วิทยาการคอมพิวเตอร์ ลาดกระบัง - Pantip

**Updated: 01/05/2022
ปัจจุบันตอนนี้ทางสาขามีการปรับหลักสูตรใหม่แล้วนะครับ ดังนั้นรีวิวนี้จะเป็นรีวิวที่เราเคยเรียนเมื่อ 4 ปีที่แล้วครับ ค่อนข้างเก่าแล้วนิดนึง ฮา รวมถึงลักษณะการเรียนต่างๆก็จะเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและหลักสูตรค้าบ  โดยสามารถเข้าไปดูหลักสูตรใหม่ (ปี 2564) ได้ที่
>> https://www.reg.kmitl.ac.th/curriculum/file/bachelor/05/com_c2564edit.pdf   
_________________________________________________________________

สวัสดีครับ นี่ก็เป็นกระทู้แรกที่เราเขียน อยากเขียนมากด้วย เพื่อเป็นการแนะนำการเตรียมตัวสำหรับการเรียนในสาขา และ (อาจจะ)เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆรุ่นใหม่ๆต่อไปที่จะมาเป็นครอบครัววิทย์คอม ลาดกระบังด้วย และก็ช่วงนี้ปิดเทอมด้วยเลยว่าง ฮา กระทู้อาจจะยาวหน่อยนะครับ ถ้าพิมพ์ผิดพลาดตรงไหนหรือไม่สมควรยังไงก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

แนะนำตัวนิดนึงนะครับ : ชื่อไนน์ครับ ตอนนี้ก็กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 (ขึ้นปี 2) คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังครับ  **ปัจจุบันเราเรียนจบเป็นบัณฑิตป้ายแดงเรียบร้อยแล้วค้าบ T^T

ก่อนอื่นเลยคือ สาเหตุที่เลือกเรียนสาขานี้เพราะ เราไปดูหลักสูตรมา เป็นหลักสูตรที่น่าเรียนมากๆ บวกกับเราเคยผ่านกับสิ่งเหล่านี้มาก่อน แต่แค่ปลายๆ เข่น พวกการเขียนเว็บ แต่ก็ไม่ได้ชำนาญมาก ตามหลักสูตรแล้วแทบจะไม่ค่อยได้เจอเลย แต่ก็น่าจะพาตัวเองไปไหว น่าจะถนัดกว่า เลยเลือกมาเรียนสาขานี้ ส่วน ทำไมต้องลาดกระบัง เพราะแอดมิชชั่นได้ที่นี่ครับ /โดนถีบ แต่ก็เป็นความจริงเพราะติดแบบฉิวเฉียดมากๆด้วย ฮา นอกจากนั้นคือเราเล็งเป้าหมายไว้แล้วด้วยว่าอยากเรียนที่นี่ ก็ถือว่าได้ตามเป้าหมายทั้งคณะที่อยากเรียน และมหา'ลัยที่อยากเรียนครับ 

เกริ่นเลยก็คือ วิทย์คอม ลาดกระบัง จะเรียนไปทางด้านคอม คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ (นิดหน่อย แล้วแต่โอกาส) โดยที่สำคัญมากสุดคือ คอม+คณิต นี่แหละ เพราะทั้งคู่ต้องใช้ร่วมกันไปตลอด ใครที่หนีวิชาวิทย์ตั่งต่างมา ยินดีด้วยครับ เพราะคุณจะไม่เจอฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เลยสักตัว!! (ยกเว้นว่าจะลงวิชาเลือกเอาเอง) แต่ถ้าใครจะหนีคณิตล่ะก็ สาขานี้หนีไม่พ้นแน่นอน แต่อย่าเพิ่งกลัวใจตัวเองกันครับ เพราะมันอาจไม่ยากอย่างที่คิดก็ได้ ถ้าเราตั้งใจและพยายามกับมันมากๆครับ 

มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่าว่า 1 ปีในการเรียนวิทย์คอม ลาดกระบังเป็นอย่างไร ต้องเจออะไรบ้าง Let's Go!!

