ลักษณะ สำคัญ ของ การ ทดสอบ

        แบบทดสอบ  คือชุดของคำถาม  ปัญหา  สถานการณ์  กลุ่มของงานหรือกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นสิ่งเร้า กระตุ้นยั่วยุ หรือชักนำให้ผู้ถูกทดสอบแสดงพฤติกรรมหรือปฏิกิริยาตอบสนองตามแนวทางที่ต้องการ  แบบทดสอบเป็นเครื่องมือวัดสมรรถภาพทางสมองได้ดีที่สุด
            ประเภทของแบบทดสอบ
                      แบบทดสอบที่ใช้ทางการศึกษามีแตกต่างกันหลายประเภท  แล้วแต่ยึดหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการจำแนกต่างกันดังนี้
                      1. จำแนกตามกระบวนการในการสร้าง  จำแนกได้ 2 ประเภท คือ
                          1.1 แบบทดสอบที่ครูสร้างขึ้นเอง (Teacher Made Test) เป็นแบบทดสอบที่ครูสร้างขึ้นเฉพาะคราวเพื่อใช้ทดสอบผลสัมฤทธิ์และความสามารถทางวิชาการของเด็ก
                          1.2 แบบทดสอบมาตรฐาน(Standardized Test) เป็นแบบทดสอบที่สร้างขึ้นด้วยกระบวนการ หรือวิธีการที่ซับซ้อนมากกว่าแบบทดสอบที่ครูสร้างขึ้นเอง เมื่อสร้างขึ้นแล้วมีการนำไปทดลองสอบ  วิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติหลายครั้ง  เพื่อปรับปรุงให้มีคุณภาพดี  มีความเป็นมาตรฐาน
แบบทดสอบมาตรฐานจะมีความเป็นมาตรฐานอยู่ 2 ประการ  คือ
                                1.2.1 มาตรฐานในการดำเนินการสอบ  เพื่อควบคุมตัวแปรที่จะมีผลกระทบต่อคะแนนของผู้สอบ  ดังนั้นข้อสอบมาตรฐานจึงจำเป็นต้องมีคู่มือดำเนินการสอบไว้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับผู้ใช้ข้อสอบ
                                1.2.2 มาตรฐานในการแปลความหมายคะแนน  ข้อสอบมาตรฐานมีเกณฑ์สำหรับเปรียบเทียบคะแนนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน  ซึ่งเรียกว่า  เกณฑ์ปกติ (Norm)
            แบบทดสอบที่ครูสร้างขึ้น  มีข้อดีตรงที่ครูวัดได้ตรงจุดมุ่งหมายเพราะผู้สอนเป็นผู้ออก    ข้อสอบเอง  แต่แบบทดสอบมาตรฐานมีข้อดีตรงที่คุณภาพของแบบทดสอบเป็นที่เชื่อถือได้  ทำให้สามารถนำผลไปเปรียบเทียบได้กว้างขวางกว่า
                     2. จำแนกตามจุดมุ่งหมายในการใช้ประโยชน์  จำแนกได้ 3 ประเภทดังนี้
                          2.1 แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ (Achievement Test) หมายถึงแบบทดสอบที่ใช้วัดความรู้ความสามารถ  ทักษะเกี่ยวกับวิชาการที่ได้เรียนรู้มาว่ารับรู้ไว้ได้มากน้อยเพียงไร
                          2.2 แบบทดสอบความถนัด (Aptitude Test) เป็นแบบทดสอบที่ใช้วัดความสามารถที่เกิดจากการสะสมประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาในอดีต  ส่วนมากใช้ในการทำนายสมรรถภาพของบุคคลว่าสามารถเรียนไปได้ไกลเพียงใด
                   แบบทดสอบวัดความถนัดแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
                                 2.2.1 แบบทดสอบความถนัดทางการเรียน (Scholastic Aptitude Test) หมายถึงแบบทดสอบวัดความถนัดทางด้านวิชาการต่าง ๆ เช่น  ความถนัดทางด้านภาษา  ด้านคณิตศาสตร์เหตุผล  เป็นต้น
                                 2.2.2 แบบทดสอบความถนัดเฉพาะอย่างหรือความถนัดพิเศษ (Specific Aptitude Test) หมายถึงแบบทดสอบวัดความถนัดที่เกี่ยวกับอาชีพหรือความสามารถพิเศษที่นอกเหนือจากความสามารถด้านวิชาการ  เช่นความถนัดเชิงกล  ความถนัดทางด้านดนตรี  ศิลปะ    การแกะสลัก  กีฬา  เป็นต้น
                         2.3 แบบทดสอบวัดบุคลิกภาพ (Personal  Social  Test) มีหลายประเภท
                                2.3.1 แบบทดสอบวัดเจตคติ  (Attitude  Test) ใช้วัดเจตคติของบุคคลที่มีต่อบุคคล  สิ่งของ  การกระทำ  สังคม  ประเทศ  ศาสนา  และอื่น ๆ
                                2.3.2 แบบทดสอบวัดความสนใจ  อาชีพ
                                2.3.3 แบบทดสอบวัดการปรับตัว  ความมั่นใจ
                     3. จำแนกตามรูปแบบคำถามและวิธีการตอบ  จำแนกได้ 3 ประเภท ดังนี้
