แอลกอฮอล์มีผลต่อการทำงานของสมองอย่างไร

หลายคนมักกังวลถึงแต่สุขภาพตับ เมื่อเราพูดถึงการติดสุรา หรือเป็นพิษสุราเรื้อรัง แต่รู้ไหมว่าอีกระบบสำคัญของร่างกายที่อาจพังไม่แพ้กันเมื่ออยู่ในภาวะติดสุราก็คือ ระบบสมองและประสาทนี่ล่ะ เรียกว่าภาวะความจำเสื่อมจากพิษสุราเรื้อรัง
แอลกอฮอล์มีผลต่อการทำงานของสมองอย่างไร

เพราะ “แอลกอฮอล์” มีผลต่อระบบประสาท
     ผลของการดื่มแอลกอฮอล์ที่เกิดกับสมองนั้น นอกจากผลระยะสั้นที่เห็นได้ทันที และผู้ที่ดื่มทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าอาจทำให้เราสูญเสียความทรงจำระยะสั้น (Amnesia) รู้สึกสับสน ไม่สามารถจำเหตุการณ์ในช่วงนั้นได้ เดินเซ ทรงตัวลำบาก หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า “เมา” นั่นเอง แต่หากดื่มแอลกอฮอล์อย่างยาวนานในปริมาณมากๆ จนเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ผลของแอลกอฮอล์ที่เกิดกับระบบสมองและประสาทจะทำให้เกิดภาวะสมองฝ่อ เพราะแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้าไปทำลายเซลล์สมองโดยตรง ลดประสิทธิภาพในการกำจัดของเสียในเซลล์สมอง เนื้อสมองเสียหาย และที่สำคัญแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินบี 1 ได้ ทำให้ขนาดของสมองส่วนฮิปโปแคมปัสเล็กลง สูญเสียความสามารถในการจำ และการพูด เรียกว่ากลุ่มอาการทางสมองประเภท Korsakoff’s Syndrome หรือภาวะความจำเสื่อมจากสุรานั่นเอง
อาการเตือนว่าเริ่มความจำเสื่อมจากสุรา
     ในผู้ป่วยที่ติดสุรา หรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หากเริ่มมีภาวะความจำเสื่อมในเบื้องต้นยังอาจรักษา และฟื้นฟูความจำให้กลับมาได้ แต่หากปล่อยไว้อาจเกิดภาวะความจำเสื่อมแบบถาวร ดังนั้น ผู้ป่วย และคนรอบข้างควรสังเกตอาการเบื้องต้น ดังนี้
• มีความสับสน งุนงงเรื่องเวลา ระหว่างกลางวัน และกลางคืน
• มีปัญหาในการพูดสื่อสาร เช่น นึกคำศัพท์ไม่ออก ถามคำถามซ้ำๆ
• หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย อารมณ์ร้อน ขาดการยับยั้งชั่งใจ
• มีปัญหาเรื่องความจำ ความทรงจำ ไม่สามารถจำเรื่องราวในระยะสั้นๆ ได้
• สมองไม่ประมวลผล ไม่สามารถคิดแก้ปัญหาในสิ่งที่เคยทำได้
แอลกอฮอล์มีผลต่อการทำงานของสมองอย่างไร

