ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย 2022



เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - สถานการณ์การพัฒนาประชาธิปไตยในไทยพัฒนาขึ้นในปี 2022 สูงมากที่สุดในโลกจากทั้งหมด 167 ประเทศและดินแดน ตามการจัดลำดับดัชนีประชาธิปไตยของสถาบันวิจัย EIU ของอังกฤษ อยู่ลำดับที่ 55 สวนทางกับหลายชาติในเอเชียที่ย่ำอยู่กับที่หรือมีการพัฒนาลดลง ส่วนสหรัฐฯ ชาติผู้นำทางเสรีภาพยังติดหล่ม “ประชาธิปไตยที่มีข้อบกพร่อง” มาตั้งแต่ปี 2016 จำกัดสิทธิการยุติตั้งครรภ์กลายเป็นตราบาปสิทธิพลเมืองอยู่ในลำดับที่ 30 ของโลก

เอบีซีนิวส์ของออสเตรเลียรายงานวันนี้ (2 ก.พ.) ว่า กลายเป็นที่ฮือฮาเมื่อสถาบันวิจัยชื่อดังที่ก่อตั้งเมื่อปี 1946 The Economist Intelligence Unit หรือ EIU ที่มีฐานอยู่ในกรุงลอนดอน อังกฤษ รายงานสถานการณ์ความเคลื่อนไหวประชาธิปไตยทั่วโลกจากดัชนีประชาธิปไตยล่าสุดประจำปี 2022 โดยเป็นการจัดลำดับ 167 ประเทศและดินแดนทั่วโลก ซึ่งมีปัจจัยการตัดสิน 5 ด้าน ได้แก่ (1) กระบวนการเลือกตั้ง (2) การทำงานของรัฐบาล (3) การเข้าร่วมทางการเมือง (4) วัฒนธรรมทางการเมือง และ (5) เสรีภาพพลเมือง

EIU ชี้ว่า “ไทย” ถือเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางประชาธิปไตยมากที่สุดในโลกในปีที่ผ่านมา โดยไทยสามารถเลื่อนชั้นจากลำดับที่ 72 ในปี 2021 มาอยู่ในลำดับที่ 55 ของโลกในปี 2022 ขณะที่รัสเซียถูก EIU ชี้ว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยเลวร้ายมากที่สุดในโลก และตกชั้นจากลำดับที่ 124 ของปี 2021 มาอยู่ที่ลำดับ 146

ขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นชาติผู้นำทางประชาธิปไตย แต่ทว่าสหรัฐฯ ถูก EIU ลดชั้นจาก “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” (full democracy) มาอยู่ที่ "ประชาธิปไตยที่มีข้อบกพร่อง" (flawed democracy) ในปี 2016 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผิวสี บารัค โอบามา และอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีนั้น และยังคงติดอยู่ในกลุ่มข้อบกพร่องทางประชาธิปไตยมาจนถึงปีที่ผ่านมา

สำหรับไทยนั้น EIU แสดงความเห็นว่า เป็นความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยในไทยจากที่มีการพัฒนาอย่างมหาศาลในพื้นที่มากขึ้นสำหรับพรรคฝ่ายค้านในไทย มีการเข้าร่วมทางการเมืองมากขึ้น และภัยคุกคามลดลงจากความเคลื่อนไหวของการแบ่งแยกดินแดน โดยในรายงานชี้ไปว่า ในปีที่ผ่านมาการเข้าร่วมทางการเมืองของประชาชนในการประท้วงมีอย่างกว้างขวางที่อย่างเห็นได้ชัดในไทย รวมไปถึงจีน มองโกเลีย และศรีลังกา

EIU กล่าวว่า พรรคการเมืองในไทยต่างแสวงหาการจัดตั้งรัฐบาลพรรคผสมหลังการเลือกตั้งปีนี้ (2023) นั้นยังคงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเอสแทบลิชเมนท์ของกองทัพ

เอบีซีนิวส์ระบุว่า EIU ไทยยังคงจำเป็นต้องพัฒนาทางประชาธิปไตยต่อไปเป็นเพราะรัฐบาลยังคงเป็นผู้กุมอำนาจเครื่องมือทางความมั่นคงและกระบวนการทางยุติธรรม ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มตารางชาติประชาธิปไตยที่มีข้อบกพร่องเช่นเดียวกับสหรัฐฯ อินเดีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียที่อยู่ร่วมในกลุ่มนี้ แต่ต่างจากฮ่องกงที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มรัฐบาลไฮบริด (Hybrid regime) ขณะที่ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อยู่ในกลุ่มประชาธิปไตยสมบูรณ์

