กรมส งเสร มสหกรณ หน งส อสำน กเลขาธ การประช ม

เงิน-ของกลางมันล่อใจ ถึงเวลาสังคายนาดีเอสไอก่อนพาลงเหว !!

เผยแพร่: 18 พ.ย. 2559 07:11 ปรับปรุง: 18 พ.ย. 2559 07:31 โดย: MGR Online

เมืองไทย 360 องศา

ตอนแรกนึกว่าความเสื่อมศรัทธาต่อหน่วยงานอย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะค่อยๆ ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ หลังจากหมดยุคของ ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอคนก่อน ที่นำพาหน่วยงานดังกล่าวถลำลึกลงไปรับใช้การเมืองอย่างสุดลิ่ม จน “กรรม” สนอง อยู่ในเวลานี้ แต่กลายเป็นว่า ในยุคปัจจุบันที่เคยมั่นใจว่าชาวบ้านจะฝากผีฝากไข้ได้แบบสนิทใจ กลับต้องมาได้รับรู้เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการ “รับสินบน” มีพฤติกรรมส่อไปในทางมิชอบเกิดขึ้นไม่แพ้กัน

การออกมาแถลงของ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ว่า ได้สั่งพักราชการ และตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยกับข้าราชการระดับผู้อำนวยของดีเอสไอสองราย เนื่องจากมีส่วนพัวพันกับการฟอกเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยมีการตรวจสอบพบมีการโอนเงินเข้าบัญชีถึง 40 ล้านบาท

โดยข้าราชการดีเอสไอทั้งสองรายที่ถูกสั่งพักงานและสอบสวนทางวินัยดังกล่าว เป็นสามีภรรยากัน จากหลักฐานในการตรวจสอบธุรกรรมการเงินของกลุ่มนายหน้าขายที่ดินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ให้กับบริษัท พิษณุโลก เอทานอล จำกัด หรือ คดีพิเศษที่ 42/2559 โดยพบว่า มีการหักค่านายหน้าในการขายที่ดิน 60 ล้านบาท ซึ่งเงิน 40 ล้านบาท เชื่อมโยงกับสองสามีภรรยาข้าราชการดีเอสไอ

สำหรับที่ดินแปลงดังกล่าว ถูกอายัดเป็นของกลางในคดี ต่อมาดีเอสไอ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้อนุมัติให้ถอนอายัดโฉนดที่ดิน ตามที่ นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯ ร้องขอว่า ต้องการขายที่ดินเพื่อนำเงินมาคืนให้กับสหกรณ์ฯ ต่อมาปรากฏว่า มีการขายที่ดินได้เงิน 477 ล้านบาท แต่ นายศุภชัย นำเงินคืนให้สหกรณ์ฯเพียง 100 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 249 ล้านบาท นายศุภชัย นำเงินเข้าบัญชีส่วนตัว โดยมีการชี้แจงภายหลังว่า มีการจ่ายค่านายหน้าขายที่ดินวงเงิน 60 ล้านบาท ทำให้ดีเอสไอต้องสอบสวนเป็นคดีฟอกเงิน เพื่อติดตามเงินส่วนที่หายไปกลับคืนให้สหกรณ์ฯ

เมื่อได้เห็นรายชื่อของผู้ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยง ที่มีทั้ง ศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนียนฯ ที่เป็นผู้ต้องหารายสำคัญหนึ่งในห้ารายในคดีร่วมกันรับของโจรและฟอกเงิน ซึ่งในคดีนี้มี พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ สุทธิผล) หรือ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ตกเป็นผูัต้องหาอยู่ด้วย และคดีนี้อยู่ในความดูแลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นั่นเอง เมื่อมีรายการโอนเงินเข้าบัญชีแบบนี้ มันก็ทำให้เชื่อได้อีกว่ามันน่าจะมีข้าราชการดีเอเสไอรายอื่นเข้าไปเกี่ยวข้องอีกหรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนหน้านี้ที่มีการยอมรับออกมาแล้วว่า “มีรายการเตะถ่วง” คดีฟอกเงินและรับของโจรดังกล่าว จนต้องมีการสั่งย้ายข้าราชการระดับสูงไปประจำสำนักงานสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมาแล้ว

