การตรวจ สอบ ภายใน ระบบ จัดซื้อ

การควบคุมภายในเกี่ยวกับระบบจัดซื้อ

10 Jan

การตรวจ สอบ ภายใน ระบบ จัดซื้อ

 

การตรวจ สอบ ภายใน ระบบ จัดซื้อ


การควบคุมภายในเกี่ยวกับระบบจัดซื้อ
Internal controls on Purchasing systems
สุมิตร  รัตนะบัวงาม
SUMIT RATTANABUANGAM
E-mail: [email protected]
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม


บทคัดย่อ
          การควบคุมภายใน คือ การกระทำที่ฝ่ายบริหารกำหนดให้มีขึ้นเพื่อช่วยให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ การควบคุมภายในมีส่วนช่วยให้องค์กรสามารถควบคุมการทำงานให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน และสนับสนุนให้เกิดการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ศึกษาได้มองเห็นถึงความสำคัญของการควบคุมภายในเกี่ยวกับระบบจัดซื้อ การจัดซื้อถือเป็นระบบที่สำคัญและจำเป็นกับองค์กรอีกระบบหนึ่ง การจัดซื้อจะต้องมีกระบวนการเพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อวัตถุดิบ และตัดสินใจเลือกผู้จัดจำหน่ายวัตถุดิบ ที่มีคุณภาพในราคาที่ยอมรับได้ และที่สำคัญจะต้องมีระบบที่ใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบและตัวแทนผู้จัดจำหน่าย ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุมภายในเกี่ยวกับระบบจัดซื้อ
          บทความนี้เป็นการศึกษาการควบคุมภายในเกี่ยวกับระบบจัดซื้อ ซึ่งสรุปความหมายของงานตรวจสอบภายใน ความหมายของการจัดซื้อ และการควบคุมภายในเกี่ยวกับระบบจัดซื้อ ในเรื่องของการควบคุมการทำงานของระบบจัดซื้อ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ตรวจสอบภายในหรือผู้ที่สนใจ สามารถนำการควบคุมภายในเกี่ยวกับระบบจัดซื้อไปศึกษาเพิ่มเติม หรือปรับใช้กับการทำงานภายในองค์กรได้ เพื่อพัฒนาให้องค์กรมีกระบวนการทำงานจัดซื้อที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

คำสำคัญ :  การตรวจสอบภายใน, การควบคุม, จัดซื้อ
 
Abstract
          Internal control is the action that management has given to help the organization achieve its objectives and goals. Internal control helps the organization to control work to be efficient at work and support continuous improvement. The researcher has seen the importance of internal control regarding the purchasing system. Purchasing is an important and necessary system for an organization. Purchasing must have a process for making decisions about purchasing raw materials. Decide on a supplier of quality raw materials at an acceptable price.  Importantly, there must be a system used to check the quality of raw materials and distributor agents. Therefore, there must be internal control regarding the purchasing system.
          This article is a study of internal control regarding procurement system. Which summarizes the meaning of internal audit, the meaning of purchasing and internal Controls regarding purchasing system in the matter of controlling the work of the purchasing department. Objectives for internal auditors or interested parties can bring the internal control about the procurement system to study more or can be adapted to work within the organization to develop the organization to have a more efficient purchasing process.

Keywords: Internal Audit, Control, Purchasing
 
บทนำ
          การควบคุม คือ การกระทำใดๆ ที่ฝ่ายบริหารกําหนดให้มีขึ้นเพื่อช่วยให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ กิจกรรมการตรวจสอบภายในมีส่วนช่วยให้องค์กรสามารถดำรงประสิทธิภาพในการควบคุมต่างๆ ได้ด้วยการประเมินความเพียงพอและประสิทธิผลของการควบคุมนั้นๆ และสนับสนุนให้เกิดการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยให้ครอบคลุมถึงการกำกับดูแลการดําเนินงาน ระบบข้อมูลสารสนเทศขององค์กรซึ่งรวมถึงความถูกต้องครบถ้วน เชื่อถือได้ของข้อมูลด้านการเงิน การดําเนินงานประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการปฏิบัติงาน การดูแลทรัพย์สินและการปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับต่างๆ
          การจัดซื้อ (Purchasing) ถือเป็นระบบที่สำคัญและจำเป็นกับองค์กรอีกระบบหนึ่ง การจัดซื้อจะต้องมีการจัดซื้อวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพเพื่อตอบสนองความของลูกค้า ที่เปลี่ยนไปจากการเน้นที่ราคาไปเป็นคุณภาพที่ดี โดยในการจัดซื้อจะต้องมีกระบวนการเพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อวัตถุดิบ และตัดสินใจเลือกผู้จัดจำหน่ายวัตถุดิบ ที่มีคุณภาพในราคาที่ยอมรับได้ และที่สำคัญจะต้องมีระบบที่ใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบและตัวแทนผู้จัดจำหน่าย
          ดังนั้นจึงมีการควบคุมภายในเกี่ยวกับระบบจัดซื้อเกิดขึ้นภายในองค์กร เพื่อช่วยให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายตามที่ฝ่ายบริหารกำหนดกิจกรรมการควบคุมภายใน ให้องค์กรสามารถดำรงการควบคุมระบบจัดซื้อ ให้มีประสิทธิภาพ ความโปร่งใสและน่าเชื่อถือขององค์กร รวมถึงการปฏิบัติงานเป็นไปตามกฎระเบียบขององค์กร 
  
