ได้ รับ ยกย่อง ว่า เป็น เอตทัคคะ ด้าน ทรง จำ วินัย

แม้ว่าพระมหาสาวกจะมีอยู่ถึง ๘๐ รูป ดังกล่าวมาแล้ว แต่ก็มีเพียง ๔๑ รูปเท่านั้นที่ได้รับการยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะจากพระพุทธเจ้า เพราะตำแหน่งเอตทัคคะคือ ตำแหน่งที่พระพุทธเจ้าทรงประทานให้แก่พระสาวกผู้มีความสามารถเป็นเลิศเฉพาะด้านต่างๆ เพื่อเป็นการยกย่อง และพระอสีติมหาสาวก ๔๑ รูปนั้นได้รับยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะก็ด้วยเหตุผล ๔ ประการ คือ

  • 1. ได้รับยกย่องตามเรื่องที่เกิด (อตฺถุปฺปตฺติโต) หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกรูปนั้นๆ ได้แสดงความสามารถออก มาให้ปรากฏโดยสอดคล้องกับเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้น
  • 2. ได้รับยกย่องตามที่สะสมบุญมาแต่อดีต (อาคมนโต) หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกรูปนั้นๆ ได้สร้างบุญสะสมมาแต่ อดีตชาติ พร้อมทั้งตั้งจิตปรารถนาเพื่อบรรลุตำแหน่งเอตทัคคะนั้นด้วย
  • 3. ได้รับยกย่องตามความเชี่ยวชาญ (จิณฺณวสิโต) หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกรูปนั้นๆ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง เป็นพิเศษ สมตามที่ตั้งจิตปรารถนามา
  • 4. ได้รับยกย่องตามที่มีความสามารถเหนือผู้อื่น (คุณาติเรกโต) หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกรูปนั้นๆ มีความสามารถ ในเรื่องที่ทำให้ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะเหนือกว่าพระสาวกรูปอื่นๆ ที่มีความสามารถอย่างเดียวกัน

คุณลักษณะสำคัญของพระอสีติมหาสาวก

พระอสีติมหาสาวก มีทั้งที่ได้รับยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะและที่มิได้รับยกย่องไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะซึ่งเป็นไปตามความปรารถนา แต่ถึงอย่างไรพระอสีติมหาสาวก ๒ กลุ่มนี้ก็มีความสำคัญที่ควรกล่าวถึงไว้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา และความสำคัญของพระอสีติมหาสาวกนั้นแยกกล่าวได้เป็น 2 ประการ คือ

๑. คุณลักษณะสำคัญส่วนตน

ได้แก่ คุณลักษณะสำคัญที่เกิดจากความเป็นผู้ได้บำเพ็ญบารมีมามาก การได้บรรลุอภิญญา และความเป็นผู้มีเถรธรรม

ก. ความเป็นผู้ได้บำเพ็ญบารมีมามาก หมายถึง การได้บำเพ็ญบารมีมาเพื่อเป็นพระมหาสาวกไว้หลายต่อหลายชาติ ปรมัตถทีปนี กล่าวว่า “พระสาวกของพระพุทธเจ้าใช่ว่าจะเป็นพระมหาสาวกได้ทุกรูป ท่านที่บำเพ็ญบารมีมาเพื่อการนี้เท่านั้นจึงจะเป็นได้ และต้องบำเพ็ญบารมีสิ้นระยะเวลา ๑๐๐,๐๐๐ กัป”

อนึ่ง นอกจากบำเพ็ญบารมีสิ้นระยะเวลา ๑๐๐,๐๐๐ กัปแล้ว พระอสีติมหาสาวกยังต้องบำเพ็ญ ‘คตปัจจาคตวัตร’ อยู่ตลอดเวลาประกอบอีกด้วย ปรมัตถทีปนี กล่าวว่า “วัตรนี้ผู้ที่ปรารถนาเป็นพระมหาสาวกต้องบำเพ็ญ มิเช่นนั้นแล้วก็ไม่สามารถบรรลุถึงความเป็นพระมหาสาวกได้เลย”

ข. การได้บรรลุอภิญญา หมายถึง การได้บรรลุความรู้ชั้นสูง ความรู้ชั้นสูงเรียกว่า อภิญญา มี ๖ คือ

  • (๑) อิทธิวิธี ความรู้ที่ทำให้สามารถแสดงฤทธิ์ได้
  • (๒) ทิพพโสต ความรู้ที่ทำให้เกิดหูทิพย์
  • (๓) เจโตปริยญาณ ความรู้ทำให้รู้ใจผู้อื่นได้
  • (๔) ปุพเพนิวาสานุสติ ความรู้ทำให้ระลึกชาติได้
  • (๕) ทิพพจักขุ ความรู้ทำให้เกิดตาทิพย์
  • (๖) อาสวักขยญาณ ความรู้ทำอาสวะให้สิ้นไป

