เรื่องรามเกียรติ์ ตอน ใด ไม่ใช่ วรรณคดี ใน สมัย ธนบุรี

บทละครเรื่องรามเกียรติ์ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีความสําคัญเกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ทางการเมือง ทั้งนี้เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงมีสถานะเป็น “พระนารายณ์อวตาร” พระรามซึ่งเป็น “พระนารายณ์อวตาร” จึงมีความหมายพิเศษยิ่งกว่าความเป็นวีรบุรุษในตํานานนิทานหรือกษัตริย์ผู้ประเสริฐเท่านั้น แต่เป็นสัญลักษณ์ซึ่งหมายถึง “พระมหากษัตริย์” อีกประการหนึ่งด้วย

ดังนั้นพระนามพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยสุโขทัย จึงปรากฏพระนามที่เกี่ยวข้องกับความเป็น “พระราม” นับแต่ “พระญารามราช” หรือ “พ่อขุนรามคําแหง” ซึ่งหมายถึง “พระราม” สืบมาถึงพระนาม “สมเด็จพระรามาธิบดี” ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งหมายถึง “พระรามผู้เป็นใหญ่” ก็แสดงถึงแนวคิดนี้ที่สืบทอดผ่านการนับถือศาสนาฮินดูลัทธิไวษณพนิกายเป็นใหญ่

การแสดงเรื่องรามเกียรติ์ จึงค่อนข้างจะเป็นสิ่งผูกขาดของราชสํานัก และได้สืบทอดผ่านขนบการแสดงหนังใหญ่ โขนและละครใน บทละครเรื่องรามเกียรติ์ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นบทพระราชนิพนธ์ และกําหนดไว้เป็นเรื่องที่เล่นได้เฉพาะในละครหลวง (ละครใน) ของราชสํานักเท่านั้น บทละครเรื่องรามเกียรติ์จึงจัดเป็น “บทละครใน” ในจํานวน 4 เรื่องของราชสํานักกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งประกอบด้วย รามเกียรติ์ อิเหนา ดาหลัง และ อุณรุท [1]

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ขึ้น นอกจากเพื่อใช้เป็นบทละครสําหรับเล่นละครในแล้ว บทละครเรื่องรามเกียรติ์ยังน่าจะเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง “เรื่องพระราม” ในรัชกาลของพระองค์ด้วยเช่นเดียวกัน ดังที่ สมบัติ จันทรวงศ์ ได้เคยวิเคราะห์ไว้ว่า

“…สิบห้าปีหลังการปราบดาภิเษก คือในปี พ.ศ. 2340 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้กวี นักปราชญ์ราชบัณฑิตประชุมกันแต่งบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งน่าจะสะท้อนให้เห็นถึงพระราชประสงค์ของพระองค์ที่จะแสดงต่อราษฎร์ว่า การปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ของพระองค์นั้นถูกต้องทั้งตามคติพุทธและพราหมณ์ เพราะบานแพนกของบทละครเรื่องรามเกียรติ์…แต่สิ่งที่มาก่อนคือการยอพระเกียรติ์พระองค์ ว่า ‘พระบาทดํารงทรงภิภพลุ่มล่างฝ่ายพระนารายณ์ ผ่ายแผ่นพื้นสีมาออกกว้าง สร้างสรรค์สิ่งมิ่งเมือง’ คือ เป็นพระนารายณ์อวตารลงมาแผ่พื้นปฐพีให้กว้างใหญ่ออกและสร้างเมืองใหม่ขึ้น..จึงเป็นการเปรียบเทียบตามคติพราหมณ์ว่าพระมหากษัตริย์ก็คือพระนารายณ์อวตารลงมาทําหน้าที่บําบัดทุกข์บํารุงสุขราษฎรและปกปักรักษาโลก…” [2]

ดังนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยราชสมบัติ พระองค์จึงเท่ากับทรงเป็น “พระนารายณ์อวตาร” หรือ “พระราม” ตามคติพราหมณ์-ฮินดู และเมื่อจะทรงพระราชนิพนธ์บทละครสําหรับเล่นละครหลวง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเลือกพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง “รามเกียรติ์” แทนที่จะเป็นบทละครเรื่องอื่น [3]

การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์จึงเป็น “สัญลักษณ์ทางการเมือง” ของพระองค์ด้วย เพราะ เท่ากับเป็นการยืนยันถึงสถานะทางการเมืองของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็น “พระราม” หรือ “พระนารายณ์อวตาร” ที่มีความชอบธรรมในการเป็นพระมหากษัตริย์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เหตุใดต้องเป็นรามเกียรติ์ ตอน “พระรามเดินดง”

สาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลือกรามเกียรติ์ “ตอนพระรามเดินดง” มาทรงพระราชนิพนธ์แปลงใหม่สําหรับเล่นละครหลวง น่าจะมีความเกี่ยวเนื่องกับพระราชประวัติของพระองค์เอง ในการที่ทรงพระผนวชในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระราชบิดา และต้องทรงดํารงสมณเพศตลอดรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเชษฐาธิราช อยู่ถึง 27 ปี จึงได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในปี พ.ศ. 2367 เจ้าฟ้ามงกุฏได้ทรงพระผนวช และมีฉายาว่า “วชิรญาณภิกขุ” ทว่าหลังจากนั้นเพียง 15 วัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็เสด็จสวรรคตโดยไม่ได้ดํารัสสั่งมอบเสนอราชสมบัติพระราชทานแก่เจ้านายพระองค์ใดให้เป็นพระรัชทายาท

แม้เจ้าฟ้ามงกุฎจะเป็นพระราชโอรสพระองค์โตที่ประสูติจากสมเด็จพระอัครมเหสี ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาลแล้วพระองค์ทรงมีฐานะเป็นรัชทายาท แต่ในเวลานั้นยังมีพระชันษาน้อยอีกทั้งไม่ทรงมีอํานาจบารมีในวงราชการเหมือนกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระเชษฐาต่างพระมารดาที่ทรงรับราชการสนองพระราชบิดาก่อนพระองค์และได้ทรงบังคับบัญชาราชการต่างพระเนตรพระกรรณเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ 2 มีผู้คนยําเกรงนับถืออยู่มาก [4]

ครั้นเมื่อพระราชวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่ประชุมกันได้ส่งคนมาทูลถามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงพระผนวชว่าพระองค์จะทรงปรารถนาราชสมบัติหรือไม่ พระองค์จึงทรงปรึกษากับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ กรมขุนฯ ทูลแนะนําว่าควรจะคิดเอาราชสมบัติตามสิทธิ์ แต่กรมหมื่นนุชิตชิโนรส และกรมหมื่นเดชอดิศร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ตรัสว่า ไม่ใช่เวลาควรปรารถนาราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตัดสินพระทัยที่จะผนวชต่อไป

กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระองค์เจ้าชายทับ) จึงเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติทรงพระนามพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้ามงกุฏจึงทรงดํารงสมณเพศต่อมา ในระหว่างนี้เมื่อเสด็จประทับอยู่ที่วัดราชาธิวาส พระองค์ได้เสด็จออกธุดงค์ไปตามหัวเมืองต่างๆ เช่น หัวเมืองมณฑลนครชัยศรี มณฑลราชบุรี มณฑลอยุธยา และมณฑลนครสวรรค์ ตลอดขึ้นไปจนมณฑลพิษณุโลกทางฝ่ายเหนือ [5] ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คล้ายกับพระรามต้องออกบวชและเดินป่าเป็นเวลา 14 ปี ตามพระราชดํารัสของท้าวทศรถ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่ปรึกษาพร้อมกันกราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จให้ลาผนวชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ [6]

การที่ทรงเลือกเรื่องรามเกียรติ “ตอนพระรามเดินดง” มาทรงพระราชนิพนธ์แปลงเป็นพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดง จึงน่าจะเกี่ยวกับพระราชประวัติในส่วนที่พระองค์ต้องทรงพระผนวช (เช่นเดียวกับพระราม) และต้องรอจนสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งนานถึง 27 ปี จึงจะได้เสวยราชสมบัติเมื่อพระชนมายุได้ 47 พรรษา [7] (ในกรณีของพระราม 14 ปี) พระราชประวัติส่วนนี้จึงไม่ต่างกับประวัติของพระรามในเรื่องรามเกียรติ์ที่ต้องเดินดงถึง 14 ปี จึงได้เสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา

ดังนั้นการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ตอน พระรามเดินดง จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องความบังเอิญ แต่น่าจะเกี่ยวเนื่องกับสัญลักษณ์บางประการของเรื่องรามเกียรติ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ และน่าจะแสดงถึงความชอบธรรมในการที่ทรงรับราชสมบัติหลังจากต้องปลีกพระองค์จากพระราชบัลลังก์ไปนานถึง 27 ปี แต่ในที่สุดก็ได้เสวยราชสมบัติ เช่นเดียวกับพระรามที่ต้องเดินป่าเป็นเวลา 14 ปี

บทสรุป

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า แม้บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดง จะเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีความยาวไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับพระราชนิพนธ์เรื่องอื่น แต่มีความน่าสนใจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของการพระราชนิพนธ์แปลง “บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดง” จากบทละครเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 โดยทรงแก้ไขถ้อยคําบางส่วน เป็นต้น

นอกจากนี้ บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดง น่าจะเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งเปรียบเหมือนพระนารายณ์อวตาร หรือพระราม เหตุการณ์ตอนพระรามเดินดงก็มีส่วนที่คล้ายกับพระราชประวัติของพระองค์เองเมื่อต้องเสด็จออกผนวชและดํารงสมณเพศมาจนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นสมเด็จพระเชษฐาธิราชสวรรคต พระองค์จึงลาผนวชและเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติต่อมาเช่นเดียวกับพระรามต้องผนวชและเดินป่าถึง 14 ปี ซึ่งน่าจะเป็นเหตุที่ทําให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกเรื่องรามเกียรติ์ตอนนี้มาทรงพระราชนิพนธ์แปลงสําหรับใช้แสดงละครหลวงในรัชกาลของพระองค์

