Google maps เส นทางรถไฟ ศร ขรภ ม กร งเทพ

ผู้เรียบเรียงข้อมูล: วิไลวรรณ เดชดอนบม

วันที่จัดทำข้อมูล: 3 ม.ค. 2023

ผู้นำเข้าข้อมูล: วิไลวรรณ เดชดอนบม

วันที่นำเข้าข้อมูล: 28 มี.ค. 2023

ชื่อชุมชน

ความเป็นมาของชื่อชุมชน:

ตั้งชื่อชุมชนตามลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ที่มีต้นระแงงเป็นจำนวนมาก “ระแงง” เป็นภาษากูย แปลว่า “ต้นติ้ว”

จุดเด่นชุมชน:

เทศบาลตำบลระแงงเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามาอยู่อาศัยร่วมกัน ได้แก่ ชาวเขมร ชาวลาว ชาวมุสลิม ชาวกูย ชาวญวน และชาวจีน

ที่ตั้ง

เขตการปกครองส่วนท้องถิ่น: เทศบาลตำบลระแงง

ความเป็นมา: ประวัติศาสตร์ชุมชน

ประวัติความเป็นมาและที่มาของชื่อระแงงนั้น สืบเนื่องมาจากชัยภูมิที่ตั้งหมู่บ้านมีลักษณะเป็นที่ดอน เดิมมีต้นพะยอมและต้นติ้วขึ้นอยู่หนาแน่น “ระแงง” มาจากภาษากูย แปลว่า “ต้นติ้ว” บริเวณดังกล่าวเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวกูยซึ่งมีความคุ้นเคยกับป่าต้นติ้วมาก่อน ต่อมาเมื่อมีชาวลาวอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ จึงเรียกชื่อชุมชนตามภาษาของชาวกูยว่า “ระแงง” เมื่อ พ.ศ. 2498 ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ได้รับการยกฐานะเป็นสุขาภิบาลโดยใช้ชื่อว่า “สุขาภิบาลระแงง” และต่อมาในปี พ.ศ. 2542 ได้มีพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะสุขาภิบาลระแงงเป็น “เทศบาลตำบลระแงง” เพื่อให้มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เทศบาลตำบลระแงงเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามาอยู่อาศัยร่วมกัน ได้แก่ ชาวเขมร ชาวลาว ชาวมุสลิม ชาวกูย ชาวญวน และชาวจีน

ชาวเขมรปรากฏหลักฐานการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคอีสานตอนล่างครั้งแรกในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1547-1761) ขณะนั้นกษัตริย์เขมรได้เกณฑ์กำลังชาวเขมรจากประเทศกัมพูชาและชาวกูยมาสร้างเมือง ถนน ปราสาท เพื่อแสดงถึงศักดิ์ดาการแผ่ขยายอำนาจอิทธิพลของเขมรมาสู่ภาคอีสานตอนล่างของไทย ซึ่งได้ทิ้งร่องรอยหลักฐานไว้จนถึงปัจจุบัน เช่น ปราสาทบ้านระแงง ปราสาทบ้านอนันต์ และปราสาทบ้านช่างปี่ เป็นต้น

ชาวลาวอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเมื่อครั้งพระวอพระตานำประชาชนชาวลาวอพยพจากล้านช้างลงมาที่จำปาศักดิ์ และเกิดกรณีวิวาทกับเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ เปิดช่องให้ราชอาณาจักรสยามเข้าไปมีบทบาทต่อการเมืองการปกครองของลาวและบ้านเมืองชาวลาวในภาคอีสาน เกิดความสัมพันธ์เครือญาติระหว่างชาวลาวและชาวไทยอีสานแถบลุ่มน้ำมูล เป็นเหตุให้วัฒนธรรมลาวไหลบ่าเข้าสู่ภาคอีสานตอนล่าง ประชาชนในภาคอีสานได้มีโอกาสเรียนรู้ภาษาลาวผ่านการฟัง พูด อ่าน เขียน ให้ความสำคัญกับประเพณีสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ ของลาวเข้ามายึดถือเป็นวัฒนธรรมร่วมระหว่างกัน

