หนังสือสัญญา หนังสือ ยกเลิก สัญญาเช่าก่อนกำหนด

ข้อแนะนำ สำหรับผู้ให้เช่าห้อง คอนโดฯ บ้าน ตึกแถว อาคารพาณิชย์ ต่างๆ

เมื่อสัญญาเช่าเกิดขึ้น คู่สัญญาจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม

หน้าที่ผู้เช่า คือ ชำระค่าเช่า ตามวันเวลาที่ตกลงกันไว้ หากผิดนัด ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้

ประเด็น : การบอกเลิกสัญญา

สัญญาเช่ามีกำหนดเวลา : ย่อมสิ้นสุดเมื่อครบกำหนดตามสัญญา โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 564

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1062/2539

   สัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลา 20 ปี นับแต่วันที่ 13 สิงหาคม2515 จึงสิ้นสุดในวันที่ 13 สิงหาคม 2535 โดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวก่อนตามป.พ.พ. มาตรา 564 การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยภายหลังสัญญาเช่าสิ้นสุดแล้วเพียง 4 วัน แสดงว่าโจทก์ทักท้วงไม่ยอมให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้โดยไม่จำต้องมีการบอกเลิกสัญญากันอีก

สัญญาเช่าเกิน 3 ปี แต่ไม่ได้จดทะเบียนการเช่า : มีผลทำให้ระยะเวลาลดเหลือเพียงแค่ 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538

สัญญาเช่าไม่มีกำหนดเวลา : คู่สัญญาสามารถบอกเลิกได้ทุกเมื่อ แต่ต้องให้อีกฝ่ายรู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่เกิน 2 เดือน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 566

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2011/2533

   สัญญาเช่าไม่มีกำหนดเวลา ตกลง ชำระค่าเช่าภายในวันที่ 5ของทุกเดือน โจทก์บอกเลิกการเช่า ให้จำเลยออกจากอาคารพิพาทภายในวันที่ 5 มีนาคม 2528 จำเลยรับหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าวันที่ 31 มกราคม 2528 นับจากวันที่จำเลยรับหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่า จนถึง วันเลิกสัญญา เป็นเวลานานกว่า 1 เดือน เป็นการบอกกล่าวแก่จำเลยให้รู้ตัวก่อนชั่ว กำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งแล้ว การบอกเลิกสัญญาเช่าจึงเป็นไปโดย ชอบตาม ป.พ.พ.มาตรา 566 ประกอบมาตรา 570 โจทก์ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายก่อนฟ้องจำนวน 120,000 บาทอัตราค่าทนายความชั้นสูงในศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาตาม ตาราง 6ท้าย ป.วิ.พ. ไม่เกินจำนวนร้อยละ 3

กรณี สัญญาเช่ามีกำหนดเวลา แต่เมื่อครบกำหนดแล้ว ผู้ให้เช่าไม่ทักท้วง เช่น ยอมรับค่าเช่า เป็นต้น สัญญาเช่ามีกำหนด จะกลายเป็นสัญญาเช่าไม่มีกำหนดเวลา ทันที

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2552

   ป.พ.พ. มาตรา 538 บัญญัติว่า "เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้หรือไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทำหนังสือสัญญาเช่าตึกแถวพิพาท จากโจทก์เป็นเวลา 21 ปี นับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2532 แต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เพียง 3 ปี คือวันที่ 8 มิถุนายน 2535 เท่านั้น แต่หลังจากครบกำหนดดังกล่าวแล้ว จำเลยยังคงเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปอีกโดยโจทก์มิได้ทักท้วง จึงต้องถือว่าเป็นการเช่าต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 570 ซึ่งโจทก์จะบอกเลิกสัญญาเช่าเสียเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามวิธีที่กำหนดไว้ในมาตรา 566 เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าและให้จำเลยออกไปจากตึกแถวพิพาทภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยได้รับเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2544 ตามใบตอบรับไปรษณีย์ การบอกเลิกสัญญาเช่าของโจทก์จึงมีผลตามกฎหมายแล้ว จำเลยต้องออกไปจากตึกแถวพิพาท หาใช่โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าไม่

สัญญาเช่ารายเดือน แต่ไม่ระบุวัน : ถือเอาวันสิ้นเดือนเป็นกำหนดเวลา อ้างอิงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6159/2551

ประเด็น : ซื้อขาย VS สัญญาเช่า

   สัญญาเช่าย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ ผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ (โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่เช่า ในขณะที่สัญญาเช่าผูกพันอยู่) โดยสิทธิและหน้าที่ดังกล่าว กฎหมายรองรับเฉพาะการเช่าที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ เท่านั้น หากไม่มี ผู้รับโอนสามารถฟ้องขับไล่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าว

ประเด็น : ผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่า

ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวให้ชำระค่าเช่า ในระยะเวลาพอสมควรก่อน หากไม่ชำระ จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6239/2551

