สถานที่ใดต่อไปนี้ที่เป็นหลักฐานยืนยันว่าพระพุทธศาสนาได้เข้าสู่ประเทศเนปาล

เจาะลึกพุทธศาสนาทั้งนิกายเถรวาท และมหายานในประเทศเนปาลในรอบกว่า 2500 ปี ซึ่งมีทั้งยุคที่รุ่งเรือง และเสื่อมสลาย อันเป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

รายงานพิเศษ พุทธพลิกโลก ตอน 4 : ไทย- เนปาล เชื่อมสัมพันธ์ผ่านพุทธศาสนา

เจาะลึกพุทธศาสนาทั้งนิกายเถรวาท และมหายานในประเทศเนปาลในรอบกว่า 2500 ปี ซึ่งมีทั้งยุคที่รุ่งเรือง และเสื่อมสลาย  อันเป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ประเทศไทย นับว่ามีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูพุทธศาสนานิกายเถรวาท โดยเฉพาะการจัดสร้างวัดไทย และส่งพระธรรมฑูตไปเผยแผ่ศาสนา เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ เนปาล ผ่านพุทธศาสนา

แม้ปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ของเนปาลจะนับถือศาสนาฮินดู แต่ประเทศเนปาลมีความศรัทธาเรื่องพระพุทธเจ้ามานานแล้ว  มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่จารึกพระนามของพระพุทธเจ้าหลายพระองค์  เช่นที่วัดสวยมภูนาถ มีรูปเคารพของพระพุทธเจ้าทีปังกร และพระพุทธเจ้าโคตมะปรากฏให้เห็นอยู่ วัดแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระธรรมในพุทธศาสนา และเป็นสถานที่แสวงบุญสำคัญของชาวพุทธ และชาวฮินดูตั้งอยู่บนเนินเขาทางทิศตะวันตกของเมืองกาฎมัณฐุ มีอายุกว่า 2500 ปี

ตัวองค์สถูปสวยมภูนาถ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เป็นแบบฉบับของสถูปพุทธก่อสร้างตามหลักพุทธสถาปัตยกรรม แต่ละส่วนมีความหมายเชิงสัญลักษณ์แฝงอยู่

องค์สถูปครึ่งทรงกลมสีขาว เป็นสัญลักษณ์แทนธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ  ส่วนดวงตาที่อยู่โดยรอบทั้ง 4 ทิศ  แทนพระเนตรเห็นธรรมของพระพุทธองค์ที่คอยปกป้องผู้คนไม่ให้ทำชั่ว

ยอดฉัตรสีทอง 13 ชั้นเหนือองค์สถูป เป็นสัญลักษณ์แทนระดับธรรม 13 ขั้นก่อนบรรลุนิพพาน  ส่วนธงเล็กๆ หลากสีสัน ที่ปลิวไสวรอบองค์สถูป เป็นธงที่มีบทสวดอยู่บนผืนธง เป็นความเชื่อชาวพุทธฝ่ายมหายาน สายทิเบตว่า เมื่อลมพัดธงจะโบกสะบัด คำสวดมนต์จะลอยขึ้นสู่สรวงสวรรค์

พุทธศาสนาในเนปาลก็เช่นเดียวกับหลายประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ คือแตกออกเป็นหลายนิกาย จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พุทธศาสนาแบบหินยาน หรือเถรวาท เข้ามาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชและสถิตอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง  ต่อมาช่วงราชวงศ์ลิจฉวี เป็นช่วงที่พุทธศาสนานิกายมหายานรุ่งเรืองมาก มีทั้งการเผยแพร่พระธรรมคำสอน งานพุทธศิลป์ ที่ยังปรากฏอยู่ถึงปัจจุบัน 

นิกายเถรวาท เป็นนิกายหลักที่ได้รับการนับถือในศรีลังกา และประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ไทย กัมพูชา ลาว และพม่า  นิกายเถรวาทเกิดขึ้นหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 100ปี มีการประชุมคณะสงฆ์ สังคยาคำสอนครั้งที่ 2 แต่มีความเห็นต่างในหมู่สงฆ์ จึงแตกเป็น 2 นิกาย คือ เถรวาที และมหาสังฆิกะ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของมหายาน

นิกายเถรวาท หมายถึง คณะสงฆ์กลุ่มที่ยึดคำสั่งสอนพระพุทธเจ้า ทั้งถ้อยคำ เนื้อความ และภาษาบาลี ที่สังคยานาอย่างเคร่งครัด

ส่วนนิกายมหายานเกิดขึ้นหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน 700 ปีนับถืออย่างกว้างขวางทั้งในอินเดีย เนปาล จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม จุดเด่นของนิกายนี้คือ แนวคิดเรื่องการบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์สร้างบารมีธรรมเพื่อช่วยเหลือสรรพชีวิตไปสู่นิพพานเปรียบเสมือนการขนสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นวัฏสงสาร แตกต่างจากเถรวาท  ที่มุ่งเน้นความหลุดพ้นเป็นอรหันต์สิ้นกิเลสเฉพาะตน

แม้พุทธนิกายทั้ง 2 จะมีความแตกต่างด้านแนวคิด แต่มีจุดร่วมที่แก่นแท้ของคำสอน ที่มุ่งสู่เป้าหมายสูงสุด คือ นิพพาน  ดังที่หลวงวิจิตรวาทการ กล่าวไว้ว่า เถรวาท และมหายาน เปรียบเหมือน 2 ปีกของพุทธศาสนา เถรวาทสร้างความมั่นคงด้วยพระธรรมวินัย ส่วนมหายานสร้างความแผ่ไพศาลให้พุทธศาสนา ดำรงคงอยู่อย่างยั่งยืน

ยุคมืดของพุทธศาสนาในเนปาล คือ หลังคริสตวรรษที่ 14 เกิดการปฏิวัติสังคมเนปาล โดยบังคับให้มีการแบ่งชั้นวรรณะ และบังคับให้พระภิกษุในพุทธศาสนาต้องสึกออกไปจำนวนมาก ยุคต่อๆมา ยังมีการสั่งทำลายวัดวาอารามและคัมภีร์ของพุทธศาสนาด้วย มีการกีดกันทางศาสนา ห้ามออกบวช ทำให้นักบวชชาวเนปาลต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ประเทศใกล้เคียง

