จะมีวิธีการอย่างไรในการเก็บเกี่ยวผลผลิตของทุเรียน

โดยทั่วไปแล้วหลังเก็บเกี่ยวนั้น ถ้าดูแลและจัดการไม่ดีจะพบปัญหาที่เกิดขึ้น คือต้นมีอาการถ่ายใบ และ ต้นทรุดโทรมมาก หรือ ไม่ถ่ายใบแต่มีปัญหาไม่ยอมแตกใบอ่อนหรือแตกใบอ่อนยาก สาเหตุของปัญหานี้คือการที่ต้นไม้ถูกดึงอาหารหรือพลังงงานออกจากต้นโดยทันที เนื่องมาจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต

โดยปกตินั้นอาหารและพลังงานนั้น เกิดจาก น้ำและธาตุอาหารต่างๆถูกดูดเข้าทางระบบราก ขึ้นมาเกิดกระบวนการสังเคราะห์แสงที่ใบ ได้เป็น อาหารและพลังงาน เก็บไปที่ใบส่วนหนึ่งไปเลี้ยงลูกส่วนหนึ่ง ที่ผลพลังงานตก็จะมาถูกเก็บไว้ในเมล็ด ทำให้เกิดการแลกเปลียนพลังงานกันไปมาระหว่างผล และ ใบ ทำให้เกิดสมดุล  แต่เมื่อเกษตรกรมีการตัดผลผลิต บางท่านอาจตัด1-2 มีด  ทำให้ต้นเกิดการเสียสมดุล เนื่องจากอาหารหรือพลังงานที่อยู่ในผลหายไปในทันที เมื่อพลังงานไม่พอ ต้นไม้ก็จะกลับเข้าสู่โหมด ที่จะต้องถ่ายใบและสร้างใบใหม่ขึ้นมาทดแทน ทำให้ต้นทรุดโทรม หรือ ถ้าไม่ถ่ายใบต้นก็นิ่งไม่ลัดใบใหม่เป็นเดือน 2 เดือนก็มาจากหมวกรากได้รับความเสียหายต้องมีกระบวนการซ่อมแซม ระหว่างซ่อมแซมนี้เองต้นไม้ก็จะหยุดชะงักไม่มีการแตกใบอ่อน เป็นที่มาของอาการต้นไม่ไม่ยอมแตกใบอ่อน

ต้นทุเรียนที่มีคุณภาพดีนอกจากจะมีการผลิตที่ดีแล้ว ยังต้องผ่านการเก็บเกี่ยวและการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวที่ดีและถูกต้องเหมาะสมอีกด้วย ที่สำคัญ ต้องมีการตรวจสอบความสุกแก่ของทุเรียนก่อนการตัดสินใจตัดทุเรียนแต่ละผล ซึ่งต้องทำด้วยความระมัดระวัง ความชำนาญและประสบการณ์ของคนตัดทุเรียน จะทำให้ผลทุเรียนทุกผลมีคุณภาพความสุกแก่สม่ำเสมอกัน โดยมีแนวทางในการเก็บเกี่ยวทุเรียน ดังนี้

การตรวจสอบความสุกแก่ของทุเรียน
  1. ตรวจสอบอายุผลหรือวันที่สุกแก่ของทุเรียนแต่ละพันธุ์ ซึ่งแบ่งออกได้เป็นดัชนีเก็บเกี่ยวทุเรียนที่วิเคราะห์จากลักษณะภายนอก และดัชนีเก็บเกี่ยวทุเรียนที่วิเคราะห์จากลักษณะภายใน

ดัชนีเก็บเกี่ยวทุเรียนวิเคราะห์จากลักษณะภายนอก

  • ทุเรียนพันธุ์กระดุม อายุหลังติดผล-ผลแก่ 90-100 วัน ลักษณะเด่น ปลิงบวม พูโต เส้นสาแหรก ไข