   การที่จำเลย (ผู้เช่า) บอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ (ผู้ให้เช่า) ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 387 ถึงมาตรา 389 กล่าวคือ โจทก์ต้องเป็นฝ่ายผิดนัดไม่สามารถส่งมอบพื้นที่เช่าให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ หรือการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ส่วนนั้นเป็นอันพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นความผิดของโจทก์ จำเลยจึงจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าแก่โจทก์ได้ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่ส่งมอบพื้นที่เช่าให้จำเลยเข้าอยู่อาศัย ตรงกันข้ามกลับได้ความว่า หลังจากที่จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์แล้ว โจทก์ได้มีหนังสือไปถึงจำเลย แจ้งให้จำเลยใช้ประโยชน์ในพื้นที่เช่าต่อไปและชำระค่าเช่าแก่โจทก์ด้วย อันเป็นการทักท้วงจำเลยแล้วว่าการบอกเลิกสัญญาเช่าของจำเลยเป็นไปโดยมิชอบ ทั้งยังยืนยันให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาเช่าและชำระค่าเช่าที่ค้างชำระแก่โจทก์ด้วย แต่จำเลยยังเพิกเฉยไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าตามสัญญาเช่าแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระโดยมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ทั้งหนังสือโต้แย้งของโจทก์ก็ยืนยันว่าไม่ยินยอมให้จำเลยเลิกสัญญา การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าและเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้จากจำเลย

   การไม่จ่ายค่าเช่า ถือเป็นเหตุให้ผู้ให้เช่าสามารถใช้บอกเลิกสัญญาได้ แต่กฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 560 ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด ไม่น้อยกว่า 15 วัน หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวไปแล้ว ผู้เช่าไม่ยอมชำระค่าเช่า ถึงบอกเลิกสัญญาได้ ดังนั้นการบอกเลิกสัญญาเช่าที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงต้องมีการให้ระยะเวลาผู้เช่าก่อน

   แต่ตามมาตรา 560 นั้น ไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวเนื่องด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาจึงอาจตกลงเป็นอย่างอื่นได้ และถือเอาข้อตกลงของคู่สัญญาเป็นสำคัญ โดยหากมีข้อตกลงให้บอกเลิกสัญญาเช่าได้ทันทีแล้ว ก็ต้องถือว่าสามารถใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3767/2547

   สัญญาเช่าตึกแถวมีข้อกำหนดว่า ถ้าผู้เช่าประพฤติผิดล่วงละเมิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด หรือกระทำผิดวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งข้อใด ผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่าทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะเข้ายึดครอบครองสถานที่เช่าได้ และมีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันที เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 560 วรรคสอง

ประเด็น : ตัดน้ำ ตัดไฟฟ้า ล็อคห้อง สามารถทำได้หรือไม่

   หากเป็นเรื่องที่ระบุไว้ในสัญญาก็ถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาโดยชอบ ผู้ให้เช่าไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา แต่กลับกัน หากไม่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้ว่ายินยอมให้กระทำดังกล่าว ก็ย่อมเป็นความผิดตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1523/2535

   จำเลยไม่ชำระค่าเช่าตามสัญญาและเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าจำเลยยังคงครอบครองอู่ที่เช่าโดยไม่มีสิทธิที่จะอ้างได้ตามกฎหมายเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงชอบที่จะตัดไม่ให้จำเลยใช้น้ำประปาเพื่อบรรเทาความเสียหายที่โจทก์ได้รับอยู่ได้ ไม่เป็นการละเมิดต่อจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3921/2535

   โจทก์เช่าพื้นที่ในโรงแรมของจำเลยที่ 1 เปิดกิจการร้านเสริมสวยและตัดผม แต่ได้เปิดกิจการอาบ อบ นวด ขึ้นนอกเหนือข้อตกลงในสัญญาและโจทก์รู้เห็นยินยอมให้พนักงานนวดของโจทก์ค้าประเวณีกับแขกที่มาพักโรงแรม เป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่นนอกจากที่ใช้กันตามประเพณีนิยมปกติหรือการดังกำหนดไว้ในสัญญาเช่า เมื่อจำเลยบอกกล่าวแล้วโจทก์ละเลยไม่ปฏิบัติตาม จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 554 เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว สัญญาเช่าจึงเป็นอันสิ้นสุดลง โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์ในสถานที่เช่าอีกต่อไป การที่จำเลยไม่จ่ายกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาให้โจทก์และต่อมาจำเลยได้ใส่กุญแจไม่ให้โจทก์เข้าไปใช้สถานที่เช่าเป็นการกระทำภายหลังสัญญาเช่าได้สิ้นสุดลงโดยได้กำหนดเวลาให้โจทก์พอสมควรแล้ว จึงไม่เป็นการละเมิด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่ขาดรายได้จากกิจการของโจทก์และค่าชดเชยที่จ่ายให้แก่พนักงานของโจทก์นับแต่วันที่สัญญาเช่าได้สิ้นสุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4854/2537