                          3.1 แบบทดสอบอัตนัย (Subjective  Test) แบบทดสอบประเภทนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้ตอบได้ตอบยาว ๆ  แสดงความคิดเห็นเต็มที่  ผู้สอบมีความรู้ในเนื้อหานั้นมากน้อยเพียงไรก็เขียนออกมาให้หมดภายในเวลาที่กำหนดให้
                          3.2 แบบทดสอบปรนัย (Objective  Test) เป็นแบบทดสอบที่มุ่งให้ผู้สอบตอบ    สั้น ๆ ในแต่ละข้อวัดความสามารถเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว  ได้แก่ แบบทดสอบแบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
                                3.2.1 แบบถูกผิด (True - False)
                                3.2.2 แบบเติมคำ (Completion)
                                3.2.3 แบบจับคู่ (Matching)
                                3.2.4 แบบเลือกตอบ (Multiple  Choices)
                     4. จำแนกตามลักษณะการตอบ  จำแนกได้ 3 ประเภท ดังนี้
                          4.1 แบบทดสอบภาคปฏิบัติ (Performance  Test) ได้แก่ ข้อสอบภาคปฏิบัติทั้งหลาย  เช่น  วิชาพลศึกษา  ให้แสดงท่าทางประกอบเพลง  วิชาหัตถศึกษาให้ประดิษฐ์ของใช้ด้วยเศษวัสดุ  ให้ทำอาหารในวิชาคหกรรมศาสตร์  เป็นต้น
                          4.2 แบบทดสอบเขียนตอบ (Paper- Pencil  Test) เป็นแบบทดสอบที่ใช้การเขียนตอบทุกชนิด  ได้แก่  แบบทดสอบปรนัย  และอัตนัยที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในโรงเรียน  รวมทั้งการเขียนรายงานซึ่งต้องใช้กระดาษ  ดินสอ  หรือปากกาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสอบ
                          4.3 แบบทดสอบด้วยวาจา (Oral  Test) เป็นแบบทดสอบที่ผู้สอบใช้การโต้ตอบด้วยวาจาแทนที่จะเป็นการเขียนตอบ  หรือปฏิบัติ  เช่น  การสอบสัมภาษณ์  การสอบท่องจำ   เป็นต้น
                     5. จำแนกตามเวลาที่กำหนดให้ตอบ  จำแนกได้ 2 ประเภท ดังนี้
                          5.1 แบบทดสอบวัดความเร็ว  (Speed  Test) เป็นแบบทดสอบที่มุ่งวัดทักษะความคล่องแคล่วในการคิด  ความแม่นยำในการรู้เป็นสำคัญ  แบบทดสอบประเภทนี้มักมีลักษณะค่อนข้างง่ายแต่มีจำนวนข้อมาก  และให้เวลาทำน้อย  ใครทำเสร็จก่อนและถูกต้องมากที่สุดถือว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด
                          5.2 แบบทดสอบวัดความสามารถสูงสุด (Power Test) มีลักษณะค่อนข้างยากและให้เวลาทำมากเพียงพอในการตอบ  เป็นการสอบวัดความสามารถในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยให้เวลา ผู้สอบทำจนสุดความสามารถ  หรือจนกระทั่งทุกคนทำเสร็จ  เช่น  การให้ค้นคว้ารายงาน   การทำวิทยานิพนธ์  หรือข้อสอบอัตนัยบางอย่างก็อนุโลมจัดอยู่ในประเภทนี้ได้
            การใช้แบบทดสอบ
            การใช้แบบทดสอบเพื่อการวัดผลการศึกษานั้นควรคำนึงถึงหลักเกณฑ์และข้อจำกัดบางประการดังนี้
            1.  เลือกใช้ข้อสอบที่วัดคุณลักษณะที่ต้องการนั้นอย่างใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด
            2.  การใช้แบบทดสอบต้องให้เหมาะสมกับระดับกลุ่มของเด็ก
            3. การใช้แบบทดสอบต้องให้เกิดความยุติธรรมมากที่สุดทั้งในด้านของข้อคำถามที่ใช้  และวิธีดำเนินการสอบ
            4.  ควรสอบวัดหลาย ๆ ด้าน  และใช้ข้อสอบหลาย ๆ อย่าง ประกอบกัน
            5.  แบบทดสอบที่ใช้ได้ผลตามเป้าหมายจะต้องเป็นแบบทดสอบที่มีคุณภาพดี
            6. คะแนนจากการสอบเป็นเพียงตัวเลขในมาตราจัดอันดับ (Ordinal  Scale) จึงควรคำนึงถึงในการแปลคะแนนที่ได้จากการสอบ
            7. การใช้แบบทดสอบควรพยายามใช้ผลการสอบที่ได้ให้กว้างขวางหลาย ๆ ด้าน
            8. คะแนนที่ได้จากการสอบในแต่ละครั้ง  ต้องถือว่าเป็นคะแนนที่เกิดจากความสามารถของแต่ละบุคคล  ดังนั้นถ้ามีสิ่งใดที่จะทำให้การสอบได้ผลไม่ตรงกับความคิดข้างต้น  ควรจะได้รับการแก้ไข
            9. พึงระวังการสอบที่ทำให้เด็กได้เปรียบ  เช่น  การใช้แบบทดสอบชุดเดิม
          10. การสอบแต่ละครั้งควรจะมีการตรวจให้คะแนนผลการสอบอย่างเป็นปรนัย