กลุ่มชาติพันธุ์กูยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ คาดว่าอพยพเข้ามาอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2199-2231 ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยชาวกูยกลุ่มนี้เดินทางข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมาจากแขวงอัตตะปือแสนปาง จำปาศักดิ์ และสาละวันในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปัจจุบันชาวกูยมีการพัฒนาปรับตัวให้กลมกลืนกับชาวเขมรและชาวลาวจนไม่สามารถแยกออกได้ ทั้งนี้ก็เพื่อดำรงไว้ซึ่งสถานภาพความเป็นชาติพันธุ์กูย แม้ว่าสภาวการณ์การต่อรองทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวกูยอาจเรียกได้ว่าอยู่ในขั้นวิกฤตเมื่อเทียบกับชาวลาวและชาวเขมร

ชาวมุสลิมกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตเทศบาลตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ คือ กลุ่มมุสลิมเชื้อสายปาทาน นำโดยนายอันตรทาน ปทาน หรือ อาสรัตคาน ซึ่งอพยพมาจากหมู่บ้านแถบชายแดนปากีสถาน-อัฟกานิสถานในปัจจุบัน นายอาสรัตคานเข้ามาอยู่ในอำเภอศีขรภูมิในช่วงที่มีการสร้างทางรถไปสายอีสานใต้ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2468 โดยเริ่มแรกนั้นมีจุดประสงค์เพื่อตามหาน้องชายที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยก่อนหน้านี้ และเพื่อมาแสวงหาโชคในการทำมาหากินเช่นเดียวกับมุสลิมเชื้อสายปาทานคนอื่น ๆ เนื่องจากในขณะนั้นประเทศบ้านเกิดกำลังตกอยู่ในสภาวะสงคราม กอปรกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศถูกจัดว่ายากจน ทำให้เกิดความยากลำบากในการประกอบอาชีพ จึงต้องแสวงหาหนทางในการประกอบอาชีพใหม่ นอกจากมุสลิมเชื้อสายปาทานแล้ว ยังมีชาวมุสลิมกลุ่มอื่น ๆ ที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลตำบลระแงงในปัจจุบัน อาทิ มุสลิมเชื้อสายมลายูจากภาคใต้และภาคกลาง มุสลิมเชื้อสายเบงกาลีจากประเทศพม่า และมุสลิมมุอัลลัฟที่เป็นชาวท้องถิ่นเดิม เช่น ชาวเขมร ชาวกูย ชาวลาว ที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามในภายหลังโดยเหตุผลจากการแต่งงานกับชาวมุสลิม หรือศึกษาคัมภีร์อัลกุรอานจนเกิดความศรัทธา

นอกจากชาวกูย ชาวเขมร ลาว และมุสลิม ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เทศบาลตำบลระแงงยังปรากฏการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวญวน (เวียดนาม) และชาวจีนซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่มีบทบาทอย่างมากต่อการค้าและเศรษฐกิจของเทศบาลตำบลระแงง ชาวญวนเริ่มแรกเข้ามาประกอบอาชีพพ่อค้าเร่ นำสินค้าที่ซื้อจากอีสานตอนล่างไปขายในเขมรที่เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสในขณะนั้น ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวญวนเริ่มสร้างที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งมั่นคงเพื่อเปิดกิจการค้าขาย อีกทั้งยังมีบทบาทเป็นช่างหล่อพระพุทธรูปส่งขายให้แก่ชุมชนชาวกูย ระยะหลังรัฐไทยมีนโยบายส่งคนญวนกลับประเทศ ทว่ายังมีคนญวนบางส่วนที่เกิดในเมืองไทยยังคงดำเนินกิจการประกอบอาชีพค้าขายในไทยอยู่ เช่นเดียวกับชาวจีน จากหลักฐานและคำบอกเล่าพบว่าชาวจีนอพยพเข้ามาในพื้นที่ก่อนการเปิดเส้นทางการเดินรถไฟสายอีสาน แรกเริ่มชาวจีนทำการค้าขายด้วยวิธีการหาบเร่ ยังไม่ได้ตั้งถิ่นฐานเพื่อทำการค้าอย่างถาวร แต่ภายหลังทางรถไปสายอีสานสร้างเสร็จและเปิดให้ประชาชนใช้บริการในปี พ.ศ. 2469 ชาวจีนได้ตั้งร้านค้าทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อสินค้าจากชาวบ้านส่งเข้าไปขายยังกรุงเทพ