   ตามหนังสือสัญญาเช่าห้องพัก ข้อ 3 ระบุว่า "ผู้เช่ายอมชำระค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่าภายในวันที่ 30 ของเดือนทุก ๆ เดือน ถ้าไม่ชำระตามกำหนดนี้ ผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่ายึดเงินประกันของผู้เช่าได้ และใส่กุญแจห้องผู้เช่าก็ได้หรือผู้เช่ายินยอมอนุญาตให้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากห้องเช่าได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบ" ข้อ 9 ระบุว่า "ถ้าผู้เช่าประพฤติผิดล่วงละเมิดสัญญาแม้แต่ข้อหนึ่งข้อใด หรือกระทำผิดวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งข้อใด ยอมให้ผู้ให้เช่าทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะเข้ายึดครอบครองสถานที่และสิ่งที่เช่าได้โดยพลันและมีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันที" และข้อ 10 ระบุว่า "เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าก็ดี หรือผู้เช่าผิดสัญญาเช่าก็ดีผู้เช่ายอมให้ถือว่าผู้เช่ายอมออกจากที่เช่า" ข้อสัญญาดังกล่าวนี้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงใช้บังคับได้ บ.ผู้เช่าและจำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าต้องปฏิบัติตามสัญญานี้ เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดเวลาและจำเลยที่ 1ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแก่ บ.ด้วยแล้ว บ.และผู้เสียหายไม่มีสิทธิอยู่ในห้องพิพาทต่อไป เมื่อ บ.ไม่ยอมออกไปจากห้องพิพาท จำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิตามหนังสือสัญญาเช่าห้องพักดังกล่าวได้ การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 1 ได้เข้าไปในห้องพิพาทแล้วใช้คีมหนีบกุญแจลูกบิดประตูบานพับหน้าต่าง ถอดเอาสะพานไฟฟ้า และเครื่องรับโทรศัพท์ในห้องพิพาทออกไป จึงไม่มีมูลความผิดทางอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4486/2545

   โจทก์ทำสัญญาเช่าสถานที่ประกอบการค้ากับจำเลย โดยมีข้อตกลงว่าโจทก์จะต้องตบแต่งสถานที่ตามที่จำเลยอนุมัติ โจทก์มิได้ติดตั้งระบบไฟฟ้า ตามแบบที่จำเลยอนุมัติ เป็นการผิดสัญญาต่อจำเลย เมื่อสัญญากำหนดว่าหากโจทก์ผิดสัญญา จำเลยมีสิทธิปิดกั้นหน้าร้าน ตัดน้ำและกระแสไฟฟ้าในสถานที่เช่าได้ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2609/2522

   โจทก์ร่วมทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจากจำเลยซึ่งมีเงื่อนไขข้อตกลงระบุไว้ในสัญญาเช่าความว่า หากผู้เช่าผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า ผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่ายึดทรัพย์สินของผู้เช่าได้ และให้มีอำนาจใส่กุญแจอาคารวัตถุแห่งสัญญาเช่าได้ทันที เมื่อโจทก์ร่วมผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า จำเลยบอกเลิกสัญญาเช่า และต่อมาได้นำอาโซ่ล่าม ใส่กุญแจบิดทางเข้าออกตึกแถวพิพาทที่ให้เช่า ดังนี้ การกระทำของจำเลยสืบเนื่องมาจากโจทก์ร่วมกระทำผิดสัญญาเช่าดังกล่าวซึ่งให้อำนาจแก่จำเลยที่จะกระทำการตามข้อสัญญาและโดยความยินยอมของโจทก์ร่วมได้ จำเลยกระทำไปเพราะเชื่อโดยสุจริตว่า มีสิทธที่กระทำตามสัญญาได้การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาอันเป็นความผิดทางอาญา ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน อาจารย์ ตจต ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf lmyour แปลภาษา ชขภใ ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 ขขขขบบบยข ่ส ศัพท์ทางทหาร military words หนังสือราชการ ตัวอย่าง หยน แปลบาลีเป็นไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง พจนานุกรมศัพท์ทหาร เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษามลายู ยาวี Bahasa Thailand กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ การ์ดจอมือสอง ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย คะแนน o-net โรงเรียน ค้นหา ประวัติ นามสกุล บทที่ 1 ที่มาและความสําคัญของปัญหา ร. ต จ แบบฝึกหัดเคมี ม.5 พร้อมเฉลย แปลภาษาอาหรับ-ไทย ใบรับรอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน PEA Life login Terjemahan บบบย มือปราบผีพันธุ์ซาตาน ภาค2 สรุปการบริหารทรัพยากรมนุษย์ pdf สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม เช็คยอดค่าไฟฟ้า แจ้งไฟฟ้าดับ แปลภาษา มาเลเซีย ไทย แผนที่ทวีปอเมริกาเหนือ ่้แปลภาษา Google Translate กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ข้อสอบโอเน็ตม.3 มีกี่ข้อ คะแนนโอเน็ต 65 ตม กรุงเทพ มีที่ไหนบ้าง