การเรียงลําดับเหตุการณ์ ภาษาไทย

ลำดับเหตุการณ์เหมือนกับแกนของเรื่องที่จะทำให้เนื้อเรื่องดำเนินไปในทิศทางไหน เนื้อหาในเหตุการณ์เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างหนึ่ง การนำเสนอเหตุการณ์ก็มีกลวิธีมากมายที่จะนำเสนอออกมาเพื่อเพิ่มอรรถรสให้กับเรื่องสั้นของเรา การสร้างเหตุการณ์ในเนื้อเรื่องที่ดี ก็เหมือนกับเราสร้างรากฐานของอาคารได้ดี หลังจากที่เราออกแบบมันมาแล้ว เมื่อรากฐานดี หลังจากนั้นเราก็สามารถสร้างองค์ประกอบมาแต่งแต้มเนื้อหาเรื่องสั้นของเราได้ง่ายขึ้น และสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น


เมื่อเราคิดได้แล้วว่าเราจะเขียนเกี่ยวกับอะไร และต้องการให้งานเขียนนำเสนออะไรออกมาจากนั้นเราก็มาสร้างเหตุการณ์ว่าจะให้เกิดอะไรขึ้นบ้างในเรื่องสั้นของเรา ความจริงแล้วเนื้อหาเหตุการณ์เราสามารถเขียนเมื่อเราคิดอะไรออกมาก็ได้ แต่มีองค์ประกอบของการสร้างเนื้อหาเหตุการณ์เรื่องสั้นบางอย่างที่เราควรพิจารณา เพื่อให้ได้เค้าโครงเรื่องสั้นที่ดีและง่ายต่อการเขียนงานต่อไป


  • ความสมจริงของเนื้อหา
  • แต่ละเหตุการต้องเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน
  • ความซับซ้อนที่พอเหมาะของเนื้อหา

ความสมจริงของเนื้อหา

ความสมจริงจะเป็นสิ่งที่ทำให้เรื่องสั้นของเราสามารถเข้าใจได้ง่ายจากผู้อ่านงานเขียนของเรา ความสมจริงในงานวรรณกรรมนั้นไม่ได้หมายถึงความเป็นได้ของเหตุการณ์ที่สามารถเกิดได้ในโลกความเป็นจริง เช่นรถยนต์วิ่งบนพื้น รถยนต์วิ่งบนพื้นคือสามัญสำนึกของคนเราที่เข้าใจอยู่แล้วในโลกความเป็นจริง คนอ่านย่อมมีความเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี ถ้าหากเราเขียนว่ารถยนต์วิ่งฝ่าสายลมบนอากาศ นี่ไม่ใช่เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง (อย่างน้อยก็ในยุคนี้) แต่ถัาเราระบุไว้ในเรื่องสั้นว่ารถยนต์วิ่งบนอากาศได้เพราะเวทย์มนต์ของพ่อมดในเรื่องสั้นแนวแฟนตาซี หรือมันขับเคลื่อนด้วยพลังไอพ่นหรือพลังงานต้านแรงโน้มถ่วงในเรื่องสั้นที่เขียนเกี่ยวกับอนาคต นั่นก็ถือว่ารถยนต์ที่วิ่งบนอากาศนั้นยังสมจริงสมจังอยู่ คือเราต้องสามารถอธิบายได้ว่าเหตุการณ์ที่ดูประหลาดๆนั้นมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร แต่ถ้าเราให้รถยนต์วิ่งบนอากาศได้โดยที่ในเรื่องไม่มีพ่อมดที่มีเวทย์มนต์ ไม่มีเทคโนโลยีใดๆที่รองรับให้รถยนต์วิ่งได้บนอากาศ นั่นก็ไม่สมจริงแล้ว อาจจะสร้างความสับสนให้กับผู้อ่านเรื่องสั้นของเราได้