แผนที่และสภาพแวดล้อมชุมชน

ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม บางส่วนเป็นที่ดอน และป่าโปร่ง สภาพป่าแห้งแล้งขาดความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากถูกทำลายจากการบุกรุกพื้นที่ป่าและอัคคีภัย อาณาบริเวณบางส่วนอยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ และสำนักงานปฏิรูปที่ดิน ลักษณะของดินส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวปนทราย และดินร่วน มีภูมิอากาศแบบลมมรสุม 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนายน ฤดูฝน เดือนกรกฎาคม-ตุลาคม และฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์

เทศบาลตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ มีสถานที่สำคัญหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ศาสนพิธี และแหล่งโบราณสถาน อาทิ ปราสาทศีขรภูมิ วัดระแงง มัสยิดนูรุ้ลอีมาน คริสตจักรสันติสุขศีขรภูมิ ศาลเจ้าพ่ออำเภอศีขรภูมิ และอนุสาวรีย์หลวงไชยสุริยง

ปราสาทศีขรภูมิ

ปราสาทศีขรภูมิ หรือปราสาทระแงง ปราสาทหินที่มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างขอมแบบบาปวนกับนครวัด สร้างขึ้นเพื่อบูชาพระศิวะของศาสนาฮินดู เป็นศาสนสถานในลัทธิไศวนิกาย สันนิษฐานว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 17 ประกอบด้วยปรางอิฐ 5 องค์ เป็นปรางค์ไม่มีมุข ปราสาทก่ออิฐไม่สอปูน ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน ล้อมรอบด้วยคูน้ำ 3 ด้าน เว้นทิศตะวันออกไว้เป็นทางเข้า ทับหลังเป็นภาพพระศิวนาฏราชสิบกรทรงฟ้อนรำอยู่เหนือเกียรติมุขภายใต้วงโค้งลายท่อนมาลัย ซึ่งสลักเป็นภาพพระคเณศ พระพรหมสี่พักตร์ พระนารายณ์สี่กร และพระอุมา บริเวณเสากรอบประตูสลักเป็นรูปนางอัปราถือดอกบัว และทวารบาลยืนกุมกระบอง ซึ่งนางอัปสราที่ปราสาทศีขรภูมิหลังนี้มีลักษณะคล้ายกับนางอัปสราที่ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา ปราสาทศีขรภูมิหลังนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นปราสาทที่งดงามที่สุดในจังหวัดสุรินทร์

วัดระแงง

วัดระแงง หรือวัดบ้านระแงง เป็นวัดเก่าแก่ประจำตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ มีอายุกว่า 130 ปี แรกเริ่มนั้นมีชาวบ้านจากบ้านหนองขวาวอพยพมาสร้างบ้านเรือนบริเวณดอนป่าติ้ว แล้วตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านระแงง” ตามลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ที่เป็นป่าติ้ว (ระแงง เป็นภาษากูย แปลว่า ต้นติ้ว) เมื่อถึงเวลาทำบุญชาวบ้านจะเดินทางไปทำบุญที่วัดบ้านหนองขวาว เนื่องจากบ้านระแงงไม่มีวัด แต่ผ่านไปนานปีชาวบ้านเริ่มมีความรู้สึกว่าการเดินทางไปทำบุญที่วัดบ้านหนองขวาวนั้นไม่สะดวกนัก จึงได้จัดสรรที่ดินสร้างวัดบ้านระแงงขึ้นในปี พ.ศ. 2433 เพื่อเป็นศาสนสถานประจำชุมชนบ้านระแงงนับแต่นั้นเป็นต้นมา

