ในสมัย รัชกาลที่ 3 การ ทำ ศึก สงครามกับ ชาติ ใด ที่ นับ ว่า เป็นการ ทำสงคราม ที่ ยาวนาน ที่สุด

“อานามสยามยุทธ” สงครามยาวนาน ๑๔ ปีไทย-ญวน รบจนหมดแรงทั้งคู่! แต่ที่ย่อยยับคือเขมร!!

เผยแพร่: 29 พ.ย. 2564 09:49   ปรับปรุง: 29 พ.ย. 2564 09:49   โดย: โรม บุนนาค


ก่อนที่จะเจริญวิสุทธิ์ผุดผ่องในวันนี้ ไทยเราต้องทำสงครามกับประเทศรอบด้านมานับครั้งแทบไม่ถ้วน ส่วนใหญ่แล้วก็มาจากถูกรุกรานจึงต้องตอบโต้และตอบแทน แต่สงครามยาวนานที่สุดกลับต้องรบกับประเทศที่ชายแดนไม่ได้ติดกัน คือญวน ซึ่งมีเขมรกั้น และสาเหตุของการรบก็คือเขมร

เขมรนั้นเป็นประเทศที่อยู่ระหว่างประเทศใหญ่ที่มีกำลังเข้มแข็งกว่า จึงต้องขึ้นกับไทยหรือไม่ก็ขึ้นกับญวน เมื่อขึ้นกับไทยอีกฝ่ายที่อยากมีอำนาจก็หันไปซบญวน และเมื่อขึ้นกับญวนอีกฝ่ายก็หันมาซบไทยเช่นกัน ประเทศจึงหาความสงบสุขไม่ได้ แตกแยกเป็น ๒ ฝ่ายมาตลอด

ไทยต้องการผูกพันกับเขมรไว้เพื่อให้เป็นกันชนกับญวน ส่วนญวนก็ต้องการรุกเข้ามามีอิทธิพลในเขมรเพื่อไม่ให้ไทยเข้าครอบงำ เพราะจะเป็นอันตรายต่อญวน เขมรจึงตกเป็นที่เดินเกมของไทยกับญวนมาตลอด

ในช่วงเปลี่ยนถ่ายรัชกาลที่ ๒ เป็นที่ ๓ ของไทย ญวนได้ครอบงำเขมรและแซกซึมไปถึงลาวด้วย โดยหนุนให้เจ้าอนุวงศ์เป็นกบฏต่อไทย แต่เมื่อไทยปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์เรียบร้อยแล้ว พระเจ้ามินมาง กษัตริย์ญวน ทรงพิโรธเจ้าเมืองพวนที่ส่งตัวเจ้าอนุวงศ์ให้ไทยเพราะกลัวไทยจะตามไปตี จึงให้ประหารชีวิตเสีย และมีหนังสือมาถึงไทยให้ส่งตัวพระวิชิตสงคราม เจ้าเมืองนครพนม ที่สังหารคนถือสารของกษัตริย์ญวนถึงแม่ทัพไทยเพราะคิดว่าเป็นเล่ห์กลของญวนไปรับโทษอีกคน ทั้งยังเรียกร้องที่จะมีส่วนในการปกครองเวียงจันทน์ด้วย ความสัมพันธ์ของญวนกับไทยจึงตึงเครียด

ในปี ๒๓๗๖ ได้เกิดกบฏขึ้นในเมืองไซ่ง่อน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะกำหราบญวน เพราะศึกทางพม่าก็คงไม่มีแล้ว เนื่องจากถูกอังกฤษยึดครองไปเกือบครึ่งประเทศ จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) เป็นแม่ทัพไปปลดปล่อยเขมรที่กำลังจะถูกญวนกลืนเป็นญวนไปเลย และให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เป็นแม่ทัพเรือ ไปช่วยพวกกบฏที่ไซ่ง่อน

เมื่อกองทัพไทยเข้าเขมร นักองค์จันทร์ กษัตริย์เขมร ได้หนีไปสิ้นและพระชนม์ที่ญวน ไทยได้ตั้งนักองค์ด้วงซึ่งมาบวชเรียนที่กรุงเทพฯกลับไปเป็นกษัตริย์เขมร ส่วนญวนก็ตั้ง นักองค์แป้น พระธิดาของนักองค์จันทร์ เป็นกษัตริย์เขมรส่วนที่ตนยังยึดครอง ส่วนนักองค์อิ่ม อนุชาของนักองค์ด้วงก็แปรพักตร์ไปเข้ากับญวน เกิดจลาจลขึ้นในเขมร ทัพสยามที่ถอยออกมาแล้วจึงต้องกลับเข้าไปปราบกบฏอีก

