การกำหนดอ ณหภ ม ฆ าเช อส นค าเข าอเมร กา

เผยแพร่: 20 ธ.ค. 2551 01:07 โดย: MGR Online

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ สรุปชัดเหตุการณ์ 7 ตุลาเลือด เจ้าหน้าที่รัฐ ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย หรือจิตใจ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตราย สาหัส ฆ่า และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 295,297,288, 289 , 83

เมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์ สรุปเรื่อง ความรุนแรง สูญเสียจากกรณีการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังและอาวุธ แก๊สน้ำตาเข้าสลายฝูงชนที่ชุมนุมอยู่ที่บริเวณถนนราชวิถี และถนนอู่ทองใน รอบๆรัฐสภา ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค. เวลาประมาณ 6 นาฬิกาเศษ รวมทั้งการสลายฝูงชนบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และบริเวณถนน ศรีอยุธยา ด้านกองบัญชาการตำรวจนครบาล ในช่วงบ่ายและเย็นตามลำดับ จนเป็นเหตุให้มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัส นอกจากนั้นยังมีประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมเสียชีวิตด้วย

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้พิจารณาตรวจสอบจากเอกสาร และคำชี้แจงของผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว โดยอาศัยหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ตลอดจนพ.ร.บ. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมทั้งประมวลหลักการประพฤติปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และหลักการพื้นฐานในการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายแห่งสหประชาชาติ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กำหนดประเด็นการตรวจสอบดังนี้

ประเด็นที่ 1

การบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นผลโดยตรงมาจากการใช้ระเบิดแก๊สน้ำตา เข้าสลายการชุมนุมหรือไม่

เห็นว่า ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัสส่วนใหญ่ให้ถ้อยคำยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนได้ใช้อาวุธระดมยิงระเบิดแก๊สน้ำตา และขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ประชาชนโดยตรง โดยมีหลักฐานปรากฏตามวัตถุพยานที่เป็นทั้งภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวจำนวนมากที่แสดงให้เห็นถึงการใช้อาวุธปืนยิงระเบิดแก๊สน้ำตาในระยะใกล้ โดยยิงในแนวราบที่มีเป้าหมายคือ ประชาชนที่มาร่วมชุมนุม หรือแม้การยิงในวิถีโค้งจากพื้นสู่อากาศ และตกลงสู่พื้นดิน แต่ก็ยังเป็นการยิงในระยะใกล้ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืน และวัตถุระเบิดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า การเสียชีวิตและบาดเจ็บดังกล่าวเกิดจากการถูกยิง หรือถูกขว้างด้วยระเบิดแก๊สน้ำตาที่ผลิตจากประเทศจีน ซึ่งมีจุดระเบิดจุดชนวนถ่วงเวลา และช่วยขยายการระเบิด ระเบิดแบบนี้จะมีอันตรายต่อชีวิต ดังนั้น ปฏิบัติการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงเป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตดังกล่าว

ประเด็นที่ 2 การใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอาวุธแก๊สน้ำตาเข้าสลายฝูงชนในวันที่ 7 ต.ค. 51 นั้น เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

เห็นว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้กำลังและระเบิดแก๊สน้ำตาที่ส่วนใหญ่ผลิตจากประเทศจีน ซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงระดมยิงและขว้างใส่เป้าหมายประชาชน อีกทั้งเป็นการยิงและขว้างในระยะใกล้ รวมทั้งการลอบยิงระเบิดแก๊สน้ำตาออกมาจากภายในรัฐสภา และกองบัญชาการตำรวจนครบาลนั้น เหล่านี้ เป็นการกระทำอันไม่เป็นไปตามหลักการสากลในการสลายการชุมนุม และการใช้แก๊สน้ำตา และทั้งเป็นการปฏิบัติการเกินความจำเป็น เข้าข่ายเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน และต่อกฎหมาย

ประเด็นที่ 3 การกระทำเกินความจำเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้กำลังและระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายใดหรือไม่

เห็นว่า การระดมยิงระเบิดแก๊สน้ำตาเป็นจำนวนมากของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ด้วยการเล็งปืนเข้าสู่เป้าหมายคือ ประชาชนโดยตรง หรือเป็นการขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ประชาชนโดยตรง รวมทั้งการลอบยิงออกมาจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ย่อมประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลคือ อาจทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บสาหัส และอาจถึงแก่ชีวิตได้

