กรณ เจ าของบ ญช เส ยช ว ตไม ม ทายาท

ตายแล้วเงินไปไหน

Money Advice

ตายแล้วเงินไปไหน

Money Advice

เมื่อเกิดเหตุเสียชีวิตแล้ว กฎหมายกำหนดให้ทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตตกทอดไปสู่ทายาท ไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยพินัยกรรมหรือทายาทโดยธรรมตามที่กฎหมายกำหนดลำดับชั้นไว้ ทรัพย์สินการเงินแต่ละแบบนั้นมีวิธีการจัดการแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น กรณีเงินฝาก กองทุนรวม และหุ้น สามารถติดต่อสถาบันการเงินเพื่อขอปิดบัญชี จึงสามารถนำเงินมารวมไว้ในกองมรดกก่อนแบ่งสันปันส่วนได้ แต่คนที่เป็นบุตรหรือญาติพี่น้องจะยังไม่สามารถอ้างกับสถาบันการเงินให้ปิดบัญชีหรือยกบัญชีให้เป็นของตนเองได้ เนื่องจากยังต้องอ้างอิงหลักฐานว่าใครเป็นผู้มีสิทธิดำเนินการดังกล่าว โดยกฎหมายแล้ว ผู้ที่สามารถติดต่อขอปิดบัญชีได้ คือ “ผู้จัดการมรดก” ตามที่พินัยกรรมระบุไว้ แต่หากไม่มีพินัยกรรมหรือไม่ได้ระบุชื่อในพินัยกรรม ทายาทจะต้องทำเรื่องร้องขอให้ศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดกเสียก่อน ซึ่งใช้เวลาประมาณหนึ่งถึงสองเดือน หลังจากนั้นผู้จัดการมรดกก็จะสามารถติดต่อสถาบันการเงินเพื่อปิดบัญชีได้ กองทุนที่มีเงื่อนไขการถือครองอย่าง LTF และ RMF นั้น ก็สามารถขายคืนได้โดยไม่ผิดเงื่อนไข เนื่องจากเป็นการขายในกรณีผู้ถือหน่วยลงทุนถึงแก่กรรม แต่กองทุนที่ระบุเวลาหรือเงื่อนไขการขายคืนอื่น ๆ ที่จัดว่าเป็นกองทุนปิด เช่น กองทุนตราสารหนี้แบบกำหนดระยะเวลา หรือกองทุนประเภททริกเกอร์ฟันด์ (Trigger Fund) ต้องรอครบตามเงื่อนไขก่อนจึงจะขายหน่วยลงทุนได้ อีกกรณีปลีกย่อย หากทายาทเป็นผู้เยาว์ (ยังไม่บรรลุนิติภาวะ) แล้วได้รับมรดกเป็นหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้จัดการมรดกสามารถขอให้ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ออกเป็น “ใบหุ้น” เพื่อให้ผู้เยาว์ถือครองไว้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องขายคืนเป็นเงินสด เมื่อผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะแล้ว ก็สามารถเปิดบัญชีหลักทรัพย์เพื่อถือครองหุ้นดังกล่าวในบัญชีตนเองต่อไป ยกเว้นในส่วนของกองทุนรวมที่ผู้จัดการมรดกไม่สามารถขอเป็นเอกสารเหมือนใบหุ้นได้ เนื่องจากทายาทซึ่งเป็นผู้เยาว์ไม่สามารถเปิดบัญชีกองทุนรวมได้ จึงจำเป็นต้องขายกองทุนรวมออกไป นอกจากนี้ ทรัพย์สินบางประเภทที่มีลักษณะ “เสมือน” พินัยกรรม กล่าวคือเงื่อนไขของทรัพย์สินได้ระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ไว้แล้ว เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกรมธรรม์ประกันชีวิต ในกรณีที่สมาชิกกองทุนหรือผู้เอาประกันเสียชีวิตลง เงินดังกล่าวก็ไม่ต้องตกเข้าสู่กองมรดกเหมือนทรัพย์สินทั่วไป กรณีของ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผู้รับผลประโยชน์สามารถติดต่อบริษัทหลักทรัพย์ที่ดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ทั้งนี้ หากไม่ได้ระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ไว้ กฎหมายจะกำหนดให้จัดแบ่งเงินออกเป็นส่วน โดยบุตรได้รับสองส่วน คู่สมรสหนึ่งส่วน และบิดามารดาอีกหนึ่งส่วน เช่น หากมีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ 1 ล้านบาท จะเป็นการแบ่งให้บุตรรวมกัน 5 แสนบาท คู่สมรส 2.5 แสนบาท และบิดามารดารวมกัน 2.5 แสนบาท ซึ่งหากมีบุตรตั้งแต่สามคนขึ้นไป บุตรก็จะได้รับสามส่วนแทน ดังนั้นบุตรได้รับรวม 6 แสนบาท ขณะที่คู่สมรสและบิดามารดาได้รับฝ่ายละ 2 แสนบาท เป็นต้น สำหรับเงินจาก กรมธรรม์ประกันชีวิต นั้น สามารถให้ผู้รับประโยชน์ไปติดต่อกับบริษัทประกันเพื่อขอรับค่าสินไหมได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้จัดการมรดกดำเนินการให้ และเงินค่าสินไหมนี้ไม่ถือเป็นทรัพย์สินในกองมรดก ยกเว้นผู้รับประโยชน์เสียชีวิตและไม่ได้มีการแก้ไขชื่อผู้รับประโยชน์ เงินดังกล่าวจะตกอยู่ในกองมรดก กรณีที่มรดกเป็น อสังหาริมทรัพย์ ให้ผู้จัดการมรดกนำหลักฐานต่าง ๆ เช่น โฉนดที่ดินหรือหนังสือแสดงสิทธิ พินัยกรรม ใบมรณบัตร เป็นต้น นำไปติดต่อสำนักงานที่ดิน โดยมีค่าใช้จ่ายคือ ค่าจดทะเบียนโอนมรดก ร้อยละ 2 ของราคาประเมิน ยกเว้นหากเป็นการโอนระหว่างเจ้าของทรัพย์กับผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส ค่าจดทะเบียนโอนมรดกจะเป็น ร้อยละ 0.5 ของราคาประเมิน ต่อมาคือเรื่องการโอนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งไม่ได้มีความซับซ้อน แต่ปัญหามักเกิดในกรณีที่อสังหาริมทรัพย์นั้นยังติดภาระจำนองอยู่ หากเป็นเช่นนี้ทายาทจะยังไม่สามารถไถ่ถอนอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นหลักประกันนั้นได้ จนกว่าจะนำเงินมาชำระหนี้ปิดบัญชีให้เรียบร้อย หากผู้เสียชีวิตมีการทำประกันภาระหนี้สินไว้ เงินจากกรมธรรม์นี้จะนำมาจ่ายคืนหนี้ให้ ทายาทจึงสามารถไถ่ถอนจำนองเพื่อรับมรดกอสังหาริมทรัพย์ได้โดยสะดวก สำหรับ สินเชื่อส่วนบุคคลและหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน การเสียชีวิตไม่ได้ทำให้ภาระหนี้สิ้นสุดในทันที เนื่องจากเจ้าหนี้สามารถเรียกร้องให้ผู้จัดการมรดกหรือทายาทนำเงินในกองมรดกมาจ่ายคืนหนี้ได้ แม้ทายาทจะอ้างว่าได้รับมรดกไปแล้วและนำเงินไปใช้จ่ายจนหมดแล้วก็ตาม เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิฟ้องร้องให้ทายาทนำเงินมรดกนั้นมาชำระคืนได้ ​โดยสรุปแล้ว เราขอแนะนำว่า วิธีการที่ดีที่สุดคือการทำพินัยกรรมไว้ก่อน เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นภาระของทายาทในการดำเนินการภายหลัง ซึ่งการทำพินัยกรรมนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นการแช่งตัวเอง แต่หากมองตามหลักเหตุและผล การทำพินัยกรรมนั้นถือเป็นการวางแผนการเงินที่รอบคอบมากกว่า ​

โดย ดร.ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ PhD