ค่าแรง ขั้นต่ำ แต่ละประเทศ 2022

Rocket Media Lab สำรวจการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของประเทศต่างๆ ทั่วโลก พร้อมย้อนรอยการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำในไทย ยุคไหนสมัยใดที่ขึ้นค่าแรงได้เท่าไร

  •  ปี 2565 มี 61 ประเทศ จาก 199 แห่งที่สำรวจ ที่ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
  • ในจำนวน 61 แห่งนั้น เพิ่งขึ้นค่าแรงเฉพาะในปี 2565 จำนวน 16 แห่ง กระจายตัวทุกทวีป แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในทวีปยุโรป
  • ประเทศที่ไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใน 2 ปีที่ผ่านมา (2564-2565) มี 84 แห่ง รวมถึงประเทศไทย
  • ในอดีต ค่าแรงในกรุงเทพฯ มีการขึ้นปีเดียว 2 ครั้งในช่วงรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์, รัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ, รัฐบาลชวน หลีกภัย และรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยอยู่ในยุคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพิ่มจาก 215 บาท เป็น 300 บาท
  • นักสหภาพแรงงานระบุว่า รัฐควรขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี และค่าแรงขั้นต่ำควรเท่ากันทั่วประเทศ ทีราคาสินค้าในร้านสะดวกซื้อยังเท่ากันทั่วประเทศ
  • การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทยขึ้นอยู่กับคณะกรรมการค่าจ้าง 3 ฝ่าย (รัฐบาล-ลูกจ้าง-นายจ้าง) ในทางปฏิบัติมีความไม่เสมอภาคเชิงอำนาจระหว่างกรรมการจากฝั่งลูกจ้างกับฝั่งนายจ้าง 
  • นักเศรษฐศาสตร์ เห็นว่า ความกังวลว่าขึ้นค่าแรงจะทำให้ข้าวของแพงขึ้น ผู้ประกอบการรับภาระหนักเกินไป นั้นไม่ถูกต้อง งานศึกษาในปี 2013 พบว่า เมื่อเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น 1% เท่านั้น 
  • ปีนี้มีแนวโน้มที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก่อนการเลือกตั้ง

ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายงานของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ระบุว่า เศรษฐกิจโลกหดตัวร้อยละ 3.5 และเกือบทุกประเทศทั่วโลกเติบโตติดลบ

การชะงักของเศรษฐกิจถูกหยิบยกมาเป็นเหตุผลในการพิจารณาการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีข้อถกเถียงว่าหากขึ้นค่าแรงจะส่งผลให้ค่าอาหาร วัตถุดิบ สูงขึ้นตามหรือไม่ แต่จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่า หลังรัฐประหาร 7 ปี (2557-2564) ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 55.9% หากเทียบต่อปีก็เท่ากับเพิ่มขึ้นปีละ 6.5% 

 Rocket Media Lab สำรวจค่าแรงขั้นต่ำทั่วโลกในช่วงปีนี้และปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 เหมือนๆ กัน

โควิดมา เศรษฐกิจตกต่ำ แล้วค่าแรงขึ้นบ้างไหม? 

 Rocket Media Lab พบว่า ประเทศ/ดินแดน ที่ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2565 มีจำนวน 61 แห่ง จาก 199 แห่งที่สำรวจ แบ่งเป็นประเทศที่ประกาศขึ้นเฉพาะในปี 2565 จำนวน 16 แห่ง และประเทศที่มีการขึ้นค่าแรงทั้งในปี 2564 และในปี 2565 จำนวน 45 แห่ง

หากพิจารณาของประเทศที่ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉพาะในปี 2565 จะพบว่ากระจายตัวกันไปในทุกทวีป และส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบยุโรป

ประเทศที่มีการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2565 เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี โปรตุเกส สหราชอาณาจักร ฯลฯ กรณีของเยอรมนี เรียกได้ว่าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 ครั้งในปีเดียว โดยครั้งแรกมีผล 1 มกราคมที่ผ่านมา ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 9.82 ยูโร (374 บาท) ต่อชั่วโมง จากเดิมคือ 9.60 ยูโร (358 บาท) ต่อชั่วโมงในปี 2564 เพิ่มขึ้นมา 3.64% นอกจากนี้รัฐบาลเยอรมันยังประกาศอีกว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้งเป็น 10.45 ยูโรในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565