พุทธศาสนานิกายเถรวาทในเนปาล เพิ่งได้รับการฟื้นฟูเมื่อ 60 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศที่เป็นหลักสำคัญในการฟื้นฟูพุทธศาสนาแบบเถรวาท คือ ไทย  พม่า และศรีลังกา ประเทศไทยเป็นกำลังสำคัญในทางตรง คือการส่งพระพุทธรูป  พระไตรปิฎก และส่งพระธรรมทูตไปเผยแผ่ศาสนา มีการจัดสร้างวัดไทยหลายแห่ง นอกจากนั้นยังอุปถัมป์พระภิกษุสามเณรชาวเนปาล ศึกษาพระปริยัติธรรมในประเทศไทย

แม้เนปาลจะมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา โดยเฉพาะสถานที่พระประสูติแห่งองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ศาสนาพุทธก็หนีไม่พ้นกฎของไตรลักษณ์ หมายถึง การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป พุทธศาสนาในเนปาลจึงมีทั้งยุครุ่งเรืองและเสื่อมสลาย

กว่า 2500 ปี พระพุทธเจ้าทรงมอบสิ่งที่ดีที่สุด แก่มวลมนุษยชาติ สิ่งนั้นคือ พระธรรม ที่ใช้เป็นกรอบในการดำเนินชีวิตไปสู่ความเจริญสูงสุด เพื่อความสงบร่มเย็นของสังคม และสันติภาพที่ยังยืนของโลก

ตามรอยพระพุทธเจ้า จากเนปาลสู่อินเดีย ภารกิจแห่งจิตวิญญาณเพื่อตามหามหาบุรุษผู้แสวงหาโมกขธรรม

ผมกำลังเดินเท้าผ่านด่านพรมแดนโสเนาว์ลีปราการด่านสุดท้ายในรัฐอุตตรประเทศของอินเดีย ก่อนเข้าสู่เขตประเทศเนปาลพร้อมนักท่องเที่ยววัยแสวงหาอีกหลายสิบชีวิต พวกเขาล้วนมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่สาครมาทา “หน้าผากแห่งท้องฟ้า” หรือชื่อในภาษาท้องถิ่นของเอเวอเรสต์ ยอดเขาสูงที่สุดในโลก ทว่าเส้นทางของผมนั้นต่างออกไป เพราะการมาเยือนเนปาลครั้งนี้ คือการตามรอยจาริกของมหาบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งอุทิศชีวิตแสวงหาความจริงอันยิ่งใหญ่ทว่าธรรมดาสามัญอย่างยิ่ง จนค้นพบสัจจธรรมที่เรียกว่า “ธรรมะ” อันนำไปสู่การพ้นทุกข์ มหาบุรุษผู้นั้นคือพระศาสดาพุทธโคดม หรืออดีตเจ้าชายสิทธัตถะ

จากพรมแดนเนปาล ผมโดยสารรถประจำทางท้องถิ่นไปยังตลาดเมืองเตาลิฮาวา เพื่อต่อรถไปยังเมืองติเลาราโกฏ [เมืองโบราณติเลาราโกฏ (Tilaurakot) ในปัจจุบัน อยู่ห่างจากกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาลประมาณ 300 กิโลเมตร] ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงกบิลพัสดุ์ เมืองหลวงแห่งแคว้นสักกะ แคว้นอิสระที่ปกครองตนเองโดยเหล่าตระกูลศากยวงศ์ สถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะและประทับอยู่จนกระทั่งพระชนมายุ 29 พรรษา

ทุกวันนี้ กรุงกบิลพัสดุ์เหลือเพียงกองอิฐ ซากปรักหักพัง และเนินดินที่สูงไม่เกินสองเมตร บันทึกในคัมภีร์โบราณของพุทธศาสนาทั้งสองนิกายใหญ่ คือเถรวาทและมหายาน กล่าวถึงการก่อสร้างกรุงกบิลพัสดุ์ไว้ว่า ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มเชิงเขาหิมาลัย และเต็มไปด้วยต้นสักกะจำนวนมาก [ปัจจุบันไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัดว่า ต้นสักกะคือพรรณไม้ชนิดใด แต่บริเวณรอบ ๆ ซากโบราณสถานมีต้นตะคร้อขนาดใหญ่และต้นทองกวาวขึ้นอยู่ทั่วไป]

พระสงฆ์ในพุทธศาสนาต่างนิกายล้อมวงนั่งสมาธิรอบต้นโพธิ์ริมสระสรงสนาน ณ ลุมพินีวันสถานที่ประสูติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะลุมพินีวันเป็นหนึ่งในสี่สังเวชนียสถานปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล

ขณะที่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งเสนอว่า นครแห่งนี้เกิดจากเหล่าราชบุตรพลัดถิ่นของพระเจ้าโอกกากราชที่อาจหาญสร้างบ้านแปลงเมืองด้วยไพร่พลและกำลังคนของตนพระเจ้าโอกกากราชจึงพระราชทานคำชมว่า “ศากยะ” แปลว่าผู้มีความสามารถ จึงเป็นอีกหนึ่งที่มาของศากยวงศ์

แม้กรุงกบิลพัสดุ์จะเหลือเพียงกองซากอิฐ แต่ความพยายามฟื้นฟูสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ดำเนินการมายาวนานแล้ว ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2439 ดร.เอ. เอ. ฟือห์เรอร์ (Alois Anton Fûhrer) นักโบราณคดีชาวเยอรมัน และคัคก้า ซัมเชอร์ จุง บาฮาดูร์ ราณา นายทหารชาวเนปาล ได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลอังกฤษให้เข้ามาฟื้นฟูอุทยานลุมพินี สถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ อจิตมัน ตามัง สมาชิกและเลขานุการของกองทุนพัฒนาลุมพินี (Lumbini Development Trust) บอกว่า ”เจ้าชายประสูติที่นี่ครับ ผมคิดว่าถ้ารวมหลักฐานต่าง ๆ ที่ค้นพบมากมายที่นี่ รวมทั้งสถานที่ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ น่าจะมากและหนักแน่นพอที่จะยืนยันได้ว่าเจ้าชายสิทธัตถะมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ครับ”

อุทยานลุมพินีเป็นหนึ่งในสังเวชนียสถานสี่ตำบลในพุทธศาสนา อยู่ห่างจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปทางตะวันออกประมาณ 25 กิโลเมตร ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตประเทศเนปาล จารึกหลายฉบับทั้งของพระเจ้าอโศกมหาราช และหลวงจีนฟาเหียน นักบวชชาวจีนที่เดินทางรอนแรมมายังชมพูทวีปในช่วงพุทธศตวรรษที่สิบเพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎก ต่างชี้ว่า ที่นี่คือสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ

เหล่านักบวชฮินดูกำลังประกอบพิธีคงคาอารตีหรือพิธีบูชาไฟ บริเวณริมฝั่งแม่นํ้าคงคา เมืองพาราณสี ทุกเช้าและคํ่า เรื่องราวในพุทธประวัติบันทึกว่า กลุ่มชฎิลสามพี่น้องสกุลกัสสปโคตรผู้นำลัทธิบูชาไฟ และเหล่าสาวก เกิดความเลื่อมใสศรัทธาและยอมรับคำสอนของพระพุทธองค์

หลักฐานสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามคือจารึกข้อความอักษรพราหมี (นักวิชาการบางคนแย้งว่าเป็นภาษามคธ) บนเสาอโศก เสาหินทรายขนาดใหญ่ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่สาม ถอดความได้ว่า ”…สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี (พระนามของพระเจ้าอโศกมหาราช) ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่ออภิเษกแล้วได้ 20 ปี ได้เสด็จมาด้วยพระองค์เอง ด้วยว่าพระพุทธศากยมุนีได้ประสูติ ณ ที่นี้ โปรดให้สร้างรูปสลักหิน (บางท่านแปลว่ารั้วหิน) และประดิษฐานหลักศิลาไว้เป็นที่หมาย โดยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประสูติ ณ สถานที่นี้ จึงโปรดให้ยกเว้นภาษีแก่หมู่บ้านลุมพินี และทรงให้เสียแต่เพียงหนึ่งในแปดของผลผลิต เป็นค่าภาษีที่ดิน…„ [ถอดเป็นภาษาไทยโดยเจ้าคุณพระราชธรรมมุนี]

ข้อความในจารึกและลักษณะทางภูมิศาสตร์สนับสนุนความเป็นไปได้ที่ว่า เจ้าชายสิทธัตถะน่าจะประสูติในสวนป่าลุมพินีแห่งนี้ เนื่องจากที่ตั้งของสวนป่าอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ บ้านเกิดของพระนางมายาเทวี พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ และพระมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อใกล้ถึงเวลามีพระประสูติกาล พระนางน่าจะมีพระประสงค์เสด็จกลับสู่กรุงเทวทหะ เพื่อให้กำเนิดราชบุตรตามธรรมเนียมพราหมณ์ แต่อาจมีเหตุสุดวิสัยบางประการที่ทำให้พระนางมีพระประสูติกาลในสวนป่าแห่งนี้

ภาพสลักแสดงการประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะซึ่งพบในประเทศปากีสถาน มีอายุอยู่ในราวคริสต์ศตวรรษที่หนึ่งชี้ว่า พระนางมายาเทวีมีพระประสูติกาลพระโอรสขณะทรงยืนโน้มต้นสาละ (เถรวาท) หรือต้นอโศก (มหายาน) ทุกวันนี้ การคลอดลูกในท่ายืนไม่เพียงได้รับการพิสูจน์ว่า เป็นไปได้ในทางวิทยาศาสตร์ แต่กำลังได้รับความนิยมในโลกตะวันตก

พระพุทธรูปสลักภายในถํ้าอชันตา ที่เมืองเอารังคาบาด รัฐมหาราษฏระประเทศอินเดีย ได้ชื่อว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดในโลก และยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ หลักฐานที่ปรากฏช่วยให้นักประวัติศาสตร์ปะติดปะต่อเรื่องราวของพุทธศาสนาได้ชัดเจนขึ้น

ในยุคสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูตินั้น ศาสนาพราหมณ์แผ่อิทธิพลไปทั่วชมพูทวีป ระบบวรรณะใช้ปกครองสังคมของชาวอารยันมาช้านาน หลังประสูติได้ห้าวัน คณะพราหมณ์จำนวนหนึ่งได้ขอเข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะเพื่อตรวจดวงชะตาและลักษณะของราชกุมาร คำพยากรณ์ต่างเห็นพ้องต้องกันในสองทางคือ ”หากเจ้าชายครองฆราวาสก็จักได้เป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ แต่หากครองเพศบรรพชิตก็จักได้เป็นศาสดาเอกของโลก” (น่าสนใจที่คำพยากรณ์เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับพระมหาวีระ ศาสดาแห่งศาสนาเชน ซึ่งมีพระชนม์ชีพอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน)

แน่นอนว่าพระเจ้าสุทโธทนะย่อมทรงมุ่งหวังให้พระโอรสทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ จึงปรนเปรอความสุขให้เจ้าชายสิทธัตถะ และถ่ายทอดองค์ความรู้ชั้นสูงต่างๆ ผ่านสำนักพราหมณ์ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ทั้งศิลปศาสตร์ 18 ประการ ตลอดจนความรู้จากคัมภีร์พระเวท คัมภีร์อุปนิษัท คัมภีร์เวทางคศาสตร์ เจ้าชายหนุ่มทรงเรียนรู้จนเป็นเลิศทั้งสติปัญญาและร่างกาย

สู่เพศปริพาชก

แม่นํ้าบันกากาเวลานี้แห้งเหือดจนเห็นโคลนตมทอดยาวเป็นเนินดินกลางท้องนํ้า แม่นํ้าสายนี้ไหลมาจากเทือกเขาหิมาลัยขนาบข้างกำแพงเมืองกบิลพัสดุ์ในระยะห่างไม่ถึง200 เมตร ทุ่งข้าวสาลีทอดยาวไกลไร้สิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่ ชาวบ้านกำลังต้อนฝูงควายข้ามแม่นํ้ากลับไปยังชายคาที่พักอาศัย กลิ่นควันเผาศพมนุษย์โชยมาเป็นระยะๆ เสียงขับกล่อมบทเพลงพื้นบ้านแว่วมา

ที่นั่น หนูน้อยรากีซเพิ่งลืมตาดูโลกได้เพียง 24 วัน “แกหิวนมน่ะค่ะ” ลักษมี มารดาวัย 25 ปีของรากีซบอกผม ลักษมีเป็นชาวนาและรับจ้างทั่วไป แต่เธอต้องหยุดพักหลังให้กำเนิดบุตรี บ้านของเธอเป็นเพิงเล็กๆ ตั้งอยู่บนเนินดินติดกับกำแพงนครโบราณ ไม่มีทั้งไฟฟ้า และนํ้าประปา แมลงวันบินว่อนไปหมด มีเพียงแคร่ไม้เก่า ๆ และถุงเสื้อผ้าเป็นสมบัติในบ้าน นี่คงเป็นวิถีชีวิตที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยจากสมัยพุทธกาล

เพิงพักของลักษมีและลูกน้อย (บน) สร้างขึ้นบนเนินดินทางทิศตะวันตกของกำแพงเมืองกบิลพัสดุ์ นครโบราณที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเติบใหญ่ก่อนเสด็จออกผนวช

การค้นหาคำตอบว่า เพราะเหตุใดเจ้าชายหนุ่มจึงตัดสินพระทัยละทิ้งราชสมบัติ แล้วเสด็จออกไปครองเพศปริพาชก เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก นักประวัติศาสตร์เชื่อว่ามีหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้เจ้าชายต้องเสด็จออกจากเมือง เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์และสังคมชมพูทวีปในอดีตเราจะพบว่ายุคสมัยของเจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคสำริดเข้าสู่ยุคเหล็ก (1,200 – 200 ปีก่อนคริสตกาล) ประชากรเพิ่มขึ้นมาก ความยากจนข้นแค้น ผู้คนเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีให้เห็นเป็นปกติ น่าจะมีความเหลื่อมลํ้าระหว่างชนชั้นอย่างเห็นได้ชัด ทรัพยากรมีจำกัด ชีวิตของชาวบ้านอย่างลักษมีและลูกน้อยช่างแตกต่างจากชีวิตของชนชั้นกษัตริย์หรือเศรษฐี ตลอดจนความเบื่อหน่ายในการครองเรือนและเต็มอิ่มในโลกียะ

นอกจากนี้ในทางการเมือง ดร.อัมเพทการ์ (Dr. Babasahed Bhimrao Ramji Ambedkar) รัฐบุรุษ “จัณฑาล” ของชาวอินเดีย ได้วิเคราะห์สาเหตุการออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะไว้ในหนังสือ The Buddha and His Dhamma หรือ .”พระพุทธเจ้าและธรรมะของพระองค์” ว่าน่าจะเกิดจากการที่เจ้าชายทรงแพ้การลงมติในสภากรุงกบิลพัสด์ ทางฝ่ายมหายานชี้ว่ามูลเหตุมาจากข้อพิพาทเรื่องการใช้นํ้าจากแม่นํ้าโรหิณี ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ แม่นํ้าสายนี้เกิดแล้งในบางฤดู จนนำไปสู่การแย่งชิงนํ้าระหว่างสองนครจนสภากรุงกบิลพัสดุ์ลงมติต้องการประกาศสงคราม ทว่าเจ้าชายสิทธัตถะทรงเป็นหนึ่งในผู้ออกเสียงไม่เห็นด้วย

มัคคุเทศก์ท้องถิ่นกำลังเดินสำรวจไปตามรอยทางเกวียนเก่าใกล้ประตูเมืองกบิลพัสดุ์

เจ้าชายหนุ่มวัย 29 พรรษาเสด็จออกจากประตูเมืองกบิลพัสดุ์ทางทิศตะวันออก พร้อมด้วยนายฉันนะ ผู้ดูแลม้าทรง และกัณฐกะซึ่งเป็นม้าทรง มุ่งหน้าเป็นระยะทางกว่า 120 กิโลเมตรมาจนถึงริมฝั่งแม่นํ้าอโนมา ปัจจุบันแม่นํ้าสายนี้อยู่ในประเทศอินเดีย ทางใต้ของเมืองโคราฆปูระ ในรัฐอุตตรประเทศ (ชาวบ้านเรียกว่า “แม่นํ้าอามี”) เจ้าชายสิทธัตถะทรงใช้พระขรรค์ปลงพระเกศาจนเหลือประมาณสององคุลี (ประมาณสองนิ้วตามมาตรวัดปัจจุบัน) และเปลี่ยนเครื่องทรงวรรณะกษัตริย์เป็นชุดสมณเพศสีเหลืองหม่น จากนั้นจึงออกจาริกเพียงลำพังมุ่งหน้าสู่แคว้นมคธต่อไป

อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกจากเมืองในเวลากลางวันหรือกลางคืน และทรงลอบหนีออกมาจริงหรือไม่ เพราะทั้งสองนิกายในพุทธศาสนาต่างเห็นไม่ตรงกัน กระนั้น หลักฐานจากภาพสลักพุทธประวัติบนหินชีสต์สีเทาศิลปะคันธาระจากปากีสถานซึ่งสร้างขึ้นในราวปลายคริสต์ศตวรรษที่สองถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่สาม บอกเล่าเรื่องราวสองส่วนด้วยกันคือ หนึ่ง เจ้าชายสิทธัตถะทรงลาพระนางยโสธราในห้องบรรทม และสอง เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกจากเมืองบนหลังม้ากัณฐกะพร้อมกับนายฉันนะ ต่อหน้าพระพักตร์ของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางปชาบดี พร้อมเหล่าศากยวงศ์ที่มาส่งเสด็จกันคับคั่ง

ภาพถ่ายบุคคลที่เห็นนี้เกิดจากเทคนิคซ้อนภาพชาวศากยะที่เชื่อว่ามี “สายเลือดบริสุทธิ์” หกคนที่พบในเมืองปาทาน ประเทศเนปาล บุคคลทั้งหกมีตั้งแต่แม่ชี เด็กวัยรุ่น ไปจนถึงชายวัยกลางคน ศากยวงศ์เป็นสายตระกูลของเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งต่อมาล่มสลายลงจากสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยกษัตริย์โกศล

ศากยวงศ์ล่มสลาย

ผมกำลังยืนอยู่ริมสระนํ้า “ศากยฆาต” ในกรุงกบิลพัสดุ์ หนองนํ้ากว้างไกล มีกอบัวและวัชพืชขึ้นรกเรื้อ ว่ากันว่าบริเวณนี้เป็นสถานที่ปลิดชีพชาวศากยะนับแสนคนจากโศกนาฏกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตระกูลศากยะโดยพระเจ้าวิฑูฑภะ การล่มสลายของศากยวงศ์ครั้งนี้มีชนวนเหตุมาจากความต้องการรักษาสายเลือดศากยะให้คงความบริสุทธิ์ ตามธรรมเนียมชาวศากยะจะไม่แต่งงานกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ทว่าเมื่อครั้งพุทธกาล พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งแคว้นโกศล ซึ่งทรงอำนาจเหนือแคว้นสักกะ (แคว้นของศากยะ) ทรงต้องการร่วมวงศ์พระญาติกับพระพุทธองค์ จึงส่งคณะทูตไปขอมเหสีจากแคว้นสักกะ แต่พระเจ้ามหานามะ กษัตริย์ผู้ครองแคว้นสักกะในเวลานั้น (ต่อจากพระเจ้าสุทโธทนะ) ได้อุปโลกน์ให้นางทาสีซึ่งมีวรรณะตํ่ากว่ ถวายตัวแด่พระเจ้าปเสนทิโกศล