  • ทุเรียนพันธุ์พวงมณี อายุหลังติดผล-ผลแก่ 90-110 วัน ลักษณะเด่น ปลิงบวม เส้นสาแหรก ไข

  • ทุเรียนพันธุ์ชะนี อายุหลังติดผล-ผลแก่ 110-120 วัน ลักษณะเด่น ปลิงบวม พูโต เส้นสาแหรก ไข

  • ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง อายุหลังติดผล-ผลแก่ 120-130 วัน ลักษณะเด่น ปลิงบวม พูโต เส้นสาแหรก ไข

  • ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว อายุหลังติดผล-ผลแก่ 120-135 วัน ลักษณะเด่น เส้นสาแหรก ไข ปลิงไม่ชัด

ดัชนีเก็บเกี่ยวทุเรียนวิเคราะห์จากลักษณะภายใน

ทุเรียนพันธุ์กระดุมทอง

  • %แป้ง(เนื้อแห้ง) 27

  • วันที่สุก 4-5 วัน

  • สีเนื้อ/สีเม็ด(ดิบ) เหลือง / น้ำตาล

ทุเรียนพันธุ์พวงมณี

  • %แป้ง(เนื้อแห้ง) 30

  • วันที่สุก 4-5 วัน

  • สีเนื้อ/สีเม็ด(ดิบ) เหลือง / น้ำตาล

ทุเรียนพันธุ์ชะนี

  • %แป้ง(เนื้อแห้ง) 30

  • วันที่สุก 4-5 วัน

  • สีเนื้อ/สีเม็ด(ดิบ) เหลือง / น้ำตาลครีม

ทุเรียนพันธุ์กระดุมทอง

  • %แป้ง(เนื้อแห้ง) 32

  • วันที่สุก 6-9 วัน

  • สีเนื้อ/สีเม็ด(ดิบ) เหลือง / น้ำตาลครีม

  1. ตรวจดูลักษณะภายนอก ก้านขั้วแห้งสาก ปลิงบวม พูโต ฐานหนามแบน เส้นแบ่งกลางพู (เส้นสาแหรก) เป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลเด่นชัด ผิวมีไขนวล (แก่จัด)

  2. ดีดฟังเสียงทุเรียน เมื่อทุเรียนแก่ภายในพูจะมีช่องว่าง ถ้าใช้นิ้วชี้ดีดที่หนามกลางพู ฟังเสียงจะดังโปร่ง(โปกๆ) แสดงว่าพูหลวมแล้ว พร้อมจะเก็บเกี่ยวแล้ว ถ้าเสียงยิ่งโปร่งมากๆ แสดงว่าทุเรียนใกล้จะสุกแล้ว หลังตัดแล้วทิ้งไว้ 2-3 วันก็สุก บางครั้งปลิงทุเรียนยังไม่ทันหลุดด้วยซ้ำไป เรียกว่าสุกในปลิง

  3. ผ่าดูสีเนื้อของทุเรียน

ในทางการค้า ก่อนที่ทำการเก็บเกี่ยวทุเรียน เจ้าของสวนและผู้ซื้อจะมีการสุ่มตรวจทุเรียนในสวนว่าทุเรียนมีความสุกแก่ระยะใด ระยะเนื้อ 1 เนื้อ 2 และ เนื้อ 3 โดยทำการสุ่มผ่าดูเนื้อทุเรียนทั้ง 3 ชนิด ซึ่งมีลักษณะอธิบายดังต่อไปนี้

เนื้อ 1 คือ ทุเรียนที่มีก้านขั้วแข็ง กร้านสีน้ำตาลเข้ม ปลิงบวมชัด ปลายหนามแห้ง เส้นกลางพูเป็นสีน้ำตาล ความสุกแก่ >80% สีเนื้อเป็นสีเหลืองเนียนสม่ำเสมอ

