บ านพ กต ลาการเช งดอยส เทพใครอน ม ต

นายกรัฐมนตรีปฏิเสธว่า “ไม่ทราบ” และ “ไม่เกี่ยว” กับการออกระเบียบฉบับใหม่ของกรมราชทัณฑ์ หลังถูกวิจารณ์ว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นบิดาของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตั้งคำถามต่อผู้นำฝ่ายบริหารว่า “ปล่อยให้กรมราชทัณฑ์ลักไก่ออกระเบียบให้นักโทษไปติดคุกที่บ้านเพื่อรองรับนักโทษชั้นพิเศษได้อย่างไร”

วานนี้ (11 ธ.ค.) นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ส่งหนังสือเวียนแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่อง ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566

สาระสำคัญของระเบียบกรมราชทัณฑ์ฉบับใหม่ คือการกำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ โดยเปิดทางให้คุมขังผู้ต้องขังใน “สถานที่สำหรับอยู่อาศัย” หรือ “สถานพยาบาล” ได้ โดยถือเป็นระยะเวลาจำคุก

ระเบียบฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อ 7 ธ.ค. (วันถัดจากวันประกาศ) ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตว่า นายทักษิณ ชินวัตร เข้าข่ายได้รับอานิสงส์หรือไม่

อดีตนายกฯ คนที่ 23 เดินทางกลับไทยครั้งแรกในรอบ 15 ปี เมื่อ 22 ส.ค. ก่อนเข้าสู่กระบวนการมอบตัวรับโทษในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ทว่ายังไม่ทันได้นอนในเรือนจำ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ส่งตัวเขาไปรับการรักษาอาการป่วยที่ รพ.ตำรวจ ตั้งแต่เวลา 0.20 น. ของวันที่ 23 ส.ค.

หลังจากนั้น นายทักษิณได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ก่อนมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยลดโทษให้ นักโทษเด็ดขาดชาย (น.ช.) ทักษิณ ชินวัตร จากจำคุก 3 คดี รวมเวลา 8 ปี เหลือโทษจำคุก 1 ปี “เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคมและประชาชน สืบไป”

บ านพ กต ลาการเช งดอยส เทพใครอน ม ต

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ทักษิณ ชินวัตร กราบพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร. 10 บริเวณทางออกด้านหน้าอาคารผู้โดยสารอากาศยานส่วนบุคคล ดอนเมือง เมื่อ 22 ส.ค.

ปัจจุบัน นายทักษิณเข้าพักรักษาตัวอยู่ที่อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ตามคำยืนยันของทนายความของอดีตนายกฯ ที่บอกกับบีบีซีไทยว่า นายทักษิณ “ยังอยู่ในการรักษา ฟื้นฟูร่างกาย” ที่ รพ. ดังกล่าว

ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ขังที่ไหน ใครกำหนด ใครได้สิทธิบ้าง

บีบีซีไทยขอสรุปสาระสำคัญของระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ซึ่งมีเนื้อหา 6 หมวด รวม 20 ข้อ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

ใครกำหนด

ภายระเบียบนี้ จะมีคนอย่างน้อย 4 กลุ่มที่มีส่วนในกระบวนการกำหนดว่าจะคุมขังที่ไหน อย่างไร ใครได้สิทธิประโยชน์บ้าง

  • ผู้บัญชาการเรือนจำ เป็น “ผู้กำกับสถานที่คุมขัง”
  • ข้าราชการ พนักงานราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งอธิบดีมอบหมาย หรือ เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่คุมขัง เป็น “ผู้ดูแลสถานที่คุมขัง”
  • คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง 9 คน มีรองอธิบดีที่กำกับดูแลกองทัณฑวิทยาเป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองการให้ผู้ต้องขังรายใดคุมขังในสถานที่คุมขัง และการเพิกถอนการคุมขัง เสนอต่ออธิบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติ ทั้งนี้ในการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก โดยคณะทำงาน 1 คน มี 1 เสียง
  • อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็น “ผู้รักษาการตามระเบียบนี้” และมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติ รวมถึงออกหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเพิ่มเติม

ใครได้สิทธิประโยชน์

ผู้ต้องขังที่จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้ออกไปคุมขังนอกเรือนจำ ต้องมีคุณสมบัติครบ 3 ข้อ ได้แก่

  • เป็นผู้ต้องขังตามกฎหมายราชทัณฑ์
  • ผ่านการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังหรือทบทวนแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคล และคณะทำงานเพื่อจำแนกลักษณะของผู้ต้องขังประจำเรือนจำเห็นควรให้คุมขังผู้ต้องขังรายนั้น ๆ ในสถานที่คุมขัง
  • ในการตรวจสอบคุณสมบัติ คณะทำงานฯ จะพิจารณาข้อมูลการถูกดำเนินคดีอื่น ๆ ในชั้นศาล, ประวัติและพฤติกรรมก่อนต้องโทษ, ประวัติการใช้ความรุนแรงหรือการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว, ประวัติการเกี่ยวข้องกับยาเสพติด, ประวัติการกระทำผิดความผิดเกี่ยวกับเพศ, การเปลี่ยนหรือย้ายที่อยู่ และพฤติกรรมขณะต้องโทษ เพื่อเสนอให้ผู้บัญชาการเรือนจำและกรมราชทัณฑ์พิจารณาต่อไป
  • มีคุณสมบัติเฉพาะและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในประกาศกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะต้องห้าม และวิธีการคุมขังในสถานที่คุมขังสำหรับผู้ต้องขังแต่ละกลุ่มของกรมราชทัณฑ์

อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติครบ 3 ข้อ แต่ถ้าติด 2 เงื่อนไข ก็จะหมดสิทธิได้รับการพิจารณาคัดเลือกไปคุมขังนอกเรือนจำ นั่นคือ 1. มีโทษกักขังแทนโทษจำคุก กักขังแทนค่าปรับ มีโทษปรับซึ่งยังไม่ได้ชำระค่าปรับ หรือต้องถูกกักกันตามคำสั่งศาลภายหลังพ้นโทษ ไม่ว่าจะในคดีนี้หรือคดีอื่น และ 2. อยู่ระหว่างถูกดำเนินการทางวินัย หรือถูกลงโทษทางวินัย

บ านพ กต ลาการเช งดอยส เทพใครอน ม ต

ที่มาของภาพ, Reuters

คุมขังที่ไหน

นักโทษที่จะได้ย้ายออกจาก เรือนจำ ไปอยู่ใน สถานที่คุมขัง จะทำได้เฉพาะตามวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

  • การปฏิบัติตามระบบการจำแนกและการแยกคุมขัง: คุมขังในสถานที่สำหรับอยู่อาศัย
  • การดำเนินการตามระบบการพัฒนาพฤตินิสัย: คุมขังในสถานที่ราชการ หรือสถานที่ที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐใช้ประโยชน์ในการจัดทำบริการสาธารณะ สถานศึกษา วัด มัสยิด สถานประกอบการของเอกชน มูลนิธิ สถานสงเคราะห์ หรือสถานที่ที่ใช้สำหรับการสังคมสงเคราะห์ทั้งของราชการและเอกชน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายกำหนด
  • การรักษาพยาบาลผู้ต้องขัง: คุมขังในสถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน
  • การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย: คุมขังในสถานที่คุมขังตาม 3 ข้อข้างต้น

สำหรับสถานที่คุมขัง ไม่ว่าจะเป็น บ้าน อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้าง ต้องมีทะเบียนบ้านและบ้านเลขที่ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และสามารถกำหนดตำแหน่งหรือพิกัดเพื่อใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (กำไลอีเอ็ม) ได้

อธิบดีกรมราชทัณฑ์จะเป็นผู้กำหนดสถานที่คุมขัง โดยออกประกาศแจ้งว่า ให้ใช้สถานที่ใดเป็นสถานที่คุมขัง ด้วยวัตถุประสงค์ใด พร้อมระบุที่อยู่และเลขที่ตามทะเบียนบ้าน แผนที่แสดงอาณาเขตของสถานที่คุมขัง และชื่อ-นามสกุลของผู้ดูแลสถานที่คุมขัง

ปชป. ถาม “มีนายกฯ ไว้ดูแลประชาชน หรือนักโทษเทวดา”

ระเบียบฉบับใหม่ของกรมราชทัณฑ์กลายเป็น “วาระร้อนทางการเมือง” และทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน ถูกตั้งคำถามต่อ “วาระเบื้องหลัง” การออกระเบียบนี้

