อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์เหตุการณ์อะไร

"...อนุสาวรีย์นี้จะเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญก้าวหน้าทั้้งมวล เป็นต้นว่าถนนสายต่าง ๆ ที่ออกจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองก็จะนับต้นทางจากอนุสาวรีย์นี้ ถนนราชดำเนินซึ่งเป็นแนวของอนุสาวรีย์ ก็กำลังสร้างอาคารให้สง่างามเป็นที่เชิดชูเกียรติของประเทศ..." 

คำกล่าวของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบนถนนราชดำเนินกลางเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483 อาจเรียกได้ว่าเป็นวันที่สิ่งก่อสร้างหรือวัตถุวัฒนธรรมในยุคคณะราษฎร ปรากฏอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองผ่านไป 8 ปี

ถนนราชดำเนินสร้างขึ้นเมื่อปี 2442 ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินเชื่อมต่อพระบรมมหาราชวังไปสู่พระราชวังดุสิต ทว่าถนนสายที่มีความหมายว่า "การเสด็จพระราชดำเนินของกษัตริย์" ได้ถูกให้ความหมายใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

รัฐบาลคณะราษฎรเริ่มปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์บนถนนราชดำเนินกลางใหม่ทั้งหมดในปี 2480 เริ่มจากการตัดต้นมะฮอกกานี ซึ่งปลูกไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ขยายถนน สร้างอาคารพาณิชย์ โรงแรม ศูนย์การค้า และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ด้วยอายุที่เกือบเท่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุและสถาปัตยกรรมบนถนนสายนี้มีนัยทางการเมืองอย่างไรบ้าง และปัจจุบันยังมีอะไรดำรงอยู่บ้าง บีบีซีไทยรวบรวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับมรดกคณะราษฎรบนถนนสายนี้ในช่วงที่กำลังเกิดปรากฏการณ์ "ทุบ ทำลาย รื้อถอน" ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กับ เลขหมาย และ สัญลักษณ์

"อนุสาวรีย์สิ่งปลูกสร้างในลักษณะแบบนี้มันไม่ได้เป็นเพียงแค่อิฐ  หิน ปูน ทราย ที่สร้างขึ้นมาแล้วก็อยู่อย่างนั้นโดยไม่ได้มีความหมาย" รศ.ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ  อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร นักวิชาการผู้ศึกษาสถาปัตยกรรมในแง่มุมของการเมืองประวัติศาสตร์  กล่าวไว้ในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยเมื่อเดือน  ก.พ.

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ตั้งตระหง่านผ่านยุคสมัยทางการเมือง อนุสาวรีย์แห่งนี้มี "ภาษาภาพ" ที่ซ่อนไว้ในสิ่งก่อสร้างที่เป็นสัญลักษณ์ของการที่บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตย

ที่มาของภาพ, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

ในหนังสือ "สถาปัตยกรรมไทย หลังรัฐประหาร 19 กันยา 49" รศ.ดร.ชาตรี อธิบายไว้ว่า "สัดส่วนความกว้าง ความสูง ตลอดจนรายละเอียดของการออกแบบตัวอนุสาวรีย์ ล้วนถอดออกมาจากตัวเลขซึ่งสัมพันธ์กันกับวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทั้งสิ้น"

หลักกิโลเมตรที่ 0 เริ่มต้นจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

วงเวียนบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังเป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ของทางหลวงแผ่นดินสายประธาน ตามคำกล่าวในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2483 ว่าถนนสายต่าง ๆ ที่ออกจากกรุงเทพฯ ให้นับเริ่มจากอนุสาวรีย์นี้ ถนน 3 สาย ได้แก่ พหลโยธิน สุขุมวิท เพชรเกษม

ในวันเดียวกันนี้ หลังพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถนนราชดำเนิน จอมพล ป. ได้นั่งรถยนต์จากกรุงเทพฯ มาตามเส้นทางถนนพหลโยธินเพื่อมาเปิดเมืองใหม่ลพบุรีอย่างเป็นทางการอีกด้วย

หลักทางหลวง กม. 0 ตั้งอยู่ที่หัวมุมถนนดินสอ ปัจจุบันหลักทางหลวงนี้ยังคงตั้งอยู่จุดนั้น

ที่มาของภาพ, Wasawat lukharang/bbc thai

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เกือบถูกรื้อเพื่อสร้างอนุสาวรีย์ ร. 7

รัฐประหารปี 2490 - รัฐประหารปิดฉากอำนาจทางการเมืองของคณะราษฎร สายนายปรีดี พนมยงค์

รัฐประหารปี 2494 -รัฐประหารจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทหารที่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ กลุ่มนิยมเจ้า

