แสดงภาพตารางที่มีประโยชน์และผลกระทบ fintech ที่มีต่อธุรกิจ

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาหัวข้อ บทบาทของฟินเทคต่อภาคการเงินไทยในอนาคต ในงาน “ก้าวที่ 40 มติชน ก้าวคู่ประเทศไทย 4.0” โดยมีรายละเอียดดังนี้

“เรื่อง “เทคโนโลยีทางการเงิน” หรือ “ฟินเทค” (FinTech) ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญลำดับต้นๆ ตั้งแต่เข้ามาร่วมงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อมองไปข้างหน้า ฟินเทคจะทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ และจะมีบทบาทเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในระบบการเงินโลก อันจะนำมาซึ่ง “โอกาส” และ “ความท้าทาย” ใหม่ ให้กับระบบการเงินไทยและเศรษฐกิจไทยเช่นเดียวกัน”

ท่านรองนายกรัฐมนตรีและท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้อธิบายให้เห็นความสำคัญในภาพใหญ่ๆ ของเทคโนโลยี และความจำเป็นของประเทศไทยที่จะต้องเปลี่ยนแปลง

หัวข้อที่ผมจะแสดงความเห็นในวันนี้จะแคบลงมาคือ “บทบาทของฟินเทคต่อภาคการเงินไทยในอนาคต” ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

ส่วนที่หนึ่ง ฟินเทคจะมีนัยต่อภาคการเงินอย่างไร?

ส่วนที่สอง ภาคการเงินจะช่วยตอบโจทย์อนาคตของประเทศไทยได้อย่างไร? ซึ่งผมคิดว่าฟินเทคจะมีบทบาทสำคัญ

ส่วนแรก นัยของฟินเทคต่อภาคการเงิน

เรากำลังอยู่ในโลกยุค 4.0 ซึ่งเป็นยุคที่พัฒนาการทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะ Digital Technology จะกระทบรูปแบบการดำเนินชีวิตของเราในเกือบจะทุกมิติ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการเงิน หรือฟินเทคก็เช่นเดียวกัน จะเปลี่ยนหลักคิดหรือรูปแบบของภาคการเงินที่พวกเราคุ้นชินอย่างน้อยใน 5 มิติสำคัญ กล่าวคือ

มิติแรก การทำหน้าที่ “ตัวกลาง” (Intermediary) ของสถาบันการเงินจะมีบทบาทลดลง ในวันนี้หลายประเทศมีบริการ P2P Lending Crowdfunding หรือ Platform จับคู่ระหว่างคนที่มีเงินทุนกับคนที่ต้องการเงินทุน หมายความว่า คนที่มีเงินออมส่วนเกินไม่จำเป็นต้องฝากเงินในสถาบันการเงิน แต่สามารถนำเงินไปเลือกลงทุนหรือปล่อยกู้ให้โครงการต่างๆ ที่อยู่บน P2P Platform ได้โดยตรง

ในด้านระบบการชำระเงินก็เช่นกัน บริการชำระเงินใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องมีบัญชีเงินฝากที่ธนาคาร แต่สามารถใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจเก็บไว้ตามกระเป๋าเงิน เช่น e-Wallet หรือ AirTime ที่เติมเงินกับเจ้าของเครือข่ายโทรคมนาคมเป็นกลไกสำหรับการชำระเงินก็ได้ เพราะฉะนั้น ฟินเทคจะลดความสำคัญของรูปแบบตัวกลางทางการเงินของสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม

มิติที่สอง การที่ “บัญชีกลาง” หรือ “ทะเบียนกลาง” (central book) จะถูกทดแทนด้วย “เทคโนโลยีแบบบัญชีกระจายตัว” หรือ Distributed Ledger Technology (DLT) ซึ่ง Blockchain เป็นเทคโนโลยีหนึ่งของ DLT โดยเทคโนโลยี DLT จะช่วยให้เราไม่ต้องตรวจเช็คความถูกต้องจากทะเบียนกลาง ไม่ต้องมีศูนย์ข้อมูลกลาง ชุดข้อมูลธุรกรรมจะกระจายไปให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้รับรู้พร้อมกันทันที ส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โปร่งใสมากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานที่มีหลายขั้นตอน ซึ่งเดิมต้องใช้เวลานาน เนื่องจากต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลทีละขั้นตอนจากทะเบียนกลาง