ในเวลาต่อมา นางทาสีได้ให้กำเนิดวิฑูฑภะ และเมื่อวิฑูฑภะหวนคืนสู่แคว้นสักกะ ได้ค้นพบความจริงว่า ตนเองมีวรรณะจัณฑาล และถือกำเนิดจากนางทาสีของแคว้นสักกะ จึงกลับไปยังแคว้นโกศล ทำรัฐประหารพระบิดาของตนเอง แม้พระพุทธเจ้าจะทรงห้ามศึกครั้งนี้ถึงสามครั้ง แต่วิฑูฑภะก็ยกทัพหลวงมาทำลายล้างแคว้นสักกะจนราพนาสูร

หลังการล่มสลายของแคว้นสักกะ และถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นโกศล ชาวศากยะที่รอดจากการสังหารหมู่ได้หลบหนีไปยังเนปาล อินเดีย และปากีสถาน ศากยวงศ์กลายเป็นตระกูลเก่าแก่ที่เชื่อกันว่ายังรักษาธรรมเนียมสายเลือดบริสุทธิ์ และนับถือพุทธศาสนาตั้งแต่กำเนิด ทว่าทุกวันนี้คนที่ “ถือนามสกุล” ศากยะมีอยู่ทั่วไป แต่ส่วนใหญ่มักเป็นคนที่เปลี่ยนจากศาสนาฮินดูมานับถือพุทธศาสนา (ส่วนมากเป็นจัณฑาลในอินเดีย) และคนที่แอบอ้างศากยะเพื่อทำการค้าเนื่องจากศากยวงศ์เป็นตระกูลที่น่าเชื่อถือ ดังนั้นการพบชาวศากยะ “สายเลือดบริสุทธิ์” จึงเป็นการยืนยันการมีตัวตนอยู่จริงขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า และเค้าโครงลักษณะทางกายภาพของชาวศากยะ

“ตั้งแต่ผมอยู่เนปาล ผมก็ตามหาพวกเขาเหมือนคุณนี่แหละ แต่ไม่เคยเจอเลย ผมเลยไม่เชื่อว่ายังมีพวกศากยะเหลืออยู่จริง” อจิตมัน ตามัง เลขานุการกองทุนพัฒนาลุมพินี บอก เมื่อผมถามถึงชาวศากยะที่ยังหลงเหลืออยู่

พระสงฆ์ในวัดญี่ปุ่นที่สารนาถกำลังสาธยายมนต์ตามหลักความเชื่อทางพุทธศาสนา สารนาถเป็นหนึ่งในสี่สังเวชนียสถาน ตั้งอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ในอดีตที่แห่งนี้คือป่าอิสิปตนมฤคทายวันสถานที่บำเพ็ญพรตของเหล่านักบวชหลากลัทธิ และเป็นที่แสดงปฐมเทศนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ตามหาศากยวงศ์

พระสุพัทธ์ สุพัทโธ พระสงฆ์ไทยแห่งวัดราชวัง กรุงกบิลพัสดุ์ แนะนำผมให้เดินทางไปที่วัดศรีศากยะสิงหะวิหาร เมืองปาทาน ประเทศเนปาล ”พอถึงที่นั่นให้ลองถามหาแม่ชีชื่อ ‘เขมา’ อาจได้เบาะแสเพิ่มเติม” สอดคล้องกับพระไมตรี พระชาวเนปาลที่ผมพบที่ลุมพินี ก็บอกในทำนองเดียวกันว่า ชาวศากยะส่วนใหญ่อยู่ในหุบเขากาฐมาณฑุโดยเฉพาะที่เมืองปาทาน

จากเมืองโบราณกบิลพัสดุ์ ผมใช้เวลาเดินทางมายังวัดศรีศากยะสิงหะวิหาร เมืองปาทาน หนึ่งวันเต็มๆ และพยายามโทร.หาแม่ชี “เขมา” แต่ก็คว้านํ้าเหลว กระนั้น การค้นหาชาวศากยะของผมกลับสำเร็จโดยบังเอิญ

ระหว่างออกถ่ายรูปสถานที่ต่าง ๆ ตามตรอกซอยของเมืองมรดกโลกแห่งนี้ ครั้งแรกผมได้พบกับอนันด ศากยะเด็กหนุ่มวัย 18 ปีที่เพิ่งกลับจากไหว้พระก่อนไปเรียนหนังสือในซอยแคบๆ แห่งหนึ่ง อนันดานับถือพุทธนิกายมหายาน และเป็นเหมือนเด็กหนุ่มทั่วไปที่แต่งตัวเก่งและชอบฟังเพลงฮิปฮอป หลังเลิกเรียน ผมพบเขาอีกครั้งแต่เขาปฏิเสธไม่ยอมให้ผมถ่ายภาพเขาในชุดแรปเปอร์หนุ่ม ”ปู่ของผมเล่าให้ฟังว่า ต้นตระกูลของเรา ‘หนี’ ออกมาจากทางตะวันตก” ซึ่งก็คือกรุงกบิลพัสดุ์นั่นเอง

“ผมจะหาชาวศากยะได้อีกที่ไหน” ผมถามอนันดา

“ก็แล้วแต่ดวงของคุณ” เขาตอบ

ทว่าการเดินเท้าในเมืองปาทานทำให้ผมพบชาวศากยะได้ง่ายกว่าที่คิด ความบังเอิญครั้งที่สองเกิดขึ้นที่วัดสุรัชดามหาวิหาร ผมพบกับธิตามุนี ศากยะ ชายเคร่งศาสนาวัย 58 ปี “ผมเป็นชาวเนปาลแต่กำเนิด และบวชเป็นเณรตั้งแต่ยังเด็กครับ” ธิตาเล่าว่า ในยุคหนึ่งมีความขัดแย้งทางการเมืองในเนปาล (ช่วงคอมมิวนิสต์และสงครามเย็น) ทำให้พระสงฆ์และเณรทั้งหมดต้องอพยพออกนอกประเทศ เขาเป็นหนึ่งในพระศากยะที่ลี้ภัยไปอยู่ในเมืองพิหาร รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย เมื่อมรสุมทางการเมืองสงบลงจึงสึกกลับมา

คนงานก่อสร้างชาวอินเดียกำลังบูรณะโบราณสถานในเขตเมืองสารนาถ ซึ่งอดีตคือสถานที่แสดงปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า