ในส่วนของเอเชียก็มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2565 เช่นเดียวกัน เช่น กัมพูชา จีน (บางมณฑล) อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ฯลฯ กรณีของประเทศจีนมี 3 มณฑลที่ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ได้แก่ ฉงชิ่งและฝูเจี้ยน ขึ้นเป็น 21 หยวนต่อชั่วโมง และเหอหนาน ขึ้นเป็น 19.6 หยวน ต่อชั่วโมง 

เมื่อพิจารณาประเทศที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งในปี 2565 และปี 2564 จะพบว่ามีมากถึง 45 แห่ง ด้วยกัน เช่น ตุรกี ไต้หวัน สเปน เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เม็กซิโก กานา อียิปต์ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบยุโรป อย่างในกรณีของโคลอมเบีย ประกาศขึ้นค่าแรงเป็น 1,000,000 เปโซโคลอมเบียต่อเดือน สูงสุดในรอบ 40 ปี โดยเพิ่มขึ้นถึง 11.18% อย่างไรก็ตาม เงินเดือนในโคลอมเบียก็ยังคงต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น อุรุกวัยซึ่งอยู่ที่ประมาณ 406 ดอลลาร์ (13,386 บาท) ปารากวัย 335 ดอลลาร์ (11,045 บาท) และโบลิเวีย 314 ดอลลาร์ (10,352 บาท) 

ในส่วนประเทศที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉพาะในปี 2564 ที่ผ่านมา มีจำนวน 32 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย ฮ่องกง ชิลี เบอร์กินาฟาโซ ออสเตรเลีย บาฮามาส แองโกลา มาลาวี ซีเรีย เวเนซุเอลา ฯลฯ อย่างไรก็ตาม กรณีของเวเนซุเอลาประกาศเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในปี 2564 เป็น 7 ล้านโบลิวาร์เวเนซุเอลาต่อเดือน บวกกับคูปองค่าอาหารที่รัฐบาลให้อีก 3 ล้านโบลิวาร์เวเนซุเอลา รวมเป็น 10 ล้าน แต่เวเนซุเอลาเกิดภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรงอยู่ที่ 5,500%

เมื่อพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 พบว่า เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ธนาคารโลกรายงานว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวต่อปีของปี 2563 อยู่ที่ -4.39% แม้ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจ ก็ยังมี 93 ประเทศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งในปี 2564 และ 2565

 ในส่วนของประเทศที่ไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในรอบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่ามีจำนวน 84 แห่งจาก 199 แห่งที่สำรวจ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแถบแอฟริกา เช่น อูกันดา โตโก เวียดนาม ซูดาน ฟิลิปปินส์ เปรู เกาหลีเหนือ พม่า มาเลเซีย รวมไปถึงประเทศไทย

ประเทศที่ไม่ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาอย่างยาวนานที่สุดก็คือ โคโซโว ที่ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งล่าสุดในปี 2554 อยู่ที่ชั่วโมงละ 1.06 ยูโร (40 บาท) ถือว่าเป็นประเทศที่ค่าแรงขั้นต่ำต่ำที่สุดในยุโรป นอกจากนี้ยังมีเบลิซที่ค่าแรงขั้นต่ำไม่ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2012 เช่นเดียวกับภูฏานที่ไม่ขึ้นค่าแรงมาตั้งแต่ปี 2557 ส่วนประเทศที่เพิ่งจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปในปี 2563 ก็เช่นมาเลเซีย ชั่วโมงละ 45 บาท เวียดนาม ชั่วโมงละ 39 บาท เป็นต้น 

นอกจากนี้ มีบางประเทศที่เพิ่งจะกำหนดค่าแรงขั้นต่ำขึ้น เช่น มัลดีฟส์ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมัลดีฟส์ออกคําสั่งตามพระราชบัญญัติการจ้างงานเพื่อกําหนดค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรก มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 คิดเป็นชั่วโมงละ 21 รูฟียาห์มัลดีฟส์ หรือ 46 บาท

