สมัครงานโรงงานยาคูลท์ อยุธยา

ปี 2564 นี้มีข่าว “ยาคูลท์ปรับตัวเปิดขายออนไลน์” แม้เปลี่ยนวิธีสั่งซื้อผ่านออนไลน์ แต่ขั้นตอนการเตรียมสินค้า และจัดส่งก็ยังคงผ่าน “สาวยาคูลท์” อยู่ดี อาชีพนี้อยู่คู่คนไทยมากว่า 53 ปี มีสวัสดิการรักษาพยาบาลและส่งลูกเรียนจบ ป.ตรี ถือว่ามั่นคงสำหรับลูกผู้หญิงทีเดียว

หลายคนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสาวยาคูลท์ ไม่ว่าจะเป็น "ตามหาพวกเธอได้จากที่ไหน?" "ทำไมไม่มีหนุ่มยาคูลท์บ้าง?" "อยากเป็นสาวยาคูลท์ต้องทำอย่างไร?" ไทยรัฐออนไลน์จึงสอบถามไปยังยาคูลท์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน

สาวยาคูลท์ เงินเดือนเท่าไหร่

  •  สาวยาคูลท์เงินเดือน 15,000 บาท โบนัสทุก 6 เดือน จริงหรือไม่?

หากคุณเคยได้ยิน หรือ อ่านจากกระทู้ต่างๆ ว่าสาวยาคูลท์มีเงินเดือน 15,000 บาท นั้นเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องทีเดียว สาวยาคูลท์เป็นตัวแทนขาย มีรายได้เป็นค่าคอมมิชชันต่อขวด จึงควรกล่าวว่า รายได้ขั้นต่ำต่อเดือน ราวๆ 20,000 บาท ขึ้นอยู่กับยอดขายต่อจำนวนลูกค้าต่อพื้นที่ ส่วนโบนัสที่มีทุก 6 เดือน เป็นการคำนวณจากส่วนลด จากเปอร์เซ็นต์ยอดขายที่ทบกันมา แล้วจ่ายทุก 6 เดือน

“สาวยาคูลท์” จะแบ่งเขตพื้นที่จัดส่งในทั่วประเทศ ปัจจุบันมีสาวยาคูลท์กว่า 4,000 คน สินค้าของยาคูลท์ ก็คือ “ยาคูลท์” ขวดขนาด 80 มิลลิลิตร ล่าสุดมีผลิตภัณฑ์ “ยาคูลท์ไลท์” ตัวขวดสีเขียว ต่างกันที่ปริมาณน้ำตาลน้อยกว่า แต่มีจุลินทรีย์ตัวเดียวกัน

ทำไมสาวยาคูลท์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของสโลแกน Yakult

อย่างที่ทราบว่ายาคูลท์ (Yakult) เป็นผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่น แต่ในประเทศไทยใช้สโลแกนว่า “อยากรู้เรื่องยาคูลท์...ถามสาวยาคูลท์ดูสิคะ” เพราะถ่ายทอดองค์ความรู้แก่สาวยาคูลท์ เพื่อใช้พูดคุยกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น เรื่องชนิดจุลินทรีย์ เรื่องวิธีการดื่ม คุณสมบัติและคุณประโยชน์ต่อลำไส้ และอีกหลายๆ เรื่องที่สาวยาคูลท์ต้องรู้

เมื่อย้อนเวลาไป 50 กว่าปีนี้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องพึ่งพาการตลาดสื่อโทรทัศน์ หรือสื่อ Social Media เพราะข้อมูลผลิตภัณฑ์ยาคูลท์นั้น “สาวยาคูลท์” ที่มีอยู่กว่า 4,000 คน กระจายข้อมูลไปในกลุ่มลูกค้าเขตพื้นที่ของตัวเอง

แน่นอนว่าเขตกรุงเทพมหานคร ย่อมมีสัดส่วนสาวยาคูลท์มากกว่าจังหวัดอื่นๆ เพราะจำนวนความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ เป็นความท้าทายของงาน “สาวยาคูลท์” โดย 1 วัน สาวยาคูลท์ต้องพบกับลูกค้ากว่า 1,000 คน ยอดขายขึ้นอยู่กับอัธยาศัย และการจัดการของแต่ละคน บนถนนหนึ่งมีตึกออฟฟิศขึ้นถี่หน่อย ก็เดินไม่ทันส่ง จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมสาวยาคูลท์ยุคใหม่ถึงใช้รถมอเตอร์ไซค์ และเปลี่ยนรองเท้าบ่อย

สวัสดิการ “สาวยาคูลท์” ค่ารักษาพยาบาล และ ทุนการศึกษาบุตร

  • สาวยาคูลท์ได้โบนัสและท่องเที่ยวต่างประเทศ จริงหรือไม่?