ทุกวันนี้ ธิตาทำอาชีพค้าขาย ”ผมยืนยันว่าผมเป็นชาวศากยะแท้ครับ เพราะตระกูลของผมสืบเชื้อสายมาจากชาวกบิลพัสดุ์”
ปัจจุบัน ประมาณการว่ามีชาวศากยะอยู่ประมาณ 2,000-3,000 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองปาทานและกรุงกาฐมาณฑุ ชาวศากยะที่ผมพบยังคงรักษาธรรมเนียมการแต่งงานในสายตระกูลเดียวกันอยู่ และนับถือพุทธศาสนาแต่กำเนิด ที่น่าสนใจคือเค้าโครงใบหน้าของพวกเขากลับไม่คล้ายชาวอารยันหรือชาวอินเดียที่นับถือฮินดูแม้แต่น้อย กลับคล้ายชาวมองโกลอยด์ที่มีผิวเหลืองมากกว่า นี่เป็นข้อสันนิษฐานที่ถกเถียงกันมาหลายศตวรรษแล้วว่ พระพุทธองค์ทรงมีเชื้อสายและเค้าโครงพระพักตร์แบบใดกันแน่ (เนื่องจากพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมีต้นแบบจากช่างฝีมือชาวกรีก ราว พ.ศ. 500 – 550 เมื่อครั้งพระเจ้ามีนานเดอร์ที่หนึ่งยกทัพมาครองแคว้นคันธาราฐ)

หลังโทรศัพท์ติดต่อแม่ชีเขมาสำเร็จ ท่านแนะนำให้ผมไปที่วัดธรรมกีรติวิหาร ห่างจากเมืองปาทานไปราว 30 กิโลเมตร ที่นั่นเป็นสถานที่จำวัดของแม่ชีธมาวาตี ศากยะ วัย 81 ปี แม่ชีชาวศากยะผู้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ท่านอนุญาตให้เราสัมภาษณ์และถ่ายภาพ ผมมองเข้าไปในอารามที่ท่านจำวัดอยู่ ในห้องนั้นมีรูปถ่ายคู่กับบุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงมากมายแขวนอยู่

ตลอดหลายชั่วโมงที่วัดแห่งนั้น ผมยังพบกับแม่ชีธรรมา ดินนา ศากยะ วัย 76 ปี และแม่ชีไบเรนดา ไรนา ศากยะ วัย 50 ปี ทั้งคู่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับต้นตระกูลคล้าย ๆ กับที่ผมได้ฟังมาจากอนันดาและธิตา นั่นคือบรรพบุรุษของพวกเขาถือกำเนิดและ “หนี” ออกมาจากทางตะวันตกหรือกรุงกบิลพัสดุ์ ธรรมเนียมของตระกูลคือยังคงรักษาสายเลือดบริสุทธิ์ โดยแต่งงานกับคนตระกูลเดียวกัน และนับถือพุทธศาสนาตั้งแต่กำเนิด

ผมรีบเดินทางออกจากเนปาลหลังพบชาวศากยะได้ไม่นาน ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศปิดประเทศอย่างเร่งด่วนเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ ไม่ถึงหนึ่งเดือนต่อมาก็เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในเนปาล และชาวศากยะส่วนใหญ่ที่ผมพบในคราวนั้นยังไม่สามารถติดต่อได้

เด็กหนุ่มในหมู่บ้านอันธยะกำลังเดินข้ามแม่นํ้ากกุธานที แม่นํ้าสายสุดท้ายใกล้เมืองกุสินารา ที่พระพุทธองค์เสด็จข้ามก่อนดับขันธปรินิพพาน

ตรัสรู้และเผยแผ่หลักธรรม

แม้สายนํ้าจะแห้งเหือดเหลือเพียงหาดทราย แต่ขอบตลิ่งเนินทรายเป็นแนวชี้ว่า บริเวณนี้เคยเป็นสายนํ้าใหญ่ ชาวบ้านท้องถิ่นยังอาศัยตานํ้าที่เหลืออยู่เป็นแหล่งนํ้าสำหรับอุปโภคบริโภค ผมตามรอยสมณสิทธัตถะมาจนถึงฝั่งแม่นํ้าเนรัญชราที่เมืองคยา รัฐพิหาร ท่ามกลางหมู่ชาวพุทธจำนวนมากที่เดินทางมาแสวงบุญ

ตลอดหกปีนับตั้งแต่เจ้าชายหนุ่มเสด็จออกจากประตูพระราชวัง พระองค์ทรงตระเวนแสวงหาความรู้ตามสำนักลัทธิต่าง ๆ มากมาย ทรงกระทำอัตตกิลมถานุโยคหรือทุกรกิริยา ซึ่งถือเป็นการทำร้ายหรือทรมานร่างกายตนเองอย่างรุนแรงทว่ากลับไม่มีประโยชน์อันใด นักบวชหนุ่มกลับมารับบิณฑบาตข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดาเพื่อฟื้นฟูร่างกาย แล้วใช้เวลาทบทวนความรู้โดยใช้สมาธิบนพื้นฐานสติปัญญาและร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงอีกครั้ง จนกระทั่งบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่สุด

หลังตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงออกเดินทางเพื่อเผยแผ่หลักธรรม ผมและผู้ช่วยออกเดินทางจากพระมหาโพธิเจดีย์ในพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธองค์ มุ่งหน้าสู่เมืองสารนาถหรือป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แคว้นกาสี หรือเมืองพาราณสีในปัจจุบัน ไปตามถนนหลวงระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร ตามรอยเส้นทางที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้งห้าที่เคยร่วมศึกษาแสวงหาความหลุดพ้นมาด้วยกัน

พระพุทธองค์ทรงค้นพบหลักธรรมอันลึกซึ้งว่าด้วยธรรมชาติของชีวิต ทว่าการอธิบายให้ผู้คนในยุคสมัยที่มีความเชื่อหลากหลายเข้าใจได้นั้นย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย นักประวัติศาสตร์บางคนวิเคราะห์ว่า การเผยแผ่หลักธรรมใหม่โดยนักบวชวัยเพียง 35 ปี นับว่าเสี่ยงมากที่จะล้มเหลว เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้งห้าซึ่งเพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิ เมื่อได้รับฟังและมีดวงตาเห็นธรรมในเวลาไม่นานจึงเป็นพุทธสาวกกลุ่มสำคัญที่ช่วยกระจายหลักธรรมของพระพุทธองค์จนเป็นที่ยอมรับของเหล่ากษัตริย์พราหมณ์ ตลอดจนเจ้าลัทธิต่างๆ

