้มีสัดส่วนที่มากขึ้น

สัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้อยู่ในวัยทำงานต้องทำงานมากขึ้น และต้องรับภาระดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุจึงอาจขาดความอบอุ่น หรือถูกทอดทิ้ง เกิดปัญหาทางด้านสภาพจิตใจ รวมไปถึงรู้สึกเหงาเมื่อไม่ได้ทำงาน ยิ่งต้องกลายเป็นภาระให้กับลูกหลาน ยิ่งรู้สึกไม่ภูมิใจในตัวเอง น้อยใจ ซึมเศร้า ฯลฯ จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่มากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุมักมีปัญหาสุขภาพจึงต้องเตรียมสะสมเงินออม หรือวางแผนการลงทุนเพื่อจะได้มีรายได้ หรือเงินสะสมไว้ใช้ในช่วงที่สูงอายุ หรือสามารถนำเงินออมที่สะสมไว้มาใช้ในช่วงบั้นปลายชีวิตได้ (5)

บทเรียนสังคมสูงอายุในต่างประเทศ

ปัจจุบันประเทศในแถบยุโรปส่วนใหญ่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ตามมาด้วยประเทศในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ รวมถึงไทย

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นชาติแรก ๆ และมีสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ปัจจุบันมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปอยู่มากกว่าร้อยละ 20 และเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด โดยญี่ปุ่นได้เตรียมตัวรับมือมาก่อนแล้ว ขณะที่สิงคโปร์แม้จะเตรียมแผนรับมือไว้ แต่ก็ยังคงเผชิญกับปัญหาการมีบุตรน้อยลง และผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังมากขึ้น ส่วนเกาหลีใต้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว แต่ยังไม่มีแผนรองรับที่เป็นรูปธรรม และผู้สูงอายุจำนวนมากยังมีฐานะยากจน

การรับมือส่วนหนึ่งคือ การขยายอายุเกษียณซึ่งทำได้ในระยะสั้น อาจไม่แก้ปัญหาถาวร แต่ใช้เพิ่มจำนวนคนวัยทำงานเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจได้ สิงคโปร์เพิ่มอายุเกษียณจาก 65 เป็น 67 ปี เกาหลีใต้จะขยายอายุเกษียณจาก 55 เป็น 60 ปี ญี่ปุ่นจากเดิมที่ให้ผู้สูงอายุทำงานได้ถึง 62 ปี จะขยายไปถึงอายุ 65 ปี ภายในปี 2568 ขณะที่ไทยอยู่ระหว่างการเสนอพิจารณาขยายอายุเกษียณของแรงงานในสถานประกอบการจาก 55 เป็น 60 ปี

รัฐบาลสิงคโปร์ให้เงินสนับสนุนแก่บริษัทที่จ้างผู้สูงอายุให้ทำงานต่อ โดยลูกจ้างต้องเข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งไม่ครอบคลุมกลุ่มคนอาชีพอิสระ รัฐยังให้เงินสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้เอื้อต่อผู้สูงอายุ ญี่ปุ่นสนับสนุนให้จ้างงานผู้สูงอายุ ช่วยผู้สูงอายุทำงานในช่วงเวลาสั้น ทำงานเบา และง่าย ประเทศไทยเองมีการจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำ และมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งรัฐบาลยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทที่จ้างผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

สิ่งที่ควรสนับสนุนคือ ให้มีการนำทักษะ และประสบการณ์ของผู้สูงอายุมาใช้ให้เกิดประโยชน์ การเพิ่มทักษะและจัดหางานให้เหมาะสม ช่วยเพิ่มความสามารถการหารายได้ และยกระดับผลิตภาพของแรงงานในระยะยาว ซึ่งทั้งญี่ปุ่น และสิงคโปร์ทำทั้งการศึกษาในระบบ และนอกระบบ โดยความร่วมมือจากภาครัฐ และเอกชนตั้งศูนย์พัฒนาทักษะเพิ่มเติมคู่ไปกับการจัดหางานที่เหมาะสมให้ ประเทศไทยเองมีโครงการฝึกอบรมแรงงานสูงอายุเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น และมีการคุ้มครองทางสังคมให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้

นอกจากการวางแผนยกระดับคุณภาพชีวิตโดยภาครัฐวางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม โดยเฉพาะรายได้หลังวัยเกษียณ ผ่านการตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ภาคเอกชนยังมีส่วนช่วยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นมีการคิดค้นหุ่นยนต์สำหรับดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ผู้ดูแลในวัยทำงานได้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน มีการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทุกวัยใช้ร่วมกันได้ ขณะที่ประเทศไทยมีสิ่งอำนวยความสะดวกค่อนข้างจำกัด ทั้งความห่างไกลของโรงพยาบาล หรือศูนย์บริการทางการแพทย์ การขนส่งเดินทางไม่สะดวก ทำให้เข้าถึงสวัสดิการจากส่วนกลางอย่างลำบาก