การตรวจภาวะสมองเสียหายจากแอลกอฮอล์
     ในผู้ที่เสพติดแอลกอฮอล์ และเริ่มสงสัยว่าอาจมีภาวะความจำเสื่อมจากสุราแล้ว แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น โดยเริ่มจากซักถามประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ รูปแบบการดื่ม ความถี่ ปริมาณ และชนิดของแอลกอฮอล์ ร่วมกับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อทดสอบการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ และระบบประสาทอัติโนมัติ เช่น การทรงตัว รีเฟล็กซ์ และทดสอบเกี่ยวกับความจำ นอกจากนี้ แพทย์จะทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ เช่น ค่าการทำงานของตับ ระดับวิตามินบี น้ำตาลและไขมันในเลือด ระดับโปรตีนในเลือด และอาจทำถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์สมอง เพื่อวินิจฉัยระดับความเสียหายของสมองและระบบประสาท
การรักษาสภาวะสมองเสียหายจากแอลกอฮอล์
     เนื่องจากสมองถูกทำลายด้วยแอลกอฮอล์มาเป็นระยะเวลานาน และต่อเนื่อง แพทย์จึงจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยหยุดดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดปริมาณสารพิษที่จะทำลายเซลล์สมองเพิ่มเติม และทำการให้วิตามินบี 1 ทางหลอดเลือดดำทดแทนส่วนที่ร่างกายขาดไป ซึ่งอาจทำให้สมองที่ถูกทำลายไปกลับมาฟื้นฟูได้ หากยังไม่ถูกทำลายมาก หลังจากนั้นจึงรักษาอาการแทรกซ้อนจากการติดสุราอื่นๆ เช่น รักษาภาวะไขมันในเลือดสูง หรือการขาดสารอาหาร เป็นต้น
แอลกอฮอล์มีผลต่อการทำงานของสมองอย่างไร

การบำบัดรักษา ฟื้นฟูผู้ติดสุรา
     นอกจากการรักษาภาวะความจำเสื่อมจากสุราแล้ว ผู้ป่วยที่ติดสุรายังจำเป็นต้องได้รับการบำบัดอาการติดสุราด้วย โดยในขั้นแรกผู้เสพติดแอลกอฮอล์จำเป็นต้องเข้ารับการถอนพิษสุรา หรือเรียกว่าช่วงล้างพิษ คือแพทย์จะเฝ้าดูอาการและให้ผู้ป่วยหยุดดื่มหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ลง โดยทำควบคู่กับการให้ยาบรรเทาอาการขาดสุรา เช่น ยา Naltrexone ยานี้จะลดความสุขที่เกิดจากการดื่มสุรา หรือยา Disulfiram เป็นยาป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยดื่มสุรา เพราะจะทำให้รู้สึกปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียนหากดื่มสุราในขณะที่ทานยานี้ เมื่อผู้ป่วยผ่านการรักษาในช่วงถอนพิษสุราได้แล้ว จึงเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู โดยมีกิจกรรมกลุ่มบำบัด เพื่อฝึกทักษะในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้มีระเบียบวินัยในตนเอง มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อครอบครัว เชื่อมั่นในตนเอง และกลับไปดำเนินชีวิตได้โดยไม่พึ่งการดื่มสุราอีก
     จะเห็นได้ว่าผลร้ายของการดื่มแอลกอฮอล์นั้น ไม่ได้ส่งผลเสียด้านชีวิต และทรัพย์สินเท่านั้น แต่การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป และต่อเนื่องยาวนาน ยังส่งผลร้ายทางร่างกายอย่างรุนแรง และอาจทำลายสมองแบบถาวร อย่างการเกิดภาวะความจำเสื่อมได้อีกด้วย


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ โรคระบบประสาทและสมอง

ทำไมเวลาที่คนดื่มแอลกอฮอล์ถึงเมาชนิดที่ว่าเก็บทรงไม่อยู่ ซึ่งเป็นคำที่หลาย ๆ คนคงต้องเคยได้ยินกันมาจากเพลงดังที่กล่าวถึงอาการเมาหลังจากดื่มแอลกอฮอล์แล้วไร้สติ แถมยังไม่สามารถควบคุมตัวเองได้นั่นเอง ในวันนี้เราจะมาไขทุกข้อสงสัยว่าหลังจากการดื่มแอลกอฮอล์นั้นทำไมถึงมีอาการเมา

