วงจรแมกเนติกควบคุมมอเตอร์ 3 เฟส

วงจรควบคุมมอเตอร์ วงจรสตาร์ทมอเตอร์แบบสตาร์เดลต้า Star Delta Starter (แบบที่ 2)

วงจรแมกเนติกควบคุมมอเตอร์ 3 เฟส

        ต่อเนื่องจากบทความที่แล้วเรื่อง วงจรสตาร์ทมอเตอร์ 3 เฟส ซึ่งเป็นวงจรสตาร์ทมอเตอร์แบบสตาร์เดลต้าแบบที่ 1 ซึ่งวงจรควบคุมมอเตอร์แบบแรกนั้นเหมาะสมกับวงจรการต่อมอเตอร์ 3 เฟสที่ใช้แมกเนติกคอนแทคเตอร์ของตัวเมนและของตัวสตาร์ทแบบสตาร์ที่มีขนาดกระแสไฟฟ้าเท่ากัน แต่หากเป็นวงจรที่ใช้แมกเนติกของตัวเมนที่มีขนาดใหญ่กว่าของตัวสตาร์ทแบบสตาร์ก็ควรจะหันไปใช้วงจรสตาร์ทมอเตอร์สตาร์เดลต้าแบบที่ 2 จะเหมาะสมมากกว่า

(วงจรสตาร์ทมอเตอร์แบบสตาร์เดลต้าแบบที่ 1 นั้นสามารถดูได้จากลิ้งด้านล่าง)

        เหตุผลของการใช้การสตาร์ทมอเตอร์แบบสตาร์เดลต้าแบบที่ 2 ก็เพราะว่า วงจรควบคุมมอเตอร์แบบที่ 2 นี้ จะสั่งให้ตัวแมกเนติกคอนแทคเตอร์ของตัวสตาร์ทแบบสตาร์ทำงานก่อน แล้วจึงให้แมกเนติกของตัวเมนทำงานตามทีหลัง ด้วยเหตุนี้ เมื่อแมกเนติกของตัวสตาร์ทแบบสตาร์ทำงานก่อน กระแสไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายจึงยังไม่ถูกจ่ายมา (เพราะตัวเมนยังไม่ทำงาน) หน้าสัมผัสหรือหน้าคอนแทคจึงไม่เกิดการอาร์ค แต่แมกเนติกของตัวเมนทำงานหลังจากนั้นซึ่งเป็นการต่อไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายเข้ามาในวงจรมอเตอร์ไฟฟ้าจึงทำให้เกิดการอาร์คมากกว่า เพราะเหตุผลนี้เองที่การต่อมอเตอร์ 3 เฟสแบบนี้จึงเหาะกับวงจรสตาร์ทมอเตอร์แบบสตาร์เดลต้าแบบที่ 2 มากกว่า เพราะหากให้แมกเนติกของตัวสตาร์ทแบบสตาร์กับของตัวเมนให้ทำงานพร้อมกันแบบในวงจรควบคุมมอเตอร์แบบที่ 1 นั้นจะทำให้เกิดการอาร์คขึ้นที่หน้าสัมผัสของแมกเนติกของตัวสตาร์ทสตาร์ด้วย ดังรูปที่ 1 ด้านล่างนี้จะเห็นว่าวงจรมอเตอร์นี้แมกเนติกคอนแทคเตอร์ตัวสตาร์ทสตาร์มีขนาดเล็กกว่าแมกเนติกของตัวเมน

วงจรแมกเนติกควบคุมมอเตอร์ 3 เฟส

รูปที่ 1 วงจรสตาร์ทมอเตอร์แบบสตาร์เดลต้า วงจรมอเตอร์

        การสตาร์ทมอเตอร์แบบสตาร์เดลต้า คือขณะเริ่มสตาร์ทมอเตอร์ไฟฟ้าจะให้ขดลวดต่อแบบสตาร์ และเมื่อมอเตอร์หมุนไปด้วยความเร็ว 75% ของความเร็วพิกัดจึงจะให้ขดลวดต่อแบบเดลต้า และหลังจากนั้นก็เดินมอเตอร์ต่อไปแบบเดลต้า ต่อเนื่องไปจนกระทั่งหยุดการทำงานมอเตอร์นั่นเอง


        เรื่องที่สำคัญคือมอเตอร์ไฟฟ้าหรือมอเตอร์ 3 เฟสที่สามารถสตาร์ทแบบสตาร์เดลต้าได้นั้น จะต้องมีปลายสายไฟต่อออกมาจากมอเตอร์จำนวน 6 เส้น และที่สำคัญมอเตอร์จะต้องมีพิกัดแรงดันของขดลวดที่สามารถต่อวงจรควบคุมมอเตอร์แบบสตาร์เดลต้าได้ตามระบบแรงดันไฟฟ้าที่ใช้งานในโรงงาน สามารถศึกษาได้ในหัวข้อการต่อมอเตอร์ 3 เฟสตามลิ้งด้านล่าง


        วงจรควบคุมมอเตอร์หรือวงจรสตาร์ทมอเตอร์ 3 เฟสแบบสตาร์เดลต้า แบ่งวงจรออกเป็น 2 ส่วนคือวงจรกำลัง และวงจรควบคุมหรือวงจรคอนโทรล