วัตถุประสงค์

  1. เพื่อศึกษาการควบคุมภายในเกี่ยวกับระบบจัดซื้อ
  2. เพื่อให้ผู้ตรวจสอบภายในหรือผู้ที่สนใจ สามารถนำการควบคุมภายในเกี่ยวกับระบบจัดซื้อไปศึกษาเพิ่มเติมหรือปรับใช้กับการทำงานภายในองค์กร 
ความหมายของการตรวจสอบภายใน
          การตรวจสอบภายใน (Internal auditing) ถือเป็นกลไกหนึ่งของระบบบริหารจัดการองค์กร ที่ให้ความเชื่อมั่นและให้คำปรึกษาอย่างเที่ยงธรรมและเป็นอิสระ เพื่อเพิ่มคุณค่าและปรับปรุงการปฏิบัติงานขององค์กรให้ดีขึ้น รวมทั้งช่วยให้องค์กรบรรลุถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ การตรวจสอบภายในเป็นวิชาชีพที่มีการปฏิบัติที่แตกต่างกันในแต่ละองค์กร เนื่องจากแต่ละองค์กรมีโครงสร้าง วัฒนธรรม ขนาด และระบบการทำงานที่แตกต่างกัน รวมทั้ง กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศที่เกี่ยวข้องที่ใช้ในการควบคุมและถือปฏิบัติการตรวจสอบภายในจึงถือเป็นกลไกที่ช่วยให้ผู้บริหารใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลกิจการให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการบริหารองค์กรยุคใหม่ในปัจจุบัน (กรมบัญชีกลาง, 2546)
          การตรวจสอบภายใน คือ การให้ความเชื่อมั่นและการให้คำปรึกษาอย่างเที่ยงธรรมและเป็นอิสระ เพื่อเพิ่มคุณค่าและปรับปรุง การดําเนินงานขององค์กร การตรวจสอบภายในช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้วยการประเมินและปรับปรุงประสิทธิผลของกระบวนการบริหารความเสี่ยง การควบคุม และการกำกับดูแลอย่างเป็นระบบและเป็นระเบียบ (ศิลปพร ศรีจั่นเพชร, 2554)
          วัตถุประสงค์และขอบเขตของการตรวจสอบภายใน คือ การตรวจสอบภายในช่วยให้องค์กรบรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้ด้วยการประเมินและปรับปรุงประสิทธิผลของกระบวนการบริหารความเสี่ยง การควบคุม และกระบวนการกำกับดูแลอย่างเป็นระบบและเป็นระเบียบ (The institute of internal auditors, 2021)
สำหรับขอบเขตของการตรวจสอบภายในนั้น ตามที่กล่าวในระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายใน พ.ศ. 2546 ได้กล่าวไว้ว่าขอบเขตของการตรวจสอบภายในโดยทั่วไปรวมถึง
           1. การสอบทานและประเมินการบริหารความเสี่ยง การควบคุม และการกำกับดูแลของหน่วยรับตรวจ ซึ่งครอบคลุมถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิด 1. ความมั่นใจว่าการดำเนินงาน หรือการใช้ทรัพยากรเป็นไปอย่างประหยัด มีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ 2. ความมั่นใจในความถูกต้องครบถ้วน และน่าเชื่อถือของข้อมูลการเงินและการดำเนินงาน 3. การดูแลรักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์ของหน่วยรับตรวจมิให้เกิดการสูญหาย รวมทั้งการเสียหายจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ 4. ความมั่นใจว่ามีการปฏิบัติตามนโยบาย วิธีปฏิบัติงาน กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ 5. การเสนอแนะการปรับปรุงการบริหารความเสี่ยง การควบคุม และการกำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง
          2. การสอบทานและติดตามแผนการปฏิบัติงาน และผลการดำเนินงาน เพื่อช่วยให้หน่วยรับตรวจเกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย
          3. การให้ความสำคัญเป็นกรณีพิเศษกับสภาพแวดล้อมของความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ
ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการบริหารความเสี่ยง การควบคุม และการกำกับดูแลซึ่งจะเห็นได้ว่าจากขอบเขตของการตรวจสอบภายในดังกล่าวข้างต้น ผู้ตรวจสอบภายใน จะต้องกำหนดขอบเขตของการตรวจสอบภายในให้มีความครอบคลุมทุกด้าน โดยต้องประเมินความเพียงพอของการควบคุมภายในด้วยการใช้เทคนิคการตรวจสอบด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อให้การดำเนินการขององค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ขององค์กร
 