ชายชราชาวอินเดียนั่งอยู่บนแนวอิฐทางทิศตะวันออกของประตูเมืองกบิลพัสดุ์ บริเวณเดียวกับที่เชื่อกันว่าเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช ภาพชีวิตเกิด-แก่-เจ็บ-ตายเช่นนี้ คือสัจธรรมที่ทำให้หวนนึกถึงเรื่องราวในพุทธประวัติที่ว่า เจ้าชายสิทธัตถะทรงมุ่งหวังที่จะหลุดพ้นจากสังสารวัฏหรือการเวียนว่ายตายเกิด

เมื่อมีพุทธสาวกจำนวนหนึ่งแล้วพระพุทธองค์ทรงจาริกสู่กรุงราชคฤห์เมืองหลวงของแคว้นมคธ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของพุทธคยา บนเส้นทางนี้เอง สันนิษฐานว่าพระพุทธองค์น่าจะทรงได้พบปะสนทนาธรรมกับกลุ่มชฎิลสามพี่น้องลัทธิบูชาไฟ และเหล่าสาวกจำนวนมาก ภายหลังพวกลัทธิบูชาไฟเหล่านี้เกิดเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนาและประกาศรับหลักคำสอนของพระพุทธองค์ นี่อาจเป็นที่มาของเหตุการณ์ในวันมาฆบูชาซึ่งเหล่าชฎิลพากันมาขออุปสมบทกับพระพุทธองค์พร้อมกับสาวกของพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรจำนวนมากที่เวฬุวันมหาวิหาร

กรุงราชคฤห์ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาทั้งห้าเรียกว่าเบญจคีรีนคร พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ผู้ครองกรุงราชคฤห์ในสมัยพุทธกาล พระราชทานพื้นที่แต่ละเนินเขาให้เจ้าลัทธิต่างๆ สร้างสำนักเพื่อแสวงหาหนทางแห่งการหลุดพ้น (ผมอยากให้นิยามส่วนตัวว่าที่นี่เป็นเหมือน “ศูนย์วิจัยทางการหลุดพ้น”) ที่นี่จึงเป็นที่ตั้งของสำนักความเชื่อหลากหลาย ทั้งพราหมณ์ เชน และพุทธ บริเวณที่ราบแห่งหนึ่งเป็นที่ตั้งของเวฬุวันมหาวิหาร วัดแห่งแรกในพุทธศาสนา

เช้าวันหนึ่งผมเดินขึ้นไปยังเนินเขาคิชฌกูฏ ในกรุงราชคฤห์ ซึ่งเป็นเขาหินปูนสูงชันเต็มไปด้วยหลืบโพรงถํ้ากระจายไปทั่ว เหมาะแก่การปลีกวิเวกบำเพ็ญภาวนา บนยอดเขาแห่งนี้คือสถานที่พำนักของพระพุทธองค์และศิษยานุศิษย์สมัยเมื่อครั้งเดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนาแก่พระเจ้าพิมพิสารและพสกนิกรในกรุงราชคฤห์

ตลอด 45 พรรษาหลังจากตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงจาริกเพื่อเผยแผ่หลักธรรมคำสอนในแคว้นต่าง ๆ ได้แก่ โกศล มัลละ วัชชี วังสะ มคธ สักกะ พระองค์ทรงอธิบายหลักธรรมที่เที่ยงตรง และเป็นความจริงของธรรมชาติแก่ผู้คนในหลายลัทธิความเชื่อ โดยมุ่งหมายให้เข้าถึงสัจธรรมของชีวิตอันเท่าเทียมและไม่ได้ถูกกำหนดโดยชนชั้นวรรณะ

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศหลักธรรมในดินแดนชมพูทวีปที่มีความเชื่อทางจิตวิญญาณหลากหลาย กระทั่งจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์-ฮินดูซึ่งเป็นศาสนาดั้งเดิมของชาวอารยันในภาพนักบวชฮินดูยืนให้พรจากท่านํ้าแห่งหนึ่งในเมืองพาราณสีริมฝั่งแม่นํ้าคงคา

ดับขันธปรินิพพาน

“เจ้าชายทรงข้ามแม่นํ้าตรงนี้ครับ” อจิต กุมาร เด็กหนุ่มผู้เป็นตัวแทนชาวบ้านในหมู่บ้านอันธยะ ดูกระตือรือร้นเป็นพิเศษเมื่อได้พบกับผม “ประมาณสิบกว่าปีที่แล้วเคยมีคนของทางการเข้ามาที่นี่ครับ หลังจากนั้นก็ไม่มีใครเข้ามาอีกเลย แม้ผมและคนในหมู่บ้านจะนับถือศาสนาฮินดู แต่ปู่ย่าตายายของเราเคยเล่าเรื่องการข้ามแม่นํ้าผามูหรือแม่นํ้ากกุธานที ก่อนที่เจ้าชายจะสิ้นพระชนม์ ณ ป่าสาลวันใกล้กรุงกุสินารา เราก็เลยพอทราบเรื่องราวอยู่บ้าง” อจิตบอก

ภารกิจตามรอยจาริกของพระพุทธองค์ของผมใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดแล้ว เมื่อผมมาถึงริมฝั่งแม่นํ้ากกุธานทีสีเขียวใส มองเห็นท้องนํ้าและฝูงปลาแหวกว่าย ผมเดินลัดเลาะไปตามสายนํ้าเล็กๆ บางช่วงตื้นเขินจนเด็กเล็กๆ สามารถเดินลุยข้ามได้ ที่นี่อยู่ใกล้กับบ้านของนายจุนทะผู้ศรัทธาถวายภัตตาหาร “สูกรมัททวะ” แด่พระพุทธองค์เป็นมื้อสุดท้าย ก่อนจะทรงอาพาธหนักและเสด็จดับขันธปรินิพพาน

ปัจจุบัน หมู่บ้านของนายจุนทะเป็นชุมชนมุสลิมเรียกว่า ปาวานคร อยู่ห่างจากกรุงกุสินาราราว 18 กิโลเมตร ลักษณะคล้ายซากสถูปขนาดใหญ่ และยังไม่มีการขุดค้น อย่างไรก็ตาม ทางการอินเดียกำลังมีแผนบูรณะฟื้นฟูที่นี่อีกครั้งในฐานะสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ”คงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนครับกว่าที่นี่จะเสร็จสมบูรณ์ เราทำงานควบคู่กับนักโบราณคดีที่ทางการส่งมา พวกเราจะทำให้ดีที่สุด เพราะผมรู้ว่าสิ่งนี้มีความหมายสำหรับพวกคุณ” นิสรูดิน หัวหน้าฝ่ายบูรณะบอกกับผม