ปล.จะรีวิวเฉพาะวิชาภาค/วิชาหลัก/อิ้ง นะครับ

=====================================

ภาคเรียนที่ 1 :: เปิดฤกษ์ชีวิตการเรียนมหาวิทยาลัยเบาๆ ด้วย 2 วิชาภาค 2 วิชาหลัก 2 วิชาเลือก และอิ้ง 1 ตัว (วิชาภาคคือวิชาบังคับที่เกี่ยวกับสาขาที่เรียนโดยตรง วิชาหลักคือวิชาบังคับที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาขา แต่ต้องเรียนเพื่อนำไปใช้ต่อในปีถัดๆไป วิชาเลือกก็คือวิชาที่เราสามารถเลือกเรียนได้เองตามตารางสอน)

วิชาภาคตัวแรกที่ต้องเรียน ต้องเจอแน่ๆ และสำคัญมากๆสำหรับสาขาเลย เพราะต้องนำไปใช้ตลอดจนจบหรือตลอดชีวิต (ถ้าทำงานสายงานด้านนี้) ก็คือวิชา "การเขียนโปรแกรมเบื้องต้น" (PROGRAMMING FUNDAMENTALS) เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับเราเลย เพราะ "ไม่เคย" ผ่านการเขียนโปรแกรมมาก่อน แต่ไม่ต้องซีเรียสนะครับ เพราะอาจารย์จะเริ่มสอนตั้งแต่พื้นฐานเลย เริ่มตั้งแต่การกำหนดตัวแปร การคำนวณปริมาตรง่ายๆ การสร้างตัว input ข้อมูลทางคีย์บอร์ด ฯลฯ คือสอนละเอียดมากๆ โดยของลาดกระบังจะใช้ภาษา JAVA ในการเขียนโปรแกรมครับ ใครที่เรียนเข้าใจก็จะเขียนได้เร็วมากๆ ส่วนตัวแล้วเราเป็นคนหัวช้านิดๆนะครับ เลยเรียนรู้นานกว่าคนอื่นหน่อย แต่ก็ไม่เคยลดความตั้งใจของตัวเองนะ! แต่ด้วยความที่เนื้อหาก็จะเริ่มซับซ้อนขึ้น เช่น การเก็บตัวแปรรูปแบบ Array การเขียนโปรแกรมแยก method จนไปถึงการสร้างโปรแกรมทำงานต่างๆ เช่น โปรแกรมบันทึกข้อมูล คำนวณเกรด คำนวณคะแนน เลยยิ่งทำให้เข้าใจช้ามากๆ อีกอย่างคือเราไม่ค่อยได้ฝึกเขียนโปรแกรมเองด้วย จนผลคะแนนมิดเทอมออกมาก็เครียดอยู่นานเลย แต่ก็ไม่ท้อครับ หลังมิดเทอมเราก็ฮึดสู้อีกครั้ง ตั้งใจเรียนให้มากกว่าเดิม กลับบ้านมาก็ฝึกเขียนโปรแกรมบ่อยๆ ก็คือจะเรียนเหมือนกับก่อนมิดเทอมแต่จะเริ่มเน้นทำโจทย์ สร้างโปรแกรมบ่อยขึ้น ฝึก run โค้ดโดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ จนเกรดออกมาคือดีเกินคาดมากๆ สำคัญเลยคือ ฝึกฝนตัวเอง พยายามตั้งใจทำสิ่งที่ไม่เคยเจอมาก่อนให้มากๆ เพราะความพยายามไม่เคยทำร้ายใครครับ 

