ใบกํากับภาษีอย่างย่อเคลมภาษีได้ไหม

จากสถิติพบว่าธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะช่วยทำให้เสียภาษีน้อยลง เพราะคำนวณภาษีจากกำไรสุทธิ หากกิจการมีต้นทุน ค่าใช้จ่ายสูงก็นำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ รวมถึงกิจการใดที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ก็สามารถนำภาษีซื้อไปหักกับ ใบกำกับภาษี ที่กิจการออกให้กับผู้ซื้อ (ภาษีขาย) ได้ หรือขอคืนภาษีซื้อได้ด้วย

ดังนั้น หากกิจการใดมีการจดภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ก็มีหน้าที่ต้องออก ใบกำกับภาษี ให้กับผู้ซื้อทุกครั้ง ตลอดจนเมื่อมีการซื้อของเข้าบริษัท ก็ต้องขอ ใบกำกับภาษี ทุกครั้งเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษี ซึ่งใบกำกับภาษีแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปและใบกำกับภาษีอย่างย่อ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่างกันดังนี้

 

ใบกำกับภาษีคืออะไร จำเป็นต้องทำหรือไม่

ตามหลักการเมื่อผู้ประกอบการมีรายได้จากการประกอบธุรกิจเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยยื่นจดไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท

จากนั้นเมื่อมีการซื้อขายและบริการเกิดขึ้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องออกใบกำกับภาษี (TAX INVOICE) ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เพื่อแสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในแต่ละครั้ง (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มได้จากบทความ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตอนไหน และใครที่ควรจดบ้าง)

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) แก่สรรพากรภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน พร้อมกับเก็บเอกสารใบกำกับภาษี และรายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย เอาไว้เป็นหลักฐาน

โดยส่วนใหญ่กิจการจะรวบรวมใบกำกับภาษีและเอกสารทางบัญชีส่งให้กับสำนักงานบัญชีที่รับทำบัญชี เป็นผู้ลงบันทึกรายการต่างๆ ให้ เพื่อความถูกต้องและสะดวกกว่าการทำบัญชีเอง

 

รูปแบบการจัดทำ “ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป” และการนำไปใช้หักภาษี

ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป เป็นเอกสารหลักฐานที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องจัดทำทุกครั้งที่มีการซื้อขายหรือให้บริการ ยกเว้นผู้ประกอบการค้าปลีกมีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ ซึ่งการจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป จำเป็นจะต้องมีความถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ไม่เช่นนั้นใบกำกับภาษีนั้นจะไม่สามารถใช้ได้

 

โดยมีวิธีจัดทำและรายละเอียดที่จำเป็นต้องมีในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปดังนี้

1.วิธีการจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

– รายการในใบกำกับภาษีให้ทำเป็นภาษีไทย หรือจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษในฉบับเดียวกันก็ได้ ถ้าจะทำเป็นภาษาต่างประเทศอื่นต้องขออนุญาตต่ออธิบดีกรมสรรพากร

– หน่วยเงินตราในใบกำกับภาษีต้องเป็นหน่วยเงินตราไทย และใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิค ถ้าจะจัดทำเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ต้องขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากร

– ใบกำกับภาษีอาจออกรวมกันสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการหลายอย่างก็ได้

– ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ต้องมีรายการครบถ้วน

– รายการในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป จะต้องไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการขีด ฆ่า ขูด ลบ โดยยางลบ หรือใช้ยาหมึก ตกแต่ง ต่อเติม หากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม

2.รายละเอียด 13 ข้อที่ต้องมีในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

– ต้องมีคำว่า “ใบกำกับภาษี” ที่เห็นชัดเจน

– เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย

– เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อ กรณีเป็นบุคคลธรรมดาให้ใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน หากไม่สะดวกระบุแค่ชื่อและที่อยู่ ไม่ต้องใส่เลขบัตรประจำตัวประชาชนได้

– ชื่อและที่อยู่ของผู้ขาย

– ชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อ

– ระบุสำนักงานใหญ่ หรือ “สาขาที่…” ของผู้ขาย

– ระบุสำนักงานใหญ่ หรือ “สาขาที่…” ของผู้ซื้อ

– วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี ให้ใช้ตัวเลขแทนการระบุชื่อเดือนได้ และใช้พุทธศักราชหรือคริสต์ศักราชได้

– เลขที่ของใบกำกับภาษี

– หมายเลขลำดับของเล่ม(ถ้ามี)

– ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ (ให้ระบุเฉพาะสินค้าหรือบริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในใบกำกับภาษีเท่านั้น แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องระบุสินค้าหรือบริการที่ไม่ต้อง

เสียภาษีมูลค่าเพิ่มลงในใบกำกับภาษีด้วย ต้องจัดให้มีเครื่องหมายหรือแยกรายการแสดงให้เห็นชัดเจน

ว่าเป็นสินค้าหรือบริการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม)

– จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการ ต้องแยกแสดงจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ออกจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการอย่างชัดเจน

– กรณีมีเอกสารอื่นประกอบชุดของใบกำกับภาษีจะต้องมีคำว่า “เอกสารออกเป็นชุด” และ “ต้นฉบับ” ในใบกำกับภาษี

         

รูปแบบการจัดทำ “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ” และการนำไปใช้หักภาษี

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ เป็นเอกสารหลักฐานที่ผู้ประกอบการค้าปลีกที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านขาของชำ ร้านขายยา ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงหนัง ซ่อมแซมทุกชนิด สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากกรมสรรพากร ส่วนกิจการที่ไม่มีลักษณะค้าปลีก ควรขออนุมัติจากสรรพากรในการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อเสียก่อน