หลังการรัฐประหารครั้งนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามลบความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรที่ปรากฏผ่านวัตถุอย่างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเป็นครั้งแรกที่เกิดแนวคิดการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระปกเกล้า รัชกาลที่ 7

ศรัญญู เทพสงเคราะห์ นักประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขียนไว้ในบทความ "การเมืองว่าด้วยอนุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ กับแนวคิดกษัตริย์นักประชาธิปไตยหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2494" ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ธ.ค. 2556 ระบุว่าแนวคิดการรื้ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลางถนนราชดำเนินเพื่อสร้างอนุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ อาจมาจากผลพวงของการทำรัฐประหาร จอมพล ป. ได้นำเรื่องการจัดสร้างอนุสาวรีย์เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในปีนั้น "เพื่อลดกระแสต่อต้านจากราชสำนักหลังจากการรัฐประหาร 2494" ภายหลังมีการนำรัฐธรรมนูญปี 2475 กลับมาใช้แทน

ต่อมาในปี 2495 ครม. ภายใต้รัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม เห็นชอบให้จัดสร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ขึ้น ตามที่รัฐมนตรีมหาดไทยในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดสร้างอนุสาวรีย์เสนอ ซึ่งได้มีมติเลือกบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ด้วยเหตุผลว่ามีความเหมาะสมกว่าบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม

ที่มาของภาพ, หอจดหมายเหตุ มธ.

บทความนี้ระบุอีกว่า หลังจากจอมพล ป. ทราบเรื่องการจัดสร้างอนุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย "กลับไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวคัดค้านจากจอมพล ป. ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มให้สร้างอนุสาวรีย์แต่อย่างใด" ทว่าผู้มีบทบาทคัดค้านกลับเป็น พลตรี ประยูร ภมรมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาล และหนึ่งในสมาชิกแรกเริ่มของคณะราษฎร

สำหรับแบบของพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 ที่คณะกรรมการจัดสร้างสรุปเป็นแบบสุดท้ายนั้น จะจัดสร้างเป็นพระบรมรูปประทับบนพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ในท่าพระราชทานรัฐธรรมนูญ ขนาดสามเท่าครึ่ง ประดิษฐาน ณ ตอนกลางของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยรื้อป้อมกลางอนุสาวรีย์และพานรัฐธรรมนูญออก รวมทั้งปีกทั้ง 4 ด้าน

ถึงกระนั้น การสร้างอนุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 ตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็ไม่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. เพราะเกิดปัญหาติดขัดเรื่องงบประมาณ ทำให้โครงการหยุดชะงัก กระทรวงการคลังซึ่งมี พลตรี ประยูร เป็นรัฐมนตรีไม่สามารถจัดหางบประมาณจัดสร้าง 1 ล้านบาทได้ ครั้นคณะกรรมการจัดสร้างขอให้จอมพล ป. อนุมัติงบฯ จากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล "แต่จอมพล ป. มีคำสั่งว่าเงินสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ใช้จ่ายไปหมดแล้ว ไม่อาจพิจารณาแบ่งให้ตามที่เสนอได้" 

ทั้งหมดถูกมองจากสายตานักประวัติศาสตร์ว่านั่นเป็นเพราะว่า จอมพล ป. "ไม่ปรารถนาให้โครงการสร้างอนุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ ดำเนินการต่อได้" เห็นได้จากความเห็นของจอมพล ป. ที่กล่าวว่า "เมื่อยังไม่มีเงินก็ให้รอไปก่อน ส่วนการสร้างที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลางนั้น ดูจะไม่เหมาะสม"

หลังจากนั้นโครงการได้เงียบหายไป ไม่มีการนำเรื่องกลับมาพิจารณาอีกตลอดสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ก็กลับมาอีกครั้งในปี 2512 ในสมัยรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร พร้อม ๆ กับการเสนอสร้างอนุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ ที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภาใหม่ จากสมาชิกสภาบางราย  แต่ในที่สุดการสร้างอนุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ กลับสำเร็จลุล่วงได้ในปี 2523 โดยตั้งอนุสาวรีย์ที่หน้าอาคารรัฐสภาเดิม อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตย ปัจจุบันถูกย้ายไปแล้วหลังเริ่มใช้งานรัฐสภาใหม่ที่เกียกกาย

ตึกสองฝั่งราชดำเนินกลาง ตึกแถวสมัยใหม่และย่านการค้าของพระนคร

ก่อนที่ถนนราชดำเนินกลางกลายเป็นหลายฉากสำคัญทางการเมือง ถนนสายนี้คือย่านการค้าล้ำสมัยในยุคแรกเริ่มของประชาธิปไตย