ในส่วนของประเทศที่ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำมี 22 ประเทศ เช่น เดนมาร์ก ฟินแลนด์ สวีเดน อิตาลี ลิกเทนสไตน์ สิงคโปร์ ฯลฯ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการขึ้นค่าแรง แต่จะเป็นการกำหนดกันเองบนความเสมอภาคระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยที่รัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซง หรืออย่างกรณีของสิงคโปร์ แม้จะไม่ได้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ แต่มีการประกันราคาสำหรับบางอาชีพ เช่น พนักงานทำความสะอาดต้องได้รับค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือนคือ 1,274 ดอลลาร์สิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีการออกกฎหมายปรับค่าแรงแบบขั้นบันไดทุกปีไว้อีกด้วย 

ขณะที่ ไซปรัส ไม่มีค่าแรงขั้นต่ำ แต่กำหนดค่าแรงบนการเจรจาต่อรองร่วมกันในหลายอาชีพ เช่น ผู้ช่วยร้านค้า ผู้ช่วยพยาบาล เสมียน ช่างทำผม และผู้ช่วยดูแลเด็ก ได้ค่าจ้าง 870 ยูโร (32,702 บาท) ต่อเดือน นอกจากนี้ จากการสำรวจค่าแรงของผู้ลี้ภัย พบว่าสำหรับผู้ขอลี้ภัยที่ทำงานเป็นแรงงานไร้ฝีมือในภาคเกษตร ค่าจ้างขั้นต่ำต่อเดือนคือ 425 ยูโร (15,975 บาท) พร้อมที่พักและอาหาร หรือหากไม่ต้องการที่พักและอาหาร ค่าแรงก็เพิ่มสูงขึ้นอีกเป็น 767 ยูโร ต่อเดือน (28,816 บาท) 

ประเทศไหนขึ้นค่าแรงมากที่สุดในโลก?

เมื่อพิจารณาร้อยละส่วนต่างของค่าแรงของปี 2564 และ 2565 พบว่าประเทศที่ค่าแรงขั้นต่ำปรับสูงขึ้นมากที่สุดในโลก คือ มอนเตเนโกร เพิ่มขึ้นถึง 82% โดยปี 2565 ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 2.812 ยูโรต่อชั่วโมง จากเดิม 1.56 ยูโร รองลงมาคือ สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ค่าแรงขั้นต่ำสำหรับภาคเอกชนในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 29,000 ฟรังก์เซฟาแอฟริกากลางต่อเดือน เพิ่มขึ้นถึง 58.39%  ลำดับถัดมาคือ ตุรกี คาซัคสถาน กายอานา เม็กซิโก ลักเซมเบิร์ก ฮังการี สาธารณรัฐโดมินิกัน และอาเซอร์ไบจาน

แม้ในบางประเทศมีส่วนต่างการขึ้นค่าแรงที่สูง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับค่าครองชีพ กลับพบว่าส่วนต่างที่เพิ่มมาดังกล่าวอาจไม่ทำให้มีกำลังซื้อที่มากขึ้น เช่นกรณีของสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นถึง 58.39% แต่ด้วยภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงินต่ำ ฐานค่าแรงที่ต่ำจนเกินไป ค่าครองชีพที่สูงมากจากการขาดเสถียรภาพทางการเมืองและไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอ ทำให้ส่วนต่างค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นมาไม่สามารถซื้อน้ำดื่มได้แม้แต่ขวดเดียว ขณะที่ลักเซมเบิร์ก ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นน้อยกว่า คือ 23% แต่ส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมาสามารถซื้อน้ำดื่มได้มากกว่า 4 ขวด 

