เศรษฐศาสตร์จุลภาค ตัวอย่าง

หมายเหตุ: แกนด้านซ้าย คือ ราคาของหมูมีชีวิตและเนื้อหมูขายปลีกเนื้อแดง แกนด้านขวา คือ ราคาของลูกหมู

ที่มา: กองส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร 1 กรมการค้าภายใน

สมมติฐานที่ 1 “สาเหตุด้านอุปทาน” 

ดังที่เราทราบข่าวการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรกัน ปัจจัยโรคระบาดดังกล่าวทำให้ต้นทุนในการเลี้ยงดูและผลิตสุกรสูงขึ้น และฟาร์มเลี้ยงสุกรจำเป็นต้องลดขนาดของการเลี้ยงหมูเพื่อลดความเสี่ยงของการตายของหมูในฟาร์ม จึงไม่แปลกว่าเมื่อย้อนดูตัวเลขทางสถิติแล้ว จำนวนสุกร (จำนวนพ่อพันธ์และแม่พันธ์) มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2561 จนถึง ปี 2563 จาก 7,861,348 ตัว ลดลงเป็น 7,459,630 ตัว ตามลำดับ หรือลดลงประมาณปีละ 200,000 ตัว ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการผลิตหมู (จำนวนลูกสุกรแรกเกิด) จาก 20,802,864 ตัว ลดลงเป็น 19,909,828 ตัว ตามลำดับ หรือประมาณปีละ 500,000 ตัว และลดลงประมาณ 1,300,000 ตัวในปี 2564 (ตารางที่ 1) โดยปริมาณที่ลดลงมีผลเพียงพอทำให้ราคาหมูเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของราคาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างกะทันหันยังไม่สอดคล้องกับแนวโน้มของปริมาณการผลิตที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงอย่างคงที่ สมมติฐานที่ 1 จึงอาจไม่เพียงพอในการอธิบาย “หมูแพง” ครั้งนี้

ตารางที่ 1 จำนวนสุกรและปริมาณการผลิต

เศรษฐศาสตร์จุลภาค ตัวอย่าง

ที่มา: สถิติการเกษตรของประเทศไทย ปี 2563 และ 2564 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สมมติฐานที่ 2 “สาเหตุด้านอำนาจผูกขาด”

นอกจากภาวะต้นทุนการเลี้ยงดูหมูที่สูงขึ้น ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นอาจเกิดจากการที่ผู้ผลิตมีอำนาจในการกำหนดราคา หรือที่เรียกว่าอำนาจผูกขาด (Monopoly power) ทั้งนี้ โครงสร้างตลาดสุกรในประเทศไทย เริ่มจากเกษตรกรที่มีทั้งฟาร์มขนาดเล็ก ฟาร์มขนาดใหญ่และไปจนถึงธุรกิจครบวงจร ประกอบด้วย โรงเชือด โรงแปรรูป ไปจนถึงตลาดสดหรือหน้าเขียง (อัจจิมา ณ ถลาง, 2559) โดยฟาร์มขนาดใหญ่และธุรกิจครบวงจรอาจมีการเพิ่มมูลค่าให้กับเนื้อสุกร มีช่องทางไปถึงตลาดขายเนื้อหมูและมีอำนาจในการกำหนดส่วนต่างของราคาได้ดีกว่า ในปัจจุบันข้อมูลที่จะสะท้อนอำนาจตลาดของหน่วยผลิตในห่วงโซ่อุปทานการผลิตเนื้อสุกรยังมีค่อนข้างจำกัด จึงยากจะตอบคำถามดังกล่าวได้อย่างชัดเจน 

“หมูแพง” กับทางเลือกของผู้บริโภค

การเปลี่ยนแปลงของการบริโภคสินค้าใดๆ เมื่อราคาสินค้านั้น (หรือสินค้าอื่น) เปลี่ยนแปลงจะเรียกว่า ผลทางด้านราคา (Price effect) เช่น เมื่อราคาเนื้อหมูแพงขึ้นเป็นจาก 150 เป็น 200 บาท/กิโลกรัม นาย B จึงลดปริมาณการบริโภคเนื้อหมูลงจาก 2 เป็น 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ การเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะเรียกได้ว่าผลที่เกิดขึ้นจริงนั่นเอง ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาค ผลทางด้านราคา ประกอบด้วย ผลทางด้านรายได้ (Income effect) และผลทางด้านการทดแทน (Substitution effect) ในส่วนนี้จะอธิบายผ่านตัวอย่างของนาย B ดังนี้ 

สมมติว่าถ้าเดิม นาย B รายได้ต่อสัปดาห์ 6,000 บาท เมื่อราคาเนื้อหมูแพงขึ้น นาย B ซื้อเนื้อหมูได้ในปริมาณลดลงจาก 40 กิโลกรัม เป็น 30 กิโลกรัม การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้นาย B รู้สึกว่าตนเองมีรายได้แท้จริงลดลง จึงบริโภคเนื้อหมูลดลง

