วัดประจําราชวงศ์จักรี คือวัดใด



พระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ทรงมีวัดประจำรัชกาล แต่ก็ไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ ประชาชนต่างเรียกขานกันไปเองด้วยเหตุต่างๆกัน เช่น เป็นวัดที่ทรงสร้าง วัดที่ทรงผูกพันให้ความสำคัญกับวัดนั้นเป็นพิเศษ หรือเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรังคาร พระมหากษัตริย์บางพระองค์แม้ไม่ได้ทรงสร้างวัด ก็มีวัดประจำรัชกาลได้ เพราะถือกันว่าทรงเป็นพุทธมามกะและองค์ศาสนูปถัมภกตามประเพณีและตามรัฐธรรมนูญ

วัดที่ถือว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑ ก็คือวัดพระเชตุพนวิมลคลาราม ราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อเดิมว่า วัดโพธาราม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯให้สถาปนาขึ้นใหม่โดยทรงสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร พระระเบียง แล้วพระราชทานนามใหม่

พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ถือว่าวัดโพธิ์มีความสำคัญมาก และถือเป็นพระราชประเพณีที่จะทรงบูรณะทุกรัชกาล วัดโพธิ์ได้ชื่อว่าเป็นวัดที่มีเจดีย์มากที่สุดในประเทศถึง ๙๙ องค์ มีพระพุทธรูปมากที่สุดเช่นกันถึง ๘๗๒ องค์ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระพุทธรูปที่ถูกทอดทิ้งหลังกรุงแตกมาปฏิสังขรณ์ แล้วประดิษฐานไว้ในพระวิหารคตและพระระเบียง

นอกจากนี้ยังถือกันว่า วัดโพธิ์เป็นเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย จารึกวิชาการด้านต่างๆไว้ ทั้งประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และการแพทย์ ซึ่งยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนป็นมรดกความจำของโลก

วัดโพธิ์เป็นวัดที่มีชาวต่างประเทศเข้าชมมากกว่าคนไทย เช่นเดียวกับวัดพระแก้ว มีนักท่องเที่ยวมาเยือนถึงปีละราว ๑๐ ล้านคน

วัดประจำรัชกาลที่ ๒ ก็คือ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร หรือวัดแจ้ง เป็นวัดเก่าสร้างมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อพระเจ้าตากสินทรงสร้างพระราชวังขึ้นที่กรุงธนบุรี ได้รวมเอาวัดแจ้งเข้าอยู่ในบริเวณพระราชวังด้วย และยังเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตเมื่ออัญเชิญกลับมาจากกรุงเวียงจันทน์ในปี ๒๓๒๒ ก่อนที่จะย้ายมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในปี ๒๓๒๗

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงอิศรสุนทร ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิม และทรงปฏิสังขรณ์วัดแจ้งขึ้นใหม่ จนแล้วเสร็จเมื่อได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชทานนามใหม่ว่า วัดอรุณราชธาราม และมีพระราชดำริที่จะสร้างพระปรางค์องค์เดิมที่หน้าวัดที่สูงเพียง ๑๖ เมตรให้สูงขึ้นอีก แต่ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้สร้างต่อ ใช้เวลาถึง ๙ ปีจึงได้ความสูงถึง ๘๑.๘๕ เมตร เป็นสถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นที่รู้จักดีของคนทั้งโลก และเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเทศไทย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระบรมราชสรีรังคารของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาประดิษฐานไว้ในพระอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถ และพระราชทานนามวัดใหม่อีกครั้งเป็น วัดอรุณราชวราราม

วัดประจำรัชกาลที่ ๓ ก็คือวัดราชโอรสาราม ราชวรมหาวิหาร เป็นวัดเก่าที่สร้างมาก่อนกรุงรัตนโกสินทร์เช่นกัน ชื่อเดิมคือ วัดจอมทอง ในรัชกาลที่ ๒ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้รับโปรดเกล้าฯให้ยกทัพไปสกัดทัพพม่าที่จะเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ เมื่อกระบวนเรือพระที่นั่งผ่านมาถึงวัดจอมทอง จึงทรงหยุดพักทำพิธีเบิกโขลนทวารตามตำราพิชัยสงคราม และทรงอธิษฐานขอให้ได้รับชัยชนะในการไปครั้งนี้ แต่ปรากฏว่าไม่มีข้าศึกเข้ามาตามคาด เมื่อเสด็จกลับมาจึงทรงปฏิสังขรณ์วัดจอมทองขึ้นใหม่ แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามว่า วัดราชโอรสาราม