ทั้งนี้โดยมีวัตถุพยานที่เป็นภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวจำนวนมาก ซึ่งบรรดาสื่อมวลชนและประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ได้บันทึกภาพการสลายการชุมนุมไว้เป็นหลักฐาน นับเป็นการกระทำที่เกินกว่าความจำเป็น และเป็นการปฏิบัติการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ทั้งหมดนี้จึงอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิด ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ได้รับอันตรายสาหัสฆ่า และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 , 295 , 297, 288, 289 , 83

ประเด็นสุดท้าย บุคคลใดจะต้องรับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุม จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 บ้างหรือไม่ เพียงใด

เห็นว่า 1. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้สั่งการให้มีการสลายการชุมนุมและ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบให้รับผิดชอบในการสลายการชุมนุมและสั่งการให้มีการสลายการชุมนุม รวมทั้งรัฐมนตรีที่ร่วมอยู่ด้วยในการประชุมคณะรัฐมนตรี แต่มิได้คัดค้านการใช้กำลังและระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุม ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นในการสลายชุมนุม ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน และละเมิดต่อกฎหมาย เข้าข่ายเป็นความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้บุคคลอื่นกระทำความผิด ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย หรือจิตใจ เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,295, 297, 288,289, 84

2. เจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะผู้ปฏิบัติการ และผู้ควบคุมกำลังหน่วยที่มีระเบิดแก๊สน้ำตา ได้แก่หน่วยกองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และกองบังคับการปราบปราม

เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ ต้องรับผิดชอบในการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว รวมทั้งการละเมิดต่อกฎหมายที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติและ/หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 295,297,288, 289 , 83

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยครั้งนี้ พึงต้องถือเป็นบทเรียนสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐาน และกลไกการบริหารจัดการ สลายการชุมนุมประท้วงให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในภาครัฐ ในฐานะที่เป็นผู้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และภาคพลเมืองในฐานะที่เป็นผู้ใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสถาบันตำรวจ ซึ่งจะต้องมีบทบาทสำคัญในยามที่บ้านเมืองกำลังตกอยู่ในห้วงวิกฤตของการขัดแย้งแตกแยกอย่างกว้างขวาง และรุนแรงภายในสังคมเช่นทุกวันนี้ ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงมีข้อเสนอแนะและเรียกร้องต่อรัฐบาล เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันขึ้นอีก

ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเห็นว่าเพื่อประโยชน์แก่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีเรื่องนี้ควรได้รับการพิจารณาแก้ไข และดำเนินการตามกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมโดยส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 25 แห่งพ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542

รายละเอียดผลการตรวจสอบเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คลิกที่นี่!

รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดย คณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ๑

รายงานการตรวจสอบที่ /๒๕๕๑

เรื่อง การละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ด้านการตรวจพิสูจน์ทางนิติเวชและนิติวิทยาศาสตร์ ผู้ร้อง กรณีหยิบยก และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ถูกร้อง ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสั่งการให้มีการสลายการชุมนุม

คำร้องเรียน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงมติในการประชุมครั้งที่ ๓๔ /๒๕๕๑ วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ และวาระพิเศษ ให้หยิบยกกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุม ดังกล่าวขึ้นมาตรวจสอบ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียน คำร้องที่ ๔๙๒ /๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๑ ให้ตรวจสอบเหตุกรณีการสลายการชุมนุม วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ สืบเนื่องจากเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น ตามที่เจ้าหน้าที่ของรัฐสลายการชุมนุมของประชาชน บริเวณรอบอาคารรัฐสภา และพื้นที่ใกล้เคียง จนเป็นเหตุให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จึงขอให้ตรวจสอบและรายงานการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังกล่าว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ๑ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว เป็นกรณีพิเศษ

