การรับ บุตรบุญธรรม แบบสมบูรณ์

เรื่องสำคัญที่บุตรบุญธรรมและผู้รับบุตรบุญธรรมต้องรู้

Published by law_admin on 19/02/202219/02/2022

Show
การรับ บุตรบุญธรรม แบบสมบูรณ์
การรับ บุตรบุญธรรม แบบสมบูรณ์

การรับ บุตรบุญธรรม แบบสมบูรณ์
การรับ บุตรบุญธรรม แบบสมบูรณ์

เรื่องสำคัญที่บุตรบุญธรรมและผู้รับบุตรบุญธรรมต้องรู้ !

 

         เรื่องนี้ เหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงนั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวของใครหลายๆคนมาก อย่างเช่น ตัวของทนายความผู้เขียนเอง ก็เป็นลูกบุญธรรมของป้าเช่นกัน และผู้เขียนก็เชื่อว่าในปัจจุบันนี้ หลายๆครอบครัวก็แต่งงานกันแล้ว แต่ก็ยังไม่มีลูกเนื่องจากแต่งงานตอนอายุมากแล้ว ดังนั้น การรับบุตรบุญธรรมก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

         ซึ่งกฎหมายก็ได้กำหนดเงื่อนไขของการรับบุตรบุญธรรมเอาไว้ โดยคนที่จะรับผู้อื่นเป็นบุตรบุญธรรมได้นั้น จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุมากกว่าคนที่จะมาเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี

         ยกตัวอย่าง เช่น นางสาวอั้มซึ่งมีอายุ 25 ปีบริบูรณ์ ต้องการรับเด็กซักคนเป็นบุตรบุญธรรม เด็กคนนั้นก็ต้องมีอายุไม่เกิน 10 ปี นางสาวอั้มจึงจะมีสิทธิรับเป็นบุตรบุญธรรมได้

         และถ้าผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรส ก็ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน เว้นแต่ คู่สมรสไม่สามารถให้ความยินยอมได้ เช่น เป็นคนวิกลจริต หรือไปจากที่อยู่และหาตัวไม่พบเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ก็ต้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตแทน

         การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย ซึ่งสามารถจดได้ที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ และจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม (กรณีมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์) หรือบิดา มารดาของผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม (กรณีอายุต่ำกว่า 15 ปี)

         ซึ่งที่กล่าวไปนั้นเป็นเพียงรายละเอียดคร่าว ๆ ของการรับบุตรบุญธรรม ส่วนเรื่องที่ทนายผู้เขียนตั้งใจจะนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านในบทความนี้นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างบุตรบุญธรรมและผู้รับบุตรบุญธรรม

         เนื่องจากว่า ตามกฎหมายนั้นได้กำหนดให้คนที่เป็นบุตรบุญธรรมนั้น มีฐานะอย่างเดียวกับลูกแท้ ๆ ของผู้รับบุตรบุญธรรม ดังนั้น เมื่อผู้รับบุตรบุญธรรมถึงแก่ความตาย บุตรบุญธรรมจึงมีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรมเหมือนลูกแท้ ๆ คนหนึ่ง

         นอกจากนั้น บุตรบุญธรรมยังคงมีสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ตนได้กำเนิดมา เช่น มีสิทธิได้รับมรดกของพ่อแม่ที่แท้จริง หรือมีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่ที่ให้กำเนิดอยู่

         แต่ในทางกลับกัน การรับบุตรบุญธรรมนั้น ไม่ได้ทำให้ผู้รับบุตรบุญธรรมมีสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรมแต่อย่างใด กล่าวคือ หากบุตรบุญธรรมทำงานมีฐานะหรือมีทรัพย์สินขึ้นมาก และเกิดเสียชีวิตก่อนผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้รับบุตรบุญธรรมก็จะไม่ได้รับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรมเลย

         อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีช่องทางของกฎหมายอยู่บ้าง คือ หากบุตรบุญธรรมต้องการให้พ่อหรือแม่บุญธรรมของตนได้รับมรดก ก็สามารถทำพินัยกรรมยกให้กับผู้รับบุตรบุญธรรมได้

.

สถิตย์ อินตา ทนายความ

083-5681148

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : [email protected]
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

ความรักความเอ็นดูของผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีต่อบุตรหลานบุคคลอื่น บางครั้งก็อยากให้บุตรหลานผู้อื่นมาเป็นบุตรของตน เมื่ออยากรับบุคคลใดมาเป็นบุตรบุญธรรม ก็ต้องทำให้ครบถ้วนและถูกต้องตามกฎหมายดังนั้น

จะรับบุตรบุญธรรมได้โดยสมบูรณ์ ต้องทำอย่างไรบ้าง

มีหลักพิจารณาดังนี้

  1. คุณสมบัติของผู้รับบุตรบุญธรรมจะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 25 ปี (หากต่ำกว่า 25 ปี การรับบุตรบุญธรรมไม่สมบูรณ์ แม้ต่อมาจะมีอายุครบ 25 ปี ก็ตาม) และผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุมากกว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี

  2. การรับบุตรบุญธรรมได้ ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมด้วย

  3. กรณีผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ที่จะเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมมีคู่สมรส ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน(คู่สมรสต้องจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย) การให้ความยินยอมของคู่สมรสไม่ทำให้คู่สมรสเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมไปด้วย

  4. ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดอยู่ จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ (เว้นแต่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม)

เมื่อการรับบุตรบุญธรรมสมบูรณ์แล้ว จะเกิดผลดังนี้

       1.บุตรบุญธรรมมีฐานะเดียวกันกับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม

        2.บิดามารดาโดยกำเนิดหมดอำนาจปกครอง บุตรบุญธรรมมีสิทธิใช้นามสกุลของผู้รับบุตรบุญธรรมได้

        3.บุตรบุญธรรมมีสิทธิได้รับการอุปการะจากผู้รับบุตรบุญธรรมในระหว่างที่ตนเป็นผู้เยาว์ แต่ก็ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ต่อบิดามารดาโดยกำเนิดของตน

        4. บุตรบุญธรรมมีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม แต่ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรม

หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมนะครับ

ปรีกษาทนายความโจ ฟรี 

  • Facebook iconFacebook
  • Twitter iconTwitter
  • LINE iconLine