“ขอถามนายกฯ เศรษฐา กับ รมว.ยุติธรรม ว่า ปล่อยให้กรมราชทัณฑ์ลักไก่ออกระเบียบให้นักโทษไปติดคุกที่บ้านเพื่อรองรับนักโทษชั้นพิเศษได้อย่างไร เพราะถ้าทำได้ ต่อไปคำพิพากษาศาลสถิตย์ยุติธรรมก็ไม่มีความหมาย ศาลสั่งตัดสินจำคุกไม่ต้องสนใจ เพราะกรมราชทัณฑ์สั่งให้ไปติดคุกนอนเสวยสุขอยู่กับบ้านได้ แล้วคุกจะมีไว้ทำไม มีไว้ขังคนจนกับคนไม่มีอำนาจเท่านั้นหรือ” นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตั้งคำถาม

นักการเมืองฝ่ายค้านยังบอกด้วยว่า เรื่องนี้ถ้านายกฯ ไม่ทำอะไร ก็จะมีคำถามว่า “จะมีนายกฯ ไว้ทำไม มีไว้ดูแลประชาชน หรือมีไว้ดูแลนักโทษเทวดา”

บ านพ กต ลาการเช งดอยส เทพใครอน ม ต

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

พินทองทา คุณากรวงศ์ บุตรสาวคนรอง และ แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็ก รอต้อนรับบิดาที่สนามบินดอนเมือง วันเดินทางกลับไทยครั้งแรกในรอบ 15 ปี เมื่อ 22 ส.ค.

แกนนำรัฐบาล “ไม่ทราบ-ไม่ตอบ” ปมเอื้อทักษิณ

ตลอดทั้งวัน มีแกนนำรัฐบาลอย่างน้อย 3 คนต้องตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนที่ ว่า การออกระเบียบฉบับใหม่ของกรมราชทัณฑ์เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่อดีตนายกฯ ทักษิณ หรือไม่

คำตอบจาก นายกฯ คนที่ 29 รมว.ยุติธรรม และอดีต รมว.ยุติธรรม คือ “ไม่ทราบ” และไม่ตอบ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง บอกว่า “ไม่ทราบเรื่องเลย เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับผม”

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม นายกฯ ฟังด้วยสีหน้าเรียบเฉย แต่ไม่ได้ตอบคำถามนี้ แล้วเดินออกจากวงสัมภาษณ์ไปทันที

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม สังกัดพรรคประชาชาติ (ปช.) ปฏิเสธจะตอบคำถามว่านายทักษิณเข้าเงื่อนไขตามระเบียบกรมราชทัณฑ์หรือไม่ แต่อธิบายที่มาที่ไปว่า คณะกรรมการราชทัณฑ์ได้ประชุมไว้หลายเดือนแล้ว โดยมีปลัดกระทรวงยุติธรรมคอยดูแล ซึ่งเป็นการออกตามกฎหมายราชทัณฑ์ เนื่องจากในปีที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ได้คะแนนประเมินด้านหลักนิติธรรม 0.25 คะแนน จาก 1 คะแนน ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานมาก เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามหลักนิติธรรมหรือกฎหมายกรมราชทัณฑ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จึงทำหนังสือมาถึงรัฐบาลชุดก่อน

สำหรับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 กำหนดให้มีสถานที่คุมขังภายนอกเรือนจำ ซึ่ง พ.ต.อ.ทวีใช้คำว่า “เป็นการติดคุกเหมือนเดิม” แต่ในการพิจารณาอนุญาต เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการซึ่งมีตัวแทนจากศาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“หลังจากมีกระแสข่าว ทางกระทรวงได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมไปดูแล ปลัดบอกว่าจะไม่มีเรื่องนำตัวบุคคลมาเกี่ยวข้อง แต่จะดูเรื่องของหลักเกณฑ์ เพราะต้องการให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายราชทัณฑ์” พ.ต.อ.ทวีกล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า แม้ไม่ระบุตัวบุคคล แต่นายทักษิณเข้าเงื่อนไขนี้หรือไม่ รมว.ยุติธรรมไม่ตอบคำถามนี้ แล้วเดินขึ้นรถยนต์ทันที

บ านพ กต ลาการเช งดอยส เทพใครอน ม ต

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

รัฐสภาโหวตเลือก เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ คนที่ 30 ในวันเดียวกันกับที่อดีตนายกฯ คนที่ 23 กลับไทย

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นอีกคนที่ชี้แจงว่าเป็นการออกกฎหมายรอง หรืออนุบัญญัติให้นสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560

ส่วนอดีตนายกฯ จะได้รับประโยชน์จากระเบียบนี้หรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า “ไม่ทราบ ต้องไปดูรายละเอียด เพราะไม่ได้ติดตาม”

เขายังปฏิเสธว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การปูทางไว้ตั้งแต่สมัยเป็น รมว.ยุติธรรม ในรัฐบาล “ประยุทธ์ 2”