ความหมายของการจัดซื้อ
          การจัดซื้อ (Purchasing) เป็น กระบวนในการซื้อ โดยศึกษาความต้องการ หาแหล่งซื้อและคัดเลือกผู้ส่งมอบ เจรจาต่อรองราคา (Price) และกำหนดเงื่อนไขให้ตรงกับความต้องการ รวมไปถึงติดตามการจัดส่งสินค้าเพื่อให้ได้รับสินค้าตรงเวลา และติดตามการชำระเงินค่าสินค้าด้วย ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว การจัดซื้อ (Purchasing) การจัดการพัสดุ (Supply management) และการจัดหา (Supply) นั้น ถูกนำมาใช้แทนกันในการจัดหาให้ได้มาซึ่งพัสดุและงานบริการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลภายในองค์กร ดังนั้น การจัดซื้อ (Purchasing) หรือการจัดการพัสดุ ไม่ใช่เป็นเพียงความเกี่ยวเนื่องในขั้นตอนมาตรฐานในกระบวนการจัดหาที่ประกอบด้วย
1. การรับรู้ความต้องการใช้สินค้า
2. การแปรความต้องการใช้สินค้านั้นไปเป็นเงื่อนไขสำหรับการจัดหา
3. การแสวงหาผู้ส่งมอบที่มีศักยภาพเพียงพอกับความต้องการ
4. การเลือกแหล่งสินค้าที่เหมาะสม
5. การจัดทำข้อตกลงตามใบสั่งซื้อหรือสัญญาซื้อขาย
6. การส่งมอบสินค้าหรืองานบริการ
7. การชำระค่าสินค้าหรือบริการให้กับผู้ส่งมอบ
          ซึ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของการจัดซื้อยังอาจรวมไปถึงการรับมอบสินค้า (Receiving) การตรวจสอบสินค้า (Inspection) การจัดเก็บสินค้า (Storage) การขนย้ายสินค้า (Material handling) การจัดตาราง (Scheduling) การจัดส่งทั้งขาเข้าและออก (Inbound and outbound traffic) และการทำลายทิ้ง (Disposal) แต่การจัดซื้อยังมีหน้าที่ความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องในโซ่อุปทาน (Supply chain) อีกด้วย เช่น การเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกค้า และลูกค้าของลูกค้า รวมไปถึงผู้ส่งมอบของผู้ส่งมอบ ซึ่งการขยายขอบเขตส่วนเกี่ยวข้องนี้รวมเรียกว่าการจัดการโซ่อุปทาน (Supply chain management) โดยการจัดการโซ่อุปทานนี้จะมุ่งเน้นการลดต้นทุน (Cost) และลดระยะเวลาภายในโซ่อุปทานเพื่อให้ได้รับประโยชน์ไปถึงลูกค้าขั้นสุดท้ายของโซ่อุปทาน และด้วยแนวความคิดนี้เอง จึงทำให้การแข่งขันในระดับองค์กรถูกเปลี่ยนไปเป็นการแข่งขันในระดับโซ่อุปทานในอนาคต (Leenders, et al. 2006)
          ความหมายของการจัดซื้อไว้ว่า เป็นกระบวนการที่บริษัทต่างๆ ทำสัญญากับบุคคลฝ่ายที่สาม เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าและบริการที่ต้องการ เพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ของธุรกิจอย่างมีจังหวะเวลา และมีต้นทุน (Cost) ที่มีประสิทธิภาพ จากคำจำกัดความข้างต้น จะเห็นได้ว่า กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารงานพัสดุเพราะไม่ใช่เป็นแต่เพียงงานจัดซื้อเท่านั้น ยังขยายไปถึงการวางแผนและการวางนโยบายครอบคลุมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องด้วยกัน กิจกรรมเหล่านี้ ได้แก่ การวิจัย และการพัฒนาการเลือกวัสดุที่เหมาะสมและการเลือกแหล่งขายที่ถูกต้อง การติดตามผลเพื่อให้การนำส่งเป็นไปตามกำหนดเวลาที่ตกลงกัน การตรวจสอบสินค้าที่นําส่งเพื่อให้มั่นใจว่าเป็นสินค้าที่มีคุณสมบัติและจำนวนตรงตามที่ได้วางไว้ และตลอดจนการพัฒนาการติดต่อประสานงานกันกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวพันกันเป็นต้น (อดุลย์ จาตุรงคกุล,  2547)
          ความหมายของการจัดซื้อจัดหา (Procurement) โดยเรียบเรียงจาก คำบรรยายของ ดร.วิทยา สุหฤทดำรง ไว้ คือ กระบวนการที่บริษัทหรือองค์กรต่างๆ ตกลงทำการ ซื้อขายเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการที่ต้องการเพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ของธุรกิจอย่างมีจังหวะเวลาและมีต้นทุน (Cost) ที่เหมาะสม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้สินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพปริมาณที่ถูกต้อง ตรงตามเวลาที่ต้องการ ในราคา (Price) ที่เหมาะสมจากแหล่งขายที่มีความน่าเชื่อถือ (อรุณ บริรักษ์, 2550)
 
