ญี่ปุ่น ปิดประเทศ ไป มากกว่า สอง ร้อย ปี ในยุค สมัย ใด

เผยแพร่: 8 ต.ค. 2561 20:49   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies

ต้นกำเนิดของญี่ปุ่นยุคใหม่เริ่มในปี 1868 (พ.ศ. 2411) เมื่อเกิด “การปฏิวัติเมจิ” พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ทำให้ญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงในระดับประเทศ และส่งผลถึงสถานภาพของญี่ปุ่นในระดับโลก ปีนี้ครบ 150 ปีของเหตุการณ์สำคัญครั้งนั้น จึงถือเป็นโอกาสเหมาะที่จะเขียนถึงเพื่อเป็นอนุสรณ์ พร้อมทั้งชี้ชวนให้มองย้อนประวัติศาสตร์ เพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับญี่ปุ่นในวันนั้นที่ทำให้เราได้เห็นญี่ปุ่นอย่างที่เป็นในวันนี้

ตัวอย่างคร่าว ๆ ของสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น “โตเกียว”—นครหลวงทางทิศตะวันออก คือชื่อใหม่ของเอโดะ และกลายเป็นเมืองหลวงใหม่โดยย้ายจากเกียวโต, ที่ประทับของพระจักรพรรดิเปลี่ยนจากเกียวโตมาเป็นโตเกียว และระบบโชกุนกับซามูไรหมดไปจากประเทศ นี่คือส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ช่วงที่ญี่ปุ่นเริ่มปรับประเทศสู่ความทันสมัยในยุคที่ชื่อ

“เม-จิ” (明治;Meiji) อันมีความหมายตามตัวอักษรว่า “แสงสว่าง” กับ “การปกครอง”

เริ่มต้นมองกันตั้งแต่ชื่อเรียก คำว่า

“เมจิ-อิชิง” (明治維新;Meiji Ishin) ปี 1868 คือชื่อกับตัวเลขในประวัติศาสตร์ที่นักเรียนญี่ปุ่นต้องท่องจำ สำคัญพอ ๆ กับวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ของไทย ตามความหมายแคบ คำชี้มักบ่งชี้ถึงการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 3 มกราคม 1868 นำโดยแคว้นซัตสึมะ (จังหวัดคาโงชิมะบนเกาะคิวชู) และแคว้นโชชู (จังหวัดยามางูจิ ปลายเกาะฮอนชูทางใต้) โดยร่วมกันล้อมพระราชวังหลวงในเกียวโต ประกาศยึดอำนาจจากโชกุนโทกูงาวะในเอโดะเพื่อคืนอำนาจให้แก่จักรพรรดิ

คำนี้ภาษาอังกฤษมักแปลว่า Meiji Restoration คำไทยของราชบัณฑิตยสถาน (ชื่อเดิม) คือ “การฟื้นฟูพระราชอำนาจสมัยเมจิ” เข้าใจว่าคงแปลมาจากภาษาอังกฤษและใช้ในความหมายแคบ แต่เมื่อพิจารณาระลอกของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดตามความหมายกว้างด้วย “เมจิ-อิชิง” คือความเปลี่ยนแปลงในระบอบการปกครอง การเมือง สภาพเศรษฐกิจ และสังคมของญี่ปุ่นซึ่งผลักดันให้ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ความทันสมัยโดยถือว่าปี 1868 เป็นปีเริ่มต้นและดำเนินต่อมาอีกหลายปี นอกจากนี้บางครั้งจะพบคำว่า “การปฏิวัติเมจิ” (Meiji Revolution) หรือ “การปฏิรูปเมจิ” (Meiji Reform) แล้วแต่การตีความของผู้ใช้กับรูปศัพท์ภาษาอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม ภาษาญี่ปุ่นใช้คำเดียวคือ “เมจิ-อิชิง” โดยใช้คำว่า “อิชิง” (維新) สื่อถึงการสร้างระบอบการปกครองขึ้นมาใหม่ภายใต้ผู้ปกครองคนเดิมที่มีอยู่แล้วซึ่งในที่นี้คือจักรพรรดิ และเป็นคำที่แทบไม่ได้ยินว่ามีการใช้นอกบริบทประวัติศาสตร์ แต่ในภาษาญี่ปุ่นมีอีกคำหนึ่งที่คล้าย ๆ กันคือ “ไคกากุ” (改革;kaikaku) ซึ่งหมายถึงการโค่นล้มผู้ปกครองเดิมและมีผู้ปกครองคนใหม่ ภาษาอังกฤษใช้ revolution ภาษาไทยแปลว่า “ปฏิวัติ” อย่างไรก็ตาม หากจะหาข้อยุติเรื่องคำไทยคงไม่มีที่สิ้นสุด เอาเป็นว่าในบทความนี้ขอเลือกใช้คำว่า “การปฏิวัติเมจิ” เนื่องจากสื่อถึงการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่

