ปัญหาการศึกษาไทยในปัจจุบัน แนวทางแก้ไข

การแก้ปัญหาการศึกษา : ถึงเวลาต้องให้ยาแรง

เผยแพร่: 7 ม.ค. 2558 15:37   โดย: ประทีป แสงเปี่ยมสุข

โดย...ประทีป แสงเปี่ยมสุข
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ

คุณภาพการจัดการศึกษาของประเทศไทย จากการประเมินตรวจสอบของหลายสำนักล้วนสอดคล้องกันว่า อยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง คุณภาพตกต่ำติดต่อกันมาหลายปี นักเรียนด้อยคุณภาพ เราปฏิรูปการศึกษากันมาหลายครั้ง ลงทุนด้านการศึกษาไปค่อนข้างสูง แต่คุณภาพยังตกต่ำ ไม่ประสบความสำเร็จเลย ควรจะทบทวนและใคร่ครวญดู การแก้ปัญหาการจัดการศึกษาจึงถึงเวลาต้องให้ยาแรง โดยอาจใช้วิธีการหรือแนวทางที่ผู้เขียนจะนำเสนอต่อไปนี้

1. การประเมิน/ตรวจสอบสถานศึกษาหรือบุคลากรของสถานศึกษาทุกประเภท ทุกครั้งของทุกหน่วยงานต้องประเมินที่ตัวนักเรียนอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการประเมินคุณภาพสถานศึกษาของ สมศ.การประเมินกิจกรรมดีเด่นทุกประเภท เช่น สถานศึกษาดีเด่น การประกวดกิจกรรมดีเด่นของสถานศึกษา การประเมินผู้บริหารดีเด่น ครูดีเด่น ฯลฯ ไม่ใช่ประเมินตรวจสอบเพียงเอกสาร/หลักฐานที่สถานศึกษาจัดเตรียมไว้ให้ ต้องประเมินที่ตัวนักเรียนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ อย่างน้อยต้องประเมินการอ่านและเขียนภาษาไทยด้วยคำพื้นฐานทุกระดับชั้นเป็นเบื้องต้น นอกจากนั้นควรประเมินทักษะของผู้เรียน เช่น ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการคิด และทักษะการสื่อสาร เป็นต้น โดยให้นักเรียนปฏิบัติจริง ต้องยอมเสียเวลาไปบ้าง อย่าประเมินเอกสาร/หลักฐานเพียงอย่างเดียว

2. การกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปยังส่วนภูมิภาคอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงนโยบายที่สวยหรู แต่ในทางปฏิบัติกระทำได้น้อย ส่วนกลางจะกำหนดแนวทางการปฏิบัติโดยระดมความคิดจากนักวิชาการที่อยู่ส่วนกลางแล้วสั่งการไปยังส่วนภูมิภาค โครงการ/กิจการบางกิจกรรมดำเนินการเหมือนกันตั้งแต่เชียงรายถึงนราธิวาส สิ้นปีงบประมาณครั้งหนึ่งส่วนภูมิภาคจะตั้งตารอคอยโอกาส/กิจกรรม/แนวทางจากส่วนกลางไม่มีโอกาสคิดเองทั้งหมด ปีใดที่การมอบหมายให้ส่วนภูมิภาคคิดเอง ทำเอง จะทำไม่ค่อยถูก ติดขัดเพราะไม่เคยชิน ส่วนกลางต้องใจเย็นๆ แม้จะไม่ได้ผลในปีแรกๆ ก็จะค่อยๆ ดีไปเองในปีหลังๆ ส่วนกลางเพียงคอยดูแลให้กำลังใจ ยกย่องให้รางวัล จัดเวทีให้นำผลงาน/กิจกรรมเด่น ในอดีตที่ผ่านมาส่วนกลางจะมอบให้ส่วนภูมิภาคคิดเองทำเองเพียง 20% พอเป็นกระสัยให้ได้ชื่อว่าได้กระจายอำนาจแล้ว ควรกระจายอำนาจการจัดการศึกษาทุกอย่างให้ส่วนภูมิภาคทั้ง 100% เรามีสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงหลายแห่งในแต่ละภูมิภาค เรามีข้าราชการที่มากประสบการณ์แม้จะเกษียณราชการไปแล้วก็เชิญมาระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมกันแก้ปัญหา