กลุ่มตึกสองฝั่งถนนราชดำเนินกลางที่ตั้งตระหง่านจนถึงปัจจุบัน ถูกสร้างขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและมีพิธีเปิดตึกอย่างเป็นทางการในปี 2484

บทความ "กำเนิดตึกแถวสองฝั่งถนนราชดำเนิน ที่มาของฉายา 'ป้อมปราการ' ประชาธิปไตย" บนเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม บรรยายไว้ว่า ถนนราชดำเนินถูกขยายให้กว้างขึ้นในช่วงการฉลองการเกิดขึ้นของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และมี "ตึกแถวสมัยใหม่ขึ้นเรียงรายเต็มสองฟากถนนเพื่อเป็นย่านการค้า กับทางเท้าที่หน้าตึกให้มีขนาดกว้างพอสำหรับการมาชุมนุมของประชาชนเพื่อดูงานสำคัญต่าง ๆ ของชาติ"

นายจิตรเสน (หมิว) อภัยวงศ์ คือสถาปนิกผู้ออกแบบตึกเหล่านี้ เขาเป็นสถาปนิกคนสำคัญในการออกแบบสถาปัตยกรรมในยุคนั้น ผลงานที่สำคัญ เช่น ตึกโดมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การออกแบบได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุคใหม่ ให้ความสำคัญกับรูปทรงเรขาคณิต หลังคาตัดไม่มีจั่ว ซึ่งเป็นความนิยมในงานทางสถาปัตยกรรมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยลักษณะของอาคารรูปทรงเช่นนี้ยังปรากฏในอาคารอีกหลายแห่งในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามอีกด้วย เช่น กลุ่มอาคารที่สร้างในยุคเดียวกันใน จ.ลพบุรี เมืองที่ถูกวางไว้ให้เป็นเมืองใหม่

ที่มาของภาพ, หนังสือ กรุงเทพฯ 2489-2539 (Bangkok 1946-1996

สไตล์ "อาร์ตเดโค" ของสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในยุคช่วงต้นของคณะราษฎร อันมีลักษณะเรียบ เกลี้ยง ไม่มีลวดลายไทย หลังคาตัดแบนเรียบ เป็นตึกและงานสถาปัตยกรรมที่ รศ.ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ เสนอในงานวิชาการของเขาว่า "เป็นภาษาทางสถาปัตยกรรมที่กำลังพูดถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตย ความเสมอภาคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง" หรือว่าสถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎรนั่นเอง

กลุ่มอาคารศาลฎีกาหลังเก่า สัญลักษณ์เอกราชทางการศาล ที่ถูกทุบทิ้ง

กลุ่มอาคารศาลฎีกาหลังเก่า ถนนราชดำเนินใน ติดกับท้องสนามหลวง เริ่มก่อสร้างในปี 2482  เพื่อเป็นที่ระลึกเอกราชสมบูรณ์ทางการศาล ภายหลังจากมีการแก้ไขสนธิสัญญาเบาว์ริงที่มีมาแต่รัชกาลที่ 4

ถือเป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นสัญลักษณ์แทนหลัก "เอกราช" หนึ่งในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

ที่มาของภาพ, หนังสือ กรุงเทพฯ 2489-2539 (Bangkok 1946-1996)

คำบรรยายภาพ,

ที่ทำการศาลอุทธรณ์ ศาลอาญา และศาลฎีกา ก่อนการสร้างอาคารศาลฎีกาใหม่หลัง พ.ศ.2500

บทความ "บางเหตุผลที่สังคมไม่ควรยอมให้ รื้อ-สร้าง อาคารศาลฎีกาใหม่" ของ รศ.ชาตรี อธิบายไว้ว่า กลุ่มอาคารศาลฎีกาเก่าประกอบด้วยหลายอาคาร แต่กลุ่มอาคารที่สำคัญที่สุดและไม่ควรถูกรื้อคือ กลุ่มอาคารรูปตัววี ซึ่งออกแบบขึ้นมาในครั้งเดียวกัน เพื่อให้เป็นกลุ่มอาคารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมอย่างครบวงจร

สถาปนิกผู้ออกแบบ คือ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ ข้าราชการกรมศิลปากร ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมหลายชิ้นในช่วงเวลานั้น  

กลุ่มอาคารมีรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมโมเดิร์น ในทศวรรษ 2480 ด้านหน้ามีเสา 6 ต้น ที่สื่อถึงหลัก 6 ประการ กลุ่มอาคารทยอยก่อสร้างทีละปีกจนแล้วเสร็จสมบูรณ์และทำพิธีเปิดในปี 2506