ด้านกลุ่มประเทศที่อยู่ในกลุ่มรัฐบาลอำนาจเผด็จการ (Authoritarian regimes) ในเอเชียได้แก่ จีน เวียดนาม ลาว เกาหลีเหนือ ซึ่ง EIU วิจารณ์พม่าว่า ในปีที่ผ่านมามีการพัฒนาประชาธิปไตยเลวร้ายมากที่สุดจากการลิดรอนเสรีภาพสื่อหลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ปี 2021 และครบรอบ 2 ปีของการรัฐประหารไปเมื่อวานนี้ (2) และพม่ายังถูก EIU จัดอยู่ในกลุ่มประเทศรัฐบาลอำนาจเผด็จการ และอยู่ในลำดับดัชนีการพัฒนาประชาธิปไตยของโลกที่ 166 ไม่ห่างจากเกาหลีเหนือที่อยู่ในลำดับที่ 165 และอัฟกานิสถานที่ 167 ซึ่งเป็นลำดับท้ายสุด

เป็นการจัดลำดับตั้งแต่

Full democracies
Flawed democracies
Hybrid regimes
Authoritarian regimes

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าการวิเคราะห์ทางประชาธิปไตยของ EIU ที่ใช้การวิเคราะห์ตามมาตรฐานตามแบบตะวันตก จัดภูฏานให้อยู่ในลำดับที่ 84 ของการพัฒนาทางประชาธิปไตย เกิดในประเทศที่มีการใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายอิงหลักศาสนาพุทธมหายาน

ภูฏานถูก EIU จัดให้อยู่ในตารางรัฐบาลไฮบริด (Hybrid regimes) ซึ่งเป็นอันดับทางประชาธิปไตยอยู่ในกลุ่มที่ 3 ก่อนกลุ่มที่ 4 คือรัฐบาลอำนาจเผด็จการ

ในสายตาของกระทรวงต่างประเทศไทย ภูฏาน ถือเป็นราชอาณาจักรและมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคซอร์ นัมเกล วังชุก สังคมของภูฏานถือเป็นสังคมเกษตรกรรมที่เรียบง่าย ประชาชนดำเนินชีวิตตามวิถีทางพุทธศาสนานิกายมหายาน และใช้ทฤษฎีความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness) เป็นหลัก อ้างอิงจากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ

สื่อออสเตรเลียชี้ว่า ไทยเป็นชาติเดียวในเอเชียที่มีการพัฒนาทางประชาธิปไตยมากที่สุดในโลก ในขณะที่ชาติอื่นๆ ในเอเชียหากไม่หยุดนิ่งก็มีการพัฒนาแบบถอยหลังและหล่นจากชั้นการจัดลำดับ

โดยจากทั้งหมด 28 ชาติในภูมิภาคเอเชีย มี 9 ประเทศที่มีลำดับดีขึ้น ขณะที่อีก 7 ประเทศลำดับไม่มีการเปลี่ยนแปลง และอีก 12 ชาติถูกลดชั้นลงในปีที่ผ่านมา เป็นต้นว่า จีนที่มีการสั่งล็อกดาวน์โควิด-19 และรัฐบาลรัฐประหารในพม่าที่ยังคงอยู่ต่อไป

ซึ่งนอกเหนือจากไทยที่อยู่ในตารางการพัฒนาประชาธิปไตยมากที่สุดในโลกที่มีทั้งหมด 10 ชาติในกลุ่มนี้ พบว่า ศรีลังกาและกัมพูชายังติดโผร่วมในตารางการพัฒนานี้ด้วยเช่นกัน โดยกัมพูชาอยู่ในลำดับ 10 ท้ายสุดของตาราง

ขณะที่ฮ่องกงถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 10 ประเทศที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยเลวร้ายมากที่สุดในปีที่ผ่านมา อยู่ในลำดับที่ 88 ขณะที่จีนถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 156 ร่วมชั้นกับทาจิสถาน

ทั้งนี้ ชาติอื่นๆ ในเอเชีย เป็นต้นว่า ลาวอยู่ในลำดับที่ 159 กัมพูชาอยู่ในลำดับที่ 121 เวียดนามอยู่ในลำดับที่ 138 ฟิลิปปินส์ อยู่ในลำดับที่ 52 สิงคโปร์ 70 มาเลเซีย 40 อินโดนีเซีย 54 ไต้หวันอยู่ในลำดับที่ 10 ญี่ปุ่นอยู่ในลำดับที่ 16 เกาหลีใต้อยู่ในลำดับที่ 24 และอินเดียอยู่ในลำดับที่ 46 เป็นต้น

ทั้งนี้ กลุ่มชาตินอร์ดิกได้แก่ นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ ผงาดในดัชนีประชาธิปไตยของ EIU ประจำปี 2022 โดยมีนอร์เวย์ขึ้นนำเป็นอันดับ 1 และมีคะแนนความสมบูรณ์ประชาธิปไตยที่ 10 ซึ่งเป็นคะแนนสูงสุด






  • พม่า
  • สหรัฐฯ
  • ไทย
  • EIU