มัสยิดนูรุ้ลอีมาน

“นูรุ้ลอีมาน” มาจากภาษาอาหรับ “นูร” แปลว่า “รัศมี” กับคำว่า “อีมาน” แปลว่า “ศรัทธา” ฉะนั้นมัสยิดแห่งนี้จึงมีความหมายว่า “รัศมีแห่งพลังศรัทธา” ปัจจุบันมัสยิดนูรุ้ลอีมานเป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรม และศูนย์รวมแห่งพลังศรัทธาของชาวมุสลิมในจังหวัดสุรินทร์ โดยเฉพาะชาวมุสลิมเทศบาลตำบลระแงง รวมทั้งชาวมุสลิมในจังหวัดใกล้เคียง เช่น บุรีรัมย์ ศรีษะเกษ และอุบลราชธานี นอกจากนี้ยังเป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามให้กับเยาวชนมุสลิมในพื้นที่ชุมชนเทศบาลตำบลระแงง และเป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมค่ายเยาวชน เช่น ค่ายอบรมเยาวชนมุสลิมฤดูร้อน เป็นต้น

คริสตจักรสันติสุขศีขรภูมิ

ตริสตจักรสันติสุขศีขรภูมิ เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและพบปะสังสรรค์ของชาวคริสต์ในเทศบาลตำบลระแงง

ศาลเจ้าพ่อ อำเภอศีขรภูมิ

ศาลเจ้าพ่อ อำเภอศีขรภูมิ ตั้งอยู่ติดกับมัสยิดนูรุ้ลอีมาน เป็นสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมการไหว้เจ้าของคนศีขรภูมิที่มีเชื้อสายจีน และมีเทศกาลการฉลองสมโภชศาลเจ้าในช่วงเดือนพฤศจิกายน ณ หลังสถานีรถไฟ อำเภอศีขรภูมิเป็นประจำทุกปี

อนุสาวรีย์หลวงไชยสุริยง เจ้าเมืองศีขรภูมิ

อนุสาวรีย์หลวงไชยสุริยง สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานสักการะแด่หลวงไชยสุริยง หรือเชียงไชย เจ้าเมืองคนแรกผู้วางรากฐานการปกครองและพัฒนาเมืองศีขรภูมิ

ประชากร ระบบเครือญาติ และชาติพันธุ์

ข้อมูลจากเทศบาลตำบลระแงงเมื่อปี พ.ศ. 2564 ระบุจำนวนประชากรโดยอิงสถิติจากประชากรที่มีรายชื่อปรากฏในทะเบียนบ้านในเขตเทศบาลตำบลระแงง 5 หมู่บ้าน 8 ชุมชน ทั้งสิ้น 1,767 ครัวเรือน จำนวนประชากร 6,316 คน แยกเป็นประชากรชาย 3,144 คน และประชากรหญิง 3,172 คน เทศบาลตำบลระแงงเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันเป็นเวลานาน ประกอบด้วย ชาวมุสลิม ชาวกูย ชาวเขมร ชาวลาว ชาวญวน และชาวจีน ซึ่งสามารถจำแนกประชากรออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

  • กลุ่มที่ 1 ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่บริเวณบ้านปราสาท หมู่ที่ 1 ประกอบด้วยชุมชนบ้านตะเคียน ชุมชนบ้านตะวัน และชุมชนปราสาทเก่า ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาถิ่นในการติดต่อสื่อสาร
  • กลุ่มที่ 2 ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่บริเวณตลาดสด หมู่บ้านตลาดระแงง หมู่ที่ 2 ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวมุสลิม และชาวญวน ประกอบอาชีพค้าขาย ส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทย ภาษาญวน และภาษาจีนในการติดต่อสื่อสาร
  • กลุ่มที่ 3 ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่บริเวณหมู่บ้านระแงงเหนือ หมู่ที่ 3 หมู่บ้านระแงงใต้ หมู่ที่ 10 และหมู่บ้านตลาดระแงงเหนือ หมู่ที่ 13 ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ค้าขาย อุตสาหกรรมในครัวเรือน และรับจ้างทั่วไป ใช้ภาษาไทย เขมร ลาว และกูย ในการติดต่อสื่อสาร

กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในชุมชน: กูย, ขแมร์ลือ, จีน, เวียดนาม