การตรวจสอบข้อเท็จจริงด้านการตรวจพิสูจน์ทางนิติเวชและนิติวิทยาศาสตร์

เรื่องเดิม

สืบเนื่องจากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังและอาวุธแก๊สน้ำตาเข้าสลายฝูงชนที่เข้าร่วมชุมนุมอยู่ที่บริเวณถนนราชวิถีและถนนอู่ทองในรอบ ๆ รัฐสภา ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ เวลาประมาณ ๖ นาฬิกาเศษ รวมทั้งการสลายฝูงชนบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และบริเวณถนนศรีอยุธยาด้านหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล ในช่วงบ่ายและเย็นตามลำดับ จนเป็นเหตุให้มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัส นอกจากนั้นยังมีประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมเสียชีวิตด้วย ซึ่งคณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน๑ ได้สรุปข้อเท็จจริงเบื้องต้นเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ว่า การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้กำลังและอาวุธแก๊สน้ำตาในการเข้าสลายฝูงชนโดยไม่มีการแจ้งเตือน อีกทั้งมิได้มีการปฏิบัติตามหลักการที่ระบุไว้ในปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และประมวลหลักการประพฤติปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และหลักการพื้นฐานในการใช้กำลังและอาวุธปืนโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย จนเป็นเหตุให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามหลักการตามปฏิญญาสากลดังกล่าว ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องเคารพและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และธำรงรักษา ผดุงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนของบุคคลทุกคน และเป็นการกระทำที่เกินความจำเป็นเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนและละเมิดต่อกฎหมาย โดยการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้กำลังและอาวุธแก๊สน้ำตาเข้าสลายฝูงชนในวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ นั้น เกิดจากการสั่งการของรัฐบาล เพื่อให้การแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภาสามารถดำเนินการได้ตามกำหนด จึงได้มีการวางแผนการสลายฝูงชนไว้ล่วงหน้าแล้วตั้งแต่คืนวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๑ เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น รัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงมิอาจปฏิเสธความรับผิดในการสูญเสียที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ได้

อนุกรรมการฯ ได้พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ดังนี้

คณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน๑ ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีการบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม ฯ โดยรวบรวมข้อเท็จจริงจากประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐและสื่อมวลชนที่อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม ฯ จำนวนมากกว่า ๕๐ คน ซึ่งได้ให้ถ้อยคำไว้กับคณะอนุกรรมการ ฯ แล้ว รวมทั้งการตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานทางนิติเวชและนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีประเด็นต้องพิจารณาดังต่อไปนี้

ประเด็นแรก “การบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผลโดยตรงมาจากการใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมหรือไม่” พิจารณาแล้ว ผู้ได้รับบาดเจ็บส่วนมากให้ถ้อยคำยืนยันว่า ระเบิดแก๊สน้ำตาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ในการสลายการชุมนุมมีอยู่ด้วยกัน ๒ ประเภท คือ ระเบิดแก๊สน้ำตาและวัตถุคล้ายวัตถุระเบิดชนิดยิงจากอาวุธปืน และชนิดขว้าง ส่วนการทำงานของระเบิดแก๊สน้ำตาที่ผู้ให้ถ้อยคำสังเกตเห็นจะมีอยู่ ๒ แบบ คือ เมื่อตกลงสู่พื้นแล้วจะมีควันสีขาวพ่นออกมาสักครู่จึงระเบิดขึ้นพร้อมกับมีเสียงดังมาก โดยมีควันสีขาวระเบิดกระจายออกมา ส่วนอีกแบบหนึ่ง เมื่อตกลงสู่พื้นแล้วจะไม่มีควันสีขาวพ่นออกมา สักครู่จึงระเบิดขึ้นพร้อมกับมีเสียงดังมาก โดยไม่มีควันสีขาวระเบิดกระจายออกมาเช่นเดียวกับแบบแรก ก่อนผู้ให้ถ้อยคำจะได้รับบาดเจ็บได้สังเกตเห็นระเบิดแก๊สน้ำตา หรือวัตถุรูปร่างคล้ายระเบิดแก๊สน้ำตา ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงและขว้างใส่ประชาชนไปถูกที่ร่างกายของผู้บาดเจ็บโดยตรง หรือตกที่บริเวณใกล้ตัวของผู้บาดเจ็บแล้วเกิดระเบิดขึ้นจนเป็นเหตุให้ผู้ให้ถ้อยคำได้รับบาดเจ็บขาขาด แขนขาด และบางรายได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลฉีกขาดตามลำตัว แขน ขา และใบหน้า บางรายได้รับบาดเจ็บแก้วหูฉีกและทะลุ บางรายมีบาดแผลลึกลงไปถึงชั้นไขมัน บางรายกระดูกแขน ขา แตกหัก ผิวหนังและเนื้อหายไป สำหรับผู้บาดเจ็บสาหัสที่มีบาดแผลฉกรรจ์อาการปางตาย คือ นางรุ่งทิวา ธาตุนิยม ได้รับบาดเจ็บจากวัตถุที่มีแรงอัดเข้าที่บริเวณเบ้าตาและศีรษะด้านซ้าย หนังศีรษะฉีกขาด กระดูกกะโหลกศีรษะด้านหน้าข้างซ้ายแตก กระดูกฐานกะโหลกศีรษะด้านซ้ายแตก กระดูกเบ้าตาซ้ายแตก ลูกตาซ้ายถูกทำลาย เนื้อสมองด้านซ้ายฉีกขาดและหายไปบางส่วน แขนข้างขวาบริเวณข้อมือ ฝ่ามือ และนิ้วมือถูกอาวุธที่มีแรงอัด มีเศษพลาสติกรูปทรงกระบอกฝังอยู่ที่บริเวณข้อมือ ความหวังที่จะมีชีวิตรอดเมื่อมีผู้นำส่งถึงโรงพยาบาลมีเพียง ๕ % เท่านั้น สำหรับผู้บาดเจ็บที่เสียชีวิต คือ นางสาว อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ น้องโบ ได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลฉีกขาดบริเวณหน้าอกด้านซ้ายต่อเนื่องถึงต้นแขนด้านซ้ายลึกถึงกระดูกซี่โครง กระดูกซี่โครงด้านซ้ายหักทุกซี่ เลือดออกในช่องเยื่อหุ้มปอดด้านซ้าย ๒๐๐ มิลลิลิตร ปอดข้างซ้ายฉีกขาดและฟกช้ำ ผนังหัวใจห้องล่างซ้ายฉีกขาด กระเพาะอาหารทะลุ ม้าม ไตข้างซ้าย ตับ และปอดด้านซ้ายฉีกขาด กระดูกต้นแขนด้านซ้ายหัก แก้วหูซ้ายทะลุ โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บอยู่ใกล้ ๆ นางสาวอังคณา ฯ และเห็นเหตุการณ์ได้ให้ถ้อยคำยืนยันว่า เห็นมีวัตถุพุ่งเข้าใส่ร่างกายของ น.ส.อังคณา ฯ โดยตรง และเกิดระเบิดขึ้น

นอกจากนั้น ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม ฯ บริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลและบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จำนวนหลายรายให้ถ้อยคำว่า เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่บนอาคาร ต้นไม้ และกำแพงด้านในกองบัญชาการตำรวจนครบาล ใช้อาวุธปืนยิงระเบิดแก๊สน้ำตาออกมาจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยยิงเข้าใส่ประชาชนที่เดินผ่านถนนศรีอยุธยาด้านหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า และที่เดินผ่านถนนราชดำเนินด้านข้างกองบัญชาการตำรวจนครบาลทั้งที่มุ่งหน้าไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า และระหว่างการเดินกลับไปยังสะพานมัฆวาน รวมทั้งประชาชนที่ยืนจับกลุ่มพูดคุยกันอยู่บนถนนดังกล่าว ในช่วงเวลาระหว่าง ๑๑.๐๐ – ๑๒.๐๐น. และช่วงเวลาระหว่าง ๑๗.๐๐ – ๑๙.๐๐ น. ซึ่งต่างเวลาและต่างสถานที่กันกับที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมเพื่อเปิดทางให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรีเข้าไปในรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในช่วงเช้า และช่วงเย็นเพื่อเดินทางออกจากรัฐสภาภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงนโยบายแล้ว

อีกทั้งมีผู้ให้ถ้อยคำหลายรายยืนยันว่า เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธปืนยิงวัตถุระเบิดออกมาจากภายในรัฐสภาด้วย ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจากการระดมยิงของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างต่อเนื่องเป็นระยะยาวนานนับชั่วโมงที่บริเวณด้านหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลและลานพระบรมรูปทรงม้า ส่วนใหญ่ต้องการเดินทางเข้าไปช่วยประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณรัฐสภา แต่ติดแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระหว่างที่มีการเจรจาเพื่อขอผ่านแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปยังรัฐสภานั้น ผู้บัญชาการเหตุการณ์ได้ประกาศเตือนผ่านเครื่องขยายเสียงว่าจะมีการใช้แก๊สน้ำตา หากยังไม่มีการถอยร่นของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมและได้ขว้างปาสิ่งของต่างๆ เช่น ก้อนอิฐ หนังสติ๊ก และขวดน้ำซึ่งบรรจุของเหลว เมื่อของเหลวดังกล่าวถูกโล่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีลักษณะเป็นฟองคล้ายน้ำกรด จากนั้นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ณ ที่นั้นได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจระดมยิงระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ประชาชน จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัสจำนวนหลายราย รวมทั้งมีผู้เสียชีวิตด้วย เช่นเดียวกับที่รัฐสภาก็ได้มีการระดมยิงต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ ยาวนานเป็นชั่วโมง ๆ โดยเฉพาะช่วงเย็นตั้งแต่เวลา ๑๖.๐๐ น. เป็นต้นไป เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัสเป็นจำนวนมาก ไม่เพียงแต่ประชาชนเท่านั้นที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ในการสลายการชุมนุม ยังถูกประชาชนที่ร่วมชุมนุมอยู่ที่บริเวณรัฐสภาใช้ไม้ ใช้เหล็กตีทำร้ายร่างกาย และขับรถยนต์บรรทุกปิ๊กอัพชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ และใช้อาวุธปืนยิงได้รับบาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัส จำนวนประมาณ ๖ – ๘ คน ซึ่งบางคนได้รับบาดเจ็บ บริเวณมือ ลำคอด้านหลัง หลังหัก กระสุนฝังตับ และบางรายฟันหัก ในช่วงเวลาระหว่าง ๑๖.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการสั่งการให้ใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมอีกครั้งเพื่อเปิดทางให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรีเดินทางออกจากรัฐสภาภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงนโยบายแล้ว จากการรวบรวมพยานหลักฐานทางด้านนิติเวช ยืนยันว่า ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บ และบาดเจ็บสาหัส มีบาดแผลเกิดจากแรงอัดอากาศ หรือแรงระเบิดที่สามารถทำลายเนื้อเยื่อ กระดูก และอวัยวะภายในได้อย่างรุนแรง สำหรับสาเหตุการตายของนางสาวอังคณา ฯ เกิดจากบาดแผลฉีกขาดขนาดใหญ่ที่หน้าอกด้านซ้าย ตับ ปอดและหัวใจฉีกขาด ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากวัตถุของแข็งมีความร้อนร่วมกับมีแรงอัดซึ่งลักษณะเข้าได้กับการถูกแรงระเบิด เช่นเดียวกับนางรุ่งทิวา ฯ ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสเนื่องจากถูกวัตถุที่มีแรงอัดเข้าที่บริเวณเบ้าตาและศีรษะด้านซ้าย หนังศีรษะฉีกขาด กระดูกกะโหลกศีรษะด้านหน้าข้างซ้ายแตก กระดูกฐานกะโหลกศีรษะด้านซ้ายแตก กระดูกเบ้าตาซ้ายแตก ลูกตาซ้ายถูกทำลาย เนื้อสมองด้านซ้ายฉีกขาดและหายไปบางส่วน นอกจากนั้น ประชาชนที่ถูกสะเก็ดระเบิดขนาดเล็กฝังอยู่ตามร่างกายโดยไม่ทราบว่าตนเองถูกสะเก็ดระเบิด เนื่องจากสะเก็ดระเบิดมีขนาดเล็กเท่าเมล็ดถั่วเขียว หรือเท่าเมล็ดถั่วแดง สะเก็ดระเบิดเล็ก ๆ เหล่านี้แทงทะลุและฝังอยู่ตามร่างกาย โดยมีทั้งฝังอยู่ในระดับตื้นใต้ผิวหนังประมาณ ๑ เซนติเมตร และหากอยู่ใกล้กับระเบิดแก๊สน้ำตา สะเก็ดจะฝังอยู่ใต้ผิวหนังลึกถึง ๑๐ เซนติเมตร อาการผิดปกติที่เกิดจากสะเก็ดระเบิดจะแสดงอาการหลัง ๗๒ ชั่วโมง โดยผู้บาดเจ็บจะมีอาการปวดร้อน บวมแดงที่บาดแผล ซึ่งหากปล่อยไว้จะเกิดการอักเสบ เป็นหนอง หากไม่ได้รับการดูแลรักษาเนื้อเยื่อบริเวณนั้นก็จะเกิดการเน่า เนื้อตาย และอาจรุนแรงถึงขั้นติดเชื้อในกระแสโลหิตถึงแก่ชีวิตได้ หากบาดแผลลักษณะดังกล่าวเกิดกับผู้บาดเจ็บที่เป็นเบาหวาน ก็มีโอกาสที่จะสูญเสียอวัยวะ ตัดแขน ตัดขา เนื่องจากการดูแลรักษาบาดแผลดังกล่าวเป็นไปอย่างยากลำบาก เช่นเดียวกับการตรวจพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ได้ส่งทีมนักนิติวิทยาศาสตร์จำนวนหลายคนเข้าตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานในสถานที่เกิดเหตุ และผู้เสียหายจากเหตุการณ์ในสถานที่ ๓ แห่ง ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๑ ด้วยเครื่องไอออนสแกนทั้งที่บริเวณหน้ารัฐสภา และบริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล ตรวจพบสารระเบิดร้ายแรง RDX ที่บริเวณหน้ารัฐสภา และบริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล รวมทั้งบริเวณกำแพงหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ หรือนายตี๋ ศิลปินวาดภาพที่ได้รับบาดเจ็บมือขวาขาด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการตรวจยืนยันด้วยเครื่อง GC-MS อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้น ยังตรวจพบสารระเบิดร้ายแรง RDX ติดตามตัว เสื้อผ้า และเส้นผมของผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตอีกด้วย (RDX หมายถึง Cyclotrimethylenetrinitramine มีชื่อเรียกอย่างอื่นคือ Cyclonite หรือ Research Development Formular X ซึ่งเป็นสารประกอบวัตถุระเบิด) นอกจากนั้น ยังตรวจพบสารระเบิดร้ายแรง TNT และ RDX หรือซีโฟร์ (C4) บริเวณรถจี๊ปเชอโรกีที่ระเบิดหน้าที่ทำการการพรรคชาติไทยในบางจุด จนเป็นเหตุให้ พันตำรวจโท มนตรี ชาติมนตรี หรือสารวัตรจ๊าบ หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยพันธมิตร ฯ เสียชีวิตจากเหตุระเบิดรถจี๊ปเชอโรกีดังกล่าว (TNT หมายถึง Trinitrotolune ซึ่งเป็นสารประกอบวัตถุระเบิด) ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุการระเบิดที่ชัดเจน