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างวัดนี้ตั้งแต่ครั้งยังทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ และสถาปนาเป็นการส่วนพระองค์ จึงทรงออกแบบศิลปกรรมตามพระราชดำริ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่เห็นเด่นชัดก็คือไม่มีช่อฟ้าใบระกาบนหลังคาพระอุโบสถ แตกต่างไปจากวัดที่สร้างในรัชกาลอื่นๆ และถือเป็นต้นแบบศิลปกรรมของวัดที่สร้างในรัชกาลนี้

ในระหว่างการก่อสร้าง กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้เสด็จมาตุมการก่อสร้างด้วยพระองค์เอง และประทับบนพระแท่นหินที่ใต้ต้นพิกุลหน้าพระอุโบสถเป็นประจำ รับสั่งไว้ว่า "ถ้าฉันตายจะมาอยู่ที่ใต้ต้นพิกุลนี้" จากพระราชดำรัสนี้ ในรัชกาลต่อๆมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมาวัดราชโอรส จะมาทรงถวายสักการะที่พระแท่นนี้จนกลายเป็นประเพณี ทั้งการทอดกฐินพระราชทาน เจ้าหน้าที่จะตั้งเครื่องมุกไว้ทรงสักการะ ณ ต้นพิกุลนี้ทุกครั้ง

ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระบรมราชสรีรังคารของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมาประดิษฐานไว้ที่ฐานพระประธานในพระอุโบสถ

วัดประจำรัชกาลที่ ๔ ก็คือ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร เป็นวัดขนาดเล็ก มีเนื้อที่เพียง ๒ ไร่ ๒ งาน ๙๘ ตารางวา ด้านเหนือติดกับกรมแผนที่ทหาร ด้านใต้จรดวังสราญรมย์ ด้านตะวันออกติดถนนราชินี ริมคลองคูเมืองเดิม ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง เดิมเป็นสวนกาแฟของรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญ ๓ วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐ์ และเพื่ออุทิศถวายแก่คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต นิกายใหม่ที่พระองค์ตั้งขึ้น จึงถือได้ว่าเป็นวัดธรรมยุติกนิกายวัดแรก เมื่อเริ่มสร้างพระราชทานนามว่า วัดราชประดิษฐสถิตธรรมยุติการาม เมื่อสร้างเสร็จจึงได้เปลี่ยนเป็น วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

แม้วัดราชประดิษฐ์ฯจะมีพื้นที่แคบๆ แต่ก็เต็มไปด้วยศิลปะที่งดงามอย่างยากจะหาดูได้ โดยเฉพาะบานประตูประดับมุกฝีมือช่างญี่ปุ่นจากเมืองนางาซากิ ซึ่งเป็นงานช่างชั้นสูง และพระที่นั่งทรงธรรมอาคารที่มีศิลปตะวันกตกพบตะวันออก ภายในยังมีธรรมมาสน์หนึ่งเดียวที่ยอดเป็นพระมหาพิชัยมงกุฏ หนึ่งในเครื่องราชเบญจราชกกุธภัณฑ์ ที่ถอดแบบมาเป็นยอดธรรมมาสน์

วัดประจำรัชกาลที่ ๕ คือ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรมหาวิหาร เดิมมีชื่อว่า วัดแหลม เป็นวัดเก่าสร้างเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน ที่เรียกกันว่าวัดแหลมก็เพราะตั้งอยู่บริเวณสวนที่เป็นแหลมยื่นออกไปในนา บ้างก็เรียกว่า วัดไทร เพราะมีต้นไทรใหญ่อยู่ในวัด เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงส่งกองทัพรักษาพระนครออกมาตั้งรับเจ้าอนุวงศ์ที่ทุ่งส้มป่อย กองทัพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพนมวัน กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ ทรงมาตั้งทัพที่วัดแหลม แต่เจ้าอนุเจอฤทธิ์ “ย่าโม” เลยมาไม่ถึง กรมพระพิพิธฯพร้อมกับพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกันอีก ๔ พระองค์ ได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแหลม พร้อมกับสร้างเจดีย์เรียงราย ๕ องค์ไว้หน้าวัด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามใหม่ว่า วัดเบญจบพิตร หมายถึงวัดของเจ้านาย ๕ พระองค์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชวังดุสิตนั้น ในที่ดินที่ซื้อมามีวัดโบราณอยู่ ๒ วัด วัดหนึ่งคือ วัดดุสิต อยู่ในสภาพทรุดโทรม ซึ่งกำหนดจะสร้างพลับพลาขึ้นตรงนั้น กับอีกวัดเป็นวัดร้าง ซึ่งจำต้องใช้ที่ดินของวัดตัดถนน จึงทรงกระทำผาติกรรมสร้างวัดใหม่ทดแทนตามประเพณี ทรงเลือกวัดเบญจบพิตรสถาปนาตามพระราชดำริที่จะให้เป็นวัดใหญ่และสร้างอย่างประณีต ดีกว่าจะสร้างวัดเล็กๆ ๒ วัด โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เป็นผู้ทรงออกแบบพระอุโบสถ และเสด็จมาพระราชทานวิสุงคามสีมาและนามวัดใหม่ว่า วัดเบญจมบพิตร หมายถึงวัดของรัชกาลที่ ๕ พร้อมถวายที่ดินซึ่งขนานนามว่า ดุสิตวนาราม ให้เป็นที่วิสุงคามสีมาแก่วัดด้วย โปรดให้เรียกนามรวมกันว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

ในคราวพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการอัญเชิญพระบรมราชสรีรังคารมาประดิษฐานที่บัลลังก์พระพุทธชินราชในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ จึงถือกันว่าวัดนี้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๕

วัดเบญจมบพิตรฯ เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลกว่า “The Marple Temple” เพราะพระอุโบสถประดับด้วยหินอ่อนคุณภาพดีที่สุดจากอิตาลี และงดงามด้วยศิลปสถาปัตยกรรมไทย จึงเป็นอีกวัดหนึ่งที่มีนักท่องเที่ยวเข้าชมมาก

วัดประจำรัชกาลที่ ๖ ก็คือ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระราชนิยมที่จะสร้างโรงเรียนมากกว่าสร้างวัด ทรงมีพระราชดำริว่าพระอารามนั้นมีมากแล้ว การสร้างพระอารามสมัยนั้นก็เพื่อให้เป็นที่ศึกษาของเยาวชน จึงทรงมีพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนขึ้นแทน โดยสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ทรงมีความสำคัญต่อวัดบวรนิเวศอย่างมาก โดยในปี ๒๔๕๘ มีพระราชดำริว่า วัดรังษีสุทธาวาส ที่สร้างขึ้นเมื่อปี ๒๓๖๖ ทรุดโทรมมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รวมกับวัดบวรนิเวศวิหารที่อยู่ติดกันเป็นวัดเดียว เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ได้มีการอัญเชิญพระบรมราชสรีรังคารมาปรดิษฐานไว้ที่ใต้บัลลังก์พระพุทธชินสีห์ พระประธานในพระอุโบสถ จึงถือกันว่าวัดบวรฯเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๖

วัดประจำรัชกาลที่ ๗ และที่ ๕ คือ วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมารามราชวรมหาวิหาร เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นในปี ๒๔๑๒ โดยทรงซื้อวังพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งบ้านเรือนข้าราชการและราษฎรในย่านนั้น สร้างวัดขึ้นตามโบราณราชประเพณีที่สมเด็จพระบรมราชบุพการีได้ทรงบำเพ็ญมา คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างวัดพระเชตุพนฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสร้างวัดอรุณฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างวัดราชโอรส และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างวัดราชประดิษฐ์ฯ จึงถือกันว่าวัดราชบพิตรฯเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๕ ด้วย

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เสด็จสวรรคต เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ ประเทศอังกฤษ ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิกลับประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระบรมราชสรีรางคารมาบรรจุไว้ที่ฐานพุทธบัลลังก์หินอ่อนพระพุทธอังคีรส และเมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเชิญพระราชสรีรางคารมาบรรจุไว้ที่ฐานพุทธบัลลังก์เช่นเดียวกัน จึงถือกันว่าวัดราชบพิตรฯเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๗ ด้วย