สิ่งที่พูดถึงในย่อหน้าข้างบนนั้นหมายถึงว่าเราสามารถเขียนอะไรที่มันอยู่นอกเหนือสามัญสำนึกของคนทั่วไปก็ได้ แต่ต้องอธิบายได้ว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร แม้สิ่งที่อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเราจะไม่สามารถอธิบายมันได้ต่อไปว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร เช่นเราอธิบายว่ารถยนต์วิ่งบนอากาศได้เพราะพ่อมดใช้เวทย์มนต์ทำให้รถยนต์วิ่งบนอากาศ แต่เราไม่สามารถอธิบายได้ว่าพ่อมดเกิดขึ้นมาจากไหนและหลักการทำงานของเวทย์มนต์มันเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้เราอาจจะมองข้ามไปก็ได้เพราะมันจะดูยิบย่อยไปหน่อยและคนอ่านพอจะเข้าใจได้บ้าง

ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ดูสมจริง

  1. ชายหนุ่มไม่มีเงินติดตัวเลยสักบาท เขาปล้นธนาคาร
  2. เขาอัดด้ามปืมลูกซองเข้าที่หัวของยาม จนยามสลบ
  3. โจรบอกให้พนักงานนำเงินสดในลิ้นชักใส่กระเป๋า
  4. ชายหนุ่มกวาดกระบอกปืนไปมาทำให้ปลายกระบอกปืมพลัดไปโดนกระปุกออมสินของเด็กน้อยที่อยู่ช่องเคาท์เตอร์ถัดไปตกแตก
  5. เด็กร้องไห้เสียงดัง
  6. โจรหยิบธนบัตรหนึ่งปึกให้เด็กน้อยและรีบหอบกระเป๋าหนีออกจากธนาคาร

จากตัวอย่างนี้เราลองอ่านซ้ำหลายๆรอบ ถ้าเราไม่รู้สึกว่ามันดูไม่สมจริงเท่าไหร่ เราก็พอจะผ่านขั้นตอนนี้ไปได้ แต่ถ้าอ่านแล้วเรารู้สึกว่ามันดูไม่น่าจะสมจริง ก็ควรปรับแก้เนื้อหาจนกว่าจะพอใจตั้งแต่ขั้นตอนนี้ เพราะถ้าเราไม่แก้ไขในขั้นตอนนี้ก่อน เราอาจจะเจอปัญหาและความยากในขั้นตอนถัดไปจนอาจทำให้งานเขียนล้มเหลวก็เป็นได้

ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ดูไม่สมจริง (ในมุมมองของผู้เขียน แต่สำหรับผู้อ่านแล้วอาจจะทำให้มันดูสมจริงได้)

  1. ชายหนุ่มไม่มีเงินติดตัวเลยสักบาท เขาปล้นธนาคาร
  2. เขาอัดด้ามปืมลูกซองเข้าที่หัวของยาม จนยามสลบ
  3. โจรบอกให้พนักงานนำเงินสดในลิ้นชักใส่กระเป๋า
  4. ชายหนุ่มกวาดกระบอกปืนไปมาทำให้ปลายกระบอกปืมพลัดไปโดนกระปุกออมสินของเด็กน้อยที่อยู่ช่องเคาท์เตอร์ถัดไปตกแตก
  5. เด็กร้องไห้เสียงดัง ก่อนจะหยีบมีดที่เหน็บไว้ที่หลังขึ้นมาแทงโจรตายคาที่

ในมุมมองของผู้เขียนเองแล้วไม่เคยมีความเชื่อเลยว่าเด็กน้อยจะพกอาวุธมีดเดินเข้าธนาคาร แม้จะมีเขาก็คงไม่บ้าพอที่จะใช้มีดแทงชายหนุ่มที่ถือปืนลูกซองไว้ในมือ และถึงแม้เด็กน้อยจะบ้าพอแต่โจรคงไม่ปล่อยให้ตัวเองโดนแทงง่ายๆ สุดท้ายผู้เขียนก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับพลังภายใน จึงเป็นไม่ได้ที่จะให้เด็กน้อยทำเรื่องที่เหลือเชื่อแบบนี้ แต่ถ้าเป็นมุมมองของผู้อ่านเองก็แล้วแต่ว่าผู้อ่านจะมีความเชื่ออย่างไร

ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ดูสมจริง

  1. มหาเศรษฐีกำลังจะล้มละลายและกำลังป่วยใกล้ตาย
  2. บริษัททางการเงินเข้ามาขนทรัพย์สินทั้งหมดในบ้านออกไป
  3. มหาเศรษฐีต่อลองกับนายธนาคารว่าขอเขาเก็บภาพวาดเก่าๆในกรอบไม้ผุๆ
  4. นายธนาคารยินยอมเพราะเห็นว่าเคยเป็นลูกค้าชั้นดี และภาพเก่าคงไม่มีราคา
  5. ก่อนมหาเศรษฐีจะตาย เขาบอกกับลูกชายว่าในภาพวาดนั้นมีหมายเลขบัญชีสถาบันทางการเงินจากต่างประเทศ และรหัสลับสำหรับถอนเงินซ่อนอยู่บนภาพ
  6. มหาเศรษฐีบอกว่าเงินเหล่านี้เป็นเงินที่เขายักยอกจากบริษัทที่เขาก่อตั้งขึ้นเองมาตลอดทั้งชีวิต และสะสมมันไว้

ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ดูไม่สมจริง (ในมุมมองของผู้เขียน แต่สำหรับผู้อ่านแล้วอาจจะทำให้มันดูสมจริงได้)

  1. มหาเศรษฐีกำลังจะล้มละลายและกำลังป่วยใกล้ตาย
  2. บริษัททางการเงินเข้ามาขนทรัพย์สินทั้งหมดในบ้านออกไป
  3. มหาเศรษฐีต่อลองกับนายธนาคารว่าขอเก็บตู้เซฟเก่าๆไว้หนึ่งใบ
  4. นายธนาคารยินยอมเพราะเห็นว่าเคยเป็นลูกค้าชั้นดี และตู้เซฟที่เก่าแล้วไม่มีราคาและในนั้นคงไม่มีอะไรที่มีค่า
  5. ก่อนมหาเศรษฐีจะตาย เขาบอกรหัสเปิดเซฟให้ลูกชาย
  6. มหาเศรษฐีบอกว่าเงินเหล่านี้เป็นเงินที่เขายักยอกจากบริษัทที่เขาก่อตั้งขึ้นเองมาตลอดทั้งชีวิต และสะสมมันไว้

ผู้เขียนคิดว่านายธนาคารต้องยึดตู้เซฟไว้แน่ๆ คงไม่มองว่ามันไร้ค่า


ผู้เขียนอธิบายไปแล้วว่าการสร้างเนื้อหาเหตุการณที่สมจริงนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เหมือนกับการสร้างโครงสร้างของตึกเราต้องใช้เสาแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักของหลังคาได้ ถ้าเราใช้เสาที่เล็กเกินไปไม่รองรับน้ำหนักของหลังคาตามความเป็นจริงได้ อาคารก็อาจจะถล่มลงมา เช่นเดียวกันกับการสร้างเนื้อหาเรื่องสั้นที่สร้างเหตุการณ์ที่ไม่สมจริง นั่นก็อาจจะทำให้งานเขียนของเราล้มเหลวได้ง่าย

แต่ละเหตุการต้องเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน

ในเรื่องสั้นมักจะมีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นเรียงลำดับกัน แต่ละเหตุการณ์ก็เหมือนกับชิ้นส่วนของจิ๊กซอว์ แต่ละชิ้นของจิ๊กซอว์จะเขื่อมโยงกับอีกชิ้นส่วนหนึ่งหรืออาจจะไม่เชื่อมโยงกันก็ได้ แต่ผลสุดท้ายเมื่อทุกชิ้นส่วนของจิ๊กซอว์มาประกอบกันเสร็จสมบูรณ์ มันก็ต้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกันอยู่ดีมันถึงจะสมบูรณ์ในตัวของมันเอง เรื่องสั้นก็เช่นเดียวกันกับจิ๊กซอว์ ทุกเหตุการณ์ต้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ไม่ควรมีเหตุการณ์ไหนที่เกิดขึ้นมาเดี่ยวๆและไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไหนเลย เพราะเรื่องสั้นมีข้อจำกัดที่ความสั้น เหตุการณ์ที่ไม่เชื่อมโยงใดๆกับใครจะไร้ประโยชน์ เปลืองเนื้อที่และอาจทำให้ผู้อ่านงานเขียนสับสน