โครงสร้างทางสังคม: องค์กรชุมชนและกลุ่มอาชีพ

ชาวเทศบาลตำบลระแงงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย โดยมีตลาดสดเทศบาลตำบลระแงงเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า สินค้าที่นิยมนำมาจำหน่ายเป็นพิเศษคืออาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารสำเร็จรูป อาหารสด หรืออาหารแห้ง เนื่องจากมีชาวบ้านรอบนอกเขตเทศบาลจำนวนมากนิยมเดินทางเข้ามาซื้ออาหารจากตลาดสดเทศบาลตำบลระแงงไปบริโภคและจำหน่ายในชุมชนของตน นอกจากอาชีพค้าขายแล้วซึ่งเป็นอาชีพหลักแล้ว ชาวเทศบาลตำบลระแงงยังมีการประกอบอาชีพรับราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างเอกชน เกษตรกร และรับจ้างทั่วไป นอกจากนี้ยังมีการทำอุตสาหกรรมขนาดย่อมในครัวเรือน ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อส่งออกจำหน่าย เช่น โรงผลิตกาละแม โรงผลิตน้ำแข็ง โรงสีข้าว โรงพิมพ์ โรงผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง โรงงานขนมจีบ โรงนึ่งปลาทู และอู่ซ่อมยานพาหนะและเครื่องมือทางการเกษตร เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่าสังคมอีสานที่ได้ชื่อว่าเป็นสังคมเกษตรกรรม ประชากรกว่าครึ่งในภาคอีสานประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพหลัก ทว่าประชากรเทศบาลตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ กลับไม่นิยมทำเกษตรกรรม แม้ว่าจะมีพื้นที่ราบลุ่มสำหรับทำการเกษตรเป็นจำนวนมาก อันมีสาเหตุจากที่ราบลุ่มนั้นแห้งแล้งไร้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งดินยังมีสภาพเป็นดินทรายไม่เหมาะกับการเพาะปลูก ส่งผลให้ประชากรต้องหาหนทางในการประกอบอาชีพอื่นเพื่อเลี้ยงชีพ

ในปี พ.ศ. 2547 ชาวเทศบาลตำบลระแงง ร่วมกับเขตอำเภอศีขรภูมิ ได้จัดตั้งกลุ่ม “ชมรมคนรักปราสาท” ทำหน้าที่เป็นองค์กรเคลื่อนไหวภาคประชาชนเกี่ยวกับงานด้านศิลปวัฒนธรรม โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ข้อ ได้แก่

  1. ทำนุบำรุงรักษาปราสาทร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ
  1. ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของกลุ่ม
  1. อนุรักษ์ พัฒนา ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
  1. ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

การจัดตั้งชมรมมีเจตนารมณ์อีกประการหนึ่ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการก่อตั้งชมรมคนรักปราสาทขึ้น คือ การรวมกลุ่มวัฒนธรรมต่างชาติพันธุ์ในเขตเทศบาลตำบลระแงง ให้หันมาพัฒนาชุมชนแห่งนี้ต่อไป ผลงานที่โดดเด่นและเป็นรูปธรรมของชมรม คือ การทวงคืนทับหลังที่สูญหาย 2 ชิ้น ของปราสาทศีขรภูมิกลับคืนมา นอกจากนี้ยังมี “ชมรมคนรักเพื่อน” หรือชมรมผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันดูแลโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือด ของสมาชิกภายในกลุ่ม

วิถีชีวิต: ปฏิทินชุมชนและชีวิตประจำวัน

เนื่องจากเทศบาลตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ และวัฒนธรรม ฉะนั้นแล้วจึงส่งผลให้ประชาชนในเทศบาลตำบลระแงงมีความหลากหลายทางศาสนา ทั้งศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม รวมถึงการนับถือเทพเจ้าต่าง ๆ ศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุด ได้แก่ ศาสนาพุทธ คิดเป็นร้อยละ 97 จากจำนวนประชากรในเทศบาลตำบลระแงง มีวัดปราสาท วัดใหม่ศรีวิหาร และวัดระแงง เป็นพุทธศาสนาสถานสำคัญ รองลงมาคือศาสนาอิสลาม มีมัสยิดนูรุ้ลอีมาน ซึ่งเป็นมัสยิดแห่งเดียวในจังหวัดสุรินทร์เป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ต่อมาคือศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ ตามลำดับ เสรีภาพในการนับถือศาสนาของชาวเทศบาลตำบลระแงง สะท้อนถึงลักษณะความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม สมาชิกในสังคมยอมรับซึ่งความแตกต่างของเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม และสามารถปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมในสังคมเดียวกันได้โดยปราศจากการแบ่งแยก