3. การปรับหลักสูตร พึงตระหนักอยู่เสมอว่า การปรับหลักสูตรไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทุกครั้งที่มีปัญหาทางการศึกษา เรามักจะมองที่หลักสูตร จับหลักสูตรเป็นจำเลยของสังคม ทั้งๆ ที่ปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาเกิดจากองค์ประกอบหลากหลายอาจไม่ใช่สาเหตุจากหลักสูตรก็ได้ เราไม่เคยมองที่กระบวนการนำหลักสูตรไปใช้ กระบวนการนิเทศติดตาม ปัญหาอาจจะอยู่ตรงนั้นก็ได้ เอาเถอะไหนๆ ก็จะปรับหลักสูตรเพราะดำเนินการได้ง่ายและสะดวก ก็ขอเสนอแนวในการดำเนินการปรับหลักสูตร รูปแบบการปรับหลักสูตรควรดำเนินการให้เหมือนการซ่อมแซมบ้าน ตรงไหนชำรุด บกพร่อง ตรงไหนไม่ดีก็ปรับเฉพาะส่วนนั้น ไม่ใช่รื้อบ้านสร้างใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่หน้าปกถึงหน้าสุดท้าย กล่าวคือ ทำใหม่ทั้งเล่มนั่นแหละ จะเป็นภาระให้กับสถานศึกษาและครูผู้สอน แทนที่จะใช้เวลาในการเตรียมการสอน การคิดค้นนวัตกรรม หรือวิธีการใหม่ๆ ที่ประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอน

4. ทบทวนรูปแบบการเลื่อนวิทยฐานะของบุคลากร การประเมินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะให้สูงขึ้น เป็นครูชำนาญการ (ซี 7) ครูชำนาญการพิเศษ (ซี 8) ครูเชี่ยวชาญ (ซี 9) และครูเชี่ยวชาญพิเศษ (ซี 10) ดำเนินการมาหลายปี มีจำนวนครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะสูงขึ้นอยู่มากมาย การเลื่อนวิทยฐานะครู ก็คือ ให้ครูคิดค้นและสร้างสื่อ/นวัตกรรมหรือแนวทางที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาในโรงเรียนของตน แล้วนำไปพัฒนาการเรียนการสอนในชั้นเรียนของตนให้มีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนส่งเสริม แต่ที่เราน่าจะทบทวนดูว่า ครูและบุคลากรที่เลื่อนวิทยฐานะไปหลายปีแล้วยังคงใช้หรือพัฒนาต่อยอดสื่อ/นวัตกรรมหรือแนวทางการพัฒนาในการจัดการเรียนการสอนหรือพัฒนาการศึกษาอยู่หรือไม่ หรือได้พัฒนาผลงานทางวิชาการของตนเองไปแค่ไหน หรือเลิกใช้แล้ว

ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว สำนักงาน กค.ศ.ได้เคยสร้างเครื่องมือติดตามผู้ที่เคยได้เลื่อนวิทยฐานะไปแล้ว แต่ติดขัดที่ขาดบุคลากรที่จะไปประเมินติดตามซึ่งต้องใช้จำนวนมาก เลยเลิกไปทั้งๆ ที่ได้ใช้งบประมาณในการสร้างเครื่องมือไปแล้วเป็นจำนวนมาก ควรจะนำเครื่องมือชุดนั้นปัดฝุ่นกลับมาใช้ใหม่ โดยใช้วิธีสุ่มผู้ที่จะไปประเมิน มอบให้ผู้ว่าฯ ผอ.เขตพื้นที่ และผู้ทรงคุณวุฒิดำเนินการสุ่มจังหวัดละประมาณ 20-50 คน/ปี ก็จะเป็นการกระตุ้นให้บุคลากรกลับมาพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา โดยรัฐบาลไม่ต้องลงทุนอะไรเลย

