บุคคล ล้มละลาย กี่ ปี ถึง จะ พ้น

ส่วนที่ ๑๐
การปลดจากล้มละลาย

-------------------------

               มาตรา ๖๘๑  เมื่อศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายแล้ว บุคคลล้มละลายอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้มีคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ แต่ต้องนำเงินมาวางไว้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเห็นสมควรไม่เกินห้าพันบาทเพื่อเป็นประกันค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย๒
               การกำหนดวันนั่งพิจารณาคำขอนี้ ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีเวลาส่งแจ้งความให้บุคคลล้มละลาย และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน และโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ

               มาตรา ๖๙  ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นรายงานเกี่ยวกับกิจการทรัพย์สินและความประพฤติของบุคคลล้มละลายในเวลาก่อนหรือระหว่างที่ล้มละลายต่อศาล และส่งสำเนารายงานนั้นให้บุคคลล้มละลายทราบไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันนั่งพิจารณาคำขอปลดจากล้มละลาย

               มาตรา ๗๐  ในการพิจารณาคำขอปลดจากล้มละลายนั้น ศาลอาจฟังคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้ รายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ได้ยื่นตามมาตรา ๖๙ และรายงานการไต่สวนโดยเปิดเผยของศาลนั้นเอง และศาลอาจให้บุคคลล้มละลายสาบานตัวให้การหรือพิจารณาพยานหลักฐานตามที่เห็นสมควรก็ได้

               มาตรา ๗๑๓  ให้ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลาย เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า
               (๑) ได้แบ่งทรัพย์สินชำระให้แก่เจ้าหนี้ที่ได้ขอรับชำระหนี้ไว้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบและ
               (๒) ไม่เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
               คำสั่งปลดจากล้มละลายตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะพึงได้มาในเวลาต่อไปก็ได้ แต่ต้องไม่เกินระยะเวลาที่บุคคลนั้นได้รับการปลดจากล้มละลายตามมาตรา ๘๑/๑

               มาตรา ๗๒๔  (ยกเลิก)

               มาตรา ๗๓๕  (ยกเลิก)

               มาตรา ๗๔๖  (ยกเลิก)

               มาตรา ๗๕๗  (ยกเลิก)

               มาตรา ๗๖  เมื่อศาลได้มีคำสั่งปลดจากล้มละลายแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ

               มาตรา ๗๗  คำสั่งปลดจากล้มละลายทำให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้ เว้นแต่
               (๑) หนี้เกี่ยวกับภาษีอากร หรือจังกอบของรัฐบาลหรือเทศบาล
               (๒) หนี้ซึ่งได้เกิดขึ้นโดยความทุจริตฉ้อโกงของบุคคลล้มละลาย หรือหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้องเนื่องจากความทุจริตฉ้อโกงซึ่งบุคคลล้มละลายมีส่วนเกี่ยวข้องสมรู้

               มาตรา ๗๘  การที่ศาลได้มีคำสั่งปลดจากล้มละลายนั้นไม่ทำให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับบุคคลล้มละลาย หรือรับผิดร่วมกับบุคคลล้มละลาย หรือค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของบุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย

               มาตรา ๗๙  บุคคลล้มละลายซึ่งได้ถูกปลดจากล้มละลายนั้น ยังมีหน้าที่ช่วยในการจำหน่ายและแบ่งทรัพย์สินของตนซึ่งตกอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องการ
               ถ้าบุคคลล้มละลายละเลยไม่ช่วย ศาลมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลายนั้นได้ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำไปภายหลังการปลดจากล้มละลายก่อนที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนนั้น

               มาตรา ๘๐  ในคำสั่งปลดจากล้มละลายโดยให้บุคคลล้มละลายใช้เงินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น ศาลมีอำนาจกำหนดจำนวนเงินสำหรับเลี้ยงชีพบุคคลล้มละลายและครอบครัวในปีหนึ่ง ๆ ที่ให้หักเอาจากทรัพย์สินซึ่งได้มาภายหลังมีคำสั่งนั้น และกำหนดให้ส่งเงินหรือทรัพย์สินที่เหลือแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย และกำหนดวันให้ยื่นบัญชีแสดงการรับทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างปีทุก ๆ ปีต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
               บุคคลล้มละลายซึ่งถูกปลดจากล้มละลายโดยให้ใช้เงินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น มีหน้าที่ไปให้เจ้าพนักงาพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลสอบสวนหรือไต่สวเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้มา ตามแต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลต้องการ
               ถ้าบุคคลล้มละลายนั้นไม่ปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในสองวรรคแรก เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลจะเพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลายก็ได้ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำไปภายหลังการปลดจากล้มละลาย ก่อนที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนนั้น