ค่าแรงขั้นต่ำไทย ต่ำไปไหม ทำไมไม่เท่ากัน  

ค่าแรงขั้นต่ำ หมายถึง จํานวนเงินค่าตอบแทนแบบต่ำสุดที่นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างสําหรับการทำงาน ซึ่งโดยมากกำหนดโดยรัฐ ในที่นี้จะเรียกว่าค่าแรงขั้นต่ำ และแน่นอนว่าค่าแรงขั้นต่ำส่งผลดีต่อลูกจ้างซึ่งจะได้รับการคุ้มครอง ปกป้องจากการแสวงหาประโยชน์ของนายจ้าง รวมถึงได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม โดยนิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกที่มีกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำใน ค.ศ. 1894

สำหรับประเทศไทย แนวคิดเรื่องค่าแรงขั้นต่ำมีจุดประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างให้ได้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ลูกจ้างสามารถดำรงชีพอยู่เหนือระดับความยากจนได้ และกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายแก่ลูกจ้างทุกคน ไม่ว่าจะมีสัญชาติ ศาสนา หรือเพศใดก็ตาม ครอบคลุมไปถึงลูกจ้างต่างชาติ ทั้งนี้ ไม่ได้บังคับใช้แก่ลูกจ้างในภาคราชการและรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด นอกจากนี้ค่าแรงขั้นต่ำมีให้เพียงพอสำหรับดำรงชีพคนเดียว ไม่รวมครอบครัว ขณะที่ตามความหมายของสากลระบุว่าต้องเพียงพอให้คนงานเลี้ยงดูภรรยาและบุตรอีก 2 คนได้ 

ประเทศไทยมีการประกาศกำหนดค่าแรงขั้นต่ำมาตั้งแต่ พ.ศ. 2516 โดยเริ่มจาก 12 บาทในรัฐบาลพลเอกถนอม กิตติขจร และล่าสุดอยู่ที่ 331 บาท (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) ซึ่งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2563 ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ปัจจุบันมีการถกเถียงกันว่าค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยนั้นควรปรับขึ้นได้หรือยัง และควรปรับเป็นเท่าไร เท่าไรถึงจะเหมาะสมกับค่าครองชีพที่นับวันยิ่งสูงขึ้น ดังเช่นปรากฏการณ์ หมูแพง น้ำมันแพง ข้าวของขึ้นราคาที่เกิดขึ้นในตอนนี้

บุญยืน สุขใหม่ นักสหภาพแรงงาน มองว่า “สมมติบางคนอาจจะจบมัธยมปลายมาแล้วเริ่มทำงาน หรือบางคนอาจจะไม่ได้เรียนมาแล้วมาทำงาน ทำไประยะหนึ่งมีสกิลเพิ่มขึ้น คนเหล่านั้นก็ไม่ควรจะถูกนิยามด้วยคำว่าค่าแรงขั้นต่ำ ตอนที่เรายังไม่มีสกิลก็มีค่าแรงเริ่มต้นในการทำงาน แต่ทุกวันนี้มันกลายเป็นว่าค่าแรงขั้นต่ำถูกบังคับใช้ในทุกคน เป็นเหมาค่าแรง เป็น subcontract ทำงานมา 10 กว่าปีก็ยังใช้ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วมันผิดกับนิยาม ความหมายของคำว่าค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นค่าจ้างพื้นฐาน สำหรับผู้ที่เพิ่งเข้ามาในการประกอบวิชาชีพในระบบแรงงานเบื้องต้น” 

ในขณะที่ ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และที่ปรึกษาคณะกรรมการค่าจ้าง ให้ความเห็นส่วนตัวว่า “ค่าแรงขั้นต่ำโดยนิยามของบ้านเรา ออกแบบไว้สำหรับแรงงานแค่คนเดียว ให้ใช้พอดูแลตัวเองตามอัตภาพ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะพอเลี้ยงครอบครัว เราอาจมีข้อสมมติฐานว่าครอบครัวก็ต้องทำงานด้วย หารายได้เข้ามาด้วย ฉะนั้น ตัวค่าแรงขั้นต่ำบ้านเราจึงถูกตั้งคำถามว่าทำไมไม่เยอะเหมือนกับที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แนะนำ ทำไมไม่เป็น 500 - 600 บาท เพราะตรงนั้นเขามีการคิดคำนึงถึงครอบครัวด้วย แต่ 300 กว่าบาทที่เราคิดมา เราเรียกว่าเป็นการดูแลชีวิตตามอัตภาพ”  

