การใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม มีอะไรบ้าง

การใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (Fair Use) เป็นหลักข้อยกเว้นของกฎหมายลิขสิทธิ์ (Copyright Act) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการปกป้องผลประโยชน์อันชอบธรรมของเจ้าของลิขสิทธิ์ กับการรักษาประโยชน์ของสาธารณชนที่จะได้รับจากการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ กฎหมายของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก กำหนดให้บุคคลทั่วไปมีสิทธิใช้วัสดุหรือเนื้อหาของงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ หากการใช้งานดังกล่าวเป็นการใช้งานอย่างยุติธรรมและเป็นธรรม ใช้ในขอบเขตอันสมควรและสมเหตุสมผล ไม่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์ ไม่ทำให้กระทบกระเทือนสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการแสวงหาผลประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ การรักษาสมดุลของกฎหมายดังกล่าว เป็นไปเพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างงานที่มีคุณค่า ส่งเสริมความก้าวหน้าทางการศึกษา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม

ข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2429 (ค.ศ. 1886) โดยมีอนุสัญญากรุงเบอร์น ว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม (The Berne Convention for the Protection of Literary and Artistic Works) ประกอบด้วยสมาชิกจากประเทศต่าง ๆ จากทั่วโลกจำนวนกว่า 174 ประเทศ โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อปี พ. ศ. 2474 ภายใต้อนุสัญญาฯ ดังกล่าว ได้วางหลักการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (Fair Use) ไว้ในกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อให้บรรดาประเทศสมาชิกออกกฎหมายในประเทศของตนได้อย่างสอดคล้องกัน มีการกำหนดขอบเขตให้เจ้าของผลงานลิขสิทธิ์มีสิทธิเฉพาะตัว (Exclusive Right) ได้ภายในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น กำหนดให้บุคคลอื่นสามารถนำข้อมูลเนื้อหาของงานอันมีลิขสิทธิ์ไปใช้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ภายในขอบเขตของความยุติธรรมและเป็นธรรม ไม่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน แต่ต้องแสดงการรับรู้ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยการระบุชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ และ/หรือผู้สร้างสรรค์ ชื่อผลงาน และแหล่งที่มาด้วย (ถ้ามี)

ประเทศสหรัฐอเมริกามีประมวลกฎหมาย Copyright Act of 1976, U.S. Code Title 17, Section 107 ว่าด้วย Limitations on Exclusive Rights: Fair Use แม้ไม่ได้มีการนิยามไว้อย่างชัดเจนว่าอะไรคือ Fair Use แต่มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาความเป็น Fair Use ตามเงื่อนไข 4 ประการ คือ

  1. PURPOSE: พิจารณาวัตถุประสงค์และลักษณะของการนำไปใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ ว่าเป็นการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือนำไปใช้เพื่อการศึกษาโดยไม่หวังผลกำไร
  2. NATURE: พิจารณาลักษณะตามธรรมชาติของงานอันมีลิขสิทธิ์
  3. AMOUNT: พิจารณาจำนวนหรือปริมาณที่นำไปใช้งาน เมื่อเทียบสัดส่วนกับปริมาณงานอันมีลิขสิทธิ์ทั้งหมด และพิจารณาว่า ได้นำส่วนสำคัญที่เป็นหัวใจหลักของงานอันมีลิขสิทธิ์ ไปใช้หรือไม่อย่างไร
  4. EFFECT: พิจารณาผลกระทบที่มีต่อตลาด และมูลค่าของงานอันมีลิขสิทธิ์

นอกจากนั้น ยังมี Section 108 ว่าด้วย Limitations on Exclusive Rights: Reproduction by Libraries and Archives หรือข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์สำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานในห้องสมุดและจดหมายเหตุ เป็นมาตราที่เกี่ยวข้องอีกด้วย สำหรับประเทศไทย พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 กำหนดข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ไว้ดังนี้

มาตรา 32 การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ภายใต้บังคับบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามวรรคหนึ่ง มิให้ถือว่า เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

  1. วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
  2. ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท
  3. ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
  4. เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
  5. ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว
  6. ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏโดยผู้สอนเพื่อประโยชน์ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
  7. ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอนหรือทำบทสรุปโดยผู้สอนหรือสถาบันศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร
  8. นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ

มาตรา 33 การกล่าว คัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานบางตอนตามสมควรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง

มาตรา 34 การทำซ้ำโดยบรรณารักษ์ของห้องสมุดซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หากการทำซ้ำนั้นมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร และได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้

  1. การทำซ้ำเพื่อใช้ในห้องสมุดหรือให้แก่ห้องสมุดอื่น
  2. การทำซ้ำงานบางตอนตามสมควรให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการวิจัยหรือการศึกษา

มาตรา 35 การกระทำแก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร และได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้

  1. วิจัยหรือศึกษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
  2. ใช้เพื่อประโยชน์ของเจ้าของสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
  3. ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
  4. เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
  5. ทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในจำนวนที่สมควรโดยบุคคลผู้ซึ่งได้ซื้อหรือได้รับโปรแกรมนั้นมาจากบุคคลอื่นโดยถูกต้อง เพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในการบำรุงรักษาหรือป้องกันการสูญหาย
  6. ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงาน ผลการพิจารณา ดังกล่าว
  7. นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ
  8. ดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในกรณีที่จำเป็นแก่การใช้
  9. จัดทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อเก็บรักษาไว้สำหรับการอ้างอิง หรือค้นคว้าเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน

มาตรา 36 การนำงานนาฏกรรม หรือดนตรีกรรมออกแสดงเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนตามความเหมาะสม โดยมิได้จัดทำขึ้น หรือดำเนินการเพื่อหากำไรเนื่องจากการจัดให้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้น และมิได้จัดเก็บค่าเข้าชมไม่ว่าโดยทางตรง หรือ โดยทางอ้อม และ นักแสดงไม่ได้รับค่าตอบแทนในการแสดงนั้น มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากเป็นการดำเนินการโดยสมาคม มูลนิธิ หรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการสาธารณกุศล การศึกษา การศาสนา หรือการสังคมสงเคราะห์ และได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง

มาตรา 37 การวาดเขียน การเขียนระบายสี การก่อสร้างการแกะลายเส้น การปั้น การแกะสลัก การพิมพ์ภาพ การถ่ายภาพ การถ่ายภาพยนตร์ การแพร่ภาพ หรือการกระทำใด ๆ ทำนองเดียวกันนี้ซึ่งศิลปกรรมใดอันตั้งเปิดเผยประจำอยู่ในที่สาธารณะ นอกจาก งานสถาปัตยกรรม มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมนั้น

มาตรา 38 การวาดเขียน การเขียนระบายสี การแกะลายเส้น การปั้น การแกะสลัก การพิมพ์ภาพ การถ่ายภาพ การถ่ายภาพยนตร์ หรือ การแพร่ภาพซึ่งงานสถาปัตยกรรมใด มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสถาปัตยกรรมนั้น

มาตรา 39 การถ่ายภาพหรือการถ่ายภาพยนตร์หรือการแพร่ภาพซึ่งงานใด ๆ อันมีศิลปกรรมใดรวมอยู่เป็นส่วนประกอบด้วย มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมนั้น

มาตรา 40 ในกรณีที่ลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมใดมีบุคคลอื่นนอกจากผู้สร้างสรรค์เป็นเจ้าของอยู่ด้วย การที่ผู้สร้างสรรค์ คนเดียวกันได้ทำศิลปกรรมนั้นอีกในภายหลังในลักษณะที่เป็นการทำซ้ำบางส่วนกับศิลปกรรมเดิม หรือใช้แบบพิมพ์ ภาพร่าง แผนผัง แบบจำลอง หรือข้อมูลที่ได้จากการศึกษาที่ใช้ในการทำศิลปกรรมเดิม ถ้าปรากฏว่าผู้สร้างสรรค์ มิได้ทำซ้ำหรือลอกแบบ ในส่วน อันเป็นสาระสำคัญ ของศิลปกรรมเดิม มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมนั้น

มาตรา 41 อาคารใดเป็นงานสถาปัตยกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ การบูรณะอาคารนั้นในรูปแบบเดิม มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

มาตรา 42 ในกรณีที่อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ใดสิ้นสุดลงแล้ว มิให้ถือว่าการนำภาพยนตร์นั้น เผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุสิ่งบันทึกเสียง หรืองานที่ใช้จัดทำภาพยนตร์นั้น

มาตรา 43 การทำซ้ำ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการโดยเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือตามคำสั่ง ของเจ้าพนักงานดังกล่าวซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้และที่อยู่ในความครอบครองของทางราชการ มิให้ถือว่า เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง

การใช้งานเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา

เมื่อพิจารณาตามหลักของการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม ของกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว การนำเนื้อหาหรือภาพไปใช้ในงานเพื่อการศึกษา (Educational Uses) เช่น การสอนภายในห้องเรียน การจัดทำสื่อการสอนที่ไม่ได้ทำเพื่อการค้า การสอนตามหลักสูตรรายวิชาของสถาบันการศึกษาที่ไม่หวังผลกำไร รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้ผ่านการนำเสนอในที่ประชุมวิชาการต่าง ๆ  สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เรียกว่าเป็น Educational Fair Use

อย่างไรก็ตาม ควรระลึกไว้เสมอว่า Educational Purposes ไม่ได้รับประกันว่าจะสามารถยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ทุกกรณี การจัดทำเอกสารประกอบชุดวิชา สำหรับการเรียนในหลักสูตรต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็น Coursepacks หรือการจัดทำรายวิชาออนไลน์แบบ eLearning และ MOOC หากไม่แน่ใจว่าอยู่ในขอบเขตของ Education Fair Use หรือไม่ อาจจำเป็นต้องทำการตรวจสอบและขออนุญาตเป็นกรณีไป

ปริมาณการใช้งานลิขสิทธิ์

แหล่งที่มา: กรมทรัพย์สินทางปัญญา. (2559). หนังสือคู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม

  1. ภาพยนตร์และโสตทัศนวัสดุเช่น วีดิทัศน์ ดีวีดี เลเซอร์ดิสก์ และซีดีรอมสารานุกรม เป็นต้น

ผู้สอนนำออกให้ผู้เรียนในชั้นเรียนชมได้ไม่จำกัดความยาวและจำนวนครั้ง  สำเนางานที่นำออกฉายต้องเป็นสำเนาที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง เป็นการนำออกฉายในชั้นเรียนโดยไม่แสวงหากำไร และเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอนโดยตรง ผู้สอนทำสำเนาทั้งเรื่องที่จำเป็นต้องใช้เพื่อประโยชน์ในการสอน ณ ขณะนั้นได้ หากได้พยายามใช้วิธีการและมีระยะเวลาอันสมควรแล้ว แต่ไม่สามารถจัดซื้อจัดหาสำเนาภาพยนตร์หรือโสตทัศนวัสดุที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายได้ ผู้เรียนทำสำเนาภาพยนตร์หรือโสตทัศนวัสดุเพื่อใช้ในการศึกษาได้ไม่เกินร้อยละ 10 หรือ 3 นาที ของแต่ละผลงาน (แล้วแต่ว่าจำนวนใดน้อยกว่ากัน) ทั้งนี้ ภาพยนตร์หรือโสตทัศนวัสดุที่ใช้ในการจัดทำสำเนานั้นต้องมีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย

  1. งานแพร่เสียงแพร่ภาพ เช่น รายการวิทยุ/โทรทัศน์ เป็นต้น

ผู้สอนทำสำเนาและฉายงานแพร่เสียงแพร่ภาพหรือเทปบันทึกภาพงานเพื่อการเรียนการสอนได้ โดยสถาบันศึกษาใช้เทปบันทึกภาพงานดังกล่าวได้ในระยะเวลา 1 ปีการศึกษา หรือ 3 ภาคเรียน

  1. ดนตรีกรรม

ผู้สอนทำสำเนาในกรณีเร่งด่วน เนื่องจากไม่สามารถซื้อสำเนางานที่มีลิขสิทธิ์มาใช้ได้ทันการแสดงที่จะมีขึ้น ทั้งนี้ จะต้องจัดซื้อสำเนางานที่มีลิขสิทธิ์มาใช้ทันทีที่ทำได้ ทำสำเนาหนึ่งชุดหรือหลายชุดจากท่อนใดท่อนหนึ่งของงาน (Excerpts of Works) เพื่อการศึกษา ไม่ใช่เพื่อนำออกแสดง ทั้งนี้ ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของแต่ละงาน และไม่เกิน 1 สำเนา ต่อผู้เรียน 1 คน ทำสำเนาสิ่งบันทึกเสียงงานเพลง เช่น แถบบันทึกเสียง หรือซีดี จำนวน 1 ชุด โดยสำเนาจากสิ่งบันทึกเสียงที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งผู้สอนหรือสถาบันศึกษานั้นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์งานสิ่งบันทึกเสียงดังกล่าว เพื่อจัดทำเป็นแบบฝึกหัดสำหรับการร้อง การฟังหรือเพื่อใช้ในการเรียนการสอน  ดัดแปลงสำเนางานเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอนได้ แต่จะดัดแปลงคุณลักษณะสำคัญของงานรวมถึงเนื้อร้องไม่ได้ บันทึกการแสดงของผู้เรียนซึ่งใช้ดนตรีกรรมจำนวน 1 ชุดได้ เพื่อการฝึกซ้อมหรือการประเมินผล โดยผู้สอนหรือสถาบันศึกษาเก็บรักษาบันทึกการแสดงนั้นไว้ได้

  1. รูปภาพและภาพถ่าย

ใช้ได้อย่างน้อย 1 ภาพแต่ไม่เกิน 5 ภาพ ต่อผู้สร้างสรรค์ 1 ราย หรือร้อยละ 10 ของจำนวนภาพของผู้สร้างสรรค์ 1 ราย (แล้วแต่ว่าจำนวนใดน้อยกว่ากัน) ผู้สอนและผู้เรียนดาวน์โหลดภาพจากอินเทอร์เน็ต เพื่อใช้ในการศึกษาได้ (ในปริมาณเท่ากับที่กล่าวข้างต้น) แต่จะอัพโหลดงานนั้นกลับขึ้นบนอินเทอร์เน็ตไม่ได้ หากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์

  1. วรรณกรรม/สิ่งพิมพ์

การทำสำเนา 1 ชุด สำหรับผู้สอนเพื่อใช้ในการสอน หรือเตรียมการสอนหรือเพื่อใช้ในการวิจัย 1 บท (Chapter) จากหนังสือ 1 เล่ม บทความ (Article) 1 บท จากนิตยสาร/วารสาร หรือหนังสือพิมพ์ เรื่องสั้น (Short Story) หรือเรียงความขนาดสั้น (Short Essay) 1 เรื่อง บทกวีขนาดสั้น (Short Poem) 1 บท ไม่ว่าจะนำมาจากงานรวบรวมหรือไม่ก็ตาม

แผนภูมิ (Chart) กราฟ (Graph) แผนผัง (Diagram) ภาพวาด (Painting) ภาพลายเส้น (Drawing) การ์ตูน (Cartoon) รูปภาพ (Picture) หรือภาพประกอบหนังสือ (Illustration) จากหนังสือ นิตยสาร/วารสาร หรือหนังสือพิมพ์ จำนวน 1 ภาพ

การทำสำเนาจำนวนมากเพื่อใช้ในห้องเรียน ทำได้ไม่เกิน 1 ชุดต่อนักเรียน 1 คน โดยผู้สอน เพื่อใช้ในการสอนหรือการอภิปรายในห้องเรียน โดยสำเนาที่ทำขึ้นจะต้องไม่ยาวจนเกินไป และต้องมีการระบุรับรู้ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ไว้ในสำเนาทุกฉบับด้วย ดังนี้

ร้อยกรอง  : บทกวี (Poem) ที่ไม่เกิน 250 คำ และเมื่อพิมพ์แล้วไม่เกิน  2 หน้า [หน้าละ 2,000 ตัวอักษร(Character) ตัวอักษรขนาด 16] หรือ บทกวีขนาดยาว ตัดตอนมาได้ไม่เกิน 250 คำ

ร้อยแก้ว : บทความ (Article) 1 บท  เรื่อง (Story) 1 เรื่อง  หรือเรียงความ (Essay) 1 เรื่อง หรือไม่เกิน 2,500 คำ ตอนใดตอนหนึ่ง (Excerpt) ของร้อยแก้วซึ่งไม่เกิน 1,000 คำ หรือร้อยละ 10 ของงานนั้น (แล้วแต่ว่าจำนวนใดน้อยกว่ากัน) แต่ได้อย่างน้อย 500 คำ อย่างไรก็ดี จำนวนที่ระบุไว้นี้ ยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม เช่น อาจมีความยาวเกินมาเพื่อให้ข้อความของบทกวีจบบทหรือร้อยแก้วจบย่อหน้า เป็นต้น
แผนภูมิ (Chart) กราฟ (Graph) แผนผัง (Diagram) ภาพวาด (Painting) ภาพลายเส้น (Drawing) การ์ตูน (Cartoon) รูปภาพ (Picture) หรือภาพประกอบหนังสือ (Illustration) จากหนังสือ นิตยสาร/วารสาร หรือหนังสือพิมพ์ จำนวน 1 ภาพ