ถึงเวลาแล้วที่การพัฒนาการศึกษาหรือการแก้ปัญหาการจัดการศึกษาต้องใช้แนวทางนอกกรอบบ้าง แทนที่จะยึดแนวทางเดิมๆ ที่ยึดถือกันมา ต้องพัฒนาให้ถึงตัวเด็กให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

ปัญหาการศึกษาไทยในปัจจุบันและแนวทางการแก้ปัญหา

1.              ปัญหาการศึกษาไทยมีอะไรบ้าง

ปัญหาของการจัดการศึกษาไทยในปัจจุบัน

อย่างที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบัน การศึกษาไทยนั้นตกต่ำลงอย่างมาก และยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในเร็ววันนี้ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นแทบจะกลายเป็นปัญหาคาราคาซัง ซึ่งปัญหาเหล่านี้คือปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเหล่าเด็กไทยที่เข้าเรียนในระบบการศึกษาไทย และปัญหาเหล่านี้ แทบจะเห็นกันอย่างชินชา เช่นปัญหาเหล่านี้

1. คุณภาพการศึกษาพื้นฐานตกต่ำ

ปัญหาการศึกษาไทยในปัจจุบัน แนวทางแก้ไข


ในการจัดการทดสอบการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test: O-Net) ในทุกๆปีนั้น ผลที่ออกมามักจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันในทุกๆปี นั่นก็คือ เด็กไทยมีความรู้ต่ำกว่ามาตรฐานอยู่เสมอๆ หรือแม้แต่การศึกษาขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economics Co-operation and Development, OECD) ที่รู้กันในชื่อของ PISA (Programme for International Students Assessment) พบว่านักเรียนไทยที่จัดได้ว่ามีความรู้วิทยาศาสตร์อยู่ในระดับสูงมีเพียง 1% เท่านั้นเอง ทั้งๆที่เราใช้เวลาในการเรียนการสอนมากกว่า 8 ชม. ต่อวัน
PISA
 ยังพบว่า เด็กไทย 74% อ่านภาษาไทยไม่รู้เรื่อง คือมีตั้งแต่อ่านไม่ออก อ่านแล้วตีความไม่ได้ วิเคราะห์ความหมายไม่ถูก หรือแม้แต่ใช้ภาษาให้เป็นประโยชน์ในการศึกษาวิชาอื่นๆ แต่เรากลับมองสภาพเหล่านี้ด้วยความเคยชิน และยังคงเชื่อว่าลูกหลานของเราจะต้องได้รับการพัฒนาโดยการจัดการศึกษาแบบเดิมๆอย่างทุกวันนี้




2. ปัญหาของครู

ในประเทศฟินแลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่คุณภาพการศึกษาสูงอันดับต้นๆในโลก วิชาชีพที่ประชาชนนิยม และให้การยอมรับนับถือมากที่สุดคือ วิชาชีพครู แต่ในประเทศไทย สังคมกลับเห็นว่าในปัจจุบันวิชาชีพนี้ ไม่เป็นที่นิยมเท่ากับการประกอบอาชีพหมอ หรือวิศวกรตามที่สังคมได้คาดหวัง
ประเทศไทยมีการผลิตครูมากถึงปีละประมาณ
 12,000 คน ในขณะที่อัตราการบรรจุครูใหม่ในแต่ละปีมีเพียง 3-4 พันคนเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าในแต่ละปี บัณฑิตครูที่จบออกมาใหม่จะมีการตกงานเบื้องต้นเกือบหนึ่งหมื่นคน แต่ในภาพรวมประเทศไทยยังนับว่าขาดแคลนครู โดยเฉพาะครูในสาขาวิชาสำคัญๆ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษา เป็นต้น ยังพบอีกว่า ไม่มีความชัดเจนทางนโยบายในการที่จะสนับสนุนให้ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่ตรงกับเนื้อหาสาระ ในทางตรงกันข้ามยังกลับพบมาตรการในเชิงกีดกันอีกด้วย เช่น การกำหนดให้ผู้ที่จะรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ต้องไปเรียนเพิ่มเติมอีกอย่างน้อยหนึ่งปี เป็นต้น