เกรดที่ได้ (สำหรับคนที่ไม่เคยเขียนโปรแกรม) : B 

วิชาภาคตัวที่ 2 เป็นวิชาที่สำคัญไม่แพ้กันเลย เพราะเป็นวิชาที่เหมือนสรุปไว้แล้วว่าตลอด 4 ปีที่เรียนจะต้องเจออะไรบ้าง นั่นก็คือวิชา "วิทยาการคอมพิวเตอร์" (COMPUTER SCIENCE) ใช่ครับ อ่านไม่ผิด เพราะชื่อวิชานี้จริงๆ อย่างที่พิมพ์มาข้างต้นเลยคือ เป็นวิชาที่จะเรียนเนื้อหา "ทั้งหมด" ที่จะต้องเจอใน 4 ปีนี้ ซึ่งจะยังลงไม่ลึกมาก แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนควรรู้เพื่อนำไปใช้ต่อในปีถัดๆไป จะเน้นไปที่การฝึก logic ของเราเอง ถ้าให้เทียบกับตอนนี้ก็จะคล้ายๆกับวิชา วิทยาการการคำนวณ (COMPUTING SCIENCE) ที่เด็กๆได้เรียนกัน เช่น การจัดเรียงข้อมูล (sort) การอ่าน pseudo code เพื่อเอาไปใช้ศึกษา logic ของโปรแกรมนั้น หน่วยความจำของระบบต่างๆที่ควรรู้ การเขียน/อ่านโปรแกรมต่างๆ ฯลฯ  สำหรับเราที่ไม่คุ้นเคยด้านนี้อีกเช่นกัน ถือว่าเรียนโอเคเลย เรียนสนุก แต่แอบเข้าใจยากนิดๆในบางเรื่อง อาจารย์ใจดี ตลกโปกฮา มีการบ้านหรืองานให้ฝึกทำในหัวข้อต่างๆเสมอ คะแนนมิดเทอมถือว่าเกินคาดมากๆสำหรับเรา เพราะสำหรับเราเราคิดว่า logic เราไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ฮา ยิ่งเกรดที่ออกมายิ่งเกินคาดมากจริงๆ พยายามตอบข้อสอบให้ตรงกับที่เราเรียนมากที่สุด เราเข้าใจแบบไหน คิดแบบไหนก็ตอบไปได้เลย แต่ต้องอิงจากสิ่งที่เราเรียนรู้มาด้วยนะครับ 

เกรดที่ได้ : A

ต่อมาก็ถึงคิวของวิชาหลัก ตัวแรกนี้ถือเป็นวิชาปราบเซียนของใครหลายๆคน (รึป่าว) เพราะต่อให้หนีก็หนีไม่พ้นจ้าา วิชานั้นก็คือ "แคลคูลัส1" (CALCULUS 1) ทำไมถึงมี 1 อยู่ข้างหลัง เพราะเทอม 2 ก็ต้องเจออีกครั้งนึงจ้าาา ฮา (T T) โดยรวมแล้วเนื้อหาจะเรียนเหมือนๆกับตอนมัธยมเลย แต่อาจจะมีเนื้อหาเพิ่มขึ้นมาบ้าง เช่นพวกการหาพื้นที่โดยการ derivative (การดิ๊ฟ) การหาปริมาตรด้วยการ integrate (หรือบางโรงอาจจะเรียนแล้ว มั้งนะครับ) ก็จะวนๆเวียนๆอยู่กับพวก limit derivative integrate นี่แหละครับ จะมีพวกการเอาตรีโกณ log ln มาใช้ด้วย แต่ไม่ยากมากครับ ถ้าเป็นสูตรที่ไม่คุ้นเคยอาจารย์จะให้แนบมาอยู่แล้วตอนทำข้อสอบ และอาจจะไม่ค่อยได้ใช้ด้วยซ้ำ เพราะฝึกการคิดของเรามากกว่า โจทย์จะพลิกผันไม่มากนักกับเนื้อหาที่เรียน สำหรับเรา เราลืมเนื้อหาหมดแล้วจริงๆ สะเพร่าเก่งด้วย ปิดเทอมยาวทำพิษมากๆ ฮา แต่ก็กลับมาตั้งใจเรียนในห้องอีกครั้ง ก็ถือว่าโอเคเลย ทั้งมิดเทอมและไฟนอลเลยค่อนข้างมั่นใจมากๆ ถ้าทุกคนตั้งใจเราว่ายังไงก็ผ่านมันไปได้แน่นอน 

