วัฒนธรรมความเชื่อเกี่ยวกับสุขภาพ

Skip to content

ชีวิตและสุขภาพที่ดีในมุมมอง ความหลากหลายของวัฒนธรรมสุขภาพ

นับแต่โบราณกาลมามนุษย์แสวงหาหนทางที่จะมีชีวิตที่ดีและมีความสุข ด้วยภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จึงเกิดเป็นความหลากหลายของเป้าหมายของชีวิตที่ดีและสุขภาพที่ดี ซึ่งในบางกรณีนั้นการมีชีวิตอยู่เพื่อเป้าหมายในเชิงอุดมคติแห่งความเป็นมนุษย์และการมีสุขภาพดีเป็นเรื่องเดียวกัน แต่บางกรณีสองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่แยกขาดจากกัน ดังนั้นวิถีแห่งการปฏิบัติจึงแตกต่างกันไปด้วย ตัวอย่างเช่น

การแพทย์แผนจีนให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลระหว่างขั้วของพลังสองด้าน โดยทฤษฎีแล้วการแพทย์แผนจีนเชื่อว่า มนุษย์ในการสร้างกายเนื้อที่เรียกว่า จิง (精) เชื่อว่าจิงนี้เก็บไว้ที่ไต มีหน้าที่กำกับดูแลพัฒนาการร่างกาย การเติบโต จิงที่ติดตัวมาก่อนกำเนิด จะแปรเปลี่ยนเป็นหยวนชี่ (元氣) เป็นพลังชีวิตที่ติดตัวมาแต่เมื่ออยู่ในครรภ์มารดา พลังชีวิตนี้จะทำหน้าที่ควบคุมพัฒนาการทางร่างกาย ตั้งแต่การเติบโตจนถึงภาวะการแก่ชรา โดยชี่นี้จะหมุนเวียนอยู่ในร่างกายเรา ทั้งในอวัยวะภายนอกและอวัยวะภายในคอยควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ เมื่อชีวิตดำเนินไปเรื่อยๆ หยวนชี่ก็จะสูญเสียไปเรื่อยหมดเมื่อไหร่ก็สิ้นชีวิต ทั้งจิงและหยวนชี่จะทำงานรวมกันสัมพันธ์กัน การรักษาจิงและหยวนชี่ ไม่ให้สูญเสียไปจึงไปกำหนดวิถีชีวิตของมนุษย์ เริ่มตั้งแต่การกินอาหารที่มีประโยชน์สอดคล้องกับธาตุของร่างกาย ไม่กินอาหารหวานหรือมัน หลีกเลี่ยงน้ำแข็งน้ำเย็น ซึ่งจะทำให้เสียสมดุลของพลังในร่างกาย ต้องมีการพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อปรับพลังหยินหยางให้สมดุล ฝึกฝนการหายใจและการออกกำลังกายที่จะช่วยกระตุ้นพลังชี่ รักษาจิตใจให้แจ่มใสไม่ขุ่นมัว มีเพศสัมพันธ์ในเวลาและจำนวนที่เหมาะสม เพื่อรักษาพลังชีวิต ฯลฯ หากบ่มเพาะฝึกฝนให้ถูกต้องแล้ว ในความเชื่อของศาสนาเต๋า สามารถทำให้มนุษย์ก้าวข้ามข้อจำกัดในร่างกายไปสู่สภาวะอมตะหรือเป็นเซียนได้

การแพทย์ไทยแต่เดิม มองว่าแต่ละบุคคลมีลักษณะพื้นฐานร่างกายและจิตใจมาตั้งแต่เกิด ที่เรียกว่า ธาตุเจ้าเรือน และที่เกิดโรคต่างๆ ขึ้นเป็นเพราะการแปรปรวนของธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน (ปฐวีธาตุ) น้ำ (อาโปธาตุ) ลม (วาโยธาตุ) ไฟ (เตโชธาตุ) อันมีปัจจัยเกิดจาก ความเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ อายุของบุคคล ธาตุที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามเวลาในแต่ละวัน และลักษณะภูมิประเทศที่มีผลต่อธาตุเจ้าเรือน ด้วยเหตุนี้โดยทฤษฎีการแพทย์แผนไทยนั้น มองชีวิตและธรรมชาติมีความเชื่อมโยงกัน เมื่อมีการเสียสมดุลแห่งธาตุต่างๆ ความผิดปรกติจึงเกิดขึ้น การดำรงชีวิตที่ดีปรกติคือ การใช้ชีวิตให้เกิดความสมดุลระหว่างธาตุเจ้าเรือนและธรรมชาติภายนอกรอบๆ ตัว หากทำให้เกิดภาวะเกินพอดีในด้านการกินการอยู่ หรือการดำเนินชีวิต ก็จะนำไปสู่การเสียสมดุลและเกิดความแปรปรวนในกายใจ