ประเภทของแอลกอฮอล์ที่เราสามารถบริโภคได้ คือ แอลกอฮอล์ที่เกิดจากกระบวนการหมักผลผลิตทางการเกษตรกับยีสต์ได้เป็นเอทิลแอลกอฮอล์หรือที่เรียกกันว่า เอทานอล เมื่อดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปแล้วแอลกอฮอล์ก็จะถูกดูดซึม และเคลื่อนที่ผ่านกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทำให้ไปกดการทำงานของสมองที่ส่งผลต่ออาการเมาจนเก็บทรงไม่อยู่ดังนี้

1. แอลกอฮอล์จะไปกดการทำงานบริเวณต่าง ๆ ของสมองส่วนซีรีบรัม (Cerebrum)

  • กดการทำงานสมองกลีบหน้า (Frontal lobe) จะทำให้จำไม่ค่อยได้ ความคิด บุคลิก และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ
  • กดการทำงานสมองกลีบข้าง (Parietal loab) การประมวลผลการรับรู้ตำแหน่งจะแย่ลง และพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง
  • กดการทำงานสมองกลีบขมับ (Temperalloab) จะไปทำให้การรับกลิ่นเสียงและความรู้สึกแย่ลง
  • กดการทำงานสมองกลีบหลัง (Occipital loab) จะทำให้การรับรู้ภาพแย่ลง ตาพร่ามัวมองเห็นไม่ชัด

2. แอลกอฮอล์จะไปกดการทำงานสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus)

ทำให้ความรู้และความทรงจำเสียหาย เมื่อตื่นมาจะจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่ได้ เวลาเมาจะหวนคิดถึงความหลังที่น่าเศร้าและไม่แปลกที่จะพบว่าคนเมามักจะชอบร้องไห้

3. แอลกอฮอล์จะไปกดการทำงานสมองส่วนซีรีเบลลัม (Cerebellum)

มีผลต่อการทรงตัวทำให้ยืนไม่ตรง เดินเซ ถือของไม่ไหวและสุดท้ายหากมีแอลกอฮอล์ในเลือดมากก็จะหลับไปในที่สุด

4. แอลกอฮอล์จะไปกดการทำงานก้านสมอง (Brain stem)

ทำให้มีการรบกวนการส่งถ่ายข้อมูลทำให้ร่างกายมีการตอบสนองช้าลง

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นก็คือสาเหตุของอาการเก็บทรงไม่อยู่หรือการเมานั่นเองแล้วเคยสงสัยไหมว่าทำไมถึงต้องมีกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้วัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี นั่นไม่ใช่แค่เพียงเพราะค่านิยมของสังคมเท่านั้น แต่การดื่มแอลกอฮอล์ในวัยรุ่นมีผลเสียมากกว่า อาการเมาที่กล่าวถึงไปในตอนต้น เนื่องจากโดยปกติแล้วสมองของเราจะมีการพัฒนาด้านการเรียนรู้ การจดจำ การควบคุมความรู้ความเข้าใจ การตัดสินใจ และการรักษาความสมดุลทางอารมณ์ในช่วงวัยรุ่นที่มีอายุ 10-20 ปี

หากดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวัยรุ่นนั้นจะรบกวนการพัฒนาของสมอง ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเป็นปัจจัยเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าความวิตกกังวลที่มักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น ซึ่งมีผลในระยะยาวมากกว่าเมื่อเทียบกับการดื่มแอลกอฮอล์ในผู้ใหญ่ เพราะเหตุนี้เองจึงมีการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับวัยรุ่น

ดังนั้นการที่จะดื่มแอลกอฮอล์นั้น เราก็ควรที่จะรู้ผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตของเรา เพราะว่าการดื่มแอลกอฮอล์นั้นไม่ได้มีแค่ผลในระยะสั้นเฉพาะแค่อาการมึนเมาเท่านั้น แต่การดื่มแอลกอฮอล์นั้นยังมีผลต่อสุขภาพของคนดื่ม โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังมีผลต่อการพัฒนาสมองในระยะยาวอีกด้วย