กระทั่งปัจจุบัน นักวิชาการด้านพุทธศาสนายังถกเถียงและไม่ได้ข้อสรุปแน่ชัดว่า “สูกรมัททวะ” ภัตตาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธองค์ คืออาหารชนิดใดกันแน่และเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การอาพาธหนักของพระองค์ก่อนดับขันธปรินิพพานจริงหรือ บ้างตีความว่าอาหารชนิดนั้นคือเนื้อหมูอ่อน (สูกร = สุกร หรือหมู, มัททวะ = อ่อน) บ้างว่าเป็นเห็ดพื้นเมือง บ้างว่าเป็นข้าวที่หุงด้วยนํ้านมวัว

ทว่าหากพิจารณาตามธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชนผู้หนึ่งแล้ว สังขารของพระพุทธองค์ในพระชนมายุย่าง 80 พรรษา ย่อมไม่แข็งแรงเช่นเดิม การบำเพ็ญทุกรกิริยาในวัยหนุ่ม และการตรากตรำจาริกไปยังสถานที่ต่างๆ ในยุคที่การสาธารณสุขและการคมนาคมยังไม่พัฒนา ย่อมส่งผลให้สังขารของพระองค์ทรุดโทรมลงเป็นธรรมดา

ที่หมู่บ้าน “เจ้าชายสิ้นชีพ” ตามคำนิยามของชาวบ้านท้องถิ่น ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ในตำบลกาเซียจังหวัดกุศินาคาร์ รัฐอุตตรประเทศ แม้เรื่องราวจะผ่านมากว่า 2,500 ปี ทว่าภายในสวนป่าสาลวันแห่งนี้ซึ่งปัจจุบันแปรสภาพเป็นหมู่บ้านและพุทธสถานนานาชาติกลับยังคงอบอวลไปด้วยบรรยาเศร้าหมอง นี่คือสถานที่สุดท้ายที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปัจฉิมโอวาทแก่เหล่าพุทธสาวก เป็นสัจธรรมที่ยังคงดังก้องดั่งคำเตือนของพุทธบิดาที่ประทานแก่พุทธบุตรและพุทธิดาทั้งปวงว่า

“สังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตน และประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

เรื่องและภาพถ่าย ทรงวุฒิ อินทร์เอม

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เดือนสิงหาคม 2558

อ่านเพิ่มเติม จากพุทธภูมิสู่สุวรรณภูมิ: พุทธศาสนาเข้ามาสู่เมืองไทยได้อย่างไร

พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศเนปาลได้อย่างไร

เนปาล เนื่องด้วยประเทศเนปาลมีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ทางพุทธ ศาสนาที่น่าสนใจนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยในยุคแรกเริ่มการเข้า มาของพุทธศาสนาในประเทศเนปาล จากการสังคายนาครั้งที่ 3 ส่งผล ให้นิกายมหายานได้แพร่เข้ามายังเนปาล พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเรื่อย มาจนถึงยุคลิจฉวี ในปีค.ศ.100 พุทธแบบเถรวาทและมหายานได้รับการ ...

พุทธสังเวชนียสถาน ทั้ง 4 มีสถานที่ใดบ้าง

สังเวชนียสถาน สถานที่สำคัญทางศาสนาพุทธทั้งสี่.
1. ลุมพินีวัน หรือ รุมมินเด ... .
2. พุทธคยา ... .
3. ธัมเมกขสถูป สารนาถ ... .
4. กุสินารา ... .
13 ที่เที่ยวโอซาก้า ตามไลน์ สถานีรถไฟ เที่ยวญี่ปุ่นง่ายๆ ด้วยตัวเอง.
10 เมืองน่าเที่ยว จอร์เจีย ค่าครองชีพถูก วิวยุโรป ฟรีวีซ่าคนไทย !.
20 ที่เที่ยวสิงคโปร์ 2022 จิ๋วแต่แจ๋ว เที่ยวสนุก มีครบทุกสไตล์.

พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศศรีลังกาโดยวิธีใด

ประเทศศรีลังกา หรือทวีปลังกาในอดีตเป็นเป้าหมายการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาของพระสมณทูตที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงแต่งตั้งขึ้น โดยมี พระมหินทเถระพร้อมด้วยคณะเดินทางมาเผยแผ่ซึ่งตรงกับยุคสมัยของพระเจ้า เทวานัมปิยะติสสะ กษัตริย์ผู้ครองเมืองอนุราธปุระ ในช่วง พ.ศ. ๒๓๕_๒๓๗ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศศรีลังกา นับว่าประสบ ความสำา ...

รุมมินเด คือสถานที่ใด

เป็นอุทยานที่น่ารื่นรมย์ อยู่กึ่งกลางรหว่างเมืองเทวทหะ กับกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ปัจจุบันเรียกว่า รุมมินเด อำเภอไพราว่า ประเทศเนปาล ห่างจากพรมแดนอินเดียราว 23 กิโลเมคร สิ่งที่ค้นพบ คือ ซากวัดเก่าแก่ สระน้ำที่พระนางสิริมหามายาทรงสนาน, รูปปั้นหินอ่อนตอนพระนางประสูติพระราชโอรส และเสาหินที่พระเจ้า ...

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน อาจารย์ ตจต ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf lmyour แปลภาษา ชขภใ ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 ขขขขบบบยข ่ส ศัพท์ทางทหาร military words หนังสือราชการ ตัวอย่าง หยน แปลบาลีเป็นไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง พจนานุกรมศัพท์ทหาร เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษามลายู ยาวี Bahasa Thailand กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ การ์ดจอมือสอง ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย คะแนน o-net โรงเรียน ค้นหา ประวัติ นามสกุล บทที่ 1 ที่มาและความสําคัญของปัญหา ร. ต จ แบบฝึกหัดเคมี ม.5 พร้อมเฉลย แปลภาษาอาหรับ-ไทย ใบรับรอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน PEA Life login Terjemahan บบบย มือปราบผีพันธุ์ซาตาน ภาค2 สรุปการบริหารทรัพยากรมนุษย์ pdf สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม เช็คยอดค่าไฟฟ้า แจ้งไฟฟ้าดับ แปลภาษา มาเลเซีย ไทย แผนที่ทวีปอเมริกาเหนือ ่้แปลภาษา Google Translate กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ข้อสอบโอเน็ตม.3 มีกี่ข้อ คะแนนโอเน็ต 65 ตม กรุงเทพ มีที่ไหนบ้าง