วัดประจำรัชกาลที่ ๘ คือ วัดสุทัศน์เทพวราราม ราชวรมหาวิหาร พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงครองราชย์อยู่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ พระองค์ได้ทรงประกอบพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธรูปในพระอารามสำคัญหลายแห่ง โดยเฉพาะวัดสุทัศน์เทพวราราม มีพระราชดำรัสว่า “ที่นี่สงบเงียบน่าอยู่จริง” เมื่อเสด็จสวรรคตจึงมีการอัญเชิญพระบรมราชสรีรังคารมาประดิษฐาน ณ วัดนี้ และสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้นที่ลานของพระวิหารหลวง พระบรมรูปหล่อด้วยทองสำริดขนาดเท่าพระองค์จริง ฉลองพระองค์ชุดจอมทัพ และถือกันว่าวัดสุทัศน์ฯเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๘

วัดประจำรัชกาลที่ ๙ คือ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เช่นเดียวกับรัชกาลที่ ๖ หลายคนกล่าวว่า วัดพระราม ๙ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงสร้าง เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๙ วัดพระราม ๙ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพระราชดำริบำบัดน้ำเสียในกรุงเทพมหานคร โดยใช้บึงพระราม ๙ ในที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่นั้นให้ดีขึ้น พร้อมกันนั้นได้ทรงสร้างวัดขึ้นในที่ดินซึ่งมีผู้น้อมเกล้าฯถวาย ให้เป็นศูนย์รวมใจและศรัทธาของราษฎร มีพระราชประสงค์ให้เป็นวัดเล็กๆ เหมาะสมกับพื้นที่ 

ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ทรงเชิญพระบรมราชสรีรางคารรัชกาลที่ ๙ บรรจุไว้ที่ฐานพุทธบัลลังก์หินอ่อนพระพุทธอังคีรส ภายในพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร แต่วัดบวรฯเป็นวัดที่ทรงผนวชด้วย จึงถือกันว่าวัดบวรนิเวศวิหารเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๙

วัดประจำรัชกาลที่ ๑๐ คือ วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร อยู่ในซอยสุขุมวิท ๑๐๑/๑ แขวงบางจาก เขตพระโขนง เดิมชื่อว่า วัดทุ่งสาธิต คหบดีชาวลาวที่อพยพมาจากกรุงเวียงจันทน์เป็นผู้สร้างตั้งแต่ปี ๒๓๙๙ หลังจากผู้สร้างถึงแก่กรรม และเจ้าอาวาสองค์สุดท้ายมรณภาพ ก็ไม่มีผู้อุปถัมภ์ ถูกทอดทิ้งให้เป็นวัดร้างอยู่ถึง ๕๐ ปี เพราะอยู่กลางทุ่ง ห่างไกลชุมชน จนในปี ๒๕๐๖ พระโสภณวชิรธรรม หรือ เจ้าคุณสีนวล ได้ย้ายจากวัดยางสุทธาราม ฝั่งธนบุรี มาปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ต่อมาในปี ๒๕๐๘ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ รับวัดทุ่งสาธิตไว้ในพระอุปถัมภ์ เป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้เสด็จไปถวายพระกฐินหลายครั้ง และเมื่อได้ขึ้นครองราชย์ ผู้คนจึงถือกันว่า วัดวชิรธรรมสาธิตเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑๐ ทำให้วัดที่เคยอยู่กลางทุ่ง คึกคักขึ้นมาอย่างมากในปัจจุบัน






Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน อาจารย์ ตจต ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf lmyour แปลภาษา ชขภใ ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 ขขขขบบบยข ่ส ศัพท์ทางทหาร military words หนังสือราชการ ตัวอย่าง หยน แปลบาลีเป็นไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง พจนานุกรมศัพท์ทหาร เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษามลายู ยาวี Bahasa Thailand กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ การ์ดจอมือสอง ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย คะแนน o-net โรงเรียน ค้นหา ประวัติ นามสกุล บทที่ 1 ที่มาและความสําคัญของปัญหา ร. ต จ แบบฝึกหัดเคมี ม.5 พร้อมเฉลย แปลภาษาอาหรับ-ไทย ใบรับรอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน PEA Life login Terjemahan บบบย มือปราบผีพันธุ์ซาตาน ภาค2 สรุปการบริหารทรัพยากรมนุษย์ pdf สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม เช็คยอดค่าไฟฟ้า แจ้งไฟฟ้าดับ แปลภาษา มาเลเซีย ไทย แผนที่ทวีปอเมริกาเหนือ ่้แปลภาษา Google Translate กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ข้อสอบโอเน็ตม.3 มีกี่ข้อ คะแนนโอเน็ต 65 ตม กรุงเทพ มีที่ไหนบ้าง