การสร้างความมั่นคง ในสมัยธนบุรี

การล่มสลายของอาณาจักรอยุธยา

กรุงศรีอยุธยาเป็นอาณาจักรของคนไทยเป็นระยะเวลายาวนาน 417 ปี (พ.ศ.1893-2310) พระมหากษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา คือ พระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 อาณาเขตของกรุงศรีอยุธยาแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางมากที่สุด ในรัชสมัยของพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.2133-2148) อาณาจักรกรุงศรีอยุธยามีความเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม การค้าขายและการเจริญไมตรีกับต่างประเทศ ในรัชสมัยของพระนารายณ์มหาราช(พ.ศ.2199-2231)

ความเสื่อมของอยุธยา

กรุงศรีอยุธยาเสียเอกราชให้แก่พม่า 2 ครั้ง ครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระมหินทราธิราชเมื่อพ.ศ.2112 และครั้งที่ 2 ในรัชสมัย สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) เมื่อ พ.ศ.2310

สาเหตุการเสื่อมอำนาจของกรุงศรีอยุธยา

* ความเสื่อมอำนาจทางการเมือง มีการแก่งแย่งชิงอำนาจใหม่ในหมู่ขุนนางข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์อยู่เนืองๆ มีการกำจัดศัตรูทางการเมือง ทำให้กำลังทหารถูกบั่นทอนความเข็มแข็งลงไปมาก

* ความอ่อนแอของพระมหากษัตริย์ พระเจ้าเอกทัศน์ทรงขาดความสามารถในด้านการเป็นผู้นำ กองทหารไม่ได้รับการฝึกฝนให้เตรียมพร้อมในการทำศึกสงคราม และมีปัญหาวินัยหย่อนยาน

* การที่ไทยว่างเว้นจากสงครามมาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความประมาทในการป้องกันพระราชอาณาจักร ขาดการฝึกปรือกำลังทัพและการวางแผนการยุทธที่ดี ทำให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพในการทำสงครามป้องกันพระนคร เมื่อพม่ายกกำลังมาล้อมกรุงศรีอยุธยาก่อนจะเสียกรุงใน พ.ศ.2310

* พม่าเปลี่ยนแผนยุทธศาสตร์ไปจากเดิม คือ ยกทัพกวาดต้อนผู้คน สะสมเสบียงอาหารลงมาจากหัวเมืองฝ่ายเหนือและขึ้นมาจากหัวเมืองฝ่ายใต้ ตัดขาดหัวเมืองรอบนอกมิให้ติดต่อและช่วยเหลือเขตราชธานีได้ และพร้อมที่จะรบตลอดทั้งปี โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลาก ซึ่งแผนยุทธศาสตร์นี้ต่างไปจากเดิมที่มักจะยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์และ เข้ามาทางเดียว และเมื่อถึงฤดูน้ำเหนือหลากลงมาท่วมก็ยกทัพกลับ ทำให้ไทยวางแผนการตั้งรับผิดพลาดหมด

* กรุงศรีอยุธยาถูกปิดล้อมทางเศรษฐกิจโดยกองทัพพม่า ทั้งจากทางเหนือและใต้ รวมทั้งต้องทำศึกระยะยาวนานนับปี ทำให้กรุงศรีอยุธยาเกิดขาดแคลนเสบียงอาหารอันนำไปสู่ความอ่อนแอต่อกำลังทัพ และผู้คนของไทย

ในขณะที่ไทยกับพม่ากำลังทำสงครามอยู่นั้น พระยาตากเกิดความท้อใจในการรบ เพราะขาดความคล่องตัวในการตัดสินใจ และสถานการณ์รบที่อยุธยาอยู่ในวิกฤตอย่างหนัก ถ้าหนีไปตั้งหนักที่อื่นก็อาจมีโอกาสกลับมากอบกู้สถานการณ์ได้ ดังนั้นพระยาตากจึงรวบรวมกำลังพลได้ประมาณ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมของพม่าไปเส้นทางตะวันออก