การควบคุมภายในเกี่ยวกับระบบการจัดซื้อ
1. แผนกจัดซื้อเป็นหน่วยงานที่แยกออกจากหน่วยงานอื่นหรือมีพนักงานไม่เกี่ยวข้องกับ
          1.1 การบัญชี(ทั่วไป)
          1.2 การทำบัญชีรับสินค้า
          1.3 การรับของ
          1.4 การจัดส่งสินค้าให้ลูกค้า
          1.5 การจ่ายเงินให้เจ้าหนี้
2. การจัดซื้อกระทำโดย
          2.1. แผนกหรือพนักงานจัดซื้อ จัดซื้อตามใบเสนอซื้อที่ได้รับการอนุมัติเรียบร้อยแล้ว
          2.2. การจัดซื้อในแต่ละครั้ง แผนกผลิตและคลังเป็นผู้เสนอแนะเกี่ยวกับชนิดและปริมาณของสินค้าที่จะซื้อ
          2.3. สั่งซื้อจากรายการราคาขายของผู้ขายที่ได้รับการอนุมัติ (Approved vendor list)
          2.4. มีการเปรียบเทียบราคาจากผู้ขายหลายแห่ง เพื่อให้ได้ราคาที่ดีที่สุด
          2.5. ใบสั่งซื้อทำขึ้นโดย
                 2.5.1. เรียงลำดับหมายเลขไว้ล่วงหน้า
                 2.5.2. มีการอนุมัติการสั่งซื้อทุกครั้งที่สั่งซื้อ
          2.6. สำเนาใบสั่งซื้อได้ส่งไปยัง
                 2.6.1. แผนกบัญชีหรือเจ้าหน้าที่ผู้ทำใบสำคัญสั่งจ่าย
                 2.6.2. แผนกรับของหรือเจ้าหน้าที่ผู้ทำการตรวจรับของ
          2.7. ใบรับของแสดงจำนวนที่นับได้จริง พร้อมทั้งลายเซ็นผู้ตรวจรับอย่างน้อย 2 คน
          2.8. ใบรับของได้ระบุถึงเงื่อนไขต่างๆ ในกรณีที่จะต้องมีการทดสอบคุณภาพในภายหลัง
          2.9. สินค้าที่จัดซื้อที่มีคุณภาพพิเศษ จะต้องมีรายงานการตรวจสอบจากผู้ที่มีความชำนาญในเรื่องนั้นโดยเฉพาะ
          2.10. ใบรับของที่มีเลขที่เรียงลำดับและมีสำเนาส่งให้
                2.10.1. แผนกบัญชี เพื่อเก็บไว้กับใบสั่งซื้อ
                2.10.2. แผนกจัดซื้อ เพื่อติดตามรายการที่สั่งซื้อแล้ว แต่ยังไม่ได้รับของ
                2.10.3. แผนกคลังสินค้า เพื่อบันทึกบัญชีพัสดุคงเหลือ
                2.10.4. เก็บไว้ที่แผนกรับของ หรือเจ้าหน้าที่ผู้กระทำการตรวจรับของ
3. เมื่อมีการคืนของ จะจัดการโดยแผนกคลังสินค้าและแผนกรับของหรือเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจรับของ
         3.1. ติดต่อเพื่อขอใบลดหนี้
         3.2. แผนกจัดซื้อและบัญชีได้รับแจ้งเรื่องราวการคืนสินค้า
4. การตรวจสอบ
         4.1. ใบส่งของหรืออินวอยซ์/ใบกำกับภาษี จากผู้ขายได้ตรวจสอบกับเอกสารเหล่านี้ก่อนจ่ายเงิน
               4.1.1. ใบสั่งซื้อ
               4.1.2. การรับรอง
               4.1.3. รายงานการตรวจสอบคุณภาพ (ถ้ามี)
         4.2. แผนกบัญชีไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับ
               4.2.1. การสั่งซื้อ
               4.2.2. การรับของ
         4.3. มีหลักฐานแสดงว่ามีการตรวจสอบใบส่งของในเรื่องต่อไปนี้
               4.3.1. ราคา
               4.3.2. ค่าขนส่ง
               4.3.3. การลดราคา หรือข้อโต้แย้งต่างๆ
          4.4. ใบสำคัญที่จ่ายเงินแล้ว จะต้องมีการการทำเครื่องหมายเพื่อป้องกันการจ่ายซ้ำ
 