อย่างไรก็ตามบทความเรื่องนี้เป็นเพียงการนําเสนอข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเท่านั้น บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดง พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีประเด็นต่าง ๆ ที่น่าศึกษาสนใจและไม่สามารถกล่าวถึงในที่นี้อีกมาก ซึ่งควรศึกษาเพื่อความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อไป

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอน พระรามเดินดง : สัญลักษณ์ทางการเมืองในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดย ศานติ ภักดีคำ. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 27 ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2549)


เชิงอรรถ :

[1] สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ. “ตํานานเรื่องละครอิเหนา,” ใน ละครฟ้อนรํา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546, หน้า 334.

[2] สมบัติ จันทรวงศ์. บทพิจารณ์ว่าด้วยวรรณกรรมกา เมืองและประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : คบไฟ, 2550, หน้า 373-374.

[3] นอกจากบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดงแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระราชนิพนธ์บทเบิกโรงละครหลวงอีกหลายเรื่องแต่ไม่ได้มีความยาวและสําคัญเท่าเรื่องรามเกียรติ์ โปรดดู บทลครชุดเบ็ดเตล็ดในเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และพระราชนิพนธ์กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ กับบาญชีรายชื่อพระยายืนชิงช้า. พระยาราชนกูล (อวบ เปาโรหิตย์) มสม. ทจว. ฯลฯ พิมพ์แจกเป็นของชําร่วยเมื่อยืนชิงช้า พ.ศ. 2458. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณ พิพรรฒธนากร, 2458. และบทเบิกโรงลครหลวง พระบรมราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ 4. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชษฐโปรดให้พิมพ์ เมื่อปีวอก พ.ศ. 2463. พระนคร : โรงพิมพ์ไทย, 2463.

[4] สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ. “เรื่องพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อก่อนเสวยราชย์,” ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 4. กรุงเทพฯ : กอง วรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2542, หน้า 327.

[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 335.

[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 347.

[7] สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ. “เรื่องพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสวยราชย์แล้ว พ.ศ. 2394-2411,” ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 4. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2542, หน้า 351.

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 4. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์.กรมศิลปากร, 2542.

จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. บทลครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดง พระบรมราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4. พระนคร : โรงพิมพ์ไทย, 2462.

ดํารงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ละครฟ้อนรํา, กรุงเทพฯ : มติชน, 2546.

ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2538.

เทอดพงศ์ คงจันทร์. การเมืองเรื่องสถาปนาพระจอมเกล้าฯ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547.

บทเบิกโรงลครหลวง พระบรมราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชษฐ
โปรดให้พิมพ์ เมื่อปีวอก พ.ศ. 2463. พระนคร : โรงพิมพ์ไทย, 2463.

บทลครชุดเบ็ดเตล็ดในเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และพระราชนิพนธ์กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ กับบาญชีรายชื่อพระยายืนชิงช้า, พระยาราชนกูล (อวบ เปาโรหิตย์) มสม. ทจว. ฯลฯ พิมพ์แจกเป็นของชําร่วยเมื่อยืนชิงช้า พ.ศ. 2458. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2458.

พุทธยอดฟ้าจุฬาโลก, พระบาทสมเด็จพระ. บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เล่ม 1-4. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2540.

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน อาจารย์ ตจต ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf lmyour แปลภาษา ชขภใ ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 ขขขขบบบยข ่ส ศัพท์ทางทหาร military words หนังสือราชการ ตัวอย่าง หยน แปลบาลีเป็นไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง พจนานุกรมศัพท์ทหาร เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษามลายู ยาวี Bahasa Thailand กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ การ์ดจอมือสอง ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย คะแนน o-net โรงเรียน ค้นหา ประวัติ นามสกุล บทที่ 1 ที่มาและความสําคัญของปัญหา ร. ต จ แบบฝึกหัดเคมี ม.5 พร้อมเฉลย แปลภาษาอาหรับ-ไทย ใบรับรอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน PEA Life login Terjemahan บบบย มือปราบผีพันธุ์ซาตาน ภาค2 สรุปการบริหารทรัพยากรมนุษย์ pdf สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม เช็คยอดค่าไฟฟ้า แจ้งไฟฟ้าดับ แปลภาษา มาเลเซีย ไทย แผนที่ทวีปอเมริกาเหนือ ่้แปลภาษา Google Translate กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ข้อสอบโอเน็ตม.3 มีกี่ข้อ คะแนนโอเน็ต 65 ตม กรุงเทพ มีที่ไหนบ้าง