การพูดแสดงความคิดเห็นเชิงขัดแย้ง

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เราแต่ละคนล้วนต้องมีการปรับตัวไม่มากก็น้อย บ้างก็ต้องเรียนจากที่บ้าน บ้างก็ต้องทำงานจากที่บ้าน บ้านจึงกลายเป็นสถานที่ที่ไม่ได้ไว้สำหรับการพักผ่อนหลังจากการทำกิจกรรมในแต่ละวันอีกต่อไป การได้ใช้เวลาอยู่ในบ้านร่วมกันมากขึ้นก็อาจยิ่งทำให้แต่ละคนจำเป็นต้องปรับตัวเข้าหากันมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเรามีความเครียดหรือความคับข้องใจ บทสนทนาธรรมดาทั่ว ๆ ไปก็สามารถสร้างความขัดแย้งขึ้นได้โดยง่าย การพยายามรักษาบทสนทนาต่อจึงอาจแปรเปลี่ยนไปเป็นการยื้อให้เกิดการโต้เถียงแทน และในหลายครั้งการโต้เถียงก็นำไปสู่การเกิดความรุนแรงในความสัมพันธ์ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่น การใช้ความรุนแรงทางคำพูด การใช้ความรุนแรงทางอารมณ์ การใช้ความรุนแรงทางกาย ฯลฯ

ความแตกต่างระหว่างบทสนทนาที่สร้างสรรค์และการโต้เถียงที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง

บทสนทนาที่สร้างสรรค์ คือ

  • การแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกันบนพื้นฐานของความเข้าใจและประนีประนอมต่อความแตกต่างระหว่างบุคคล
  • มีการเห็นคุณค่าของความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น
  • เกิดการขยายมุมมองด้วยกันทั้งสองฝ่าย

การโต้เถียงที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง คือ

  • ความพยายามเชิงบีบบังคับให้คู่สนทนารับรู้ว่าเราเป็นฝ่ายที่ถูกต้องด้วยการหักล้างข้อมูล
  • การลดทอนคุณค่าของความรู้สึกของอีกฝ่าย
  • การพยายามทำลายมุมมองของอีกฝ่าย
อะไรทำให้บทสนทนากลายไปเป็นการโต้เถียง?

การโต้เถียงเกิดขึ้นเมื่อความขัดแย้งในบทสนทนานั้นไปคุกคามตัวตนและสถานะ หรือไปลดทอนอำนาจในความสัมพันธ์ของคู่สนทนา จึงทำให้เป้าหมายของการโต้เถียงนั้นเป็นไปเพื่อการพิสูจน์ว่าตนเองมีความเหนือกว่า ไม่ใช่การค้นหาความจริง ซึ่งอำนาจในความสัมพันธ์นั้นเกี่ยวข้องกับการรับรู้คุณค่าของตนเองด้วย เมื่อการรับรู้คุณค่าของตนเองถูกกระทบและบุคคลนั้นรับรู้ได้ว่าตนมีคุณค่าต่ำ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการแสดงออกว่าตนเปราะบาง จึงนำไปสู่ความพยายามที่จะแสดงออกถึงอำนาจเหนืออีกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจน เช่น การใช้ภาษาที่ลดทอนคุณค่าของอีกฝ่าย หรือการแสดงออกอย่างแอบแฝงซ่อนเร้น เช่น การพูดเสียดสี การใช้น้ำเสียง ภาษากาย และการแสดงออกทางสีหน้า

วิธีที่ช่วยลดโอกาสไม่ให้บทสนทนากลายเป็นการโต้เถียง

(1) พูดคุยกันใหม่เมื่อพร้อม ความรู้สึกไม่สบายอย่างฉับพลันเป็นสัญญาณเตือนว่าเราไม่พร้อมที่จะใช้เหตุผลในการพูดคุย ณ ตอนนี้ และเนื่องจากบทสนทนาที่ดีควรมีพื้นฐานจากความพร้อมของทั้งสองฝ่าย ดังนั้น เราจึงควรหาวิธียุติบทสนทนาเมื่อรับรู้ว่าเกิดอารมณ์เข้มข้นในบทสนทนานั้น และมีการตกลงกันเพื่อพูดคุยประเด็นดังกล่าวอีกครั้งในเวลาที่พร้อมทั้งสองฝ่าย (เช่น อาจเป็นการพูดว่า “เอาไว้ค่อยมาคุยกันใหม่ในประเด็นนี้ตอนที่เราทั้ง 2 คนใจเย็นลงกว่านี้นะ”)

(2) หาสถานที่ที่สงบเพื่อใช้เวลาในการปรับสภาพจิตใจหรือสร้างกิจวัตรประจำวันในการผ่อนคลายตัวเอง เช่น การออกไปเดินเล่น ชื่นชมธรรมชาติ การฟังเพลงบรรเลง การเล่นกับสัตว์เลี้ยง

(3) ตระหนักเสมอว่าการกล่าวโทษไปที่ตัวตนของใครคนหนึ่งนั้นเกิดขึ้นเมื่อเราไม่รู้ว่าจะรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างไร หลายครั้งบทสนทนาจะหลุดไปที่ประเด็นอื่น กลายเป็นการกล่าวโทษไปที่ตัวตนของใครคนหนึ่งว่าเป็นสาเหตุของปัญหา ซึ่งในความเป็นจริง แนวทางการแก้ปัญหาจะเกิดจากการที่ต่างฝ่ายต่างตระหนักว่าปัญหาที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากความขัดแย้ง แต่เกิดจากความหมายที่แต่ละฝ่ายเข้าใจที่ไม่เหมือนกันต่อประเด็นปัญหานั้น ๆ ดังนั้น การที่แต่ละฝ่ายสามารถสื่อสารถึงความคิดของตนเองจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจมุมมองของอีกฝ่ายและปรับมุมมองของแต่ละฝ่ายเข้าหากันด้วยเหตุและผล ซึ่งนำไปสู่การพยายามปรับความคิดเข้าหากันและนำไปสู่ความขัดแย้งที่ลดลง

(4) เป็นผู้ฟังที่ดีการโต้เถียงเป็นการที่ทั้งสองฝ่ายพยายามพูดในเวลาเดียวกันจึงทำให้ไม่มีผู้ฟัง ดังนั้น จึงควรมีการตั้งเงื่อนไขในการแสดงออกถึงความรู้สึกของแต่ละคนโดยที่มีการเลือกให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้พูดก่อน เมื่อพูดจบก็จะให้อีกฝ่ายได้พูด ความรู้สึกขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการตีความของแต่ละบุคคลต่อสถานการณ์นั้น ๆ และหลายครั้งก็ยากที่จะทำความเข้าใจต่อมุมมองของบุคคลอื่น ซึ่งหากเราสามารถทำความเข้าใจบนมุมมองของบุคคลอื่น ความรู้สึกของบุคคลนั้นก็จะสมเหตุสมผลขึ้นมา ดังนั้น เป้าหมายของการเป็นผู้ฟังคือการพยายามเข้าใจมุมมองของอีกฝ่ายโดยไม่ได้มีความรู้สึกว่าตนเองถูกลดทอนคุณค่า

(5) เข้าอกเข้าใจ ในความเป็นจริง เราทุกคนอยากรับรู้ว่าอีกฝ่ายกำลังฟังและเข้าใจว่าเรารู้สึกอย่างไรอยู่ มากกว่าการพยายามพิสูจน์ว่าเราเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง

โดยสรุป การโต้เถียงที่ไม่สร้างสรรค์ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ในทางบวก เพราะการโต้เถียงที่ไม่สร้างสรรค์ย่อมทำให้มีฝ่ายหนึ่งกลายเป็นผู้ชนะและอีกฝ่ายหนึ่งกลายเป็นผู้แพ้ ซึ่งในความสัมพันธ์ที่ดีนั้นควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย หรือพูดในอีกทางหนึ่ง คือ ทั้งสองฝ่ายชนะปัญหาในความสัมพันธ์ไปด้วยกันและไม่มีใครถูกทิ้งไว้ให้เป็นผู้แพ้ในการรับผิดชอบปัญหาเพียงฝ่ายเดียวนั่นเอง

รายการอ้างอิง

//www.psychologytoday.com/au/blog/anger-in-the-age-entitlement/202204/how-discuss-and-disagree-without-arguing
//psychcentral.com/lib/shifting-from-conversation-to-argument-and-what-to-do-about-it#1
//www.thecouplescenter.org/how-to-turn-arguments-into-conversations/

บทความโดย

กาญจนณัฐ คุณากรโอภาส และ ผศ.ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช

แขนงวิชาจิตวิทยาสังคม

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน อาจารย์ ตจต ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf lmyour แปลภาษา ชขภใ ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 ขขขขบบบยข ่ส ศัพท์ทางทหาร military words หนังสือราชการ ตัวอย่าง หยน แปลบาลีเป็นไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง พจนานุกรมศัพท์ทหาร เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษามลายู ยาวี Bahasa Thailand กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ การ์ดจอมือสอง ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย คะแนน o-net โรงเรียน ค้นหา ประวัติ นามสกุล บทที่ 1 ที่มาและความสําคัญของปัญหา ร. ต จ แบบฝึกหัดเคมี ม.5 พร้อมเฉลย แปลภาษาอาหรับ-ไทย ใบรับรอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน PEA Life login Terjemahan บบบย มือปราบผีพันธุ์ซาตาน ภาค2 สรุปการบริหารทรัพยากรมนุษย์ pdf สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม เช็คยอดค่าไฟฟ้า แจ้งไฟฟ้าดับ แปลภาษา มาเลเซีย ไทย แผนที่ทวีปอเมริกาเหนือ ่้แปลภาษา Google Translate กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ข้อสอบโอเน็ตม.3 มีกี่ข้อ คะแนนโอเน็ต 65 ตม กรุงเทพ มีที่ไหนบ้าง