งานที่มีลักษณะเฉพาะ – งานที่อยู่ในรูปของร้อยกรองหรือร้อยแก้ว หรือผสมผสานกันซึ่งมักจะมีภาพประกอบ อาทิ หนังสือเด็ก ทำทั้งฉบับไม่ได้ แต่ใช้ได้ไม่เกิน 2,500 คำ และทำสำเนาตอนใดตอนหนึ่ง (Excerpt) ของงานได้ไม่เกิน 2 หน้าพิมพ์ของงานนั้น หรือไม่เกินร้อยละ 10 ของคำที่ปรากฏในงานนั้น

งานของผู้สร้างสรรค์คนเดียวกัน ทำสำเนาบทกวี (Poem) บทความ (Article) เรื่อง (Story) หรือเรียงความ (Essay) ได้ไม่เกิน 1 เรื่อง หรือสามารถตัดตอนมาจากผลงานของผู้สร้างสรรค์คนเดียวกันได้ไม่เกิน 2 ตอน (Excerpts) หรือทำสำเนาผลงานได้ไม่เกิน 3 เรื่อง จากงานรวบรวมเล่มเดียวกัน หรือจากนิตยสาร/วารสารรวมเล่ม ในเวลา 1 ภาคการศึกษา

แหล่งบริการตรวจสอบลิขสิทธิ์และการใช้งานที่เป็นธรรม (Copyright & Fair Use)

ในกรณีที่มหาวิทยาลัยมหิดลบอกรับเป็นสมาชิกวารสารและฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ทำให้อาจารย์มีสิทธิในเข้าถึงและใช้งานบทความฉบับเต็มได้ แต่หากต้องการนำภาพหรือข้อมูลจากบทความเหล่านั้นไปเผยแพร่ ผ่านการผลิตสื่อการเรียนการสอน ผลิตตำรา จัดทำเอกสารประกอบชุดวิชาที่ใช้สำหรับการเรียนในหลักสูตรต่าง ๆ ที่เรียกว่า Coursepacks, Classroom Handouts, e-Learning, หรือการสอนออนไลน์ด้วยระบบ MOOC และมีการเผยแพร่ไปยังนักศึกษาหรือผู้เรียนในวงกว้าง อาจจำเป็นต้องตรวจสอบสิทธิ์ก่อน ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปตามนโยบายของสำนักพิมพ์เจ้าของลิขสิทธิ์ และวัตถุประสงค์ของการนำไปเผยแพร่

ปัจจุบัน สำนักพิมพ์วารสารชั้นนำจากทั่วโลก มักมีบริการตรวจสอบสิทธิ์ในการนำภาพจากบทความไปใช้และเผยแพร่ โดยมีปุ่มแสดงข้อความปรากฏบนหน้าเว็บของบทความ เขียนว่า “Rights & Permissions” หรือ “Get Rights and Content” หรือ “Request Permissions” เพื่อทำการลิงก์ (Link) เชื่อมโยงต่อไปยังเว็บไซต์ Copyright Clearance Center (CCC) //www.copyright.com ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญในการตรวจสอบสิทธิ์ ผู้ใช้บริการสามารถกรอกแบบฟอร์มขออนุญาตนำไปใช้ในการผลิตสื่อการเรียนการสอน หรือสั่งซื้อภาพหรือเนื้อหาจากบทความวารสารที่ต้องการ โดยดำเนินการผ่านระบบที่เรียกว่า RightLinks for Permission ระบบดังกล่าวจะคำนวณค่าใช้จ่ายให้ ส่วนใหญ่หากนำภาพหรือข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการเขียนวิทยานิพนธ์ หรือขอใช้ภาพที่ความละเอียดไม่สูง มักได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้าใช้สอนในชั้นเรียน ค่าใช้จ่ายจะขึ้นกับจำนวนนักศึกษา หรืออาจไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่ต้องระบุข้อความ “Reprinted with permission from …” ทั้งนี้ ขึ้นกับนโยบายของวารสารในแต่ละสำนักพิมพ์