เมื่อย้อนกลับไปดูระบบของญี่ปุ่นก่อนหน้าสมัยเมจิ จะพบว่า “โชกุน” ออกมามีบทบาทมากและอาจจะมากกว่าพระจักรพรรดิด้วยซ้ำ คนไทยคุ้นเคยกับคำว่า “โชกุน” (将軍;shōgun) แต่หลายคนไม่ทราบแน่ชัดว่าโชกุนคือใคร โชกุนคือแม่ทัพใหญ่ประจำกองทัพของพระจักรพรรดิ หรือถ้าเทียบในสมัยนี้คือผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่ในทางปฏิบัติโชกุนมีอำนาจบริหารประเทศด้วย เมื่อรวมกับแง่นี้ย่อมถือว่าโชกุนคือทหารที่เป็นนายกรัฐมนตรี จักรพรรดิคือผู้แต่งตั้งโชกุน และโชกุนคือทหารที่ควรจะปกป้องสถาบันจักรพรรดิ แต่โชกุนกลายเป็นสถาบันที่เรืองอำนาจทางการเมืองจนกล่าวได้ว่าเหนือกว่าจักรพรรดิ สภาพเช่นนี้ปรากฏชัดในสมัยเอโดะ (1600-1868) ซึ่งการบริหารบ้านเมืองตกอยู่ภายใต้อำนาจของโชกุนตระกูลโทกูงาวะเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 250 ปี

ในสมัยเอโดะ เมืองหลวงญี่ปุ่นยังคงอยู่ที่เกียวโต แต่โชกุนโทกูงาวะ อิเอยาซุ (โชกุนตระกูลโทกูงาวะรุ่นที่ 1) สถาปนาศูนย์ทำการของตนที่เอโดะ และวางระบบการบริหารบ้านเมืองอย่างเคร่งครัด โดยที่จักรพรรดิมีบทบาทน้อยมาก ในเชิงการเมืองสมัยเอโดะคือยุคของเผด็จการทหาร สิทธิเสรีภาพหลายด้านถูกควบคุม และญี่ปุ่นอยู่ในยุคปิดประเทศ แต่ในทางวัฒนธรรม สมัยเอโดะคือยุคทองของวัฒนธรรมและศิลปะ บ้านเมืองว่างเว้นจากการรบพุ่งกันเองเป็นเวลานาน จนกระทั่งช่วงท้าย ๆ จึงมีอิทธิพลของตะวันตกเข้ามามาก และเกิดเหตุการณ์สำคัญ

ญี่ปุ่น ปิดประเทศ ไป มากกว่า สอง ร้อย ปี ในยุค สมัย ใด

วันที่ 8 กรกฎาคม 1853 มีเรือรบ 4 ลำของต่างชาติมาจ่ออยู่ปากอ่าวเอโดะ หมายจะบีบให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศ นั่นคือเรือของอเมริกาที่มาบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศเพื่อทำการค้า โดยขู่ว่าหากไม่ตกลงจะเปิดฉากรบ และนั่นเป็นครั้งแรกในรอบ 200 กว่าปีที่รัฐบาลโชกุนปรึกษาจักรพรรดิที่เกียวโต เมื่อดูท่าว่าคงไม่สามารถต้านทานอเมริกาได้ ญี่ปุ่นจึงยอมตกลง และก็เช่นเดียวกับไทยคือ ทำสัญญาแบบเสียเปรียบ รวมทั้งการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

อิทธิพลจากตะวันตกคุกคามหนักข้อขึ้น ญี่ปุ่นจำต้องเปิดประเทศ และเริ่มมีคนต่างชาติเข้ามามากขึ้น ก่อให้เกิดกระแสหวาดเกรงคนต่างชาติ รัฐบาลโชกุนในช่วงปลายสมัยต้องเผชิญกับพลังทั้งภายนอกและภายในที่ไม่พอใจการบริหารจัดการ อีกทั้งเกิดกระแส “ซนโน-โจอิ” (尊王攘夷;Sonnō Jōi) หรือ “ภักดีพระจักรพรรดิ ขจัดพวกป่าเถื่อน” ขึ้นด้วย การต่อต้านจากในประเทศโดยเฉพาะแคว้นที่มีพลังอำนาจสูงก่อตัวชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะแคว้นซัตสึมะ ช่วงนี้ปรากฏชื่อบุคคลผู้มีบทบาทอย่างสูงในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นหลายคน คนเด่น ๆ ผู้มีชื่อคุ้นหูคนไทยในระดับหนึ่ง เช่น ซากาโมโตะ เรียวมะ, ไซโง ทากาโมริ