ปัญหาการศึกษาไทยในปัจจุบัน แนวทางแก้ไข

ปัญหาที่เป็นอมตะของครูไทยเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องหนี้สินครู ที่เป็นคำถามว่า ทำไมเรื่องหนี้สินจึงจะต้องเป็นเรื่องที่คู่กับวิชาชีพนี้ อันที่จริง หากคิดให้เป็นธรรม ก็คงต้องยอมรับว่าประเทศไทยเรามีโครงสร้างเงินเดือนในระบบราชการที่โบราณจนไม่เหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เรามีความแตกต่างระหว่างเงินเดือนแรกเข้าทำงานกับเงินเดือนที่พึงได้รับสูงสุดในชีวิตการทำงานถึงเกือบ 10 เท่า ในขณะที่ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายจะพบความแตกต่างเพียง 3-4 เท่า ซึ่งหมายความว่า บุคคลจะได้รับค่าจ้างเมื่อแรกเข้าทำงานสูงมากเพียงพอที่จะยังชีพได้ เมื่อครูไม่ได้รับค่าตอบแทนที่จะสามารถดำรงชีพได้อย่างปกติ จึงเป็นเรื่องยากที่จะเกิดแรงจูงใจให้คนเก่งมาเป็นครูเมื่อครูไม่เก่ง เด็กจะเก่งได้อย่างไร

3. ขาดแคลนบัณฑิตแต่บัณฑิตก็ยังตกงาน

ประเทศเราไม่มีแผน และกลไกการกำกับการผลิตกำลังคนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ในขณะที่ผู้สำเร็จการศึกษาในบางสาขามีมากมายจนล้นงาน จนพบเนืองๆ ว่า ในการรับสมัครงานบางตำแหน่ง มีผู้สมัครหลายหมื่นคนเพื่อแย่งกันเข้าทำงานที่มีการรับเพียงไม่กี่สิบอัตรา แต่บางสาขาวิชากลับขาดแคลนกำลังคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม และทางด้านการแพทย์ เราต้องการให้มีผู้เข้าศึกษาสายอาชีวะประมาณครึ่งหนึ่ง จึงจะทำให้มีกำลังคนเพียงพอต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า มีผู้เข้าเรียนอาชีวะเพียง 27% ทั้งนี้ นับรวมถึงผู้ที่ไม่ได้เรียนสายอาชีวะแท้ แต่ไปเรียนอยู่ในวิทยาลัยอาชีวะด้วย เช่น สาขาด้านการบริหาร ซึ่งหมายความว่า หากนับสายช่างจริงๆ จะมีจำนวนน้อยกว่านั้นมาก กลายเป็นว่าในปัจจุบันเด็กที่เข้าเรียนในการจัดการศึกษาในระบบนั้นมีอนาคตที่ค่อนข้างชัดเจนว่าจะต้องตกงาน และปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด

4. คุณภาพอุดมศึกษา/ปริญญาเฟ้อ

มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มมีปัญหาเรื่องหาคนเข้าเรียน ทำให้ประสบปัญหาเรื่องความคุ้มทุน นำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องดำเนินการด้านการตลาดทุกวิถีทาง และมุ่งเปิดสอนแต่สาขาวิชาที่ทำได้ง่าย ต้นทุนต่ำ และได้เงินเร็ว ซึ่งระบาดไปทุกระดับชั้นปริญญา เรามีบัณฑิตล้นงานในหลายสาขา แต่ขณะเดียวกันก็มีการขาดแคลนในสาขาวิชาที่ยากๆ มหาวิทยาลัยจำนวนมากมุ่งหาเงินจนเป็นระบบการศึกษาเชิงปริมาณ ความจำเป็นที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดเช่นนี้ อาจพอเข้าใจได้สำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งต้องแบกภาระค่าดำเนินการต่างๆ ด้วยรายได้ที่ต้องหามาเอง
ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ได้กระจายเข้าไปสู่มหาวิทยาลัยของรัฐด้วย ในรูปแบบของการเพิ่มจำนวนนักศึกษาโดยตรง หรือการจัดทำเป็นโครงการพิเศษในลักษณะต่างๆ รวมทั้งเปิดสอนนอกสถานที่ตั้ง ซึ่งหากวิเคราะห์การเงินของโครงการเหล่านี้แล้วจะพบว่าส่วนใหญ่กลายเป็นค่าสอนของอาจารย์ สถานการณ์เช่นนี้ลุกลามไปจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่า ปริญญาเฟ้อ ทุกระดับชั้นปริญญา กลายเป็นค่านิยมของสังคมที่ต้องเรียนอย่างน้อยถึงปริญญาโท และกำลังจะคุกคามต่อไปถึงปริญญาเอก