ค. ความเป็นผู้มีเถรธรรม หมายถึงความเป็นผู้มีธรรมที่ทำให้เป็นผู้มั่นคง ประกอบด้วย

  • ๑. รัตตัญญู เป็นผู้รู้ราตรี หมายถึง บวชมานานและรู้เห็นกิจการทรงจำเรื่องราวต่างๆ ไว้ได้มาก
  • ๒. สีลวา เป็นผู้มีศีล หมายถึง เคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลายและสำรวมกายวาจาใจ
  • ๓. พหุสสุตะ เป็นพหูสูต หมายถึง ทรงความรู้ไว้มาก
  • ๔. สวาคตปาฏิโมกขะ เป็นผู้ทรงจำปาฏิโมกข์ได้ดี หมายถึง ทรงจำพระวินัยได้คล่องแคล่ว ชำนิชำนาญ สามารถวินิจฉัยได้ดี
  • ๕. อธิกรณสมุปปาทวูปสมกุสละ เป็นผู้ฉลาดในการระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น หมายถึง เมื่อเกิดเรื่องราวไม่สงบขึ้นในสงฆ์ สามารถหาทางระงับปัญหานั้นได้
  • ๖. ธัมมกามะ เป็นผู้ใคร่ในธรรม หมายถึง รักความรู้ รักความจริง ยินดีในการพิจารณาธรรม
  • ๗. สันตุฏฐะ เป็นผู้ยินดีในของที่ตนมี หมายถึง ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
  • ๘. ปาสาทิกะ เป็นผู้น่าเลื่อมใส หมายถึง เป็นผู้มีอิริยาบถ รวมทั้งกิริยาอาการเรียบร้อย ทำให้ผู้พบเห็นเกิดความเลื่อมใส
  • ๙. ฌานลาภี เป็นผู้ได้ฌาน หมายถึง เป็นผู้บรรลุฌานและมีความคล่องแคล่วในฌาน ๔ อันเป็นเครื่องทำให้อยู่เป็นสุขในชีวิตประจำวัน
  • ๑๐. อนาสวเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ เป็นผู้บรรลุเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ สิ้นอาสวะ หมายถึง ละราคะและอวิชชาได้จนทำให้กิเลสสิ้นไป

พระอสีติมหาสาวก แม้จะมีเถรธรรมไม่ครบหรือมีแตกต่างกัน แต่ที่ต้องมีเหมือนกันคือ ข้อ ๑๐ ซึ่งก็หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกทุกรูปต้องเป็นพระอรหันต์ แม้ว่าบางรูปขณะที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แต่ก็สำเร็จได้ภายหลังพุทธปรินิพพาน

บรรดาพระอสีติมหาสาวก ล้วนเป็นผู้มีคุณวิเศษเหล่านี้เหมือนกัน คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ พอประมวลสรุปได้ ดังนี้

  • ๑. ได้พบได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง
  • ๒. ได้เห็นหรือได้ยินแบบอย่างนั้น จนเกิดความพอใจ แล้วตั้งความปราถนาในอนาคต
  • ๓. บำเพ็ญกุศลกรรมทั้งหลาย มีการให้ทาน เป็นต้น
  • ๔. ได้รับพุทธพยากรณ์ว่าจักสำเร็จในอนาคตกาล
  • ๕. ได้บำเพ็ญกุศลบารมีทั้งหลายในทุกๆ ภพที่เกิดมาแล้ว
  • ๖. กุศลบารมีทั้งหลายที่สั่งสมมาช้านานแก่กล้า จึงได้เกิดร่วมกับพระพุทธเจ้า
  • ๗. ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าหรือพระสาวก จึงเกิดศรัทธาขอบวชในพระพุทธศาสนา

๒. คุณลักษณะสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

คุณลักษณะข้อนี้เป็นผลมาจากความสามารถเฉพาะตัวของพระอสีติมหาสาวก และเกิดจากผลงานที่ส่งผลต่อ ความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนา

ก. ความสามารถเฉพาะตัว พระอสีติมหาสาวกแต่ละรูปมีความสามารถเฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป จนดูเหมือน ว่าจะเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าในด้านต่างๆ ได้ อาทิ

  • - พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าด้านรัตตัญญู
  • - พระสารีบุตร เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าด้านมีปัญญามาก
  • - พระมหาโมคคัลลานะ เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าด้านมีฤทธิ์มาก

เพราะเหตุที่มีความสามารถเฉพาะตัวนี้เอง พระอสีติมหาสาวกจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ตามเสด็จที่ดีเลิศ ตามปกติพระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จไปในที่ใด ย่อมมีพระสาวกแวดล้อมตามเสด็จไปด้วยเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนั้นมีพระอสีติมหาสาวกรวมอยู่ด้วย ดังปรากฏในอรรถกถาธรรมบทว่า

ข. ผลงาน พระอสีติมหาสาวกได้แสดงผลงานออกมา ด้วยการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายและรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ การช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายนั้น ปรากฏให้เห็นเด่นชัดแต่แรกแล้วนั่นคือ หลังจากได้ บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระพุทธเจ้าได้ประกาศพระพุทธศาสนาตามลำพังพระองค์เดียวอยู่ระยะหนึ่ง กระทั่งได้พระสาวก ๖๐ รูป ต่อมาทรงเห็นว่าพระสาวกเหล่านั้นสามารถเป็นกำลังสำคัญ ของพระองค์ได้ จึงทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนาในที่ต่างๆ วันที่ส่งพระสาวกออกไปประกาศพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพ้นแล้วจากบ่วง ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ขอเธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขเกษมแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมวลมนุษย์ ขอเธอทั้งหลายอย่าได้ไปร่วมทางเดียวกัน ๒ รูป จงแสดงธรรมให้งามในเบื้องต้น ให้งามในท่ามกลาง และให้งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ให้พรั่งพร้อมด้วยอรรถและพยัญชนะให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยมีอยู่ เมื่อไม่ได้ฟังธรรมจักพากันเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี ภิกษุทั้งหลายแม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม”