Critical thinking ม ท กษะการค ดอย างม เหต ผล

งานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่ากลุ่มนักเรียนที่คิดอย่างมีวิจารณญาณได้-ใช้วิจารณญาณเป็น หรือมีทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตด้านอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างงานวิจัยของบัตเลอร์ (Butler et al., 2012) นักวิจัยด้านพฤติกรรมและศาสตร์ด้านองค์กรแห่งบัณฑิตวิทยาลัย Claremont สหรัฐอเมริกาที่รายงานว่า มีความเชื่อมโยงกันระหว่างทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณกับคุณภาพชีวิตด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal outcomes) อาชีพ และการเงินของแต่ละบุคคล

สิ่งที่พบคือ ผู้เข้าทดสอบที่คิดอย่างมีวิจารณญาณ มักไม่ค่อยก่อปัญหาเลวร้ายในชีวิตมากนัก ตั้งแต่ปัญหาในชีวิตขั้นต่ำสุดอย่าง“คืนซีดีหนังทุกเรื่องที่เช่าตรงเวลา ถึงจะยังไม่ได้แตะเลยแม้แต่น้อย” ไปจนถึงขั้นรุนแรงคือ “เมาแล้วขับจนได้ใบสั่ง”

หรือในงานวิจัยเรื่อง Redesigning a General Education Science Course to Promote Critical Thinking ของโรว์และคณะ (Rowe et al 2015) แห่ง Sam Houston State University สหรัฐอเมริกา ซึ่งนำหลักวิทยาศาสตร์ อันได้แก่ การสังเกต ค้นคว้า ทดลอง มาผนวกเข้ากับการเรียนรู้ในห้องเรียนเพื่อสร้างเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณ พบข้อสรุปว่า นักเรียนที่ผ่านการฝึกฝนด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ มีแนวโน้มที่จะยอมรับความคิดที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้มากกว่า

กล่าวคือ การมีวิจารณญาณทำให้นักเรียนไม่เป็นคนหูเบา เชื่อสิ่งใดง่ายๆ เมื่อได้รับข้อมุูลบางอย่าง นักเรียนสามารถพิจารณาว่าเรื่องใดจริงไม่จริง น่าเชื่อถือหรือไม่ โดยลงมือค้นคว้า ทดลองหาข้อพิสูจน์ก่อน เป็นต้น

ทำไมทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณจึงสำคัญ

นอกเหนือจาก 3 ทักษะสำคัญ คือ ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกัน และการสื่อสาร กรอบการเรียนรู้เพื่อศตวรรษที่ 21 (Framework for 21st Century Learning) ยังบรรจุความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณเป็นอีกหนึ่งในทักษะบังคับที่นักเรียนทุกคนต้องได้รับการฝึกฝน ด้วยเหตุผลดังนี้

  • ทุกสาขาอาชีพ ทุกลักษณะงานในองค์กร จำเป็นต้องใช้ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณในการแก้ปัญหาทั้งสิ้น
  • ผู้ที่มีทักษะด้านนี้ สามารถเข้าใจเนื้อหาความรู้ เชื่อมโยงเหตุและผลได้ จึงมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จด้านการศึกษา การงาน และการใช้ชีวิต
  • การเติมทักษะนี้ให้นักเรียน จะช่วยให้พวกเขาพัฒนาและปรับปรุงการเรียนรู้ในห้องเรียน เช่น การเขียน การให้เหตุผล ได้ดียิ่งขึ้นต่อไป
  • ผู้ที่มีทักษะการเรียนรู้มักไม่สร้างปัญหาให้ตนเอง และมีแนวโน้มมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณในห้องเรียน

การนิยามความหมายของทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณในบริบทของการศึกษานั้น ปรากฏอยู่ในงานศึกษาตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา โดยเน้นไปที่กระบวนการคิดของนักเรียนเป็นหลัก เช่น การใช้ทักษะการคิดต่างๆ ประมวลข้อมูล การแบ่งระดับการคิดเป็นขั้นเป็นตอน รวมถึงการให้ความสนใจถึงปัจจัยทางลักษณะนิสัย เช่น กระตือรือร้นต่อการแก้ปัญหา เป็นต้น