ขณะเดียวกัน เห็นได้ชัดว่า คดีร่วมกันรับของโจรและฟอกเงินดังกล่าว ที่มี ศุภชัย ศรีศุภอักษร และ ธัมมชโย เป็นผู้ต้องหาสำคัญยังไม่มีความคืบหน้า เพราะแม้ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างดีเอสไอ กับสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาสำนวนและสอบสวนเพิ่มเติม แต่ก็ปรากฏว่า ผ่านมา 4 - 5 เดือนแล้ว ก็ยังไม่อาจสรุปสำนวนเพื่อสั่งคดีได้เลย โดยล่าสุด ทางพนักงานอัยการได้สั่งเลื่อนการพิจารณาสั่งคดีออกไปเป็นครั้งที่ 4 โดยนัดสั่งคดีในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัยจากสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสงสัยหน่วยงาน ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ สำนักงานอัยการสูงสุด ว่า เกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงได้ล่าช้าผิดปกติแบบนี้

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากหมายจับ ธัมมชโย ที่ถูกศาลออกหมายจับถึงสองใบ ใบแรกเป็นคดีร่วมกันฟอกเงินและรับของโจรที่กำลังเป็นที่จับตานี่แหละ และอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของดีเอสไอ แต่กลับกลายเป็นว่ายังไม่มีการจับกุมผู้ต้องหามาดำเนินคดีแต่อย่างใด ทั้งที่รับรู้กันอยู่แล้วว่าผู้ต้องหารายนี้ซ่อนตัวอยู่ในวัดพระธรรมกาย แบบท้าทายกฎหมายอย่างชัดเจน

ส่วนหมายจับอีกคดี คือ คดีบุกรุกป่าสงวน ก็อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ไม่มีความคืบหน้าเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังพบความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาอีกอย่างหนึ่ง ที่บังเอิญเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน นั่นคือ การเคลื่อนไหวของทนายความที่ได้รับมอบอำนาจจากธัมมชโย และกลุ่มสานุศิษย์ของวัดพระธรรมกาย ที่ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมให้กับผู้ต้องหา คือ ธัมมชโย อ้างว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่มีความผิด ซึ่งหากเป็นแบบนี้ตามขั้นตอนมันก็เป็นไปได้เหมือนกันว่า ทางพนักงานอัยการก็อาจรับพิจารณา ซึ่งในความหมายก็คือ อาจทำให้ต้องใช้เวลาในการสอบสวน “นาน” ออกไปอีก จนทำให้ไม่สามารถสั่งคดีในวันที่ 30 พฤศจิกายน ตามที่กำหนดเอาไว้ก็ได้

ที่ผ่านมา พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เคยย้ำว่า ได้มีการเรียกอธิบดีดีเอสไอมาสอบถามแล้ว ยืนยันว่า ในเรื่องที่เกี่ยวกับหลักฐานหลักๆ นั้น ได้สอบสวนส่งมอบไปให้อัยการครบถ้วนแล้ว อาจมีบ้างที่เป็นเรื่องย่อยๆ ที่จะมีหรือไม่มีก็ได้ ซึ่งสามารถไปว่ากันในชั้นศาลก็ได้ โดยเขาตอบคำถามที่ถามว่าหน่วยงานไหนกันแน่ที่เตะถ่วงคดี

แน่นอนว่า นาทีนี้หากให้พูดกันแบบตรงไปตรงมา ก็ต้องบอกว่า สังคมกำลังสงสัยกันทั้งหมด นั่นคือ สงสัยทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานอัยการสูงสุด เพราะคดีมีความล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น แต่สำหรับดีเอสไอในเวลานี้ มันมีหลักฐานชัดเจนว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการรับสินบน มันก็เลยหนักหน่อย แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเป็นแบบนี้มันก็จะกลายเป็นว่าความกดดันจะเกิดขึ้นร่วมกันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องรีบเคลียร์กันเสียก่อน เพราะถ้าถึงวันที่ 30 พฤศจิกายนแล้ว หากคดียังไม่มีความคืบหน้าให้รู้เรื่องไปสักอย่าง รับรองว่ายุ่งแน่

ความศรัทธาที่ชาวบ้านเคลือบแคลงมานาน จะยิ่งลุกลาม อย่างไรก็ดี สำหรับดีเอสไอนาทีนี้น่าจะเริ่มกลับมาสู่โหมดความเสื่อมศรัทธากันอีกรอบ และเชื่อว่า จะต้องมีการสังคายนากันครั้งใหญ่ตามมาแน่นอน และยิ่งเกี่ยวข้องกับของกลางและเงินตรามันยิ่งล่อใจ ก็ต้องหาทางป้องกันให้แน่นหนาไว้ก่อน !!