เนื้อ 2 คือ ทุเรียนที่มีขั้วเริ่มแห้ง สีน้ำตาลอ่อนปลิงบวมเล็กน้อย ปลายหนามเริ่มแห้ง(น้อยกว่าเนื้อ 1)พูโตเส้นกลางพูเป็นสีเหลือง ความสุกแก่ 70 % สีเนื้อเป็นเหลืองไม่สม่ำเสมอ มีเนื้อสีขาวแทรกเป็นเส้นๆ

เนื้อ 3 คือ ทุเรียนที่มีขั้วอ่อนสีเขียวปลิงเริ่มบวม ปลายหนามเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เส้นกลางพูมีสีเขียวอ่อน ความสุกแก่ 60-65% สีเนื้อเป็นสีขาวอมเหลืองเรื่อๆ

เมื่อสุ่มดูพบว่ามีทุเรียนที่ความสุกแก่ทั้ง 3 ชนิด โดยยึดหลักเอาเนื้อ 2 เป็นเกณฑ์ ถ้าเนื้อ 2 ประมาณ 20% ของผลผลิตทั้งหมด ก็เริ่มทำการตัดทุเรียนได้เลย โดยทำการตัดทุเรียนเนื้อที่แก่ เนื้อ 1 และเนื้อ 2 ตามไปด้วยกัน ส่วนเนื้อ 3 ก็จะแก่ตามมา

การจัดเตรียมอุปกรณ์ในการเก็บเกี่ยวทุเรียน
  • เตรียมทำความสะอาดโรงพักผลผลิต ทำความสะอาดโรงเรือน ด้วยการล้างด้วยผงซักฟอกและน้ำยาฆ่าเชื้อ คลอร็อกซ์ 10%แล้วทิ้งให้แห้งสนิท

  • เตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ เครื่องมืออุปกรณ์ ที่่ใช้ต้องทันสมัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้สะอาด เพียงพอกับปริมาณทุเรียน เช่น มีดตัดขั้วทุเรียน ตะกร้าพลาสติก

  • เตรียมบันไดอะลูมิเนียม บันไดอะลูมิเนียมสูง 5-7 เมตรชนิดเลื่อนปรับระดับสูงต่ำได้เบาแต่แข็งแรงมีเชือดไนล่อนผูกยึดตัวบันไดกับต้นทุเรียนกันบันไดล้มเป็นการสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติงาน

การเก็บเกี่ยวทุเรียน

มีการวางแผนการเก็บเกี่ยวทุเรียน ดังนี้

  1. กำหนดเวลาการเก็บเกี่ยวทุเรียน

การเก็บทุเรียนสามารถตัดได้เกือบทั้งวัน เพื่อให้ทุเรียนที่เก็บมาแล้วมีคุณภาพการเก็บรักษานาน ควรเก็บทุเรียนในช่วงที่อากาศมีอุณหภูมิต่ำ ได้แก่ ช่วงเช้าหลังน้ำค้างแห้ง หรือก่อนเย็นหลังบ่าย 3 โมงเย็นเพื่อสะดวกในการเก็บเกี่ยวทุเรียน

  1. การตัดทุเรียน
  • ทุเรียนที่อยู่เตี้ยระดับมือถึง ควรใช้กรรไกรมือตัดขั้วแล้ววางลงในตะกร้าพลาสติกเรียงซ้อนด้วยความระมัดระวัง อย่าให้ขั้วหักหนามแทงกันเป็นแผล ไม่ควรวางผลทุเรียนลงบนพื้นดินเพราะจะทำให้เชื้อโรคเข้าทำลายผลทุเรียนจนเน่าเสีย

  • ผลทุเรียนที่อยู่สูงเลยระดับมือเอื้อมถึง ควรใช้บันไดเพื่อปีนไปตัดด้วยกรรไกรมือตัดขั้ว ถ้าหากผลทุเรียนที่สูง ต้องปีนขึ้นบนต้นไปตัดแล้วโยนให้คนที่อยู่ด้านล่างเป็นคนรับอีกทีหนึ่ง

  • กรณีต้นทุเรียนที่สูงมากๆ ควรใช้บันไดบันไดอะลูมิเนียมสูง 5-7 เมตรชนิดเลื่อนปรับระดับสูงต่ำได้เบาแต่แข็งแรงมีเชือดไนล่อนผูกยึดตัวบันไดกับต้นทุเรียน แล้วปีนขึ้นไปตัดทุเรียนโยนลงมาให้คนรับอีกทีหนึ่ง หรือใช้ตะกร้าพลาสติกผูกเชือกชักขึ้นไปคล้องกิ่งเพื่อรับผลทุเรียน เมื่อตัดผลแล้วจึงผ่อนปลายเชือกเพื่อให้ตะกร้าเคลื่อนลงพื้นดิน วิธีนี้จะทำให้ผลทุเรียนปลอดภัย สภาพดีมากแต่ช้าและใช้เวลามาก นิยมทำกันในทุเรียนสวนที่ต้นสูงมากๆ

  • ควรพักผลทุเรียนโดยการให้หลบในที่ล่ม และรีบเคลื่อนย้ายทุเรียนไปยังโรงพักผลผลิต เป่าด้วยพัดลมลดอุณหภูมิทันที

การจัดการทุเรียนหลังการเก็บเกี่ยว
  • ทำการคัดแยกคุณภาพ

ในการเก็บเกี่ยวทุเรียนมารวมๆกัน ย่อมมีทุเรียนคุณภาพและไม่ดีปะปนมาด้วยกันจึงจำเป็นต้องคัดแยกทุเรียนคุณภาพด้อยออกจากทุเรียนคุณภาพดี เช่น ทุเรียนรูปทรงผิดปกติจะไม่สามารถจัดเข้ากลุ่มได้ ทางการค้าให้คัดออก และทุเรียนที่ถูกโรคและแมลงทำลาย ได้แก่ ผลเน่า หนอนเจาะผล หนอนเจาะเมล็ด (หนอนใต้) เพลี้ยแป้งทำลาย กระรอกและหนูเจาะผล โดยจัดเป็นกลุ่มๆ ตามการจัดเกรดทุเรียนทางการค้า

การจัดขนาดและชั้นคุณภาพ การแยกขนาดและคุณภาพสามารถจำแนกได้ตามขนาดทางการค้า ขนาดน้ำหนักทุเรียนแยกตามพันธุ์ทุเรียน และขนาดตาม มกษ. 3 – 2556 ดังต่อไปนี้

ขนาดทางการค้า ทุเรียนที่จัดขนาดและคุณภาพทางการค้า จะแบ่งตามเกรดคุณภาพของทุเรียน น้ำหนักและรูปทรง ซึ่งทุเรียนต้องเก็บที่สุกแก่ 80% ดังนี้

  • เกรด A น้ำหนัก 2.5-6 กิโลกรัม 4-5พู เต็ม หรือ3 พู อีก 1-2 เม็ด

  • เกรด B น้ำหนัก 2.5-6 กิโลกรัม 3 พู 1 เม็ดหรือ 2 พูอีก 1-2 เม็ด

  • เกรด C น้ำหนัก 2.5-6 กิโลกรัม เสียทรง หรือแป้ว อาจมี2พู1เม็ดหรือ 3 พูๆละ1เม็ด หรือทั้งลูก มีแค่ 4 เม็ด

  • เกรด AและB น้ำหนัก 2-7 กิโลกรัม

ขนาดน้ำหนักทุเรียนจำแนกตามพันธุ์

ขนาดทุเรียนทางการค้า

  • ทุเรียนพันธุ์ชะนี น้ำหนัก <1.5 และ >4.5 กิโลกรัม

  • ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง น้ำหนัก <1.5 และ >6.0 กิโลกรัม

  • ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว น้ำหนัก <1.5 และ >4.0 กิโลกรัม

  • ทุเรียนพันธุ์กระดุมทอง น้ำหนัก <.3 และ >4.0 กิโลกรัม

  • ทุเรียนพันธุ์ทองนวลจันทร์ น้ำหนัก <1.5 และ >4.5 กิโลกรัม

  • ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล น้ำหนัก <1.0 และ -

  • ทุเรียนพันธุ์พวงมณี น้ำหนัก <1.0 และ -

สำหรับที่มีการเหมาสวนทุเรียนแบบเฉพาะราคาเจ้าของสวนตัดเอง จะดำเนินการตามเกณฑ์ขนาดทางการค้าและ ขนาดน้ำหนักทุเรียนจำแนกตามพันธุ์ ให้เสร็จที่สวนเลย ส่วนการเหมาแบบผู้เหมาตัดเองผู้รับซื้อจะดำเนินการตามเกณฑ์ขนาดทางการค้าและ ขนาดน้ำหนักทุเรียนจำแนกตามพันธุ์ รวมทั้ง ขั้นตอนอื่นๆเอง กรณีที่เจ้าของสวนตัดเองแล้วไปส่งที่จุดรับซื้อทุเรียน ผู้รับซื้อจะเป็นผู้ดำเนินการคัดเกรดและขนาดเองทั้งหมด

การจัดขนาดตาม มกษ. 3 – 2556
  • รหัสขนาด 1 น้ำหนักต่อผล > 4 กิโลกรัม

  • รหัสขนาด 2 น้ำหนักต่อผล > 3-4 กิโลกรัม

  • รหัสขนาด 3 น้ำหนักต่อผล > 2-3 กิโลกรัม

  • รหัสขนาด 4 น้ำหนักต่อผล > 1-2 กิโลกรัม

  • รหัสขนาด 5 น้ำหนักต่อผล 0.5-1 กิโลกรัม

สำหรับทุเรียนที่เหมาสวนแล้วเกษตรกรจึงไม่ได้ดำเนินการ ส่วนใหญ่ผู้รับซื้อจะเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด ตั้งแต่ทุเรียนที่ยังมิได้ทำการคัดคุณภาพ ความอ่อนแก่ ไปจนถึงจัดเกรดตามน้ำหนักและรูปทรงตามเกณฑ์ขนาดทางการค้าและ ขนาดน้ำหนักทุเรียนจำแนกตามพันธุ์

ทำความสะอาดและควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวทุเรียน

หลังจากที่ได้คัดทุเรียนด้อยคุณภาพออกไปแล้ว คงเหลือไว้ซึ่งทุเรียนคุณภาพดี ต้องผ่านกระบวนการทำความสะอาด ดังต่อไปนี้

  • ต้องนำมาทำความสะอาดในอ่างใส่น้ำสะอาด ผสมสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา อิมาซาริล 50% อัตรา 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตรหรือสาร ฟอสเอทธิล อะลูมินั่ม 80% อัตรา 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

  • นำผลทุเรียนขึ้นไปผึ่งให้แห้ง

  • ตัดขั้วป้ายด้วยสารอีเธล เพื่อให้ทุเรียนสุกเมื่อถึงปลายทาง ติดสติกเกอร์

การบรรจุหีบห่อ

หลังทุเรียนดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆเสร็จเรียบร้อยแล้วจะถูกนำไปทำการบรรจุกล่องโฟม หรือกล่องกระดาษตามระยะทางขนส่งสู่ปลายทางต่อไป

การส่งมอบ

การขนส่งทุเรียนนิยมทำโดยใส่ในตู้ควบคุมบรรยากาศ Control Atmosphere(CA) ที่ 15 องศาเซนเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-90% ซึ่งสามารถเก็บทุเรียนได้นาน 2 สัปดาห์เหมาะสมกับการขนส่งทางเรือ