ญวนได้ส่ง องเตียนกุน เป็นแม่ทัพใหญ่มาช่วยฝ่ายที่นิยมตน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะมาตลอด แต่ที่ยับเยินก็คือบ้านเมืองเขมรที่กลายเป็นสมรภูมิ อีกทั้งเมืองเขมรที่ญวนยึดได้ องเตียงกุนก็จะกลืนให้เป็นญวนไปเลยทั้งศาสนาวัฒนธรรม ถึงกับเปลี่ยนชื่อตำแหน่งขุนนางเขมรเป็นภาษาญวน และให้แต่งตัวเป็นญวนด้วย

ยิ่งกว่านั้น ญวนได้บังคับนักองค์แป้น กษัตรีย์เขมรที่ตัวแต่งตั้ง ให้อภิเษกกับโอรสของพระเจ้ามินมาง ทำให้นักองค์แป้นและนักองค์อิ่มไม่พอใจ แปรพักตร์อีกครั้งหันมาพึ่งไทย เมื่อองเตียนกุนทราบเรื่องจึงจับราชวงศ์เขมรทั้งหมด นักองค์แป้นสิ้นพระชนม์ขณะถูกคุมขัง ชาวเขมรต่างลุกฮือกันเข้าเข่นฆ่าทหารญวน เกิดเป็นจลาจลไปทั่ว เลยเป็นโอกาสให้เจ้าพระยาบดินทรเดชายกกำลังเข้ากระหนาบกองทัพญวนจนต้องถอยออกไปตั้งหลักที่เมืองโชดก หรือ เจาด๊ก ที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง องเตียนกุนเสียใจที่พ่ายแพ้จึงกินยาตาย พระเจ้าเทียวตรี กษัตริย์ญวนองค์ใหม่ได้ส่ง องต๋ากุน มาเป็นแม่ทัพคนใหม่ พร้อมกับกองกำลังอีกหลายหมื่น เพื่อจะยึดเขมรคืนจากไทยให้ได้

สงครามระหว่างไทยกับญวนครั้งนี้ ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ในนาม “อานามสยามยุทธ์” คำว่า อานาม หรือ อันนัม เป็นชื่อที่จีนเรียกญวนขณะที่อยู่ใต้การปกครองของจีน สงครามได้ดำเนินมาตั้งแต่ปี ๒๓๗๖ จนถึงปี ๒๓๙๐ เป็นเวลาถึง ๑๔ ปี จนต่างฝ่ายต่างอ่อนแรงด้วยกันทั้งคู่ ในที่สุดก็เปิดการเจรจาสงบศึกต่อกัน โดยให้ฝ่ายไทยคงสิทธิในการสถาปนากษัตริย์เขมร แต่เขมรต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้ญวนทุก ๓ ปี เป็นอันสงบศึกกันได้

หลังสงครามครั้งนี้ ได้มีนักเขียนชาวเขมรที่อยู่ร่วมยุคสมัย ได้บันทึกไว้ว่า

“...เมืองในเวลานั้นแตกแยกอัตคัดขัดสน ในแต่ละหมู่บ้านเงินหนึ่งเรียลไม่มี หนีทิ้งนาไร่สวนเพาะปลูก ไม่มีการปลูกไถคราดดำนา พ่นทิ้งเพราะกลัวญวนสยามมันมากำแหงเกี่ยวเอาข้าวในนา ต้นมะพร้าวหมากและต้นไม้กินผลทั้งหลายตัดทิ้งกว่าครึ่ง แล้วในหมู่บ้านซึ่งปู่ซึ่งพ่อของข้าเขาเคยเห็นรู้จัก จากเดิมมีบ้าน ๑๕๐ หลังนั้น เห็นอยู่แต่บ้าน ๖๐ หลัง ๕๐ หลัง ๒๕ หลัง

ส่วนราษฎรที่อยู่ในเมืองก็น้อยกว่าเดิม พวกสมณะชีพราหมณ์ก็เกิดทุกข์เวทนา เพราะมันบุกปล้นพระวิหารอารามขนเอาพระพุทธรูปองค์ใดซึ่งเป็นทองเป็นเงินเป็นสำริด แล้วมันเผาพระวิหารวัดอารามเป็นจำนวนมากทิ้ง ส่วนวัดใดซึ่งเหลือนั้นหาหลังคาไม่มี หลังคานั้นทรุดแยกตกไปครอบบนอาสนะพระ หาใครจะมีจิตคิดซ่อมแซมไม่มี เพราะกังวลแต่จะรบ ด้วยแล้งฝนเรื่อยมาจน ๕๐ ปี เมือง หมู่บ้านแตกแยกหนีทิ้งสงัดสูญเงียบหน้า ควรให้วังเวงใจตรอมตรมมากน่าเวทนา หญิงซึ่งมีลูกน้อยๆ นั่งโอบหัวเข้าหน้าเศร้ามองแต่ลูกตาปริบๆ...”