ทางด้านประเพณีวัฒนธรรมของชาวเทศบาลตำบลระแงง ในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีจะมีการจัดงานลอยกระทง และงานสืบสานตำนานพันปีปราสาทศีขรภูมิขึ้น ณ บริเวณองค์ปราสาท มีการจำลองวิถีชีวิตของชนพื้นเมือง 3 เผ่า ได้แก่ ชาวลาว เขมร และกูย อีกทั้งยังมีการจัดแสดงการละเล่นศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น โปงลาง เรือมอันเร รำศีขรภูมิ โจลละม๊วด แกลมอ การรับประทานอาหารแบบขันโตก และจัดแสดงนิทรรศการต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

ประวัติชีวิต: ปราชญ์ชาวบ้าน/ผู้นำ/บุคคลสำคัญของชุมชน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนชุมชน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษา

สังคมเทศบาลตำบลระแงงมีการใช้ภาษาที่หลากหลาย โดยแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์จะใช้ภาษาของตนเองในการสื่อสารกับคนจากกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน เช่น คนกูย พูดภาษากูย คนเขมร พูดภาษาเขมร คนลาว พูดภาษาลาว มุสลิมจากเมืองอารากัน พูดภาษาเบงกาลี มุสลิมจากเมืองย่างกุ้งและมะละแหม่ง จะพูดภาษาพม่า และมุสลิมจากภาคใต้ พูดภาษาใต้ เป็นต้น อนึ่งในเขตเทศบาลตำบลระแงงยังมีภาษากลางสำหรับใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างคนในชุมชนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ภาษาไทยกลาง ภาษาอีสาน และภาษาเขมรถิ่น หรือลาวศีขรภูมิ (ภาษาไทยกลาง แต่มีสำเนียงคล้ายลาวโคราช) ใช้อักษรไทยเป็นภาษาเขียน

สถานการณ์ การเปลี่ยนแปลง ความท้าทาย และการมีส่วนร่วม

ด้านวัฒนธรรม:

แม้ว่าประชาชนในพื้นที่เทศบาลตำบลระแงงจะไม่มีการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขภายใต้สภาพสังคมที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรมอันเข้มข้น ทว่าปัจจุบันเทศบาลตำบลระแงงกำลังประสบกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเป็นผลมาจากการลงเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่น มีการนำเอาชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และความเชื่อมาใช้เป็นเครื่องมือการต่อสู้ทางการเมือง

ความสูญหายทางภาษาเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เทศบาลตำบลระแงงกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากปัจจุบันครอบครัวไม่นิยมสอนบุตรหลานพูดภาษาชาติพันธุ์ แต่สอนให้พูดภาษาไทยกลางตั้งแต่เด็ก บางครั้งพ่อแม่พูดภาษาถิ่นด้วยกัน แต่เมื่อพูดคุยกับลูกจะใช้ภาษาไทยกลาง ถึงขั้นว่าเด็กรุ่นใหม่บางคนฟังภาษาถิ่นของตนเองไม่ออก หรือในกรณีของชาวกูยที่อดีตเคยพูดภาษากูย แต่ในปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนมาพูดภาษาเขมร ชาวกูยที่พูดภาษาเขมรเหล่านี้เรียกว่า “ส่วยเขมร”

ข้อมูลที่น่าสนใจอื่น ๆ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

จีระศักดิ์ โสะสัน. (2550). กระบวนการสร้างชุมชนมุสลิมในพหุสังคมอีสาน. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมวิทยาการพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

ปราสาทศีขรภูมิ. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://thai.tourismthailand.org [สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566].