แต่โดยสรุปแล้ว จากงานวิจัยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ขอบเขตทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณของวัยเรียนในศตวรรษที่ 21 ล้วนหมายถึงการใช้วิจารณญาณวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารเพื่อหาข้อสรุปที่ถูกต้อง

อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น คือ

  • นักเรียนต้องสามารถคัดสรรข้อมูลที่เชื่อถือได้และตรงประเด็นมาสนับสนุนหรือปกป้องความคิดของตนเอง
  • แยกแยะความเห็นส่วนตัว อคติ และตรรกะที่ผิดเพี้ยนจากความจริงได้
  • สามารถโต้แย้งด้วยเหตุผลที่มีน้ำหนัก
  • เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของเหตุปัจจัย
  • มองประเด็นได้หลายแง่มุม จนสามารถอนุมานข้อสรุปที่ถูกต้องเชื่อถือได้ในที่สุด

ว่าด้วยความสำคัญในการผลิตบุคลากรที่มีทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณดังที่กล่าวมาข้างต้น Pearson องค์กรผู้นำด้านการศึกษาโลก กับ P21-ภาคีความร่วมมือเพื่อการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 จึงร่วมมือกันพัฒนาแลกเปลี่ยนข้อมูลและบุคลากรทางวิชาการเพื่อร่วมกันสร้างมาตรฐานการสอนและประเมินทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณให้เกิดขึ้นในระบบการศึกษา โดยสรุปสาระสำคัญไว้ดังนี้

จากหนังสือ Skills for Today: What We Know about Teaching and Assessing Critical Thinking โดย Ventura, M., Lai, E., & DiCerbo, K. (2017) เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า “ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณนั้นแยกย่อยเป็นความสามารถในการจัดการกับข้อมูลหรือหลักฐาน 4 ด้าน” ซึ่งความสามารถเหล่านี้จะไปบรรจบกับความสำเร็จในการแก้ปัญหาให้ลุล่วงในท้ายที่สุดได้

ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณแบ่งเป็น 4 มิติ ดังนี้

1. ความสามารถในการวิเคราะห์เชิงระบบ (Systems analysis) – การเข้าใจหน้าที่ขององค์ประกอบกับความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันในระบบ มองเห็นปัจจัยที่สามารถส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในระบบ และสามารถจัดการบางอย่างกับหน่วยใดหน่วยหนึ่งแล้วก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภาพรวมได้

2. ความสามารถในการวิเคราะห์เชิงโต้แย้ง (Argument analysis) – สามารถหาข้อสรุปอย่างเป็นเหตุเป็นผลจากข้อมูลที่มีอยู่ในมือ โดยการแยกแยะข้อมูลทั้งหลายออก ว่าส่วนใดคือความคิดเห็น และส่วนใดที่เป็นข้อเท็จจริง และประเมินความน่าเชื่อถือได้ ในขั้นตอนนี้ต้องมีวิจารณญาณในการตัดสินใจ จนกระทั่งพิจารณาหาข้อสรุปว่ามีหลักฐานหรือเหตุผลรองรับหรือไม่ และควรรู้จักความแตกต่างระหว่างการวิเคราะห์เชิงโต้แย้ง (มีเหตุผลรับรอง) กับการถกเถียง (ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวเป็นหลัก) ด้วย

3. ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงาน (Creation) – สามารถสร้างสมมุติฐาน วิธีการ ขั้นตอนกระบวนการ ทฤษฎี ไปจนถึงข้อโต้แย้งจากการรวบรวมหลักฐาน การประมวลความคิดอย่างมีวิจารณญาณข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง หลากหลายแง่มุมจนเกิดแนวทางใหม่หรือเป็นผลงานที่สร้างขึ้นจากกระบวนการทางความคิดจนเป็นข้อสรุปรูปธรรม หรือ ต่อยอดจากสิ่งที่เคยมีอยู่เดิมให้เป็นสิ่งใหม่ที่ดีขึ้น

4.ความสามารถในการตัดสินคุณภาพ (Evaluation) – ตัดสินคุณภาพของขั้นตอน ทางออกของปัญหา หรือผลงานที่ออกมาว่า ดีพอแล้วหรือยัง โดยใช้ตัวชี้วัด บรรทัดฐาน หรือเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจนได้

สามารถวิพากษ์วิจารณ์ว่า ขั้นตอน คำตอบของปัญหา หรือผลงานที่ออกมานั้นดีหรือไม่ น่าเชื่อถือหรือไม่ ดีพอแล้วหรือยัง เกี่ยวพันกับประเด็นปัญหาหรือไม่ มีจุดบอดและหรืออคติอื่นใดผสมหรือไม่ ความสามารถในการตัดสินคุณภาพ คือต้องใช้เกณฑ์สำหรับไตร่ตรองความน่าเชื่อถือของแหล่งที่มาเป็น เช่น หากจะประเมินคุณภาพรายงานการเงินต้องใช้หลักเกณฑ์ทางบัญชีและมาตรการด้านความปลอดภัย เป็นต้น

หลัก 4 ข้อที่นักเรียนต้องเข้าใจก่อน

เป็นเรื่องยากอยู่ไม่น้อยที่จะออกแบบกระบวนการพัฒนาทักษะให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิดอย่างมีวิจารณญาณเป็นกระบวนการซับซ้อนและมีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย ทั้งลักษณะนิสัยของตัวนักเรียนเอง สภาพแวดล้อมการเลี้ยงดู อย่างไรก็ตาม ปีเตอร์ เอลเลอร์ตัน (Peter Ellerton) อาจารย์สอนวิชา Critical Thinking แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ เสนอแนวทางพื้นฐานว่าการสอนเด็กให้คิดอย่างมีวิจารณญาณเป็น ครูต้องบอกหลักการของการคิดอย่างมีวิจารณญาณให้พวกเขาเข้าใจก่อน หลักการเบื้องต้น 4 ข้อที่นักเรียนต้องทำความเข้าใจเสียก่อนคือ

1. หลักของการโต้แย้ง (Argumentation) – บริบทที่ดีที่สุดที่จะกระตุ้นให้นักเรียนวิเคราะห์ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง โดยสามารถหาเหตุผล ความเชื่อมโยงและข้อสรุปได้นั้น มักอยู่ในรูปของการโต้แย้งถกเถียงกัน กระบวนการดังกล่าวบังคับให้นักเรียนต้องสรรหาหลักฐานอ้างอิงที่ให้น้ำหนักมาสนับสนุนจุดยืนของตัวเองให้ได้

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ตามมาคือข้อมูลเหล่านั้นต้องมีคุณภาพ คือเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เป็นเหตุเป็นผล และเชื่อถือได้มากพอ เพื่อสามารถโน้มน้าวไปสู่ข้อสรุปหรือหนทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดได้

2. หลักการใช้ตรรกะเหตุผล (Logic) – สิ่งที่การคิดอย่างมีวิจารณญาณจะขาดไปไม่ได้คือการใช้ตรรกะเหตุผล ตรรกะ 2 ประเภทคือ

2.1 นิรนัย (Deduction) หรือ ตรรกะที่ตายตัวแน่นอนอย่างตรรกะของหลักคณิตศาสตร์หรือสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงสากล เช่น คนที่เป็นพ่อหมายถึงผู้ชาย

2.2 อุปนัย (Induction) คือ ตรรกะที่เป็นการกล่าวอ้างกว้างๆ และจากประสบการณ์ ซึ่งไม่ตายตัว การใช้ตรรกะทั้ง 2 อย่างนี้ในทางที่ผิดอาจก่อให้เกิดทั้งการเข้าใจผิด หรือข้อสรุปที่ไม่น่าเชื่อถือ

3. หลักจิตวิยา (Psychology) – จิตวิทยาในที่นี้ คือ ใจของเราทำงานอย่างไร สิ่งหนึ่งที่เราอาจไม่เคยฉุกคิดมาก่อนคือ เราควบคุมความคิดหรือการตัดสินใจไม่ได้อย่างใจนึก และบางครั้งนอกจากกระบวนการคิดของเรากระจัดกระจายไม่เป็นระบบอย่างที่ครูอยากให้เป็น เราอาจจะใช้ความคิดน้อยไปเสียด้วยซ้ำ การหาข้อสรุปจากความเชื่อ ข้อมูลมาจากแรงขับที่ล้วนเกิดจากความสนใจเฉพาะตัว ความเชื่อส่วนบุคคล ค่านิยม อคติบางอย่างของแต่ละคน