เกรดที่ได้ : A 

วิชาหลักตัวที่ 2 สำหรับเราเป็นวิชาที่เรียนต่อมาจากแคลคูลัสอยู่แล้วตอนมัธยม ซึ่งจะว่าง่ายก็ไม่ง่าย จะว่ายากก็ไม่ยาก นั่นก็คือวิชา "สถิติเบื้องต้น" (ELEMENTARY STATISTICS) เช่นเดียวกับแคลคูลัสเลยก็คือ เนื้อหาเหมือนตอนมัธยมซะส่วนใหญ่ แต่จะเริ่มมีวิธีคิดที่ดูซับซ้อนขึ้น มีเนื้อหาเพิ่มมาค่อนข้างเยอะเลย เช่นพวกการแจกแจงต่างๆ ก็จะลงลึกมากๆ หรือพวกความน่าจะเป็นก็จะมีลงลึกตามลำดับไป (เทอม 2 จะมีเรียนแยกออกมา เทอมแรกยังไม่ลึกเท่าเทอม 2) สำหรับเรา เราจะเข้าใจในเนื้อหาเรื่องแรกๆ พวกการหาความน่าจะเป็น พวกแผนภาพเวนน์-ออยเลอร์ เพราะเคยเรียนมาแล้ว แต่หลังๆพวกการแจกแจงจะเข้าใจยาก อาจจะเพราะเรามึนเองด้วย ฮา มิดเทอมอาจารย์ไม่ได้บอกคะแนนเลยไม่รู้ชะตากรรมตัวเอง แต่ไฟนอลรู้สึกว่าตัวเองทำได้เกินครึ่งมานิดหน่อย เกรดที่ออกก็เลยไม่ค่อยซีเรียสมาก เพราะถือว่าเราก็ตั้งใจและพยายามกับมันแล้ว 

เกรดที่ได้ : B

ส่วนอิ้งเทอมแรก จะเรียนเหมือนมัธยมเหมือนกัน พวกเรื่อง grammar ก็จะสอนตั้งแต่ present simple เลย แล้วก็จะมีพวกฝึกจับใจความ reading ในหนังสือ writing ประเภทต่างๆ แล้วก็จะมีฝีกพูดบทสนทนากับเพื่อนตามบทที่อาจารย์กำหนดด้วย 1 เทอมจะเรียนประมาณ 4 บทครับ แต่ละบทจะครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดเลย ไต่ระดับไปเรื่อยๆ คือครบเครื่องมาก Advance ขึ้นมานิดหน่อย ซึ่งอาจารย์ผู้สอนจะมีหลายกลุ่มมากๆ (คือระบบจะให้เราเลือกกลุ่มเรียนเอง เราต้องเลือก 1 กลุ่มตามที่เราอยากเรียนกับอาจารย์คนนั้นๆ ลงเลือกกลุ่มพร้อมวิชาเลือก) ซึ่งไม่สามารถบอกได้จริงๆว่าแต่ละคนสอนเป็นยังไงบ้าง แต่ของเราคือเราโชคดีที่อาจารย์สอนดีมากๆ มิดเทอมแอบพลาดนิดหน่อย แต่ไฟนอลโอเคมากๆ เกรดก็ได้ตามที่หวังครับ 

เกรดที่ได้ : B+ 

หมายเหตุ ; วิชาเลือก 2 ตัวนี้ตามตารางสอนจะให้ลงหมวดวิทย์คณิตและหมวดมนุษย์นะครับ 

หมายเหตุ 2 ; จะลงนอกเหนือจากนี้ก็ได้ แต่ต้องเช็คตารางสอนของตัวเองด้วยว่าวิชาเลือกที่ลงกับวิชาภาค/หลัก/อิ้ง ชนกันมั้ย 

=====================================

ภาคเรียนที่ 2 :: หลังจากพักร่างกายจากมหกรรมการสอบตั่งต่างแล้ว ก็มาต่อกันด้วยเทอม 2 ที่เข้มข้นไม่แพ้กัน ประกอบไปด้วย วิชาภาค 2 วิชาหลัก 2 วิชาเลือก 2 และอิ้ง 1 ตัวเช่นกัน