มิติที่สาม “สมาร์ทโฟน” จะเป็นอวัยวะสำคัญของพวกเราทุกคนสำหรับทำธุรกรรมทางการเงิน ทุกวันนี้สมาร์ทโฟนมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก ทั้งด้านความสามารถในการคำนวณ ความปลอดภัย และเทคโนโลยี Biometric ในการพิสูจน์ตัวตนโดยอาศัยเทคโนโลยีทางชีวภาพ เราจะเห็นแอปพลิเคชันใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ สามารถเชื่อมต่อบริการทางการเงินกับบริการอื่นๆ โดยเฉพาะบริการด้าน e-Commerce อย่างแยกกันไม่ออก เราสามารถทำธุรกรรมการเงินผ่านสมาร์ทโฟนได้เกือบทุกประเภท ยกเว้นเพียงการฝากถอนเงินสด ซึ่งในอนาคตการฝากถอนเงินสดก็จะมีความจำเป็นน้อยลง การให้บริการผ่านสาขาของธนาคารพาณิชย์หรือแม้แต่ผ่านเครื่อง ATM จะลดลงเร็ว เช่นกัน สมาร์ทโฟนเป็นตัวอย่างหนึ่งของ “เศรษฐกิจเชิงแบ่งปัน” หรือ Sharing Economy ในภาคการเงิน ที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งสามารถให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าได้ดีกว่าเดิม โดยไม่ต้องลงทุนเป็นเจ้าของช่องทางให้บริการของตัวเองเหมือนแบบเดิมที่ต้องอาศัยการลงทุนในสาขาหรือเครื่อง ATM

มิติที่สี่ “พรมแดนประเทศ” จะมีความสำคัญน้อยลง เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะช่วยเชื่อมต่อตลาดเงินและตลาดทุนทั้งโลกให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น เหตุการณ์ในซีกโลกหนึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนในอีกซีกโลกหนึ่งได้ภายในเสี้ยววินาที ธุรกิจและประชาชนจะมีทางเลือกในการออม การลงทุน และการระดมทุนข้ามพรมแดนได้ง่ายขึ้น บริการโอนเงินระหว่างประเทศจะมีต้นทุนลดลงและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก

มิติที่ห้า “ข้อมูลรายธุรกรรม” หรือ “Big Data” จะมีความสำคัญมากขึ้นมากในภาคการเงิน เพราะการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้เกิดรอยเท้าดิจิทัล หรือ Digital Footprint ของทุกมิติการดำเนินชีวิตของพวกเราทุกคน Big Data จะรวบรวมชุดข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน การวางแผนทางการเงิน และการสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ที่จะมี Big Data หรือ Data Analytics เป็นองค์ประกอบสำคัญ ข้อมูลรายธุรกรรมและฐานข้อมูลขนาดใหญ่จะเป็นรากฐานที่จำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะโลกการเงินยุคใหม่

เมื่อเราพอเห็นนัยที่ฟินเทคจะมีต่อระบบการเงินยุคใหม่แล้ว ผมขออนุญาตไปส่วนที่สองว่าฟินเทคและภาคการเงินจะช่วยตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในอนาคตได้อย่างไร

ส่วนที่ 2 ภาคการเงินจะช่วยตอบโจทย์อนาคตของประเทศได้อย่างไร?

มองไปข้างหน้า ในบริบทโลก VUCA (volatility, uncertainty, complexity และ ambiguity) ที่มีลักษณะผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และยากจะคาดเดามากขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ภาคการเงินซึ่งทำหน้าที่เสมือน “เส้นเลือด” หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมีคุณลักษณะ 3 ประการ กล่าวคือ

  1. ต้องสามารถเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ให้กับระบบเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
  2. ต้องสร้างภูมิคุ้มกัน (Immunity) ให้กับระบบเศรษฐกิจได้ และไม่สร้างความเปราะบางที่จะเป็นเชื้อสำหรับวิกฤติในอนาคต และ
  3. ต้องช่วยกระจายประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจให้ทั่วถึง (Inclusion) ไม่เพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำซ้ำเติมให้กับสังคมไทย

ฟินเทคจะเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยสร้างคุณลักษณะทั้ง 3 ประการข้างต้นให้กับระบบการเงินไทยในอนาคต ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ดังนี้

มิติการเพิ่มผลิตภาพ

ในภาพใหญ่ฟินเทคจะช่วยลดต้นทุนของภาคการเงินโดยรวม เมื่อต้นทุนของสถาบันการเงินลดลงแล้วจะสามารถส่งผ่านประโยชน์ไปสู่ผู้บริโภค และเพิ่มผลิตภาพของประเทศในภาพรวม ถ้าท่านดูแผนพัฒนาระบบการเงินระยะที่ 3 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประกาศใช้มาปีเศษๆ คำที่สำคัญมากคือคำว่า “Digitization” ซึ่ง Digitization จะเข้ามาทดแทนการทำธุรกรรมที่ใช้เงินสด หรืออิงกับกระดาษ เช่น เช็ค จะช่วยลดต้นทุนการเปิดสาขาและซื้อสินทรัพย์ถาวร การจ้างพนักงาน รวมถึงลดต้นทุนการบริหารเงินสด

ปัจจุบันภาคการเงินไทยมีโครงสร้างต้นทุนด้านสินทรัพย์ถาวรและพนักงานอยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค ส่วนหนึ่งเพราะรูปแบบการทำธุรกิจของสถาบันการเงินไทยที่เน้นการขยายเครือข่ายสาขาในช่วงที่ผ่านมา และทุกรายการฝากถอนเงินที่สาขามีต้นทุนสูง แต่ประชาชนไม่ทราบ เพราะเราได้รับบริการฟรี จากข้อมูลของสมาคมธนาคารไทยพบว่า การให้บริการที่สาขามีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 60-80 บาทต่อรายการ และต้นทุนการบริหารเงินสดโดยรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี

ถ้าเราช่วยกันลดต้นทุนบริหารเงินสดลงได้ ทั้งของธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจ ห้างร้านขนาดใหญ่ รวมทั้งประชาชน จะช่วยเพิ่มผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจไทยให้สูงขึ้นได้อีกมาก

“พัฒนาการด้านการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเรื่องสำคัญที่ภาคการเงินจะช่วยเพิ่มผลิตภาพให้กับประเทศ ผมต้องขอขอบคุณท่านรองนายกรัฐมนตรี และที่สำคัญคือ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ช่วยผลักดันเรื่อง e-Payment เพราะจะเป็นรากฐานสำคัญของประเทศในระยะยาว วันนี้เรามีระบบ “พร้อมเพย์” ที่เปรียบเหมือน “ถนนการชำระเงินเส้นใหม่” หรือ “เส้นเลือดใหม่ของระบบเศรษฐกิจไทย” ที่ช่วยให้คนไทยมีต้นทุนการโอนเงินต่ำลงมากอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นที่น่ายินดีว่า หลังจากเปิดใช้ไม่กี่เดือน ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์แล้วกว่า 28 ล้านบัญชี มีการทำธุรกรรมมากกว่า 7 ล้านครั้ง มูลค่าของธุรกรรมรวมประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยต่อเนื่อง พร้อมเพย์จะช่วยต่อยอดการทำธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจด้าน e-Commerce รวมทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกในการโอนเงินสวัสดิการของภาครัฐไปสู่มือประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย”

ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยสร้างความเชื่อมโยงทางการเงินในภูมิภาค หรือ Regional Financial Connectivity มากขึ้น การชำระเงินข้ามพรมแดนที่มีราคาถูกลงจะสนับสนุนให้เกิดการค้าและการลงทุนตามแนวชายแดนมากขึ้น และช่วยเพิ่มศักยภาพการเติบโตของประเทศในอีกทางหนึ่งด้วย

เรื่องระบบการชำระเงินที่อาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างที่ฟินเทคจะช่วยยกระดับผลิตภาพของประเทศ และยังมีอีกหลายเรื่องที่ฟินเทคจะช่วยได้ ตั้งแต่การปล่อยสินเชื่อ การสนับสนุนธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ หรือการให้บริการคำปรึกษาทางการเงิน