“ไม่ใช่ กฎหมายมีมาตั้งแต่ปี 2560 และต้องมีอนุบัญญัติในทุกมาตรา เพื่อประโยชน์การบริหาร” อดีต รมว.ยุติธรรม ซึ่งขณะนั้นสังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และเป็นผู้ลงนามในกฎกระทรวงยุติธรรมปี 2563 กล่าว

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นายสมศักดิ์ถูกกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการช่วยเหลือนายทักษิณไม่ให้ต้องนอนคุก แต่ใช้สถานคุมขังอื่นตามกฎกระทรวง เช่น บ้านพัก หรือโรงพยาบาล ซึ่งนายสมศักดิ์เคยออกมาชี้แจงว่า พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ปี 2560 เริ่มยกร่างตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งขณะนั้นเขายังไม่ได้เข้ารับตำแหน่ง มีเป้าหมายเพื่อปฏิรูปงานราชทัณฑ์ ด้วยการยกเลิกกฎหมายราชทัณฑ์ฉบับเดิมที่ใช้มา 80 ปี

ส่วนการกำหนดให้คุมขังในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ ก็เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ต้องขังบางประเภทที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเรือนจำ อันเป็นเหตุผลทางด้านมนุษยธรรม และด้านการปกครองเรือนจำเป็นสำคัญ เช่น ผู้ต้องโทษระยะสั้น ผู้ใกล้พ้นโทษ ผู้ป่วย แต่ไม่ใช่นักโทษเข้าใหม่

ทนายทักษิณขอรอดูหลักเกณฑ์ชัด ๆ ยันทักษิณยังอยู่ชั้น 14

ด้านนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความประจำตัวนายทักษิณ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ขอรอดูความชัดเจนเกี่ยวกับ สถานที่คุมขังอื่น ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ฉบับใหม่ก่อน ถึงจะให้ความเห็นได้ เพราะขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าจะใช้หลักเกณฑ์ใด

ส่วนถ้ามีการย้ายผู้ต้องขังไปคุมขังใน สถานที่สำหรับอยู่อาศัย กรมราชทัณฑ์จะเป็นผู้กำหนดสถานที่ หรือฝ่ายผู้ต้องขังสามารถเสนอที่อยู่/บ้านเลขที่ไปได้นั้น นายวิญญัติกล่าวว่า เข้าใจว่าต้องเป็นสถานที่ที่มีการลงทะเบียนไว้ และทางราชทัณฑ์ออกประกาศให้ใช้เป็นสถานที่คุมขัง

“ถามว่าฝ่ายเราเสนอ หรือเขาจะมาดูสถานที่ตรงไหนยังไง อันนี้ไม่ทราบเลย แต่ส่วนใหญ่ ผู้ต้องขังมีสถานที่ไม่เหมือนกัน ต้องดูว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือไม่” ทนายความอดีตนายกฯ กล่าว

กับคำว่า “ลักไก่ออกระเบียบให้นักโทษไปติดคุกที่บ้าน” ของนายจุรินทร์ เป็นคำเชิงลบในความรู้สึกของนายวิญญัติ เขาจึงย้อนคำกลับไปว่า ระเบียบต่าง ๆ ที่ออกมาในสมัยรัฐบาลชุดก่อนที่มีนายจุรินทร์ร่วม ครม. ด้วย จะบอกว่าลักไก่ด้วยหรือไม่ในเมื่อออกมาแล้วบังคับใช้กับประชาชนทั่วไป และเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งกรมราชทัณฑ์ก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น พร้อมเตือนให้ระวังว่าการตั้งข้อสังเกตใด ๆ อาจจะเข้าตัวเองได้

บ านพ กต ลาการเช งดอยส เทพใครอน ม ต

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ,

เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวนายทักษิณ ชินวัตร เข้ารับการรักษาที่อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา โรงพยาบาลตำรวจ หลังมีอาการความดันสูง ต่อมาตรวจพบอย่างน้อย 4 โรค