สิงคโปร์เริ่มมีแผนนโยบายแห่งชาติรองรับสังคมผู้สูงอายุมานานกว่า 50 ปี มีผู้รับผิดชอบขับเคลื่อนนโยบายระหว่างกระทรวงต่าง ๆ ให้สอดคล้อง สิ่งที่ไทยต้องพัฒนาต่อคือ ระบบบำนาญที่ยืดหยุ่น และสอดคล้องนโยบายด้านแรงงาน ซึ่งมีผลต่อเนื่องกับการดูแลสวัสดิการ และรักษาพยาบาล แม้ไทยมีนโยบายรองรับบ้างแล้ว แต่ถ้ามีหน่วยงานรับผิดชอบแผน และการดำเนินนโยบายโดยตรงจะช่วยรับมืออย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น (6)

เตรียมรับสึนามิผู้สูงอายุวิถีไทย

ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนจะต้องตั้งรับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรสูงอายุ นับเป็นความท้าทายในการจัดสวัสดิการสังคมให้กับผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างที่พึงได้รับ โดยสิ่งที่ภาครัฐต้องเตรียมรองรับคือ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม ส่งเสริมการแผนการเงิน และสุขภาพหลังเกษียณ สร้างความมั่นคงทางรายได้ไม่ให้เหลื่อมล้ำ เพื่อสร้างสังคมสูงวัยที่เป็นธรรม และเท่าเทียม จัดสวัสดิการถ้วนหน้า และส่งเสริมอาชีพ

การขยายอายุเกษียณเพื่อเพิ่มจำนวนคนวัยทำงานช่วยบรรเทาผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สนับสนุนให้บริษัทจ้างงานผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำ และมีรายได้เพิ่มขึ้น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทที่จ้างผู้สูงอายุ สนับสนุนให้มีการนำทักษะ และประสบการณ์ของผู้สูงอายุมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มทักษะและการจัดหางานให้เหมาะสมกับแรงงาน ตลอดจนสร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดี ดูแล และช่วยเหลือตนเองได้ ส่งเสริมให้มีการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เตรียมตัวรับมือกับสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น กรมกิจการผู้สูงอายุก่อตั้งขึ้นในปี 2558 เพื่อดูแลเรื่องสังคมผู้สูงอายุโดยเฉพาะมีพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เพื่อช่วยเหลือ และรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทย (7) มีแนวทางการขยายอายุการทำงาน ตามแผนการกำหนดเป้าหมายให้ข้าราชการ พนักงาน รัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐเกษียณอายุราชการที่ 63 ปี ในปี 2567

กระทรวงแรงงานได้จัดทำแนวปฏิบัติสำหรับสถานประกอบการที่จ้างงานผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จะต้องให้ค่าตอบแทนขั้นต่ำ 45 บาทต่อชั่วโมง ระยะเวลาการทำงานต่อวันไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน และลักษณะงานต้องปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้สูงอายุ สถานประกอบการที่มีค่าใช้จ่ายจ้างงานผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และบริษัทเอกชนที่มีนโยบายจ้างงานผู้สูงอายุจะต้องปรับเปลี่ยนลักษณะงาน และระยะเวลาการทำงานให้เหมาะสม (8)

ภาคสังคมและเอกชนอื่น ๆ ก็ขยับตัวที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุถูกก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือจากหลายองค์กร เพื่อให้ความรู้ และช่วยเหลือผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการส่งเสริมความมั่นคงทางรายได้ และการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ เป็นต้น หลายหน่วยงานเอกชนมีนโยบายรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน เพื่อช่วยแก้การขาดแคลนแรงงานจากปัญหาจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น

สำหรับการบริหารจัดการบุคลากรผู้สูงอายุในองค์กร รวมถึงการขยายอายุการทำงานโดยการทำสัญญาจ้างพิเศษ เพื่อให้ผู้สูงอายุที่ครบกำหนดอายุงานยังสามารถทำงานต่อไปได้ หรือบางองค์กรอาจจัดการเป็นรายบุคคลด้วยการทำสัญญาจ้างพิเศษเพื่อจัดจ้างพนักงานสูงอายุที่องค์กรอยากให้ร่วมงานกันต่อ

นอกจากนี้ การพัฒนาทักษะเพิ่มเติมสามารถทำให้ผู้สูงอายุมีความสามารถหลากหลายด้านจะช่วยเหลืองานบริษัทได้มากขึ้น หรือฝึกทักษะใหม่ที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เพื่อให้ทำงานอีกส่วนที่เป็นประโยชน์กับองค์กร และเหมาะสมกับแรงงานสูงอายุ รวมทั้งเพิ่มตำแหน่งงานใหม่รองรับพนักงานสูงอายุที่ช่วยเหลือองค์กรมาโดยตลอด การเพิ่มตำแหน่งงานใหม่นี้อาจเพิ่มให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เช่น ให้ผู้สูงอายุกลุ่มที่ใช้แรงงานเปลี่ยนไปทำงานด้านบริการ

การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ และผู้ที่กำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากแนวคิดพฤฒพลัง (Active Ageing) คือ การมีสุขภาพดี มีหลักประกัน และความมั่นคงในชีวิต รวมถึงมีส่วนร่วม และมีคุณค่าทางสังคม นำไปสู่การเป็นผู้สูงอายุที่ยังคุณประโยชน์ มีความมั่นคงทางรายได้ แก้ปัญหาภาวะขาดแคลนแรงงานของประเทศ และลดภาระพึ่งพิงสวัสดิการจากรัฐได้ (6)

ในแง่การเตรียมตัวจะต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ทั้งด้านสุขภาพร่างกาย และสุขภาพทางการเงิน โดยไม่ลืมที่จะส่งเสริมการพัฒนาคุณค่าทางสังคม และสร้างกระบวนการการเรียนรู้อย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาศักยภาพของประชากรให้สามารถสร้างรายได้ รวมทั้งให้เกิดการปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก (9)

สำหรับผู้ที่เตรียมตัวก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุก็ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต และดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น เพราะในอนาคตการไปโรงพยาบาลอาจจะไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยอีกแล้ว (10)

“เกษียณคลาส” สูงวัยสุขภาวะดี

เพื่อเตรียมความพร้อมชีวิต สร้างเสริมสุขภาวะ พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้อายุยุคดิจิทัลให้สามารถรับมือสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ในอนาคต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายยังแฮปปี้ (Young Happy) จัดทำหลักสูตรออนไลน์ “เกษียณคลาส” ซึ่งออกแบบมาให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ เป็นพื้นที่การเรียนรู้ได้ตลอดเวลา มอบความรู้ใหม่ ๆ ให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

เกษียณคลาสเป็นหลักสูตรที่สนุก เข้าใจง่าย และใช้ได้จริง ประกอบด้วยบทเรียนที่ต้องรู้ ควรรู้ และอยากรู้ เพื่อวางแผนชีวิต 4 มิติ ทั้งการดูแลสุขภาพ การเก็บออมเงิน การมีสังคม และการมีสภาพแวดล้อม รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทักษะการรู้เท่าทันเทคโนโลยี การออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อความปลอดภัย การกิน และออกกำลังกายที่เหมาะสม มีเป้าหมายทำให้ผู้สูงอายุสนุก มีคุณค่า พึ่งพาตัวเองได้

ทุกบทเรียนสอนโดยวิทยากรที่มีประสบการณ์ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ ด้วยอุปกรณ์มือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ หลังเรียนจบหลักสูตรจะมีใบประกาศนียบัตรมอบให้ สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก “ยังแฮปปี้ YoungHappy” และลงทะเบียนเรียนในเว็บไซต์ learn.younghappy.com (11)

นั่นเพราะไม่มีใครแก่เกินเรียน … และโปรดเข้าใจว่า การย่างก้าวสู่สังคมสูงวัยโดยไม่เตรียมตัวให้พร้อมนั้น อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงเกินกว่าคาด โดยเฉพาะต่อตัวผู้สูงวัยเอง และผู้ดูแล

อ้างอิง :

(1) (3) (10) //workpointtoday.com/thai-agingsociety-65/

(2) //thaitgri.org/?p=39457

(4) //www.nxpo.or.th/th/8078/ 

(5) //moneyduck.com/th/articles/535-สังคมผู้สูงอายุในปัจจุบันและเศรษฐกิจในประเทศไทย/

(6) //themomentum.co/happy-life-aging-society/

(7) //th.hrnote.asia/tips/190613-aging-society-working/

(8) //www.nxpo.or.th/th/8078/ 

(9) //www.thaihealth.or.th/Content/54932-เตรียมพร้อมก้าวสู่สังคมสูงวัย%20อย่างเต็มตัว.html

(11) //www.thaihealth.or.th/Content/54400-เกษียณคลาส%20ห้องเรียนออนไลน์%20หนุนสูงวัยสุขภาวะดี.html

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน อาจารย์ ตจต ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf lmyour แปลภาษา ชขภใ ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 ขขขขบบบยข ่ส ศัพท์ทางทหาร military words หนังสือราชการ ตัวอย่าง หยน แปลบาลีเป็นไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง พจนานุกรมศัพท์ทหาร เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษามลายู ยาวี Bahasa Thailand กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ การ์ดจอมือสอง ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย คะแนน o-net โรงเรียน ค้นหา ประวัติ นามสกุล บทที่ 1 ที่มาและความสําคัญของปัญหา ร. ต จ แบบฝึกหัดเคมี ม.5 พร้อมเฉลย แปลภาษาอาหรับ-ไทย ใบรับรอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน PEA Life login Terjemahan บบบย มือปราบผีพันธุ์ซาตาน ภาค2 สรุปการบริหารทรัพยากรมนุษย์ pdf สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม เช็คยอดค่าไฟฟ้า แจ้งไฟฟ้าดับ แปลภาษา มาเลเซีย ไทย แผนที่ทวีปอเมริกาเหนือ ่้แปลภาษา Google Translate กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ข้อสอบโอเน็ตม.3 มีกี่ข้อ คะแนนโอเน็ต 65 ตม กรุงเทพ มีที่ไหนบ้าง