สาเหตุที่พระยาตากเลือกเส้นทางตะวันออก

* เส้นทางดังกล่าวปลอดจากการคุกคามของพม่า ทำให้ง่ายต่อการสะสมและรวบรวมทั้งผู้คน , อาวุธและเสบียงอาหาร

* สามารถค้าขายบริเวณหัวเมืองชายทะเลทั้งด้านอาหาร อาวุธ กับพ่อค้าชาวจีนได้

การทำสงครามขับไล่พม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา

หลังจากที่พระยาตากได้ตั้งตนเป็นใหญ่ที่ระยองและจันทบุรี และสะสมเสบียงอาหาร อาวุธ ผู้คนได้มากแล้ว จึงตัดสินใจยกทัพเรือจากจันทบุรีสู่อยุธยาเพื่อกอบกู้เอกราช โดยยกกองทัพเรือเข้ามาถึงสมุทรปราการ แล้ว พระยาตากนำกำลังกองทัพเรือเข้ายึดเมืองธนบุรี เมืองหน้าด่านที่พม่าให้นายทองอิน คนไทยรักษาอยู่ในเดือนพฤศจิกายน

พ.ศ.2310 ซึ่งได้รับชัยชนะโดยง่ายแล้ว พระยาตากก็ยกทัพตามโจมตีกองทัพพม่าไปจนถึงค่ายโพธิ์สามต้น ที่สุกี้พระนายกองของพม่ารักษาการณ์อยู่ และสามารถตีค่ายของพม่าแตก พร้อมทั้งขับไล่ทหารพม่าออกจากอยุธยาและยึดกรุงศรีอยุธยา คืนได้ภายในเดือนเดียวกัน รวมเวลาในการกอบกู้เอกราชเพียง 7 เดือน

พระยาตากปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์

เมื่อขับไล่พม่าออกไปจากกรุงศรีอยุธยาและกอบกู้เอกราชให้แก่คนไทยแล้ว พระยาตากได้เลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานี และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยไม่ทรงเลือกกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีหรือเมืองหลวง

เหตุผลที่ไม่เลือกกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

 * ความเสียหายย่อยยับจากสงคราม ยากแก่การบูรณะปฏิสังขรณ์

* มีอาณาเขตกว้างใหญ่เกินกำลังไพร่พลของพระเจ้ากรุงธนบุรีที่จะรักษา

* ข้าศึกรู้เส้นทางเดินทัพ รู้สภาพภูมิประเทศของกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างดี

* ทำเลที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากทะเลมากเกินไป ไม่สะดวกในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ

ความเหมาะสมของกรุงธนบุรีเป็นราชธานี

* กรุงธนบุรีเป็นเมืองขนาดเล็ก เหมาะกับไพร่พลในขณะนั้น

* ทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้ทะเล สะดวกแก่การค้าขายกับต่างประเทศ และสามารถเคลื่อนทัพเรือกลับสู่เมืองจันทบุรีได้สะดวก เมื่อถึงคราวคับขัน

* มีป้อมปราการที่มั่นคงแข็งแรง คือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ และ

ป้อมวิไชยเยนทร์ใช้ป้องกันข้าศึกได้ดี

* ความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหาร มีดินดี น้ำอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ

* ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์เป็นเมืองหน้าด่าน ควบคุมการเดินเรือทะเลที่เข้าออกปากอ่าวไทย จึงเท่ากับช่วยควบคุมหัวเมืองเหนือใต้ให้ต้องพึ่งกรุงธนบุรี ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการซื้ออาวุธจากต่างประเทศ                                                                                

การสร้างความเป็นปึกแผ่นทางการเมือง

         ภายหลังจากสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงสร้างความมั่นคง เป็นปึกแผ่นให้แก่ประเทศชาติ ดังนี้

 1. การสร้างขวัญและกำลังใจแก่ทหารและประชาชน

  • * การปูนบำเหน็จแก่แม่ทัพนายกอง โดยเฉพาะสองพี่น้องผู้ที่เป็นกำลังสำคัญคือ พระราชวรินทร์ (ทองด้วง) และพระมหามนตรี(บุญมา)
  • * การแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน โดยการซื้อข้าวสารและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มแจกจ่ายประชาชนที่อดอยากและขาดแคลนกระตุ้นให้ราษฏรที่หลบซ่อนตามป่าเขาให้กลับสู่มาตุภูมิลำเนาเดิม กำลังของบ้านเมืองจึงเพิ่มมากขึ้น