วิชาภาคตัวแรก ก็คือภาคต่อจากเทอมที่แล้วเลย นั่นก็คือวิชา "การเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุ" (OBJECT-ORIENTED PROGRAMMING) เป็นวิชาเขียนโปรแกรมเหมือนกัน แต่เทอมนี้จะเน้นเขียนโปรแกรมแบบแยก method มากขึ้น เพราะโปรแกรมที่ต้องการส่วนใหญ่มีเงื่อนไขเยอะมากๆ จึงต้องจัดการโปรแกรมให้สามารถทำงานได้ง่ายขึ้นและตรงตามความต้องการของผู้ใช้ด้วย อย่างที่บอกคือจะเขียนโปรแกรมแบบแยก method เขียนโปรแกรมแบบแยก class การกำหนดประเภทของ class ให้เหมาะสมกับโปรแกรม (private/public) การกำหนดประเภท method เช่น การไม่คืนค่า (void) หรือการคืนค่าเป็นตัวแปรต่างๆ (int/double/String/others) การทำหน้าจอ GUI เป็นต้น เทอมนี้จะมีโปรเจคให้ทำด้วยเป็นกลุ่ม ก็คือให้ทำโปรแกรมขึ้นมา 1 โปรแกรมโดยเอาเรื่องที่เรียนมาทั้งหมดตั้งแต่เทอมแรกมาทำโปรแกรม แต่เทอมนี้สำหรับเรา เราเริ่มชินกับการเขียนโปรแกรมแล้ว เริ่มอิ่มตัว เริ่มอยู่กับมันได้จริงๆเลยไม่ค่อยซีเรียส เลยทำให้การเรียนวิชานี้ของเทอมนี้สนุกไปด้วย แปลกดี ฮา มิดเทอมก็ออกมาเกินคาดมาก ยิ่งไฟนอลคือพีคมากๆ เกรดเลยพีคมากๆสำหรับเรา จริงๆคือแอบดีใจด้วยที่แบบเดินมาถึงตรงนี้ได้ จากคนที่ไม่เคยเขียนโปรแกรมมาก่อนเลย จนตอนนี้ก็พอทำโปรแกรมๆนึงขึ้นมาได้ เริ่มเข้าใจการเขียนโปรแกรมมากขึ้น อย่างที่บอกเลย ความพยายาม ความตั้งใจไม่เคยทำร้ายใครเลยจริงๆ อยากให้ทุกคนสู้เหมือนที่เราสู้นะ

เกรดที่ได้ : A

วิชาภาคตัวที่ 2 วิชานี้จะกึ่งๆวิชาภาคกับวิชาหลัก เพราะเป็นวิชาคณิตที่เอาความรู้เรื่องคอมต่างๆมาใช้เยอะมาก!! แอบคล้ายวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์เลย นั่นก็คือวิชา "คณิตศาสตร์ไม่ต่อเนื่อง" (DISCRETE MATHEMATICS) ตามชื่อเลยคือ จะเรียนศาสตร์ของคณิตที่เป็นความไม่ต่อเนื่องทั้งหมด เนื้อหาจะเน้นไปที่การพิสูจน์ (proof) ด้วยวิธีต่างๆ บางโรงเรียนอาจจะเคยเรียนแล้ว ซึ่งจะไปเร็วมากๆ เพราะเนื้อหาก่อนมิดเทอมคือเรียน proof หมดเลยจ้าา ซึ่งเราก็ไม่เคยเรียนมาก่อนเลย มาเริ่มใหม่ในห้องเรียนหมด บางวิธีก็เข้าใจ บางวิธีก็ยังงงๆ มิดเทอมไม่รู้คะแนนแต่คิดว่าคะแนนตัวเองไม่โอเคแน่ๆ เลยมาดันไฟนอลต่อ ในเนื้อหาหลังมิดเทอมจะเริ่มเน้นไปที่ตัวเลข การคำนวณมากขึ้น แต่จะเป็นการคำนวณที่ใช้ความรู้ด้านคอมมาประยุกต์ด้วย เช่น การเข้า/ถอดรหัส การหาสมการกำลังสองโดยวิธี Lagrange การ sort ข้อมูล การหาวิถีที่สั้นที่สุด (ถ้านึกไม่ออก ให้นึกถึงเกมข้ามสะพานให้ครบทุกสะพานในครั้งเดียวอะครับ) machine learning เป็นต้น ซึ่งบางเรื่องก็ยากอยู่พอตัว ไฟนอลเลยมั่นใจแค่ 70% เกรดออกมาก็ตามที่ตัวเองทำได้ แต่ส่วนใหญ่เกรดดีเกินคาดมากๆ ถ้าไม่เข้าใจเนื้อหาในห้องเรียน สามารถหาในเน็ตได้ มีเยอะมาก แต่แนะนำให้ดูของอิ้งนะครับ เนื้อหาจะดูง่ายกว่า และน่าจะถูกต้องมากกว่า อาจารย์จะสอนแยกกลุ่มกันครับ เราได้กลุ่มที่อาจารย์เฮฮามาก ตามทันข่าวสารแบบสุดๆ ล้อการเมื-- บ่อยมากๆ ถือว่าชอบมากๆครับ ฮา