อย่างที่กล่าวข้างต้นว่า “โบนัสของสาวยาคูลท์” ไม่ได้คิดเหมือนกับโบนัสของพนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป ที่ประเมินผลงานแล้วจ่ายเป็นจำนวนเท่าของเงินเดือน แต่โบนัสของสาวยาคูลท์คิดในลักษณะส่วนลดจากยอดขาย

ถัดมาก็คือ ทริปท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งมีทริปท่องเที่ยวญี่ปุ่น และอื่นๆ ตามความเหมาะสม แต่สวัสดิการหลักของสาวยาคูลท์ที่มีมากกว่า 50 ปี แล้ว คือ

1. ประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ ทั้งของตัวเองและบุตร
2. ทุนการศึกษาบุตรระดับอุดมศึกษา
แม้ว่า “สาวยาคูลท์” จะไม่ได้รับสวัสดิการประกันสังคม แต่สวัสดิการที่ได้คือค่ารักษาพยาบาล ของตนเอง และบุตร รวมถึง ทุนการศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่บุตร แต่เงื่อนไขก็คือ ต้องเป็นการสอบเข้า มหาวิทยาลัยรัฐ ได้รับเป็นค่าหน่วยกิต และค่าช่วยเหลือต่อเดือนอื่นๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งถือเป็นสวัสดิการที่สร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวสาวยาคูลท์อย่างประเมินค่าไม่ได้

ทำไม “สาวยาคูลท์” มีแต่ผู้หญิง สมัครที่ไหน และทำไมรับอายุไม่เกิน 35 ปี

ย้อนไปในอดีต คุณประพันธ์ เหตระกูล ผู้ก่อตั้งบริษัทยาคูลท์ประเทศไทย เคยลงมาทำงานเป็นคนส่งยาคูลท์ด้วยตัวเอง ดังนั้นเซลล์ยาคูลท์จึงไม่ได้มีแต่ผู้หญิงมาตั้งแต่แรก

การลงพื้นที่หาลูกค้า ทำให้ผู้ก่อตั้งได้เห็นมุมมอง นำมาสร้างโมเดลสาวยาคูลท์ในประเทศไทย ทั้งเรื่องการตอบคำถามด้านสุขภาพ และชุดเครื่องแบบของสาวยาคูลท์ที่ส่งเสริมให้สาวๆ ทำงานได้คล่องตัว

เครื่องแบบของสาวยาคูลท์ เป็นสีของขวดยาคูลท์ และใช้ยูนิฟอร์มนี้มาตั้งแต่ต้น เป็นเสื้อแขนยาว และกางเกงสีน้ำตาล และหมวกที่ใช้บังแดด

ยาคูลท์ไม่ได้ปิดกั้นเรื่อง เพศ อายุ หากมีอายุ 35 ปี บวกลบได้ไม่มาก ยังพร้อมเรียนรู้งาน ก็สมัครเป็นสาวยาคูลท์ได้ เหตุผลที่ระบุไว้ที่ 35 ปี เพราะเป็นช่วงอายุที่เหมาะแก่การเรียนรู้งาน และมีความรับผิดชอบที่ตั้งใจจริง ส่วนคำถามที่ว่า “ทำไมสาวยาคูลท์มีแต่ผู้หญิง” ก็เพราะผู้หญิงไทยมีอัธยาศัยดี รักในงานบริการ อดทนต่อลูกค้าหน้างาน เพศชายที่สมัครเข้ามาก็มักทำงานส่วนการจัดการในศูนย์จังหวัดต่างๆ หรือแม้กระทั่ง LGBT ก็มีอยู่ตามส่วนงานต่างๆ แต่อาจจะไม่ได้พบในภาพสาวยาคูลท์เท่านั้นเอง

การสมัครเป็น “สาวยาคูลท์” ทำได้หลายทาง ผ่านทาง social ต่างๆ
ทั้งใน web site, facebook ของยาคูลท์ ทางโทรศัพท์ หรือผ่านเพื่อนสาวยาคูลท์ด้วยกัน และเมื่อมากรอกใบสมัครที่สำนักงานจังหวัดต่างๆ ในบริเวณ กทม. และใกล้เคียง ก็จะต้องมาอบรมที่สำนักงานใหญ่ อาคารยาคูลท์ BTS สนามเป้า ใกล้อนุสาวรีย์ชัยฯ

เกณฑ์คุณสมบัติการสมัครเป็น “สาวยาคูลท์”

บนหน้าเว็บไซต์ยาคูลท์ เขียนเงื่อนไขคุณสมบัติสาวยาคูลท์ไว้ว่า

- อายุ 19 - 35 ปี
- วุฒิการศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 3 ขึ้นไป
- มีมอเตอร์ไซค์ (หากว่าอยู่ในเขตที่ต้องใช้มอเตอร์ไซค์)
- ต้องผ่านการอบรมเป็นสาวยาคูลท์
- มีรายได้ระหว่างการอบรมและต้องฝึกงานเป็นสาวยาคูลท์