2. การฟื้นฟูบ้านเมืองให้กลับคืนสู่ปกติ

  •  * การรวบรวมกำลังคนให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน สนับสนุนให้ผู้คนที่หลบหนีภัยสงครามตามท้องที่ต่างๆ ให้มารวมกันในราชธานี เพื่อประโยชน์ในการเกณฑ์กำลังคนในยามศึกสงครามและการก่อสร้างราชธานีใหม่
  • * การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจทรงส่งเสริมการค้าขายกับต่างประเทศ โดยเฉพาะการค้าทางเรือสำเภากับจีน มีพ่อค้าชาวจีนเข้ามาค้าขายในไทยมากกว่าชาติอื่นๆ นอกจากนี้ ยังทรงสนับสนุนให้ขุนนางคุมกำลังไพร่พลไปทำนารอบๆ พระนคร เพื่อเพิ่มผลผลิต
  • * การฟื้นฟูทางสังคมมีการฟื้นฟูระบบไพร่ที่เคยมีในสมัยอยุธยาขึ้นใหม่ โดยการสักข้อมือไพร่ทุกกรมกองเรียกว่า กฏหมายสักเลก เพื่อประโยชน์ในการเกณฑ์แรงงานและการป้องกันประเทศ และป้องกันการหลบหนีของไพร่อีกด้วย

3. การปราบปรามชุมนุมคนไทย

เพื่อรวบรวมอาณาจักรคนไทยให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ภายหลังที่ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว จึงทรงดำเนินการปราบปรามชุมนุมคนไทยที่ไม่ยอมอ่อนน้อมทั้ง 4 ชุมนุมในช่วงพ.ศ.2311-2313 ดังนี้

  • * ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก กองทัพธนบุรียกกำลังไปปราบเป็นชุมนุมแรกแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาถูกชุมนุมพระฝางตีแตกและผนวกเข้ากับชุมนุมของตน
  • * ชุมนุมเจ้าพิมาย
  • กรมหมื่นเทพพิพิธผู้นำชุมนุมไม่ยอมอ่อนน้อม จึงถูกกองทัพธนบุรีปราบ เป็นผลให้ดินแดนภาคอีสานตกอยู่ภายใต้อำนาจของราชธานีตั้งแต่นั้นมา
  • * ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช
  • เจ้านครไม่สามารถต้านทานกำลังกองทัพบกและกองทัพเรือจากกรุงธนบุรีได้ อาณาเขตของกรุงธนบุรีจึงแผ่ขยายไปถึงหัวเมืองปักษ์ใต้
  • * ชุมนุมเจ้าพระฝาง

        หัวหน้าชุมนุมเป็นพระสงฆ์ที่ทรงคุณไสยและเป็นชุมนุมสุดท้ายที่ปราบปรามสำเร็จในปี พ.ศ.2313 ทำให้ได้หัวเมืองเหนือไว้ในพระราชอาณาเขต

 4. การทำสงครามต่อต้านการรุกรานของพม่าตลอดสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานีไทยต้องทำสงครามกับพม่า เพื่อป้องกันเอกราชรวมถึง 9 ครั้ง ครั้งที่สำคัญที่สุดคือ ศึกอะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ พ.ศ.2318

 5. การทำสงครามขยายอาณาเขตในสมัยกรุงธนบุรี กองทัพไทยยกไปตีกรุงกัมพูชาเป็นประเทศราชใน พ.ศ.2314 และหัวเมืองล้านนาและลาว ใน พ.ศ.2317

พัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจ

 1. ภาวะเศรษฐกิจตอนต้นรัชกาล

         สภาพบ้านเมืองในตอนต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินต้องประสบปัญหาความตกต่ำทางเศรษฐกิจอย่างหนัก  ขาดแคลนข้าวปลาอาหาร การทำไร่ทำนาต้องหยุดชะงักเพราะภัยสงครามซ้ำเกิดการแพร่ระบาดของหนูนาออกมา กินข้าวในยุ้งฉาง สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแก้ไขปัญหาดังนี้