หากพิจารณาดูจากข้อมูลจะพบว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยนั้นมีความไม่แน่นอน และในแต่ละพื้นที่ขึ้นไม่เท่ากัน อย่างในกรุงเทพมหานคร มีการขึ้นในปีเดียว 2 ครั้งในช่วงรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์, รัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ, รัฐบาลชวน หลีกภัย และรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร นอกจากนี้พบว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยอยู่ในยุคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยเพิ่มจาก 215 บาท เป็น 300 บาท

บุญยืน มองเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ว่า “ในยุคที่ค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศ นึกภาพว่าซื้อของในเซเว่นที่เชียงใหม่กับที่สุไหงโกลกมันก็ราคาเท่ากัน แล้วทำไมค่าแรงถึงไม่เท่ากัน ในยุคที่ค่าแรง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ถามว่านายจ้างเจ๊งไหม ก็ไม่เจ๊ง ก็อยู่ได้ไง แล้วมาบอกว่าวันนี้ขึ้นอีกมันจะเจ๊งเหรอ”

“ถ้าจะบอกว่าใช้เกณฑ์ GDP จังหวัด ระยองต้องได้ค่าจ้างเยอะที่สุด แต่ในวันนี้ค่าจ้างขั้นต่ำของระยอง 335 บาท ถูกกว่าชลบุรีอีก ทั้งที่ระยองมี GDP สูงกว่าก็ควรจะได้ค่าแรงสูงที่สุด คุณอ้างว่าเอา GDP เอาเงินเฟ้อมาคิด แต่ในทางปฏิบัติมันไม่สมเหตุสมผล ไม่เป็นไปตามตรรกะอยู่ดี“

ขณะที่ศุภชัย อธิบายว่า คณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำมี 2 ระดับ คือ ระดับชาติ ระดับจังหวัด กับอีกส่วนหนึ่งเป็นระบบที่เราเรียกว่าไตรภาคีก็คือกลุ่มนายจ้างที่เป็นผู้แทนนายจ้าง แล้วก็กลุ่มที่เป็นผู้แทนลูกจ้าง กับหน่วยงาน โดยหลักของจังหวัดก็จะเสนอตัวเลขมาที่ส่วนกลาง อนุฯ วิชาการส่วนกลางก็จะทำการกลั่นกรองว่าตัวเลขตัวนั้นเมื่อมองในภาพรวมแล้วเหมาะสมไหม

“เรามีสูตรที่เป็นสูตรกลาง คิดมาเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว โดยตัวผมกับหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ สมัยที่เป็นปลัดกระทรวงแรงงาน นอกจากนี้ก็มีทีมของสภาพัฒน์ฯ กับแบงก์ชาติมาช่วยกัน สูตรที่ทำการปรับตรงนั้นดูสภาวะความเจริญเติบโตของจังหวัด ว่าในจังหวัดหนึ่งมีการเติบโตมากน้อยแค่ไหน ดูเรื่องค่าครองชีพกับอัตราเงินเฟ้อ ดูเรื่องของความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการที่เรียกว่าเป็นผลิตภาพของแรงงาน จากสูตรนั้นทำให้แต่ละจังหวัดมีตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำที่ต่างกัน” 

อย่างไรก็ตาม ศุภชัย แสดงความเห็นส่วนตัวว่า ถ้าจังหวัดอยู่ในบริเวณละแวกเดียวกัน แต่ตัวเลขค่าแรงต่างกันเยอะมากก็จะเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน อีกทั้งค่าครองชีพแต่ละจังหวัดแตกต่างกัน การเติบโตก็ต่างกัน การจะขึ้นในอัตราเดียวกันหมดอาจสร้างความสูญเสียอะไรบางอย่างได้เหมือนกัน จังหวัดใดมีโครงสร้างเป็นภาคเกษตรเยอะ การขึ้นค่าจ้างก็อาจจะไม่เหมือนภาคอุตสาหกรรม