4. หลักในการหาข้อพิสูจน์ (The Nature of Science) – นักเรียนควรมีเครื่องมือในการประเมินว่าข้อมูลที่มีอยู่มากมายในปัจจุบันมีคุณภาพหรือไม่ สองสิ่งที่จะช่วยสกรีนได้คือ การหาข้อพิสูจน์ด้วยการทดลอง และสถิติ

ครูต้องให้เด็กๆ รู้จักสังเกต ตั้งสมมุติฐาน รวมถึงมองกฎทฤษฎีต่างๆ ให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต กฎแรงดึงดูด กฎการเคลื่อนที่ สสารโมเลกุล และสถิติไม่ใช่เรื่องของอัจฉริยะ หรือนักวิทยาศาสตร์ แต่องค์ความรู้ที่เป็นจริงเหล่านี้คือรากฐานของความเข้าใจโลกและระบบต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันและกันเอาไว้ การเรียนรู้อาจไม่ได้หมายความว่าต้องจำรายละเอียดยิบย่อยได้ทั้งหมด แต่เป็นเรื่องของความเข้าใจกระบวนการที่เกิดขึ้นและโครงข่ายที่โยงใยกันอยู่ต่างหาก

เทคนิคคิดอย่างมีวิจารณญาณแบบขั้วตรงกันข้าม

แอนิตา วูลฟอล์ค (Anita Woolfolk) ครูด้านจิตวิทยาการศึกษา และเขียนหนังสือแนะนำการสอนเทคนิคการกระตุ้นการคิดอย่างมีวิจารณญาณในห้องเรียนมาแล้วหลายเล่ม มองว่า การจะฝึกให้นักเรียนวิเคราะห์ประเด็นเป็นนั้น ครูต้องลองให้พวกเขามองประเด็นนั้นๆ จากมุมตรงกันข้ามกันก่อน เช่น ข้อดี-ข้อเสีย มี-ไม่มีดีกว่ากัน เป็นต้น

การวิเคราะห์ประเด็นแบบขั้วตรงกันข้ามนี้ ช่วยกระตุ้นให้นักเรียนหาเหตุผลมารองรับแต่ละมุมมอง ซึ่งอาจเปิดโลกทัศน์ในด้านที่นักเรียนอาจไม่เคยรู้มาก่อน และช่วยทุเลาความคิดยึดติดในความเชื่อเดิม ซึ่งอาจนำไปสู่บทสรุปใหม่ที่เป็นประโยชน์กับตัวเขาเอง

ในตำราด้านจิตวิทยาการศึกษาของแอนิต้า เธอจะเสริมการวิเคราะห์ประเด็นแบบขั้วตรงข้ามในช่วงท้ายของแต่ละบทด้วยเสมอ มีอยู่บทหนึ่ง เธอตั้งคำถามว่า เด็กที่มีความพกพร่องด้านการเรียนรู้จากโรคสมาธิสั้น (ADHD) วิธีรักษาระหว่างกินยากับไม่กินยาอย่างไหนดีกว่ากัน

มุมที่สนับสนุนการกินยา แอนิตาหยิบยกงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จในการใช้ยารักษาอาการสมาธิสั้น มาอ้างอิงเพื่อสร้างน้ำหนักว่า กลุ่มยาที่ใช้ในการรักษา เช่น Adderall, Focalin, Dexadrine, Vyvanse, and Cylert มีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นสมอง ซึ่งการใช้ยาตามโดสที่เหมาะสมกับผู้ป่วยจะช่วยให้สมองหลั่งสารสื่อประสาทให้ระบบสมองทำงานเป็นปกติ เมื่ออาการของโรคดีขึ้นก็จะส่งผลให้เด็กแสดงออกทางพฤติกรรมที่ควบคุมได้มากขึ้น

ตรงกันข้ามกับมุมที่ต่อต้านการใช้ยา แอนิตานำงานวิจัยที่เน้นย้ำว่า การรักษาอาการ ADHD ไม่ควรใช้ยาเป็นทางเลือกแรก จากนั้นเธอก็รวบรวมงานวิจัยที่บ่งชี้ถึงอาการข้างเคียงด้านลบที่เกิดขึ้นกับเด็กที่ใช้ยามาให้น้ำหนัก โดยงานวิจัยก็มีทั้งที่แสดงให้เห็นว่า อัตราการเต้นหัวใจและความดันโลหิตของเด็กเพิ่มสูงขึ้น การเจริญเติบโตชะงักงัน นอนไม่หลับ น้ำหนักลด และมีอาการวิตกกังวลสูง แม้แพทย์สามารถคุมผลข้างเคียงเหล่านี้ได้จากการปรับโดสและระยะเวลาในการให้ยา แต่ยังไม่มีข้อยืนยันเรื่องผลข้างเคียงในระยะยาว โดยเฉพาะยาตัวหนึ่งที่ชื่อ Strattera ซึ่งไม่ได้ออกฤทธิ์เป็นสารกระตุ้น มีรายงานว่าเด็กที่ใช้ยาตัวนี้ซึมเศร้าและมีความคิดฆ่าตัวตายร่วมด้วย ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรติดตามงานวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มยาในการรักษาอย่างต่อเนื่อง

งานวิจัยในแง่มุมนี้ยังกล่าวถึงผลลบที่เกิดขึ้นทางร่างกาย งานวิจัยมากมายที่บอกว่าการใช้ยาอาจช่วยเรื่องการแสดงออกทางพฤติกรรมที่ดีขึ้น แต่ประสิทธิภาพการเรียนรู้และการเข้าสังคมกับเพื่อนกลับดิ่งเหว ครูและผู้ปกครองอาจวางใจเมื่อเห็นเด็กควบคุมพฤติกรรมได้ดีขึ้น แต่ปัญหาใหญ่คือ จุดบอดด้านความสามารถในการเชื่อมโยงความรู้ ทักษะการอ่าน และการนำเสนอยังมีอยู่

ข้อพึงระวังเมื่อคิดแบบเป็นกลาง ไม่ว่าอย่างไร หากนักเรียนในชั้นใช้ยาในการรักษา พวกเขาก็ยังจำเป็นต้องได้รับความรู้ทางด้านวิชาการและทักษะการเข้าสังคมอยู่ดี ครูผู้สอนมีหน้าที่ชี้ให้พวกเขารู้ว่าทักษะเหล่านั้นใช้อย่างไรและควรใช้ตอนไหน

นอกจากนั้นการฝึกให้นักเรียนมีความอดทนควบคุมให้ตนเองฟันฝ่าอุปสรรคหรือโจทย์ที่ยากไปให้ได้จนลุล่วงก็สำคัญไม่แพ้กัน ตรงนี้คือสิ่งที่ยาไม่สามารถทำได้ ครูยังคงเป็นหัวใจของการที่ปรึกษาและสนับสนุนทักษะด้านบวกให้เกิดขึ้นได้

จากตัวอย่างข้างต้น ครูอาจเปิดโอกาสให้นักเรียนเขียนบทความวิเคราะห์ประเด็นด้วยเทคนิคขั้วตรงข้ามดูก่อน เพื่อกระตุ้นให้มองประเด็นจากหลายหลายแง่มุม พร้อมกับหาข้อมูลมาสนับสนุนความคิดในแต่ละด้านเพื่อหาข้อสรุป เช่นตั้งคำถามว่า ร้านสะดวกซื้อควรยกเลิกถุงพลาสติกใส่สินค้าหรือไม่ เป็นต้น

ไม่ว่าการจัดกระบวนการเรียนรู้จะเป็นแบบเดี่ยวหรือแบบกลุ่ม หัวใจสำคัญที่จะพัฒนาศักยภาพด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณคือ นักเรียนต้องได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างกันและหาคำตอบด้วยตนเอง

มีหลากหลายแนวทางและรูปแบบที่ช่วยกระตุ้นทักษะมากมายที่ครูผู้สอนสามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม โดยต้องไม่ลืมพิจารณาถึงการกระตุ้นให้เกิดความสามารถ 4 ข้อย่อยข้างต้น คือ ความสามารถในการวิเคราะห์เชิงระบบ เชิงโต้แย้ง การสร้างสรรค์ผลงานและการตัดสินคุณภาพ กับพิจารณาความแตกต่างของระดับทักษะหรือช่วงวัยของนักเรียนมาเป็นเกณฑ์ออกแบบด้วย