ในส่วนของผลทางการทดแทน ผู้บริโภคจะพิจารณาราคาเนื้อหมูเปรียบเทียบกับราคาเนื้อประเภทอื่น (หรือสินค้าอื่น) กล่าวได้ว่า ถ้าราคาเนื้อหมูแพงขึ้น ราคาเนื้อประเภทอื่นโดยเปรียบเทียบกับราคาเนื้อหมูก็จะถูกลง จากคำกล่าวนี้นาย B จะตัดสินใจบริโภคเนื้อประเภทอื่นทดแทนเนื้อหมูเสมอ โดยไม่เกี่ยงว่าราคาเนื้อประเภทอื่นๆ นั้นมีราคาเท่าใด อย่างไรก็ตาม การเลือกสินค้าทดแทนของผู้บริโภคแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกัน ขึ้นกับความชอบของผู้บริโภคคนนั้นต่อโปรตีนที่จะมาทดแทนเนื้อหมู หรือไม่ก็หากเราชอบบริโภคเนื้อหมูมากกว่าเนื้อไก่อยู่แล้ว เราคงหันไปกินเนื้อไก่หรือเนื้อสัตว์ทดแทนอื่น ๆ ได้ลำบาก นอกจากนี้ การหันไปบริโภคเนื้อสัตว์อื่น ๆ ก็นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของราคาเนื้อสัตว์ทดแทนอื่น ๆ ซึ่งจะกล่าวในลำดับต่อไป

“หมูแพง” กับดุลยภาพทั่วไป

ในลำดับถัดไป จะวิเคราะห์ถึงผลของการเปลี่ยนแปลงของราคาเนื้อหมูไปสู่ตลาดสินค้าประเภทอื่นๆ เรียกว่า การวิเคราะห์ดุลยภาพทั่วไป (General equilibrium) หลักการพื้นฐานของการวิเคราะห์ดุลยภาพทั่วไป คือ ต้องคำนึงถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในทุกตลาดที่เกี่ยวข้อง ในกรณีของตลาดเนื้อหมูซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของผู้บริโภคในประเทศ ตลาดสินค้าอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกับตลาดเนื้อหมู เช่น เนื้อไก่ ไข่ หรือกุ้ง เป็นแหล่งโปรตีนทดแทนที่สมเหตุสมผล เมื่อราคาเนื้อหมูแพงขึ้น ผู้บริโภคย่อมหันไปบริโภคเนื้อประเภทอื่น ๆ ส่งผลให้เกิดความต้องการเนื้อประเภทอื่น ๆ เพิ่มขึ้นและทำให้ราคาเนื้อประเภทอื่น ๆ เพิ่มขึ้นตาม

จากภาพที่ 2 แนวโน้มของอัตราการเปลี่ยนแปลงของเนื้อประเภทต่าง ๆ มีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน ในช่วงกลางปี 2564 อัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้ายกเว้นไข่ไก่ มีอัตราติดลบจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ชะลอการบริโภคลง และมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2564 และมกราคม 2565 ดังนั้น เราคงเห็นความสัมพันธ์แบบคราว ๆ ว่า ราคาเนื้อหมูแพงก็ส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์อื่น ๆ แพงขึ้นไปด้วยนั่นเอง 

ภาพที่ 2 อัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

เศรษฐศาสตร์จุลภาค ตัวอย่าง

ที่มา: คำนวณจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สมมติฐานต่อเรื่องของ “หมูแพง” เท่าที่พอมีหลักฐานเชิงประจักษ์นั้นเกิดจากโครงสร้างการผลิตเนื้อสุกรที่มีแนวโน้มการผลิตที่ลดลง แต่ก็มีความสงสัยว่า เหตุใดหมูจึงแพงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตเนื้อสุกรลดลงไปเพียง 1.3 ล้านตัวในปี 2564 หรือคิดสัดส่วนลดลงเพียงร้อยละ 6 ของปริมาณการผลิตเนื้อสุกรในปี 2563 เท่านั้น เรื่องดังกล่าวคงต้องผนวกข้อมูลทางด้านต้นทุนการเลี้ยง และอำนาจของการกำหนดราคาของทั้งห่วงโซ่อุปทานไปด้วย

ความท้าทายทางนโยบายภาครัฐในอนาคต คือ กรมปศุสัตว์จำเป็นต้องได้รับงบประมาณเพื่อติดตามหรือเฝ้าระวังปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อในหมูอย่างสมเหตุสมผลมากขึ้น ซึ่งในปี 2565 มีแผนงบประมาณสำหรับกิจกรรมเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม บำบัดและชันสูตรโรคสัตว์เพียง 308 ล้านบาทหรือคิดเป็นงบประมาณเฉลี่ยเพียง 4 ล้านบาทต่อจังหวัดเท่านั้น[3]  และที่สำคัญ ประสบการณ์หมูแพงครั้งนี้ คงย้ำให้เห็นว่าต้นทุนค่าเสียโอกาสที่กรมปศุสัตว์ขาดแคลนทั้งงบประมาณและทรัพยากรบุคคลก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง และไม่เกิดผลดีต่อภาพลักษณ์การเป็นครัวโลกของไทยเลย 

สุดท้าย บทความนี้ทำได้แค่เล่าถึงผลกระทบในระยะสั้น ยังไม่ได้กล่าวถึงผลกระทบในระยะยาว เช่น ปัญหาเงินเฟ้อที่จะตามมา หรือการกระจายรายได้ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและประชาชนผู้บริโภคที่ต้องแบกภาระต้นทุนในการดำรงชีพเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น เราคงต้องลุ้นกันอีกทีเมื่อปริมาณการผลิตเนื้อสุกรกลับเพิ่มขึ้นจุดเดิมแล้ว ราคาเนื้อหมูจะถูกลงเพียงใดด้วย เรื่องดังกล่าวคงต้องติดตามกันต่อไปในปลายปีนี้