การแพทย์ตะวันตกสมัยใหม่ที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ พร้อมกับความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาพร้อมกับโลกทัศน์แบบกลไก เห็นสรรพสิ่งในจักรวาลเป็นกลไกที่มีความแน่นอนในการดำเนินไป จึงมองมนุษย์ว่าเป็นสิ่งหนึ่งในธรรมชาติเหมือนของอื่นๆ การเกิดขึ้นของมนุษย์เป็นกลไกตามธรรมชาติ มีความเป็นวิทยาศาสตร์ตรวจสอบได้ ไม่มีความเกี่ยวพันกับสิ่งอื่นที่เหนือธรรมชาติ หากเกิดความเจ็บป่วยก็เหมือนเครื่องจักรชำรุด ต้องหาจุดที่มีปัญหาและซ่อมแซม จึงเน้นไปที่ความเข้าใจร่างกายของมนุษย์ด้วยความรู้จากเรื่องกายวิภาค แยกแยะเป็นอวัยวะต่างๆ ย่อยลงไปจนถึงระดับเนื้อเยื่อ เซลส์ ซอยย่อยเล็กลงไปเรื่อย การพัฒนาเครื่องมือในการวัดและตรวจสอบระบบต่างๆ ในร่างกายนำมาคิดคำนวณหาค่ามาตรฐาน อาทิ การวัดความดัน การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ การวัดความเข้มข้นของเลือด นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เราเรียกกันว่าเชื้อโรค การพัฒนาการรักษาด้วยการผ่าตัด เทคโนโลยีในการผลิตยา การใช้เครื่องมือการรักษาที่ค้นพบใหม่ๆ เช่น เครื่องเอกซเรย์ เครื่องฉายรังสี ทั้งหมดได้กำหนดวิธีการดูแลรักษาโรคและการดำเนินชีวิตให้ปลอดพ้นจากโรค ชีวิตจึงเป็นเรื่องของกายภาพและวัตถุ เมื่อป่วยผู้รักษาคือผู้ชำนาญการในการซ่อมแซมร่างกาย

ความแตกต่างของการมองชีวิตในความหลากหลายของวัฒนธรรมสุขภาพ จึงทำให้มนุษย์มีมุมมองต่อความป่วยไข้ หรือความมีสุขภาพดีแตกต่างกันไป แม้ว่าบางครั้งร่างกายอาจเจ็บป่วยด้วยอาการคล้ายคลึงกัน แต่ท่าทีต่อความป่วยไข้อาจแตกต่างกันไป

เอกสารอ้างอิง
Good Life Habits According to Chinese Medicine [Online].(n.d.) Available from: http://www.shennong.com/eng/lifestyles/tcmrole_health_maintenance_habits.html[10 April 25, 2017]
Keekok Lee. The philosophical foundations of modern medicine. New York: Palgrave Macmillan, 2012.
Knight, David M. The making of modern science: science, technology, medicine and modernity: 1780-1914. Cambridge : Polity, ©2009.
การแพทย์แผนไทย[ออนไลน์]. (มปป.) แหล่งที่มา: http://www.spko.moph.go.th/wp-content/uploads/2013/07/ทฤษฎีการแพทย์แผนไทย-สระแก้ว1.pdf[๑๐ เมษายน ๒๕๖๐]
คมสัน ทินกร ณ อยุธยา. หลักทฤษฎีการแพทย์แผนไทย คือตราชูแห่งการวินิจฉัย[Facebook status update]. (26 October, 2014) แหล่งที่มา: https://www.facebook.com/komsondinakara/posts/311508025705207[๑๐ เมษายน ๒๕๖๐]
สุด แสงวิเชียร. การแพทย์แผนโบราณของไทยที่สืบต่อถึงปัจจุบัน ใน สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๘ เรื่องที่ ๑ ประวัติการแพทย์และเภสัชกรรมไทย[ออนไลน์]. (มปป.) แหล่งที่มา: http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/other_sub.php?file=encyclopedia/book8.html[๑๐ เมษายน ๒๕๖๐]
โสรัจ นิโรธสมาบัติ. ท้องน้อย ศูนย์แห่งพลังชีวิต[ออนไลน์]. (๒๕๕๙) แหล่งที่มา: http://www.thailandhealthnews.com/15849112/คุยกับแพทย์แผนจีน[๑๐ เมษายน ๒๕๖๐]