รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 มี กี่ มาตรา

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 หรือที่ประชาชนชาวไทยมักจะเรียกและเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ก็คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 ที่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนน่าจะเป็นเพราะการยกร่างจัดทำโดย “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ประชาชนชาวไทยยอมรับเนื่องจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยผู้มีชื่อเสียงแต่ละจังหวัด 76 คน ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน สาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 23 คน รวม 99 คน โดยมี นายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธาน และมี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน “คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการ

ผู้พิจารณาและอนุมัติคือ “รัฐสภา” ที่ประกอบด้วย ส.ส.จากการเลือกตั้ง 393 คน ส.ว.จากการแต่งตั้ง 262 คน รวม 655 คน โดยในช่วงเวลานั้น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานรัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานวุฒิสภา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

นอกจากการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะยกร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญอันประกอบด้วยสมาชิกอันเป็นที่ยอมรับของประชาชนชาวไทยแล้ว เนื้อหาของรัฐธรรมนูญยังวางหลักปรัชญาในการปฏิรูปการเมืองอย่างมีระบบ โดยบัญญัติวางหลักกระบวนการเข้าสู่อำนาจรัฐ เช่น กระบวนเข้าสู่อำนาจรัฐในตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐบาล คือนายกรัฐมนตรี โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. โดยสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบ วางหลักการใช้อำนาจรัฐ บัญญัติให้มีการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งแรกและฉบับแรกของประเทศไทย โดยมีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 200 คน ซึ่งเป็นหลักการที่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เพราะมีบทบัญญัติถึงกระบวนการใช้อำนาจรัฐของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี หลายกรณีต้องผ่านทางวุฒิสภา อำนาจในการถอดถอนนักการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง เรื่องสำคัญเช่นนี้ถ้าให้วุฒิสภามาจากการสรรหาแต่งตั้ง โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้งก็อาจมีการใช้อิทธิพลครอบงำเกิดขึ้นได้

และบทบัญญัติที่สำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือ มีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

องค์กรที่ว่านี้เป็นองค์กรอิสระ ทำหน้าที่ของตนโดยปราศจากการครอบงำหรือแทรกแซงจากฝ่ายบริหาร ยิ่งกว่านั้นที่มาขององค์กรอิสระเช่นกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งจะมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ยังมีที่มาจากกรรมการสรรหาจำนวนถึง 15 คน ได้แก่ประธานศาลทั้ง 3 ศาล (สายความเป็นธรรมในการสรรหา) อธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคล 7 คน (สายวิชาการ) ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 5 คน (มีความเกาะเกี่ยวกับประชาชน) คือจะเห็นได้ว่าทั้งจำนวนและที่มาของกรรมการสรรหาองค์กรอิสระเหมาะสมที่จะทำหน้าที่สรรหากรรมการที่จะมาทำหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐ และรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ

กล่าวโดยสรุปก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 นี้วางหลักการปฏิรูปการเมือง ทั้งกระบวนการเข้าสู่อำนาจรัฐ กระบวนการใช้อำนาจรัฐ กระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ไว้อย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนตามหลักปรัชญาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจตุลาการได้กำหนดให้มี “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่นายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น (มาตรา 308)

ความเป็นพิเศษที่เกี่ยวแก่ศาลยุติธรรมอีกเรื่องหนึ่งก็คือ มีบทบัญญัติให้มีตำแหน่ง “ผู้พิพากษาอาวุโส” ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในระบบศาลยุติธรรมไทย เพราะแต่เดิมตำแหน่งผู้พิพากษาศาลยุติธรรมมีตั้งแต่ตำแหน่งประธานศาลฎีกาถึงผู้ช่วย

ผู้พิพากษาซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 11 ตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 334(2) ซึ่งบัญญัติว่า

“ภายในสองปีตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ให้ตรากฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณใดไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสเพื่อนั่งพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชั้นต้น ตั้งแต่วันถัดจากวันสิ้นปีงบประมาณมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ จนถึงวันสิ้นปีงบประมาณที่ผู้พิพากษาผู้นั้นมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ และผู้พิพากษาอาวุโสผู้ใดผ่านการประเมินตามที่กฎหมายบัญญัติว่ามีสมรรถภาพในการปฏิบัติหน้าที่ก็ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนถึงวันสิ้นปีงบประมาณที่ผู้พิพากษาผู้นั้นมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์”

ตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งได้ถูกกำหนดให้มีขึ้น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 (รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16) เป็นครั้งแรกในสถาบันศาลยุติธรรมไทย ซึ่งต่อมาเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2550 ก็ได้บัญญัติให้ผู้พิพากษาอาวุโสดำรงตำแหน่งได้ทั้งในศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น (ตามมาตรา 309)

ในฐานะอดีตผู้พิพากษาศาลยุติธรรมคนหนึ่ง ต้องขอกล่าวว่าเป็นความชาญฉลาดอย่างลึกซึ้งของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และคณะผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ขณะนั้นซึ่งนำโดย ท่านปิ่นทิพย์ สุจริตกุล อดีตประธานศาลฎีกาในการที่ให้มีตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสขึ้นในระบบศาลยุติธรรมไทย โดยนำผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ซึ่งถึงแม้จะมีอายุถึงหกสิบปีบริบูรณ์แล้ว แต่ก็ยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีความเชี่ยวชาญในหลักกฎหมายตลอดจนประสบการณ์ในการพิจารณาพิพากษาคดีกลับเข้ามารับราชการเพื่อช่วยดูแล แนะนำ ตลอดจนให้คำปรึกษาแก่ผู้พิพากษารุ่นใหม่ ซึ่งถึงแม้จะมีความรู้ในตัวบทกฎหมายดีแต่ก็ยังอ่อนในด้านประสบการณ์ อันจะยังให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านการอำนวยความยุติธรรมแก่ปวงชนชาวไทยผู้มีอรรถคดี

โดยผู้พิพากษาเหล่านั้นได้รับค่าตอบแทนเพียงเท่าเงินเดือนเดิม กับค่าตอบแทนอื่นๆ เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยรัฐยังไม่ต้องจ่ายเงินบำนาญเพราะต้องถือว่าท่านผู้พิพากษาอาวุโสยังไม่เกษียณอายุราชการ ประหยัดงบประมาณให้แผ่นดินในการที่จะต้องไปจัดหาผู้พิพากษาเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก

จากกรณีที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงเป็นการตอบคำถามได้เป็นอย่างดีว่าเหตุใดจึงมีการขนานนามรัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 ว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เพราะมาจากการจัดทำและการอนุมัติรัฐธรรมนูญเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย เนื้อหายังวางหลักปรัชญาในการเมืองไว้อย่างมีระบบ โดยมีบทบัญญัติถึงการเข้าสู่อำนาจรัฐ กระบวนการใช้อำนาจรัฐ และกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยยึดหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่แม้ในด้านอำนาจตุลาการก็ได้มีการวางหลักการที่ล้วนแต่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนชาวไทย เจ้าของอำนาจอธิปไตยไว้ทั้งสิ้น

ดังนั้น ผู้มีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ผู้พิจารณาและอนุมัติคือ “รัฐสภา” สมควรอย่างยิ่งที่ชื่อของท่านเหล่านี้จะถูกบันทึกอยู่ในหัวใจของชาวไทยผู้รักประชาธิปไตยทั่วประเทศ แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกประกาศยกเลิกไปเป็นเวลาประมาณ 10 ปี โดยคณะปฏิวัติเมื่อปี 2549 แล้วก็ตาม

พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง

โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี

นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์

สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา

เอกสารที่ใช้อ้างอิง

ข้อมูลเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญไทยในอดีต (ทุกฉบับ) โดยท่านนคร พจนวรพงษ์ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสและคณะ