ประว ต พลตร ม.ร.ว.ค กฤทธ ปราโมช แบบย อ

ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๔

ที่จังหวัดสิงห์บุรี เป็นบุตรคนสุดท้องของพลโท พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ กับหม่อมแดง ปราโมช

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนี(พระพันปีหลวง) พระราชทานชื่อว่า“คึกฤทธิ์”

เริ่มต้นเรียนหนังสือที่บ้านกับ ม.ร.ว.บุญรับ ปราโมช (พี่สาวใหญ่) จนสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้เมื่ออายุ ๔ ปี เป็นลูกศิษย์แหม่มโคลที่โรงเรียนวังหลัง(ปัจจุบันคือโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย) เมื่ออายุ ๖ ปี และได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ จนจะขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๘ จึงเดินทางไปศึกษาต่อระดับมัธยมฯ ที่

โรงเรียน Trent ประเทศอังกฤษ จบปริญญาตรีเกียรตินิยมสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์(P.P.E.)

จากมหาวิทยาลัย อ๊อกฟอร์ด

หลังจากสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ได้เข้ารับราชการที่กรมสรรพากร กระทรวงการคลังอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาได้ลาออกจากราชการเพื่อทำงานที่ธนาคารสยามกัมมาจล จำกัด หรือธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ในปัจจุบัน และสมรสกับ ม.ร.ว.พักตร์พริ้ง ทองใหญ่ ในพ.ศ. ๒๔๘๐ มีบุตรชายคือ ม.ล.รองฤทธิ์ ปราโมช และบุตรสาวคือ

ม.ล.วิสุมิตรา ปราโมช ต่อมาถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหาร โดยได้รับยศเป็นสิบตรีและเข้าร่วมรบในสงคราม

มหาเอเชียบูรพา (พ.ศ.๒๔๘๓-๒๔๘๔) ในพ.ศ.๒๕๓๑ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพลตรี นายทหารพิเศษประจำ

กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์

เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๖ ได้เริ่มงานใหม่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย สำนักผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะเดียวกันก็ได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาการธนาคาร วิชาบัญชีและวิชาเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสาตร์และการเมือง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะเริ่มเข้าสู่วงการเมืองเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๙

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พร้อมด้วยมิตรสหาย อาทิ นายสุวิชช์ พันธุ์เศรษฐ นายสอ เสถบุตร พระยาสุรพันธ์เสนี

ดร.โชติ คุ้มพันธ์และ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์ เป็นต้น ได้จัดตั้ง พรรคก้าวหน้า เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ริเริ่มตั้งพรรคการเมืองพรรคแรกของประเทศไทย ในช่วงต้นพุทธศักราช ๒๔๘๙ ท่านได้นำวิธีการหาเสียงที่เรียกว่า ไฮด์ปาร์ก หรือการอภิปรายในที่สาธารณะมาใช้ครั้งแรกในประเทศไทย จนทำให้ท่านได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ครั้งแรกของเขตดุสิต จังหวัดพระนคร

การเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ ทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้มีโอกาสเป็นเลขานุการ คณะกรรมการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ.๒๔๘๙ ในระหว่างนั้นได้เกิดความแตกแยกขึ้นในพรรคก้าวหน้า ท่านจึงยุบพรรคและได้เข้าร่วมกับนายควง อภัยวงศ์ ก่อตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ โดยนายควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นรองหัวหน้าพรรค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลเป็นครั้งแรก นายควง อภัยวงศ์ อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรี พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จนกระทั่งจอมพล ป. พิบูลสงครามได้กระทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๑ และบังคับให้คณะรัฐมนตรีลาออก พรรคประชาธิปัตย์จึงต้องเป็นฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการที่สภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติขึ้นเงินเดือนของตนเอง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงลาออกจากสมาชิกภาพของผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๔๙๑ หลังจากนั้นอีก ๒ เดือน ได้รับเชิญจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่เนื่องด้วยสถานการณ์บีบคั้นในสภา ท่านจึงลาออกเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๔๙๒ และถือเป็นการยุติบทบาททางการเมืองในช่วงแรก

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐขึ้น เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ และในระหว่างที่ทำงานที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ก็ได้ทำหน้าที่ทางการเมืองไปด้วยพร้อมกัน โดยยอมรับตำแหน่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๒ อย่างต่อเนื่องไปจนถึง พ.ศ.๒๕๑๑ บทบาที่สำคัญที่สุดทางการเมืองคือ เป็นผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกิจสังคมเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ และได้สร้างประวัติศาสตร์การเมืองไทยโดยรวบรวมพรรคเล็กต่างๆ จัดตั้งรัฐบาลขึ้นและเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๓ โดยมีเสียงสนับสนุนเพียง ๑๘ เสียงเท่านั้น ผลงานที่สำคัญ คือ นโยบายการผันเงินสู่ชนบท การตั้งสภาตำบล ผู้มีรายได้น้อยโดยสารรถประจำทาง และเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐโดยไม่เสียค่าบริการ และบุตรได้รับการยกเว้นค่าเล่าเรียนในโรงเรียนรัฐบาล และการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