5. การขาดวิจัยและพัฒนา ขาดนวัตกรรม และปัญหาความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม

ในปี 2548 อาจารย์อุดมศึกษาไทยรวมประมาณ 50,000 คน ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเพียง ประมาณ 2,000 ฉบับ ในจำนวนนี้ 90% เกิดมาจากมหาวิทยาลัยเพียง 8 แห่ง ซึ่งหมายความว่ามหาวิทยาลัยที่เหลืออีกร้อยกว่ามหาวิทยาลัยตีพิมพ์เพียง 10% เท่านั้นเอง แต่ถ้าดูในรายละเอียด ยังพบว่าแม้ในมหาวิทยาลัยที่ตีพิมพ์มากที่สุดรวม 8 แห่งนี้ เมื่อเฉลี่ยตามจำนวนอาจารย์แล้ว มีการตีพิมพ์เพียงคนละ 0.12 บทความเท่านั้นเอง ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ อาจารย์ของเขาจะตีพิมพ์คนละไม่ต่ำกว่า 2 ฉบับต่อปี มากกว่าที่ดีที่สุดของเราถึง 20 เท่า

ในภาพรวมการตีพิมพ์ของอาจารย์ในสหรัฐอเมริกา ประมาณปีละ 200,000 ฉบับ ญี่ปุ่น 50,000 ฉบับ สหราชอาณาจักร 40,000 จีน 12,000 อินเดีย เกาหลี สิงคโปร์ ประมาณ 10,000 ฉบับ เป็นต้น ข้อมูลเช่นนี้ชี้ชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยของเราอ่อนด้อยในด้านการวิจัย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ หากเราไม่มีการวิจัย เราก็จะขาดทุนทางปัญญา ในโลกยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ ส่งผลต่อความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ เมื่อประเทศเราขาดงานวิจัย เราจึงเสียเปรียบทางเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งหมดนี้ เกิดมาจากที่ระบบการศึกษาที่มีความอ่อนแอด้านการวิจัย

ปัญหาการศึกษาไทยในปัจจุบัน แนวทางแก้ไข


ปัญหาเหล่านี้คือปัญหาคาราคาซังที่ส่งผลต่อประเทศชาติมาหลายยุคหลายสมัย แต่ก็ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดการพัฒนาในด้านที่ดีขึ้นแต่อย่างไร หนำซ้ำผู้ที่ได้รับปัญหาโดยตรงที่สุดคือเยาวชนไทยที่จะต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ยังเป็นปัญหาเหล่านี้อยู่ทุกปี และปลายทางของพวกเค้าก็คือความล้มเหลวอย่างที่ไม่น่าเกิดขึ้นในประเทศที่ขึ้นชื่อว่ากำลังพัฒนา ทั้งๆที่จริงแล้วนั้นเยาวชนและพ่อแม่ผู้ปกครองต่างคาดหวังว่าการศึกษาคือเครื่องมือในการพัฒนาชีวิตของเด็กและเยาวชน ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องกลับมาดูว่า เมื่อเราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว เรายังจะเลือกส่งบุตรหลานเข้าเรียนในระบบการศึกษาไทย หรือเลือกที่จะจัดการศึกษาด้วยตนเองให้มีประสิทธิภาพแทน