จากตัวอย่างในหัวข้อที่แล้ว หากย้อมกลับไปดูและลองพิจารณา จะเห็นว่าทุกเหตุการณ์จะมีความเขื่อมโยงซึ่งกันและกัน ลองดูตัวอย่างเหตุการณ์อีกครั้ง

  1. ชายหนุ่มไม่มีเงินติดตัวเลยสักบาท เขาปล้นธนาคาร
  2. เขาอัดด้ามปืมลูกซองเข้าที่หัวของยาม จนยามสลบ
  3. โจรบอกให้พนักงานนำเงินสดในลิ้นชักใส่กระเป๋า
  4. ชายหนุ่มกวาดกระบอกปืนไปมาทำให้ปลายกระบอกปืมพลัดไปโดนกระปุกออมสินของเด็กน้อยที่อยู่ช่องเคาท์เตอร์ถัดไปตกแตก
  5. เด็กร้องไห้เสียงดัง
  6. โจรหยิบธนบัตรหนึ่งปึกให้เด็กน้อยและรีบหอบกระเป๋าหนีออกจากธนาคาร

แม้ว่าเหตุการณ์ที่ 1 กับเหตุการณ์ที่ 6 มันดูจะไม่เป็นเหตุเป็นผลกันเลย เรามองไม่ออกว่าโจรจะหยิบธนบัตรให้เด็กน้อยทำไม แต่ถ้าเราไปอ่านเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นแล้วจะทำให้เราเข้าใจได้ถึงเหตุผลที่โจรให้เงินกับเด็ก


จากตัวอย่างข้างบน มันเป็นเหตุการณ์ที่ดำเนินต่อกันมาและเชื่อมโยงกัน แต่ในบางครั้งการเชื่อมโยงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องสั้นจะไม่เชื่อมโยงกันโดยสมบูรณ์ ต้องมีตัวเชื่อมสุดท้ายดังตัวอย่างต่อไปนี้

  1. มหาเศรษฐีกำลังจะล้มละลายและกำลังป่วยใกล้ตาย
  2. บริษัททางการเงินเข้ามาขนทรัพย์สินทั้งหมดในบ้านออกไป
  3. มหาเศรษฐีต่อลองกับนายธนาคารว่าขอเขาเก็บภาพวาดเก่าๆในกรอบไม้ผุๆ
  4. นายธนาคารยินยอมเพราะเห็นว่าเคยเป็นลูกค้าชั้นดี และภาพเก่าคงไม่มีราคา
  5. ก่อนมหาเศรษฐีจะตาย เขาบอกกับลูกชายว่าในภาพวาดนั้นมีหมายเลขบัญชีสถาบันทางการเงินจากต่างประเทศ และรหัสลับสำหรับถอนเงินซ่อนอยู่บนภาพ
  6. มหาเศรษฐีบอกว่าเงินเหล่านี้เป็นเงินที่เขายักยอกจากบริษัทที่เขาก่อตั้งขึ้นเองมาตลอดทั้งชีวิต และสะสมมันไว้

หากเราดูเหตุการณ์ที่ 1 ถึง 5 มันก็ดูจะเชื่อมโยงกันดี แต่นั่นยังไม่สมบูรณ์ ในเหตุการณ์ที่ 6 จะเป็นชิ้นส่วนของจิ๊กซอว์ส่วนสุดท้ายที่จะทำให้เรื่องสั้นของเราสมบูรณ์แบบ เหตุการณ์ที่ 6 นั้นเราจะทำให้เป็นเหตุการณ์ที่มหาเศรษฐีพูดกับลูกชายเอง หรือจะให้เป็นคำพูดจากผู้แต่งเรื่องสั้นเองบอกกับผู้อ่านเรื่องสั้นก็ได้


