การ กระทำ ข้อ ใด ตรง ตาม กฎ หรือ ข้อ ตกลง ระหว่าง ประเทศ

8.ข้อตกลงระหว่างประเทศ

8.1 ความหมายของข้อตกลงระหว่างประเทศ

ข้อตกลงระหว่างประเทศหรือสนธิสัญญามีความหมายตามที่ยอมรับทั่วไป ดังนี้

                1.เป็นความตกลงระหว่างรัฐหรือรัฐบาล หมายความว่า สนธิสัญญานั้นเกิดจากการเห็นพ้องต้องกัน โดยหากเป็นข้อตกลงของสองฝ่ายขึ้นไปจะเรียกว่า “ข้อตกลงพหุภาคี ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศข้อตกลงระหว่างประเทศจะทำเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้

                2.ทำขึ้นตามกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ใช่กฎหมายภายในประเทศของรัฐใดรัฐหนึ่ง

                3.มุ่งให้เกิดผลผูกพันหรือพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น ก่อให้เกิดพันธกรณีที่ต้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่กัน หรือต้องนำข้อพิพาทเสนอต่อองค์กรระหว่างประเทศเพื่อวินิจฉัย เป็นต้น

                โดยปกติการทำข้อตกลงระหว่างประเทศจะเริ่มจากการเจรจาระหว่างผู้แทนของรัฐที่ประสงค์จะทำการตกลงกัน เมื่อต่อรองกันจนบรรลุข้อตกลงแล้วอาจจะใช้เพียงการลงนามโดยผู้แทรรัฐเพ่อแสดงความยินยอมให้ข้อตกลงมีผลผูกพันกันโดยเร็ว หรือจะให้ใช้วิธีอื่นเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบเนื้อหาในข้อตกลงที่ผู้แทนไปทำไว้ก็ได้ เช่น การกำหนดเรื่องว่าจะต้องมีการให้สัตยาบัน การยอมรับหรือเห็นชอบข้อตกลง เป็นต้น

                ทั้งนี้การปฏิเสธความผูกพันระหว่างข้อตกลงระหว่างประเทศที่ทำลงไปหรือทำให้ผลผูกพันสิ้นสุดลง จะทำได้โดยการยกกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับความไม่สมบูรณ์ของข้อตกลงภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศขึ้นอ้าง เช่น ข้อตกลงที่ทำไปนั้นขัดกับกฎหมายเด็ดขาด ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่สามารถตกลงกันเปลี่ยนแปลงได้ ได้แก่ ห้ามตกลงเพื่อร่วมกันรุกรานรัฐอื่น ห้ามตกลงร่วมกันค้าทาส เช่นเดียวกับข้อตกลงซึ่งเกิดจากการใช้กำลำงอาวุธบีบบังคับให้รัฐต้องกระทำหรือบีบบังคับผู้แทนของรัฐให้เจรจา ย่อมจะไม่สมบูรณ์เช่นกัน

                ในกรณีที่ข้อตกลงระหว่างประเทศนั้นบกพร่องด้วยเหตุอันไม่ใช่สาระสำคัญ เช่น พิมพ์ผิดพลาด คู่กรณีอาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ สำหรับข้อตกลงที่สมบูรณ์ แต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามหรือมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องปฏิบัติตามข้อตกลง ก็ต้องเรียกร้องให้ปฏิบัติตามหรือเสนอเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาท เช่น การเสนอต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เป็นต้น

8.2 ความสำคัญของข้อตกลงระหว่างประเทศ

ข้อตกลงระหว่างประเทศเป้นประโยชน์และมีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่างๆอย่างหลากหลาย ดังนี้

                1.สามารถร่มกันสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ของกฎหมายให้ทันกับความต้องการได้ โดยไม่ต้องรอให้ใช้เวลาพัฒนาจนเกิดเป็นจารีตประเพณีเสียก่อน

                2.ทำให้เกิดการร่วมมือกันทำกิจกรรมต่างๆ ที่รัฐไม่สามารถทำตามลำพังได้ เช่น ร่วมกันจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ หรือในระดับภูมิภาค เช่น สมาคมอาเซียน เพื่อร่วมกันทำกิจกรรมระดับโลก