แนะนำแหล่งให้บริการตรวจสอบลิขสิทธิ์

  • Copyright Clearance Center (CCC)
  • Copyright Licensing Agency (CLA)
  • Access Copyright
  • Copyright Agency
  • International Federation of Reproduction Rights Organisations (IFRRO)

พัฒนาการของกฎหมายลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัล

กฏหมายลิขสิทธิ์เดิม มุ่งเน้นการคุ้มครองสิ่งพิมพ์และงานวรรณกรรมเป็นหลัก หลักข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เรียกว่า การใช้โดยชอบธรรม (Fair Use) สามารถใช้ได้ผลในสื่อสิ่งพิมพ์ แต่ปัจจุบันการคุ้มครองสิทธิ์ได้ขยายไปยังสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซอฟแวร์ และข้อมูลความรู้ต่าง ๆที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต  ทำให้การใช้หลักการดังกล่าวบนระบบอินเทอร์เน็ต มีปัญหาหลายประการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก จึงได้จัดทำสนธิสัญญา WIPO Copyright Treaty เพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต ในปี พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) สหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมาย Digital Millennium Copyright Act (DMCA) มีการกำหนดโทษสำหรับการกระทำหลีกเลี่ยงมาตรการปกป้องเทคโนโลยี (Anti-circumvention) ห้ามใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อหลบเลี่ยงการเข้ารหัส (Encryption) โดยเด็ดขาด ทั้งนี้ มาตรการทางเทคโนโลยี (Technological Protection Measures: TPM) เป็นเครื่องมือที่เจ้าของลิขสิทธินำมาใช้เพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ มี 2 ประเภท ได้แก่ มาตรการทางเทคโนโลยีที่ใช้ควบคุมการเข้าถึง (Access Control) และมาตรการทางเทคโนโลยีที่ใช้ควบคุมการทำซ้ำ (Copy Control)

อย่างไรก็ตาม จักรกฤษณ์ และนันทน (2550) ได้แสดงความเห็นเอาไว้ว่า กฎหมายดังกล่าวสร้างอำนาจทางการตลาดให้แก่เจ้าของงาน และมีผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาที่จำเป็นต้องจัดซื้อหนังสือ ดำรา โปรแกรมคอมพิวเตอร์ บอกรับวารสาร ฐานข้อมูลต่างๆ ซึ่งทางบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์จะทำการใส่รหัสผ่าน  (Password)  หรือใช้เทคโนโลยีเข้ารหัส (Encryption) และกำหนดราคาขายตามอำเภอใจ ทั้งๆ ที่ปรัชญาพื้นฐานของอินเทอร์เน็ต คือการเปิดโกาสให้มีการเข้าถึงข้อมูลโดยเสรี

สำหรับประเทศไทย ในปัจจุบันได้มีการเพิ่มเติมกฎหมายลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2 และ 3 ในปี พ.ศ. 2558 ฉบับที่ 4 ในปี พ.ศ. 2561 โดยนำข้อมูลการบริหารสิทธิ (Rights Management Information: RMI) และมาตรการทางเทคโนโลยี  มาใช้ในการคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดง การบันทึกภาพและเสียงในโรงภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และกำหนดข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์เพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ของคนพิการ ให้สามารถทำซ้ำหรือดัดแปลงเพื่อการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ตามความจำเป็น

บรรณานุกรม

กรมทรัพย์สินทางปัญญา. (2559). คู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม. //www.ipthailand.go.th/images/781/manual_copyright.pdf

กรมทรัพย์สินทางปัญญา. (2559). คู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมสำหรับบรรณารักษ์และห้องสมุด. //www.ipthailand.go.th/th/copyright-011/

จักรกฤษณ์ ควรพจน์.(2550). ลิขสิทธิ์ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล. //www.ftawatch.org/sites/default/files/documents/2007_jakkrit_licences.pdf

จักรกฤษณ์ ควรพจน์ และ นันทน อินทนนท์. (2550).  ลิขสิทธิ์ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล มาตรการทางเทคโนโลยี และทางเลือกสำหรับประเทศไทย. กรุงเทพ: โครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การค้าโลก). คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537. (2537). //www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2537/A/059/1.PDF

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558. (2558). //www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/006/7.PDF

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558. (2558). //www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/006/14.PDF

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561. (2561). //www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/092/19.PDF

American Library Association. (2015). Copyright Advisory Network. //librarycopyright.net