5. ใบสำคัญสั่งจ่ายจะต้องจัดทำสำหรับการซื้อและค่าใช้จ่ายทุกรายการ
6. ใบสำคัญสั่งจ่ายและเอกสารประกอบทุกฉบับ จะต้องมีเครื่องหมายแสดงว่าได้จ่ายเงินแล้ว
7. จะต้องมีการตรวจสอบระยะเวลาที่จะต้องจ่ายด้วย เพื่อป้องกันการเบิกจ่ายผิดงวด
8. ใบสำคัญการสั่งจ่ายจะต้องมีการตรวจสอบและอนุมัติ
9. ควรมีการจัดทำนโยบายการจัดซื้อขึ้นอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
10. ควรมีการจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานของแผนกจัดซื้อ หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานของแผนกจัดซื้อ ขึ้นอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้พนักงานใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน
11. กำหนดให้มีการประเมินผลผู้ขายอย่างน้อยปีละครั้ง
 
สรุป
          แผนกจัดซื้อมีหน้าที่สำคัญ คือ จัดหาสินค้าหรือวัตถุดิบให้มีพร้อมตามความต้องการของหน่วยงานต่างๆ อย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด ซึ่งรวมถึง การเลือกสรรผู้ขายวัตถุดิบที่เหมาะสม การสั่งซื้อ และการตรวจสอบควบคุมการทำงานของ Supplier ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุมภายในเกี่ยวกับระบบจัดซื้อ เพื่อการควบคุมการทำงานของแผนกจัดซื้อให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพกับองค์กรมากยิ่งขึ้น
 
ข้อเสนอแนะ
          เนื้อหาในบทความฉบับนี้กล่าวถึง การควบคุมภายในเกี่ยวกับระบบจัดซื้อ ทั้งนี้การควบคุมภายในยังมีหลายระบบ เช่น ระบบบัญชี การวางแผนวิศวกรรมการผลิต และความปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น ที่ก่อให้เกิดการควบคุมภายในที่ดีที่สามารถช่วยให้องค์กรมีการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ ซึ่งผู้สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมในระบบการควบคุมอื่นๆได้
 
บรรณานุกรม
กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง. (2546). แนวทางการตรวจสอบภายในภาคราชการ การวางแผนการตรวจสอบและแผนปฏิบัติงาน. กรุงเทพฯ.
จันทนา สาขาจาร, นิพันธ์ เห็นโชคชัยชนะ และศิลปพร ศรีจั่นเพชร. (2554). การตรวจสอบภายในและการควบคุมภายใน. กรุงเทพฯ.
บริษัท สำนักงานจรัสทนายความและการบัญชี จำกัด. การควบคุมภายใน การซื้อ สืบค้นเมื่อ 01 สิงหาคม,
2564, จากเว็ปไซต์ http://www.jarataccountingandlaw.com/index.php?lay=s how&ac=  article&Id=5327409
อดุลย์ จาตุรงคกุล. (2547). การจัดซื้อ, ปรับปรุงครั้งที่4, โรงพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรุงเทพฯ,
อรุณ บริรักษ์. (2550). กรณีศึกษา:การบริหารงานจัดซื้อในประเทศไทยเล่มที่1, กรุงเทพฯ,
Leenders, M.R., Fraser, J.P., Flynn, A.E., Fearon, H.E. (2006). Purchasing and Supply
Management with50Supply chaincases.13th edition.McGraw-Hill.
The Institute of Internal Auditors, การตรวจสอบภายใน, http://audit.pcru.ac.th, สืบค้นเมื่อ 01
สิงหาคม 2564, จากเว็ปไซต์: http://audit.pcru.ac.th/minimenu.php?wi_id=93

Share this post

SHARES

View 1256