                3.ช่วยระงับข้อพิพาทที่มีต่อกัน โดยตกลงแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่อกัน หรือหากมีข้อขัดแย้งจนไม่สามารถตกลงกันได้ก็อาจร่วมกันแสวงหาทางระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี

                ข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ในความสนใจของรัฐส่วนใหญ่และเป็นที่ยอมรับปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางจะพัฒนามาเป็นกฎหมายสำคัญต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ กฎหมายแรงงานระหว่างประเทศ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เป็นต้น

                แม้ว่าข้อตกลงระหว่างประเทศจะเป็นเรื่องภายนอกประเทศ แต่ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาชนในประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อข้อตกลงมีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ย่อมต้องปฏิบัติตามไม่สามารถยกกฎหมายไทยไปแก้ตัวหรือปฏิเสธการปฏิบัติตามข้อตกลงได้

                ในกรณีของประเทศไทยได้มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 190 โดยให้สิทธิประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของข้อตกลงก่อนจะมีผลผูกพันกัน หากว่าข้อตกลงนั้นจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง

                กล่าวโดยสรุปได้ว่า การเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างมาก โดยประเทศเป็นประเทศหนึ่งที่ได้ร่วมลงนามรับรอง

 ปฏิญาณสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491(ค.ศ.1948) และนำมาวางเป็นฐานคิดในการตรากฎหมายและจัดทำรัฐธรรมนูญเสมอ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็ได้ให้ความคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างเป็นรูปธรรมและมีความชัดเจนมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ที่ผ่านมา

                แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและจะต้องได้รับการแก้ไขเช่นเดียวกัประเทศอื่นๆทั่วโลก ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่แก้ไขยาก

                ดังนั้น จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายในการช่วยกันแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน รัฐบาล การทำข้อตกลงระหว่างประเทศในประเด็นสิทธิมนุษยชน ตลอดจนความร่วมมือของประชาชนทุกคน ถึงจะสามารถทำให้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเบาบางลงได้

ระบอบการเมืองการปกครอง

1.ลักษณะการเมืองการปกครอง

                ประเทศต่างๆในโลกย่อมมีระบอบการเมืองการปกครองที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเชื่อว่าเหมาะสมและสอดคล้องกับความคิดความเชื่อ ประวัติศาสตร์ และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ หากปรากฏว่าระบอบการเมืองการปกครองที่ใช้อยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งไม่เหมาะสม หรือไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ดังกล่าว ก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง พัฒนา หรือปฏิรูประบอบการเมืองการปกครองให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนของประเทศมากที่สุด

                ระบอบการเมืองการปกครองที่ประเทศต่างๆในโลกใช้กันอยู่ในปัจจุบันมี 2 ระบอบ คือ ระบอบประชาธิปไตยและระบอบเผด็จการ แต่ถ้าหากจะกล่าวเชิงเปรียบเทียบก็สามารถกล่าวได้ว่าประเทศต่างๆในโลกนี้ ส่วนใหญ่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ก็อาจมีในบางประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ เช่น สหภาพพม่า เกาหลีเหนือ เป็นต้น

                ระบอบการเมืองการปกครองทั้ง 2 ระบอบ มีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้

1.1     ระบอบประชาธิปไตย

การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีลักษณะเด่นอยู่ที่การแข่งขันเสรีระหว่างกลุ่มหรือพรรค

การเมืองต่างๆ เพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนส่วนมากในประเทศให้เป็นรัฐบาลทำหน้าที่บริหารกิจการต่างๆ ของประเทศตามนโยบายที่กลุ่มหรือพรรคได้วางไว้ล่วงหน้า

                1.หลักการของระบอบประชาธิปไตยที่สำคัญ มีดังนี้

                1.อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ เป็นอำนาจที่มาจากปวงชนหรือที่เรียกกันว่า อำนาจของรัฐ (state power)”   โดยผู้ที่จะได้อำนาจปกครองจะต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ

                2.ประชาชนมีสิทธิที่จะมอบอำนาจปกครองให้แก่ประชาชนด้วยกันเองโดยการออกเสียงเลือกตั้งประชาชนกลุ่มหนึ่ง ที่อาสาจะมาเป็นผู้บริหารประเทศแทนประชาชนส่วนใหญ่ ตามระยะเวลาและวิธีการที่ได้กำหนดไว้อย่างเป็นทางการ เช่น กำหนดไว้ว่าทุก 4 ปี จะต้องมีการเลือกตั้งผู้แทนของประชาชนพร้อมกันทั่วประเทศ เป็นต้น

                3.รัฐบาลจะต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในชีวิต เสรีภาพในการพูด การเขียน การแสดงความคิดเห็น การรามกลุ่ม สิทธิในการสร้างครอบครัว เสรีภาพในการชุมนุม เป็นต้น

                โดยรัฐบาลจะต้องไม่ละเมิดสิทธิดังกล่าวข้างต้น เว้นแต่เพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวม เพื่อรักษาศีลธรรมอันดีงามของประชาชน หรือเพื่อสร้างสรรค์การเป็นธรรมแก่สังคมเท่านั้น

                4.ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสมอกันในการที่จะได้รับบริการทุกชนิดที่รัฐจัดให้แก่ประชาชน ฐานันดรหรือยศถาบรรดาศักดิ์ไม่ก่อให้เกิดอภิสิทธิ์หรือสิทธิพิเศษแก่บุคคลนั้นแต่อย่างใด

                5.รัฐบาลถือกฎหมายและความเป็นธรรมมาเป็นบรรทัดฐานในการปกครอง และในการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ภายในประเทศโดยรัฐบาลจะต้องไม่ออกกฎหมายที่มีผลเป็นการลงโทษบุคคลย้อนหลัง

                2.ระบอบประชาธิปไตย   แบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่น ไทย ญี่ปุ่น เป็นต้น   และระบอบประชาธิปไตยที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย เป็นต้น

                1.2 ระบอบเผด็จการ

                การเมืองการปกครองระบอบเผด็จการมีลักษณะเด่นอยู่ที่การรวมอำนาจในทางการเมืองการปกครองไว้ที่บุคคลเพียงคนเดียว คณะเดียว หรือพวกเดียว โดยบุคคล คณะบุคคล หรือดังกล่าวสารถใช้อำนาจนั้นควบคุมบังคับประชาชนได้โดยเด็ดขาด หากประชาชนคนใดคัดค้านผู้นำหรือคณะผู้นำ ก็จะถูกลงโทษด้วยมาตรการต่างๆ

                1.หลักการของระบอบเผด็จการ   จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น อาจสรุปหลักการของระบอบเผด็จการพอสังเขปได้ ดังนี้

                1.ผู้นำคนเดียว หรือคณะผู้นำของกองทัพ หรือพรรคการเมืองเพียงกลุ่มเดียว มีอำนาจสูงสุดในการปกครองและสามารถใช้อำนาจนั้นได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องฟังเสียงของคนส่วนใหญ่ในประเทศ

                2.การรักษาความมั่นคงของผู้นำหรือคณะผู้นำสำคัญกว่าการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ประชาชนไม่สามารถจะวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของผู้นำอย่างเปิดเผยได้

                3.ผู้นำหรือคณะผู้นำสามารถที่จะอยู่ในอำนาจได้ตลอดชีวิต หรือนานเท่าที่กลุ่มผู้ร่วมงานหรือกองทัพยังให้การสนับสนุน ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิที่จะเปลี่ยนผู้นำได้

                4.รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญและรัฐสภา ไม่มีความสำคัญต่อกระบวนการทางการปกครองเหมือนในระบอบประชาธิปไตยกล่าวคือ รัฐธรรมนูญเป็นเพียงแค่รากฐานอำนาจของผู้นำหรือคณะผู้นำเท่านั้น

                การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนที่จัดขึ้นก็เพื่อให้ประชาชนออกเสียงเลือกตั้งผู้สมัครที่ผู้นำหรือคณะผู้นำส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น ในทำนองเดียวกันรัฐสภาก็จะประชุมกันปีละ 5-10 วัน เพื่อรับทราบและยืนยันให้ผู้นำหรือคณะผู้นำทำการปกครองต่อไปตามที่ผู้นำหรือคณะผู้นำเห็นสมควร