  • * การซื้อข้าวสารจากพ่อค้าชาวต่างชาติ นำมาแจกจ่ายให้ราษฏร
  • * การเกณฑ์ข้าราชการทำนาปรัง (ทำนานอกฤดูกาล)และประกาศให้ราษฏรช่วยกันกำจัดหนูในนา
  • * การเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวใกล้พระนคร โดยปรับปรุงพื้นที่ที่เคยเป็นป่าให้เป็นท้องนา

2 การวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

เศรษฐกิจสมัยกรุงธนบุรี เป็นเศรษฐกิจแบบยังชีพ การทำนาเป็นอาชีพหลักของราษฏรในสมัยนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศดังนี้

             * การพัฒนาทางด้านเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอแก่การบริโภคภายในโดยการเกณฑ์แรงงานคนไทย จีน และเชลยศึกสงครามให้ช่วยบุกเบิกพื้นที่ทำไร่ทำนามากขึ้น

            * การสร้างความเข็มแข็งทางเศรษฐกิจในหัวเมือง เช่น สนับสนุนให้คนจีน คนลาวไปประกอบอาชีพตั้งถิ่นฐานในหัวเมืองต่างๆ เช่น สระบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ชลบุรีและจันทบุรี เป็นต้น เพื่อให้เกิดการขยายตัวของชุมชน

            * การนำความรู้ใหม่ๆ จากชาวต่างประเทศมาใช้พัฒนาความเจริญของบ้านเมืองโดยเฉพาะความรู้จากชาวจีน ที่เข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐานในเมืองไทยสมัยนั้น เช่น ความรู้ในการค้าขาย การช่าง การต่อเรือ และการแปรรูปสินค้าเกษตรกรรม ทั้งกิจการโรงสี โรงเลื่อยจักรและโรงน้ำตาล เป็นต้น

         การส่งเสริมการค้าขายกับต่างประเทศ มีการส่งเรือสำเภาไปค้าขายยังประเทศจีน อินเดีย และประเทศใกล้เคียง สินค้าที่ส่งออก ได้แก่ ดีบุก พริกไทย ครั่ง ไม้หอม ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของไทย

พัฒนาการทางด้านการเมืองการปกครอง

         การจัดระเบียบการปกครองของไทยสมัยธนบุรี ยังคงใช้รูปแบบเดิมที่เคยมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เนื่องจากบ้านเมืองกำลังอยู่ในระยะเริ่มฟื้นตัวใหม่ๆ จึงยังไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ

 * การปกครองส่วนกลาง (ภายในราชธานี)มีอัครมหาเสนาบดี 2 ฝ่าย

  • -ฝายทหาร คือ สมุหกลาโหม
  • -ฝ่ายพลเรือน คือ สมุหนายก

นอกจากนี้ยังมีเสนาบดีจตุสดมภ์อีก 4 ฝ่าย ได้แก่ นครบาล(กรมเมือง),พระธรรมาธิกรณ์(กรมวัง),พระโกษาธิบดี(กรมคลัง)และพระเกษตราธิการ(กรมนา)

* การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งหัวเมืองออกเป็น 3 ระดับ คือ หัวเมืองชั้นใน,ชั้นนอก และประเทศราช

  • -หัวเมืองชั้นใน เป็นเมืองขนาดเล็กอยู่รายรอบราชธานี เจ้าเมืองเรียกว่า ผู้รั้ง
  • -หัวเมืองชั้นนอก เป็นเมืองขนาดใหญ่และอยู่ห่างไกลจากราชธานีออกไปแบ่งออกเป็นหัวเมืองเอก โท ตรี ตามลำดับความสำคัญ
  • -หัวเมืองประเทศราช เป็นเมืองต่างชาติต่างภาษาให้เจ้านายปกครองกันเองแต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวาย ได้แก่ ลาว เขมร และเชียงใหม่

พัฒนาการทางด้านศาสนา สังคมและวัฒนธรรม

 1. พัฒนาการทางด้านศาสนา

         หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา บ้านเมืองอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด ผู้คนต่างหนีเอาตัวรอด เมื่อพระเจ้าตากสิน ฯ ได้รวบรวมกำลังกู้เอกราชของชาติกลับคืนมาได้จนเป็นปึกแผ่นแล้ว ในปีเดียวกันนั้นคือปี พ.ศ. 2310 ก็ได้ทรงมีพระราชดำริที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรืองเป็นปกติสุขเช่นที่เคยเป็นมาก่อน จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระศรีภูริปรีชา ให้สืบเสาะหาพระเถระผู้รู้อรรถรู้ธรรมให้มาประชุมกันที่ วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตาราม) พระเจ้าตากสิน ฯ ได้ทรงตั้งพระอาจารย์ดี วัดประดู่กรุงเก่า ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้สูงและมีอายุพรรษามากด้วย ขึ้นเป็นพระสังฆราช และตั้งพระพระเถระอื่น ๆ ขึ้นเป็นพระราชาคณะฐานานุกรมน้อยใหญ่ เหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยาให้สถิตอยู่ในพระอารามต่าง ๆ ในกรุงธนบุรี ให้สั่งสอนคันถธุระและวิปัสสนาธุระ แก่ภิกษุสามเณรโดยทั่วไป

        เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา นอกจากบ้านเมือง ปราสาทราชวัง วัดวาอาราม จะถูกเผาพลาญโดยสิ้นเชิงแล้ว บรรดาคัมภีร์พระไตรปิฎกก็พลอยถูกเผาสูญหายหมดสิ้นไปด้วย พระองค์จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้สืบหารวบรวมคัมภีร์พระไตรปิฎกที่หลงเหลืออยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ ตลอดไปจนถึงกรุงกัมพูชา แล้วเอามาคัดลอกสร้างเป็น พระไตรปิฎกฉบับหลวงไว้ แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน

2. พัฒนาการด้านสังคมและวัฒนธรรม

โครงสร้างทางสังคมไทยสมัยธนบุรีประกอบด้วยชนชั้นต่างๆ ได้แก่

  • -พระมหากษัตริย์ เป็นผู้ที่มีพระราชอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน
  • -พระบรมวงศานุวงศ์ ได้แก่ ราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ บรรดาพระราชโอรสและพระราชธิดา
  • -ไพร่ ได้แก่ คนธรรมดาสามัญที่เป็นชายฉกรรจ์ ส่วนเด็ก ผู้หญิงหรือคนชราถือเป็นบริวารของไพร่
  • -ทาส หมายถึง บุคคลที่มิได้เป็นไทแก่ตนเองโดยสิ้นเชิง
  • -พระสงฆ์ เป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา และเป็นผู้อบรมสั่งสอนคนในสังคมให้เป็นคนดี

        2.1 สภาพสังคมสมัยธนบุรี เนื่องจากบ้านเมืองตกอยู่ภาวะสงคราม ทางราชการจึงต้องควบคุมกำลังคนอย่างเข็มงวดเพื่อเตรียมสำหรับต้านภัยพม่า มีการลงทะเบียนชายฉกรรจ์เป็นไพร่หลวง โดยการสักเลกที่แขนเพื่อป้องกันการหลบหนี

         2.2 การฟื้นฟูพระพุทธศาสนา

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีความเสื่อมใส ศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ทรงฟื้นฟูกิจการพระพุทธศาสนาเพื่อให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจแก่ราษฏร ดังนี้

 * การจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งพระสังฆราชและพระราชาคณะขึ้นปกครองคณะสงฆ์ และให้มีการชำระความบริสุทธิ์ของพระสงฆ์ทั้งหมด พระสงฆ์ที่มีการประพฤติไม่อยู่ในพระวินัยก็ให้สึกออกเสีย

* การสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ เช่น วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทาราม) วัดแจ้ง(วัดอรุณราชวราราม)และวัดบางหว้าใหญ่(วัดระฆังโฆสิตาราม) เป็นต้น