เกรดที่ได้ : B+ 

วิชาหลักตัวแรกของเทอม 2 นี้ เป็นภาคต่อจากเทอมแรกเช่นกันครับ ตามหลอกหลอนจนบ้าคลั่งไปเลย!! นั่นก็คือวิชา "แคลคูลัส2" (CALCULUS 2) ในเทอมนี้แคลจะเจอเนื้อหาพวกลำดับอนุกรมที่ต้องใช้ limit เข้ามาช่วยด้วย (คล้ายๆลำดับอนุกรมตอนมัธยม แต่ใช้ limit เยอะมาก มีหลายวิธีการหา ขึ้นอยู่กับโจทย์ด้วย) เจอเนื้อหาพวกเวกเตอร์ แล้วก็วนกลับมาที่ limit derivative integrate เช่นเดิม ปกติแล้วจะเรียนแค่ตัวแปรเดียวใช่มั้ยครับ มาเทอมนี้จัดไปเลย "หลายตัวแปร!!" หมายความว่า ใน function นั้นๆจะประกอบไปด้วยตัวแปรที่มากกว่า 1 ตัวแปรครับ อย่างเช่น f(a) = x^2 + 2y + 2x + y^2 อะไรประมาณนี้ครับ แต่ก็ไม่ได้ยากมากจากเนื้อหาปกติครับ โดยรวมคือพวกเนื้อหา limit derivative integrate ก็จะเหมือนเทอม 1 แต่ advance ขึ้นมาหน่อย บวกกับเพิ่มเนื้อหาลำดับอนุกรมและเวกเตอร์มาด้วย อาจารย์จะแยกกลุ่มกันสอน แล้วแต่ว่าใครจะโชคดีได้อยู่กลุ่มไหนครับ ของเราคือได้อยู่กลุ่มที่อาจารย์สอนดีมาก น่ารัก เป็นกันเองกับเด็กมากๆ จะชอบสอนโจทย์เยอะๆเลยทีเดียว แทนที่จะเน้นเนื้อหาแล้วทำโจทย์น้อยๆ มิดเทอม&ไฟนอลถือว่าโอเคมากๆ เกรดก็ตามคาดเลยครับ 

เกรดที่ได้ : A 

วิชาหลักตัวที่ 2 ก็เป็นวิชาที่เราคุ้นเคยกันในเทอม 1 ครับ แต่ถูกแบ่งย่อยแยกออกมาสอนเป็นวิชาใหญ่อีกครั้ง นั่นก็คือวิชา "ความน่าจะเป็น" (PROBABILITY) ตามชื่อเช่นกันครับ เนื้อหาจะเน้นไปที่การหาความน่าจะเป็น การหาความน่าจะเป็นจากการแจกแจงต่างๆ (การแจกแจงสะสม/การแจกแจงไม่สะสม/การแจกแจงทวีคูณ) ดูเหมือนไม่เยอะนะครับ แต่เนื้อหาที่เรียนจริงๆจัดเต็มมากๆ อาจารย์มีคนเดียวครับ ถ้าตั้งใจฟังในห้องเรียน อาจารย์สอนเข้าใจมากๆๆๆๆๆ ไม้ยมกล้านตัว ชีทเรียนคืออ่านอย่างเดียวก็เข้าใจ เพราะอาจารย์ทำชีทเรียนเอง  (แต่แนะนำให้ฟังอาจารย์สอนด้วย จะ perfect มากๆ) อาจารย์ใจดีมากๆๆๆๆๆ แต่จะมีเกณฑ์ตัดเกรดสูงหน่อย แต่ไม่น่ามีปัญหาถ้าเราทำข้อสอบได้ ข้อสอบก็คือออกตามที่เรียนเลย ใครตั้งใจเรียนในห้องเก็บเต็มยังได้เลยครับ มิดเทอม&ไฟนอลของเราถือว่าโอเคมากๆ เกรดก็แอบหวังนิดๆเพราะเกณฑ์สูง ก็ได้ตามที่หวังเช่นกันครับ 