 ทำไมค่าแรงขั้นต่ำของไทยถึงขึ้นยากนัก

กระบวนการการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทยต้องผ่านคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี โดยคณะกรรมการเหล่านี้มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรีตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 มีปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการ มีผู้แทนฝ่ายรัฐบาล 4 คน ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน รวม 15 คน แน่นอนว่าทุกครั้งที่มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรือเพิ่มค่าแรง จะต้องเห็นชอบ 2 ใน 3 เสียง จึงเกิดการตั้งคำถามว่าในกระบวนการนี้มีความเสมอภาคหรือไม่

บุญยืนให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า “องค์กรไตรภาคี สามฝ่ายต้องมีเสียงเท่าเทียมกัน แล้วความรู้ก็ต้องเท่าเทียมกันด้วย แต่องค์กรไตรภาคีในบ้านเราทุกวันนี้ รัฐมนตรีแต่งตั้งตัวแทนมา เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม สภาลูกจ้างส่งตัวแทนมาแล้วรัฐมนตรีเป็นคนเลือก แตกต่างจากในอดีตที่มีการเลือกตั้งมา พูดง่ายๆ ว่าปัจจุบันมีการวิ่งเต้นกัน มีการล็อบบี้เพื่อให้รัฐมนตรีแต่งตั้งตัวเองเป็นคณะกรรมการค่าจ้าง การที่จะต่อสู้เพื่อลูกจ้างก็เป็นไปไม่ได้” 

“ฝั่งตัวแทนนายจ้างมากับสภาอุตสาหกรรม มาจากหอการค้า เขาเลือกกันมา 5 คน แล้วรัฐมนตรีก็เป็นคนแต่งตั้งเหมือนกัน ทีนี้ 5 คนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก็มาจากอธิการบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานบ้าง มาจากปลัดกระทรวงแรงงานบ้าง มาจากกรมพัฒนาฝีมือการค้า สุดท้ายใครเป็นคนชี้ว่าขึ้นไม่ขึ้น”

เช่นเดียวกันกับ พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มองว่ากระบวนการของคณะกรรมการค่าจ้างแบบไตรภาคีนั้น ตัวแทนของแรงงานอาจจะไม่เชื่อมโยงกับกลุ่มแรงงาน เป็นการดำเนินงานในวงแคบๆ จึงไม่แน่ใจว่าอำนาจการต่อรองของแรงงานนั้นใช่สิ่งที่แรงงานต้องการจริงๆ หรือไม่ และกลุ่มตัวแทนมีประสบการณ์เชื่อมโยงในฐานะตัวแทนลูกจ้างมากน้อยแค่ไหน

คณะกรรมการค่าจ้างมีอำนาจกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำรายวันและรายชั่วโมงได้ ครอบคลุมลูกจ้างรายวัน รายเดือนรายเหมา และการจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้นั้น ต้องมีเกณฑ์ในการพิจารณา 9 ประการ ได้แก่ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ราคาของสินค้า มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพของแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวม และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม 

ค่าแรงไทยควรขึ้นทุกปีไหม แล้วปีนี้จะขึ้นหรือเปล่า 

การขึ้นหรือไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นอำนาจการตัดสินใจของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งต้องศึกษา พิจารณาข้อมูล ข้อเท็จจริงประกอบ แต่หากคณะกรรมการค่าจ้างเห็นว่าไม่จำเป็นต้องปรับ ก็จะไม่มีการต้องปรับขึ้น ทั้งยังมีอำนาจในการชะลอ หรือลดค่าจ้างได้ รวมถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกระดับ ซึ่งบุญยืนมองว่า 

“ต้องขึ้นทุกปี หลายคนบอกว่าการขึ้นค่าแรงเดี๋ยวจะเจ๊งกันหมด ของจะขึ้นราคา แต่ถามว่าทุกวันนี้ ค่าแรงยังไม่ขึ้นเลย แต่ว่าของขึ้นราคาไปสองรอบแล้ว เพราะอะไร มันไม่มีเหตุไม่มีผลเลย คุณอธิบายแบบกำปั้นทุบดินกันมาก ทำไมเวลาของขึ้นราคาไม่พูดกันว่าค่าแรงก็ต้องขึ้นด้วยสิ ถ้าคุณจะใช้ตรรกะเดียวกันแบบนี้ มันถึงจะยุติธรรม”