ยาคูลท์ชี้แจงกับไทยรัฐออนไลน์ว่า “การสมัครเป็นสาวยาคูลท์นั้น แทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียว แม้ว่าค่ารถที่เดินทางมาอบรมสำนักงานใหญ่ ทางบริษัทก็ออกให้ รวมถึงเบี้ยเลี้ยงระหว่างอบรมก็มีให้ เมื่ออบรมผ่านบริษัทก็มอบชุดเครื่องแบบให้ มีเพียงอย่างเดียวที่ต้องซื้อคือรองเท้า”

ฟังดูเหมือนง่าย แต่ก็มีสาวๆ ที่ไม่ผ่านขั้นตอนการอบรม

“สาวยาคูลท์ เป็นอาชีพที่มั่นคง และน่าภาคภูมิใจ เป็นความตั้งใจของผู้ก่อตั้ง คือ คุณประพันธ์ เหตระกูล ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิงไทย กฎบริษัทข้อหนึ่งคือ สาวยาคูลท์ไม่ต้องทำงานวันอาทิตย์ เพราะอยากให้ผู้หญิงมีช่วงเวลาคุณภาพกับครอบครัว”  

“เมื่อสมัครมาเป็นสาวยาคูลท์ ต้องมาอบรมที่สำนักงานใหญ่อย่างเดียว แต่ไม่ใช่ว่าจะผ่านทุกคน บางคนบอกว่าต้องจำชื่อจุลินทรีย์ จำไม่ได้ ก็ไปต่อไม่ไหว”

ผู้เขียนเคยได้ยินจากผู้ใหญ่รุ่นก่อนว่า ถ้าใครได้เป็นสาวยาคูลท์แล้วแทบจะไม่ลาออกกันทีเดียว ทำกันไปจนกว่าจะทำไม่ไหว ยาคูลท์บอกว่าข้อมูลนี้เป็นความจริง

“สาวยาคูลท์ยุคนี้ ต้องเรียกว่า ‘ป้ายาคูลท์’ ก็มี เพราะบางคนอายุ 60 กว่าแล้วก็ทำอยู่ แต่บริษัทก็ดูแลตรวจสอบสุขภาพของทุกคน เพราะเป็นอาชีพของเขา เขามีความสุขที่จะทำ

เมื่อเข้ามาเป็น "สาวยาคูลท์" แล้วเปอร์เซ็นต์ที่จะลาออกมีน้อยมาก มักจะเป็นเรื่องย้ายบ้าน ย้ายที่อยู่”

คุณสมบัติที่เพิ่มเติมมาตามยุคสมัย คือ “สาวยาคูลท์ต้องขับรถมอเตอร์ไซค์ได้มีใบขับขี่ เพราะตามกฎหมายความปลอดภัย ผู้ขับรถต้องมีใบขับขี่”

ทำไมไม่มี “ยาคูลท์” ขายตามร้านสะดวกซื้อ หรือ ในห้างสรรพสินค้า

เนื่องจากข้อจำกัดของการผลิต ปัจจุบันยาคูลท์ผลิตที่ศูนย์ใหญ่ที่วิภาวดี และที่พระนครศรีอยุธยา จำนวนการผลิตต่อวัน ยังไม่พอให้สาวยาคูลท์ขาย ที่เราเห็นร้านของชำขายนั้นคือเขารับจากสาวยาคูลท์มาอีกทีหนึ่ง

ยาคูลท์ช่วยเหลือสาวยาคูลท์ให้ผ่านวิกฤติโควิด-19 อย่างไร

ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ทุกคนเผชิญ ยาคูลท์มีวิธีช่วยเหลือสาวยาคูลท์ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างไร ทางยาคูลท์เล่าว่า โควิดไม่ใช่วิกฤติแรกที่บริษัทเคยเจอ ก่อนหน้านี้ก็มีน้ำท่วม ภัยธรรมชาติอื่นๆ ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นแล้วก็จะผ่านไปได้ โดยยาคูลท์มีเงินชดเชยรายได้ให้กับพนักงานในเขตที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่สีแดง ส่งของไม่ได้ ในระดับที่เหมาะสมเทียบเท่ากับยอดขายที่เคยสร้างได้ต่อเดือน เพื่อไม่ให้ขาดรายได้ในการดูแลครอบครัว

สุดท้ายนี้สรุปได้ว่า จากคำร่ำลือของลูกค้าที่เดินตามสาวยาคูลท์ไม่ทัน จะต้องขับรถตาม เพราะพวกเธอเปลี่ยนจากจักรยานเป็นมอเตอร์ไซค์ มีลูกค้าที่ต้องเซอร์วิสจำนวนมากต่อวัน เมื่อมองเห็นดีมานต์คนต้องการยาคูลท์มากขนาดนี้ จึงมองเห็นทิศทางความมั่นคงในสายอาชีพ “สาวยาคูลท์” อาชีพของผู้หญิงตัวเล็กๆ เลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัว และส่งลูกเรียนจบปริญญา เป็นความภาคภูมิใจของลูกผู้หญิงคนหนึ่ง.