วงจรแมกเนติกควบคุมมอเตอร์ 3 เฟส

รูปที่ 2 วงจรสตาร์ทมอเตอร์แบบสตาร์เดลต้า วงจรกำลัง

วงจรควบคุมมอเตอร์ วงจรกำลัง (Power Circuit)

ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้าดังต่อไปนี้

  1. เซอร์กิตเบรกเกอร์ 3 เฟส (เมนเซอร์กิตเบรกเกอร์)
  2. แมกเนติกคอนแทคเตอร์ พร้อมหน้าสัมผัสช่วย (Auxiliary Contact)
  3. โอเวอร์โหลดรีเลย์

วงจรแมกเนติกควบคุมมอเตอร์ 3 เฟส

รูปที่ 3 วงจรสตาร์ทมอเตอร์แบบสตาร์เดลต้า วงจรควบคุมหรือวงจรคอนโทรล

ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้าดังต่อไปนี้

  1. เซอร์กิตเบรกเกอร์ 1 เฟส
  2. หน้าสัมผัสของโอเวอร์โหลดรีเลย์
  3. สวิตซ์ปุ่มกด (Push button switch) แบบปกติปิด (Normally close หรือ NC)
  4. สวิตซ์ปุ่มกดแบบปกติเปิด (Normally open หรือ NO)
  5. หน้าสัมผัสช่วย (Auxiliary Contact) ของแมกเนติกคอนแทคเตอร์
  6. ไทม์เมอร์รีเลย์ (Timer Relay) ชนิด On Delay Timer

การทำงานของวงจรควบคุมมอเตอร์

1. ในสภาวะเริ่มต้นแมคเนติกคอนแทกเตอร์มีสถานะเปิดวงจร กระแสไฟฟ้ายังไม่ถูกจ่ายเข้าวงจรมอเตอร์

2. เมื่อกดปุ่ม Start ที่วงจรควบคุมจะมีกระแสไฟฟ้าไหลจากแหล่งจ่ายไฟผ่านขดลวดสนามแม่เหล็กของแมกเนติกคอนแทคเตอร์ตัวสตาร์ทสตาร์ (MC-1) ทำให้หน้าสัมผัสของแมกเนติกปิดวงจร และทำให้หน้าสัมผัสช่วยของแมกเนติกแบบ NO ที่แถว 2 ก็ปิดวงจรไปด้วยพร้อมกัน ทำให้มีกระแสไฟฟ้าไหลไปจ่ายให้ขดลวดสนามแม่เหล็กของแมกเนติกคอนแทคเตอร์เมน (MC-2) ด้วย มอเตอร์จึงเกิดการสตาร์ทแบบสตาร์ และยังทำให้หน้าสัมผัสช่วยของแมกเนติก MC-2 แบบ NO ในแถวที่ 3 ปิดวงจรด้วยทำให้เกิดสภาวะค้างการทำงาน (Self-holding) เพราะวงจรควบคุมมีกระแสไหลผ่านหน้าสัมผัสช่วยอีกทางหนึ่ง ส่วนในแถวที่ 4 นั้นหน้าสัมผัสช่วยของแมกเนติกคอนแทคเตอร์ MC-1 แบบ NC ก็จะถูกเปิดวงจรออกไปพร้อมกับที่ MC-1 ทำงานด้วย จึงไม่มีกระแสไฟฟ้าจ่ายไปที่ MC-3

3. พร้อมกันนั้นที่แผงวงจรของไทม์เมอร์รีเลย์ (T-1) ก็ได้รับกระแสไฟฟ้าเพื่อเลี้ยงวงจรด้วยเช่นกัน ไทม์เมอร์รีเลย์จึงเริ่มนับเวลา แต่ในช่วงแรกหน้าสัมผัสของไทม์เมอร์จะยังไม่เปลี่ยนแปลง

4. เมื่อไทม์เมอร์นับเวลาครบตามที่ได้ตั้งเวลาไว้ หน้าสัมผัสของไทม์เมอร์จึงเปิดวงจรออก ทำให้ MC-1 และไฟเลี้ยงวงจร timer เองถูกตัดออก ทำให้หน้าสัมผัสช่วยของ MC-1 ที่แถว 2 (แบบ NO) กลับมาเปิดวงจรอีกครั้ง และที่แถว 4 (แบบ NC) กลับมาปิดวงจรด้วยทำให้มีกระแสไฟฟ้าไหลไปที่ MC-3 จึงเกิดการต่อวงจรมอเตอร์เป็นแบบเดลต้า

และหน้าสัมผัสช่วยของ MC-3 ในแถวที่ 1 (แบบ NC) ก็จะเปิดวงจรออกเพื่อตัดกระแสไฟฟ้าที่จ่ายให้ MC-1 และ T-1 ดังนั้นขณะนี้มอเตอร์จึงมีการรันต่อเนื่องเป็นแบบเดลต้า

5. เมื่อต้องการหยุดการทำงานมอเตอร์ให้กดปุ่ม Stop หน้าสัมผัสของปุ่ม Stop จึงเปิดวงจรออกทำให้กระแสไฟฟ้าของวงจรควบคุมถูกตัด ณ จุดนี้ ขดลวดสนามแม่เหล็กของแมกเนติกคอนแทคเตอร์ทุกตัวถูกตัดกระแสไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าที่จ่ายไปที่วงจรมอเตอร์จึงถูกตัดมอเตอร์จึงหยุดทำงาน