“...ที่เกิดสงครามในเมืองเขมรแล้วลงสัญญาทำสะพานไมตรีเสร็จแล้วนั้น พวกมหาศัตรูเราทั้งสองฝ่าย คือ กษัตริย์สยามและกษัตริย์ญวนซึ่งยังกวนเอาแผ่นดินเราอีก กษัตริย์สยามเอาเมืองส่วนทางเหนือ คือ เมืองเสียมราบ มีนครธมกรุงเมืองเขมรเรา และเมืองพระตะบอง มลูไพร (มโนไพร) ตวนเลโรปึว และเมืองเขมรทั้งหลายซึ่งอยู่ริมทะเลทางทิศตะวันตก ส่วนกษัตริย์ญวนเอาแผ่นดินเขมรทั้งหลายทางด้านใต้ คือ ไพรนคร (ไซ่ง่อน) โคชินจีนปัจจุบันนี้ ไปจนถึงแพรกจีก (คลองขุด) เมืองเปียม (บันทายมาศ) ทางตะวันตกส่วนทางตะวันออกเอาตลอดไปคู่กับกรุงพนมเปญ...”

และได้กล่าวถึงความรู้สึกในพระทัยของสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี (นักองค์ด้วง) ซึ่งมีต่อไทยและเวียดนามไว้ว่า

“...สมเด็จเจ้าแผ่นดินเราท่านเกิดทุกข์กังวลพระทัยเหมือนราษฎรด้วย เพราะทรงเล็งเห็นว่าสยามและญวนมันคิดเอาเมืองเขมรเข้ารวมในเมืองของมันเรื่อยไป เพียงแต่มันรวมเข้าไม่ทันได้เพราะมันเป็นศัตรูกันและแบ่งกันไม่ได้ ด้วยมันใคร่ได้ทั้งหมดเหมือนกัน เจ้าเราท่านกังวลพระทัยอีกอย่างหนึ่ง เพราะสยามมันใคร่ทำนุบำรุงท่านๆไม่สบพระทัย เพราะมันไม่ให้ท่านเป็นกษัตริย์แผ่นดินเมืองเขมร มันให้ท่านเป็นเหมือนแค่เจ้าเมืองๆเขมร ส่วนญวนมันให้ท่านยอมขึ้นอยู่ใต้อำนาจมัน เหตุดังนี้พระองค์จึงเฝ้าแต่กังวลพระราชหฤทัยเกรงเกิดสงครามใหม่ขึ้นอีก เกรงเมืองเขมรจะพินาศอันตรายและสิ้นสุดหมดเชื้อสายเขมร เกรงมีอยู่แต่สยาม หรือมีอยู่แต่เขมรซึ่งเกล้าผมจากข้างในเหมือนเป็นพนองเสตียง เอาผ้าโพกหัวเหมือนเป็นญวน...”

ด้วยเหตุไม่ไว้ใจทั้งสยามและญวน สมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี จึงทรงตัดสินพระทัยติดต่อกับฝรั่งเศสและพยายามให้ฝรั่งเศสเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองระหว่างไทยกับญวน แล้วผลเป็นยังไงก็รู้กันอยู่ หนีเสือปะจระเข้

ทุกประเทศเขาก็ทำเพื่อผลประโยชน์ของเขาเท่านั้น เราเองก็ต้องทำเพื่อความมั่นคงและความสงบสุขของคนในประเทศ ที่สำคัญเมื่อประเทศอื่นเขายื่นมือมาช่วยเหลือเราเมื่อใด ให้ระวังว่านั่นจะเป็นกลมารยา ไม่มีใครเขาให้เปล่าหรอก และที่เขาสนับสนุนให้เรียกร้องเสรีภาพ ภราดรภาพ ประชาธิปไตย ก็เพื่อจะยุแยกให้แตกความคิดเป็น ๒ ฝ่ายเข้าทำลายกันเอง พอเราแตกแยกกันเมื่อไรก็เปิดช่องให้เขาเขมือบเอาผลประโยชน์จากเรา อ่านประวัติศาสตร์แล้วจะรู้ว่ามันเป็นเช่นนี้มาทุกยุคสมัย ที่เรามีแผ่นดินอยู่กันอย่างร่มเย็นผาสุกทุกวันนี้ ก็เพราะบรรพบุรุษของเรารักชาติ รักประเทศ รักคนไทยด้วยกัน ไม่เห็นชาติอื่นดีกว่าคนไทยที่จะต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขอยู่ในแผ่นดินนี้ด้วยกันตลอดไป