เมื่ออายุ ๗๔ ปี ในปลาย พ.ศ.๒๕๒๘ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม และไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีก ซึ่งถือเป็นการวางมือทางการเมือง ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นับแต่นั้นมา แต่ยังมีบทบาทสำคัญต่อการเมืองไทย ในฐานะนักวิเคราะห์และวิจารณ์การเมือง จนได้รับการยกย่องว่าเป็นเสาหลักประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๓ ได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกิจสังคมอีกครั้งหนึ่ง และลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเป็นการถาวรเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๔

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชได้เริ่มเขียนหนังสือลงในหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๙ งานชิ้นแรกเป็นบทสักวา ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน เกียรติศักดิ์ ไม่ใช้นามแฝงหรือนามปากกา และต่อมาได้เขียนนวนิยายการเมืองในรูปแบบของ นวนิยายกึ่งพงศาวดาร เช่น เรื่องโจโฉ นายกตลอดกาล เป็นต้น

บทบาทของการเป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง เมื่อท่านร่วมกับนายสละ ลิขิตกุล ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๓ โดยท่านเป็นทั้งเจ้าของ ผู้อำนวยการ และนักเขียนประจำ

นอกเหนือจากการตอบปัญหาประจำวันแล้ว คอลัมน์พิเศษของท่านในหนังสือพิมพ์สยามรัฐคือ ข้าวนอกนา(พ.ศ.๒๕๑๙)

ข้าวไกลนา(พ.ศ.๒๕๑๙-๒๕๒๐) คลื่นใต้น้ำ(พ.ศ.๒๕๒๐) ข้างสังเวียน(พ.ศ.๒๕๒๐-๒๕๒๓) และซอยสวนพลู(พ.ศ.๒๕๒๓-๒๕๓๘) ซึ่งถือว่าเป็นเสียงแห่งเหตุผล ในระยะที่สังคมไทยเต็มไปด้วยความสับสน อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกด้าน

นอกจากการปฏิบัติภาระหน้าที่ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน จนดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ชนรุ่นหลังยังจะรู้จักท่านในฐานะ ผู้มีผลงานด้านวรรณศิลป์ที่โดดเด่นมากกว่า ๒๐๐ เรื่อง ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น เรื่องแปล หนังสือบางเล่มได้รับการตีพิมพ์หลายครั้ง เช่น สี่แผ่นดิน ไผ่แดง หลายชีวิต ซูสีไทเฮา เป็นต้น และได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในพ.ศ.๒๕๒๘

ทางด้านศิลปวัฒนธรร ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นบุคคลสำคัญที่ได้ช่วยเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใ ห้เป็นผู้ก่อตั้งสถาบันไทยคดีศึกษาเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ รับผิดชอบในเรื่องการศึกษาค้นคว้าความรู้ ที่เกี่ยวกับสังคมไทยโดยนักวิชาการไทย แทนที่จะพึ่งพิงองค์แห่งความรู้ จากผลงานค้นคว้าของนักวิจัยชาวต่างประเทศ เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำหลักสูตร และเป็นผู้สอนวิชาอารยธรรมไทย ทั้งด้านศาสนา การเมือง การปกครอง เศรษฐศาสตร์ วรรณศิลป์ นาฏศิลป์และดนตรีไทยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทสได้นำไปเป็นแบบในการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครอบครูพระพิราพ ในพิธีไหว้ครูและพิธีครอบโขนละครเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ ได้ฟื้นฟูการแสดงโขนให้เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป และได้ก่อตั้ง “โขนธรรมศาสตร์” ขึ้นเมื่อพ.ศ.๒๕๐๙ เพื่ออบรมเยาวชนไทยให้เข้าใจในเรื่องวัฒนธรรมไทย โดยผ่านสื่อนาฏศิลป์

ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชได้เริ่มปรากฏอาการป่วยเป็นระยะๆ ตั้งแต่พ.ศ.๒๕๓๐ จนกระทั่ง ๒๕๓๐ จนกระทั่ง ๒๕๓๘ และถึงอสัญกรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๘ สถิตย์อยู่แต่ความดีงาม และความเป็นปูชนียบุคคลให้อนุชนรุ่นหลังรำลึกถึง

  • เริ่มต้นเรียนหนังสือที่บ้านกับ ม.ร.ว.หญิง บุญรับ พี่สาวใหญ่จนอ่านหนังสือไทยออกเมื่ออายุ ๔ ขวบ
  • เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ ได้เข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับที่โรงเรียนวัฒนา (โรงเรียนวังหลัง) และต่อมาได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ ๑ จนมัธยมปีที่ ๘ แต่ก่อนจบมัธยมปีที่ ๘ ได้ออกไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ
  • ที่อังกฤษได้เข้าศึกษาระดับมัธยมที่วิทยาลัยเทรนท์ (Trent College ซึ่งเป็นโรงเรียนประเภทพับลิคสกูล) เป็นเวลา ๕ ปี จึงไปเรียนต่อที่ควีนส์คอลเลจ (Queen’s College) มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยม (B.A.Honours) ในสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (ที่เรียกว่า Modern Greats คือ Phillosophy, Politics and Economics หรือ เรียกโดยย่อว่า P.P.E.) และกลับประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖

( เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปเยือนประเทศอังกฤษ และได้ไปขอรับปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ตามธรรมเนียมการศึกษาของมหาวิทยาลัยนั้น ซึ่งถือว่าผู้ที่ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยม จะได้รับปริญญาโท M.A.Oxon หลังจาก ๓ ปี)