ยุคสมัยของญี่ปุ่น ปัจจุบัน

ยุคสมัยของญี่ปุ่น ปัจจุบัน

ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies

“เรวะ” (令和;Reiwa) คือชื่อศักราชใหม่ของญี่ปุ่นที่จะมาต่อศักราชเฮเซ โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 0 นาฬิกาของวันที่ 1 พฤษภาคม 2019 พร้อมกับการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ใหม่แห่งญี่ปุ่นทันทีหลังจากที่ศักราชเฮเซปิดฉากลงในคืนวันที่ 30 เมษายน วัฒนธรรมการใช้ชื่อศักราชของญี่ปุ่นมีภูมิหลังและความเปลี่ยนแปลงอย่างไร และ “เรวะ” มีความหมายอย่างไร พื้นที่ตรงนี้จะนำประเด็นเหล่านั้นมาขยายความ

ญี่ปุ่นใช้ “ชื่อศักราช” หรือ “เก็งโง” (元号;gengō) ในชีวิตประจำวันควบคู่กับคริสต์ศักราชด้วยโดยขึ้นอยู่กับกาลเทศะและการเลือกใช้ขององค์กรแต่ละแห่ง ทว่าเอกสารทางการส่วนใหญ่ใช้ศักราชญี่ปุ่นในการระบุวันเดือนปีของการทำธุรกรรม และปัจจุบันมีเพียงญี่ปุ่นเท่านั้นที่ยึดถือขนบนี้ซึ่งเป็นการอิงสถาบันจักรพรรดิ ในอดีตประเทศที่เคยมีขนบเช่นเดียวกัน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม และอันที่จริง ญี่ปุ่นรับการใช้มาจากจีน แต่ขณะนี้นอกจากญี่ปุ่นแล้ว อีกสามประเทศไม่มีพระเจ้าแผ่นดิน ขนบนี้จึงหมดไปด้วย

ในเชิงประวัติศาสตร์ การเรียก “เก็งโง” ว่า “รัชสมัย” บางครั้งอาจก่อให้เกิดความสับสนได้จึงควรพิจารณาบริบทให้ดี ที่เป็นเช่นนี้เพราะคำว่า “รัชสมัย” มักสื่อความถึงยุคที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งครองราชย์ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ในญี่ปุ่นสมัยก่อน บางครั้งในช่วงเวลาของจักรพรรดิองค์เดียวก็มี “เก็งโง” มากกว่าหนึ่งชื่อสืบเนื่องจากเหตุผลหลายอย่าง “เก็งโง” จึงมิได้หมายถึงรัชสมัย (ตั้งแต่ต้นจนจบ) เสมอไป และจำนวน “เก็งโก” ก็มีมากกว่าจำนวนจักรพรรดิญี่ปุ่น มาในระยะหลัง ๆ นี่เองที่ “เก็งโง” กับ “รัชสมัย” กลายเป็นสิ่งเดียวกันโดยเริ่มตั้งแต่สมัยเมจิมาจนถึงปัจจุบัน

คำแปลสำหรับ “เก็งโง” ที่รัดกุมและไม่สร้างความสับสนน่าจะเป็น “ชื่อศักราช” ตรงตามตัวอักษรญี่ปุ่นที่สุด ซึ่งประกอบด้วย 元—“ต้นกำเนิด (ปี)” กับ 号—“เครื่องหมาย (ชื่อ)” เท่านั้น โดยไม่มีคำว่า “ราชา” หรือ “รัช” แต่อย่างใด ในภาษาไทยมีผู้ใช้คำว่า “รัชศก” ด้วย ซึ่งหากพิจารณาตามรูปศัพท์ก็ไม่แตกต่างจาก “รัชสมัย” เท่าใดนัก แต่เนื่องจากเป็นคำที่ไม่ค่อยคุ้นหู จึงพออนุโลมให้หมายถึงสิ่งที่แตกต่างออกไปได้ จะใช้หมายถึงศักราชเฉพาะประเทศในบางโอกาสก็น่าจะได้ และจากนี้ไปเราคงจะได้ยิน “รัชศกเรวะ” กันบ่อยขึ้น หรือจะเรียกว่า “ศักราชเรวะ” หรือ “ยุคเรวะ” หรือแม้แต่ “รัชสมัยเรวะ” ก็ขอให้เข้าใจว่าหมายถึงสิ่งเดียวกัน

เนื่องจาก “ชื่อศักราช” วนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น เมื่อเกิดการเปลี่ยนชื่อ ประชาชนจึงให้ความสนใจอย่างยิ่งเพราะศักราชคือสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนเข้าสู่ยุคใหม่ ถือเป็น “เส้นแบ่ง” ชั่วคน เช่น ในการสนทนากันทั่วไป หากมีการถามถึงปีเกิดขึ้นมาเมื่อไร คนญี่ปุ่นมักยกชื่อศักราชขึ้นมาประกอบ เช่น “ผมเกิดสมัยโชวะ”, “โอ๊ะ คนนี้เป็นเด็กยุคเฮเซหรือ? เด็กจัง” และการคัดเลือกชื่อศักราชก็เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ระดับประเทศที่มีกฎหมายรองรับ มีกรรมการผู้เชี่ยวชาญคัดกรองอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนไปดูในยุคแรก ๆ จะพบว่า การใช้ชื่อศักราชของญี่ปุ่นไม่ได้เป็นวัฒนธรรมที่หยั่งรากทันที มีช่วงว่างเว้นอยู่หลายสิบปี และเหตุผลของการเปลี่ยนชื่อศักราชเมื่อครั้งอดีตกับตอนนี้ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ญี่ปุ่นเริ่มใช้ศักราชของตัวเองครั้งแรกเมื่อปี 645 (พ.ศ. 1188) ชื่อที่ใช้คือ “ไทกะ” (大化;Taika) สาเหตุแห่งการเริ่มต้นคือ เกิดการปฏิรูปทางการเมือง จักรพรรดิโคโตกุเป็นผู้ทรงริเริ่มใช้ ต่อมาในปี 654 ก็หยุดใช้เมื่อจักรพรรดิโคโตกุสวรรคตและทางวังหลวงก็มิได้กำหนดชื่อศักราชขึ้นใหม่แม้ยังคงมีผู้สืบทอดราชสมบัติต่อมาอีกก็ตาม

การหยุดใช้ชื่อศักราชในยุคแรกกินเวลานานถึง 32 ปี และกลับมาใช้อีกครั้งในปี 686 เมื่อจักรพรรดิเท็มมุทรงปราบปรามสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ลงได้ ชื่อที่ใช้คือ “ชูโจ” (朱鳥;Shuchō) ทว่าหลังจากสิ้นสุดสมัยนี้แล้วก็ว่างเว้นการใช้ไปอีก 15 ปี กระทั่งปี 701 จึงกลับมาเริ่มใช้อีกที และนับแต่นั้นในช่วงประมาณ 1,300 ปีจวบจนปัจจุบัน ญี่ปุ่นยึดถือขนบการใช้ชื่อศักราชมาโดยตลอด โดยมีศักราชที่ยาวนานที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่
1) โชวะ (昭和;Shōwa)62 ปี 14 วัน (1926-1989)
2) เมจิ (明治;Meiji)43 ปี 9 เดือน (1868-1912)
3) โอเอ (応永;Ōei)33 ปี 10 เดือน (1394-1428)
4) เฮเซ (平成;Heisei)30 ปี 4 เดือน (1989-2019)

ปัจจุบันมีบทบัญญัติที่ว่าเมื่อจักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์จะต้องเปลี่ยนชื่อศักราช แต่ก่อนหน้าสมัยเมจิ (1868-1912) ไม่มีข้อกำหนดตายตัวเช่นนั้น และสามารถเปลี่ยนได้ง่ายโดยขึ้นอยู่กับพระราชวินิจฉัยของจักรพรรดิหรือวิจารณญาณของโชกุน บางครั้งชื่อศักราชมีอายุแค่ไม่กี่เดือนด้วยซ้ำ ในช่วงเวลาของจักรพรรดิ 122 รัชสมัยจนถึงสมัยจักรพรรดิเมจิ ญี่ปุ่นมีชื่อศักราชถึง 244 ชื่อ มากกว่าจำนวนจักรพรรดิถึงร้อยเปอร์เซ็นต์

การเปลี่ยนชื่อศักราชในสมัยก่อนมีนัยทางการเมืองแฝงอยู่มากและเกิดขึ้นตามอำเภอใจแล้วแต่ผู้ทรงอิทธิพลทางการเมือง แต่ในทางปฏิบัติก็ต้องหาเหตุผลขึ้นมาสร้างความชอบธรรมต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ ได้แก่

1) ผลัดแผ่นดิน เมื่อจักรพรรดิองค์ปัจจุบันสวรรคตหรือสละราชสมบัติ และจักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ ส่วนใหญ่แล้วมักมีการเปลี่ยนชื่อศักราช แม้มีช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างจักรพรรดิบางองค์ที่ไม่เปลี่ยนชื่อศักราชด้วย แต่ก็น้อยมาก