คณะอนุกรรมการ ฯ เห็นว่า ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัสส่วนใหญ่ให้ถ้อยคำยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนได้ใช้อาวุธระดมยิงระเบิดแก๊สน้ำตา และขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ประชาชนโดยตรง จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตดังกล่าว ประกอบกับมีวัตถุพยานที่เป็นภาพถ่ายทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงการใช้อาวุธปืนยิงระเบิดแก๊สน้ำตาในระยะใกล้ โดยเล็งยิงในแนวราบที่มีเป้าหมายคือประชาชนที่มาร่วมชุมนุม หรือแม้เป็นการยิงในวิถีโค้งจากพื้นสู่อากาศและตกลงสู่พื้นดินแต่ก็ยังเป็นการยิงในระยะใกล้ ซึ่งลูกระเบิดแก๊สน้ำตาเหล่านั้น ได้ไปตกลงใกล้ตัวประชาชน จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตดังกล่าว ซึ่งผู้บังคับการพลาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ชี้แจงหลังการทดลองยิงแก๊สน้ำตาร่วมกับผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า ผู้ใช้อาวุธยิงแก๊สน้ำตาไม่ควรยิงตรงไปยังฝูงชน ไม่ควรใช้อาวุธในระยะใกล้ ไม่ควรใช้กระสุนจำนวนมากเนื่องจากมีสารเคมีอันตราย และอาจทำอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนั้นการบาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิต จึงเป็นผลโดยตรงจากการระดมยิงระเบิดแก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้กำลังและอาวุธเข้าสลายการชุมนุม สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกประชาชนทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บในช่วงเย็นระหว่างเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. นั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังประชาชนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจระดมยิงระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ประชาชนเพื่อสลายการชุมนุมตั้งแต่ช่วงเช้าเป็นต้น และยังมีการระดมยิงต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ ตลอดมาทั้งที่บริเวณหน้ารัฐสภา ด้านหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล และบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จนเป็นเหตุให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัสถึงกับแขนขาด ขาขาด และเสียชีวิตด้วย ย่อมเป็นการสร้างความโกรธแค้นให้กับประชาชนที่ถูกระดมยิงด้วยระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ ซึ่งล้วนเป็นผลสืบเนื่องลุกลามมาจากการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมทั้งสิ้น