เริ่มมีแนวคิดรื้ออาคารนี้มาตั้งแต่ปี 2529 คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นเห็นชอบให้มีการรื้อและสร้างใหม่ในที่เดิม และในปี 2535 ก็ได้มีมติเห็นชอบให้ก่อสร้างอาคารศาลฎีกาใหม่ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์

การริเริ่มให้มีการรื้อหลังจากอาคารใช้งานไปเพียง 23 ปี ทำให้ รศ.ดร.ชาตรี มองว่าเหตุผลย่อมไม่ใช่เรื่องความเสื่อมสภาพของอาคาร แต่เป็น "ความไม่พอใจในรูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์นของคณะราษฎร ที่ในสายตาของคนทั่วไปแล้ว ไม่มีความเป็นไทยเท่าที่ควร"

การรื้อถอนเพื่อสร้างใหม่เกิดขึ้นในปี 2556 จากสถาปัตยกรรมโมเดิร์นยุคคณะราษฎร อาคารศาลฎีกาใหม่ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ ใช้งบประมาณผูกพัน 2550-2556 วงเงิน 3,700 ล้านบาท สำนักงานศาลยุติธรรมเวลานั้น อ้างเหตุว่าตึกมีสภาพเสื่อมโทรม พื้นที่ใช้งานไม่เพียงพอ

คำบรรยายภาพ,

อาคารศาลฎีกาที่ก่อสร้างใหม่ เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์ หน่วยงานของศาลได้กลับเข้าใช้งานในอาคารแห่งใหม่เมื่อต้นปี 2562

หนึ่งในเหตุผลการคัดค้านจากภาคประชาชนและนักวิชาการ คือ กฎหมายการสร้างอาคารในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในที่ห้ามสูงเกิน 16 เมตร แต่อาคารศาลฎีกาใหม่ที่จะก่อสร้างสูงกว่า 32 เมตร โดยใช้ข้อยกเว้นเป็นกรณีพิเศษจากมติ ครม. ในปี 2530 กรณีทำให้ถูกมองว่าเป็นการใช้กฎหมายสองมาตรฐาน

ความเปลี่ยนแปลงในการรื้อและสร้างใหม่ของกลุ่มอาคารศาลฎีกา ในทัศนะของ รศ.ดร.ชาตรี สรุปไว้ว่า เป็นการร่วมกันระหว่างมายาคติของเอกลักษณ์ไทยในทางสถาปัตยกรรมแบบ "หลังคาจั่วทรงสูง" บวกกับ "กระแสประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมที่ต้องการลบความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรออกไปจากสังคม" ตึกอาคารเหล่านี้จึงต้องถูกรื้อทำลายลงและสร้างใหม่ ในที่สุด

ศาลาเฉลิมไทย โรงมหรสพที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ บอกว่า "ต่ำทราม" กว่าวัด

เคยมีโรงภาพยนตร์ตั้งอยู่ตรงหัวมุมถนนราชดำเนินกลางตัดกับถนนมหาไชยที่ตั้งของลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ในปัจจุบัน 

ศาลาเฉลิมไทย เริ่มสร้างเมื่อปี 2483 ออกแบบโดยสถาปนิกคนเดียวกับผู้ออกแบบตึกที่ราชดำเนิน โรงมหรสพที่ต่อมาเป็นโรงภาพยนตร์ ถูกรื้อถอนในปี 2532 สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เพราะบดบังทัศนียภาพของโลหะปราสาท วัดราชนัดดา ก่อนสร้างลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ขึ้นมาบริเวณนั้น

ที่มาของภาพ, Wasawat lukharang/bbc thai

การรื้อถอนถูกมองจากนักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมว่าเป็นความพยายามเบียดขับความทรงจำคณะราษฎร สวนทางกับปัญญาชน "ฝ่ายอนุรักษ์นิยม" อย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขาได้เขียนไว้ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เมื่อมีการทุบทิ้งศาลาเฉลิมไทยว่า

ที่มาของภาพ, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

"…การสร้างศาลาเฉลิมไทย ณ ที่นั้น เป็นการปิดบังวัดราชนัดดาโดยสิ้นเชิง…  แทนที่จะเห็นวัดราชนัดดาอันเป็นสิ่งสวยงามกลับแลเห็นโรงหนังเฉลิมไทยอันเป็นโรงมหรสพและมีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ซึ่งต่ำทรามกว่าวัดราชนัดดาเป็นอย่างยิ่ง"