ตัวอย่างต่อไปนี้จะแสดงถึงการสร้างเหตุการณ์ที่ไม่เชื่อมโยงกัน ไม่เป็นเหตุเป็นผลร่วมกัน


  1. ชายชราถือปืนเดินเข้าไปในร้านอาหาร
  2. เขายิงปืนขู่ 3 นัดและตะโกนด่าทอเจ้าของร้าน
  3. ก่อนวิ่งหนีออกไปเขายิงปืนเข้ากลางหัวของลูกค้ารายหนึ่ง

3 เหตุการณ์สั้นๆนี้ถ้าดูเพียงเผินๆก็ไม่รู้สึกว่ามันขัดอะไร แต่ถ้ามองในมุมมองนักอ่าน เขาจะตั้งข้อสงสัยและไม่เข้าใจถึงการกระทำของชายชรา ถ้าตอนจบเราได้บอกผู้อ่านว่าทำไมชายชราต้องยิงหัวของลูกค้ารายนั้นด้วยก็จะทำให้เรื่องสั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

  1. หญิงสาวในชุดนักศึกษาขับรถด้วยความเร็วสูง
  2. ในถนนอีกเส้นที่ห่างไปหลายกิโลเมตร รถยนต์ของชายหนุ่มประสบอุบัติเหตุพลัดตกลงเขาไป
  3. หญิงสาวถึงที่หมายร้านอาหาร
  4. เวลาผ่านไปไม่นานเพื่อนๆของเธอตามมาสมทบพร้อมสั่งอาหารกินกัน

ตัวอย่างนี้จะเห็นได้ชัดว่าเหตุการณ์ที่ 2 นั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆเลยกับเหตุการณ์โดยรวม วิธีแก้ไขมี 2 วิธีการคือตัดเหตุการณ์ที่ 2 นั้นทิ้งไป หรืออาจะสร้างความเชื่อมโยงให้เข้ากับเนื้อหาโดยรวมในเรื่อง เช่นสุดท้ายอาจจะบอกว่า ชายหนุ่มที่ประสบอุบัติเหตุนั้นเป็นคนรักของเธอ ที่กำลังจะมาร่วมฉลองงานวันเกิดของหญิงสาว เขาขับรถลงจากดอยที่เขาเป็นเจ้าของรีสอร์ทอยู่บนนั้น


การสร้างความเชื่อมโยงเพื่อให้ทุกๆเหตุการณ์มีความเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันนั้น มีความจำเป็นในการสร้างโครงสร้างของเรื่องสั้นให้สมบูรณ์ ทุกส่วนต้องมีความสัมพันธ์และมีประโยชน์ที่จะเขียนมันขึ้นมา ไม่อย่างนั้นแล้วจะกลายเป็นว่าเราใช้พื้นที่ของเรื่องสั้นโดยเปล่าประโยชน์และอาจสร้างความสับสนให้กับผู้อ่านงานเขียนของเราได้

ความซับซ้อนของเนื้อหา

เรื่องนี้ผู้ที่เขียนเรื่องสั้นจะต้องตัดสินใจและคาดคะเนเองว่า เราจะเพิ่มความซับซ้อนของเรื่องมากน้อยเท่าไหร่ การสร้างโครงเรื่องที่ไม่ซับซ้อนอาจจะทำให้ง่ายในการอ่านและทำความเข้าใจ แต่มันก็ทำให้ขาดความน่าสนใจและน่าติดตามเพราะอาจจะอ่านไม่สนุกเท่าไหร่ การสร้างความซับซ้อนที่มากเกินไปก็อาจทำให้เรื่องสั้นของเรายากที่จะติดตามและทำความเข้าใจ แม้มันจะทำให้เนื้อเรื่องสนุกสนานเพียงใดแต่ถ้าผู้อ่านเลิกอ่านมันไปก่อนก็ไม่มีประโยชน์อันใด