ขณะที่ศุภชัย แสดงความเห็นส่วนตัวว่า “เราไม่ได้ขึ้นค่าแรงทุกปี แม้ว่าค่าครองชีพมันปรับขึ้น แต่ค่าครองชีพที่ปรับขึ้นตัวนั้นบางปีมันก็อาจจะไม่ได้ก้าวกระโดด บางปีมันก็ค่อยๆ ปรับขึ้น บังเอิญว่าปีนี้เราอาจจะเห็นว่าของหลายอย่างแพง อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นเราต้องดูสภาพเศรษฐกิจด้วย ตอนนี้มีโควิด เราคิดว่าถ้าปรับขึ้น เราปรับขึ้นเยอะได้แค่ไหน ถ้าเยอะ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือสถานประกอบการที่ลังเลใจว่าจะจ้างแรงงานหรือเปล่า ก็อาจจะตัดสินใจในการที่จะปลดคนงานทิ้งเลย 

“เพราะฉะนั้นถ้าเราไปปรับขึ้น สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นก็คือมันอาจจะเกิดผลกระทบต่อสถานประกอบการ อันนี้ก็จะเป็นตัวแปรตัวหนึ่งที่เราต้องดูด้วย และการปรับค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่แค่เรื่องค่าใช้จ่ายของลูกจ้างเท่าไหร่ นายจ้างต้องเสียเงินเพิ่มเท่าไหร่ แต่ว่าเราดูในแง่ของภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศด้วย”

ขณะที่ พรเทพ ในฐานะนักวิชาการผู้เคยเขียนงานวิจัยศึกษานโยบายค่าแรง 300 บาทในยุคพรรคเพื่อไทยมองว่าการขึ้นค่าแรงอาจจะไม่ได้มีผลต่อการจ้างงานมากนัก 

“จากงานศึกษาผลกระทบของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทในปี 2013 พบว่าต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นราว 1% เท่านั้น และการขึ้นค่าแรงนี้เป็นส่วนหนึ่งในแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการปรับตัวเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต มากกว่าจะแข่งขันเรื่องแรงงานราคาถูก ค่าแรงในไทยเหมือนถูกแช่แข็งไว้หลายปี สัดส่วนการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำในไทยโตน้อยมาก เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อและอัตราการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น” 

ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของไทยอยู่ที่ 313 บาท ในจังหวัดจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา ถือเป็นจังหวัดที่ค่าแรงขั้นต่ำที่ต่ำสุดจากทั้งประเทศ ในขณะที่ ในกรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร นั้นมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 331 บาทต่อวัน และค่าแรงขั้นต่ำที่สูงที่สุดในประเทศคือ 336 บาทต่อวัน ในจังหวัดชลบุรี และภูเก็ต 

ไม่นานมานี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เสนอให้รัฐบาลปรับค่าแรงเป็น 492 บาททั่วประเทศ แต่ปัจจุบันยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดจากรัฐบาลว่าจะขึ้นหรือไม่ เมื่อไร และหากขึ้นขึ้นที่ตัวเลขเท่าไร ซึ่งศุภชัยกล่าวถึงประเด็นนี้ในมุมมองส่วนตัวว่า “เราไม่ได้ขึ้นมาสักพักหนึ่งแล้ว คิดว่ามีแนวโน้มที่จะมีการปรับขึ้น แต่ปรับเท่าไรขอให้รอดูสักนิด เพราะว่าสถานการณ์รายวันมันเปลี่ยนเร็วมาก คิดว่าไม่นานอย่างที่คิด นโยบายน่าจะเสร็จก่อนการเลือกตั้ง เพราะว่าหลายรัฐบาลก็ใช้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำเป็นนโยบายในการหาเสียงด้วย ผมคิดว่าก็คงจะมีอะไรที่ชัดเจนมากขึ้นก่อนการเลือกตั้ง”