แน่นอนว่าฝ่ายต่อต้านเรียกร้องให้โทกูงาวะ โยชิโนบุซึ่งเป็นโชกุนในขณะนั้นยอมคืนอำนาจแก่พระจักรพรรดิ จนในที่สุดก็นำไปสู่การรวบรวมกำลังซามูไรไปล้อมพระราชวังหลวงที่เกียวโตเพื่ออารักขาพระจักรพรรดิไว้เมื่อวันที่ 3 มกราคม 1868 และมีคำประกาศให้โชกุนยอมจำนน แต่ทว่าโยชิโนบุไม่ยอม สั่งเคลื่อนทัพมุ่งไปยังเกียวโต เกิดการสู้รบกลายเป็น “สงครามโบชิง” ซึ่งฝ่ายโชกุนพ่ายแพ้ในเดือนมิถุนายนปีถัดมา


ในปี 1868 เมื่อยึดอำนาจจากโชกุนแล้ว จักรพรรดิทรงย้ายที่ประทับจากเกียวโตมายังเอโดะ และชื่อเมืองก็เปลี่ยนเป็นโตเกียว เจ้าชายมุตซึฮิโตะทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระจักรพรรดิในขณะนั้น พระองค์เป็นพระโอรสอันเกิดจากพระสนม ประสูติในช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังเริ่มถูกอิทธิของชาติตะวันตกคุกคามอย่างหนัก ด้วยจักรพรรดิโคเมพระบิดาทรงมีพระชนมายุสั้น สวรรคตเมื่อ 35 พรรษา ปีนั้นเจ้าชายมุตซึฮิโตะจึงขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระชนมายุขณะนั้นคือ 14 พรรษา และเป็นปีเดียวกันกับที่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะที่มีพระชนมายุ 15 พรรษา

อำนาจการปกครองของตระกูลโทกูงาวะสิ้นสุดลงเมื่อเกิดการปฏิวัติเมจิ ไม่มีโชกุนอีกต่อไป สิริการสืบทอดความเป็นโชกุนต่อกันรวมทั้งสิ้น 15 คนจนสิ้นสุดที่โทกูงาวะ โยชิโนบุ อย่างไรก็ตาม ตระกูลนี้ได้ทิ้งมรดกหลายอย่างไว้แก่ญี่ปุ่น สิ่งที่เด่น ๆ เช่น ศาลเจ้าอันวิจิตร “นิกโก-โทโชงู” ซึ่งลูกชายคนที่ 2 และ 3 ของโชกุนรุ่นแรกสร้างอุทิศให้แก่พ่อ หลังจากรัฐบาลโชกุนถูกโค่นล้มแล้ว คนตระกูลโทกูงาวะยังสืบเชื้อสายมีชีวิตอยู่มาจนถึงปัจจุบัน บางคนเป็นนักการเมือง บางคนเป็นอาจารย์

ในสมัยเมจิเกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย ในด้านความเจริญ ญี่ปุ่นเร่งพัฒนาประเทศตามตะวันตกจนเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ญี่ปุ่นมีรถไฟใช้ครั้งแรกก็ในสมัยนี้ แต่ในอีกด้านหนึ่งความอหังการทางทหารก็เกิดขึ้นในยุคนี้เมื่อญี่ปุ่นชนะประเทศใหญ่อย่างจีนและรัสเซียได้ในสงคราม และต่อมาแนวคิดทหารนิยมของญี่ปุ่นได้สร้างความเดือดร้อนแก่เพื่อนบ้าน

เมื่อมองโดยรวม ในช่วง 150 ปีนับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติเมจิจนถึงตอนนี้ ญี่ปุ่นดูเจริญและมั่งคั่งแม้ผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงหลายครั้งรวมทั้งสงคราม คนไทยเมื่อมองญี่ปุ่นแล้ว เราควรหวนมองตัวเองให้หนัก ๆ เช่นกันว่า ใน 150 ปีมานี้ขณะที่เรามีทรัพยากรมากกว่าและไม่ได้มีสงครามหนักหนาเท่าญี่ปุ่น เราก้าวไปถึงไหน

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com