Arizona State University Library. (2019). Copyright. //libguides.asu.edu/copyright/gfa

Copyright Clearance Center. (1995-2020). Copyright & Licensing Experts. //www.copyright.com

Elsevier. (2020). Permission Guidelines. //www.elsevier.com/about/policies/copyright/permissions 

Interlibrary Loan: Copyright Guidelines and Best Practices. //www.copyright.com/wp-content/uploads/2015/03/White_Paper_ILL-Brochure.pdf

Modern Interlibrary Loan Practices: Moving beyond the CONTU Guidelines. //www.arl.org/wp-content/uploads/2020/08/2020.08.31-modern-interlibrary-loan-practices-moving-beyond-the-CONTU-guidelines.pdf

การใช้ลิขสิทธิ์ที่ไม่เป็นธรรม มีอะไรบ้าง

หากการทำงานลิขสิทธิ์ของคนอื่นมาใช้ในปริมาณมาก ก็ถือว่าเป็นการใช้ที่ไม่เป็นธรรม หรือในกรณีที่ทำงานลิขสิทธิ์ของคนอื่นมาใช้ แม้ปริมาณน้อยก็อาจเป็นการละเมิดได้ หากส่วน นั้นเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญหรือหัวใจของงานชิ้นนั้น

การใช้ลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม หรือ โดยชอบธรรมคืออะไร

การใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (Fair Use) เป็นหลักข้อยกเว้นของกฎหมายลิขสิทธิ์ (Copyright Act) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการปกป้องผลประโยชน์อันชอบธรรมของเจ้าของลิขสิทธิ์ กับการรักษาประโยชน์ของสาธารณชนที่จะได้รับจากการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ กฎหมายของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก กำหนดให้บุคคลทั่วไปมีสิทธิใช้วัสดุหรือ ...

การใช้สิทธิของผู้อื่นโดยชอบธรรม คืออะไร

การใช้ลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยชอบ (อังกฤษ: fair use) บ้างแปลว่า การใช้งานโดยชอบธรรม เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายลิขสิทธิ์สหรัฐ ที่อนุญาตให้ใช้งานที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ต้องขออนุญาตผู้ทรงลิขสิทธิ์เสียก่อน ซึ่งกฎหมายเจตนาสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์ของผู้ทรงลิขสิทธิ์กับประโยชน์สาธารณะในการจำหน่ายในวงกว้างและการใช้งานสร้างสรรค์ ให้ไม่ ...

ปัจจัย 4 อย่างที่เป็นตัวกำหนด Fair Use มีอะไรบ้าง

ปัจจัย 4 อย่างที่เป็นตัวก าหนด Fair Use ในการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมในการเรียนการสอน 1. ค านึงถึงวัตถุประสงค์และความเหมาะสมในการใช้งาน ลิขสิทธิ์ 2. ค านึงถึงลักษณะของงานลิขสิทธิ์ 3. ค านึงถึงปริมาณการใช้งานและสัดส่วนของงาน 4. ค านึงถึงผลกระทบต่อการตลาดหรือมูลค่าของงานลิขสิทธิ์

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน อาจารย์ ตจต ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf lmyour แปลภาษา ชขภใ ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 ขขขขบบบยข ่ส ศัพท์ทางทหาร military words หนังสือราชการ ตัวอย่าง หยน แปลบาลีเป็นไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง พจนานุกรมศัพท์ทหาร เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษามลายู ยาวี Bahasa Thailand กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ การ์ดจอมือสอง ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย คะแนน o-net โรงเรียน ค้นหา ประวัติ นามสกุล บทที่ 1 ที่มาและความสําคัญของปัญหา ร. ต จ แบบฝึกหัดเคมี ม.5 พร้อมเฉลย แปลภาษาอาหรับ-ไทย ใบรับรอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน PEA Life login Terjemahan บบบย มือปราบผีพันธุ์ซาตาน ภาค2 สรุปการบริหารทรัพยากรมนุษย์ pdf สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม เช็คยอดค่าไฟฟ้า แจ้งไฟฟ้าดับ แปลภาษา มาเลเซีย ไทย แผนที่ทวีปอเมริกาเหนือ ่้แปลภาษา Google Translate กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ข้อสอบโอเน็ตม.3 มีกี่ข้อ คะแนนโอเน็ต 65 ตม กรุงเทพ มีที่ไหนบ้าง