ความซับซ้อนของเรื่องสั้น เราอาจจะใช้ความสัมพันธ์ของตัวละครที่เกี่ยวพันกันหลายๆคนมาสร้างโครงเรื่องก็ได้ ตัวอย่างเช่น

  1. นายเอเป็นแฟนหนุ่มที่กำลังคบหาดูใจอยู่กันนางบี
  2. นายซีเป็นแฟนหนุ่มที่กำลังคบหาดูใจอยู่กันนางดี
  3. นายเอเคยคบหาอยู่กับนางดี
  4. นายซีเคยคบหาอยู่กับนางบี

หากเราตั้งโจทย์ความสัมพันธ์ของตัวละครเป็นแบบนี้ จากนั้นเราก็มาสร้างเหตุการณ์เข้าไปประกอบ มันก็จะมีความซับซ้อนในระดับหนึ่งที่เราอาจจะพอใจ แต่ถ้าหากเราคิดว่ามันซับซ้อนเกินไปเราอาจจะตัดความสัมพันธ์ออกไปสักหนึ่งอย่างก็ได้ เช่น

  1. นายเอเป็นแฟนหนุ่มที่กำลังคบหาดูใจอยู่กันนางบี
  2. นายซีเป็นแฟนหนุ่มที่กำลังคบหาดูใจอยู่กันนางดี
  3. นายเอเคยคบหาอยู่กับนางดี

หรือถ้าหากเราคิดว่ามันยังซับซ้อนน้อยไป เราก็เพิ่มความสัมพันธ์ให้ซับซ้อนเข้าไปอีก เพื่อจะสามารถสร้างเหตุการณ์ในเนื้อเรื่องได้เพิ่มมากขึ้น

  1. นายเอเป็นแฟนหนุ่มที่กำลังคบหาดูใจอยู่กันนางบี
  2. นายซีเป็นแฟนหนุ่มที่กำลังคบหาดูใจอยู่กันนางดี
  3. นายเอเคยคบหาอยู่กับนางดี
  4. นายซีเคยคบหาอยู่กับนางบี
  5. นายเอและนายซีแอบคบหากันอยู่ลับๆ โดยที่แฟนสาวของทั้งคู่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย

ตัวอย่างโครงเรื่องสั้นจากความซับซ้อนที่ยุ่งเหยิง


ทศพรยืนอยู่หน้าร้านขายดอกไม้ เขาเลือกดอกไม้เพียงหนึ่งช่อเพื่อมอบให้กับใครคนหนึ่ง เขาลำบากใจที่จะเลือกว่าใครควรเป็นคนได้รับมอบช่อดอกไม้นี้ในวันแห่งความรัก อดีตคนรักของเขานั้นเธอดีกับเขามากที่สุด ทศพรอยากตอบแทนความดีที่เธอเคยมีให้ แฟนสาวอีกคนที่กำลังคบหากันก็เป็นคนที่ทำให้เขามีความสุขเช่นกัน แต่กับคนอีกคนหนึ่งก็ทำให้ทศพรมีความสุขเช่นกัน เมื่อคิดถึงชายหนุ่มที่กำลังแอบคบหาดูใจกันอยู่ และมีความสัมพันธ์กันอย่างลับๆ สุดท้ายทศพรเลือกเขียนชื่อ 'ดนัย' ลงไปในท้ายกระดาษที่แนบมากับช่อดอกไม้


ความซับซ้อนอาจจะไม่ได้มาจากความสัมพันธ์ของตัวละคร แต่อาจจะมาจากเหตุผลส่วนตัวของแต่ละคนก็ได้ นี่ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสร้างความหลากหลายของเรื่องสั้น ลองอ่านตัวอย่างเรื่องสั้นที่ผู้เขียนแต่งขึ้นจากลิงค์ข้างล่างนี้ ในเรื่องความสัมพันธ์ของตัวละครก็แค่เป็นเพื่อนกัน แต่ประเด็นปัญหาของแต่ละคนมันอาจจะดูขัดแย้งกันในแต่ละตัวละคร