ประเด็นที่สอง “ระเบิดแก๊สน้ำตาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ยิงและขว้างเข้าใส่ประชาชนเพื่อสลายการชุมนุมนั้น สามารถทำอันตรายแก่ร่างกายและชีวิตของประชาชนได้หรือไม่” พิจารณาแล้ว จากผลการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์กรณีการใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ของแพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สรุปได้ว่า การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาทั้งชนิดยิงและขว้างที่ผลิตจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแก๊สน้ำตาทั้งสองชนิดมีองค์ประกอบเป็นเชื้อปะทุทำให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงคือ “การระเบิด” ทำให้มีผู้บาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต รวมทั้งเป็นสาเหตุให้ตรวจพบสารระเบิดร้ายแรง RDX จึงไม่ควรนำมาใช้ในการควบคุมฝูงชน แก๊สน้ำตามีสารเคมีอันตราย ๒ ชนิด คือ CN (Chloroacetophenone) และ CS (Chlorobenzylidene malononitrile) โดย CS มีอันตรายต่อร่างกายน้อยกว่า CN สาร CN อาจก่อมะเร็งได้ นอกจากนั้น ผู้บังคับการพลาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ชี้แจงหลังการทดลองยิงแก๊สน้ำตาว่า พลาธิการได้เรียกคืนกระสุนแก๊สน้ำตาจากจีนทั้งหมด เนื่องจาก กระสุนแก๊สน้ำตาเหล่านั้นมีการสั่งซื้อมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๖ และให้หน่วยงานต่าง ๆ เบิกไปไว้ในสต๊อกตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๘ ผู้ใช้อาวุธยิงแก๊สน้ำตาไม่ควรยิงไปยังฝูงชน ไม่ควรใช้อาวุธในระยะใกล้ ไม่ควรใช้กระสุนจำนวนมาก เนื่องจากเป็นสารเคมีอันตราย และอาจทำอันตรายต่อร่างกายได้ เห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำแก๊สน้ำตาทั้งชนิดยิงและชนิดขว้างที่ผลิตจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สั่งซื้อมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๖ และให้หน่วยงานต่าง ๆ เบิกไปไว้ใช้ในราชการตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๘ ซึ่งแก๊สน้ำตาทั้งสองชนิดมีองค์ประกอบเป็นเชื้อปะทุทำให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงคือ “การระเบิด” จึงเป็นสาเหตุให้ตรวจพบสารระเบิดร้ายแรง RDX ที่บริเวณรัฐสภา และด้านหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล รวมทั้งเสื้อผ้า และร่างกายของผู้ได้รับบาดเจ็บ ระเบิดแก๊สน้ำตาที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการสลายฝูงชนในวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ จึงเป็นระเบิดแก๊สน้ำตาที่มีปฏิกิริยารุนแรงคือการระเบิด ประกอบเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้ยิงตรงไปยังประชาชน และขว้างเข้าใส่ประชาชน อีกทั้งเป็นการยิงและขว้างในระยะใกล้ และระดมยิงอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นระยะ ๆ หลายครั้ง แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเห็นผลของการใช้แก๊สน้ำตายิงและขว้างเข้าใส่ประชาชนจนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บถึงกับขาขาดในช่วงเช้ามาแล้ว ซึ่งจากวิดีโอบันทึกภาพเหตุการณ์ที่ได้รับจากสื่อมวลชน แสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายได้เดินผ่านและเห็นประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บหลายราย บางรายขาขาด ซึ่งเจ้าหน้าที่บางรายเท่านั้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ เจ้าหน้าที่ตำรวจย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า แก๊สน้ำตาที่นำมาใช้นั้นมีปฏิกิริยาระเบิดอย่างรุนแรงสามารถทำให้ขาดขาดได้ แต่ยังคงใช้แก๊สน้ำตาดังกล่าวสลายฝูงชนต่อไปอีกตลอดทั้งวัน ระเบิดแก๊สน้ำตาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ยิงและขว้างเข้าใส่ประชาชนเพื่อสลายการชุมนุมดังกล่าว จึงเป็นวัตถุระเบิดที่สามารถทำอันตรายแก่ร่างกายและชีวิตของประชาชน จนเป็นเหตุให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตดังกล่าว

ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบและรายงานการกระทำ อันเป็นละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ที่ประเทศไทยเป็นภาคี

โดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมีคำปรารภว่า “โดยที่การยอมรับนับถือเกียรติศักดิ์ประจำตัวและสิทธิเท่าเทียมกัน และโอนมิได้ของบรรดาสมาชิกทั้งหลายแห่งครอบครัวมนุษย์เป็นหลักมูลเหตุแห่งอิสรภาพ และความยุติธรรม และสันติภาพในโลก

โดยไม่นำพาและเหยียดหยามต่อมนุษยชนยังผลให้มีการกระทำอย่างป่าเถื่อน ซึ่งเป็นการละเมิดมโนธรรมของมนุษยชาติอย่างร้ายแรงและได้มีการประกาศว่า ปฏิญญาสูงสุดของสามัญชน ได้แก่ความต้องการให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลกด้วยอิสรภาพในการพูดและความเชื่อถือและอิสรภาพพ้นจากความหวาดกลัวและความต้องการ