2.            มีความสำคัญ และผลระทบต่อผู้เกี่ยวข้องและประเทศชาติอย่างไร

การศึกษามีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ

ปัญหาการศึกษาไทยในปัจจุบัน แนวทางแก้ไข

การศึกษาเป็นกระบวนการที่มุ่งพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพมีความสามารถเต็มศักยภาพ มีการพัฒนาที่สมดุลทั้งสติปัญญา จิตใจ ร่างกาย และสังคม เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การศึกษาเป็นกระบวนการถ่ายทอดและเรียนรู้ในการที่จะสร้างสรรค์และ พัฒนาคนทั้งในแง่ความรู้ ความคิด ตลอดจนคุณธรรมและจริยธรรมเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข สามารถสนองตอบทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติ ซึ่งประเทศที่ต้องการความก้าวหน้าต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนโดยอาศัยการศึกษาเป็นเครื่องมือ สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและมีปัญหาเกี่ยวกับกำลังคนที่จะตอบสนองนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างมาก อันสืบเนื่องมาจากระบบและวิธีการจัดการศึกษาที่ไม่สามารถสร้างและกระจายโอกาส รวมทั้งคุณภาพการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทิศทางการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคอุตสาหกรรมที่ผ่านมาและการก้าวสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ในทศวรรษที่ 21 ดังนั้นระบบการศึกษาของประเทศไทยจึงถูกท้าทายจากแรงผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมค่อนข้างมาก

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ระบุว่าการจัดการศึกษา มี 3 รูปแบบที่สามารถให้บริการแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง คือ การศึกษาในระบบที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการจัดการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดผลและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน ส่วนการศึกษานอกระบบโรงเรียนเป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล โดยเนื้อหาสาระของหลักสูตรต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม และการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อม และโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อ หรือแหล่งความรู้อื่นๆ

ความสำคัญของการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยต่อการพัฒนาประเทศ คือ การที่มุ่งเน้นในการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนแต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะสนองตอบต่อความต้องการในการเรียนรู้ของประชาชนได้อย่างทั่วถึง จึงจำเป็นต้องมีการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งมีลักษณะยืดหยุ่นสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างหลากหลายและทั่วถึงมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง รวมทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นที่จะสร้างวิธีการใหม่ๆ ในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยทำให้การเรียนรู้เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวและแสวงหาได้โดยง่ายสำหรับประชาชนทั่วไป

มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีที่มีประโยชน์ก็ จะต้องฝึก ต้องเรียนรู้ การเรียนรู้ การฝึกฝนพัฒนานี้เป็นความพิเศษของมนุษย์ มนุษย์ที่ฝึกตนหรือมีการเรียนรู้ จึงเปลี่ยนแปลงไปและทำให้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย

การศึกษามีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค โลกาภิวัตน์ที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประชาชนในชาติจำเป็นต้องได้รับการศึกษาในหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้มีการพัฒนาที่สมดุลทั้งสติปัญญา จิตใจ ร่างกาย และสามารถอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ซึ่งการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในสังคมอันจะนำไปสู่ความเข้าแข็งของชุมชนที่ยั่งยืนและความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติเท่าเทียมอารยประเทศ

สำหรับประเทศไทยการจัดการศึกษาในอดีตเป็นลักษณะการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ก่อนที่จะจัดตั้งโรงเรียนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และการจัดการศึกษามีวิวัฒนาการ มีการปรับเปลี่ยน ปฏิรูปให้ อนุวัตรตามสากลเรื่อยมา สำหรับการจัดการศึกษาที่ไม่ใช่การศึกษาในระบบโรงเรียนส่วนใหญ่จะเป็นไปตามวิถีชีวิตและรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ได้กำหนดชื่อเรียกที่ชัดเจน จนถึง พ.ศ. 2483 จึงได้มีการจัดการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ที่อยู่นอกวัยเรียนขึ้น ต่อมาได้ดำเนินการทางราชการกำหนดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรงเรียกว่า กองการศึกษาผู้ใหญ่ และเปลี่ยนเป็นกรมการศึกษานอกโรงเรียนในลำดับต่อมา ซึ่งการจัดการศึกษาทุกระยะล้วนให้ความสำคัญของการศึกษาต่อการพัฒนาประเทศเสมอมา พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาต่อการพัฒนาประเทศ โดยกำหนดไว้ในหมายเหตุว่าสมควรให้มีกฎหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้เป็นไปอย่างมีระบบและต่อเนื่อง มีการบริหารและจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพเพื่อทำให้ประชาชนได้มีโอกาสเรียนรู้ และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนได้ตามศักยภาพ เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และภูมิปัญญา อันจะมีผลในการพัฒนากำลังคนและประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

กล่าวโดยสรุปได้ว่า การศึกษาความมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง เพราะการศึกษาเปรียบประดุจเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพของคน ซึ่งหากสังคมหรือประเทศใดประชาชนโดยเฉลี่ยมีการศึกษาอยู่ในระดับต่ำสังคมหรือประเทศนั้นก็จะด้อยการพัฒนากว่าสังคมหรือประเทศที่ประชาชนโดยเฉลี่ยมีการศึกษาอยู่ในระดับสูง

3.            แนวทางการแก้ปัญหาการศึกษาของไทย

แนวทางการแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน

ประเด็นหลักในการคิวแนวปฏิบัติก็คือ จะวางยุทธศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงอย่างไรที่ทำให้เกิดผลดีที่สุด และกระทบกระเทือนทางลบน้อยที่สุด เพราะการเปลี่ยนแปลงย่อมมีผลทางลบได้เสมอเหมือนยารักษาโรคที่ใช้เกินขนาดจะมีผลข้างเคียง นอกจากนั้นยุทธศาสตร์หรือวิธีการเปลี่ยนแปลงต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรน้อยที่สุด เรียกว่าจะเอามีดฆ่าโคไปฆ่าไก่ก็คงไม่ถูก ต้องออกแบบเครื่องมือผ่าตัดให้เหมาะสมกับระดับของโรค จากแง่คิดดังกล่าว จึงมีข้อเสนอในการปฏิรูป ดังนี้

1.             ปฏิรูประบบการเรียนการสอนและการประเมินผล

ยุทธศาสตร์นี้เป็นยุทธศาสตร์ของการปฏิรูปทั้งหมด เพราะหากเปลี่ยนแปลง ณ จุดนี้ได้จะมีผลต่อการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาและสามารถแก้ไขปัญหาของความสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนเตรียมคนเพื่อการศึกษาต่อตลอดชีวิตได้ด้วย และในการปฏิรูปในข้อนี้จำเป็นต้องปรับระบบการบริหารจัดการด้วย ฉะนั้นการแก้ไขในจุดนี้จึงเป็นหลักชัยของขบวนการปฏิรูปทั้งหมดประเด็นสำคัญ คือ ปัจจัยตัวแปรใดที่จะทำให้เกิดระบบการเรียนการสอนที่พึงปรารถนา ณ จุดนี้เรายังไม่ได้พูดกันถึงนิยามคำว่า "ระบบการเรียนการสอนที่พึงปรารถนา" แต่ขอสมมุติว่านักวิชาการศึกษามีความเข้าใจตรงกันในระดับหนึ่ง ฉะนั้นจะขออนุญาตข้ามไปกล่าวถึงปัจจัยตัวแปรที่ทำให้เกิดระบบการเรียนการสอนที่พึงปรารถนา คำตอบตรงนี้ ตามการศึกษาค้นคว้าของผู้เขียนคิดว่ามีปัจจัยตัวแปร 6 ตัวด้วยกัน คือ

1. การปรับหลักสูตรและกำหนดปรัชญาของการจัดกระบวนการเรียนการสอนที่ดี รายละเอียดก็ควรจะไปพิจารณากันในหมู่นักวิชาการครู และผู้บริหาร คงยังไม่มีเวลาจะพิจารณากัน ณ ที่นี้

2. การฝึกอบรมครู และการพัฒนาครู สอดคล้องกับข้อแรก

3. การเป็นผู้นำที่ดีของอาจารย์ใหญ่ และผู้อำนวยการโรงเรียน

4. การจัดอุปกรณ์การเรียนการสอน ตำรา หนังสือ ให้มีความเพียงพอแก่สถานศึกษา

5. ระบบการประเมินผลที่สอดคล้องกับจุดประสงค์และปรัชญาของหลักสูตรข้อ 1

6. ชุมชนให้การสนับสนุน