2) โอกาสมงคล เมื่อเกิดเหตุการณ์น่ายินดี จะมีการเปลี่ยนชื่อศักราช ถือเป็นการต้อนรับความเป็นสิริมงคล ทว่าการเปลี่ยนด้วยเหตุผลนี้เกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 877

3) ภัยพิบัติ เมื่อเกิดเหตุร้ายจากภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว พายุ หรือโรคระบาด จะมีการเปลี่ยนชื่อศักราชโดยถือว่าเป็นการปัดรังควานสิ่งเหล่านั้นออกไปและช่วยให้ผู้คนคลายความกังวล

4) แก้เคล็ดปีชง เมื่อคำนวณแล้วปีไหนตรงกับปีชงก็จะเปลี่ยนชื่อศักราชในปีนั้น ญี่ปุ่นอิงการนับ (โดยละเอียด) แบบจีน และถือว่าปีที่นำ 60 มาหารแล้วเหลือเศษ 1 หรือ 4 ถือว่าเป็นปีชง มีโอกาสที่จะเกิดการปฏิวัติได้ง่าย ทำให้การเมืองสั่นคลอน ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้เคล็ดจึงเปลี่ยนชื่อศักราชเสียใหม่

เมื่อลำดับศักราชในยุคใหม่ของญี่ปุ่นตั้งแต่เริ่มปรับประเทศให้ทันสมัย และเมื่อชื่อศักราชคือชื่อรัชสมัยโดยเกิดขึ้นเพราะการผลัดแผ่นดินเท่านั้น จะได้ดังนี้

244) เมจิ (明治;Meiji)1868-1912การรู้แจ้ง/ตื่นรู้
245)ไทโช (大正;Taishō)1912-1926ความถูกต้องเที่ยงธรรมอันยิ่งใหญ่
246) โชวะ(昭和;Shōwa)1926-1989ความกลมเกลียวและรุ่งเรือง
247)เฮเซ(平成;Heisei)1989-2019สันติภาพทั่วทุกทิศ

สำหรับศักราชใหม่ “เรวะ” ซึ่งเป็นชื่อลำดับที่ 248 แน่นอนว่าเป็นชื่อที่เกิดจากการผลัดแผ่นดิน ได้จากการนำอักษรคันจิ 2 ตัวมาประกอบกันซึ่งเป็นเงื่อนไขข้อหนึ่งของการตั้งชื่อศักราช (เงื่อนไขอื่นประกอบด้วย “อ่านง่าย”, “เขียนง่าย”, “ไม่เคยใช้มาก่อน”, “ไม่ถูกใช้ในกรณีทั่วไปมาก่อน”) ในครั้งนี้มาจากประชุมกลอนโบราณที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น “มังโยชู” (万葉集; Manyōshū) แห่งศตวรรษที่ 7-8 และเป็นครั้งแรกที่เลือกมาจากวรรณกรรมของญี่ปุ่น ไม่ใช่วรรณกรรมคลาสสิกของจีน

บทกลอนอันเป็นที่มาคือ “บทกวีดอกบ๊วย” มีความหมายโดยสังเขปคือ “ณ เวลานั้น ช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ ในเดือนอัน

น่ายินดี

(ตามปฏิทินจันทรคติคือเดือนสอง) อากาศแจ่มใส ลมโชย

นุ่มนวล

ดอกบ๊วยบานงดงาม ดอกกล้วยไม้จรุงกลิ่นกำจร”

于時、初春令月、氣淑風和、梅披鏡前之粉、蘭薫珮後之香。


ตัวอักษร 令 (เร) แปลว่า ประกาศิต ระเบียบ ซึ่งเป็นความหมายที่คนญี่ปุ่นคุ้นเคยในขณะนี้ แต่ก็มีอีกความหมายหนึ่งคือ น่ายินดี มงคล ความหมายหลังนี้เป็นที่รู้จักน้อยกว่า แต่เป็นนัยที่ต้องการสื่อในชื่อศักราช เช่นเดียวกับในกลอน ซึ่งเมื่อมองย้อนไปจะเห็นได้ว่ามีอักษร 2 ตัวเรียงกันคือ令月(reigetsu)แปลว่า เดือนที่น่ายินดีหรือเดือนมงคล นี่คือความหมายที่ญี่ปุ่นต้องการใช้ ไม่ใช่ประกาศิตหรือคำสั่ง และเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นใช้อักษรตัวนี้ในชื่อศักราช