                2.รูปแบบของระบอบเผด็จการ มี 3 แบบ คือ เผด็จการทหาร เผด็จการฟาสซิสต์ และเผด็จการคอมมิวนิสต์ สามารถจะอธิบายพอสังเขปได้ ดังนี้

                2.1 ระบอบเผด็จการทหาร  หมายถึง ระบอบเผด็จการที่คณะผู้นำฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจเผด็จการในการปกครองโดยตรงหรือโดยอ้อม (ผ่านทางพลเรือนที่พวกตนสนับสนุน)  และมักจะใช้กฎอัยการศึกหรือรัฐธรรมนูญที่คณะของตนสร้างขึ้นเป็นเครื่องมือในการปกครอง

โดยทั่วไปคณะผู้นำทหารมักอ้างว่าจะใช้อำนาจปกครองประเทศเป็นการชั่วคราว แต่หลังจากนั้นมักไม่ยอมคืนอำนาจกลับมาให้ประชาชนโดยง่าย แต่เมื่อเวลาผ่านไปกระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชนรวมกับแรงกดดันนานาชาติก็จะทำให้คณะผู้นำทางทหารกุมอำนาจการปกครองดังกล่าวไว้ไม่ได้ ในที่สุดจึงจำเป็นต้องคืนอำนาจให้กับประชาชน แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ในบางประเทศก็เกิดความวุ่นวาย เกิดการต่อสู้ระหว่างกำลังของประชาชนกับกำลังของรัฐบาลเผด็จการทหารจนนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของทั้งสองฝ่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากประวัติศาสตร์การเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการปกครองที่ผ่านมา มักจะจบลงด้วยชัยชนะชองฝ่ายประชาชนเสมอ

ตัวอย่างการปกครองแบเผด็จการทหาร เช่น การปกครองของญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นระยะที่พลเอกโตโจและคณะนายทหารใช้อำนาจเผด็จการในการปกครองหรือการปกครองของไทยช่วงที่ไม่มีรัฐธรรมนูญระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ถึงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 อำนาจการปกครองได้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะปฏิวัติ นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์ และจอมพลถนอม กิตติขจร

ประเทศที่มีการปกครองระบอบเผด็จการทหาร เช่น สหภาพพม่า ซึ่งมีสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ( The State Peace and Development Council : SPDC) ที่มาจากคณะนายทหารทำหน้าที่บริหารประเทศ เป็นต้น

2.2 ระบอบเผด็จการฟาสซิสต์   หมายถึง   ระบอบการปกครองที่เน้นความสำคัญของผู้นำว่ามีอำนาจเหนือประชาชนทั่วไป

ผู้นำในระบอบการปกครองเผด็จการฟาสซิสต์มักจะมีความเชื่อในลัทธิการเมืองที่เรียกว่า ลัทธิฟาสซิสต์ เป็นลัทธิชี้นำในการปกครองและมุ่งที่จะใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศเป็นการถาวร โดยเชื่อว่าระบอบการปกครองแบบนี้เหมาะสมกับประเทศของตน และจะช่วยให้ประเทศของตนมีความเจริญก้าวหน้าโดยเร็ว

ตัวอย่างของการปกครองในระบอบนี้ เช่น การปกครองของอิตาลิในสมัยเบนิโตมุสโสลินี ( Benito Mussolini ) ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2465-2481 การปกครองของเยอรมนี สมัยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf  Hitler) ระหว่างปี พ.ศ. 2476-2488 ในระบอบนาซี(Nazi Regin) ซึ่งถือว่าเป็นระบอบฟาสซิสต์ เช่นเดียวกัน

2.3 ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์    หมายถึง   ระบอบเผด็จการที่มีเพียงพรรคคอมมิวนิสต์เพียงพรรคเดียวได้รับการยอมรับหรือสนับสนุนจากบุคคลต่างๆ และกองทัพให้เป็นผู้ใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศ

ผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์เชื่อว่าระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์เป็นรูปแบบการปกครองที่เหมาสมกับประเทศของตนและจะช่วยทำให้ชนชั้นกรมาชีพเป็นอิสระจากการถูกกดขี่โดยชนชั้นนายทุน รวมทั้งทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับต่างประเทศคนยากจนไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบกับนายทุน โดยประเทศที่มีการปกครองระบอบนี้ เช่น สหภาพโซเวียตในอดีต เป็นต้น

ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์มีความแตกต่างจากระบอบเผด็จการทหารในบางประการ เช่น ระบอบเผด็จการทหารจะควบคุมเฉพาะกิจกรรมทางการเมืองของประชาชนเท่านั้น แต่ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์จะใช้อำนาจเผด็จการควบคุมกิจกรรมแลการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การปกครอง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม ด้วยเหตุนี้นักรัฐศาสตร์จึงเรียกระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ว่า ระบอบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแต่ละประเทศเล็งเห็นว่าทั้งระบอบประชาธิปไตย และระบอบเผด็จการต่างก็มีข้อดีและข้อจำกัดในตัวเอง บางประเทศจึงมีการปฏิรูปแนวทางการเมืองการปกครองบางด้านให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม บริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งเพื่อให้สามารถแข่งกับนานาประเทศได้ ตัวอย่างเช่น สาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่เป็นแบบฉบับของตนเอง คือ รัฐบาลยังคุมเข้มด้านสิทธิและเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน แต่ทางด้านเศรษฐกิจรัฐบาลจีนกลับเปิดกว้างให้มีการแข่งขันทางการผลิต การค้า และการลงทุนได้อย่างเสรี

2.รูปแบบของรัฐ  

รูปแบบของรัฐแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

                1.เอกรัฐหรือรัฐเดี่ยว ( Unitary State or Single State) หมายถึง รัฐที่มีรัฐบาลกลางเพียงรัฐเดียวใช้อำนาจอธิปไตยปกครองดินแดนทั้งหมด อาจมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นได้บริหารกิจการของท้องถิ่นได้ตามที่รัฐบาลเห็นสมควร ประเทศที่มีรูปแบบของรัฐเดี่ยว เช่น ราชอาณาจักรสเปน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐสิงคโปร์  ราชอาณาจักรไทย เป็นต้น

                ผลดีที่เกิดจากการปกครองรูปแบบนี้ คือ มีความเป็นเอกภาพสูง มีความเป็นปึกแผ่น มั่นคงและประหยัดงบประมาณในการปกครองประเทศ

2.สหพันธรัฐหรือรัฐรวม ( Federal State or Dual State) หมายถึง รัฐที่มีรัฐบาลสองระดับ คือ รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละมลรัฐ รัฐบาลแต่ละระดับจะใช้อำนาจอธิปไตยปกครองตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยทั่วไปรัฐบาลกลางของสหพันธรัฐมักจะเป็นผู้ใช้อำนาจในกิจการที่เกี่ยวข้องหรือกระทบกระเทือนต่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติ เช่น การทหาร การต่างประเทศ การคลัง เป็นต้น

                สำหรับรัฐบาลของท้องถิ่นจะมีอำนาจในกิจการที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นของตนโดยเฉพาะ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข การไฟฟ้า การรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นต้น ประเทศที่มีรูปแบบของรัฐในลักษณะดังกล่าวนี้ เช่น สหรัฐอมริกา สหพันธรัฐรัสเซีย มาเลเซีย เป็นต้น

                ผลดีจากการปกครองรูปแบบนี้ คือ ทำให้การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างทั่วถึง สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งลดภาระของรัฐบาลกลางในระดับท้องถิ่นลงทำให้สามารถดำเนินการเพื่อรักษาเอกราชและความเจริญก้าวหน้าของประเทศได้มากยิ่งขึ้น

                สำหรับประเทศไทยมีรูปแบบการปกครองแบบเอกรัฐหรือรัฐเดี่ยว โดยได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ รวมถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติไว้ในหมวด 1 บททั่วไป มาตรา 1 ว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ และในหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 77 ว่า รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยจำเป็นและเพียงพอ เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตยความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