ตลอดเวลาเกือบ 4 เดือนที่ผ่านมา มีข้อครหาอย่างต่อเนื่องว่านายทักษิณไม่ยอมนอนเรือนจำแม้แต่คืนเดียว แต่ได้ย้ายไปนอนที่ รพ. และขณะนี้ก็ถูกจับตามองว่าอาจได้ย้ายออกจาก รพ. ไปนอนบ้าน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายวิญญัติกล่าวว่า ไม่มีหน้าที่ชี้แจงประเด็นนี้ แต่อันนี้เป็นเรื่องกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่ ซึ่งไม่ได้บังคับเลือกเฉพาะบุคคล แต่บังคับใช้เป็นการทั่วไป แต่ละคนมีเหตุปัจจัยและข้อเท็จจริงที่ไม่เหมือนกัน ถ้าจะวิจารณ์หรือตั้งข้อสังเกตใด ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ตรวจสอบและยืนยันว่านายทักษิณเข้ารับการรักษาอาการป่วยจริง และถ้าระเบียบของราชทัณฑ์จะไปสอดคล้องกับผู้ต้องขังรายใด ก็ถือเป็นสิทธิประโยชน์ของผู้ต้องขัง ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะนายทักษิณ ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นการเลือกปฏิบัติ

นายทักษิณยังพักอยู่ที่ชั้น 14 ของ รพ.ตำรวจจริงหรือไม่ เพราะมีข่าวลือเป็นระยะ ๆ ว่าอาจไม่ได้อยู่แล้ว บางคนลือไปไกลว่าย้ายไปพักที่ จ.ปทุมธานี บีบีซีไทยถาม

“ท่านยังอยู่ในการดูแลของราชทัณฑ์และเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในปัจจุบันอยู่ในฐานะผู้ป่วย ซึ่งหมอใหญ่ รพ.ตำรวจ ก็ออกมายืนยันแล้ว ส่วนที่เป็นข่าวลือ ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าท่านไป” นายวิญญัติกล่าวและว่า เขาได้เข้าเยี่ยมนายทักษิณครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่ง “ท่านก็ยังอยู่ในการรักษา ฟื้นฟูร่างกาย”

จนถึงวันที่ 12 ธ.ค. นายทักษิณรับโทษมาแล้ว 113 วัน โดยเหลืออีกเพียง 7 วัน หรือในวันที่ 20 ธ.ค. นี้ อดีตนายกฯ วัย 74 ปี จะมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ขอพักโทษได้ตามประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง พิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป พ.ศ. 2563

ประกาศฉบับนี้กำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดตั้งแต่ชั้นกลางขึ้นไป ต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษตามหมายแจ้งโทษเด็ดขาด และต้องมีผู้อุปการะคุณและยินดีอุปการะคุณ

อย่างไรก็ตามนายวิญญัติกล่าวว่า ทางทีมทนายความยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เรื่องการพักโทษ เข้าใจว่ากรมราชทัณฑ์จะเป็นผู้คัดชื่อเอง โดยถือเป็นสิทธิประโยชน์ของผู้ต้องขัง

ราชทัณฑ์แจงเป็นภารกิจ “บริหารโทษ”

ค่ำวันเดียวกัน (12 ธ.ค.) กรมราชทัณฑ์ออกเอกสารข่าวชี้แจง กรณีการออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขัง พ.ศ. 2566 สรุปใจความสำคัญได้ว่า การจำคุกในสถานที่คุมขัง เป็น “ภารกิจสำคัญในการบริหารโทษให้เป็นไปตามคำสั่งศาล” โดยมี พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 เป็นเครื่องมือในการกำหนดบริหารโทษ

เจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อเป็นการบริหารโทษและบริหารเรือนจำ โดยจำแนกลักษณะผู้ต้องขังกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเรือนจำ เช่น ผู้ต้องโทษระยะสั้น ผู้ต้องขังเจ็บป่วยร้ายแรงใกล้จะถึงแก่ชีวิต ผู้ต้องขังที่มีความพร้อมในการออกไปพัฒนาพฤตินิสัยนอกเรือนจำ เป็นต้น เพื่อให้การบริหารงาน การปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเรือนจำและเจ้าหน้าที่ การปฏิบัติตัวของผู้ต้องขัง เป็นไปในแนวทางและมาตรฐานเดียวกัน กรมราชทัณฑ์จึงได้ออกระเบียบฉบับนี้

“การนำตัวนักโทษไปคุมขังไว้ในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ แต่ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมราชทัณฑ์ และไม่ใช่เป็นการกำหนดประโยชน์ให้กับนักโทษ และในขณะใช้มาตรการ จะต้องอยู่ในสถานที่ที่กำหนดไว้ตามหลักเกณฑ์ ถ้าทำผิดเงื่อนไขจะถูกเพิกถอนและส่งตัวกลับเข้าเรือนจำทันที” เอกสารข่าวกรมราชทัณฑ์ระบุตอนหนึ่ง