โดยที่เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่สิทธิมนุษยชนควรได้รับการคุ้มครองโดยหลักบังคับของกฎหมาย ถ้าไม่ประสงค์จะให้คนตกอยู่ในบังคับให้หันเข้าหาขบถ ขัดขืนต่อทรราชและการกดขี่เป็นวิถีทางสุดท้าย…”

ประเด็นสุดท้ายที่จะต้องพิจารณาคือ ผู้ใดจะต้องรับผิดชอบต่อการสลายฝูงชน จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ พิจารณาแล้ว จากการให้ถ้อยคำของเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ได้ให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการ ฯ ว่า นายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม จนเป็นเหตุให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัส และมีประชาชนเสียชีวิต เห็นว่า การใช้กำลังและอาวุธระเบิดแก๊สน้ำตา ซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงระดมยิงและขว้างใส่ประชาชนที่ปราศจากอาวุธร้ายแรงโดยตรง อีกทั้งเป็นการยิงและขว้างในระยะใกล้ จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตนั้น นับเป็นการปฏิบัติการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นการใช้ความรุนแรงต่อเพื่อนมนุษย์ โดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ซึ่งต้องได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และขัดต่อหลักการประพฤติปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย (Code of Conduct for Law Enforcement Officials (CCLEO, 1979) และขัดต่อหลักการที่ระบุไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๓ และข้อ๕ กล่าวคือ

ข้อ ๓ คนทุกคนมีสิทธิในการดำรงชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งตัวตน

ข้อ ๕ บุคคลใดๆ จะได้รับผลปฏิบัติที่โหดร้าย ผิดมนุษยธรรมหรือต่ำช้าไม่ได้

และขัดต่อหลักการกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ๖ ข้อ ๗ และข้อ ๙ กล่าวคือ

ข้อ ๖ ....

๑.) มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตมาแต่กำเนิด สิทธินี้ต้องได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย บุคคลจะต้องไม่ถูกทำให้เสียชีวิตโดยอำเภอใจ

ข้อ ๗ ....

บุคคลจะได้รับการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมมิได้

ข้อ ๙ ....

บุคคลทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้ ยกเว้นโดยเหตุและโดยเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

อีกทั้งขัดต่อหลักการพื้นฐานในการใช้กำลังและอาวุธปืนโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles on the Use of Forced and firearms by Law Enforcement Officials) ซึ่งจะต้องพยายามอย่างถึงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในการใช้วิธีการที่ไม่รุนแรงก่อนที่จะต้องพึ่งการใช้กำลังและอาวุธปืน เมื่อใดก็ตามที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้กำลังและอาวุธปืนโดยชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องใช้การยับยั้งชั่งใจในการใช้ อีกทั้งต้องลดความเสียหายและการบาดเจ็บให้น้อยที่สุดโดยเคารพและรักษาไว้ซึ่งชีวิตมนุษย์ ดังนั้น ในส่วนของรัฐบาลที่ได้สั่งให้มีการใช้กำลังและระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุม เพื่อเปิดช่องทางให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี สามารถเข้าไปในรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบาย และเมื่อรู้แล้วว่าการสลายการชุมนุมในช่วงเช้าเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัส นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล แทนที่จะออกคำสั่งห้ามการใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าสลายฝูงชน แต่หาได้กระทำเช่นนั้นไม่ ยังคงปล่อยให้มีการใช้กำลังและยิงระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมอีกเพื่อเปิดทางให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีเดินทางออกจากรัฐสภาภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว แม้การแถลงนโยบาย ฯ เสร็จสิ้นแล้ว ก็ยังคงปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจระดมยิงและขว้างระเบิดแก็สน้ำตาเข้าใส่ประชาชนที่กำลังจะเดินทางเข้าไปช่วยประชาชนที่ถูกล้อมอยู่ที่บริเวณรัฐสภา และประชาชนที่กำลังเดินทางกลับไปยังสะพานมัฆวาน จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และเสียชีวิตด้วยที่บริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล ฉะนั้น นายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้สั่งการให้มีการสลายการชุมนุม และ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบให้รับผิดชอบในการสลายการชุมนุมและสั่งการให้มีการสลายการชุมนุม รวมทั้งรัฐมนตรีที่อยู่ด้วยในการประชุมคณะรัฐมนตรี แต่มิได้คัดค้านการใช้กำลังและระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุม ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นในการสลายการชุมนุมในครั้งนี้

ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวม ประมวลข้อเท็จจริง เพื่อจัดทำรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในส่วนนี้ต่อไปโดยเร็ว