               มาตรา ๘๑  เมื่อศาลได้เพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลายแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ทั้งให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ที่ลูกหนี้ได้กระทำขึ้นภายหลังที่ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลาย ก่อนที่ศาลได้มีคำสั่งให้เพิกถอนนั้นด้วย

               มาตรา ๘๑/๑๘  ภายใต้บังคับมาตรา ๘๑/๒ บุคคลธรรมดาซึ่งศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้วให้ปลดบุคคลนั้นจากล้มละลายทันทีที่พ้นกำหนดระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย เว้นแต่
               (๑) บุคคลนั้นได้เคยถูกพิพากษาให้ล้มละลายมาก่อนแล้ว และยังไม่พ้นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายครั้งก่อนจนถึงวันที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ครั้งหลังให้ขยายระยะเวลาเป็นห้าปี
               (๒) บุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายทุจริตที่ไม่มีลักษณะตาม (๓) ให้ขยายระยะเวลาเป็นสิบปี เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลพิเศษและบุคคลนั้นถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี ศาลจะสั่งปลดจากล้มละลายก่อนครบกำหนดสิบปีตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือของบุคคลล้มละลายนั้นก็ได้
               (๓) บุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ให้ขยายระยะเวลาเป็นสิบปี
               ในกรณีที่มีเหตุตาม (๑) (๒) หรือ (๓) มากกว่าหนึ่งเหตุให้ขยายระยะเวลาโดยอาศัยเหตุใดเหตุหนึ่งที่มีระยะเวลาสูงสุดเพียงเหตุเดียว
               ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๗๖ มาตรา ๗๗ และมาตรา ๗๘ มาใช้บังคับกับการปลดจากล้มละลายตามมาตรานี้โดยอนุโลม

               มาตรา ๘๑/๒๙  ก่อนระยะเวลาสามปีตามมาตรา ๘๑/๑ วรรคหนึ่ง จะสิ้นสุดลง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคำขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้หยุดนับระยะเวลาดังกล่าวไว้ก่อนก็ได้
               เมื่อศาลได้รับคำขอเช่นว่านี้แล้ว ให้ศาลกำหนดนัดไต่สวนเป็นการด่วน และส่งสำเนาคำขอให้แก่บุคคลล้มละลายทราบก่อนวันนัดไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

               มาตรา ๘๑/๓๑๐  เมื่อศาลไต่สวนคำขอตามมาตรา ๘๑/๒ แล้ว ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลล้มละลายมิได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการรวบรวมทรัพย์สินโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ศาลมีคำสั่งหยุดนับระยะเวลาตามมาตรา ๘๑/๑ ตั้งแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำขอหรือวันที่ศาลมีคำสั่งจนถึงวันที่ศาลกำหนด โดยจะกำหนดเงื่อนไขหรือไม่ก็ได้
               การหยุดนับระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าศาลจะได้มีคำสั่งให้หยุดนับระยะเวลาตามคำขอกี่ครั้งก็ตาม เมื่อรวมระยะเวลาทั้งหมดแล้วจะต้องไม่เกินสองปี และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ศาลจะมีคำสั่งให้หยุดนับระยะเวลาตามมาตรา ๘๑/๑ (๑) (๒) หรือ (๓) หรือมีคำสั่งเมื่อพ้นระยะเวลาสามปีตามมาตรา ๘๑/๑ วรรคหนึ่งแล้วไม่ได้
               คำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด

               มาตรา ๘๑/๔๑๑  เมื่อศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๘๑/๓ แล้ว หากพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป บุคคลล้มละลายอาจยื่นคำขอต่อศาลเพื่อขอให้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งดังกล่าวได้
               เมื่อได้รับคำขอดังกล่าว ให้ศาลกำหนดวันนัดไต่สวน และส่งสำเนาคำขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อแจ้งให้เจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
               ศาลอาจมีคำสั่งยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งตามมาตรา ๘๑/๓ ก็ได้
               คำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด


               ๑ มาตรา ๖๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๑
               ๒ มาตรา ๖๘ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
               ๓ มาตรา ๗๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗
               ๔ มาตรา ๗๒ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗

               ๕ มาตรา ๗๓ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗
               ๖ มาตรา ๗๔ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗
               ๗ มาตรา ๗๕ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗

               ๘ มาตรา ๘๑/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗
               ๙ มาตรา ๘๑/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗
               ๑๐ มาตรา ๘๑/๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗

               ๑๑ มาตรา ๘๑/๔ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