การรักษาความสัมพันธ์และการสื่อสาร

การสื่อสารได้เข้ามามีบทบาทในทุกๆอย่างของชีวิตตั้งแต่การพูดคุย การซื้อสินค้า การทำธุรกิจ การนำเสนองาน ซึ่งมันถูกพัฒนาให้เป็นการสื่อสารในรูปแบบการสร้างความสัมพันธ์ หรือ Relationship Communication ที่ช่วยให้ทุกๆการสื่อสารของคุณนั้นราบรื่นและมีประสิทธิภาพมาก และผมมีวิธีที่จะช่วยให้การสื่อสารนั้นสร้างให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคู่สนทนาทั้ง 2 ฝ่ายมาฝากกันครับ ซึ่งมันไม่ได้หมายถึงความสัมพันธ์แบบคู่รักเพียงอย่างเดียวแต่มันยังหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานรวมไปถึงเรื่องของการใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนๆและผู้อื่นอีกด้วย

การรักษาความสัมพันธ์และการสื่อสาร

1. สร้างความเชื่อมโยงที่แท้จริง

หลักการสำคัญของการสื่อสารแบบสร้างความสัมพันธ์ (Relationship Communication) ก็เหมือนๆกับการสื่อสารพูดคุยแบบปกติครับ นั่นคือการเชื่อมโยงกับคู่สนทนาผ่านการพูดจา (Verbal) การเขียน (Written) หรือปฏิกิริยาทางร่างกาย (Physical) ซึ่งมันคือความเข้าใจในมุมมองและความคิดของผู้ฟังนั่นเองครับ ซึ่งความเข้าอกเข้าใจนั้นมันจะเป็นแรงสนับสนุนที่สะท้อนให้ผู้ฟังนั้นรับรู้และรู้สึกถึงความจริงใจตรงนั้นได้ และมันจะกลายเป็นสะพานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในระยะยาว

2. สไตล์การพูดของคุณเป็นอย่างไร

ในการสื่อสารนั้นแต่ละคนก็จะมีสไตล์ที่แตกต่างกันไปบางคนก็มีความแข็งกร้าว (Aggressive) เฉยๆกลางๆ (Passive) กึ่งแข็งกึ่งเฉยๆกลางๆ (Passive-Aggressive) หรืออาจเป็นลักษณะแน่วแน่เด็ดขาด (Assertive) ซึ่งแต่ละสไตล์ก็จะมีลักษณะการสื่อสารที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด หากคุณเป็นคนที่มีสไตล์การพูดแบบแข็งกร้าวก็อาจยากหน่อยในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี หากคุณเป็นสไตล์ Passive ก็อาจจะชอบเก็บเงียบความรู้สึกไม่พูดอะไรออกไปมากมาย สไตล์แบบกึ่งๆแข็งกึ่งๆเฉยๆก็อาจจะหลีกเลี่ยงการพูดที่อาจก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งทั้ง 3 สไตล์นั้นไม่ได้แสดงออกให้เห็นถึงการสื่อสารที่แท้จริง แต่กลับกลายเป็นสไลต์การสื่อสารแบบแน่วแน่เด็ดขาดหรือ Assertive ที่สร้างบรรยากาศให้การสื่อสารนั้นออกมาดีที่สุดเพราะการสื่อสารในลักษณะนี้จะเข้าใจคู่สนทนาและรู้ว่าจะสื่อสารให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร ดังนั้นคุณก็จำเป็นต้องประเมินผู้ฟังหรือคู่สนทนาด้วยและพยายามปรับจูนสไตล์การพูดและการสื่อสารให้ออกมาสอดคล้องกับผู้ฟัง ไม่พูดแบบแข็งไปหรืออ่อนไปแต่พูดอย่างไรให้ผู้ฟังรู้สึกสบายใจจนอยากพูดคุยกับคุณต่อ

การรักษาความสัมพันธ์และการสื่อสาร

3. รู้จักความต้องการของมนุษย์

เรื่องราวในวงสนทนามันจะวนเวียนอยู่กับเรื่องของความต้องการ 6 อย่างด้วยกัน ซึ่งการรู้ว่าความต้องการของมนุษย์ทั้ง 6 อย่างนั้นมีอะไรบ้างมันจะทำให้คุณพูดคุยสื่อสารกับคู่สนทนาได้นานขึ้นและมีความสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้น ดังนี้

  • ความมั่นคง (Certainty)
    ซึ่งมันหมายถึงความแน่นอนมีความรู้สึกปลอดภัย พยายามหลีกเลี่ยงปัญหาหรือความปวดหัวด้านต่างๆในชีวิต การสื่อสารระหว่างคู่สนทนาก็ควรทำให้เกิดความรู้สึกเหล่านี้หรือเชื่อมโยงเรื่องที่เกี่ยวข้องมาปรับใช้ในการสนทนา เพื่อการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้มากขึ้น
  • ความหลากหลายในชีวิต (Variety)
    ไม่มีมนุษย์คนไหนอยากทำอะไรที่ซ้ำซากจำเจให้ชีวิตตัวเองน่าเบื่อครับ ซึ่งการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีนั้นก็ต้องพูดคุยกันถึงเรื่องที่จะสร้างความตื่นเต้นในด้านอื่นๆ และเรื่องที่จะทำให้การสนทนานั้นไปต่อได้ในระยะยาว
  • ความสำคัญ (Significance)
    ทุกๆคนย่อมอยากเป็นคนสำคัญของใครบางคนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และการเป็นคู่สนทนาที่ดีนั้นก็จะต้องแสดงให้รู้ว่าเขามีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน อาจจะเป็นการช่วยเหลือเรื่องบางอย่าง การหาทางออกให้กับปัญหา หรือแม้แต่การสนับสนุนเรื่องต่างๆ
  • ความรัก (Connection & Love)
    ใครๆก็อยากได้ความรักความอบอุ่นและมีสายสัมพันธ์ดีๆจากคนรอบข้าง การสื่อสารแบบสร้างความสัมพันธ์ที่จะให้ได้ประสิทธิภาพนั้นก็ต้องสร้างให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกแบบนี้ เพื่อกระตุ้นให้มีชีวิตชีวาซึ่งก็เหมือนกับการที่คู่รักสื่อสารพูดคุยกัน
  • ความก้าวหน้า (Growth)
    การสร้างสายสัมพันธ์นั้นหากหยุดอยู่กับที่ก็คงไม่สามารถทำให้ความสัมพันธ์นั้นไปต่อได้ ทั้งตัวคุณและตัวคู่สนทนาต้องมีการพัฒนาและสร้างการเติบโตของบทสนทนาให้กับทั้งสองฝ่าย ซึ่งหากสามารถพัฒนาไปได้พร้อมๆกันมันจะช่วยเติมเต็มการสื่อสารแบบสร้างความสัมพันธ์ได้อย่างไม่มีจุดสิ้นสุด
  • การให้ (Contribution)
    การให้คือสิ่งที่ดีที่สุดซึ่งมันจะช่วยให้การสนทนานั้นมีความรู้สึกดีมากขึ้น ซึ่งนั่นก็หมายถึงการให้ความใส่ใจการให้เวลากับคู่สนทนา และทำสิ่งต่างๆเพื่อให้ต่างฝ่ายต่างมีความสุขในการพูดคุยกันในแต่ละครั้ง

4. รับฟังอย่างตั้งใจจริง

หลายๆครั้งเรามักจะละเลยเรื่องของการตั้งใจฟังในสิ่งที่คู่สนทนากำลังพูดอยู่ ซึ่งก็อาจเป็นเพราะมันไม่ใช่สิ่งที่คุณเองสนใจและไม่เห็นว่ามันสำคัญจนทำให้คุณเปิดโอกาสแห่งความละเลยในการสร้างความสัมพันธ์อันดีในการสื่อสาร หรือบางครั้งตัวคุณเองก็ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ตัวคุณเองพูดเพียงอย่างเดียว ดังนั้นการสื่อสารแบบสร้างความสัมพันธ์จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นคู่สนทนาจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้พูดเป็นผู้ฟังอย่างตั้งใจจริง พยายามทำความเข้าใจเปิดใจและรับรู้ในสิ่งที่คู่สนทนากำลังเล่าซึ่งมันจะช่วยให้การสื่อสารของคุณนั้นดีมากขึ้น

5. ซื่อสัตย์และจริงใจ

การเปิดใจจะช่วยให้การสนทนานั้นมีความผ่อนคลายและลดกำแพงที่ได้ถูกสร้างเอาไว้ บางครั้งการจะเปิดใจพูดอะไรออกไประหว่างคู่สนทนาอาจดูยากที่จะเข้าถึง แต่หากคุณเริ่มต้นด้วยความจริงใจคุณจะช่วยให้คู่สนทนาก้าวข้ามอุปสรรค์ในด้านต่างๆได้ และมันยังช่วยให้เกิดความมั่นใจความเชื่อใจระหว่างทั้งสองฝ่าย

การรักษาความสัมพันธ์และการสื่อสาร

6. ปรากฎตัวให้เห็นอยู่ตลอดเวลา

ทุกๆครั้งที่คุณเจอกับเรื่องราวที่ทั้งดีและร้ายและอยากมีใครพูดคุยด้วยเพื่อช่วยทั้งสนับสนุนหรือให้กำลังใจ หากจะให้ความสัมพันธ์อันดีเกิดขึ้นกับการสื่อสารนั้นก็อย่าทำแบบมาๆไปๆ ควรแสดงถึงความใส่ใจในการรับฟังซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ต่อหน้าในทุกสถานการณ์ แต่การพูดคุยก็มีอีกหลายวิธีที่สามารถช่วยให้การสื่อสารนั้นราบรื่นและสร้างความอิ่มเอมใจได้ ไม่ว่าจะเป็นการโทรคุย การส่งไลน์ ก็เป็นทางเลือกที่ดีซึ่งคุณไม่ควรเงียบหายไปเฉยๆ

7. ควบคุมบรรยากาศการสนทนา

ในการสนทนามักจะมีโอกาสเกิดหลากหลายเรื่องราวทั้งเรื่องตื่นเต้น เรื่องขำขัน เรื่องเศร้า การขอคำปรึกษา หรือเรื่องที่ต้องการกำลังใจในแง่มุมต่างๆ การควบคุมการสนทนาที่ดีและเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์จะช่วยให้ความสัมพันธ์นั้นไม่แตกร้าว ซึ่งนั่นหมายถึงการควบคุมน้ำเสียง การใช้โทนเสียง ความดังของเสียง การแสดงสีหน้าท่าทางต่างๆ ซึ่งต้องใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของการสื่อสารในแบบต่างๆ

ความสัมพันธ์กับการสนทนานั้นจะส่งผลดีในระยะยาวกับชีวิตของคุณในบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป ที่จำเป็นต้องเข้าใจทั้งวัตถุประสงค์ของการสื่อสารในแต่ละครั้ง การรู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ และความเข้าใจในบริบทรอบๆด้านทั้งสภาพแวดล้อมและตัวคู่สนทนาของคุณครับ