โดยผู้ประกอบการต้องออกใบกำกับภาษีอย่างย่อให้ทุกครั้งที่มีการซื้อขายและบริการ และต้องจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปทันทีเมื่อมีการร้องขอจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ซึ่งมีวิธีจัดทำและรายละเอียดที่จำเป็นต้องมีในใบกำกับภาษีอย่างย่อดังนี้

 1.วิธีการจัดทำใบกำกับภาษีอย่างย่อ

เนื่องจากกฎหมายไม่ได้เคร่งครัดในเรื่องของการจัดทำรายการของใบกำกับภาษีอย่างย่อ เท่ากับการจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป เพราะภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ไม่สามารถนำมาขอคืนภาษีซื้อหรือเครดิตภาษีได้ แต่นำไปเป็นหลักฐานหักเป็นต้นทุนค่าใช้จ่าของกิจการได้

และกรณีที่มีรายการอื่นนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีในใบกำกับภาษีอย่างย่อ ก็สามารถทำได้ เช่น ใบกำกับภาษีอย่างย่อบางฉบับ นอกจากรายการตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ยังมีรายการราคาสินค้าและภาษีมูลค่าเพิ่มที่แยกออกจากกันก็สามารถมีได้

2.รายละเอียดที่จำเป็นที่ต้องมีในใบกำกับภาษีอย่างย่อ

– มีคำว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ”

– ชื่อหรือชื่อย่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ออกใบกำกับภาษี

– หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีและหมายเลขลำดับของเล่ม(ถ้ามี)

– ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ

– ต้องมีข้อความระบุชัดเจนว่ารวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว

– วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

 

ลักษณะความแตกต่างระหว่าง “ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป” กับ “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ”

ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปใบกำกับภาษีอย่างย่อต้องแสดงชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการอย่างชัดเจนไม่ต้องแสดงชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการต้องแสดงชื่อ ชนิด และประเภทสินค้าอย่างชัดเจนชื่อ ชนิด และประเภทสินค้าสามารถแสดงเป็นรหัสได้ต้องแสดงภาษีมูลค่าเพิ่มแยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการอย่างชัดเจนมีข้อความแสดงให้เห็นชัดเจนว่าราคาสินค้าหรือบริการนั้นมีการรวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้วสามารถนำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อนำส่ง ภ.พ.30 ได้ไม่สามารถนำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อนำส่ง ภ.พ.30 ได้

 

ข้อความใบกำกับภาษีจาง ออกใบแทนใบกำกับภาษีได้

ในกรณีที่ใบกำกับภาษีซื้อเป็นกระดาษความร้อน ซึ่งเก็บไว้นานข้อความจะจางหายไป จะถือว่าไม่มีใบกำกับภาษีซื้อหรือไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อ ดังนั้น ก็ไม่สามารถนำมาขอคืนภาษีซื้อ หรือหักออกจากภาษีขายได้

หรือหากว่าได้ถ่ายสำเนาใบกำกับภาษีซื้อไว้ เอกสารดังกล่าวถือเป็นสำเนาใบกำกับภาษีซื้อ ไม่สามารถนำภาษีซื้อมาขอคืนหรือนำไปหักภาษีขายได้เช่นกัน ซึ่งวิธีแก้ไขให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ ให้ใช้วิธีถ่ายสำเนาใบกำกับภาษีไว้ และในภาพถ่ายสำเนา หรือด้านหลังของภาพถ่ายสำเนาดังกล่าว ให้บันทึกรายการดังต่อไปนี้

1.ใบแทนออกให้ครั้งที่

2.วัน เดือน ปี ที่ออกใบแทน

3.คำอธิบายเล็กน้อย ถึงสาเหตุที่ออกใบแทน

4.ลงลายมือชื่อของผู้ออกใบแทน

เราอาจยิ้มร่าเมื่อเห็นกำไรจากการประกอบกิจการ และความเบิกบานอาจหมดไปเมื่อเห็นภาษีที่ต้องเสีย แต่ก็เป็นหน้าที่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ดี ด้วยเหตุนี้การหาวิธีหักภาษีแบบถูกต้อง หนึ่งในนั้นคือการให้ความสำคัญในรายละเอียดของใบกำกับภาษี จะช่วยให้กลับมายิ้มเบิกกว้างได้อีกครั้งนั่นเอง

PrevPreviousปิดงบการเงิน บริษัทเปิดใหม่จำเป็นต้องจ้างหรือไม่

Nextใบลดหนี้และใบเพิ่มหนี้ กิจการจด VAT ต้องทำเมื่อไหร่ และจัดทำอย่างไรNext

ใบกํากับภาษีอย่างย่อเคลมภาษีได้ไหม

OUR STORY

เรามีชื่อในการช่วยเหลือเจ้าของธุรกิจในเรื่องบัญชีและภาษีเพื่อให้เจ้าของธุรกิจมั่นใจว่าบัญชีและภาษีที่ทำออกมานั้นถูกต้องอีกทั้งเรายังให้คำแนะนำกับเจ้าของธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจที่กำลังเติบโต ซึ่งต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจต่างๆ

ไม่ว่าจะเรื่องจำนวนคนหรือเวลาที่มีน้อยกว่าบริษัทระดับ Corporate หรือความรู้ในการบริหารจัดการภาษีซึ่งเราก็มีผู้ตรวจสอบบัญชี CPA คอยให้คำแนะนำกับเจ้าของธุรกิจทุกท่าน