การตรวจสอบและคัดลอกพระไตรปิฏก เพื่อให้พระธรรมวินัยมีความบริสุทธิ์ โดยใช้ต้นฉบับพระไตรปิฏกจากวัดพระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช

         2.3 งานสร้างสรรค์ศิลปะและวรรณกรรม

 * ความเจริญรุ่งเรืองด้านศิลปแขนงต่างๆ ในสมัยธนบุรีไม่ปรากฏเด่นชัดนัก เนื่องจากบ้านเมืองตกอยู่ในภาวะสงครามตลอดรัชกาล ความบีบคั้นทางเศรษฐกิจและบรรดาช่างฝีมือถูกพม่ากวาดต้อนไปจำนวนมาก

* งานสถาปัตยกรรม ส่วนใหญ่เป็นงานซ่อมแซมบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ และงานก่อสร้างพระราชวังเดิม

* งานวรรณกรรม ได้แก่ รามเกียรติ์ (พระราชนิพนธ์บางตอนในสมเด็จพระเจ้าตากสิน),ลิลิตเพชรมงกุฏ (หลวงสรวิชิต),และโคลงยอพระเกียรติ์พระเจ้ากรุงธนบุรี(นายสวนมหาดเล็ก) เป็นต้น

3. ด้านการศึกษา

 * วัดเป็นสถานศึกษาของเด็กไทยในสมัยธนบุรี พระสงฆ์เป็นผู้สอนให้ความรู้ทั้งด้านหนังสือและอบรมความประพฤติ และเด็กชายเท่านั้นที่มีโอกาสได้เล่าเรียน

* การเรียนวิชาชีพ เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ซึ่งจะถ่ายทอดวิชาชีพตามบรรพบุรุษของตน เช่นวิชาช่างปั่น ช่างเหล็ก ช่างเงิน ช่างทอง เป็นต้น

* การศึกษาสำหรับเด็กหญิง

มีการเล่าเรียนการเย็บปักถักร้อย การปรุงแต่งอาหารและวิชางานบ้านงานเรือนสำหรับกุลสตรี ซึ่งถ่ายทอดกันมาตามประเพณีโบราณ มีเฉพาะในหมู่ลูกหลานขุนนางและพระราชวงศ์ ส่วนวิชาหนังสือไม่นิยมให้ผู้หญิงเรียน

พัฒนาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

1.ความสัมพันธ์กับพม่า

 * ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าในสมัยกรุงธนบุรี ปรากฏอยู่ในรูปของความขัดแย้งและการทำสงคราม โดยไทยเป็นฝ่ายตั้งรับการรุกรานของพม่า หลังจากได้รับเอกราชมีการสู้รบกันถึง 9 ครั้ง (พ.ศ.2311-2319)ส่วนใหญ่พม่าเป็นฝ่ายปราชัยต้องถอยทัพกลับไป

* สงครามไทยกับพม่าในสมัยธนบุรีครั้งสำคัญที่สุด คือ

ศึกอะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ พ.ศ.2318 ครั้งนั้นเจ้าพระยาจักรี(ร.1)และเจ้าพระยาสุรสีห์สองพี่น้องได้ร่วมกัน ป้องกันเมืองพิษณุโลก

อย่างสุดความสามารถ แต่พม่ามีกำลังไพร่พลเหนือกว่าจึงตีหักเอาเมืองได้

2. ความสัมพันธ์กับกัมพูชา

 * สภาพการเมืองภายในกัมพูชาไม่สงบราบรื่น เจ้านายเขมรมักแตกแยกความสามัคคีและแย่งชิงอำนาจกันอยู่เนืองๆ บางกลุ่มนิยมไทยแต่บางกลุ่มฝักใฝ่กับฝ่ายญวน เมื่อไทยติดศึกกับพม่า เขมรมักตั้งตัวเป็นอิสระและคอยหาโอกาสซ้ำเติมไทยอยู่เสมอ

* ไทยทำสงครามขยายอาณาเขตในดินแดนกัมพูชา รวม 3 ครั้ง กองทัพไทยยกไปตีกรุงกัมพูชาในสองครั้งแรก เมื่อพ.ศ.2312 และ พ.ศ.2314 เป็นผลให้กัมพูชาตกเป็นเมืองขึ้นของไทย