เกรดที่ได้ : A 

อิ้งเทอมที่ 2 นี้จะเรียนรูปแบบเดียวกับเทอม 1 ครับ เนื้อหาก็จะเริ่มเข้มข้นขึ้นมาหน่อย พวก grammar ก็จะเริ่มมีการนำมาใช้ 2-3 tense ด้วยกันเยอะขึ้น ส่วนเรื่องอื่นๆก็ตามเดิมครับ เทอมนี้ลงเลือกได้อาจารย์ที่เค้าดูคุยเก่งนิดนึงครับ แต่สอนจริงๆก็เข้าใจเหมือนกัน มิดเทอมเลยทำได้ดีขึ้น แต่ไฟนอลจะยากหน่อยเลยไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ เกรดออกมาก็แอบผิดหวังนิดหน่อยครับ (หวังสูงไป ฮา) อาจจะเพราะเราสะเพร่าเอง แต่ก็ตั้งใจมากที่สุดจริงๆ 

เกรดที่ได้ : B+ 

หมายเหตุ ; วิชาเลือก 2 ตัวนี้ตามตารางสอนจะให้ลงหมวดวิทย์คณิตกับหมวดสังคมนะครับ

หมายเหตุ 2 ; จะลงนอกเหนือจากนี้ก็ได้ แต่ต้องเช็คตารางสอนของตัวเองด้วยว่าวิชาเลือกที่ลงกับวิชาภาค/หลัก/อิ้ง ชนกันมั้ย

=====================================

ก็จบไปแล้วนะครับสำหรับรีวิว 1 ปี กับสิ่งที่ต้องเจอในวิทย์คอม ลาดกระบัง + รีวิวเรื่องเกรดไปด้วย เราไม่ได้ต้องการจะอวยว่าตัวเองเก่งนะครับ เพราะนี่ก็เริ่มต้นมาจาก 0 หมดทุกด้านจริงๆ เขียนโปรแกรมก็ไม่เคยเขียน คณิตก็คืนครูหมดแล้ว แต่อยากจะสื่อว่า อย่างน้อยถ้าเราพยายาม เราตั้งใจ เราให้ใจกับมันเยอะๆ ยังไงผลที่ได้มันต้องดีแน่นอนครับ อาจจะเหนื่อยหน่อย แต่ก็ถือว่าคุ้มค่าความเหนื่อยครับ ใครที่กำลังจะเข้ารั้วมหาวิทยาลัยหรือกำลังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยทุกคนสู้ๆนะครับ อย่าเพิ่งท้อ อย่าเพิ่งหมดหวัง เราจะเป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ ฮึบ!

ขอบคุณทุกคนที่อ่านมาจนจบตรงนี้นะครับ ใครมีอะไรสงสัย อยากทักมาสอบถามปรึกษาเรื่องการเรียน การใช้ชีวิต ทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัย ทักมาสอบถามได้ตลอดนะครับ (ยกเว้นตอนนอน ฮา) ตาม social network นี้เลยย 

FB : www.facebook.com/charrylecnz

หรือใครอยากให้รีวิวอะไรภายในสาขา ภายในคณะของลาดกระบังก็ทักมาบอกได้เลยครับ จะพยายามรีวิวให้เท่าที่รู้นะครับ ฮา 

ขอบคุณทุกคนมากครับ ไว้เจอกันกระทู้หน้า สวัสดีครับ

วิทยาการคอมพิวเตอร์ ลาดกระบัง - Pantip