//shortstorylongcontent.blogspot.com/2014/08/blog-post.html


การเรียงลำดับเหตุการณ์ในเรื่องสั้น

เพื่อความหลากหลายและไม่ซ้ำซาก อีกทั้งยังเพิ่มความน่าสนใจให้กับเรื่องสั้นได้ คือการเล่าลำดับเหตุการณ์ที่ไม่ต่อเนื่องกัน คือการเล่าจากปัจจุบันย้อนกลับไปหาอดีตบ้าง เล่าข้ามจากปัจจุบันไปหาอดีตหรืออนาคตแล้วย้อนกลับมาที่ปัจจุบัน หรือบางทีถ้าเราคิดว่าองค์ประกอบเรื่องสั้นของเราน่าสนใจอยู่แล้ว เราอาจจะสร้างเหตุการณ์ให้เรียงลำดับต่อเนื่องไปก็ได้ไม่ต้องสลับลำดับเหตุการณ์ให้ยุ่งยาก แต่ถ้าอยากเพิ่มอรรถรสให้เรื่องสั้นของเรา การสลับลำดับของเหตุการณ์ในเรื่องสั้นก็ดูน่าสนุกดี

โครงเรื่องสั้นที่เหตุการณ์เรียงลำดับต่อเนื่อง

  1. เด็กน้อยตัดสินใจเดินทางเข้ามาในเมืองเพื่อหางานทำ
  2. เขาไปทำงานกับร้านขายข้าวหมูแดง
  3. ไม่นานร้านอาหารปิดกิจการ
  4. เด็กน้อยหางานรับจ้างทำกับเพื่อนที่รู้จักกัน
  5. วันหนึ่ง เขาเห็นค่ายมวยและขอเข้าไปฝึกซ้อม
  6. เจ้าของค่ายเห็นแวว จึงให้เข้ามาซ้อมอย่างจริงจังในค่าย
  7. ฝีมือของเขาดี สามารถชนะบนเวทีได้ทุกครั้ง
  8. เขาส่งเงินไปให้ทางบ้านใช้จ่าย
  9. อยู่มาวันหนึ่ง พ่อแม่ของเขากู้เงินจากธนาคารมาเป็นจำนวนมาก เพื่อปลูกบ้านหลังใหญ่ เขาหาเงินไม่ทันจ่ายธนาคาร
  10. โปรโมเตอร์ทาบทามให้เข้าขึ้นชกกับนักมวยที่มีชื่อเสียง
  11. เขาตัดสินใจใช้เงินเก็บทั้งหมดเดิมพันข้างตัวเอง เพื่อหวังใช้หนี้ธนาคาร
  12. เมื่อการชกเริ่มขึ้น ทั้งคู่ชกกันอย่างสูสี
  13. ในระหว่างพักยกเกือบจะสุดท้าย เพื่อนของเขาขึ้นมาบอกอะไรบางอย่าง
  14. เพื่อนของเขาขึ้นมากระซิบบอกให้เขาล้มมวย
  15. นักชกผู้มีชื่อเสียงชกจนเขาสลบคาเวที
  16. ในเวลาต่อมา นักชกผู้มีชื่อเสียงคนนั้นเดินทางไปหาเขาที่บ้าน ที่อยู่ในชนบทอันห่างไกล
  17. นักชกผู้มีชื่อเสียงให้เงินเขา 3 แสนเป็นค่าล้มมวย

นี่คือตัวอย่างของการเรียงลำดับเหตุการณ์ให้ต่อเนื่องกัน อาจเป็นโครงเรื่องชิ้นแรกที่เราร่างมันออกมาได้อย่างสมบูรณ์ แต่เราสามารถที่จะพิจารณาเปลี่ยนแปลงลำดับเหตุการณ์ใหม่ให้ไม่ต้องเรียงต่อเนื่องกันก็ได้ มีความเป็นไปได้หลายอย่างที่จะเล่าเรื่องโดยสลับฉากไปมาเช่นการเล่าจากเหตุการณ์ที่เราร่างขึ้นมา และผู้เขียนจะลองเอาเหตุการณ์บนเวทีมวยในครั้งที่ชายหนุ่มกำลังชกกับนักชกผู้มีชื่อเสียงมาเล่าสลับฉากกับเหตุการณ์ในอดีต และสุดท้ายจะให้เหตุการณ์ทั้งสองเส้นทางมาบรรจบกัน ลองอ่านเรื่องสั้นจากลิงค์ข้างล่างนี้