* การจลาจลแย่งชิงอำนาจในหมู่เจ้านายเขมร ใน พ.ศ.2322 พระราชวงศ์เขมรแย่งชิงอำนาจกันเอง สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่1)ยกทัพไปควบคุมสถานการณ์แต่เกิดเหตุวุ่นวายในกรุงธนบุรี พระยาสรรค์ก่อกบฏ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จึงต้องยกทัพกลับ

3. ความสัมพันธ์กับลาว

 * ไทยเป็นฝ่ายทำสงครามขยายอาณาเขตในดินแดนลาว 2 ครั้ง ครั้งแรกสงครามตีเมืองจำปาศักดิ์ พ.ศ.2319 เกิดจากลาวก่อกบฏต่อไทย ชัยชนะของกองทัพกรุงธนบุรีครั้งนี้ ทำให้เมืองจำปาศักดิ์และหัวเมืองลาวตอนล่างตกอยู่ใต้อำนาจของไทยตั้งแต่บัดนั้น

* สงครามตีเมืองเวียงจันทน์ พ.ศ.2321 เกิดความขัดแย้งระหว่างเสนาบดีกับเจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์ จึงโปรดเกล้าฯให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปปราบเป็นผลให้ลาวตกเป็น

ประเทศราชของไทยทั้งหมด แม่ทัพไทยยังได้อัญเชิญพระแก้วมรกดและพระบางมาไว้ที่ไทยด้วย

 4. ความสัมพันธ์กับอาณาจักรล้านนา

 * นครเชียงใหม่ ศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา นับตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา เชียงใหม่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของพม่าและไทยสลับกัน โดยพม่าใช้เชียงใหม่เป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหารทุกครั้งที่ยกทัพมาตีไทย

* กองทัพกรุงธนบุรียกไปตีเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.2317 สามารถขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จ ล้านนาจึงตกอยู่ใต้อำนาจไทยอีกครั้ง

5. ความสัมพันธ์กับหัวเมืองมลายู

 * หัวเมืองมลายูตกเป็นเมืองประเทศราชของไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา อันได้แก่ เมืองปัตตานี ไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกจึงแยกตัวเป็นอิสระ

* กองทัพกรุงธนบุรีไม่พร้อมที่จะยกไปปราบ เนื่องจากหัวเมืองมลายูอยู่ห่างไกลเกินไป ตลอดรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จึงปล่อยให้เป็นอิสระ

เหตุการณ์ตอนปลายสมัยกรุงธนบุรี

 1. สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงมีสติฟั่นเฟือน สำคัญว่าพระองค์บรรลุเป็นพระอรหันต์และบังคับให้พระสงฆ์กราบไหว้

 2. พระยาสรรค์ ขุนนางผู้หนึ่งก่อกบฏ เมื่อ พ.ศ.2324 ยกกำลังเข้ายึดกรุงธนบุรีและคุมตัวสมเด็๋จพระเจ้าตากสินฯเอาไว้

 3. สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กลับจากราชการสงครามที่เขมร เข้าปราบกบฏและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ที่ประชุมขุนนางพร้อมใจกันอัญเชิญให้ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325

 4.สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ถูกสำเร็จโทษ ในขณะนั้นทรงมีพระชนม์ 48 พรรษาและรวมเวลาครองราชย์ 15 ปี

  • อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก
  • ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา
  • ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา
  • แด่ศาสนา สมณะ พระพุทธโคดม
  • ให้ยืนยง คงถ้วน ห้าพันปี
  • สมณะพราหมณ์ ปฏิบัติ ให้พอสม
  • เจริญสมถะ วิปัสนา พ่อชื่นชม
  • ถวายบังคม รอยบาท พระศาสดา
  • คิดถึงพ่อ พ่ออยู่ คู่กับเจ้า
  • ชาติของเรา คงอยู่ คู่พระศาสนา
  • พระพุทธศาสนา อยู่ยง คู่องค์กษัตรา
  • พระศาสดา ฝากไว้ ให้คู่กัน