ส่วน和(วะ)แปลว่า ความสอดประสาน ความกลมกลืน ความสงบ หรือทำให้คลายลงอ่อนลง และแปลว่า “ญี่ปุ่น” ได้ด้วย เป็นตัวอักษรที่ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ปรากฏเป็นครั้งที่ 19 ในชื่อศักราช (ตัวอักษรที่ใช้มากที่สุดคือ 永 (เอ) แปลว่า นิรันดร์ ใช้ 29 ครั้ง) เมื่อรวมกันเป็น 令和 ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ชื่อสุดท้ายในการพิจารณาของกรรมการรวม 9 คน ตีความได้ว่า

“ความสอดผสานอันปีติ” และหลังจากเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ชูป้ายประกาศชื่อออกนี้มาแล้ว นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นก็ออกมาขยายความโดยบอกว่า ชื่อนี้สื่อความว่า “ท่ามกลางการประสานใจกันอย่างงดงามของผู้คน วัฒนธรรมจะก่อกำเนิดและเติบโต”

สมัยนี้การหลีกเลี่ยงคำอภิปรายหรือคำวิจารณ์จากมวลชนนั้นทำได้ยาก และคงแทบไม่มีกรณีใดในโลกที่จะไม่ก่อให้เกิดความเห็นที่แตกต่าง ในการประกาศชื่อศักราชใหม่ครั้งนี้ก็เช่นกัน เกิดทัศนะหลายกระแส บ้างก็ว่านึกไม่ถึงว่าจะใช้ตัวอักษร “เร”, เอ๊ะ สรุปว่านี่ฟังคล้าย ๆ กับเผด็จการรึเปล่า...เพราะอักษร “เร” แปลว่าคำสั่งนี่นา, บ้างก็ว่าชื่อพ้องกับชื่อคนบางคนซึ่งใช้ตัวอักษรสองตัวนี้เช่นกัน แต่อ่านว่า “โนริกาซุ” (令和;ตัวอักษรญี่ปุ่นมักอ่านได้มากกว่าหนึ่งเสียง), และตอนนี้เลยไปถึงขั้นกลายเป็นประเด็นการเมืองอ่อน ๆ ขึ้นมาเมื่อฝ่ายค้านจี้ถามรัฐบาลว่าทำไมกระบวนการคัดเลือกชื่อศักราชต้องปิดเป็นความลับถึงขนาดนั้น แต่ทว่าคงเป็นไปได้ยากที่จะมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ หลังจากประกาศออกมาแล้ว และหากจะเลือกมองในแง่ดีก็แน่นอนว่าชื่อ “เรวะ” นี้ย่อมมีแง่นั้นให้มองอยู่เช่นกัน

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com

ยุคสมัยของญี่ปุ่นมีอะไรบ้าง

เนื้อหา.
1 ยุคก่อนประวัติศาสตร์และญี่ปุ่นโบราณ 1.1 ยุคหินเก่า 1.2 ยุคโจมง ... .
2 ยุคญี่ปุ่นคลาสสิก 2.1 ยุคอาซูกะ 2.2 ยุคนาระ (ค.ศ. ... .
3 ยุคศักดินา 3.1 ยุคคามากูระ (ค.ศ. 1185–1333).
4 ยุคมูโรมาจิ 4.1 การค้านัมบัง ... .
5 ยุคญี่ปุ่นใหม่ตอนต้น 5.1 ยุคเอโดะ (ค.ศ. ... .
6 ยุคใหม่ 6.1 ยุคเมจิ ... .
7 อ้างอิง 7.1 รายการอ้างอิง.
8 หนังสืออ่านเพิ่ม.

ปีเรวะที่ 1 คือปีค.ศ.ใด

(8 มกราคม .. 1989 – 30 เมษายน .. 2019) เรวะ

รัชสมัยปัจุบันของญี่ปุ่นคือ สมัยอะไร

รัชสมัยของ สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ พระจักรพรรดิองค์ปัจจุบันของญี่ปุ่นมีชื่อว่า "เฮเซ" ซึ่งมีความหมายว่า "สงบสุขทุกสารทิศ" รัชสมัยของพระองค์เริ่มต้นเมื่อปี 1989 นั่นหมายความว่าในปี 2019 จะเรียกชื่อยุคกันว่า "เฮเซ 31" การเลือกชื่อดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความปรารณนาที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีทั้งในประเทศและระหว่าง ...