//shortstorylongcontent.blogspot.com/2013/09/blog-post_10.html


เรียงลำดับจากโดยเริ่มจากปัจจุบันย้อนกลับไปหาอดีต


หากเราใช้กลวิธีการเล่าเรื่องจากปัจจุบันย้อนกลับไปหาอดีต หมายถึงว่าเหตุการณ์เริ่มต้นจริงๆนั้นเกิดขึ้นมาแล้วจากอดีต แต่เรายังไม่พูดถึง เหตุการณ์เริ่มต้นนี้จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ในปัจจุบันที่เราพูดถึง และจะใช้เหตุการณ์ในอดีตหรือเหตุการณ์เริ่มต้นเป็นจุดไคล์แมกซ์สำหรับหักมุมตอนจบ หรือใช้เฉลยถึงความจำเป็นที่ตัวละครต้องทำสิ่งนั้น


เรวดียอมให้สามีนำภรรยาน้อยเข้ามาอยู่ในบ้าน

ก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์ของเธอและสามีไม่ค่อยดีนัก

เรวดีได้เจอกับหมอดู ซึ่งทายทักให้เรวดีเปลี่ยนเฉดสีเสื้อผ้าและเครื่องสำอาง

เมื่อทำตามหมอ ปรากฏว่าสามีของเรวดีหันมาสนใจและใส่ใจเธอมากขึ้น

หมอดูบอกกับเรวดีว่าสามีของเธอเปลี่ยนแปลงเพียงแค่ชั่วคราว หากอยากให้เปลี่ยนแบบถาวรต้องยอมให้สามีนำภรรยาน้อยเข้าบ้าน

สามีของเรวดีเป็นเพื่อนกับหมอดู พวกเขาวางแผนกัน


แบบฝึกหัด


ผู้อ่านลองคิดโครงเรื่องขึ้นมาสักเรื่อง เขียนเหตุการณ์ในแต่ละเหตุการณ์และพิจารณาให้มันเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน


จากโครงเรื่องที่แต่งขึ้น ทดลองเปลี่ยนลำดับเหตุการณ์ในเรื่องสั้นไม่ให้ต่อเนื่องกัน ใช้จินตนาการเรียงลำดับมันใหม่

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน อาจารย์ ตจต ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf lmyour แปลภาษา ชขภใ ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 ขขขขบบบยข ่ส ศัพท์ทางทหาร military words หนังสือราชการ ตัวอย่าง หยน แปลบาลีเป็นไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง พจนานุกรมศัพท์ทหาร เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษามลายู ยาวี Bahasa Thailand กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ การ์ดจอมือสอง ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย คะแนน o-net โรงเรียน ค้นหา ประวัติ นามสกุล บทที่ 1 ที่มาและความสําคัญของปัญหา ร. ต จ แบบฝึกหัดเคมี ม.5 พร้อมเฉลย แปลภาษาอาหรับ-ไทย ใบรับรอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน PEA Life login Terjemahan บบบย มือปราบผีพันธุ์ซาตาน ภาค2 สรุปการบริหารทรัพยากรมนุษย์ pdf สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม เช็คยอดค่าไฟฟ้า แจ้งไฟฟ้าดับ แปลภาษา มาเลเซีย ไทย แผนที่ทวีปอเมริกาเหนือ ่้แปลภาษา Google Translate กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ข้อสอบโอเน็ตม.3 มีกี่ข้อ คะแนนโอเน็ต 65 ตม กรุงเทพ มีที่ไหนบ้าง