มิติการสร้างภูมิคุ้มกัน

ในโลกที่ผันผวนและคาดเดายาก การประยุกต์ใช้ฟินเทคจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบการเงินได้ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จาก Big Data เพื่อยกระดับการบริหารความเสี่ยงตั้งแต่ระดับบริษัท ระดับองค์กร ระดับอุตสาหกรรม ไปจนถึงระดับประเทศ Big Data จะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถบริหารความเสี่ยงหรือกระจายความเสี่ยงได้ลึกซึ้งขึ้น เร็วขึ้น และมองเห็นความเชื่อมโยงในมิติต่างๆ ได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะในด้านความเสี่ยงทางเครดิต ความเสี่ยงด้านการตลาด ความเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินอื่น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนการออกผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้ ที่จะได้ประโยชน์มากคือ การออกผลิตภัณฑ์ด้านประกันภัย จะมีต้นทุนถูกลงและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มแบบเฉพาะเจาะจงได้มากขึ้นเมื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับ Big Data

ฟินเทคยังสามารถช่วยลดการทุจริตในภาคการเงินให้น้อยลง ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) จะช่วยให้เราตรวจพบธุรกรรมที่ผิดปกติ หรือ outlier ได้ทันท่วงที และหยุดยั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น เทคโนโลยี Biometrics จะเพิ่มประสิทธิภาพการพิสูจน์ตัวตนลูกค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-KYC (Electronic Know Your Customers) ให้เทียบเท่าหรือดีกว่าการพบลูกค้าต่อหน้า ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการพิสูจน์จากม่านตา เสียง หรือรูปหน้า

ฟินเทคยังสามารถช่วยลดข้อผิดพลาดจากการดำเนินธุรกรรมที่มีหลายขั้นตอนหรือหลายผู้เกี่ยวข้องได้ด้วย (operation errors) เช่น การนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการออกหนังสือค้ำประกันจะช่วยลดขั้นตอนการออกเอกสาร การตรวจสอบและการรับรองต่างๆ ลง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำงานของทั้งธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ และภาคการเงินด้วย

มิติความทั่วถึง

ความมั่นคงของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากปราศจากความมั่นคงทางสังคม เราต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาภาคการเงินไทยในภาพรวมมีพัฒนาการที่ดีในหลายด้าน เช่น มีสาขาธนาคารพาณิชย์ครอบคลุมหลายพื้นที่ทั่วประเทศ หรือมีการบริการทางการเงินที่หลากหลาย แต่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าประชาชนจำนวนหนึ่งยังไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ไม่ว่าในมิติการเข้าถึง หรือราคาที่เป็นธรรม เช่น

  • คนไทยที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินยังมีอยู่ประมาณร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด
  • คนระดับฐานรากเสียค่าธรรมเนียมบริการทางการเงินค่อนข้าง “แพง” เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าธุรกรรมที่ทำ
  • คนที่มีความคิดดี แต่ขาดโอกาสทางธุรกิจเพราะไม่ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนยังมีอีกเป็นจำนวนมาก

    หรือบางครั้ง สถาบันการเงินไม่สามารถแยกแยะ SMEs ใหม่ๆ ที่ดีและมีศักยภาพสูงออกมาจาก SMEs ทั่วไปได้ เพียงเพราะไม่มีข้อมูลที่จะใช้แยกแยะความเสี่ยงของ SMEs กลุ่มต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ต้องคิดอัตราดอกเบี้ยสูงสำหรับ SMEs เป็นการทั่วไป

“ผมคิดว่าฟินเทคจะช่วยให้ภาคการเงินสามารถตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นระบบพร้อมเพย์ที่ช่วยให้ประชาชนในระดับฐานรากเข้าถึงบริการโอนเงินในราคาที่นับว่าถูกที่สุดในโลก เพราะการโอนเงินที่ต่ำกว่า 5 พันบาท ไม่มีค่าธรรมเนียม หรือ e-Wallet ที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถได้รับเงินสวัสดิการจากภาครัฐได้อย่างทั่วถึงโดยไม่ต้องมีบัญชีเงินฝาก หรือการจับคู่เพื่อให้กู้ยืมกันเองแบบ Peer-to-Peer Lending หรือ Crowdfunding จะช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านสถาบันการเงิน”