จากอดีตสู่อนาคตของตึกย่านราชดำเนิน

ท่ามกลางปรากฏการณ์หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญหาย อนุสาวรีย์ที่มีรากประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกับผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถูกย้ายอย่างไร้ร่องรอย หรือการเปลี่ยนชื่อสถานที่ หลังการรัฐประหาร 2557 อีกความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ คือ การปรับปรุงตึกริมถนนราชดำเนินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าอาคารริมถนนราชดำเนิน

เดือน ม.ค. 2563 เว็บไซต์สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เผยแพร่แบบการปรับปรุงภาพลักษณ์สถาปัตยกรรมภายนอกอาคารที่ถนนราชดำเนินกลางที่ปรับปรุงจากสถาปัตยกรรมแบบเดิม เป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกในช่วงรัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 เริ่มที่อาคารบริเวณถนนด้านสะพานผ่านฟ้าลีลาศ 2 อาคาร คือ อาคารเทเวศประกันภัย และอาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์

ที่มาของภาพ, Wasawat lukharang/bbc thai

หลังมีกระแสวิจารณ์จากผู้ติดตามการเมืองในทิศทางว่านี่อาจเป็นความเคลื่อนไหวเกี่ยวเนื่องกับความเปลี่ยนแปลงของมรดกทางวัตถุของผู้ก่อการปฏิวัติสยาม แบบการปรับปรุงอาคารได้ถูกนำออกจากเว็บไซต์

บีบีซีไทยติดต่อไปยังสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เพื่อขอคำอธิบาย แต่ไม่มีการตอบรับ

ที่มาของภาพ, facebook/Skyline Thailand

คำบรรยายภาพ,

แบบการปรับปรุงสถาปัตยกรรมด้านนอกอาคารที่เผยแพร่ในเว็บไซต์สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ก่อนไม่สามารถเข้าถึงได้ มีเฟซบุ๊กเพจด้านอสังหาบันทึกไว้

อย่างไรก็ตาม การให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารเทเวศประกันภัยบนเว็บไซต์ข่าวสด ภาคภาษาอังกฤษ เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้ให้ข้อมูลว่าผู้เช่าหลายรายได้รับแจ้งจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ถึงการปรับปรุงภาพลักษณ์ภายนอกอาคารในการประชุมเมื่อเดือน ก.พ. 2562 และปรับปรุงจะดำเนินการตลอดทั้งสองฝั่งถนนราชดำเนิน

วันที่ 24 มิถุนายน ปีนี้ ครบรอบ 88 ปี ของการอภิวัฒน์สยาม เป็นที่น่าสังเกตว่ากิจกรรมรำลึกต่อเหตุการณ์นี้ถูกจัดขึ้นในสถานที่อันเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยของ รศ.ดร.ชาตรี เมื่อเดือน ก.พ. นักวิชาการผู้ศึกษาสถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎร เชื่อว่าการรื้อถอนสัญลักษณ์ของคณะราษฎรจะดำเนินต่อไป

"ตราบใดที่ตัวคณะราษฎรยังเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังมีผู้คนโหยหา เรียกร้อง และรื้อฟื้น ในขณะเดียวกันประวัติศาสตร์คณะราษฎรก็ยังมีคนเกลียดชังไม่ชอบ และรู้สึกว่าเป็นรอยด่างของประวัติศาสตร์ไทย ตราบนั้นความขัดแย้งที่มันมีศูนย์กลางอยู่ที่วัตถุสัญลักษณ์และตึกสถาปัตยกรรมของคณะราษฎรก็ยังไม่มีวันจบ"

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน อาจารย์ ตจต ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf lmyour แปลภาษา ชขภใ ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 ขขขขบบบยข ่ส ศัพท์ทางทหาร military words หนังสือราชการ ตัวอย่าง หยน แปลบาลีเป็นไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง พจนานุกรมศัพท์ทหาร เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษามลายู ยาวี Bahasa Thailand กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ การ์ดจอมือสอง ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย คะแนน o-net โรงเรียน ค้นหา ประวัติ นามสกุล บทที่ 1 ที่มาและความสําคัญของปัญหา ร. ต จ แบบฝึกหัดเคมี ม.5 พร้อมเฉลย แปลภาษาอาหรับ-ไทย ใบรับรอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน PEA Life login Terjemahan บบบย มือปราบผีพันธุ์ซาตาน ภาค2 สรุปการบริหารทรัพยากรมนุษย์ pdf สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม เช็คยอดค่าไฟฟ้า แจ้งไฟฟ้าดับ แปลภาษา มาเลเซีย ไทย แผนที่ทวีปอเมริกาเหนือ ่้แปลภาษา Google Translate กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ข้อสอบโอเน็ตม.3 มีกี่ข้อ คะแนนโอเน็ต 65 ตม กรุงเทพ มีที่ไหนบ้าง