ในหลายประเทศที่มีพัฒนาการด้านฟินเทคและ Big Data ดี สามารถให้กู้แก่ประชาชนและธุรกิจ SMEs ได้โดยไม่ต้องมีหลักประกัน เพราะสามารถบริหารความเสี่ยงได้จากข้อมูลรอยเท้าดิจิทัลของแต่ละคน เช่น ดูจากพฤติกรรมการขายของผ่าน e-Commerce หรือการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากฐานลูกค้าที่ซื้อสินค้าผ่าน e-Commerce

ในด้าน Supply Chain Financing/Factoring ซึ่งแต่เดิมไม่เกิดขึ้นเพราะมีต้นทุนสูงในการตรวจสอบเอกสารกระดาษ เช่น Invoice แต่ละใบ ในอนาคตสถาบันการเงินสามารถใช้ข้อมูล Invoice หรือหลักฐานคำสั่งซื้อในรูปอิเล็กทรอนิกส์มาพิจารณาสินเชื่อได้ มีความยืดหยุ่นในการบริหารวงเงินสินเชื่อได้ดีขึ้น ธุรกิจ SMEs ที่ไม่มีหลักประกันก็สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อได้ง่ายขึ้น และมีต้นทุนถูกลง

แม้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยกระดับภาคการเงินให้มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดและตอบโจทย์ของประเทศในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพ สร้างภูมิคุ้มกัน หรือลดความเหลื่อมล้ำ แต่เราต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เราจำเป็นต้องปรับสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องในด้านอื่นประกอบกันด้วยเพื่อที่จะให้สังคมไทยและเศรษฐกิจไทยใช้ประโยชน์จากฟินเทคได้อย่างเต็มที่ และไม่สร้างความเสี่ยงใหม่ๆ ที่สำคัญมีอย่างน้อย 2 เรื่อง

เรื่องแรก ต้องปรับกฎหมายกฎระเบียบและขั้นตอนการทำงาน ให้สอดคล้องกับการทำงานแบบดิจิทัล และการทำงานแบบกระจายตัว ไม่รวมศูนย์ ซึ่งเรื่องนี้จะเกี่ยวกับภาครัฐเป็นสำคัญ ภาครัฐจำเป็นต้องปรับบทบาทจากเดิมที่เป็นผู้กำกับดูแล (regulator) ตามกฎเกณฑ์กติกาที่อาจจะออกมายาวนานมาเป็นผู้สนับสนุน (facilitator) มากขึ้น ในเรื่องนี้ ธปท. ได้จัดให้มี “Regulatory Sandbox” ซึ่งจะทำหน้าที่เสมือนกระบะทรายสำหรับทดสอบนวัตกรรมด้านการเงินใหม่ๆ ก่อนออกใช้จริง โดยหลักคิดสำคัญ คือ

(1) ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันจากผู้ให้บริการทั้งใหม่และเก่า (2) สนับสนุนให้สร้างนวัตกรรมใหม่ (3) ดูแลความเสี่ยงอย่างเหมาะสม และ (4) คุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวข้อง ในปัจจุบันมีหลายโครงการที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ Regulatory Sandbox และจะเริ่มทยอยอนุญาตเพิ่มขึ้นในช่วงหนึ่งถึงสองเดือนข้างหน้านี้ หลังจากที่เราอนุญาตโครงการแรกไปเมื่อเดือนที่แล้ว

สิ่งหนึ่งที่เรามักจะมองข้ามไป คือ การปรับกระบวนการทำงานให้เท่าทันกับโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนเร็ว ในการปฏิรูปกฎเกณฑ์ด้านแลกเปลี่ยนเงินที่ ธปท. ได้ประกาศไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เราพบว่า กฎเกณฑ์หลายอย่างไม่สอดคล้องกับการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีหลายขั้นตอนที่อาศัยกระดาษเป็นหลัก กฎระเบียบบางอย่างยังบังคับให้ต้องใช้เงินสด ต้องให้ธุรกิจลงนามและประทับตราบริษัทในเอกสารหลายอย่างที่ซ้ำซ้อนกัน เรายังมีกฎระเบียบอีกมากในระบบการเงินไทยที่ไม่สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การรับรองสำเนาเอกสาร การติดอากรแสตมป์หลังสัญญา การต้องลงนามรับรองความถูกต้องของสัญญาทุกหน้า หรือการบังคับให้เก็บเอกสารการเงินไว้เป็นสิบปีเพื่อการตรวจสอบในอนาคตกรณีที่มีข้อพิพาททางกฎหมาย

นอกจากนี้ เรายังขาดกรอบกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะสร้างความสมดุลได้อย่างเหมาะสมระหว่างการรักษาสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลกับการใช้ข้อมูลรายธุรกรรมที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้สำหรับประโยชน์ของเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ซึ่งเป็นหัวใจของ Big Data เราขาดกฎหมายที่จะกำกับดูแล “Platform” ที่จะสนับสนุนนวัตกรรมแบบเศรษฐกิจเชิงแบ่งปันไปพร้อมๆ กับการป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคโดนหลอก เหมือนกับที่เกิดผลเสียกับประชาชนในหลายประเทศที่ฟินเทคและ e-Payment ถูกใช้เป็นเครื่องมือของคนที่ไม่สุจริตในการให้บริการธนาคารเงา (Shadow Banking)

เรื่องที่สอง ที่สำคัญมาก คือ เทคโนโลยีมาพร้อมกับความเสี่ยงใหม่ๆ โดยเฉพาะความเสี่ยงด้าน “Cyber” ซึ่ง World Economic Forum จัดเรื่องนี้ให้เป็น 1 ใน 10 ความเสี่ยงที่มีความสำคัญของโลก ขณะที่ความไม่เข้าใจในเทคโนโลยีของประชาชนจนทำให้ประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อประชาชนสามารถทำธุรกรรมการเงินในสมาร์ทโฟนได้ตลอดเวลา ธปท. และสถาบันการเงินไทยให้ความสำคัญกับการยกระดับ Cyber Security เพื่อให้ภาคการเงินไทยก้าวเข้าสู่ยุค Digital Banking ได้อย่างมั่นคง รวมทั้งได้ยกระดับความร่วมมือกับ กสทช. และผู้ให้บริการโทรคมนาคมยกระดับความปลอดภัยของโทรศัพท์เคลื่อนที่ อย่างไรก็ดี ในเรื่องนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราต้องทำอย่างจริงจังโดยต่อเนื่อง

“ผมคิดว่า การส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนไทยยุคใหม่ เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเลือกใช้บริการทางการเงินสมัยใหม่ที่เหมาะสมกับความต้องการแล้วยังช่วยปกป้องตัวเองจากภัยในโลกยุคใหม่ด้วย ผมคิดว่า ทุกท่านคงจะเห็นด้วยกับผมว่า เทคโนโลยี โดยเฉพาะ Digital Technology กำลังจะเปลี่ยนโลก และฟินเทคกำลังจะพลิกโฉมโลกการเงินในหลายมิติทั้งในเรื่องหลักคิดและรูปแบบการทำธุรกิจ เราไม่สามารถหยุดหรือชะลอกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้ สิ่งสำคัญคือ เราต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ภาคการเงินไทยมีบทบาทในการเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มภูมิคุ้มกันและเพิ่มการกระจายผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนของคนไทย”

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน อาจารย์ ตจต ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf lmyour แปลภาษา ชขภใ ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 ขขขขบบบยข ่ส ศัพท์ทางทหาร military words หนังสือราชการ ตัวอย่าง หยน แปลบาลีเป็นไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง พจนานุกรมศัพท์ทหาร เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษามลายู ยาวี Bahasa Thailand กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ การ์ดจอมือสอง ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย คะแนน o-net โรงเรียน ค้นหา ประวัติ นามสกุล บทที่ 1 ที่มาและความสําคัญของปัญหา ร. ต จ แบบฝึกหัดเคมี ม.5 พร้อมเฉลย แปลภาษาอาหรับ-ไทย ใบรับรอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน PEA Life login Terjemahan บบบย มือปราบผีพันธุ์ซาตาน ภาค2 สรุปการบริหารทรัพยากรมนุษย์ pdf สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม เช็คยอดค่าไฟฟ้า แจ้งไฟฟ้าดับ แปลภาษา มาเลเซีย ไทย แผนที่ทวีปอเมริกาเหนือ ่้แปลภาษา Google Translate กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ข้อสอบโอเน็ตม.3 มีกี่ข้อ คะแนนโอเน็ต 65 ตม กรุงเทพ มีที่ไหนบ้าง